ฟ้องอาญาแพทย์: ความผิดจากการรักษาพยาบาล ยุติธรรมแล้วหรือ


“ไม่มีหมอคนไหนอยากให้คนไข้ตายหรอก การใช้กฎหมายอาญาที่เขามุ่งที่จะลงโทษอาชญากรนั้น จะมาใช้กับหมอไม่ได้”
ประชุมองค์กรแพทย์

            เมื่อคืนนี้ 16 กุมภาพันธ์ 2551 โรงพยาบาลสงขลานครินทร์จัดงานประชุมองค์กรแพทย์ประจำปี 2550 ขึ้น

            เมื่อเดือนที่แล้วอนุกรรมการองค์กรแพทย์ฝ่ายเสริมสร้างความสามัคคีและดูแลสวัสดิภาพของสมาชิก (Medical staff welfare subcommittee) นำโดยท่านอาจารย์วีระพล หัวหน้าภาควิชาของผมเป็นประธาน ได้เรียกพวกผมมาประชุมเพื่อหารือแนวทางจัดประชุมองค์กรแพทย์ประจำปี 2550 ขึ้น ซึ่งการประชุมนี้ ในธรรมนูญองค์กรแพทย์ได้กำหนดไว้ว่า จะต้องมีการประชุมสมาชิกเป็นประจำทุกปี และตั้งแต่ผมจำได้ เราก็จัดประชุมกันทุกปีนั่นแหละ เพียงแต่ว่า มวลสมาชิกมาประชุมกันมาที่สุดในครั้งแรกเมื่อหลายปีมาแล้ว จากนั้นก็แทบนับหัวคนได้ จนเมื่อวาระของปีที่แล้ว (ปลายปี 2549) อาจารย์วีระพลเพิ่งเข้ามานั่งหัวโต๊ะฝ่ายนี้ ก็เรียกพวกผมมาคุยกันเพื่อจะจัดการประชุม ตอนนั้นในที่ประชุมก็ลงความเห็นกันว่า เราควรที่จะเปลี่ยนรูปแบบได้แล้ว ก่อนที่วันประชุมจะเหลือเพียงคนจัด เลยสรุปว่า เราควรจัดเป็นงานเลี้ยงปีใหม่ไปเลย โดยจัดในโรงแรม แทนที่จะจัดในคณะเหมือนเมื่อก่อน ร่วมกับแนะนำอาจารย์ที่เข้าใหม่ภายใน 5 ปี และน้องๆแพทย์ใช้ทุน แพทย์ประจำบ้านปี 1 ไปด้วยเลย ประกอบกับการมีของรางวัลสำหรับจับฉลากให้กับคนที่มาร่วมงาน กลายเป็นว่า ปีนั้นเป็นอีกครั้งหนึ่งที่มีคนมาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง ไม่รู้ว่าเป็นเพราะจัดที่โรงแรม หรือว่ามีของรางวัลมาล่อใจ หรือว่าทั้ง 2 อย่าง

            มาปีนี้เราก็มานั่งคุยกันอีก แต่โจทย์ที่สำคัญที่สุดคือ เราจะออกไปจัดข้างนอกไม่ได้ เพราะว่าช่วงนี้เรากำลังอยู่ในช่วงไว้ทุกข์กันทั้งประเทศ คำตอบก็คือจัดในคณะเหมือนเดิม จัดในห้อง Med 206 อาคารแพทยศาสตรศึกษาราชนครินทร์ แล้วจะทำยังไงเพื่อให้หมู่มวลสมาชิกอันประกอบด้วย อาจารย์แพทย์ แพทย์ ทันตแพทย์ มาร่วมงานกันให้มากที่สุด ก็เลยคิดกันว่า การจับรางวัลยังควรมีอยู่ แต่ผมคิดว่าไม่น่าจะพอ เราควรจะมีการบรรยายพิเศษบางอย่างร่วมด้วย กอปรกับในช่วงนั้น เรากำลังมีข่าวหมอที่รักษาคนไข้ แล้วคนไข้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาพยาบาล ถูกศาลตัดสินให้ติดคุก ข่าวนี้สร้างความรู้สึกตระหนกตกใจให้กับแพทย์ทั้งประเทศเป็นอย่างยิ่ง ผมเลยเสนอว่า เราน่าจะเชิญกรรมการจากแพทยสภามาบรรยายเกี่ยวกับเรื่องนี้ดีกว่า ก็เป็นอันตกลงกันอย่างเป็นเอกฉันท์ แจกจ่ายงานกันไป ผมรับเรื่องประชาสัมพันธ์ แล้วแยกย้ายกันไป

            ปัญหาปวดกะบาลเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อเราประกาศออกไปว่า จะมีการประชุมองค์แพทย์ในวันที่ 26 มกราคม 2551 ซึ่งวันนั้นเป็นวันที่ลูกสาวของอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งของคณะเราแต่งงาน ซึ่งแน่นอนว่า อาจารย์แพทย์ค่อนคณะต้องไปร่วมงานแน่ๆ อย่างนี้แล้วใครจะมาร่วมประชุม ผมเลยปรึกษาอาจารย์วีระพลด่วนที่สุด แล้วเราก็เลยย้ายมาจัดในวันที่ 16 กุมภาพันธ์แทน ก็เอวัง

            ผมคิดชื่อการบรรยายพิเศษครั้งนี้ว่า ฟ้องอาญาแพทย์: ความผิดจากการรักษาพยาบาล ยุติธรรมแล้วหรือ โดยโปสเตอร์ที่ประชาสัมพันธ์นั้นเป็นรูปมือที่ถูกใส่กุญแจมือข้างเดียว เราต้องการสื่อว่า เวชปฏิบัติในปัจจุบันนั้นมีความเสี่ยงอย่างเต็มที่แล้ว อ.วีระพล ได้โทรศัพท์ไปเชิญท่านอาจารย์ สัมพันธ์ คมฤทธิ์ รองเลขาธิการแพทยสภา มาเป็นวิทยากร

            16 กุมภาพันธ์ 2551 มาถึงซะที งานเราเริ่มในเวลา 6 โมงเย็นเป็นต้นไป ใจผมก็ตุ้มๆต่อมๆ กลัวไม่มีคนมาประชุม แต่คนก็มามากขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังไงเสียก็ยังไม่ถึง 50 คน แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะว่าก่อนหน้านั้นก็ไม่เคยมามากไปกว่านี้หรอก

            เราเลี้ยงอาหารเย็นครับ ฝ่ายโภชนาการจัดอาหารมาให้หลายอย่าง ก๋วยจั๊บ ข้าวผัด สปาเก็ตตี้ สลัด ขนมหวาน น้ำพั้นซ์ และกาแฟ อร่อยระดับหนึ่ง แต่ที่ผมประทับใจก็คือ การที่อาจารย์และน้องๆแพทย์ในโรงพยาบาลได้มานั่งทานข้าวด้วยกัน คละภาควิชา คละอายุ ดูแล้วมีความสุข โอกาสแบบนี้มีให้เห็นได้เพียง 2 ครั้งใน 1 ปี ก็คือในงานประชุมวิชาการคณะอีกงานหนึ่งนั่นแหละ

            อาจารย์วีระพลทำงานหนักหน่อย เพราะเป็นเจ้าภาพ ท่านต้องไปรับวิทยากรซึ่งมาเพิ่มอีก 1 ท่าน คือ อาจารย์ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา ด้านกฎหมาย ท่านจะมาพูดเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวกับพวกเรา และก่อนจะถึงเวลาประชุมคนก็ทยอยมากันมากขึ้น กลายเป็นว่าเมื่อถึงเวลาเข้าห้องประชุมกลับมีคนมาถึงกว่าร้อยคน ก็ประมาณ 130-150 คนเลยทีเดียว

            งานนี้ได้อาจารย์วิธู อาจารย์ใหม่จากนิติเวช และน้องแพทย์ใช้ทุนจิตเวชมาเป็นผู้ดำเนินรายการ ท่านคณบดีเป็นประธานกล่าวเปิดงานประชุม อาจารย์วีระพลกล่าวแทนประธานองค์กรแพทย์ซึ่งติดภารกิจมาร่วมไม่ได้ จากนั้นก็เป็นการบรรยายของวิทยากรทั้ง 2 ท่าน

            อาจารย์สัมพันธ์กล่าวนำให้เราได้ทราบถึงสถานการณ์การร้องเรียนและการฟ้องร้องแพทย์ในปัจจุบัน ต่อด้วยกรณีศึกษาที่หมอที่เกาะสมุย 2 ท่านถูกตัดสินจำคุก 4 ปีไม่รอลงอาญา และคดีร่อนพิบูลย์ที่สะเทือนไปทั้งประเทศที่หมอรุ่นน้องคนหนึ่ง เธอให้การฉีดยาชาเข้าไขสันหลังแล้วคนไข้หัวใจหยุดเต้น คำพิพากษาให้หมอติดคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา ผมคงไม่เขียนรายละเอียดเพราะคงได้อ่านจากข่าวมากันมากแล้ว (แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นในขณะนี้ก็คือ หมอไม่กล้ารักษาคนไข้กันแล้ว ขูดมดลูกซึ่งเป็นหัตถการพื้นฐานก็ไม่กล้าทำ คนไข้ถูกส่งเข้าโรงพยาบาลศูนย์กันหมด คนไข้ก็ไปแออัดกันอยู่ตรงนั้น คิวยาวเหยียด รอหมอครึ่งวันเพื่อพบหมอ 2 นาที แล้วอย่างนี้จะไปหาคุณภาพจากที่ไหน : อันนี้ผมขยายความเองครับ) ท่านยังได้เล่าให้ฟังว่า ในการไปบรรยายที่หนึ่ง หมออินเทอร์นจบใหม่ลุกขึ้นบอกท่านว่า แล้วอย่างนี้จะมาเป็นแพทย์เพิ่มพูนทักษะกันทำไม ในเมื่อฝึกยังไงก็ไม่มีทางเชี่ยวชาญ ชำนาญไปทุกสาขาอยู่แล้ว น่าสนใจทีเดียวนะครับ หมอที่ถูกสั่งจำคุกเพราะ block หลังนั้น ไม่มีความชำนาญทางวิสัญญีวิทยา จึงต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ มาถึงตรงนี้ก็เกิดคำถามในใจว่า แล้วโรงพยาบาลชุมชนในประเทศไทยนี้ มีวิสัญญีแพทย์กันกี่คน น่าหัวเราะตัวเองที่สุด ที่ถามคำถามโง่ๆแบบนี้ออกมาในใจ ก็ในเมื่อโรงพยาบาลใหญ่ๆแบบโรงพยาบาลศูนย์ก็ยังหาวิสัญญีแพทย์มาอยู่แทบจะไม่ได้อยู่แล้ว อย่างโรงพยาบาลม.อ.นี่ก็ปะไร

            อาจารย์บรรยายเก่งครับ สามารถมีมุขตลกๆแทรกบ้างเป็นครั้งคราว คงกลัวว่าพวกผมจะเครียดเกินไป อาจารย์ทิพวรรณนั่งข้างผมก็กระซิบว่า ก่อนออกจากห้องประชุมนี้ คงต้องแจกยานอนหลับ เพราะคงนอนไม่หลับกันเป็นแถวๆแน่ๆ จากนั้นก็ต่อด้วยอาจารย์ไพโรจน์ ท่านนี้เป็นสูติแพทย์ที่เรียนต่อด้วยนิติศาสตร์ และจบเนติบัณฑิตแล้ว (ถ้าผมฟังผิดไปก็ขออภัยนะครับ) ท่านได้บรรยายเรื่องเทคนิกของกระบวนการศาล การว่าความ การให้ปากคำ การเป็นพยานศาล พรบ.การประกอบวิชาชีพเวชกรรม พรบ.สุขภาพ สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ เวลาเกิดความผิดพลาดนั้น ควรพิจารณาว่า ความผิดพลาดนั้นเกิดจาก malpractice หรือ medical error ซึ่งมันแตกต่างกันมาก เพราะอย่างหลังนั้น เกิดจากความตั้งใจดี ท่านได้ยกคำพูดของผู้ใหญ่ท่านหนึ่งว่า ไม่มีหมอคนไหนอยากให้คนไข้ตายหรอก การใช้กฎหมายอาญาที่เขามุ่งที่จะลงโทษอาชญากรนั้น จะมาใช้กับหมอไม่ได้ (ผมเขียนตามที่จดทันนะครับ ไม่ได้คัดลอกคำพูดของท่านมา)

            เวลาผ่านไปอย่างเร็วรวด ระหว่างนั้น ผมได้ร่อนจดหมายไปหาอ.วีระพลว่า เราควรงดกิจกรรมแนะนำแพทย์ใหม่น่าจะดีกว่า เดี๋ยวมันจะยืดเยื้อเกินไป อีกพักหนึ่งท่านอ.สุธรรมก็ร่อนหนังสือมาหาผม แนะนำว่า เวลาที่เหลือน่าจะเป็นการถาม-ตอบ เรื่องการนำเสนอผลงานของอนุกรรมการแต่ละฝ่ายน่าจะเอาไปลง web ได้ เพราะเวลาล่วงมามากแล้ว

            เป็นอันว่าจบได้ทันเวลา 3 ทุ่ม ตามที่ได้สัญญาเอาไว้ในกำหนดการประชุม เราก็บอกสมาชิกว่าจับรางวัลเลยดีกว่า ปรากฏว่าเฮกันทั้งห้อง เรื่องเฮยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะคนที่ถูกจับให้ได้รับรางวัลก็คือ ท่านคณบดี และอ.สุเมธ ผอ.โรงพยาบาล 2 ใน 6 รางวัลนี้เป็นรางวัลที่เฮที่สุดในคืนนี้นั่นเอง
หมายเลขบันทึก: 165714เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2008 11:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 22:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

ขออนุญาต เอาไปเผยแพร่ให้เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ แพทย์ในโรงพยาบาลนครปฐม และองค์กรแพทย์โรงพยาบาลนครปฐมอ่านนะคะ

 ขอบคุณค่ะ

มาอ่านเป็นระยะ ๆ

รุ่นพี่..มอ..เก้า

 

  • สวัสดีค่ะ อาจารย์
  • ป้าแดงว่า วงการแพทย์มีการฟ้องร้องมากขึ้นทุกวัน
  • ทนายความก็เก่งขึ้นทุกวันนะคะ พยายามที่จะค้นคว้าเรื่องทางการแพทย์
  • ชาวบ้านเองก็เก่งแบบไม่รู้เรื่องขึ้นทุกวัน ชอบพูดว่า อย่างนี้ต้องฟ้องๆๆๆๆ หมอ พยาบาลเลยทำงาน ลำบากมากขึ้นทุกวัน
  • ยินดีไปกับ องค์กรแพทย์ ที่ มอ. จังค่ะ

เห็นด้วยครับ กฏหมายที่นำมาใช้กับแพทย์แบบนี้ แพทย์แต่ละคนก็ต้องระมัดระวังตัวมากขึ้น ยิ่ง ร.พ.เล็กๆต่อไปหมอก็คงไม่กล้าผ่าตัดไส้ติ่งแล้ว ส่งต่อไป รพ.ใหญ่ๆหมด รพ.ใหญ่ก็แย่แน่นอนเพราะต้องรับส่งต่อตลอด

การกระทำของแพทย์น่าจะต้องดูเจตนาด้วย ไม่มีหมอคนไหนอยากให้คนไข้ตายหรอกครับ !!!

สวัสดีครับพี่รุ่น 9 ศิษย์เก่า http://medinfo2.psu.ac.th/alumni/download/class_9.jpg

ผมรุ่น 18 ครับ

เมื่อคืนพี่โต๋ก็เข้าไปฟัง นั่งติดกับผมเอง

ยินดีที่พี่จะได้นำไปใช้ประโยชน์ครับ

พี่แดงครับ P

ประเด็นมันอยู่ที่ว่า ข้อเท็จจริงนั้นได้มาจากที่ใด พยานผู้เชี่ยวชาญสามารถพูดให้ศาลฟังเข้าใจหรือไม่

เชื่อหรือไม่ว่า กรณีร่อนพิบูลย์นั้น คำให้การพยานฝ่ายโจทย์ซึ่งเป็นหมอทั่วไปนั้น มีน้ำหนักมากกว่าผู้เชี่ยวชาญเสียอีก

คุณ สาวดอย ครับ

ตอนนี้ก็เกิดปัญหาขึ้นแล้วล่ะครับ เพราะว่าน้องๆเขาไม่กล้ารักษา ไม่กล้าทำหัตถการอย่างง่าย กลัวกันไปหมด เดี๋ยวจะถูกกล่าวหาว่า ฆ่าคนตาย ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง (อีกแล้ว) กล่าวว่า หมอกระทำไปด้วยเจตนาดีและบริสุทธิ์ จะเป็นการทำผิดได้อย่างไร หมายความถึง เจตนาดีครับ

สวัสดีค่ะ คุณหมอ ธนพันธ์ ชูบุญ

  • กฎหมายที่ออกมาไม่เอื้อต่อผู้ให้บริการสุขภาพเอาซะเลย...รู้กันบ้างมั้ยน้อ  ว่ามันเป็นเหมือนดาบสองคม....สิทธิผู้ป่วยที่เรียกร้อง(โดยผู้ป่วยบางคนก็น่ารักมากๆ  ไม่ได้ต้องการกดดันแพทย์เลย...กฎหมายยัดเยียดให้แท้ๆ)
  • ....อย่าว่าแต่หมอที่ไม่ใช่วิสัญญีเลยค่ะ...ขนาดแค่เด็กอายุไม่ถึง 18ปีมาผ่าตัด...ไม่ได้ให้ข้อมูลพ่อ(เพราะพ่ออยู่ต่างประเทศ... แม่ตาย  อาศัยอยู่กับน้า)...แพทย์ยังแหยงเลย  ....ตอนนี้ยุ่งกันไปหมด
  • ....สุดท้ายก็สงสารคนไข้ค่ะ....

สวัสดีครับคุณหมอ

เรื่องนี้เป็นเรื่องของวุฒิภาวะด้วย แต่เราวิพากย์วิจารณ์มากไม่ได้เพราะกฎหมายห้ามวิพากย์วิจารณ์ แต่อย่างไรก็ตามในเชิงวิชาการ ดุลยพินิจกับอำเภอใจมันคือเส้นยาแดงผ่า๑๖ เลยนะครับ อิอิ เวลาผมปฏิบัติราชการพิจารณาคดีจะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง จะดูข้อเท็จจริงครับ แล้ววิเคราะห์ให้ละเอียดถึงการกระทำ องค์ประกอบความผิด ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ ผลกระทบจากคดีที่จะเกิดขึ้นด้วย

คนในกระบวนการยุติธรรมต้องมีความกล้าหาญ ผมพุดคำนี้มานาน มิใช่มาพูดเอาใจหมอที่มาอ่านบันทึก ผมสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาซึ่งเป็นหมอ โดยที่หมอก็ไม่เคยมาพบมาขอร้องในกรณีรักษาคนไข้จนหน้าเฟะ,ผมสั่งไม่ฟ้องคนขับรถยนต์กรณีล้อรถล้ำอยู่ในช่องทางเดินรถของอีกฝ่ายหนึ่ง,ผมสั่งไม่ฟ้องครูตีนักเรียนผิดระเบียบกระทรวงศึกษาในความผิดฐานทำร้ายร่างกายเพราะขาดเจตนา ฯลฯ ผมถือว่าถ้าฟ้องต้องชนะ ถ้าศาลชั้นต้นยกฟ้องต้องอุทธรณ์ ซึ่งบางคนไม่กล้าอ้างว่าเพราะหลักฐานมันยืนยันว่ามีการกระทำความผิดจริง แต่ผมไม่ขอร้องให้คนอื่นสั่งแบบผมหรอกนะ เพราะคนสั่งจะต้องรับผิดชอบ ผมกล้าสั่งเพราะผมถือว่าผมไม่มีอะไรที่จะทำให้คดีด่างพร้อยจากการกระทำของเราได้

เรื่องนี้ต้องว่ากันยาวครับ อุทธรณ์ฎีกาขอให้อธิบายข้อเท็จจริงลงไปด้วยว่าวิสัญญีแพทย์มีมากน้อยแค่ไหน จำเป็นต้องกระทำแค่ไหน ถ้าไม่ตัดสินใจกระทำผลจะออกมาอย่างไร ผู้มีประสบการณ์ในชั้นสูงจะเข้าใจครับ ผมเชื่อว่าศาลสูงอาจจะยกฟ้องหรือหากจะลงโทษก็แก้คำพิพากษาเป็นรอการลงโทษครับ ยังอยากอ่านคำพิพากษาฉบับเต็มครับว่าศาลมีเหตุผลอย่างไรจึงไม่รอโทษจำคุก นี่เป็นคำพิพากษาที่กระเทือนวงการยุติธรรมเหมือนกันครับ

สวัสดีครับพี่กฤษณา P

น่าสงสารทั้งหมดนั่นแหละครับ ทั้งคนไข้ ทั้งหมอ เฮ้อ

 

ท่านอัยการพี่ดาราครับ P

ขอบคุณจริงๆครับ กระเทือนไปหมดเลยครับท่าน ทั้งวงการแพทย์ วงการยุติธรรม วงการสภากาแฟ

  • ปีนี้ไม่ได้ไป ทั้งๆที่ไม่เคยขาด
  • ขอบคุณอาจารย์แป๊ะครับ
เสียดายนะครับ อดลุ้น Ipod nano เลย 555P 

สวัสดีค่ะ  คุณหมอแป๊ะธนพันธ์ ชูบุญ

  • เรื่องนี้ที่สั่นสะเทือนจริง ๆ
  • ถ้าหมอไม่กล้าทำอะไรเพราะกลัวความผิดพลาด
  • คนได้รับผลกระทบ  ท้ายสุดก็ไม่ใช่ใคร
  • ชาวบ้านตาดำ ๆ นั่นแหละนะคะ

 

เห็นด้วยครับท่านกาแฟ P

มันเป็นวงจรหางว่าวเลย

รพช.ไม่กล้าทำ ส่งเข้าจังหวัด

หลายรพช.เข้าจังหวัด

คนไข้แออัด ดูแลช้า

แล้วจะเอาคุณภาพมาจากไหนกัน

นี่ผมเห็นใจทั้ง 2 ฝ่ายเลยนะครับ

อีกเรื่องหนึ่งคือ หมอลาออกมากขึ้น ไปอยู่โรงพยาบาลเอกชน ประกันวิชาชีพ ค่ารักษาก็แพงขึ้น

เฮ้อ ไทยแลนด์

ไม่มีคนไข้คนไหนอยากตายหรอก

ห่ะห่ะ เครียดค่ะ - -"

คือบางทีก็ควรจะพิจารณาอะไรหลายๆอย่างนะคะ

อย่างเช่นถ้าคนไข้แพ้ยา แล้วเสียชีวิต

ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถระบุได้ว่าคนไข้จะแพ้ยาหรือไม่

แค่ลำพังตัวหมอเองก็เสียใจและสะเทือนต่อสภาพจิตใจมากพอแล้วนะคะ

แล้วถ้าหากยังต้องมาถูกตัดสินว่ามีความผิดทางอาญา ก็คงไม่มีอะไรแย่ไปกว่านี้แล้วค่ะ

แต่ถ้าหากการเสียชีวิตของคนไข้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของหมอ

ก็ควรต้องยอมรับความผิดค่ะ เพราะชีวิตคนหนึ่งคนที่เสียไป มันหาอะไรมาทดแทนไม่ได้ค่ะ

สวัสดีค่ะ

หนูยังเป็น นศ.พยาบาลอยู่เลยค่ะ

พอดีหนูกำลังหาข่าวเกี่ยวกับการผิดพลาดจากการปฏิบัติงานของแพทย์และพยาบาลค่ะ

ผ่านมาเจอ web.นี้พอดีก็เลยอ่านค่ะ

เห็นด้วยค่ะว่าถ้ามัวแต่ฟ้องอย่างเดียว โดยที่เราให้การรักษาพยาบาลอย่างเต็มที่แล้ว

ก็คงจะทำให้คนเป็นแพทย์ พยาบาล ทำงานไปแบบไม่มีกำลังใจหรอกค่ะ

หนึ่งคนมีหลายความคิดทั้งแง่บวกแง่ลบ

หนูจะตั้งใจทำงานแป็นพยาบาลที่ดีค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท