กาสรกสิวิทย์ โรงเรียนเพื่อกระบือไทย


     ผมได้ยินเรื่องโรงเรียนสอนกระบือไทย จากการบอกเล่าของเม้ง มาครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาได้ซื้อนิตยสารเทคโนโนยีชาวบ้าน เจอเรื่อนี้เข้าพอดีก็นำมาเล่าสู่กันฟัง โชคดีหน่อยครับไม่ต้องพิมพ์ใหม่เพราะมีอยู่ในเวบของมติชนอยู่แล้ว ก็ขออนุญาตก๊อปปี้นำมาเล่าสู่กันฟังครับ

###############


ธนสิทธิ์ เหล่าประเสริฐ รายงาน

กาสรกสิวิทย์ โรงเรียนเพื่อกระบือไทย พระราชดำริแห่งการฟื้นฟูแรงงานในไร่นา


นับ เป็นอีกพระมหากรุณาธิคุณหนึ่งที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงมีต่อการอนุรักษ์และพัฒนาการเลี้ยงกระบือของประเทศไทย โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารอำนวยการ โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลศาลาลำดวน อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว เมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2551 เวลา 13.00 น.

กา สรกสิวิทย์ เป็นโรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี วัตถุประสงค์สำคัญคือ ให้เป็นศูนย์อนุรักษ์และพัฒนากระบือไทย (โรงเรียนควาย) ควบคู่กับการพัฒนาทางด้านการเกษตรที่เหมาะสมกับประชาชน อันจะเป็นการรื้อฟื้นภูมิปัญญาไทยในการทำนา โดยใช้แรงงานคนและโค กระบือ ให้สามารถไถนาและใช้งานด้านอื่นๆ ซึ่งกำลังจะหายไปจากสังคมไทย และต่อไปที่นี่จะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งของจังหวัด สระแก้ว

นั่นหมายความว่า ประเทศไทยจะมีโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางให้ทั้งคนและกระบือได้มาเรียนรู้ถึงการทำการเกษตร การทำนา รวมทั้งเรื่องของการใช้ประโยชน์จากกระบือในการประกอบอาชีพ

ทั้งนี้ กาสรกสิวิทย์ เป็นชื่อที่เกิดขึ้นจาก คำว่า "กาสร" ซึ่งแปลว่า ควาย ผสมกับ กสิวิทย์ ที่หมายความว่า ความรู้สำหรับการกสิกรรม ดังนั้น จึงมีความหมายโดยรวมว่า เป็นโรงเรียนที่เน้นการประสิทธิ์ประสาทวิชาว่าด้วยการเลี้ยงควาย อันจะนำไปสู่การฟื้นฟูการทำเกษตรแบบดั้งเดิม

ปัจจุบันนี้ กล่าวได้ว่าปริมาณกระบือในประเทศไทยนั้นได้มีจำนวนลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการใช้เทคโนโลยีด้านเครื่องจักรกลเข้ามาทดแทน ภาพในอดีตที่ในไร่นาจะมีฝูงควายเป็นแรงงานในการไถแปรหมดไป สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพไปอย่างน่าใจหาย

แม้ว่าที่ผ่านมาจะมี ความพยายามในการฟื้นฟูกระบือไทยให้เพิ่มมากขึ้น ภายใต้การดำเนินการต่าง ๆ ของกรมปศุสัตว์ ดังที่ คุณจีรวัชร์ เข็มสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้เคยให้ข้อมูลว่า แต่เดิมมีธนาคารโค กระบือ เพื่อเกษตรกรอยู่แล้ว เพื่อให้เกษตรกรยืมไปทำการเกษตร แต่ทว่าเกษตรกรนำไปใช้เพาะพันธุ์แทน

" ซึ่งเป็นการทำให้ผิดวัตถุประสงค์ไป สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงมีพระราชดำริให้มีโรงเรียนกระบือก่อนในเบื้องต้น เพื่อให้เกษตรกรนำแรงงานจากกระบือไปใช้ในการเกษตร แทนการใช้งานจากเครื่องจักร ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง มิหนำซ้ำมูลสัตว์ที่มีอยู่ยังช่วยผืนนาให้อุดมสมบูรณ์มากขึ้นด้วย" รองอธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าว

ทั้งนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีพระราชกระแสรับสั่งให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องดำเนินการพัฒนา พื้นที่จำนวน 110 ไร่ 3 งาน 81 ตารางวา ซึ่ง คุณสมจิตต์ และคุณมณี อิ่มเอิบ ได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินเป็นพระราชกุศล เมื่อคราวที่เสด็จฯ ไปทรงตรวจเยี่ยมโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ที่จังหวัดสระแก้ว ในปี 2544 ดำเนินจัดตั้งโรงเรียนแห่งนี้ขึ้น

คุณสุรพล พงษ์ทัดศิริกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า จากที่เกษตรกรหันมาใช้ควายเหล็กหรือรถไถนาเดินตามกันมากขึ้น ในขณะที่น้ำมันมีราคาแพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้ต้องหันมาดูวิถีชีวิตของคนไทยแบบเก่าที่พึ่งพาตัวเอง โดยเฉพาะการเลี้ยงโค กระบือ ไว้ไถนา แต่ปัจจุบันกำลังจะหมดไป หรือแม้จะมีเหลืออยู่แต่ทั้งคนและกระบือก็ไถนาไม่เป็นกันแล้ว

"ทาง จังหวัดสระแก้วมีนโยบายจะรื้อฟื้นการทำไร่ไถนาของชาวบ้าน ให้ย้อนกลับไปใช้วิถีแบบดั้งเดิมของบรรพบุรุษ ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่า รายจ่ายในครัวเรือนของเกษตรกรในพื้นที่นั้น อันดับ 1 จะเป็นค่าน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับทำการเกษตร ดังนั้น จึงต้องทำให้ชาวบ้านลดรายจ่ายในส่วนนี้ลงให้ได้ โดยหันไปใช้โค กระบือ ในการไถนาแทนเครื่องจักร" ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้วกล่าว

นาย สัตวแพทย์ศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมปศุสัตว์ได้รับสนองพระราชกระแสรับสั่งน้อมนำมาปฏิบัติ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการปรับพื้นที่และโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด รวมถึงกำลังเตรียมควายครู และรวบรวมอุปกรณ์การเกษตรที่จะนำเข้าไว้ในพิพิธภัณฑ์ พร้อมทั้งกำหนดหลักสูตรการเรียนการสอน

ภายในพื้นที่โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ ได้จัดแบ่งพื้นที่ทั้งหมดออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย

ส่วน แรก จะเป็นส่วนอำนวยการที่จะใช้เป็นสถานที่สำหรับสอนเกษตรกรและฝึกฝนกระบือในการ ไถนา วิถีชีวิตเกษตรกรในการใช้แรงงานควาย อาทิ การหีบอ้อย การลากเลื่อน การนวดข้าว การสีข้าว การตำข้าว และการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์จัดนิทรรศการแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ทางการเกษตร

ส่วนที่สอง จะเป็นแปลงนาสาธิต และแปลงปลูกหญ้าสำหรับวัว-ควาย

ส่วนสุดท้าย จะเป็นพื้นที่สำหรับการสาธิตการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ที่ประชาชนสามารถเข้าไปศึกษาหาความรู้ เพื่อใช้เป็นแบบอย่างต่อไป

อธิบดี กรมปศุสัตว์ บอกอีกว่า สำหรับโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ มีกิจกรรมที่สำคัญคือ ฝึกกระบือให้ไถนาเป็น และเป็นศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับการใช้แรงงานกระบือทำการเกษตร

โดยใน เบื้องต้นมีโค กระบือ จากธนาคารโค กระบือ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริจัดตั้ง ณ จังหวัดสระแก้ว เมื่อปี 2522 แล้ว จำนวน 50 ตัว ทั้งนี้ กระบือที่จะนำเข้ามาฝึกนั้นจะเน้นลูกกระบือที่อายุประมาณ 2 ปีครึ่ง ถึง 5 ปี เป็นหลัก เนื่องจากอยู่ในวัยที่สามารถฝึกหัดได้ง่าย

สำหรับ หลักสูตรสอนควายขณะนี้ ทางกรมปศุสัตว์อยู่ระหว่างการร่างหลักสูตร เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ทั้งนี้ โดยปกติแล้วการฝึกกระบือนั้น จะใช้เวลาเรียนประมาณ 1 สัปดาห์ หากกระบือไม่ดื้อจนเกินไป ก็สามารถฝึกให้เชื่องได้ในเวลาอันรวดเร็ว

ส่วนการเปิดการเรียนการสอนของโรงเรียนกาสรกสิวิทย์อย่างเป็นทางการนั้น คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ประมาณในช่วงต้นปี 2552

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ ภายในโรงเรียนกาสรกสิวิทย์จะมีอาคารพิพิธภัณฑ์เก็บและแสดงอุปกรณ์เครื่องมือ เก่าที่ใช้งานไม่ได้ และไม่ได้ใช้งานเกี่ยวกับวิถีแห่งกระบือ ไว้ให้อนุชนรุ่นหลังดู หรือศึกษา เช่น ไถ แอก เทียบไถ เกวียน คราด กระดิ่ง เป็นต้น ดังนั้น ผู้สนใจที่มีอุปกรณ์เครื่องมือดังกล่าว หากสนใจจะบริจาคให้โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ ขอให้แจ้งได้ที่ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสระแก้ว โทร. (081) 864-8774

โรงเรียน กาสรกสิวิทย์ จึงเป็นอีกก้าวหนึ่งของการพัฒนาฟื้นฟูให้กระบือไทยได้กลับมามีบทบาทในการ ช่วยประกอบอาชีพให้กับเกษตรกร อันจะนำไปสู่การทำเกษตรที่ยั่งยืน ไม่ต้องประสบปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงมากเฉกเช่นในปัจจุบัน

ที่มา : http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05086150251&srcday=2008/02/15

     ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีนะครับที่อย่างน้อยก็เป็นการอนุรักษ์ควายไทย ให้เด็กไทยรุ่นใหม่รู้จัก "ควาย" ยิ่งกว่านั้นทำให้ควายเป็นควายที่ไถนาเป็น ยิ่งกว่านั้นอีกก็คือเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่ทำให้เรารู้จักพึ่งตนเอง และทำให้เรากินข้าวไทยอย่างเต็มปากเต็มคำ

     

หมายเลขบันทึก: 166004เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2008 19:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 08:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
  • เป็นเรื่องที่ดีมากครับ
  • ควายไทยเราลดน้อยลง
  • ชาวบ้านเปลี่ยนมาเป็นควายเหล็ก
  • แต่ตอนนี้ทางอีสาน ชาวบ้านเริ่มใช้ควายเหมือนเดิมแล้วครับ
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะโส

 
  • ตามเสียงกู่เรียก จากท่านพี่ดร. ขจิต มาติดๆ
  • นับเป็นนิมิตหมายที่ดีมากค่ะ
  • แถวอิสาน ฝั่งนี้ปูได้เห็นควาย เยอะมาก
  • อาทิตย์ที่แล้ว เห็นชาวบ้านเริ่มนำเจ้าทุยเตรียมพื้นที่อีกแล้ว น่าชื่นใจมากๆค่ะ
  • แต่ที่นี่ เค้าไม่ได้เรียกควายหรอก ใช่ไหมคะ ท่านพี่ดร.  ....  
 

ผมรู้สึกตื่นเต้นมากที่บังเอิญพบโครงการนี้ในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง สองเดือนกว่ามาแล้ว เพราะผมและคณะกำลังทำโครงการ วิถีวัฒนธรรมชนบท ที่อำเภอ ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัย เทคโนโลยีราชมงคล เขตล้านนา เป็นเจ้าภาพ เพราะเป็นโครงการระดับสร้างอัตราลักษณ์อำเภอดอยสะเก็ด เน้นให้การทำนาใช้ควายไถนา ใช้วัวเทียมเกวียน การเสวนาที่ผ่านมาสองครั้งได้รับการตอบรับจากทุกฝ่ายในอำเภอสูงมาก คาดหมายจะดำเนินการได้ปลายปีนี้ สิ่งที่อยากจะขอความช่วยเหลือคือเรื่องควายที่ไถ่นาเป็นแล้ว ส่วนคนไถนามีอยู่ในพื้นที่แล้วครับ

ไปมาแล้วดีมากได้ความรู้เยอะ

555555555555555

แถวบ้านเราเยอะมาก

เป็นความภูมิใจของคนจังหวัดสระแก้ว ในฐานะที่ดิฉันเป็นคนจังหวัดสระแก้ว

ขอเรียนเชิญทุกท่านมาแวะชม นะคะ เพราะไปสัมผัสมาแล้ว ดีมากๆ ได้ทั้ง

ความรู้ บรรยากาศ อันดับแรก อยากให้คนสระแก้ว พาลูกหลาน หรือคนใน

ครอบครัวไปเรียนรู้ก่อนใคร

ถ้าเราเป็นคนสระแก้ว ไม่ได้ไปสัมผัสด้วยตัวเองแล้ว จะเชิญชวน

คนอื่น ก็คงไม่เต็มที่ อยากบอกว่า แค่ท่านเข้าไปนั่งดื่มกาแฟสักแก้ว

ก็จะรู้สึกได้แล้วว่าทำไม ดิฉันอยากให้ท่านเข้าไปสัมผัส

"โรงเรียนกาสรกสิวิทย์"

สวัสดีครับ บ้านสวนพอเพียง

ผมตามไปที่บ้านใหม่ของท่าน แต่ยังเข้าระบบไม่ได้ แต่ก็ได้เข้าไปอ่านความเห็นของพี่น้องบ้านเราหลายคน

ติดตามอยู่ครับ

ขอความช่วยเหลือค่ะ มีคนบริจาคควายไว้แล้วไม่มีที่เลี้ยงมาฝากไว้เกือบปีแล้ว หมดค่าหมอ ค่ายาค่าอาหาร โดนด่าเพราะควายหนีเที่ยวด้วย ทำหมันตัวผู้แล้ว เดือดร้อนมากเพราะเป็นแก็งค์ควายเลย อยากบริจาคไปบ้าง มีตัว คนปล่อยได้บุญไปแล้ว แต่เราแค่ช่วยชั่วคราวกลับมาลำบากมากช่วยด้วยค่ะ

อยากทราบว่ามีควายขายหรือเปล่า อยากได้เพื่อเอาไปช่วยกันทำนา ขอรายละเอียดด้วยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท