ถอดเทป....กรมส่งเสริมการเกษตร คุยกันเรื่อง KM (ต่อ)


ที่จริงแล้วรูปแบบไม่ใช่สาระสำคัญอะไรมากนัก แต่สิ่งที่ใจคิด เราจะทำอย่างไรก็ได้ให้เกิดมีการนำไปสู่การปฏิบัติ (Action) นี่แหละคือประโยชน์ของ KM

              ถอดเทปวงเสวนาในงาน "สรุปบทเรียนการจัดการความรู้ 1 ปีและแนวทางการดำเนินงานในอนาคต"   เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 48  ซึ่งมี อ.ประพนธ์   ผาสุขยืด,  อ. ทรงพล   เจตนาวณิชย์, ตัวแทนกรมส่งเสริมการเกษตร จ. นำร่อง และทีมผลักดัน KM กรม  ร่วมวงเสวนากัน  ต่อจากเมื่อวานนี้นะคะ (Link เมื่อวาน

นายชำนาญ  ฉุ้นประดับ   :

สวัสดีครับผมชำนาญ ฉุ้นประดับ สสก.เขต 5 ส่วนกลาง ไม่ได้เป็นผู้ปฏิบัติไม่ได้เป็นคนขี่จักรยานโดยตรง แต่ว่ามาร่วมอบรมและร่วมชี้แจงในระดับจังหวัด แต่ว่าไม่ได้ปฏิบัติ แต่ผมมองว่าการจัดการความรู้ในกรมส่งเสริมการเกษตร มีอยู่ 2 ลักษณะ คือ ระบบการจัดการความรู้ที่เราพยายามสร้างขึ้นโดยแนวความคิดของ KM ที่อาจารย์นำมาถ่ายทอด ให้กับจังหวัดนำร่อง 9 จังหวัด      และอีกส่วนหนึ่งเป็นการจัดการความรู้ที่กรมส่งเสริมพัฒนามาเรื่อย ๆ จนเป็นระบบส่งเสริมหรือเป็นลักษณะการจัดการความรู้เหมือนกัน   เลยไปมองภาพในพื้นที่ระดับเขต  คือ   โดยมีเจ้าหน้าที่ในระดับอำเภอแต่ไปรับผิดชอบตำบล โดยทำงานกับศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยี มีคณะกรรมการของศูนย์ร่วมกันทำงานด้วยกัน ภายใต้ขอบเขตพื้นที่ของศูนย์ที่รับผิดชอบอยู่  มีโรงเรียนเกษตรกร มีกลุ่มแม่บ้าน มีกลุ่มเรียนรู้ มีอะไรหลาย ๆ ตัว วิธีการทำงานของเกษตรตำบล ซึ่งอาจจะมีแนวร่วมจากผู้นำชุมชนลงไปทำงานกับตำบล เข้าใจว่าระบบปกติเหล่านี้จะไปจัดการความรู้และทำให้คุณอำนวยกับคุณลิขิต ซึ่งตามระบบแบบนี้ก็จะมีแนวความคิดตามโรงเรียนเกษตรกร ก็มีการอบรมโดยปกติอยู่แล้ว ถึงแม้ว่าแนวคิดตามระบบ KM ยังไม่เข้าหรืออาจจะเข้ามาโดยไม่รู้ตัวก็ได้ผมเลยมองดูว่า 2 อย่างตอนนี้ มันมีปัญหาอยู่ว่า สิ่งที่ได้ทำอยู่นั้นไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่สิ่งที่เราทำไปก็ยังมองภาพไม่เห็นว่าสำเร็จกว่าสิ่งเก่าเท่าใดครับ ในความรู้สึกผมผมว่าน่าจะประสบความสำเร็จบ้าง ถ้าเราทำแล้วนำนำสิ่งที่ทำมาเสนอให้คนทั่วไป
ดร.ประพนธ์  ผาสุขยืด  :
ตอนท้ายทำให้พวกเราเห็นอะไรที่ชัดขึ้นนะ เพราะจากมุมมองที่ท่านมองชัดมาก ตอนนี้ 7 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่มีเรื่อง KM ตั้งแต่ที่ ร.ร.มารวย แต่ถ้าท่านมองย้อนกลับไปก็จะเห็นว่ากรมส่งเสริมการเกษตรมีการทำ KM อยู่แล้ว ที่ไปทำในตำบลอย่างนี้ใช่เลยนะ  ผมอยากจะตอบว่าจริง ๆ แล้ว KM โดยเฉพาะกรมส่งเสริมทำหน้าที่ส่งเสริม ทำหน้าที่คุณอำนวย ท่านจะบอกว่าท่านไม่เคยทำ KM เลยไม่ได้ เพราะตั้งแต่ท่านตั้งกรมมา ท่านทำ KM มาแล้วเพียงแต่ว่าพอเดือนมีนาคม ส.ค.ส. ก็บอกว่า KM ต้องมีอย่างนี้  แล้วก็ลองนำร่องไปทดลอง 9 จังหวัดแต่ไม่ได้หมายความว่าท่านที่เหลือไม่ได้ทำ KM ท่านทำอยู่แล้ว ทีนี้ก็เหลือแต่การตัดสินใจของท่านเองว่าจะทำอย่างไรให้เป็น KM ของกรมส่งเสริม version เก่าบวก version ใหม่ หรืออะไรก็แล้วแต่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของท่าน ส.ค.สง เพียงแต่แนะนำว่าท่านทำแบบนี้นะ จริง ๆ แล้ว ส.ค.ส. ก็เป็นกรมส่งเสริมเหมือนกันนะเพียงแต่ส่งเสริมเรื่อง KM เราเพียงแต่หวังว่าเราให้แก่นเขาจะใช้หรือไม่ใช้ หรือเอาไปบูรณาการกับสิ่งที่ทำอยู่ ถ้าสิ่งที่ทำอยู่ดีอยู่แล้วมันมีหัวปลา ตัวปลา หางปลา ก็ดี หรือถ้ามันไม่มีก็เอาไปเสริม โดยไม่ยึดของใหม่หรือทิ้งของเก่า ท่านกำลังผ่านชุดที่ 1 คือ เรียนรู้ตำรา วิธีการ สิ้นสุดปี 2548 พอปี 2549 เข้าสู่ชุดที่ 2 ท่านจะต้องเอาไปบูรณาการได้ ที่เรียกว่าไร้กระบวนท่า ไม่ติดของเก่าไม่ติดของใหม่กลมกลืนเป็นเรื่องเดียวกัน ไม่ต้องมีนำร่องแล้ว เจ้าหน้าที่ทั้งหมดทำหมดเลย เพราะฉะนั้นผมเห็นด้วยกับที่ท่านมองว่ากรมส่งเสริม KM อยู่แล้ว แต่อาจจะต้องเสริมบางจุด อย่างเช่นที่จังหวัดนครพนมบอกว่าคุณลิขิต เราอาจจะต้องเสริม โดยไม่ต้องยึดติด Model โดย Phase ที่ 2ไม่ยึดติดกับ Model แล้ว แล้วก็นำออกมา แล้วแต่ละจังหวัดมาแลกเปลี่ยนกัน ผมคิดว่าคุณได้เดิน KM อย่างเต็มรูปแบบแต่เมื่อไหร่กรมส่งเสริมบอกว่าทุกจังหวัดต้องทำแบบนี้ผมว่าแบบนั้นท่านไม่ได้ทำ KM แล้ว แต่ถ้ากรมทำหน้าที่เป็นเวทีให้กับจังหวัดมาแลกเปลี่ยนกันนั่นแหละกรมทำหน้าที่เป็นคุณอำนวย ให้กับคุณอำนวย..แสดงว่ากรมเข้าใจ KM วันนี้ผมว่าดีมากที่เราได้คำถามดี ๆ แบบนี้ แล้วเราจะได้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น ตั้งแต่นี้ไปจะต้องไม่ได้ยินคำว่าสับสนนะ phase 2 จะต้องไม่สับสนแล้วนะ จะต้องกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน ต้องเนียน
อ. ทรงพล  เจตนาวณิชย์   :
ผมขอย้ำช่วงท้ายที่ท่านพูดว่าคล้าย ๆ กรมส่งเสริมก็ทำอยู่แล้วแต่ไม่สำเร็จ ถ้าพูดอย่างนั้นเรากำลังจะทำใหม่ดูเหมือนว่าน่าจะสำเร็จ แต่อยากให้ท่านดูว่าถ้าท่านทำอยู่แล้วอะไรที่ทำให้ท่านทำไม่สำเร็จ  ถ้าทำแบบใหม่อะไรที่เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าถ้าทำแล้วจะสำเร็จ ไม่ทราบเหมือนกันนะว่าตอบได้หรือเปล่านะครับ
นายชำนาญ  ฉุ้นประดับ  :
ผมคิดว่าสิ่งที่ทำไม่สำเร็จเพราะขาดทักษะใช้เครื่องมือต่าง ๆ หรือความไร้กระบวนท่าและเปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อย ๆ แต่ไม่ทราบว่าในสถานการณ์แบบใดจะใช้รูปแบบไหนจะประสบความสำเร็จ  ไม่ทราบว่าพอจะเป็นคำตอบให้อาจารย์ได้แค่ไหน
นายประสาร  เฉลิมศรี   :
เพิ่มเติมในส่วนพี่ชำนาญว่าถ้ามองถึงระบบโรงเรียนเกษตรกรที่กรมส่งเสริมใช้ในองค์กรผมขอตอบว่าเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานมีความสุขในการทำงานตรงนี้ครับ
นายณัฐวัตร  เตชะสาน  :
ยังมีจังหวัดอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้พูด เดี๋ยวท่านจะเสียสิทธินะครับ โดยเฉพาะจังหวัดดัง ๆ อย่างกำแพงเพชรที่ท่านทำประสบความสำเร็จอย่างสูง มีอะไรเป็นปัจจัยความสำเร็จให้ช่วยบอก และอาจารย์จะได้ร่วมชื่นชมด้วยครับ
นายสายัณห์  ปิกวงศ์  :
ผมก็ได้จดประเด็นที่จะถามไว้ด้วยเหมือนกัน ขณะที่ฟังไปก็วิเคราะห์ไปได้รับความชัดเจนเพิ่มมากขึ้น มีคำตอบมากยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้เสียสิทธิมีคำถามจะถาม 3 ข้อครับ ตามความเข้าใจนะครับในระดับ CKO คุณอำนวย คุณกิจ ในระดับแต่ละระดับอยู่ในตัวใช่หรือไม่ เช่น ในระดับกรมส่วนไหนเป็น CKO คุณอำนวย แต่เมื่อมองในระดับจังหวัด CKO ก็คือ เกษตรจังหวัด คุณอำนวยคือเจ้าหน้าที่ระดับจังหวัดที่รับผิดชอบ KM และคุณกิจคือเกษตรอำเภอหรือเลขานุการศูนย์หรือเกษตรกร เมื่อมองไปที่สำนักงานเกษตรอำเภอ CKO คือ เกษตรอำเภอ เลขาศูนย์คือ คุณอำนวย คุณกิจคือเกษตรกรอยากเรียนถามว่าเจ้าหน้าที่ที่ไปจากกรมไปติดตามนิเทศและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระดับจังหวัดเป็น CKO ใช่หรือไม่ ประเด็นที่ 2 การที่จะเป็นคุณอำนวย CKO และคุณลิขิต ในส่วนตรงนี้จะต้องผ่านประสบการณ์กระบวนการ KM มาก่อนใช่หรือไม่  อีกประเด็น คือ บทบาทของคุณลิขิตที่ทำหน้าที่บันทึก จะต้องทำให้เกิดคลังความรู้     แล้วนำไปเผยแพร่บนเว็บไซด์    ซึ่งเป็นการ Action   ของ
เจ้าหน้าที่และในระดับพื้นที่ในตรงนี้อยากจะขอคำแนะนำจากอาจารย์ครับผม
ดร.ประพนธ์  ผาสุขยืด   :
ขอตอบประเด็นแรกนะ CKO กับคุณอำนวย บทบาทหรือทักษะทั้ง 2 บทบาทใช้ทักษะไม่เหมือนกันเลย CKO จะต้องมีวิสัยทัศน์และทิศทางที่ชัดเจน คุณอำนวยก็เอื้ออำนวยให้กระบวนการเรียนรู้ให้ไหลไปได้สะดวก มีความสุข ได้ผล และผมเลยมองว่าบทบาทเขาคนละเรื่องกันเลย จึงมองว่าคนบางคนเป็น CKO ได้ บางคนเป็นคุณอำนวยได้ ผมคิดว่าตรงนี้มีคนละบทบาท ตามความรู้สึกของผมเพราะหน้าที่คนละเรื่องกันเลย ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมอบระดับไหน ถ้าระดับกรม CKO เป็นใคร คุณอำนวยก็เป็นทีมงานระดับกรม คุณกิจก็พวกเราไง พวกเราก็มาแชร์กัน ในระดับจังหวัดก็จะมี CKO คือเกษตรจังหวัดเจ้าหน้าที่จังหวัดเป็นคุณอำนวย ระดับอำเภอเป็นคุณกิจ เป็นชั้น ๆ ไป ที่ท่านคิด ผมว่าถูกต้องแล้วครับแต่ฟังจากท่านพูดว่าเป็นคุณอำนวยก่อนแล้วค่อยไปเป็น CKO ค่อย ๆ  เลื่อนชั้นในมุมมองผมว่าไม่ใช้บางคนเหมาะจะเป็น CKO บางคนเหมาะจะเป็นคุณอำนวย CKO ก็เกี่ยวกับตำแหน่งพอสมควร เพราะเกี่ยวกับการอนุมัติด้วย คุณทุกคนเป็นคุณอำนวยใช่หรือไม่ ผมคิดว่าไม่ใช่นะคุณอำนวยต้องมีการฝึกฝนต้องมีมนุษย์สัมพันธ์ คนบางคนมีทุนเดิมดีอยู่แล้ว นำมาฝึก workshop 2 วัน บินได้เลย แต่ขณะที่อีกคนฝึกอีกหลายเดือน เราก็ต้องเลือกว่าใครเหมาะจะเป็นอำนวย เพื่อความสะดวกในการทำงาน ใช้เครื่องมือได้หลากหลาย ..แต่ในส่วนประเด็นที่ 3 ผมยังไม่สามารถคอมเมนส์ท่านได้เพราะผมยังไม่ได้ดูเอกสาร แต่เท่าที่.. สรุปบทเรียน และถอดองค์ความรู้นำลงเอกสารและเว็บไซด์ว่าเป็นอย่างนี้ได้คิดว่าครบถ้วนกระบวนความ ถือว่าเยี่ยมแล้วนะ
นางอุษา  ทองแจ้ง  :
ขอตอบที่ถามจาก จ.กำแพงเพชรว่าเจ้าหน้าที่จากกรมที่ไปลงติดตามงานตามจังหวัดต่าง ๆ เราเป็น CKO จากกรมหรือไม่ ขอตอบว่าเราไม่ใช่ CKO แต่สองวันมานี้เราไม่ได้พูดถึงคำอยู่คำหนึ่งคือ เราคือคุณประสานคะ เราพยายามจะเชื่อมระหว่างกรมกับจังหวัด
นายนิพัท  รัตนอุบล                       :
ผมรู้สึกว่าไม่ Happy เลย เพราะว่าทุกคนที่มาร่วมไม่ยิ้มเลย แสดงว่าทุกคนไม่มีความสุขเลยคงเครียดกับโปรแกรมหัวปลา ก้างปลา หางปลาอะไรทำนองเนี่ย ที่จริงผมฟังอาจารย์ทั้ง 2 ท่าน ก็เลยคิดขึ้นได้ว่าที่จริงแล้วรูปแบบไม่ใช่สาระสำคัญอะไรมากนัก แต่สิ่งที่ใจคิด เราจะทำอย่างไรก็ได้ให้เกิดมีการนำไปสู่การปฏิบัติ (Action) นี่แหละคือประโยชน์ของ KM ปี 49 ผมคิดว่าน่าจะเป็นการประยุกต์ใช้อย่างที่อาจารย์ทั้ง 2 ท่าน แนะนำในแต่ละคนน่าจะมีการสรุปแล้วเอา Action ของแต่ละคนไปใช้ และควรให้อิสระแต่ละท้องที่และจังหวัดในการคิดของแต่ละจังหวัด สตูลก็คิดอย่างสตูล นครศรีธรรมราชก็คิดอย่างนครศรีธรรมราช แต่เป้าหมายก็คือเอาความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์ได้ ตอบวัตถุประสงค์ได้  ตอบเป้าหมายให้ได้ก็น่าจะ OK เราจะได้ไม่ต้องนั่งเครียด อยากให้มีบรรยากาศสบาย ๆ กลับไปบ้านแล้วมีความสุขนะครับ  ขอแสดงความรู้สึกไว้เพียงเท่านี้ครับ ขอบคุณครับ

       ยังไม่จบนะคะ  อ่านดูแล้วเดาว่าบรรยากาศการเสวนาถอดบทเรียนกำลังเข้มข้นและเป็นบรรยากาศที่เปิดใจ  เท่าเทียมกัน และให้สาระมากค่ะ    แล้วติดตามกันต่อนะคะ

หมายเลขบันทึก: 17005เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2006 09:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2012 07:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท