เพลงอีแซว เป็นความภาคภูมิใจของคนสุพรรณฯ หรือของคนไทย


มีบุคคลกลุ่มหนึ่งตั้งใจที่จะถ่ายทอดภูมิปัญญา ด้านเพลงอีแซวอย่างจริงจัง ทำได้ ทำจริง ทำอย่างต่อเนื่องแต่เป็นเพียงคนส่วนน้อย ที่กำลังต่อสู้อยู่กับอุปสรรคต่าง ๆ นา ๆ

 

เพลงอีแซว

เป็นความภาคภูมิใจ

ของคนสุพรรณฯ

หรือเป็นที่รู้จักของคนในจังหวัดอื่น ๆ

ชำเลือง  มณีวงษ์ (ผู้มีผลงานดีเด่นเพลงพื้นบ้าน ราชมงคลสรรเสริญ ปี 2547) 

          เพลงอีแซว ศิลปะการแสดงท้องถิ่นของจังหวัดสุพรรณบุรี มีตำนานเล่าขาน  โดยนักเพลง จากรุ่นเก่าสู่รุ่นใหม่อย่างต่อเนื่องมายาวนานนับ 100 ปี มาจนถึงวันนี้ยังมีนักเพลงรุ่นเก่า ๆ ที่เคยเล่นเพลงในยุคที่ต้องเดินเท้าไปในงานปิดทองหลวงพ่อโต ที่วัดป่าเลไลยก์ ได้แก่ ป้าลุ้ย ตาดี, ลุงหนุน  กรุชวงษ์, ลุงบท วงสุวรรณ, น้าปาน เสือสกุล, น้าถุง พลายละหาร เป็นต้น บุคคลที่ผมกล่าวถึงปัจจุบันท่านมีอายุระหว่าง 75-85 ปี ยังจำเหตุการณ์เมื่อครั้งที่ท่านเคยได้เล่นเพลงอีแซวในยุคนั้น ๆ ได้ดี

           บุคคลดังกล่าว เป็นนักเพลงอีแซวที่ฝึกหัดเพลงด้วยใจรักอย่างแท้จริงเล่นเพลงด้วยความเชื่อและศรัทธาในบรมครูที่สอนท่านมา ครูสอนให้ปฏิบัติอย่างไรก็ฝึกปฏิบัติอย่างนั้น เช่น ครูสอนว่าให้ตั้งนะโมขึ้น 3 หน แล้วปั้นข้าวสุก ว่าคาถาเสกข้าวแล้วกิน ปัญญาจะได้คล่อง ก่อนที่จะเล่นจะจุดธูปบอกครูบาอาจารย์ คิดอะไรให้สมความปรารถนา ให้ปัญญาแหลมดังเข็ม ให้ความจำดีนักเพลงก็ปฏิบัติตาม  ครูเพลงสอนให้แช่งฝ่ายตรงข้าม เพื่อที่จะทำให้เพลงของฝ่ายเราข่มเพลงของอีกฝ่ายหนึ่งได้ โดยยกเอาความเป็นศิษย์เป็นครูเดียวกันต่างครูกันขึ้นมาว่าเสียตั้งแต่ตอนไหว้ครูกันเลย เรื่องของความเชื่อจึงมีมาคู่กับการปฏิบัติของนักเพลงจึงทำให้ลูกศิษย์มีความเคารพ เกรงกลัวครุผู้สอน สามารถที่จะควบคุมพฤติกรรมของนักแสดงให้อยู่ในกรอบที่ตั้งไว้ได้อย่างมั่นคง

           งานแสดงเพลงพื้นบ้านในยุคปัจจุบันเปลี่ยนมือจากชาวบ้านมาเป็นสถานศึกษา (โรงเรียน, วิทยาลัย, มหาวิทยาลัย) แทนที่แหล่งฝึกหัดเพลงที่เคยอยู่กับชาวบ้านมาเป็นนักวิชาการ ครูผู้สอนในสถานศึกษา โดยที่บุคคลที่ทำหน้าที่สอนเพลงหรือฝึกหัดเพลงพื้นบ้านเหล่านั้น บางท่านอาจจะไม่เคยเล่นเพลงร่วมวงกับนักเพลงต้นฉบับมาก่อนเลย ท่านได้ความรู้มาจากการฝึกอบรม จากการเรียนรู้ในกลุ่มผู้สนใจ พอร้องเป็น เล่นได้บ้าง นำเอาความรู้ความสามารถที่ได้มาแบบผู้เรียน มาสอนนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชนให้ได้เล่นเพลงพื้นบ้าน เราจึงได้เห็นภาพการแสดงในปัจจุบันที่มีวิวัฒนาการเปลี่ยนไปตั้งแต่ส่วนน้อยจนถึงเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก

          %e0%b8%82%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%8d%e0%b8%88%e0%b8%b4%e0%b8%95-%e0%b8%99%e0%b8%81%e0%b9%80%e0%b8%ad%e0%b8%b5%e0%b9%89%e0%b8%a2%e0%b8%87

           ผมเป็นคนสุพรรณฯโดยกำเนิด เกิดที่ตำบลวังหว้า (ตำบลบางงาม) อำเภอศรีประจันต์ จังหวัด สุพรรณบุรี เมื่อผมจำความได้ ผมได้ยินเสียงเพลงพื้นบ้าน จากคนข้างบ้าน และจากนักเพลงที่เขามาแสดงในงานต่าง ๆ  จนเมื่อผมโตขึ้นเข้าเรียนในระดับชั้นประถมศึกษา  ผมมีโอกาสได้ดูเพลงอีแซว เพลงฉ่อย ลำตัด ผมชอบและมีความสนใจ จึงติดตามไปดูยังสถานที่ต่าง ๆ โดยไม่มีใครชักจูง ผมไปดูด้วยตนเองบางครั้งไปคนเดียว บางครั้งมีเพื่อน ๆ ไปดูด้วย ในวันนั้น (ปี พ.ศ. 2501-2507) คนดูเพลงพื้นบ้านในงานหนึ่ง ๆ มีพอประมาณ ราว ๆ 30-50 คน บางงานก็น้อยกว่านี้ เพลงเขาเล่นกันที่ ลานบ้าน ที่ลานหน้าศาลเจ้าในหมู่บ้าน ที่บนศาลาวัด บนโรงลิเก ยุคก่อนไม่มีเวที ไม่มีเครื่องขยายเสียง น้อยครั้งที่จะมีเครื่องขยายเสียงให้นักเพลงได้ใช้อุปกรณ์ที่ทันสมัยเป็นเครื่องช่วย

           กาลเวลาผ่านมานาน ในชีวิตของผมก็เข้ามาค่อนชีวิตแล้ว (เกือบที่จะถึง 60 ปี) ผมไม่เคยลืมศิลปะพื้นบ้านแขนงนี้และอีกหลาย ๆ อย่าง ผมรักและศรัทธาด้วยความฝังใจในรูปแบบ วิธีการ ที่สำคัญยิ่งคือ เพลงสามารถที่จะโน้มน้าวจิตใจผู้ชมให้มีความคิด สอนใจผู้ชมให้ได้แง่คิดด้วย ความโดดเด่นมีคุณค่าของศิลปะการแสดงพื้นบ้านทุกชนิด หาใช่อยู่ที่ความสนุกสนานเฮฮาเพียงอย่างเดียวก็หาไม่ แต่ในหลากหลายรสชาติที่ได้รับจากการแสดง ไม่ว่าจะเป็นเสียงหัวเราะ ร้องไห้ รอยยิ้ม ความเครียด ความสนุกสนาน ไปจนถึงคติสอนใจที่เป็นมงคลต่อชีวิต เป็นประโยชน์ต่อสังคม ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่หาความรู้ได้ จากเวทีการแสดงศิลปะพื้นบ้านโดยแท้

           เพลงอีแซวจึงยืนยงคงอยู่ได้ เป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านเพียงหนึ่งในจำนวนไม่กี่อย่างที่ยังเป็นมหรสพการแสดงบนเวที มีให้เห็นตามงานวัด งานรื่นเริงต่าง ๆ อยู่อย่างต่อเนื่อง 

เพลงอีแซว เป็นความภูมิใจของคนสุพรรณฯ 

               Supha-304-1

          เมื่อบุคคลเพลง 2 ท่านได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดงเพลงพื้นบ้านเพลงอีแซว คือ แม่บัวผัน จันทร์ศรี (ปี พ.ศ. 2533) และพี่เกลียว เสร็จกิจ (ขวัญจิต ศรีประจันต์ (ปี พ.ศ. 2539) นับว่าเป็นหน้าตาของคนสุพรรณฯที่ได้รับเกียรติอันสูงยิ่ง เมื่อแม่เพลงระดับบรมครูเพลงอีแซวถึง 2 ท่าน ได้รับการยกย่องสูงสุดของชาติ ใครก็ต้องภาคภูมิใจในตัวของบุคคลทั้ง 2 ท่านนี้ ส่วนความภาคภูมิใจในผลงานเพลงอีแซว ผมไม่สามารถที่จะหาคำยืนยันให้ตรงใจของคนในท้องถิ่นได้ทั้งหมด ต่างจิตต่างใจ รัก ชอบ ศรัทธาไปจนถึงความภาคภูมิใจ เป็นสิทธิของแต่ละบุคคล เพียงแต่ผมได้รับรู้จากปากคำของผู้ที่มีผลกระทบ ผมเคยได้นำมาเล่าในบล็อกความรู้ไปบ้างแล้วว่า

          -      เพลงอีแซว เล่นหยาบคาย ไม่เหมาะสม ไม่ต้องเข้ามาเล่นในสถานที่....อีกเลย   ไป..

          -      ให้ตัดรายการแสดงเพลงอีแซวออกไป ไม่อยากดู เอารายการแสดงอื่นที่น่าสนใจมาแทน

          -      ผมมีเวลาน้อย ให้จัดการแสดง....มาก่อนเลย ส่วนเพลงอีแซวเอาไปแสดงรายการสุดท้าย

          -      เพลงอีแซววงนี้เล่นดี จัดให้เล่นเป็นวงสุดท้ายในเวลา 23.00-24.00 น.(ไม่เหลือคนดูแล้ว)

          -      เพลงอีแซว เล่นทะลึ่งตึงตัง บ้า ๆ บอ ๆ ไม่เห็นที่จะเข้าท่า เล่นเข้าไปได้อย่างไร

          -      สอนอย่างนี้ ยังหาว่าสอนไม่ถูกอีก แล้วจะให้สอนอย่างไรทำมาตั้งนานไม่เห็นที่จะมีปัญหา

          -      ไม่อยากที่จะให้เด็ก ๆ ไปเรียนที่โรงเรียน...... เพราะกลัวว่า จะต้องไปเล่นเพลงอีแซว ....

          -      โรงเรียนระดับมัธยมสบาย ได้เด็กที่เก่งเพลงอีแซวจากโรงเรียนชั้นประถมไปเรียนได้เปรียบ

          -      เพลงอีแซววงนี้ ได้รับรางวัลในระดับประเทศมาแล้ว เล่นดีหรือไม่ดี ติดตามดูกันเอาเอง 

             ทั้งหมดนี้ ผมยกเอาความเห็น จากความรู้สึกของบุคคล และกลุ่มบุคคลที่ถ่ายทอดออกมา ก็นับว่าเป็นแง่คิดให้คนทำเพลงอีแซวหรือเพลงพื้นบ้านอื่น ๆ ได้ ได้ตระหนักในความสำคัญ และจะได้หาทางป้องกันหรือแก้ไขข้อผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นมาได้  ข้อความเห็นทั้งหลาย มีทั้งข้อดี และข้อด้อย มีทั้งความเป็นสัจธรรมและความลวง รับรู้รับทราบแล้วตัดสินใจด้วยความหนักแน่นเอาเอง 

เพลงอีแซว เป็นที่รู้จักของคนในจังหวัดอื่น ๆ 

          %e0%b8%a1

           ผมเป็นผู้หนึ่ง ที่ภาคภูมิใจไปกับรำฟ้อนของภาคเหนือ รำเซิ้ง รำแคนของภาคอีสาน รำกลองยาว  การแสดงเพลงพื้นบ้านของภาคกลาง และภูมิใจกับดีเกฮูลู มโนราห์ของภาคใต้  เป็นศิลปะการแสดง ที่ผมภาคภูมิใจแทนคนไทยทั้งชาติ  ถ้าถามว่า คนไทยส่วนใหญ่รู้จักศิลปะการแสดงเหล่านั้นหรือไม่ ผมคิดว่า คนไทยรับรู้ รับทราบ รู้จักกันดีนะ แต่อาจจะไม่ทุกคน เมื่อไปเหยียบแผ่นดินไหน  ก็มักจะถามหาเอกลักษณ์ของท้องถิ่นนั้น ๆ เพื่อทีจะได้สัมผัส ชื่นชมกับความไพเราะ สวยงาม-      ไปจังหวัดนครราชสีมา (เมืองย่าโม) ก็จะได้ดูเพลงโคราช

          -      ไปจังหวัดกาญจนบุรี (เมืองขุนแผน) ก็จะได้ดูเพลงเหย่อย เพลงอีแซว เพลงพวงมาลัย

          -      ไปจังหวัดปทุมธานี (เมืองดอกบัว) ก็จะได้ดูลำตัด-      ไปจังหวัดอ่างทอง (เมืองลิเก) ได้ดูลิเกมีทั้งลิเกเด็กลิเกผู้ใหญ่

          -      ไปจังหวัดสุพรรณบุรี (เมืองนักร้อง) ก็ต้องดูเพลงอีแซว ฟังเพลงลูกทุ่ง เพลงแหล่

          -      ไปจังหวัดนครศรีธรรมราช (เมืองธรรม) ได้ดูหนังตลุงของบรมครู

          -      ไปจังหวัดเชียงใหม่ (เมืองเหนือ) ได้ดูรำฟ้อน ฟ้อนเล็บที่สวยงาม

          ศิลปะการแสดงของแต่ละท้องถิ่น เป็นเอกลักษณ์เฉพาะทางที่บ่งบอกถึงความเป็นท้องถิ่นนั้น ๆ ทั้งลีลาท่าทางในการแสดง สำนวน ภาษา ที่นำมาใช้  ใครได้ไปเยือนอยากที่จะได้เห็น ได้รับรู้ จึงเป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไปที่น่าสังเกตก็คือ  ศิลปะท้องถิ่นที่บ้านของตนเอง  บุคคลในท้องถิ่นบางคนยังไม่รู้จักเลย  โดยเฉพาะรุ่นเยาวชนไม่อยากดู ไม่อยากที่จะเรียนรู้ด้วย หาว่าเป็นสิ่งล้าสมัย  ไม่เห็นจะน่าดูเลย  ดูไปก็ไม่เห็นที่จะรู้เรื่อง เสียเวลา สู้เอาเวลาไปดูคอนเสิร์ต ไปสนทนาหน้าจอคอมพิวเตอร์ คุยทางโทรศัพท์ยังดีเสียกว่า

         

          แล้วเราจะทำอย่างไร ให้เยาวชน คนรุ่นหลังเล็งเห็นคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่นในแต่ละท้องที่ว่า คือสมบัติของชาติ มิใช่ของคนใดคนหนึ่ง แต่ทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกท้องถิ่นจะต้องรักและหวงแหนสิ่งที่เป็นจุดเด่นอย่างแท้จริงให้เข้าไปฝังอยู่ในหัวใจ พัฒนาไปสู่การเรียนรู้ด้วยจิตสำนึกแห่งความเป็นคนไทยที่จะต้องเป็นเจ้าของร่วมกัน อนุรักษ์เอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ดูได้เห็นอย่างสืบเนื่องต่อไปอีกนานแสนนาน 

          แม้ว่าในวันนี้ มีบุคคลกลุ่มหนึ่งตั้งใจที่จะถ่ายทอดภูมิปัญญาด้านเพลงอีแซวอย่างจริงจัง ทำได้ ทำจริง ทำอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นเพียงคนส่วนน้อย ที่กำลังต่อสู้อยู่กับอุปสรรคต่าง ๆ นา ๆ ที่ขวางอยู่ข้างหน้ารวมทั้งผลกระทบอื่น ๆ ที่อาจจะทำให้คนทำงานด้วยความคิดสร้างสรรค์อย่างแท้จริง ต้องถึงเวลาอ่อนล้า  หมดแรงหมดความพยายามเข้าไปสักวัน  สิ่งที่เหลือให้คิดคือคำว่า "น่าเสียดาย"

บทร้องประวัติเพลงอีแซว    

     เอ่อ เฮ้อ เออ... เอ่อ เอิ้ง เง้อ... เอ่อ เอิ้ง เงย...  อือ...

     บรรจงจีบสิบนิ้ว     ขึ้นหว่างคิ้วทั้งคู่ (เอิง เงอ เอ๊ย) แล้วทั้งคู่

      เชิญรับฟังกระทู้          เอ๋ยแล้วเพลงไทย (เอ่อ เอ้อ เอ๊ย) แล้วเพลงไทย

     เชิญสดับรับรส       กลอนสดเพลงอีแซว    

     ฝากลำนำตามแนว  เพลงอีแซวยุคใหม่

     เพลงอีแซวยุคใหม่  ผิดกับสมัยโบราณ

     ถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน    นับวันจะสูญหาย

     ถ้าขาดผู้ส่งเสริม    เพลงไทยเดิมคงสูญ (เอิง เงอ เอ๊ย) แล้งคงสูญ

     ถ้าพ่อแม่เกื้อกูล     ลูกก็อุ่นหัวใจ (เอ่อ เอ้อ เอ๊ย) อุ่นหัวใจ

     อันว่าเพลงพื้นเมือง  เคยรุ่งเรืองมานาน 

     สมัยครูบัวผัน         และอาจารย์ไสว

     ประมาณร้อยกว่าปี  ตามที่มีหลักฐาน

     ที่ครูบาอาจารย์      หลายๆ ท่านกล่าวไว้

     ทั้งปู่ย่าตายาย       ท่านก็ได้บอกเล่า (เอิง เงอ เอ๊ย) ได้บอกเล่า

     การละเล่นสมัยเก่า     ที่เกรียวกราวเกรียงไกร (เอ่อ เอ้อ เอ๊ย) แล้วเกรียงไกร

     ในฤดูเทศกาล       เมื่อมีงานวัดวา        

     ทอดกฐินผ้าป่า      ก็เฮฮากันไป

     ยามตรุษสงกรานต์  ก็มีงานเอิกเกริก

     งานนักขัตฤกษ์      ก็เอิกเกริกกันใหญ่

     ประชาชนชุมนุม     ทั้งคนหนุ่มคนสาว

     ทั้งผู้แก่ผู้เฒ่า         ต่างก็เอาใจใส่

     ชวนลูกชวนหลาน  ไปร่วมงานพิธี (เอิง เงอ เอ๊ย) งานพิธี

     ถือเป็นประเพณี      และศักดิ์ศรีคนไทย (เอ่อ เอ้อ เอ๊ย) แล้วคนไทย

     ที่จังหวัดสุพรรณ     ก็มีงานวัดป่า

     คนทุกทิศมุ่งมา      ที่วัดป่าเลไลยก์

     ปิดทองหลวงพ่อโต  แล้วก็โมทนา

     ให้บุญกุศลรักษา      มีชีวาสดใส

     ได้ทำบุญทำทาน     ก็เบิกบานอุรา 

     สุขสันต์หรรษา        ทั่วหน้ากันไป

     ได้ดูลิเกละคร         เวลาก็ค่อนคืนแล้ว (เอิง เงอ เอ๊ย) ค่อนคืนแล้ว

     เพลงฉ่อยเพลงอีแซว   ก็เจื่อยแจ้วปลุกใจ (เอ่อ เอ้อ เอ๊ย) แล้วปลุกใจ 

     หนุ่มสาวชาวเพลง   ก็ครื้นเครงล้อมวง

     เอ่ยทำนองร้องส่ง    ตั้งวงรำร่าย

     ร้องเกี้ยวพาราสี       บทกวีพื้นบ้าน 

     เป็นที่สนุกสนาน      สำราญหัวใจ

      พลงพวงมาลัย            บ้างก็ใส่เพลงฉ่อย  (เอิง เงอ เอ้ย) แล้วเพลงฉ่อย

      ทั้งลูกคู่ลูกข้อย       ต่างก็พลอยกันไป  (เอ่อ เอ้อ เอ๊ย) พลอยกันไป 

บทเพลงโดย นางเกลียว  เสร็จกิจ (ขวัญจิต ศรีประจันต์)

(ศิลปินแห่งชาติ 2539, ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ม.รามคำแหง 2551)

 

หมายเลขบันทึก: 165720เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2008 12:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:47 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (23)
หนูรู้ว่าเพลงอีแซวมีคุณค่า แต่มีคนกลุ่มหนึ่งกำลังทำ..........กับเพลงอีแซว ท่านอาจารย์รู้ไหมคะ  เขาไม่มองที่คุณค่า แต่มองที่ประโยชน์ของเขาเท่านั้น .......สงสารดวงวิญญาณครูเพลงทั้งหลายค่ะ

นงเยาว์  แช่มช้อย

  • ขอบคุณด้วยใจจริง  ที่หนูเป็นคนหนึ่ง เฝ้าระวังวัฒนธรรมของไทย
  • คนที่มองเห็นคุณค่าของเพลงอีแซวตัวจริงดูได้ไม่ยาก ขอให้มองไปที่ความยั่งยืนในการทำงาน ระยะเวลาที่เขาผู้นั้นเริ่มต้นฝึกหัดเพลงอีแซวมาจนถึงวันสุดท้ายแห่งชีวิต (ไม่มีวันเลิกลา)
  • ส่วนผู้ที่มองเฉพาะประโยชน์ของเขา เป็นธรรมชาติของมวลมนุษย์รวมทั้งสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย ย่อมที่จะมีสิ่งยึดเหนี่ยว มีหลัก มีกาฝากมาขออาศัยบ้าง (ไม่เป็นไร) ขอเพียงให้ผู้นั้นได้มีส่วนร่วมอย่างจริงจัง แม้จะไม่ใช่ผู้ที่รับมรดกพื้นบ้านตัวจริงก็ยังดี
  • ครูเพลงรุ่นเก่า ๆ เริ่มลาจากพวกเราไปทีละคน ๆ  คนที่มาแทนมีมาก มากจนเกินพอ แต่ไม่มากพอที่จะยืนยันได้ว่า เขาคือนักเพลงอีแซวตัวจริง  สาธุ!

ชอบมากเลยค่ะ

อยากแสดงจัง

อยากร้องเป็นด้วย

ใครเอามาลง น่ารักจัง

คุณ รพี (ความเห๋นที่ 3)

  • ขอบคุณที่ชอบเพลงอีแซวสุพรรณฯ
  • อยากแสดงด้วย คงต้องฝึกหัดเล่นเพลงอีแซวก่อน
  • ต้องร้องเป็นจึงจะเล่นได้ ฝึกหัดร้องไม่ยาก

แต่ว่ามีประวัติไหมค่ะ    แอน   แอน

ตอบด้วยนะค่ะ ส่ง 3 อันแล้วค่ะ

สวัสดี แอน

  • ประวัติเกี่ยวกับเพลงอีแซวค้นหาได้ทาง google หรือจะค้นหาใน บล็อกภูมิปัญญาท้องถิ่น ของผมก็พอมี แต่มีไม่ยาวมาก เนื่องจากข้อจำกัดในการนำเสนอข้อมูล จะต้องสงวนเนื้อที่สำหรับสมาชิกอื่น ๆ
  • แอนคลิกที่เมนู chamluang จะเห็นบล็อกอีก 10 รายการ เข้าไปในบล็อกภูมิปัญญาท้องถิ่นเลือกสารบัญ จะเห็นรายชื่อเรื่องมากครับ ดูที่ ตำนานเพลง, ดูที่จากปากคำ ฯลฯ
  • ขอบคุณครับ ที่เข้ามาสืบค้นข้อมูล

ภูมิใจที่ได้เกิดเป็นคนไทยค่ะ......มีเพลงไทยเดิมเ้พลงอีแซว

เป็นเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่น

หนูติดตามผลงานของโรงเรียนบรรหาร

มานานแล้วค่ะพี่พี่ที่อยู่ในวงอีแซวร้องดีทุกคนเลยค่ะ

คนที่อาจารย์รับเข้าวงนี่เคยฝึกกันมาก่อนรึป่าวค่ะ

ร้องเก่งมากๆเลยค่ะเพลงอีแซวถ้าอาจารย์ชำเลืองจะรับคนเข้าต้องดูที่อะไรบ้างค่ะ

ตอบความเห็นที่ 11

  • เป็นอีกคนหนึ่งที่รักแผ่นดินเกิด น่าภาคภูมิใจมาก ครับ ขอให้รักษาความเป็นคนสุพรรณฯ รักบ้านเกิดไปตลอดนะ
  • ติดตามต่อไปนะหนู เพราะว่าเหลือเวลาอีกเพียงไม่นานครูหมดเวลาราชการ (เกษียณอายุการทำงาน) เสียดายเวลาที่ผ่านมาช่างน้อยเหลือเกิน
  • นักแสดงที่อยู่ในวง ครูฝึกใหม่ตามแบบฉบับของครูเท่านั้น ถ้าเคยฝึกมาก่อนจะต้องลบภาพเก่าออกไปให้หมดจึงจะฝึกได้ ครูฝึกทุกอย่างเพียงคนเดียวถอดแบบให้ไปเลย
  • การรับคนเข้าวง สิ่งสำคัญที่ครูพิจารณาคือ ความสนใจ มีใจรักในเพลงพื้นบ้านอย่างแท้จริง เสียงดี ออกลีลาท่าทางได้คล่อลแคล่ว อย่างอื่นฝึกเอาทีหลังครับ

ค่ะ.....หนูจะอนุรักษ์

ต่อไปค่ะ...เพื่อไม่ให้สูญหายค่ะ......

แล้วถ้ามีคนรูปร่างใหญ่แต่เสียงค่อนข้างดีนี่อาจารย์จะสนับสนุนรึป่าวค่ะ

เพราะว่าหนูก็เป็นคนตัวใหญ่ค่ะแต่ชื่นชอบเพลงอีแซวค่ะเลยอยากลองฝึกกับอาจารย์ที่โรงเรียนดูค่ะ

แต่ไม่กล้าค่ะเพราะว่าหนูเป็นคนตัวใหญ่กลัวครูเขาจะไม่รับไปฝึกค่ะ.....(วงอีแซวโรงเรียนหนูเขาคัดเลือกหมดเลยค่ะตั้งแต่หุ้นเสียงเป็นต้นไปเลยค่ะ)

หนูเลยไม่ค่อยกล้าไปฝึกร้องค่ะ........ถ้าเป็นอย่างนี้อาจารย์จะรับเข้าวงรึป่าวค่ะ........

ขอคำปรึกษาด้วยน่ะค่ะ......

ตอบความเห็นที่ 13

  • ถ้าได้เห็นตัวก่อนก็จะตอบได้ชัดเจนกว่านี้ ว่าแต่ว่าหนูตัวโตมากหรือ
  • ปกตินักแสดงในทีมก็จะคัดขนาดตัวไล่เลี่ยกัน ให้สามารถยืนต่อ ๆ กันแล้วดูสวยงามด้วย
  • ที่โรงเรียนหนูเขาทำถูกต้องตามวิธีการสรรหานักแสดงนะ เพราะว่าเสน่ห์แห่งการชมของผู้ดูนักแสดงอยู่ที่ความสวยงามด้วย
  • หนูลองไปแสดงความสามารถดูก่อน เพราะอะไร ๆ ก็ไม่สู้ความสามารถของเราได้
  • ขอบใจ ที่หนูติดตามผลงานเพลงอีแซวสายเลือดสุพรรณฯ

ค่ะ...........

ขอบคุณค่ะ........หนูจะลองดูค่ะ

แล้วไม่ทราบว่าเพลงอีแซววงหนึ่งนี่เขาต้องมีกี่คนหรอค่ะ

แล้วในวงของครูชำเลืองมีคนตัวใหญ่อยู่หรือป่าวค่ะ

รุ่นพี่ที่อาจารย์ชำเลืองฝึกเก่งทุกคนเลยค่ะเสียงดีมากมากเลยค่ะ

หนูจะอนุรักษ์ต่อไปน่ะค่ะ.........

ขอบคุณค่ะที่ให้คำปรึกษาค่ะ........และตอบทุกคำถามค่ะ

ตอบความเห็นที่ 15 (รักเพลงสุพรรณ)

  • หนูไม่ได้บอกน้ำหนัก ส่วนสูงมาให้ครูรับทราบก็เลยคาดไม่ถูกว่าเป็นอย่างไร ก็น่าจะไม่เป็นอุปสรรค ถ้าเราใช้จุดเด่นของเรานำเสนอให้เป็นความน่าสนใจ
  • ผู้ร้องและลูกคู่ 1 วงเพลงควรที่จะมี 5-7 คน ถ้าวงขนาดกลางก็ควรจะมีผู้แสดง 9-11 คน ส่วนวงเพลงอีแซวขนาดใหญ่ประมาณ 13-17 คน (รวมผู้ให้จังหวะด้วยนะ)
  • พอเป็นแล้วก็จะมีการฝึกขั้นบังคับเสียง แก้ไขกันเป็นคำ ๆ หรือเป็นบท ๆ เพลงไปเลย ขยี้เสียงจนได้ความไพเราะ แต่กว่าจะเป็นคนเก่งได้ก็อยู่ ม.5-6 เสียแล้ว
  • โชคดี ขอให้รักษาคุณค่าสิ่งดี ๆ เอาไว้ตลอดไป
  • ในวันที่ 29 กันยายน 2553 วงเพลงพื้นบ้านของครู ในนาม "ลำตัดสายเลือดสุพรรณฯ (โล่รางวัลชนะเลิศ ภาคกลาง) แสดงโชว์ 4 ภาคทาง ช่อง NBT ชิงถ้วย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป ติดตามชมได้

แล้วถ้าครูชำเลืองเกษียน

แล้ววงอีแซวครูจะมีคนแทนป่าวค่ะ

หรือว่าครูก็คุมวงเหมือนเดิมอ่ะค่ะ

ถ้าไม่น่าเศร้าน่ะค่ะเพราะว่าอาจสูญหายได้ค่ะ

ตอบความเห็นที่ 17

  • เมื่อครูเกษียณอายุราชการไป วงเพลงก็คงเงียบหายไปด้วย คงไม่มีคนมาแทน
  • เพลงพื้นบ้านที่โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 แตกต่างจากโรงเรียนอื่น ๆ มาก
  • แต่เพลงพื้นบ้านจะยังคงอยู่ในหัวใจครู เรื่องรับงานยังคงรับได้ต่อไปจนครูจากโลกนี้ไปนั่นแหละจ้า

ช่วงนี้ครูชำเลืองดูแลตัวเองดีดีด้วยน่ะค่ะ

เพราะช่วงนี้หน้าฝนอ่ะค่ะ

เดี๋ยวไม่สบายไปแย่เลยน่ะค่ะ

อิอิ.........

ตอบความเห็นที่ 19 (รักเพลงสุพรรณ)

  • ขอบใจมากครับ ที่เป็นห่วงคนสูงอายุ พอเข้าสู่ปัจฉิมวัยก็เริ่มอ่อนแอลงไปบ้าง
  • ช่วงหน้าฝนงานก็ลดลงไปด้วย แต่พอขึ้นเดือนพฤศจิกายนก็จะเริ่มมีงานเข้ามา
  • ติดตามเพลงอีแซวของเราต่อไป ขอให้หนูฝึกหัดเอาไว้เก่งไม่เก่งไม่เป็นไรค่อยเป็นค่อยไปนะ
  • ฝึกไปนาน ๆ ความคล่องตัวความชำนาญก็จะค่อย ๆ เกิดขึ้นในตัวของเรา

ชอบมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

พอจะมีท่าเต้นรึป่าวคับ พอดีต้องทำรายงาน

พอจะมีท่าเต้นรึป่าวคับ พอดีต้องทำรายงาน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท