การวิเคราะห์และการประเมินรายงานวิจัยการลดอุบัติการณ์การเกิดแผลกดทับโดยการพัฒนาคุณภาพการพยาบาล


สรุปจากการวิเคราะห์ในกลุ่ม

การวิเคราะห์และการประเมินรายงานวิจัย
การลดอุบัติการณ์การเกิดแผลกดทับโดยการพัฒนาคุณภาพการพยาบาล
( Reduction of the Incidence of Pressure Sore by Improving Quality of Nursing Care )
1.       ชื่อเรื่อง
-       สะท้อนเรื่องที่จะวิจัยชัดเจน คือ การลดอุบัติการณ์การเกิดแผลกดทับโดยการพัฒนาคุณภาพการพยาบาล
-       เขียนได้อย่างกระชับชัดเจนทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษโดยเขียนเรียบเรียงประโยคในรูปประโยคบอกเล่า และชื่อเรื่องมีความยาวไม่เกิน 2 บรรทัด
-          มีการระบุตัวแปรที่สำคัญ คือ ตัวแปรต้น คือ การพัฒนาคุณภาพการพยาบาล ตัวแปรตามคือ การเกิดแผลกดทับ
-          ไม่มีการระบุประชากร
-          ไม่ได้ระบุสถานที่ที่จะศึกษา
-       ชื่อเรื่องสะท้อนแนวทางการศึกษาและการวิเคราะห์คือบ่งบอกว่าเป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการเป็นการพัฒนาคุณภาพการพยาบาล
2.       บทคัดย่อ
-       มีการกล่าวถึงความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา  อย่างกระชับและชัดเจน  บอกถึงวัตถุประสงค์  กลุ่มตัวอย่าง  สถานที่ที่ทำวิจัย  เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย  การวัดและการวิเคราะห์  รวมทั้งผลการวิจัย  และให้ข้อเสนอแนะได้อย่างกระชับและชัดเจน  จำนวนคำและความยาวเหมาะสม  อยู่ระหว่าง  200-300  คำ
ข้อเสนอแนะ
         ความสำคัญของปัญหาในส่วนบทคัดย่อจะเน้นแผลกดทับเป็นปัญหาที่พบบ่อยในผู้ป่วยโรคระบบประสาทและโรคของหลอดเลือดคือแผลกดทับเป็นภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญและพบบ่อยในผู้ป่วยที่เข้ารักษาในโรงพยาบาล ซึ่งมักเกิดกับผู้ป่วยที่เคลื่อนไหวได้น้อย  แต่ควรกล่าวในภาพรวม  เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยทุกรายที่เข้ารับการรักษาใน  12  หอผู้ป่วย  และควรเพิ่มเติมเกี่ยวกับรูปแบบการวิจัย  เช่น  เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ  เป็นต้น
3.       ปัญหาการวิจัย
3.1   ไม่มีการเขียนและกล่าวถึงปัญหาการวิจัยในส่วนเริ่มต้นหรือส่วนใดๆของรายงานไว้อย่างชัดเจน แต่มีการกล่าวถึงปัญหาจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องโดยเขียนเป็นประโยคบอกเล่า  เช่น  แผลกดทับเป็นภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญและพบบ่อยในผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมักเกิดในผู้ป่วยที่เคลื่อนไหวได้น้อย  เนื่องจากเป็นอัมพาต  หมดสติหรือสูญเสียการรับความรู้สึก  และการเกิดแผลกดทับเป็นปัญหาที่สามารถป้องกันได้  ถ้าการให้บริการด้านสุขภาพมีคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนดไว้  นอกจากนี้ยังกล่าวถึงการเกิดแผลกดทับเป็นตัวหนึ่งที่ใช้เป็นตัวชี้วัดคุณภาพการพยาบาลในกระบวนการพัฒนาและรับรองคุณภาพของโรงพยาบาล  คณะผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาการพัฒนาคุณภาพการพยาบาล  เพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับและการดูแลผู้ป่วยที่มีผลกดทับ
3.2   มีข้อสนับสนุนความเป็นมาความสำคัญของปัญหา  เช่นดังที่กล่าวไว้ข้างต้นไม่ชัดเจน  แต่นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงความรุนแรงของปัญหา  คือ  ในประเทศไทย  จากการศึกษาในโรงพยาบาลทั่วประเทศปี  พ.ศ.  2537  พบผู้ป่วยที่มีแผลกดทับร้อยละ  8.5   (  Danchai  vijitr, Suthisanon, Jitreecheue, Tantiwatanapaibool,  1995  )  และในปี  พ.ศ.  2544  จากการศึกษาในโรงพยาบาลศิริราช  พบความชุกของแผลกดทับร้อยละ  4.9  (  ยุวดี  เกตุสัมพันธ์  และสุรีรัตน์  ช่วงสวัสดิ์ศักด์, 2544  )  และในโรงพยาบาลมหานครเชียงใหม่  จากการศึกษาในปี  พ.ศ.  2541  พบความชุกของแผลกดทับสูงถึงร้อยละ  22.0  (  อภิชา  โฆวินทะ  และกัลยาณี  ยาวิละ,  2541  )  ใน  พ.ศ.  2545  ความชุกของแผลกดทับลดลงเหลือร้อยละ  10.8  แต่ก็ยังอยู่ในระดับสูง  (  วิจิตร  ศรีสุพรรณ,  วิลาวัณย์  เสนารัตน์,  ประทิน  ไชยศรี,  สมหวัง  ด่านชัยวิจิตร,  วิลาวัณย์  พิเชียรเสถียร  และ  จิตตาภรณ์  จิตรีเชื้อ,  2545  )
3.3    มีการกล่าวถึงงานวิจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง  และชี้ให้เห็นความเหมือนและแตกต่างจากงานวิจัยอื่น
3.4    มีการระบุตัวแปรและความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรยังไม่ชัดเจน  แต่มีการกล่าวไว้
3.5   มีการระบุธรรมชาติของประชากรที่ศึกษา  โดยภาพรวมคือ  ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการซับซ้อน  สถิติการรับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นต้น
3.6   มีการมองปัญหาภายใต้บริบทของแนวคิดตามภาพปัญหาที่เกิดขึ้น  ประสบการณ์ของผู้วิจัย  และจากการทบทวนวรรณกรรม  ผนวกกับความต้องการพัฒนาคุณภาพในโรงพยาบาล
3.7   จากการศึกษาปัญหานี้คาดว่า  จะเป็นการพัฒนาคุณภาพการพยาบาลเพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับ  และการดูแลผู้ป่วยที่ทีแผลกดทับ  เพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากการเกิดแผลกดทับทั้งด้านร่างกายและจิตใจ  ลดจำนวนวันนอนโรงพยาบาล  ลดโอกาสการติดเชื้อ  และค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยและโรงพยาบาล  นำไปสู่การกำหนดเป็นนโยบายในการปฏิบัติงานการพยาบาล  เพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับให้มีประสิทธิภาพ
4.       วัตถุประสงค์ของการวิจัย
มีความเหมาะสมกับเรื่องที่วิจัย  เนื่องจากเพื่อพัฒนาคุณภาพการพยาบาลในการป้องกันและจัดการกับแผลกดทับ  มีการกำหนดวัตถุประสงค์ย่อย  วัตถุประสงค์เฉพาะว่าผู้วิจัยมีการหาปัจจัยที่เกี่ยวข้อง  กับการเกิดแผลกดทับ  หารูปแบบในการพัฒนาคุณภาพการพยาบาลเพื่อป้องกันและจัดการกับแผลกดทับ  ในผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล  แต่ในส่วนของการจัดทำคู่มือ  แนวทางการป้องกันและการจักกรผู้ป่วยที่มีแผลกดทับสำหรับบุคลากรทางการพยาบาล  และการจัดสื่อการสอน  เป็นกระบวนการขั้นตอนหรือกิจกรรมเพื่อให้ได้มาซึ่งรูปแบบในการพัฒนาคุณภาพการพยาบาล
5.       การศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง
ไม่สามารถวิเคราะห์ได้โดยละเอียด  เนื่องจากไม่ใช่รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์  ไม่มีในส่วนของการ  review  of  literature  แต่จากการศึกษาในรายละเอียดของบทความวิจัย  สามารถวิเคราะห์ได้อย่างคร่าวๆ  ดังนี้  คือมีการใช้ข้อมูลจากงานวิจัยเป็นส่วนใหญ่  และแหล่งอ้างอิงส่วนใหญ่เป็นทุติยภูมิ  เช่น  การศึกษาของ  Bliss  ใน  ค.ศ.  2000  พบว่าแผลกดทับพบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีโรคระบบประสาท  โรคระบบเลือด  และอุบัติการณ์ จะสูงตามอายุที่เพิ่มขึ้น
6.       คำจำกัดความ
คำจำกัดความไม่สามารถวิเคราะห์วิจารณ์ได้  เนื่องจากไม่มีการระบุคำจำกัดความไว้  แต่การวิเคราะห์ในการให้คำจำกัดความหรือคำนิยามเชิงปฏิบัติการของตัวแปร  ต้องเขียนบนพื้นฐานของคำนิยามเชิงมโนทัศน์          (  Conceptual  Definition  )  มีความสอดคล้องกับขอบเขตการวิจัย  รวมทั้งสอดคล้องกับประชากรของงานวิจัย  นอกจากนี้ต้องมีการให้ความหมายตัวแปรสำคัญครบถ้วน
7.       กรอบแนวคิดทฤษฎี
ไม่มีการระบุกรอบแนวคิดทฤษฎีที่ชัดเจน  แต่จากการศึกษาวิเคราะห์พบว่า  เป็นการระบุข้อความที่เป็นแนวความคิดโดยอธิบายถึงความสัมพันธ์ของตัวแปร  เช่น  “การเกิดแผลกดทับเป็นปัญหาที่สามารถป้องกันได้  ถ้าการให้บริการสุขภาพที่มีคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนดไว้  สำหรับแนวทางการป้องกันการเกิดแผลกดทับประกอบด้วยการประเมินปัจจัยเสี่ยงการเกิดแผลกดทับในผู้ป่วย  การเฝ้าระวังการเกิดแผลกดทับตั้งแต่แรกรับจนถึงจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล  การลดแรงกด  แรงเสียดทาน  และแรงเลื่อนไถล  การดูแลภาวะโภชนาการโดยเฉพาะการเพิ่มโปรตีนให้แก่ผู้ป่วย  การทำความสะอาดละการดูแลผิวหนังให้ชุ่มชื่น  ตลอดจนการออกกำลังกาย  รวมทั้งการให้ความรู้ในการป้องกันการดูแลแผลกดทับแก่ผู้ป่วย  ญาติและบุคลากรพยาบาลที่ปฏิบัติงานใหม่  ทั้งนี่พยาบาลต้องมีความรู้ความเข้าใจในการป้องกันและการดูแลจัดการแผลกดทับและการประเมินการเปลี่ยนแปลงของแผลกดทับอย่างถูกต้อง  ซึ่งเป็นแนวคิดที่เกิดจากการผสมผสานผลงานวิจัยจากการศึกษาและประสบการณ์ดูแลเฝ้าระวังแผลกดทับและให้ความสัมพันธ์ของการมีส่วนร่วม เป็นต้น
8.       สมมติฐาน
ไม่สามารถวิเคราะห์ได้  เนื่องจากไม่มีการระบุสมมติฐานไว้ในรายงายวิจัยฉบับที่ศึกษา
ข้อเสนอแนะ
 ควรมีการระบุสมมติฐานเพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร  ในแต่ละสมมติฐานอาจมีการระบุทิศทางหรือไม่ระบุทิศทางของความสัมพันธ์  โดยพิจารณาจาก
-       แนวคิดหรือทฤษฏีที่ผู้วิจัยรวบรวมได้จากการทบทวนวรรณกรรม  หากมีแนวคิดทฤษฎีและผลการวิจัยที่มีเหตุผลเชิงวิชาการสนับสนุนควรระบุสมมติฐานแบบมีทิศทาง  แต่หากแนวคิดหรือทฤษฎียังไม่หนักแน่นเพียงพอควรระบุสมมติฐานแบบไม่มีทิศทาง
-       ระดับมาตรวัดตัวแปร  หากตัวแปรต้นและตัวแปรตามมีค่าในมาตราวัด  (  Interval  Scale  )  และมาตรวัด  (  Ratio  Scale)  และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรโดยหาค่าสหสัมพันธ์เพียร์สัน  นอกจากนี้มีแนวคิดทฤษฎีสนับสนุนทิศทางความสัมพันธ์ของตัวแปร  ในกรณีนี้  ให้ระบุสมมติฐานแบบมีทิศทาง  แต่หากตัวแปรต้นแลตัวแปรตามมีค่าในมาตรวัด  (  Nominal  Scale)  ซึ่งวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรโดยใช้สถิติไคสแควร์  ในกรณีนี้ให้ระบุสมมติฐานแบบไม่มีทิศทาง  เช่น  ตัวแปรตันคือ  ปัจจัยส่วนบุคคลซึ่งมีระดับการวัดเป็น  Nominal  scale  กับตัวแปรตาม  คือ  การเกิดแผลกดทับ ซึ่งมีระดับการวัดเป็น  Nominal  scale  การทดสอบควรใช้ไคสแควร์  ฉะนั้นการระบบสมมติฐานก็ควรไม่ระบุทิศทาง
ข้อเสนอแนะ        ในกระบวนการเขียนวิจัยเชิงปฏิบัติการไม่จำเป็นต้องระบุ สมมติฐาน
9.       แบบการวิจัย
9.1   แบบการวิจัยมีการระบุไว้ชัดเจน  เป็นวิจัยเชิงปฏิบัติการ  เหตุผลในการเลือก  คือ  เพื่อค้นหาวิธีการแก้ไขปัญหา  ในการปฏิบัติ  เพื่อลดอุบัติการณ์ในการเกิดแผลกดทับและพัฒนาคุณภาพการพยาบาล
9.2   แบบการวิจัยมีความสอดคล้องกับปัญหาและวัตถุประสงค์  เนื่องจากแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการช่วยลดช่องว่างระหว่างทฤษฎี  และการปฏิบัติไว้ด้วยกัน  ตามปัญหาและวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้
9.3    การทำวิจัย  การวิเคราะห์ข้อมูล  เป็นไปตามลักษณะของแบบวิจัย
9.4    มีการควบคุมสิ่งคุกคามแบบวิจัย  คือ
9.4.1           ความตรงภายใน
มีความตรงภายใน  เนื่องจากมีการจัดประชุมระหว่างทีมวิจัย  และพยาบาลผู้ปฏิบัติงานในหอผู้ป่วย
เพื่อพิจารณาคู่มือการป้องกัน  และการจัดการแผลกดทับร่วมกัน
ข้อเสนอแนะ        เครื่องมือที่ใช้ในการจัดทำขึ้นในส่วนของแบบเฝ้าระวังและคู่มือการป้องกันและการจัดการการเกิดแผลกดทับการวิจัยควรมีการนำมาหาความเชื่อมั่นหรือให้ผู้ทรงคุณวุฒิได้ตรวจสอบซึ่งในงานวิจัยไม่ได้ระบุไว้ชัดเจน
9.4.2           ความตรงภายนอก
ผลการวิจัยสามารถนำไปอ้างอิงได้ยังประชากรกลุ่มอื่นได้ 
วิธีการเลือกตัวอย่างคือ  เลือกผู้ป่วยทั้งหมด  คือผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่  รวมทั้งประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่พยาบาลบนหอผู้ป่วย  12  แห่ง  มีปฏิสัมพันธ์กับการดำเนินการวิจัย  คือ  ตั้งแต่ระยะเตรียมการ  การรวบรวมข้อมูล  ขั้นดำเนินการ   และการประเมินคุณภาพการปฏิบัติเพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับ
10.    ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
10.1    กลุ่มประชากร  มีการระบุคือ  ผู้ป่วยที่รับรักษาในโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่
10.2    ตัวอย่างเป็นตัวแทนของประชากร  คือ  กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยทุกรายที่รับไว้รักษาในหอผู้ป่วย  12  แห่ง  ของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับ  จำนวน  1,201  ราย
10.3    มีการได้มาซึ่งตัวอย่าง  ชัดเจน  เหมาะสมกับแบบการวิจัยในเชิงปฏิบัติการ
10.4    ขนาดตัวอย่าง  เพียงพอ
10.5    ไม่ได้ระบุถึงการเซนต์ยินยอม  แต่มีการกล่าวถึงการพิทักษ์สิทธ์แก่ตัวอย่างวิจัย  คือ  ตัวอย่างวิจัยมีความสมัครใจเข้าร่วมโครงการ  แต่คาดว่ามีการเซนต์ยินยอมในการวิจัย
11.      เครื่องมือการวิจัย
11.1    มีการระบุเครื่องมือ  คือ  แบบเฝ้าระวังการเกิดแผลกดทับในโรงพยาบาล  และคู่มือการป้องกันการเกิดแผลกดทับ  แหล่งที่มาอาศัยเอกสารที่เกี่ยวข้องและจากประสบการณ์ในการดูแลแผลกดทับ  วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพการพยาบาลป้องกันและดูแลผู้ป่วยที่มีแผลกดทับ  จุดแข็งคือเครื่องมือในการวิจัยมีความครอบคลุมตามวัตถุประสงค์  การให้เหตุผลเรื่องการเลือดเครื่องมือเพื่อให้ตรงกับงานวิจัย  กลุ่มตัวอย่าง  และพัฒนาคุณภาพการพยาบาลในการป้องกันและการจัดการกับแผลกดทับ
11.2    เครื่องมือที่ใช้เหมาะสมกับตัวแปรที่ศึกษา
11.3    มีวิธีการใช้เครื่องมือกับตัวอย่างทุกคนเหมือนกัน
11.4    ไม่มีรายงานความตรงของเครื่องมือ
11.5    มีการตรวจสอบหาความเชื่อมั่นแต่ไม่ได้ระบุความเชื่อมั่น
11.6   ผู้วิจัยได้สร้างเครื่องมือขึ้นเอง  มีการอธิบายที่มาคือ  มาจากแบบประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับของ  Braden  scale  โดยมีแนวคิดจากการทบทวนวรรณกรรม  และจากประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยแผลกดทับ
ข้อเสนอแนะ        เครื่องมือ ใช้เครื่องมือมาตรฐานแต่ควรเน้นถึงการใช้เครื่องมือ และการอบรมของผู้ใช้เพื่อให้เข้าใจเช่น Stage ของ Bed Sore ตรงกันและต้องมี Guideline ประกอบ
12.      วิธีการรวบรวมข้อมูล
12.1  การรวบรวมข้อมูลคือ  มีการรวบรวมข้อมูล  3  วิธี  คือการสัมภาษณ์   การใช้แบบสอบถาม  และการสังเกต 
12.2  วิธีเก็บรวบรวมข้อมูล  มีความเหมาะสมกับการวิจัยคือ  เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการซึ่งมีจุดเน้นที่การมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติ  ซึ่งการปฏิบัติถือเป็นส่วนที่สำคัญมากก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจึงต้องวางแผนให้รอบคอบ  การรวบรวมข้อมูลโดยวิธีที่หลากหลายทำให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ครอบคลุมและครบถ้วน
12.3  มีขั้นตอนการรวบรวมข้อมูลที่ค่อนข้างชัดเจนสำหรับตัวอย่างทุกคน
12.4  ผู้รวบรวมข้อมูล  คือบุคลากรของหอผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการวิจัย  โดยมีการจัดประชุมฝึกอบรมก่อนจะมีการเก็บรวบรวมข้อมูลเกิดขึ้น
12.5  ข้อมูลถูกรวบรวมในสถานการณ์ปกติของการดูแลผู้ป่วยในหอผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการวิจัย   โดยเพิ่มแนวทางปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยตามคู่มือการป้องกันและการดูแลแผลกดทับ  ซึ่งผู้ให้ข้อมูลไม่มีการระบุความกดดันมีความเสี่ยงในการให้ข้อมูลหรือไม่
13.      การวิเคราะห์ข้อมูล
-          เลือกใช้สถิติได้เหมาะสมกับระดับข้อมูลประชากร
-          การวิเคราะห์ข้อมูลสามารถตอบวัตถุประสงค์ / ทดสอบสมมติฐานครบถ้วน
-          มีการนำเสนอข้อมูลที่ชัดเจน แต่นำเสนอในรูปแบบตารางและพรรณนา
-          ในการทดสอบสมมติฐานมีการกำหนดระดับความมีนัยสำคัญที่ระดับความเชื่อมั่น.05 และ .001
-          การนำเสนอข้อมูลโดยใช้ตาราง มีลักษณะการนำเสนอที่เหมาะสม
-          14.      การอภิปรายผลและการสรุป
-          มีการอภิปรายผลโดยแสดงเหตุผลของผลการวิจัยว่าหลังจากพัฒนาคุณภาพการพยาบาลและดำเนินการป้องกัน และการดูแลแผลกดทับพบว่าอัตราการเกิดแผลกดทับลดลง ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาผลของการใช้โปแกรมการลดการเกิดแผลกดทับในหอผู้ป่วยป่วยหนักโรงพยาบาลหาดใหญ่( สาลี บุญศรีรัตน์ ,เพชรน้อย สิงห์ช่างชัย และนฤมล อนุมาศ,2544)
-          มีการนำผลการวิจัยอื่นแนวคิดทฤษฏีที่อ้างไว้มาประกอบการอภิปรายผล
-          การอภิปรายผลสะท้อนให้เห็นว่าผลการวิจัยเป็นไปตามที่คาดหวังดังเช่นที่กล่าวมาข้างต้นและอุบัติการณ์ณ์การเกิดแผลกดทับลดลงหลังจากดำเนินการป้องกันและดูแลแผลกดทับโดยมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่น .01ซึ่งแสดงประสิทธิผลของกิจกรรมในการดำเนินการและดูแลแผลกดทับ
-          มีการสรุปผลการวิจัยที่ชัดเจน
-          ไม่ได้ระบุจุดอ่อน / ข้อจำกัดของการวิจัยนี้
-          15.      ข้อบ่งชี้ ข้อเสนอแนะ
-          มีการเสนอข้อบ่งชี้ในการนำผลการวิจัยไปใช้ในทางคลินิกเพื่อการนำผลการวิจัยไปใช้ในด้านการปฏิบัติการพยาบาล ด้านบริหารการพยาบาล
-          ควรศึกษาอุบัติการณ์การเกิดแผลกดทับก่อนและหลังการใช้รูปแบบการพยาบาลอย่างขว้างขวางในทุกกลุ่มผู้ป่วยในโรงพยาบาล
-          16.      เอกสารอ้างอิง / บรรณานุกรม
-          เอกสารอ้างอิงหรือบรรณานุกรมครอบคลุมเอกสารที่อ้างอิงในส่วนเนื้อหาต่างๆ
-          เขียนรูปแบบที่กำหนดของแบบอ้างอิงตามรูปแบบของ APA Format
17.      อื่นๆ
-          เขียนกระชับ ชัดเจน เป็นระบบ เขียนถูกตามหลักภาษา  รูปประโยค วรรคตอน และเขียนเชิงวิชาการตามรูปแบบของ APA Format
-          ตีพิมพ์วารสารเป็นที่ยอมรับได้แก่ พยาบาลสารปีที่ 31 ฉบับที่ 4 ต.ค.-ธ.ค.2547
-          ผู้วิจัยเป็นผู้มีความรู้  ประสบการณ์ในเรื่องที่วิจัยเพราะทำการวิจัยเป็นหมู่คณะและได้รับทุนอุดหนุนจากมหาวิทยาลัยมหิดล
จุดเด่น
-          การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอยู่ในระดับ Practical knowledge
-          เหมาะกับการปรับปรุงคุณภาพ การร่วมมือในการแก้ไขปัญหา
จุดด้อย
-  ขาดการมองในแง่ของกระบวนการนำไปสู่ความสำเร็จ ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคเพื่อจะได้เห็นภาพว่ามีการนำไปใช้ปฏิบัติต่อไปมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง

หมายเลขบันทึก: 16575เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2006 23:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 23:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท