การประชุมเครือข่ายฯสัญจร ครั้งที่ 2/2549 (1)


ศตจ.มียุทธศาสตร์ในการทำงานขับเคลื่อนเพื่อเอาชนะความยากจน ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์
            เมื่อวานนี้ผู้วิจัยได้เล่าถึงการจัดสถานที่เพื่อต้อนรับการประชุมเครือข่ายฯสัญจร  ครั้งที่ 2/2549  โดยมีองค์กรออมทรัพย์ชุมชนบ้านแม่พริกเป็นเจ้าภาพไปแล้ว  วันนี้จะขอเริ่มต้นเล่าเกี่ยวกับรายละเอียดของการประชุมซึ่งมีทั้งสิ้น 6 วาระ  มีรายละเอียดดังนี้ค่ะ
            การประชุมเริ่มต้นในเวลาประมาณ 11.20น.  ประธานในที่ประชุม  คือ  คุณสามารถ  พุทธา  ได้กล่าวทักทายผู้เข้าร่วมประชุมและเปิดการประชุมโดยกล่าวถึงวาระการประชุมว่ามีทั้งหมด 6 วาระ  คือ
            วาระที่ 1   แจ้งเพื่อทราบ  ประกอบด้วยรายละเอียด  คือ
                        1.1คณะงานจากจังหวัดชัยภูมิ และ ทีมประสานงานโครงการวิจัยการจัดการความรู้
                        1.2ศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนแห่งชาติ (ศตจ.)
                        1.3แผนฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่น
                        1.4ระบบฐานข้อมูล
                        1.5พื้นที่ต้นแบบ
            วาระที่ 2  รับรองรายงานการประชุม
            วาระที่ 3  เรื่องสืบเนื่อง
                        3.1หารือเรื่องเงินสมทบรายปี
                        3.2หารือเรื่องกองทุนกลาง
                        3.3สถานที่ทำการเครือข่ายฯ                      
                        3.4แผนงานการจัดการความรู้
            วาระที่ 4  เรื่องเสนอเพื่อทราบ 
            วาระที่ 5  เรื่องเสนอเพื่อพิจารณา 
                        5.1กองทุนร่วม
                        5.2การขอใช้เงินในกองทุนกลาง
            วาระที่ 6  เรื่องอื่นๆ
                        6.1การบริหารจัดการการประชุมครั้งที่ผ่านมา
                        6.2การเข้าร่วมกิจกรรมกับทีมประสานงานที่จังหวัดตราด
                        6.3อุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงาน  ได้แก่  กล้องถ่ายรูป  และเครื่องบันทึกสียง  ของเครือข่ายฯ
            เมื่อประธานหารือและแจ้งวาระการประชุมแล้วจึงเริ่มการประชุมในวาระที่ 1
            วาระที่ 1  แจ้งเพื่อทราบ
            ประธานเริ่มต้นโดยการแจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าในวันนี้มีผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์ประชุมเครือข่ายฯ จำนวน 2 คณะ  คือ
            1.ผู้นำและเจ้าหน้าที่ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจังหวัดชัยภูมิ  เดินทางมาถึงลำปางตั้งแต่เมื่อวานนี้  และได้เข้าศึกษาดูงาน  แลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่กลุ่มแม่ทะป่าตัน
            2.ตัวแทนจากหน่วยจัดการความรู้องค์กรการเงินชุมชน  มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
            นอกจากนี้แล้วยังมีนักวิจัยโครงการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาเครือข่ายองค์กรออมทรัพย์ชุมชน  จังหวัดลำปาง จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ศูนย์ลำปาง
            ก่อนที่จะจบในหัวข้อนี้ประธานได้เชิญให้คณะกรรมการและผู้เข้าร่วมประชุมแนะนำตัวทีละคน  ใช้เวลาประมาณ 5 นาทีก็แนะนำตัวครบทุกคนค่ะ
            สำหรับเรื่องต่อไปเป็นเรื่องของศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนแห่งชาติ (ศตจ.)  โดยประธานได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า  ขณะนี้พลเอกชวลิต  ยงใจยุทธ  ได้เข้ามาดูแล ศตจ. อีกครั้ง (ครั้งที่2) มียุทธศาสตร์ในการทำงานขับเคลื่อนเพื่อเอาชนะความยากจน  ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์  คือ
            1.จัดทำแผนชุมชน
            2.แก้ไขปัญหาหนี้สิน
            3.สวัสดิการชุมชน
            4.บ้านมั่นคง
            5.เกษตรอินทรีย์
            6.การจัดการทรัพยากรมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
            งานของเครือข่ายฯตรงกับยุทธศาสตร์สวัสดิการชุมชนของ ศตจ.  ซึ่งได้มีการประชุมกันไปเมื่อวันที่ 30 มกราคม  2549  ที่ผ่านมา กับผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด  โดยทาง ศตจ. จะออกคำสั่งมาที่ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด  หลังจากนั้นในวันที่ 31 มกราคม  2549  ประธานได้เดินทางไปที่จังหวัดพังงาเพื่อหารือในเรื่องนี้ต่อ  ข้อสรุปที่ได้ก็คือ  เดิมทาง ศตจ.ให้การสนับสนุนเป็นงบประมาณให้ตำบลต้นแบบทั้งสิ้น 64.2 ล้านบาท  แต่ใช้ไปเพียง 31.1 ล้านบาท  ได้พื้นที่ต้นแบบมา 200 ตำบล  เมื่อพลเอกชวลิตกลับมาดูแลอีกครั้งได้ตั้งเป้าหมายให้ขยายออกไปให้ได้ 600 ตำบลภายในปี 2550 โดยงบประมาณจะผ่านมาทางจังหวัด  เพราะฉะนั้นเครือข่ายฯคงต้องเป็นเจ้าภาพในการขยายผล  ซึ่งขณะนี้เรามีสมาชิกกระจายอยู่ใน 5 อำเภอ  คือ  อำเภอเมือง  อำเภอเกาะคา  อำเภอแม่ทะ  อำเภอเถิน  และอำเภอแม่พริก  เราต้องมาร่วมกันวางแผนในเรื่องนี้
            เรื่องแจ้งเพื่อทราบเรื่องต่อไปก็คือ  เรื่องแผนฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่น  ประธานได้กล่าวว่า  ขณะที่ภาคเหนือได้งบประมาณมา 18 ล้านบาท  จังหวัดลำปางได้รับการแบ่งสรรงบประมาณมา 5 แสนบาท  โดยงบประมาณนี้ผ่านมาทางสภาองค์กรออมทรัพย์ชุมชนจังหวัดลำปาง (ซึ่งประธานเป็นประธานสภาฯอยู่) ตั้งเป้าหมายในเรื่องการทำแผนฟื้นฟูชุมชนไว้จำนวน 24 ตำบล  ซึ่ง 10 ใน 24 ตำบลนี้ก็คือ  ตำบลที่เป็นสมาชิกของเครือข่ายองค์กรออมทรัพย์ชุมชนจังหวัดลำปาง  งบประมาณนี้จะนำมาขับเคลื่อนแผนในการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่น  โดยเอาเรื่องสวัสดิการชุมชนเป็นตัวตั้ง  แล้วค่อยโยงไปสู่เรื่องอื่นๆ  เช่น  เรื่องอนุรักษ์  ฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรม , เรื่องธุรกิจชุมชน  เป็นต้น
            สำหรับเรื่องต่อไปก็คือ  การพัฒนาระบบฐานข้อมูล  ประธานฯได้กล่าวว่า  เดิมที่ทางเครือข่ายฯพัฒนาระบบฐานข้อมูลขึ้นมาแต่ทำเฉพาะในเรื่องของบัญชีกับข้อมูลรายบุคคล  แต่ต่อไปนี้ต้องทำเป็นแผนที่ศักยภาพของแต่ละตำบล  เช่น  มีจำนวนประชากรทั้งหมดเท่าไร  เป็นผู้ชายกี่คน  ผู้หญิงกี่คน  อายุเท่าไร  เป็นต้น  จากนั้นก็โยงมาสู่ข้อมูลของกองทุนสวัสดิการชุมชน  สาเหตุที่ต้องพัฒนาเช่นนี้  เพราะ  ต้องการเห็นศักยภาพของพื้นที่  ขณะนี้ประธานได้ประสานงานกับอ.ดิเรกแล้ว (อ.ดิเรก  คือ  ผู้ที่พัฒนาระบบโปรแกรมของเครือข่ายฯตั้งแต่แรก)  โดยขอให้ช่วยปรับปรุงรูปแบบรายงานการเงินของโปรแกรมเดิมของเครือข่ายฯจาก 6 เดือน เป็น 3 เดือน  รวมทั้งพัฒนาระบบการรายงานงบดุล  และพัฒนาให้โปรแกรมสามารถออกใบเสร็จรับเงินได้ ซึ่งอ.ดิเรกจะเสนอรายละเอียดต่างๆมาที่ประธานภายในสิ้นเดือนนี้  นอกจากนี้แล้วยังต้องมีอาสา IT มาช่วยด้วย 2 คน
            เรื่องสุดท้ายของวาระที่ 1 ก็คือ  เรื่องพื้นที่ตำบลต้นแบบ  ประธานได้กล่าวว่า  ในภาคเหนือมีพื้นที่ตำบลต้นแบบจำนวน 64 ตำบล  (ตำบลละแสน ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก พอช.) จะมาทำบันทึกความร่วมมือในเดือนมีนาคา  2549  (ยังไม่ได้ระบุวัน) ขณะนี้ประธานได้หารือกับทางเทศบาลนครลำปางเพื่อให้ทางเทศบาลเข้ามาเป็นเจ้าภาพให้  ดังนั้น  แต่ละกลุ่มต้องเตรียมข้อมูลให้พร้อม  ทางพอช.จะส่งหนังสือประสานไปทาง อปท. แต่ละพื้นที่อีกครั้งหนึ่ง
            วันนี้ขอเล่าแค่นี้ก่อนนะคะ  แล้วพรุ่งนี้จะมาเล่าต่อในวาระต่อๆไปค่ะ 
           
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 16563เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2006 21:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท