การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาล


น้ำบาดาลมีคุณค่า กรุณาใช้สอยอย่างประหยัด
เหมือนการจัดการทั่วๆไป เช่นการบริหารจัดการข้าวของ เงินทองที่เรามีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อาจจะต้องนำเงินบางส่วนไปฝากธนาคาร บางส่วนแบ่งไปซื้อหุ้น บางส่วนซื้อทองเก็บเอาไว้ บางส่วนก็ปล่อยให้เขากู้ร้อยละ 10 ส่วนทรัพย์สินเช่นที่ดิน คอนโด อาจจะแบ่งให้เขาเช่า เพื่อให้เกิดรายได้หรือประโยชน์สูงสุด อย่างนี้เป็นต้น นี่คือการบริหารจัดการอย่างง่ายๆ กับของใกล้ตัวที่เรามีอยู่ มองเห็น แตะต้องสัมผัสได้

ทีนี้ลองย้อนกลับมาถึงเรื่องการบริหารจัดการน้ำบาดาลดูบ้าง หลายๆคนคงอาจจะงงและหลายๆคนคงนึกภาพไม่ออก ว่าจะต้องทำอย่างไร เพราะนึกไม่ออกว่าน้ำบาดาลมันอยู่ตรงไหนบ้าง มีปริมาณกักเก็บอยู่เท่าไหร่ แล้วเราสามารถนำขึ้นมาใช้ได้เท่าไหร่ ใช้ไปแล้วแผ่นดินจะทรุดไหม แล้วน้ำบาดาลที่ว่าคุณภาพมันเป็นอย่างไร โอ้ยสารพัดคำถามที่ตามมาติดๆ แค่คิดก็เหนื่อยแล้ว ใช่ไหมครับ อิอิ

การบริหารจัดการสิ่งที่เรามองไม่เห็น(เพราะมันอยู่ใต้ดิน) แตะต้องสัมผัสไม่ได้(ถ้าไม่ได้เจาะบ่อและสูบเอามันขึ้นมา) ช่างเป็นเรื่องที่ลำบากเสียนี่กะไร แต่ไม่เป็นไรครับ ค่อยๆอ่านไปเรื่อยๆ บางทีท่านอาจจะมีข้อเสนอแนะ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมก็ได้นะขอรับ

น้ำบาดาลต่างจากน้ำผิวดินก็ตรงที่ว่า น้ำผิวดินเรามองเห็นและรู้ว่าอยู่ตรงไหน คุณภาพเป็นอย่างไร เช่นอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำปิง วัง ยม น่าน ส่วนปริมาณก็เปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลเช่นหน้าแล้งก็แห้งขอด ส่วนหน้าฝนก็ไหลเข้าท่วมบ้านเรือน ไร่นา ของประชาชน อย่างนี้เป็นต้น แต่น้ำบาดาลหลายท่านก็ยังนึกไม่ออกอยู่ดีว่าหน้าแล้งมันแห้งไหม แล้วหน้าฝนหละมันจะล้นเอ่อเข้าบ้านเรือน ไร่นาของชาวบ้านไหม ก่อนอื่นต้องขอบอกว่าน้ำบาดาลกับน้ำผิวดิน เขาเป็นญาติกัน หน้าแล้งน้ำผิวดินก็จะไหลเข้าสู่ชั้นน้ำบาดาล ส่วนหน้าฝนน้ำบาดาลก็จะไหลลงสู่แม่น้ำลำคลอง เป็นอย่างนี้อยู่เรื่อยไป จนเป็นวัฎจักรของมัน

ทีนี้พอจะนึกภาพออกหรือยังครับว่าเราควรจะบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลอย่างไร ถ้ายังนึกไม่ออกก็ไม่เป็นไรครับ เพราะของอย่างนี้มันต้องใช้เวลา ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ต้องรีบ ตามคติที่ว่า "ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม" อิอิ

การบริหารจัดการควรเริ่มจากการแบ่งพื้นที่เสียก่อน เช่นอาจจะแบ่งพื้นที่ตามสภาพอุทกธรณีวิทยาออกเป็นแอ่งน้ำบาดาลต่างเช่น แอ่งเชียงใหม่-ลำพูน แอ่งเชียงราย-พะเยา แอ่งลำปาง แอ่งแพร่ แอ่งน่าน แอ่งพิษณุโลก-พิจิตร-กำแพงเพ็ชร แอ่งเจ้าพระยา แอ่งมูล-ชี แอ่งสกลนคร แอ่งสงขลา แอ่งนครศรีธรรมราช อย่างนี้เป็นต้น จากนั้นก็จัดตั้งคณะอนุกรรมการแอ่งน้ำบาดาลขึ้นมา เพื่อมีหน้าที่กำกับดูแลแอ่งน้ำบาดาลดังกล่าว

ทีนี้อาจจะเรื่มเห็นภาพขึ้นมาบ้างแล้วใช่ไหมครับ แต่คำถามก็จะตามมาอีกว่าแล้วจะเสนอชื่อใครเข้ามาเป็นคณะอนุกรรมการบ้าง คำตอบก็คือตามหลักการบริหารจัดการที่ดีนั้นต้องนำเอาผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีอำนาจ คนกลาง และเจ้าของพื้นที่เข้ามาร่วมเป็นคณะอนุกรรมการแอ่งน้ำบาดาล

คำถามก็จะตามมาอีกว่าแล้วผู้มีส่วนได้ส่วนเสียคือใคร คำตอบก็คือผู้ใช้น้ำบาดาลนั่นเอง อาจจะเป็นโรงงานอุตสาหกรรม โรงเบียร์ โรงงานน้ำอัดลม-น้ำดื่ม เกษตกรที่ใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูก ปศุสัตว์ รีสอร์ท โรงแรม สนามกลอฟ โรงเกลือ การประปาส่วนภูมิภาค ประปาหมู่บ้าน และภาคส่วนอื่นๆที่ใช้น้ำบาดาล อย่างนี้เป็นต้น โดยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเหล่านี้จัดตัวแทนมาอย่างละคนเพื่อเข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการ

ส่วนเจ้าของพื้นที่ซึ่งก็คือชาวบ้านก็ให้จัดตัวแทนมาอย่างน้อย 3 คน อาจจะเอาผู้นำชุมชนหรือปราชญ์ชาวบ้านก็ได้ เข้ามาร่วมเป็นคณะอนุกรรมการแอ่งน้ำบาดาล

ส่วนผู้เชี่ยวชาญก็แต่งตั้งจากอาจารย์ ผู้ประกอบการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล หรือเจ้าหน้าที่จากกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เข้าเป็นคณะอนุกรรมการ

ส่วนคนกลางก็อาจจะเชิญตุลาการที่มีหน้าที่ในการพิพากษาคดีสิ่งแวดล้อม เพื่อเข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการ

ส่วนผู้มีอำนาจก็เชิญนายก อบจ. หรือผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อเข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการ

จากนั้นก็จัดให้มีการประชุมคณะอนุกรรมการแองน้ำบาดาล โดยการประชุมควรจัดให้บรรยากาศเป็นไปอย่างเรียบง่าย เปิดอกคุยกันอย่างที่เขาเรียกว่า "Knowledge Management" ทุกคนควรยอมรับฟัง ปัญหาของแต่ละภาคส่วน ร่วมกันคิดและแก้ปัญหาเกี่ยวกับน้ำบาดาลในแต่ละพื้นที่ อีกทั้งต้องช่วยกันร่างนโยบาย และกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำบาดาลในพื้นที่ของตน เพื่อนำเข้าคณะกรรมการน้ำบาดาลกลางอีกที จากนั้นคณะกรรมการกลางมีหน้าที่นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อประกาศเป็นพระราชบัญญัติหรือกฎหมายต่อไป

พอมาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะฉุกคิดว่าแล้วคณะกรรมการกลางคือใคร คำตอบคือคณะกรรมการกลางต้องประกอบไปด้วยรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน มีตัวแทนจากหลายๆหน่วยงานเข้ามาเป็นกรรมการ และต้องมีอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเป็นกรรมการและเลขานุการ

พอมาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะมึน เพราะอ่านมาเยอะแล้วก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ ไม่เป็นไรครับข้าพเจ้าเองก็มึนเหมือนกัน
หมายเลขบันทึก: 165548เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2008 08:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ธันวาคม 2018 11:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท