แลกเปลี่ยนเรียนรู้คุณอำนวย : 26. ใช้นิทานและเกมส์เพื่อสร้างบรรยากาศ


ต้องถูกเรื่อง-ถูกกาล-และเหมาะสมกับกลุ่มคน

          หลายครั้งที่ผมได้มีโอกาสไปร่วมกระบวนการกลุ่ม  ทั้งที่ไปทำหน้าที่ดำเนินกระบวนการ  แต่ช่วงหลังๆ นี้ ส่วนใหญ่จะไปร่วมเพื่อสังเกตและให้ข้อคิดเห็นบ้างตามแต่เวลาและโอกาสจะเอื้ออำนวย  ทุกครั้งที่ไปร่วมไม่ว่าจะไปในฐานะผู้ดำเนินกระบวนการเอง  หรือไปในบทบาทของผู้สังเกตการณ์  ผมระลึกอยู่เสมอว่าในการทำหน้าที่แต่ละครั้ง จะต้องผสมผสานบทบาทระหว่างวิทยากรกระบวนการ (Facilitator) และผู้อำนวยการจัดการความรู้-คุณอำนวย (Knowladge Facilitator) ให้ดีที่สุด

          ระยะหลังๆ นี้ ส่วนใหญ่จะไปทำหน้าที่สังเกตเสียเป็นส่วนมาก  เพราะพระเอก-นางเอกตัวจริงในภาคสนาม(นักส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่)เขาได้ทำหน้าที่ของเขาดีอยู่แล้ว  แต่เราก็ยังไปร่วมเพื่อ

  • ไปเรียนรู้ในทุกๆ เรื่อง  (เพราะเรายังต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา  ใครที่คิดว่ารู้แล้วแสดงว่านั่นกำลังปิดกั้นโอกาสการเรียนรู้ของตนเอง)
  • ไปให้กำลังใจ  (กำลังใจนั้นไม่ต้องลงทุนมาก แต่ว่าคนทำงานยังต้องการอีกมากมาย)
  • ไปเป็นเพื่อนร่วมงาน (เพราะทุกวันนี้มีแต่คนอยากจะเป็นเจ้านาย  หลายคนจึงขาดเพื่อน)
  • ฯลฯ

          เมื่อมีโอกาสผมมักจะเข้าไปแจมในเวที-กระบวนการ  เช่น ในช่วงหลังพักและกำลังจะเริ่มรวมกลุ่มกันใหม่  ช่วงที่อยู่ระหว่างกระบวนการหยุดชะงัก-ไม่ราบรื่น  หรือแม้แต่ช่วงก่อนการสรุปบทเรียน หรือจบกระบวนการในครั้งนั้นๆ   แล้วผมเข้าไปแจมโดยใช้เทคนิคใดบ้างเล่า...หลายคนอาจตั้งคำถามอยู่ในใจ

          ไม่ยากเลยครับ คิดว่าหลายท่านก็ได้เคยใช้มาบ้างแล้ว  ผมใช้สิ่งเหล่านี้ในการขอเข้าไปร่วมแจมในเวที-กระบวนการ คือ

  • เล่านิทานหรือเรื่องเล่าเพื่อให้ฉุกคิดครับ    พบว่าใช้ได้ผลดีมาก  เพราะเป็นการหักมุมคิด-เปลี่ยนอิริยาบทของกายและจิต  ให้ได้พักผ่อนหรือผ่อนคลายจากกระบวนการที่บางครั้งก็กำลังตึงๆ อยู่  แต่เราต้องเลือกนิทานหรือเรื่องเล่าที่เหมาะสมนะครับ  ต้องถูกเรื่อง-ถูกกาล-และเหมาะสมกับกลุ่มคน   และบางครั้งก็สามารถนำเข้าสู่บทเรียน หรือนำเข้าสู่การสรุปเนื้อหาก็เคยทำมาแล้ว  
  • เล่นเกมส์ง่ายๆ ครับ    เทคนิคนี้ก็ใช้ได้และเกิดผลคล้ายๆ กันกับนิทานหรือเรื่องเล่า  แต่ก็ต้องเป็นเกมส์ที่เหมาะสมนะครับ  เน้นที่ให้เกิดการคิด   พยายามเลือกเนื้อหาที่เกี่ยวข้องและสัมพันธ์กันกับเวที-กระบวนการในครั้งนั้นๆ  ซึ่งมีอยู่มากมาย  

          ดังนั้น คุณอำนวยทั้งหลาย  พยายามอ่านและจดจำนิทาน-เรื่องเล่าชวนคิด  เกมส์ต่างๆ ไว้บ้างก็ดีนะครับ  เผื่อโอกาสที่เหมาะสมสามารถหยิบขึ้นมาใช้ได้ทันที    และเมื่อได้ลองนำมาประยุกต์ใช้แล้วจะพบเหมือนผมว่า อะไรๆ ก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้ และสนับสนุนการจัดกระบวนการเพื่อให้เกิดการ ลปรร.ได้ทั้งสิ้น 

           ที่บันทึกมานี้หลายท่านอย่าคิดว่าผมเป็นคุณอำนวยที่เก่งกาจนะครับ   จริงแล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่  ผมเป็นเพียงมือใหม่ที่ยังต้องเรียนรู้และพัฒนาอะไรๆ  อีกมากมาย   ท่านผู้เข้าอ่านนั้นเก่งๆ กว่าผมมากอยู่แล้ว    เพียงแต่ผมพอมีประสบการณ์เล็กๆ น้อยๆ ที่ได้ลองทำดูแล้วได้ผลดี    จึงคิดว่าน่าจะเกิดประโยชน์แก่เพื่อนๆ เลยบันทึกมาเพื่อการ ลปรร. ครับ 

วีรยุทธ  สมป่าสัก  22  กุมภาพันธ์  2551

หมายเลขบันทึก: 166722เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2008 11:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มีนาคม 2012 15:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

สวัสดีค่ะ...คุณสิงห์ป่าสัก

  • แวะมาแจมและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นค่ะ
  • ว่า...คนที่จะเป็นคุณอำนวยที่ดีอันดับแรก..ใจกับระบบคิด..ต้องมาก่อน จิตต้องอาสา ลปรร..กับกลุ่มและสมาชิก
  • พวกเราส่วนใหญ่อยู่ในระบบกันมานานมาก..ก
  • ในวง...หากมีคนคอเดียวกัน..ทำงานสนุกสนานมากทีเดียว...ถึงขั้นนั่งสังเกตการณ์ให้พระเอกนางเอกตัวจริงแสดงเอง..ร่วมแจมเท่าที่โอกาสอำนวย...ถือว่าเป็นคุณอำนวยตัวจริงแล้วคะ
  • เรามาช่วยกันคิดต่อนะคะ...ว่าเราจะสร้างพระเอก-นางเอก..ตัวจริงเสียงจริงในชุมชน...ให้เป็นคุณอำนวยต่อๆไปได้อย่างไร
  • ถึงตอนนั้น...กรมส่งเสริมการเกษตรเราคงจะติดอาวุธทางปัญญาเค้าได้จริง...จริง

                                 สาวหละปูนเจ้า

"ช่วงที่อยู่ระหว่างกระบวนการหยุดชะงัก-ไม่ราบรื่น" 

ข้อความนี้ของพี่ยุทธ  ทำให้ผมนึกถึงเหตุการณ์ครั้งหนึ่งในพื้นที่อำเภอจักราช นครราชสีมา

ตอนนั้นประชุมชาวบ้านช่วงหัวค่ำ และต้องรีบคุยให้จบก่อนหนังทีวีช่องเจ็ด  เพราะไม่อย่างนั้นคนหายหมด    ระหว่างที่คุย  มีคนหนึ่งที่มาจากไหนก็ไม่ทราบ  เข้ามาร่วมวงทีหลัง  เขาก็คุยป่วนไป ป่วนมา    แต่มีพี่คนหนึ่งในกลุ่ม  คล้ายๆ พี่ยุทธนี่แหละครับ  ที่มาร่วมสังเกต  ก็จะเดินไปคุยกับคนนั้น  แล้วค่อยๆดึง ออกจากวงสนทนา  ไปคุยกันต่างหาก  ไปชวนแกคุย ไปชวนแกถาม   ทำบรรยากาศวงใหญ่ดำเนินต่อไปไดด้วยดี  ทุกคนแฮปปี้ครับ  

  • ชู 10 นิ้วให้เลยค่ะ (ยังไม่ได้แถมอีก 10 นะคะ อิอิ) สำหรับผู้ให้กำลังใจภาคีเครือข่าย
  • แต่ทว่า วันหน้า วันหลัง นำเรื่องเล่านิทาน หรือเกม มาเผยแพร่กันบ้างสิคะ แบบว่า เรา เล่านิทานก็ไม่เก่ง นำเกมก็ไม่เก่งอีก เผื่ออยากทดลองสร้างบรรยากาศจะได้ทำมั่งค่ะ

P

 

  • สวัสดีครับพี่ประหยัด
  • พระเอกนางเอกของเราปัจจุบันก็เริ่มโรยแรงไปมากแล้ว  คนรุ่นใหม่ก็มีมาเสริมไม่มาก
  • คงอยู่กับทุกส่วนที่จะร่วมกันนะครับ (ทั้งการติดอาวุธทางปัญญา ฯลฯ )  แต่คิดว่าประสบการณ์ของพวกเรามีมากพอ ที่จะยกระดับเป็นคุณอำนวยมืออาชีพได้  เพียงแต่ทุกเรื่องต้องเป็นไปในทางเดียวกัน  เสริมหนุน ไม่ปั่นทอนกำลังใจ
  • ขอบพระคุณมากครับ

P

 

  • สวัสดีครับ อ.ธวัช  KMI
  • เป็นเรื่องปกติที่อาจจะเจอสถานการณ์แบบนี้นะครับ  เคยเจอเหมือนกันครับเป็นคนเมา  แต่ก็แก้ไขสถานกาณ์ไปได้
  • กระบวนการหากมีคนมาลงมือช่วยกัน  แบ่งเบาและเสริมหนุมกัน   งานไหนงานนั้นรับรองสนุก และไม่เหนื่อย
  • ขอบคุณมากครับ

P

 

  • สวัสดีครับคุณหมอนนทลี
  • หากนำมาบันทึกแลกเปลี่ยนกันบ้างเป็นเรื่องๆ -ตอนๆ ก็น่าจะดีนะครับ
  • ผมยังไม่ได้เล่าเกมการคิดเชิงกลยุทธ์  (ยังจำได้ครับ..อิอิ) จะนำมาเล่าในโอกาสต่อไปนะครับ
  • ขอบพระคุณมากครับ

-ไปทำบุญมาแล้วกาคับ  อ้ายสิงห์

-ว่าง ๆ จะจวนมาเล่านิทานให้กลุ่มพรานกระต่ายฟัง เน้อ.......คับ

-เป็นการนำเข้าสู่บทบาทการส่งเสริมการเกษตรที่น่าสนใจคับ..

สวัสดีครับ

  • เป็นเทคนิคที่ดี การทำงานเป็นทีม คนหนึ่งเพลี่ยงพล้ำ คนหนึ่งช่วยกู้สถานการณ์   มีเรื่องมากมายที่จะนำเสนอ  อีกเรื่องเล่าประวัติตัวเอง  ก่อนจะถึงวันนี้ต้องผ่านอะไรมาบ้าง..40กว่าปี
  • เขาว่าคนเรา ส่วนใหญ่สนใจเรื่องคนอื่น.(เรื่องเพื่อน).พอเขาเคลิ้ม...อัดเสียหน่อย..แล้วค่อยเข้าเรื่องเดิม.ต่อ
  • ขอบคุณมากครับ

P

 

  • สวัสดีครับน้องเพชรน้ำหนึ่ง
  • อิอิ...การเล่านิทานหรือมีเกมให้เล่น  ช่วยทำให้บรรยากาศไม่ตึงเกินไป
  • น้องก็ถนัดอยู่แล้ว  สามารถเลือกหยิบใช้ได้เลยในบางโอกาส
  • ขอบคุณครับ

P

 

  • สวัสดีครับพี่ไมตรี
  • "คนเดียวเหมือนจะตาย  หลายคนเหมือนเล่น" ดังนั้นจะทำงานให้สนุกต้องมีทีมที่ดี และร่วมด้วยช่วยกันนะครับ
  • อยากอ่านเรื่องเล่าประสบการณ์อันมีคุณค่าของพี่ไมตรีมากเลยครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท