KSF for PPE


ประโยชน์ของการประกันคุณภาพการศึกษา

ประโยชน์ของการประกันคุณภาพการศึกษา

        สมศักดิ์ สินธุระเวชญ์ (2540 : 3) กล่าวว่าการประกันคุณภาพการศึกษา ทำให้ผู้เกี่ยวข้องได้รับประโยชน์ ดังนี้

1. ผู้เรียนจะมีความรู้ ความสามารถ และมีคุณลักษณะต่าง ๆ ครบตามความคาดหวังของหลักสูตร
2. ประชาชน จะเกิดความมั่นใจในการส่งบุตรหลานเข้าเรียนในสถานศึกษาต่าง ๆ ว่าแต่ละแห่งมีคุณภาพการศึกษาในมาตรฐานกลางเดียวกัน
3. หน่วยงานต่าง ๆ สามารถผู้สำเร็จการศึกษาเข้าทำงานด้วยความมั่นใจ
4. สังคม มั่นใจในการจัดการศึกษาของสถาบันการศึกษา
5. สถานศึกษา มีทิศทางการจัดการศึกษาที่ชัดเจนตามมาตรฐานกลางที่กำหนด มีระบบบริหารคุณภาพ ระบบควบคุมคุณภาพ มีการทำงานที่เป็นมาตรฐาน ทำงานเป็นทีม และมีการพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง

กรณีศึกษา: การประเมินคุณภาพการศึกษา
แบบประเมินสถาบันทั้งองค์รวมในออสเตรเลีย

(Quality Measurement In Australia :
An Assessment of the Holistic Approach)

Massaro (1995, 81-97)

        เสนอความเห็นว่าในเชิงที่ไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าใดนัก ต่อการประกันคุณภาพการศึกษาแบบประเมินสถาบันทั้งองค์รวมในออสเตรเลีย เขากล่าวว่ามหาวิทยาลัยต้องการทราบว่าในปี 1995 รัฐบาลต้องการประเมินสิ่งใดระหว่าง

1. คุณภาพของมหาวิทยาลัย หรือ
2. คุณภาพของงานเขียนที่รัฐบาลกำหนดให้ส่ง  คุณภาพที่แท้จริงอาจจะยังค้นหาไม่พบ สิ่งที่พบอาจจะเป็นเพียงคุณภาพของการนำเสนอข้อมูล เท่านั้น

        การประกันคุณภาพการศึกษาในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นเหมือนกับการตรวจสอบประสิทธิภาพ
และประสิทธิผลของการบริหาร เพราะมักจะนำเรื่องนี้ไปผูกติดอยู่กับ   การเพิ่มหรือลดงบประมาณสนับสนุนมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ในการทดลองตอบแบบการประเมินคุณภาพพบว่าต้องใช้เวลามาก มหาวิทยาลัยตกอยู่ในภาวะที่ถูกบีบบังคับให้ปั้นน้ำเป็นตัว อย่างไรก็ตาม ถ้าการประเมินคุณภาพ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการประเมิน “ผลสัมฤทธิ์ในการบริหารมหาวิทยาลัยที่มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล” สถาบันการศึกษาทั้งหลายก็อาจจะมีแนวโน้มที่จะเน้นที่การบริหารจัดการ ให้มีประสิทธิภาพมากกว่าจะมุ่งความเป็นเลิศทางวิชาการ ดังนั้น จึงทำให้มีคำถามที่ว่า การบริหารมหาวิทยาลัยอย่างมีประสิทธิภาพ นั้น เป็นเรื่องที่ช่วย เพิ่ม หรือเป็นการ ลด คุณภาพ ของมหาวิทยาลัย และควรประเมินที่ระดับใด ระหว่างระดับสาขาวิชา กับระดับสถาบัน

        รัฐบาลตั้งคณะกรรมการประกันคุณภาพการอุดมศึกษา (Committee for Quality Assurance in Higher Education: CQAHE) เพื่อดำเนินการประเมินคุณภาพ และเสนอความเห็นต่อรัฐบาลในการจัดสรรงบประมาณ ถึงแม้จะมีการถกเถียงกันเกี่ยวกับธรรมชาติของกระบวนการประเมินคุณภาพที่จะนำมาใช้ แต่ท้ายที่สุดก็ได้ข้อสรุปว่า การประเมินคุณภาพควรจะต้องทำในบริบทของภารกิจของสถาบัน และใช้การประเมินตนเอง (Self-Assessment) เพื่อทราบระดับความมีประสิทธิภาพในการประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัย ผลลัพธ์ที่ได้จากมหาวิทยาลัยก็ถูกตรวจสอบด้วยเช่นกัน มีการใช้แฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) เพื่อตอบคำถามต่อไปนี้

 
  • มหาวิทยาลัยมีนโยบาย และการดำเนินการ เกี่ยวกับการประกันคุณภาพอย่างไรบ้าง
  • ทั้งสองเรื่อง มีประสิทธิภาพอย่างไรบ้าง
  • มีการตัดสินคุณภาพของผลลัพธ์ที่ได้จากการดำเนินงานอย่างไร
  • ผลลัพธ์ที่ได้จากการดำเนินงาน ของมหาวิทยาลัยมีความเป็นเลิศในสาขาใด (What Area) และด้วยวิธีการใด (What Ways)
  • พัฒนาการของมหาวิทยาลัย เมื่อเรียงตามลำดับความสำคัญแล้ว ได้แก่สิ่งใดบ้าง

        การตรวจสอบคุณภาพแบบมององค์การทั้งองค์รวม เพื่อที่จะประกันคุณภาพการศึกษานั้น เป็นวิธีการวัดที่มีความคลุมเครือเกินไป กระบวนการประเมินแบบนี้ต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องความไม่กระจ่างชัด และวิธีการไม่ชัดเจนหรือมีน้ำหนักเพียงพอที่จะโต้แย้งคำวิพากษ์วิจารณ์ได้ การประเมินแบบนี้ไม่ใช่กระบวนการที่จะนำไปสู่การปรับปรุงคุณภาพ ที่ต่อเนื่องและพัฒนาวัฒนธรรมการประกันคุณภาพในมหาวิทยาลัย

        กระบวนประเมินคุณภาพมหาวิทยาลัยไม่มีความเที่ยงตรง มหาวิทยาลัยที่มีผลการประเมินสูงมักจะได้รับงบประมาณมาก ในขณะที่มหาวิทยาลัยที่มีผลการประเมินต่ำต้องอยู่ในสถานะที่เสียเปรียบ

        มหาวิทยาลัยควรมีเสรีภาพในการกำหนดภารกิจของตน รัฐบาลควรรับผิดชอบที่จะกำกับในระดับชาติ ซึ่งทุกมหาวิทยาลัยควรได้รับอนุญาตให้ประเมินตนเอง ผลการประเมินของกลุ่มมหาวิทยาลัยประเภทเดียวกันมักเข้าข้างกันเอง เพราะหากแสดงความแตกต่างอาจไม่ใช่ความฉลาด ถ้าหากมหาวิทยาลัยเหล่านั้นต้องการงบประมาณจากรัฐบาล ซึ่งการจัดอันดับมหาวิทยาลัยเพื่อคำนวณส่วนแบ่งงบประมาณเป็นการกระทำที่ผิดพลาด เพราะเป็นการสร้างลำดับชั้นทางสังคม (Public Rank Ordering) ซึ่งมีผล (และจะมีผลต่อไป) ต่อชื่อเสียงเกียรติคุณของมหาวิทยาลัยที่ถูกจัดให้อยู่ในอันดับต่ำ หากการจัดอันดับยังจำเป็นต่อการทำงานของคณะกรรมการ ก็ควรจัดอันดับโดยการจำแนกประเภทและเปรียบเทียบสิ่งที่เหมือนกันเท่านั้น แต่ด้วย เหตุผลนานาประการ รวมทั้งความต้องการที่จะขจัดอิทธิพลทางการเมืองออกจากกระบวนการประเมิน Massaro เห็นด้วยกับวิธีการประเมินแบบใหม่ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐาน การให้มหาวิทยาลัยผลัดกันประเมินกันเองภายในกลุ่ม (Peer Review Programs) แต่ประเมินระดับโปรแกรม หรือสาขาวิชาเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งองค์รวมหรือทั้งมหาวิทยาลัยเช่นที่ทำอยู่ในเวลานี้

        กล่าวโดยสรุป การประกันคุณภาพการศึกษา เป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้เกี่ยวข้องกับการศึกษาว่า จะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนด และเป็นแนวทางการดำเนินงานของสถาบันการศึกษาอีกด้วย วิธีการประกันคุณภาพที่ใช้กันอยู่สามารถจำแนกได้ ๓ แบบ คือ

1. แบบภาคพื้นยุโรปที่เน้นการประกันคุณภาพโดยภาคราชการดูแลอย่างใกล้ชิด
2. แบบอังกฤษ ที่มีองค์กรอิสระคอยตรวจสอบคุณภาพ และ
3. แบบอเมริกันซึ่งควบคุมคุณภาพโดยระบบการรับรองวิทยฐานะ และการอนุญาตออกใบประกอบวิชาชีพ

        สำหรับประเทศในแถบเอเชียและแปซิฟิคได้นำแนวทางของทั้ง 3 กลุ่มมาปรับใช้แตกต่างกันออกไปตามบริบทของแต่ละประเทศ

        การประกันคุณภาพที่เหมาะสม น่าจะเป็นการประกันที่ค่าใช้จ่ายไม่สูงเกินไป เป็นวิธีที่อาจารย์และนักวิชาการยอมรับ และให้ความร่วมมือ ใช้ระเบียบวิธีการประเมินที่หลากหลายเช่น

1. การประเมินตนเอง
2. การวิเคราะห์สารสนเทศทางสถิติ
3. การสำรวจความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง และ
4. การทดสอบความรู้ ทักษะ และความสามารถของผู้เรียน

บทสรุป

        จากประสบการณ์การประกันคุณภาพการศึกษาของประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศออสเตรเลีย   น่าจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถสร้างระบบการประกันคุณภาพที่เหมาะสม และควรเป็นวิธีที่สถาบันการศึกษาสร้าง หรือประยุกต์ระบบการประกันคุณภาพด้วยตนเอง ผลักดันให้ประเมินผลการดำเนินงานตนเอง ตรวจสอบกันเองภายในกลุ่ม เพื่อที่จะไม่เป็นการสร้างความเครียดให้แก่สถาบัน ให้องค์กรอิสระมีส่วนร่วมในการประเมินที่ต้องอาศัยความเที่ยงตรงสูง และควรรายงานผลต่อภายนอกอย่างชัดเจนและมีความหมาย

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 16611เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2006 10:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 10:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท