Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๓๗)_๑


ห้องเรียน KM (10)

ประเด็นนำเสนอ        เสวนาบทบาทของ CKO  ต่อการจัดการความรู้ในโรงเรียน (๔)
                           เรื่องเล่าจากการปฏิบัติของ CKO  บทบาทของผู้ผลักดันให้เกิดกระบวนการเรียนรู้

อาจารย์จิระพันธุ์   พิมพ์พันธุ์ :
          ต้องขออภัยเนื่องจากติดภารกิจที่จะไปทำบุญให้ลูก  หลักในการทำงานของดิฉัน คือ ทำต้องทำจริง ไม่ต้องมีทฤษฎีอะไรทั้งนั้น   ผู้บริหารควรยึดหลัก ทรท. และ ปชป.  ทรท. คือ ท แรกคือ ผู้บริหารที่เป็น CKO ต้องทันสมัย เทคโนโลยีต้องรู้หมด  ร คือ ทำงานยุคนี้คือรุก คิดวันนี้นาทีต่อไปต้องทำ ท คือ ความเที่ยงธรรมต้องมี มิฉะนั้นท่านจะเป็นคุณเอื้อที่ดีไม่ได้    ส่วน  ปชป. คือ  ป แรก คือประชาธิปไตย เพราะคนยุคใหม่เมื่อบอกว่า อย่าทำก็จะทำ  แต่ถ้าพูดว่า ทำอย่างนี้ดีหรือไม่  ช่วยกันคิด เดี๋ยวเถอะ  จะพรั่งพรูมา คิดว่าคงคิดได้นะ  ช่วยกันคิดหน่อยนะ  ครูอนุบาลหนึ่งคิดโปรแกรม mini english  สำหรับเด็กอนุบาลหนึ่งและสอง   บอกเขาว่าทำไม่ได้ เพราะว่าเด็กเล็ก  เขาบอกว่าหนูทำได้  ปรากฏว่าเขาทำได้  เมื่อทำได้ทำดี   ประชาธิปไตยเขามากๆ    ส่วนตัว  ช  ต้องมองเห็นความสำคัญของชุมชน   ชุมชนนี้ทั้งในและนอกโรงเรียนทั้ง ชุมชนผู้ปกครอง ครูอาจารย์ คนขับรถ ทุกคนที่มาช่วยเรา  ต้องเห็นสำคัญมาก  ป  อีกอันคือโปร่งใส  โปร่งใสทั้งการงานและการเงิน โรงเรียนเอกชนส่วนใหญ่ไม่โปร่งใส  ดังนั้นเมื่อท่านเป็นหนี้ใคร   ท่านให้ครู คนงานของท่านแหละไปใช้   เขาจะได้รู้ว่าเราเป็นหนี้  หรือการทำงานต้องให้เขารู้มาก แล้วเมื่อเขารู้มากเขาอาจจะหนีไปได้  ไม่เป็นไร ต่อไปก็จะมีครูใหญ่โรงเรียนโน้น เป็นครูน้อยโรงเรียนนี้  โก้ดี  คิดอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ในเรื่องของการเงินและการงานก็ดี ทำให้เราเป็นคุณเอื้อ  ตัวอักษรไทยมีบางตัวที่มาทำ  หรือตัว ล ก ล  คือ ตัว ล ลิง กับตัว ก ไก่  แต่ถ้าเราจะแปรตามคำของพระ  ล  คือ โลภ  ก คือโกรธ  ล คือ หลง  ผู้บริหารต้องไม่เอาสามตัวนี้มาเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นจะเป็นคุณเอื้อไม่ได้   อีกตัวที่ดี  น่าจะจำไว้ คือ พ ห ช  ตัว พ คือสิ่งที่เรามีและเพียงพอในสิ่งที่เราได้ อย่าไปฝันหวานไปว่าครูคนนี้หรือเจ้าหน้าที่คนนี้จะสำเร็จทุกประการลูกน้องคนหนึ่งเป็น ดร.คนหนึ่ง เขาอาจจะมีความสามารถที่ปริญญาตรีก็เป็นได้ อาจเป็นไปไม่ได้ เพราะ ดร.คือกระดาษใบหนึ่ง  ห คือ การให้แบบไม่หวง บางคนบอกไม่หมด บอกครึ่งๆ  ให้อย่างหมดใจ  ให้อย่างไม่มีหวง  ส่วน ช คือ ช่วยเหลือความคิด  ช่วยจุนเจือ ช่วยทุกอย่าง   เราเอามือแตะโต๊ะเท่านั้น  เขาดีใจว่าวันนี้เจ้าของโรงเรียนมาช่วยทำงาน   ทำให้เขาได้รู้ว่าได้เอื้ออาทรต่อเขานี่คือคุณเอื้อที่แท้จริง  ดิฉันเองก็เป็นคุณเอื้อโดยไม่รู้ตัว  เมื่อมามองดูของอาจารย์  เอ๊ะ เราต้องเอาทฤษฎีเข้ามาบ้างแล้ว  เพราะดิฉันไม่มีทฤษฎี มีแต่ปฏิบัติ  ขอบคุณมากค่ะ

ผู้ร่วมประชุม :
         ดิฉันมาไกลขอตักตวงหน่อยนะคะ ดิฉันไม่ใช่ผู้บริหารแต่กำลังจะเป็นผู้ที่ช่วยทำให้เกิดขึ้น   ขอเรียนรู้จากประสบการณ์ของท่านว่า ทำอย่างไรจึงจะทำได้  ขอคำแนะนำค่ะ

อาจารย์จิระพันธุ์   พิมพ์พันธุ์ :
          ท่านคะ เรื่องแรกต้องให้ท่านมาฟังพวกเราพูด   ถ้าท่านไม่ฟังไปเล่าท่านไม่เชื่อหรอก เพราะท่านจะหาว่าเราไปสอน  ผู้บริหารบางคน ยังมีทิฐิ เอเราเป็นเจ้าของโรงเรียน เราเป็นครูใหญ่ เราเป็นผู้อำนวยการ จะมาบอกไม่ได้ไม่ยอมรับ  ฉะนั้นต้องให้ท่านฟัง  สองต้องให้ท่านอ่าน  หรือท่านต้องเปรียบเปรย ทำเป็นนิทานมาเล่า   ทนไม่ไหวจริง ท่านก็มาคุยกันเรา หรือคุยกับ สคส.ก็ได้ ผู้บริหารที่ดื้อๆ ต้องดูของจริง  ท่านจะได้รู้ว่าโลกทุกวันนี้ไม่เหมือนกับโลกเมื่อ 70 ปีที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นต้องเปลี่ยน บางคนจะเป็นคนโบราณอย่างเดิมไม่ยอมเปลี่ยนแปลง  บางคนจะก้าวเร็วเกินไป  วันนี้ถ้าท่านได้อัดเทปไปจะดีมาก  ต้องให้ท่านได้ฟัง ได้อ่าน คิด  ได้เห็นของจริง ตามมาที่โรงเรียนก็ได้ การทำงานปัจจุบันนี้จะรอให้เขาคิดเอง ดิฉันเองไม่ใช่ว่าดีเหมือนเดี๋ยวนี้ กว่าจะคิดได้เสียดายเวลา ทำไมเวลาจึงผ่านมาเร็วจังเราน่าจะอายุสัก 50 ปี  แต่ดิฉันก็ภูมิใจ  ว่าอย่างน้อยก็ได้ให้ใครได้รับรู้กับเราบ้าง  อย่างน้อยมีส่วนเป็นคุณเอื้อ 

ผู้ร่วมประชุม :
          ต้องกราบรบกวนอาจารย์ เนื่องจากตัวเองเป็น  Fa. แต่ไม่ได้เป็น CKO ที่ไม่ได้แต่งตั้งเพราะไม่ได้เป็นหัวหน้าหน่วยงาน บังเอิญหัวหน้าหน่วยงานไม่ได้ลงมาเล่นด้วย เป็นเพียงคุณทำอะไรก็ทำไป แต่เราอยากให้หัวหน้าหน่วยงานได้รับรู้รับทราบ ควรจะทำอย่างไร

อาจารย์จิระพันธุ์   พิมพ์พันธุ์ :
          เป็นคำถามที่ดีมาก เป็นอย่างนี้ทุกองค์กร  โดยมากไปประชุมมักจะมอบรอง  ถ้ารองไม่อยู่ก็ไปเรื่อยๆ แล้วก็ไม่ได้เห็นของจริง เราคงต้องช่วยกันแก้ไข ประการแรกท่านลองเอาเอกสารที่ สคส.ทำไปรายงานให้แก่ผู้บริหาร แล้วลองยกตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ   ท่านอาจจะเอาประเภทจนที่สุด จนกระทั่งเป็นโรงเรียนที่ตั้งตัวได้อย่างโรงเรียนของดิฉัน หรือรวยอย่างที่โรงเรียนเพลินพัฒนา  หรือเป็นโรงเรียนรัฐบาลอย่างที่ท่านอาจารย์ได้พูด แล้วอื่นๆ อีก แล้วลองดูว่าคนเราจะใจแข็งไม่อ่านหนังสือ แล้วหาทางที่ให้พวกเราไปช่วยกัน ด้วยวิธีใดก็ตาม  ดิฉันว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องปล้ำเขาขึ้นมาให้ได้   ไม่ทราบว่าผู้บริหารของท่านเห็นความสำคัญของ KM หรือเปล่า   เพราะยุคนี้บางโอกาสแม้แต่รัฐบาลก็ยังไม่เห็นความสำคัญ  อาจจะเป็นเพราะว่าตัวคิดได้แล้วและทำอะไรได้แล้ว  แต่การจัดการความรู้สำคัญที่สุด เมื่อก่อนในสถาบันราชภัฏ  สอนแต่วิชาโนนนี่ เดี๋ยวนี้ต้องสอนวิชาการบริหารจัดการ  เดี๋ยวนี้ดิฉันก็ต้องเรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการเวลา   ลองเอาใหม่ ปัญหาที่ท่านทั้งสองถามนะเป็นปัญหาโลกแตก แต่เราจะต้องทำให้ปัญหาโลกดับให้ได้  ท่านพยายามเอาเรื่องที่ได้ไปย่อ แล้วเอาหนังสือให้ท่านอ่าน อยากให้ท่านไปเล่าสู่ทีมของท่านฟัง แล้วบอกท่านว่าในฐานะที่เป็นผู้บริหารระดับสูงท่านเอาเอกสารไปอ่านเอง แล้วท่านก็แกล้งพูดว่าทำไม โรงเรียนจิระศาสตร์ทำได้ ทำไมโรงเรียนกุดสะเทียนทำดี  ทำอย่างนี้พูดดังๆ ให้ท่านได้ยิน  แต่ถ้าท่านบอกว่าไม่ฟัง ไม่อยากได้ยิน  ท่านก็ไปกินยานอนหลับก็แล้วกัน    ถ้าไม่อะไรต้องขอบพระคุณมาก ๆ   ที่ถามน้อยเป็นเพราะ หนึ่งคนฟังเก่ง สองคนพูดเก่งมากทั้งสองท่าน สามคนพูดไม่รู้เรื่องเลย จึงไม่ถามอะไรเลย ก็ขอบพระคุณมากหวังว่าท่านคงจะกรุณาพบพวกเราอีก  ขอบพระคุณค่ะ

อ.จิรัชฌา  วิเชียรปัญญา   : ผู้ดำเนินรายการ
          ช่วงนี้ก็เหมาะสมด้วยเวลา เราจะกลับมาเวลา 13.30 นาฬิกา เพื่อมาแบ่งปันการเรียนรู้ร่วมกัน ในช่วงบ่ายผู้บริหารยังอยู่กับเรา   ขอบพระคุณค่ะ
     
อ.จิรัชฌา  วิเชียรปัญญา :
         ในช่วงเวลาต่อจากนี้ไปประมาณไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง จะเป็นช่วงที่เราจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องบทบาท ของ CKO ซึ่งเป็นมุมมองของพวกเราในฐานะที่เป็นบุคลากรในองค์กร  ถ้าท่านผู้ใดยังมีปัญหาค้างคาใจ ยังมีผู้บริหารอยู่กับเราจำนวน 2 ท่านและ ดร.ปฐมพงษ์  ซึ่งอาจารย์จิระพันธุ์ พิมพ์พันธุ์  ได้ฝากให้เป็นผู้ตอบคำถามทุกคำถาม  ขอเรียนเชิญ ดร.ปฐมพงษ์   อาจารย์ชาญเลิศ  อาจารย์สุเมธ อีกครั้งหนึ่ง  หลังจากนั้นจะเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 45 นาที และจะนำเสนอ knowledge  assets  หรือขุมความรู้ ที่ได้จากท่าน  CKO เล่าให้ฟังและบางส่วนได้จากท่านโดยมีน้องที่เป็นคุณลิขิต  หรือ notetaker  เก็บรวบรวมความคิดของท่านผู้ร่วมเวทีที่อยู่ข้างล่าง
ในห้องเรามีบริบทที่หลากหลาย  ถ้าไม่ใช่ในเรื่องของสถานศึกษา  อยากจะได้ความคิดของท่านด้วยว่าท่านมีความคิดอย่างไร ในบทบาทของ CKO ในองค์กรของท่านหรือท่านคิดว่าควรมีบทบาทอย่างไร  

รศ. ภาวิณี  ศรีสุขวัฒนานันท์ :
         จากเมื่อเช้านี้ฟังแล้วเห็นว่าความจริงแล้วขณะนี้ความรู้เกี่ยวกับ CKO  ไปไกล  ทุกภาคส่วนก็ให้ความสนใจแต่จากประสบการณ์พบว่าเรายังมี CKO ไม่มาก นั่นคือจุดอ่อนของการบริหารจัดการการศึกษา เราจะบอกว่า ครูที่ทำหน้าที่อยู่ที่ห้องทำดีที่สุด ผู้บริหารอยู่ในโรงเรียนทำดีที่สุด ประเทศชาติเราจะไปไกลที่สุด  ในส่วนของการที่จะทำให้ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในส่วนระดับเหนือขึ้นไปตระหนักมีความยากมากเลย แต่ด้วยพลังของนักวิชาการเราคิดว่าเราใช้วิธีการอย่างนี้ นำเสนอความรู้ให้ชัดเจน  โดยเฉพาะมีองค์กรเช่น สคส. อยู่ ก็คงจะทำให้เสียงดังขึ้นมา แล้วถ้าใครจะหูหนวกหูตึงก็เป็นที่รับรู้รับทราบกันแล้ว เห็นว่าเวทีตรงนี้มีความสำคัญยิ่ง อยากจะให้มีการนำเสนอตัวอย่างมากๆ  หรืออีกระดับของการวิจัยเพื่อสังเคราะห์  CKO  ให้ชัดเจน แล้วนำความรู้ตรงนี้มานำเสนอให้เกิดพลังของการเปลี่ยนแปลงให้ได้ หวังว่าเราคงจะมี CKO ระดับรายโรงเรียน  ระดับพื้นที่ที่เข็มแข็งที่ผลักดันระดับประเทศชาติ 

รศ. นพ. วรัญ  ตันชัยสวัสดิ์ :
          ผมเป็นจิตแพทย์ เป็นครูแพทย์ และครูใหญ่จำเป็นเพราะรักษาการผู้อำนวยการโรงเรียน  และเป็นโรงเรียนเอกชนที่ตั้งโดยหน่วยงานของรัฐ  อยู่ใต้กำกับของ สช.  แต่จัดตั้งโดยมหาวิทยาลัย กำกับทิศทางโดยสภามหาวิทยาลัย กำกับนโยบายโดยมหาวิทยาลัย แต่ดำเนินการแบบเอกชน   อยากจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทุกท่าน  นี่จะเป็นโรงเรียนแรกในประเทศแรกที่เป็นรูปแบบอย่างนี้หรือเปล่า  เพราะไม่แน่ใจว่า ส่วนราชการจะทำได้หรือไม่ที่จะทำโรงเรียนเอกชน บังเอิญโชคดีที่ ในพระราชบัญญัติข้าราชการในสังกัดอุดมศึกษา มาตรา 16 หรือ 17 กำหนดว่า ข้าราชการในสถาบันอุดมศึกษาได้รับมอบหมายจากหัวหน้าส่วนราชการคืออธิการบดี สามารถทำงานในส่วนงานของเอกชนที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย จึงใช้จุดนี้เพื่อการทำงาน เพราะถ้ายึดถือของรัฐ จะถูกพระราชบัญญัติ ปี 2542  เข้ามากำกับในเรื่องงบประมาณ  งบประมาณที่ได้ก็จะสนับสนุนได้บางส่วนไม่สามารถเรียกเก็บในส่วนเกินได้ การทำโรงเรียนของมหาวิทยาลัยจะเอางบประมาณของรัฐไม่ได้แน่นอน เพราะถือว่าไม่ใช่กิจของสงฆ์ คือมหาวิทยาลัยทำทำไม? กับการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ยุ่งอะไรกับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่จริงการที่มหาวิทยาลัยสงขลานคนรินทร์เปิดโรงเรียนก็เพื่อสวัสดิการ ครึ่งหนึ่งเป็นลูกหลานของอาจารย์เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย  ความที่เป็นมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาค ยิ่งแล้วใหญ่ ยิ่งพูดถึงหาดใหญ่ก็แหยงความรู้สึกใกล้กับปัตตานีมาก ที่จริงมหาวิทยาลัยมีวิทยาเขตอยู่ที่ปัตตานีไม่มีคณะศึกษาที่วิทยาเขตหาดใหญ่ ทางออกก็เป็นเช่นนี้โดยการแนะนำของสภาผู้ทรงคุณวุฒิบอกว่าของสภามหาวิทยาลัยจึงทำต้องให้ทำในในวิธีนี้  หลายคนพยายามหลีกเลี่ยงก็คือ ไม่พูดถึงเรื่องเงินโดยรับเงินอุดหนุนจากรัฐเท่านั้นหัวละ 2,230  บาทต่อเทอมขั้นมัธยมศึกษา และให้จัดการศึกษาอย่างดีเยี่ยมท่าทางจะลำบาก  ก็เลยออกเป็นโรงเรียนเอกชนทีเป็นเป็นโรงเรียนเอกชนลอยตัว  และเป็นโรงเรียนน้องใหม่ที่สุดและเพิ่งเปิดได้เพียง 1 เทอม  ในฐานะของผู้อำนวยการโรงเรียนผมก็ยังไม่อยากบอกว่าเป็น CKO   เพียงแต่ใครอยากจะทำอะไรบอกมา  ครูอยากจะทำอะไร  นักเรียนอยากจะทำอะไรบอกมา  เราก็ได้อย่างใจ  อะไรที่อยู่ในมหาวิทยาลัยเราถือเป็นของโรงเรียนหมด  เราเปิดเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ให้เป็นแบบมหิดลวิทยานุสรณ์   ปณิธานของเราคือเราจะเป็นโรงเรียนที่หล่อหลอมเยาวชนไทยที่คิดแบบวิทยาศาสตร์ให้เป็นนักวิทยาศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ นักศิลปิน เป็นอะไรก็ได้ แต่ขอให้คิดอะไรเป็นแบบวิทยาศาสตร์และไม่ใช่โรงเรียนที่เน้นนักเรียนแบบเป็นเลิศ บอกกับคุณครูเสมอว่าเขาจะมีสภาพอะไรก็ตามเราจะปั้นเขาเป็นถ้วยชาม  เป็นถ้วยชามที่สามารถใช้ทุกครัวเรือนได้ เป็นตั้งแต่  stoneware ที่สวยงาม  ดินขาวชั้นเยี่ยมก็อาจเป็น bone china  ขึ้นบนโต๊ะเสวยได้ อยู่ในครัวบนโต๊ะชาวบ้านได้ ขอให้นักเรียนได้ออกจากโรงเรียน อยู่ได้กับสังคมและมีชีวิตอยู่ในสังคมอย่างนี้  อันนี้คือสื่อสารทั้งผู้ปกครองด้วย อย่างที่หลายคนบอกว่าผู้ปกครองจะมีอิทธิพลมาก บอกว่าสอนให้สอบ entrance ได้ ผมบอกเลยว่าถ้าอยากสอบ entrance  ได้ให้ไปหาโรงเรียนอื่นเรียน  พูดกันอย่างตรง ๆ  ได้ไม่ใช่ว่าโรงเรียนจะไปกดดันให้เขาสอบให้ได้  โรงเรียนมีหน้าที่ให้แค่เขาได้รู้ว่าชีวิตนี้คืออะไร ได้มีประสบการณ์  ตลอดที่เล่ามาสั้นมากเพราะประสบการณ์แค่เทอมเดียว  ที่โรงเรียนเราอาศัยความที่ผู้ปกครองเป็นอาจารย์ครึ่งหนึ่ง  เลยพูดกับผู้ปกครองภาษาใต้ว่า อาจารย์อย่าอยู่เปล่าๆ ภาษาใต้คืออยู่เฉยๆ ไม่ได้ ในเมื่อเอาลูกมาฝากหน้าที่ไม่ใช่เอาลูกมาหย่อนที่หน้าโรงเรียนแล้วเย็นก็รับกลับจบ  เพราะฉะนั้นเครือข่ายของผู้ปกครองนี้เข้มแข็งมาก เครือข่ายระดับห้องพบครูทุกเดือนเปิดสี่เดือนเจอกันหกครั้งแล้วก็คือติดตามพัฒนาการของลูกๆ เขาทุกคน ทุกคนมีส่วนร่วม ผมสื่อสารกับผู้ปกครองทุกคนเสมอว่า โรงเรียนนี้ไม่ใช่โรงเรียนของมหาวิทยาลัย โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนของเรา คือของเราทุกคน เพราะฉะนั้นจะบอกว่าหน้าที่อบรมสั่งสอนเป็นหน้าที่ของโรงเรียนไม่ได้ ลูกท่านจะอยู่ที่โรงเรียน 8 ชั่วโมงอย่างเก่ง ที่เหลืออยู่ที่บ้าน 16 ชั่วโมง หวังว่าเด็กที่ออกไปจะมีพัฒนาการด้านความรู้ความสามารถ อยู่กับโลกภายนอกได้  มีทักษะชีวิตมีทักษะทางสังคม เราจะอาศัยเครือข่ายผู้ปกครอง ผู้ปกครองเป็นเจ้าของโรงงานเลยขอฝากเพื่อนของลูกไปดูชีวิตที่โรงงานได้หรือไม่  เขาก็เปิดโรงงานให้นักเรียนดู  อาจารย์ที่อยู่ห้อง lab ก็ฝากเพื่อนของลูกไปดูอาจารย์ทำงานที่ห้อง lab ได้หรือไม่ ใช้วิธีการนี้อะไรที่อยู่ใกล้ตัวคว้าไปไว้หมด  ลำพังที่โรงเรียนจะจัดเองไม่ได้ถ้าจะเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์  เราจัดให้นักเรียนทำ lab หนึ่งต่อหนึ่งได้ระดับหนึ่ง   แต่สิ่งที่เขาได้นอกห้องเรียนผมเชื่อว่าเขาได้อย่างมากในเด็กชั้นระดับมัธยม  ซึ่งเพิ่งเปิดถ้าครบ 3 ปี ตอนนี้รับ ม.1 กับ ม. 4 เท่านั้น ครบ 6 ชั้นปีน่าจะมีอะไรมาบอกเล่าเก้าสิบได้ในที่นี้ อยากจะมาแบ่งปันกับที่นี้ฟังมาได้ตั้งแต่เมื่อวานไม่เป็นเอกชนก็เป็นโรงเรียน รัฐบาลเต็มตัว  แต่นี่ไม่รู้ว่าจะเรียกโรงเรียนอะไรขึ้นอยู่กับ สช. จัดตั้งโดยหน่วยงานของรัฐ  ขอบคุณมากครับ

อ.จิรัชฌา  วิเชียรปัญญา :
         ขอบพระคุณมากๆ นะคะ ขอเรียนเชิญค่ะ พออาจารย์พูดถึงนึกถึง หนูว่าเป็น social capital,  knowledge  capital  แสดงว่าปีหน้าเราเชิญอาจารย์ไว้ล่วงหน้าได้ไหมคะ  หรือไม่ถ้าทำอะไรดี ๆ  เขียนไว้ใน blog อาจารย์ ดร.ปฐมพงษ์ มันเป็น model อีก model ที่ไม่มีอยู่ในเวทีนี้ จะดูว่า social capital หรือ knowledge  capital  ที่อยู่ทางโรงเรียนได้บริหารจัดการอย่างไร  ขอเรียนเชิญอีกท่าน

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 17066เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2006 09:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท