การจัดการความรู้


การจัดการความรู้ในสถานศึกษาเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะให้เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้

   การจัดการความรู้ในสถานศึกษาเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะให้เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้

 

            การเรียนรู้  ความรู้  นวัตกรรม  สื่อและเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาสู่สังคมแห่งความรู้   การส่งเสริมและสร้างกลไกเพื่อให้คนไทยทุกคนมีโอกาสและทางเลือกที่จะเข้าถึงปัจจัยและเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตด้วยรูปแบบและวิธีการที่หลากหลาย  โดยการได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคม  จะนำมาซึ่งการพัฒนาคุณภาพ  ประสิทธิภาพและขีดความสามารถของคนไทยในการพัฒนาประเทศ  รวมทั้งการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ (กระทรวงศึกษาธิการ , 2550 : 119 )

       การจัดการความรู้ในสถานศึกษา หมายถึง การรวบรวมองค์ความรู้ที่มีอยู่ในสถานศึกษา ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในตัวบุคคลหรือเอกสารมาพัฒนาให้เป็นระบบ เพื่อให้ทุกคนในสถานศึกษาสามารถเข้าถึงความรู้และพัฒนาตนเองให้เป็นผู้รู้รวมทั้งปฏิบัติงาน ได้อย่างมีประสิทธิภาพอันจะส่งผลให้สถานศึกษาสามารถพัฒนาคุณภาพศึกษาได้บรรลุมาตรฐาน

       พจน์  สะเพียรชัย  (  อ้างใน    ชุมศักดิ์  อินทร์รักษ์  ,  2547 :  43-45 ) ได้กำหนดกรอบความคิดเกี่ยวกับการสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ไว้ว่า  ประกอบด้วย    ความเป็นเลิศของบุคคล  รูปแบบวิธีความคิด  การมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน    การเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีมและการคิดอย่างเป็นระบบ 

       ธีระ  รุญเจริญ  (  2548  :  152 -153 )    กล่าว่า ผู้บริหารสถานศึกษาจำต้องมีลักษณะภาวะผู้นำที่จะทำให้โรงเรียนเป็นโรงเรียนแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริงดังนี้

       1.  มีความรู้ความสามารถในการดำเนินการในเรื่องต่อไปนี้

              1.1.   การจัดให้มีการวิจัยและพัฒนาในโรงเรียน

               1.2.  การจัดการประเมินและนำผลการประเมินมาปรับปรุงโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง

               1.3.  การแสวงหาความคิดและความสามารถของครู  นักเรียนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ

               1.4.  การจัดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

               1.5.  การจัดการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง

        2.  นำโรงเรียนให้เจริญก้าวหน้าไปเรื่อยๆและให้มีความยั่งยืน

        3.  ปกครอง  ดูแล   บุคลากรด้วยคุณธรรม  จริยธรรม

         4.  จูงใจบุคลากรให้พัฒนาผลงานของตนให้ดีขึ้น

        5.  สร้างวิสัยทัศน์  ค่านิยมของโรงเรียนและสร้างพันธะผูกพันต่อการปฏิบัติงานในโรงเรียน

        6.  สร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของบุคลากรทุกคน

        7.  ทำงานโดยอาศัยกลุ่มหรือคณะบุคคลเป็นที่ตั้ง

        8.  มีความจริงใจ  เข้าใจและรับฟังความคิดเห็นทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน

        9.  ให้รางวัล  ยกย่อง  ชมเชยบุคลากร  นักเรียนและผู้ที่เกี่ยวข้อง

      10.  เอื้ออำนวยความสะดวกทรัพยากรทุกอย่างเพื่อการเรียนรู้

        ดังนั้นในการจัดการความรู้ในสถานศึกษา เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะคนในสถานศึกษาให้เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้นั้น สามารถที่จะดำเนินการเพื่อการพัฒนาได้ดังนี้

·         สร้างความรู้ความเข้าใจแก่บุคลากรในเรื่องการจัดการความรู้

·         แต่งตั้งคณะทำงานจัดการความรู้ เพื่อดำเนินการ การคัดเลือกรวบรวมความรู้ จัดระบบความรู้ ใช้ข้อมูลเพื่อสร้างเป็นความรู้

·         จัดกิจกรรม การแลกเปลี่ยนความรู้ทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา ด้วยการส่งเสริมการวิจัย การเปิดโอกาสให้เผยแพร่ความรู้ การประชุม อบรม สัมมนา ศึกษาดูงาน

·         การสร้างบรรยากาศและวัฒนธรรมการเรียนรู้ในสถานศึกษา โดยใช้ระบบนิเทศภายในโรงเรียน

·         การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยจัดทำเว็บเพจเกี่ยวกับการจัดการความรู้ และนำความรู้ขึ้นแลกเปลี่ยนกับหน่วยงานต่าง ๆ บนเว็บไซต์ของโรงเรียน

·         ส่งเสริมให้บุคลากรนำความรู้ไปใช้พัฒนาคนและพัฒนางาน โดยมีการนิเทศติดตามประเมินผล

ดังนั้น การนำระบบการจัดการความรู้มาใช้ในการบริหารจัดการในสถานศึกษา เพื่อสร้างบุคคลในสถานศึกษา ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร ครูผู้ปฏิบัติ ตอดจนผู้เรียน ให้เข้าใจและเห็นคุณค่าของการจัดการความรู้นั้น ย่อมเป็นอีกปัจจัยหนึ่งของการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และบรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดการศึกษา อย่างแท้จริง.

 

เอกสารอ้างอิง

กระทรวงศึกษาธิการ ,   2550.  เอกสารประกอบการพัฒนาหลักสูตรพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อ

                     รองรับการกระจายอำนาจสำหรับผู้บริหารการศึกษาและผู้บริหารสถานศึกษา   สำนักพิมพ์

                  คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา.  

ชุมศักดิ์   อินทร์รักษ์ ,  2547.   การบริหารงานวิชาการ    ฝ่ายเทคโนโลยี ทางการศึกษา  สำนักวิทยบริการ

                      มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตตานี.

ธีระ  รุญเจริญ  ,  2548.  สู่ความเป็นผู้บริหารสถานศึกษามืออาชีพ      สำนักพิมพ์ข้าวฟ่าง.

www.dms.moph.go.th/mdtc, 

                       :    www.thaiedresearch.org/result/detail_add.php?id=38 - 31k

 

***************

หมายเลขบันทึก: 168273เขียนเมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2008 18:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 15:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท