ลักษณะงานของศูนย์ผู้บริโภคแห่งชาติของประเทศญี่ปุ่น (National consumer Affairs center of Japan : NCAC) ภายหลังการปฏิรูปการบริหารซึ่งเป็นผลมาจากการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยองค์กรอิสระภาครัฐ ศูนย์ผู้บริโภคแห่งชาติของประเทศญี่ปุ่น (กฎหมายฉบับที่ ๑๒๓ ลงวันที่ ๔ ธ


ลักษณะงานของศูนย์ผู้บริโภคแห่งชาติของประเทศญี่ปุ่น (National consumer Affairs center of Japan : NCAC) ภายหลังการปฏิรูปการบริหารซึ่งเป็นผลมาจากการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยองค์กรอิสระภาครัฐ ศูนย์ผู้บริโภคแห่งชาติของประเทศญี่ปุ่น (กฎหมายฉบับที่ ๑๒๓ ลงวันที่ ๔ ธันวาคม ค.ศ. ๒๐๐๒)

อีกครั้งหนึ่ง ที่ผู้เขียนได้กลับไปที่ญี่ปุ่น ได้ไปเยี่ยมเจ้าหน้าที่ศูนย์ผู้บริโภคแห่งชาติของประเทศญี่ปุ่น (National consumer Affalrs center of Japan : NCAC) ภายหลังการปฏิรูปการบริหารซึ่งเป็นผลมาจากการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยองค์กรอิสระภาครัฐ ศูนย์ผู้บริโภคแห่งชาติของประเทศญี่ปุ่น (กฎหมายฉบับที่ ๑๒๓ ลงวันที่ ๔ ธันวาคม ค.ศ. ๒๐๐๒)  ในการนี้ เจ้าหน้าที่กองนโยบายและประชาสัมพันธ์ สำนักกิจการทั่วไปและนโยบาย ศูนย์ผู้บริโภคแห่งชาติของประเทศญี่ปุ่นได้บรรยายสรุปให้ผู้เขียนได้รับทราบได้ดังนี้                      

สถานะของ NCAC ในปัจจุบันเป็นองค์กรอิสระภาครัฐตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรอิสระภาครัฐ ศูนย์ผู้บริโภคแห่งชาติของประเทศญี่ปุ่น (กฎหมายฉบับที่ ๑๒๓ ลงวันที่ ๔ ธันวาคม ค.ศ. ๒๐๐๒ และมีผลทำให้สถานะจากเดิมที่เป็นองค์กรภายใต้การกำกับดูแลจากสำนักงานคณะรัฐมนตรีมาเป็นองค์กรอิสระตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ค.ศ. ๒๐๐๓ และขึ้นตรงต่อสำนักงานคณะรัฐมนตรี วัตถุประสงค์ขององค์กรฯ เพื่อทำการค้นคว้าวิจัยและนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของประชาชนในฐานะที่เป็นผู้บริโภคจากมุมมองโดยรวมเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงและเป็นการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนในฐานะที่เป็นผู้บริโภคให้ดีขึ้น วัตถุประสงค์หลักนอกจากนี้เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของการบริหารงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค มีหน้าที่ปฏิบัติตามนโยบายของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค โดยทำหน้าที่ในการประสานงานกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องและองค์กรด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และมีหน้าที่หลักในการสนับสนุนงานของศูนย์บริโภคและความเป็นอยู่ ซึ่งตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาครวม ๔๖๓ แห่ง รวมทั้งสนับสนุนงานของศูนย์ผู้บริโภคในระดับตำบลและหมู่บ้าน โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเกี่ยวกับงานด้านประชาสัมพันธ์ ผลิต และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร จัดการอบรม ให้การศึกษา ช่วยเหลือในการทดสอบสินค้ากรณีศูนย์ผู้บริโภคในส่วนภูมิภาคไม่มีเครื่องมือทดสอบสินค้าที่ผู้บริโภคร้องเรียน ทำงานด้านสำรวจและวิจัยในระดับประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาด้านการบริโภค เช่น ปัญหาการค้าทางอินเตอร์เนต ปัญหาของธุรกิจให้กู้ยืมเงินโดยภาคเอกชน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่บริหารเครือข่ายทางอินเตอร์เนต โดยเป็นศูนย์กลางประสานงานหน่วยงานภาครัฐ และดูแลระบบการจัดเก็บข้อมูลโดยระบบ PIO-NET เพื่อการวิเคราะห์ วิจัยในการป้องกันและแก้ไขปัญหาของผู้บริโภค

แผนงาน ๕ ปี มีดังนี้

๑. จัดทำแผนบริหารงบประมาณในระยะ ๕ ปี โดยมีการพิจารณาประเมินผลการดำเนินงานในแต่ละปีโดยคณะกรรมการประเมินผลซึ่งเป็นองค์กรภายนอกซึ่งขึ้นอยู่กับสำนักงานคณะรัฐมนตรี และในทุก ๓ ถึง ๕ ปี จะจัดให้มีการทบทวนแผนการดำเนินงานเพื่อปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาพของสังคม

๒. กำหนดนโยบายในการลดค่าใช้จ่ายและลดบุคคลากร  ทั้งนี้ ผลงานต้องมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลต่อประชาชนให้มากขึ้นกว่าเดิมโดยมีดรรชนีชี้วัดความสำเร็จเป็นรูปธรรมได้อย่างชัดเจน

๓. การบริหารการจัดเก็บข้อมูลในระบบ PIO-NET การประมวลผลจะต้องปรับให้มีความเร็วมากขึ้นโดยตั้งค่าความเร็วในการประมวลผลเบื้องต้นในแต่ละเรื่องให้เสร็จภายใน ๕๐ วัน จากเดิมที่เคยปฏิบัติ ๖๐ วัน

๔. ปรับปรุง HOME PAGE ให้มีความน่าสนใจและมีประสิทธิภาพในการให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภค โดยตั้งเป้าให้มียอดของผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ ๒๐

๕. ประสานงานกับกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน (Non Governmental Organizations: NGOs หรือ Non Profitable Organizations: NPOs) ให้มากขึ้นโดยจัดตั้งกลุ่มงานสำรวจข้อมูลกลุ่มดังกล่าวเพื่อจัดทำฐานข้อมูลและส่งเสริมให้องค์กรดังกล่าวมีส่วนร่วมในการให้คำปรึกษาและช่วยเหลือผู้บริโภค ทั้งนี้ จะจัดเตรียมสถานที่หรือห้องประชุมไว้ให้สำหรับองค์กรพัฒนาเอกชนในการเข้าร่วมปฏิบัติหน้าที่เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนหรือผู้บริโภค

๖. นโยบายพัฒนาบุคลากรของศูนย์ฯ โดยการสอบและวิธีการประเมินผลการทำงานขององค์กรฯ โดยองค์กรภายนอกซึ่งเป็นบุคคลที่สาม

๗. เน้นให้ความรู้ในสถานศึกษาโดยประสานงานกับกระทรวงศึกษาธิการในการจัดทำหลักสูตรเนื้อหาการเรียนการสอนเรื่องการการคุ้มครองผู้บริโภค นอกจากนี้ จัดให้มีการอบรมบุคลากรซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ด้านการบริหารกิจการผู้บริโภคของรัฐ ผู้นำกลุ่มผู้บริโภคในท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ของภาคเอกชนซึ่งดูแลด้านกิจการผู้บริโภค รวมทั้งการรับรองคุณสมบัติผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการให้คำปรึกษาเรื่องกิจการผู้บริโภค (การที่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญและปฏิบัติหน้าที่ในการให้คำปรึกษาแก่ผู้บริโภคในประเทศญี่ปุ่นจะต้องมีใบอนุญาตซึ่งจะต้องสอบผ่านจาก NCAC)

๘. ผลการวิจัยต่างๆ ต้องผ่านการรับรองจากผู้เชี่ยวชาญหรือบุคคลภายนอก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย และคณะรัฐมนตรีก่อนจึงจะนำไปเผยแพร่ได้

ระบบเครือข่ายข้อมูลผู้บริโภค (Practical Living Information Online Network System: PIO-NET) และระบบการสะสมข้อมูลอันตรายของศูนย์กิจการผู้บริโภคแห่งชาติของประเทศญี่ปุ่น              

ในการนี้ นายมิยาอูชิ เจ้าหน้าที่ศูนย์กิจการผู้บริโภคแห่งชาติของประเทศญี่ปุ่นได้บรรยายสรุปให้ผู้เขียนทราบเพิ่มเติม ดังนี้

ระบบการสะสมข้อมูลอันตรายเป็นการรวบรวมกรณีตัวอย่างของผู้ที่ได้รับอันตรายต่อร่างกายหรือชีวิตจากการบริโภคสินค้าหรือบริการ ระบบนี้ได้ถูกนำมาใช้เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ค.ศ. ๑๙๗๕ โดยมีวัตถุประสงค์ในการนำข้อมูลไปวิเคราะห์และเผยแพร่เพื่อป้องกันภัยอันจะเกิดแก่ผู้บริโภคหรือระงับมิให้ขยายวงกว้างออกไป และหลังจากมีการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยความรับผิดในผลิตภัณฑ์ ศูนย์กิจการผู้บริโภคเห็นว่าหากผลิตภัณฑ์ใดมีความบกพร่องประการหนึ่งประการใดอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่ผู้บริโภคโดยส่วนรวมซึ่งผู้ประกอบธุรกิจจะต้องรับผิดชอบในความเสียหายนั้น อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นและขยายวงกว้าง จึงได้จัดทำระบบการสะสมข้อมูลอันตรายขึ้นโดยมีขั้นตอน ๓ ขั้นตอน ได้แก่ การรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ และการเผยแพร่ข้อมูล

ข้อสังเกตของผู้เขียน

๑. ศูนย์ผู้บริโภคแห่งชาติของประเทศญี่ปุ่นได้รับงบประมาณจากรัฐแต่เพียงฝ่ายเดียวล่วงหน้า ๕ ปี สำหรับการวางแผนล่วงหน้า กำหนดยุทธศาสตร์และเป้าหมายที่แน่นอน โดยจะมีการประเมินผลว่าสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ทุกปี โดยองค์กรภายนอกซึ่งเป็นบุคคลที่สามซึ่งได้แก่ กระทรวงการคลังและสำนักงานคณะรัฐมนตรี หากไม่สามารถเป็นไปได้ตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารระดับสูง การบริหารงบประมาณมีความคล่องตัวกว่าเดิม เช่น เงินงบประมาณที่เหลือต่อปี หากเหลือใช้ไม่ต้องคืน หากแต่สามารถนำไปใช้ได้ในปีต่อไปได้ ทั้งนี้ จะต้องอยู่ในการกำกับดุแลของกระทรวงการคลังและสำนักงานคณะรัฐมนตรี

๒. ศูนย์ผู้บริโภคแห่งชาติของประเทศญี่ปุ่นไม่ได้รับเงินสนับสนุนหรือความช่วยเหลือจากองค์กรเอกชนหรือภาคธุรกิจ หากแต่มีรายได้จากการจัดพิมพ์หนังสือ สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ซึ่งเป็นที่ได้รับความนิยมและแพร่หลายอย่างมากในประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้ ผลตอบแทนในการบริหารที่ได้จากรัฐจะอยู่ที่ผลงานเป็นหลัก

๓. ศูนย์ผู้บริโภคแห่งชาติของประเทศญี่ปุ่นหลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการบริหารมาเป็นองค์กรอิสระ มีการปรับโครงสร้างให้เล็กลง ลดจำนวนบุคลากรและพัสดุที่ใช้ในสำนักงาน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้มากขึ้นด้วยการสร้างภาระผูกพันให้แก่ผู้บริหารระดับสูงในการกำหนดนโยบาย แผนการนำนโยบายไปปฏิบัติ แผนการจัดสรรและการใช้งบประมาณในระยะ ๕ ปี ล่วงหน้า  ทั้งนี้ จะมีองค์กรภายนอกประเมินผลว่ามีเป้าหมายที่ชัดเจนหรือไม่ มีผลสัมฤทธิ์ ผลผลิต และผลลัพธ์เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้หรือไม่อย่างไร และอาจมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารระดับสูงเมื่อแผนไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ได้วางเป้าหมายไว้

๔. เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานเจ้าหน้าที่โดยลดบทบาทการให้คำปรึกษาแก่ผู้บริโภคของศูนย์ฯ โดยให้เป็นหน้าที่หลักของเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ต่าง ๆ ในมหานครโตเกียวและศูนย์ในท้องถิ่นทั่วประเทศ เพิ่มความสำคัญให้แก่เจ้าหน้าที่ในภูมิภาคและท้องถิ่นเหล่านั้นให้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้ จะต้องมีการจัดฝึกอบรมและผ่านการทดสอบเพื่อให้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ให้คำปรึกษาโดยเคร่งครัด ซึ่งสอดคล้องกับหลักเรื่องการกระจายอำนาจ ลดภารกิจส่วนกลางโดยผ่องถ่ายให้แก่ส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นซึ่งเป็นนโยบายของประเทศไทยอยู่ในขณะนี้

๕. การปฏิบัติหน้าที่ของศูนย์ผู้บริโภคแห่งชาติของประเทศญี่ปุ่นจะมีการทบทวนระบบงานทุกสามถึงห้าปีต่อหนึ่งครั้ง

ข้อเสนอแนะของผู้เขียน

๑. ลักษณะงานของศูนย์ผู้บริโภคแห่งชาติของประเทศญี่ปุ่นกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันเพียงแต่ว่าศูนย์ผู้บริโภคแห่งชาติของประเทศญี่ปุ่นไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะกระทำการใดๆ ในเชิงการออกคำสั่งทางปกครองหรือกระบวนการในการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งมีผลกระทบต่อสิทธิของประชาชนได้ อย่างไรก็ตาม หน้าที่ประการหนึ่งที่เหมือนกันได้แก่ การเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในเชิงนโยบาย ตอบสนองต่อคณะรัฐมนตรีในการกำหนดนโยบายให้แก่รัฐบาลด้านการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจะต้องเพิ่มบทบาทในอนาคตในการกำหนดหรือสนับสนุนข้อมูลเพื่อการประกอบการตัดสินใจหรือกำหนดนโยบายของรัฐบาลด้านการคุ้มครองผู้บริโภคมากกว่าการเป็นหน่วยงานปฏิบัติ สำหรับปฏิบัติการต่างๆ นั้น เห็นควรผ่อนคลายทิศทางการให้ความช่วยเหลือผู้บริโภค โดยสนับสนุนหรือส่งเสริมให้ประชาชนในฐานะผู้บริโภคได้ช่วยเหลือตนเอง  ให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่และสร้างกลไกที่จะสนับสนุนตลอดจนบรรยากาศการคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงการประสานงานในเชิงรุกกับองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยซึ่งมีปรัชญาของการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารงานภาครัฐ  นอกจากนี้ หากจะส่งเสริมและสนับสนุนภารกิจด้านการให้คำปรึกษา การดำเนินการตามกฎหมายเกี่ยวกับผู้กระทำความผิดละเมิดสิทธิผู้บริโภคโดยผ่องถ่ายอำนาจหน้าที่ให้แก่ภูมิภาคและท้องถิ่นก็จะเป็นการสอดคล้องกับหลักเรื่องการกระจายอำนาจ ลดภารกิจส่วนกลางโดยผ่องถ่ายให้แก่ส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นซึ่งเป็นนโยบายของประเทศไทยอยู่ในขณะนี้

๒. ศูนย์ผู้บริโภคแห่งชาติของประเทศญี่ปุ่นไม่รับเงินสนับสนุนหรือความช่วยเหลือจากองค์กรเอกชนหรือภาคธุรกิจ หากแต่มีรายได้จากการจัดพิมพ์หนังสือ สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ซึ่งเป็นที่ได้รับความนิยมและแพร่หลายอย่างมากในประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นหน่วยงานภาครัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ประการหนึ่งคือตอบสนองความต้องต้องการของผู้บริโภคในลักษณะที่หน่วยงานของรัฐพึงให้บริการต่อประชาชน ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐของประเทศไทยที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค การรับการสนับสนุนไม่ว่าในรูปแบบใดอาจมีผลต่อภาพลักษณ์และความรู้สึกของประชาชนในฐานะที่เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่พิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชนในฐานะที่เป็นผู้บริโภคหากมีกรณีที่ผู้บริโภคเสียเปรียบหรือได้รับความเสียหายจากผู้ประกอบธุรกิจ  ดังนั้น นอกจากเงินงบประมาณทีรัฐได้จัดสรรให้แล้ว แนวทางการหารายได้ก็คือการจัดพิมพ์หนังสือต่างๆ ตลอดจนสื่อวิชาการ  ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรภาครัฐ และเป็นการพัฒนาคุณภาพผู้บริโภคให้เกิดการเรียนรู้ไปในตัวด้วย

๓. บทบาทที่โดดเด่นของศูนย์ผู้บริโภคแห่งชาติของประเทศญี่ปุ่นคือการจัดทำระบบการจัดเก็บข้อมูลผู้บริโภค (PIO-NET) ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการให้คำปรึกษาแก่ผู้บริโภค สำหรับเป้าหมายศูนย์ข้อมูลผู้บริโภคแห่งชาติของประเทศไทยที่จะจัดตั้ง ณ สคบ. นั้น นอกจากข้อมูลทางสถิติแล้ว สคบ. ควรจะต้องมีข้อมูลในเชิงลึกจากปัญหาที่ผู้บริโภคขอคำแนะนำและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะต้องยึดถือปฏิบัติด้วยความจริงจังคือการติดตามการแก้ไขปัญหาของผู้บริโภคต่อไปเพื่อนำสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมาศึกษา วิจัยและประเมินผล  อนึ่ง บทบาทในการเจรจาไกล่เกลี่ยของ สคบ. หรือศูนย์ฯ ควรมีมาตรการด้านบริหารงานบุคคลรองรับอำนาจในการเจรจาต่อรองค่าเสียหายแทนผู้บริโภคได้ (ซึ่งขณะนี้ อำนาจในการเจรจาต่อรองได้ถูกำหนดเพิ่มเติมสำหรับร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่...) พ.ศ. ...) โดยอาจมอบหมายให้พนักงานอัยการหรือสภาทนายความหรือสมาคมนักกฎหมายอื่นๆ เข้ามาเป็นคนกลางก็น่าที่จะนำไปพิจารณาแนวทางความเป็นไปได้

 

 

หมายเลขบันทึก: 168278เขียนเมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2008 18:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท