(2 มี.ค. 49) หลังจากร่วมแถลงข่าวกับอาจารย์โคทม อารียา
และอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เมื่อวานนี้ภายใต้หัวข้อ
“ข้อเสนอการใช้แนวทางสันติวิธีกับวิกฤตทางการเมือง”
แล้ว ผมได้รับเชิญให้ไปออกรายการ “จับประเด็น” กับคุณดนัย เอกมหาสวัสดิ์
(หลังจากคุณดนัยสัมภาษณ์คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ไปล่วงหน้า)
โดยอัดเทปไว้ก่อนตอนประมาณ 21.00 น. เศษ เพื่อออกรายการจริงๆเวลา
23.30 น.
มาเช้าวันนี้ก็ได้รับเชิญให้ไปออกรายการ “เกาะติดเลือกตั้ง 49” กับคุณกิตติ
สิงหาปัด
โดยให้ความเห็นเกี่ยวกับการใช้แนวทางสันติวิธีและการหาทางออกจากวิกฤตทางการเมืองที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่
สำหรับการแถลงข่าวเมื่อวานนี้นั้น
ได้มีรายงานข่าวในหนังสือพิมพ์หลายฉบับในวันนี้
ที่ลงละเอียดพอสมควรคือ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ
ซึ่งปรากฏดังนี้
ผวารุนแรงเสนอนายกฯหาทางลง
นักวิชาการเสนอ’ทักษิณ’ หาทางถอย ลาออกคลายวิกฤติ ตั้งรองนายกฯ
รักษาการแทน เว้นวรรคผู้นำไปนั่งฝ่ายนิติบัญญัติ
พร้อมเสนอทุกฝ่ายประนีประนอม ให้คนกลางไกล่เกลี่ยเจรจา
ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล
แถลงข่าวร่วมกับ นายไพบูลย์
วัฒนศิริธรรม
ประธานกรรมการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม)
รศ.ดร.ชัยวัฒน์
สถาอานันท์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และ
ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์
สถาบันพระปกเกล้า
นายโคทม กล่าวว่า
หลังจากที่ได้วิเคราะห์สถานการณ์การเมืองภายหลังการยุบสภา
นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทุกคนก็พ้นจากตำแหน่งแต่สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น
สังคมไทยยังมีความแตกแยก โดยแบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย
ซึ่งทุกฝ่ายก็ต่างมีเหตุผลที่แตกต่างกัน
ฝ่ายค้านก็ประกาศจะไม่ลงรับสมัครเลือกตั้ง
ส่วนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็เรียกร้องให้นายกฯ ลาออก
ส่วนรัฐบาลก็ยังยืนยันจะไม่ปฏิบัติตามคำเรียกร้อง
ซึ่งต่างฝ่ายก็มีต่างมีจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกัน
เครือข่ายสันติ วิธีมีข้อเสนอ 4 ข้อ เพื่อให้ทุกฝ่ายนำไปพิจารณา คือ
1.นายกฯ ควรขอลาออกจากตำแหน่ง
และหากต้องการยุติบทบาททางการเมืองด้วยการวางมือก็ถือเป็นการเสียสละเพื่อแก้ไขสถานการณ์
2.ระหว่างการเลือกตั้งต้องมีคนเข้ามารักษาการนายกรัฐมนตรี
ซึ่งอาจเป็นรองนายกฯ ที่ไม่เป็นสมาชิกพรรคขึ้นมาทำหน้าที่แทน
เพื่อทำหน้าที่ดูแลการเลือกตั้งให้เกิดความเป็นธรรมกับพรรคการเมืองทุกพรรค
หากเป็นความประสงค์ร่วมของพรรคการเมืองที่ต้องการให้เลื่อนวันเลือกตั้งออกไปได้
และพรรคฝ่ายค้านทบทวนมติไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งใหม่
3.ควรมีการปฏิรูปการเมือง โดยทุกองค์กรและภาคประชาชนควรเข้ามามีบทบาท
และ 4.หากมีการชุมนุมต่อควรให้เป็นไปอย่างสันติวิธี
ปราศจากอาวุธ
หลักการของข้อเสนอดังกล่าวจะเป็นการลดความรุนแรงเพราะไม่ต้องการเห็นสังคมเกิดความแตกแยกจนนำไปสู่การนองเลือด
อีกทั้งไม่ต้องการให้มีการดำเนินการนอกกรอบรัฐธรรมนูญ
เพื่อรักษารัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
และเพื่อสร้างสันติสุขให้กลับมาในสังคมไทย
“วันนี้ต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเปลี่ยนเป็นความรุนแรง
ซึ่งเราต้องหาทางออกที่เป็นทางเลือกแบบ win win solution
ที่ทั้งสามฝ่ายต้องร่วมกันคิดและหาจุดร่วมที่พอจะเป็นไปได้
เพราะคงไม่มีฝ่ายใดชนะ 100 เปอร์เซ็นต์
ควรมีคนกลางเข้ามาทำหน้าที่ดำเนินการเจรจาอย่างที่ทุกฝ่ายต้องการ
และควรทำให้เร็วที่สุดยิ่งเร็วยิ่งดี ซึ่งอาจเกิดขึ้นในรูปแบบสานเสวนา
แต่ปัญหาขณะนี้เกิดจากการสื่อสารที่ไม่เข้าใจ
ทางเลือกที่ดีควรยกหูโทรศัพท์คุยกันหรือตั้งโต๊ะเจรจากันอย่างเร็วที่สุด“
นายโคทม กล่าว
ด้านนายไพบูลย์
กล่าวว่า บรรยากาศของความเกลียดชังมักจะนำสังคมไปสู่ความรุนแรง
โดยเฉพาะสถานการณ์ที่มุ่งการเอาชนะเช่นนี้ ยิ่งจะทำให้เกิดการทำลาย
ถึงขั้นเสียเลือดเสียเนื้อ
หากเปรียบเทียบการทะเลาะกันในครอบครัวคงไม่มีใครอยากเห็นคนหนึ่งคนใดชนะ
เพราะถ้ามุ่งชนะกันด้วยวิธีใดก็ตาม ฝ่ายชนะก็ต้องพังยับเยินเหมือนกัน
หากเราสามารถทำให้ทุกฝ่ายชนะทั้งหมดได้ก็จะเป็นการดี
แต่ต้องมีการเจรจากัน เพราะใจลึกๆ
ก็เชื่อว่าทั้งสามฝ่ายก็ต้องการคุยกัน
แต่ต้องมีคนกลางมาช่วยให้การเจรจาเกิดความเข้าใจกัน
“การลาออกของนายกฯ
ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้เหตุการณ์ผ่อนคลายความตึงเครียดได้
และเป็นสัญลักษณ์ของการถอยออกมาอีกหนึ่งก้าว อยากให้นายกฯ
รับข้อเสนอนี้ไว้พิจารณาเพราะเป็นการถอยอย่างมีท่า มีศักดิ์ศรี
สร้างคุณประโยชน์ต่อทุกฝ่าย
อีกทั้งยังถือเป็นการเสียสละเพื่อแสดงความใจกว้างและเป็นการเปิดทางให้คนอื่นขึ้นมาทำหน้าที่แทน
และหากนายกฯ
ขอเว้นวรรคทางการเมืองไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งก็จะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้พรรคไทยรักไทยที่จะนำไปสู่การเป็นสถาบันการเมืองอย่างที่นายกฯ
ต้องการ ส่วนนายกฯ เองอาจจะเลือกทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติแทน
ในฐานะประธานสภาที่ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับฝ่ายบริหารอีก” นายไพบูลย์
เสนอ
ด้าน รศ.ดร.ชัยวัฒน์
กล่าวว่า
แนวทางสันติวิธีจะเป็นแนวทางที่ทำให้ทุกฝ่ายสร้างความเข้าใจกันได้
ดังนั้น ต้องมองทุกฝ่ายที่เกิดความขัดแย้งเป็นเหมือนญาติมิตรกัน
จึงควรหาทางอยู่ร่วมกันเพื่อลดความขัดแย้งที่จะเป็นสาเหตุแห่งความเกลียดชังที่เป็นบ่อเกิดแห่งความแตกแยกและความรุนแรง
ซึ่งเชื่อว่าวิธีที่นำเสนอสามารถทำให้สังคมที่มีความสุขได้
และสังคมไทยมีคนที่มีความสามารถในการคิดค้นทางเลือกให้สังคมได้อยู่แล้ว
ดังนั้นควรผลักดันให้แนวทางดังกล่าวได้รับการยอมรับเพื่อแก้ไขให้สังคมเกิดความสงบสุขต่อไป
นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
2 มี.ค. 49