ย้อนรอยสายราชสกุล... ในพระบรมราชจักรีวงศ์ 1


ราชสกุล พระบรมราชจักรีวงศ์

 

         ในวันพุธที่ 13 กุมภาพันธ์ 2551 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานพระบรมราชานุญาต โปรดเกล้าฯ ให้สมาชิกราชสกุลทุกมหาสาขา และราชนิกุล ในพระบรมราชจักรีวงศ์ร่วมเป็นเจ้าภาพในการบำเพ็ญพระกุศลถวายพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ และไม่บ่อยนักที่จะมีพระญาติจาก 131 ราชสกุลแห่งราชวงศ์จักรีมารวมกัน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญ อันเป็นการแสดงถึงความผูกพันใกล้ชิดของราชสกุลวงศ์ ผู้สืบเชื้อสายมายาวนานกว่า 225 ปี จากพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี 
       

       
       * ปฐมบทของราชสกุลในพระบรมราชจักรีวงศ์
      
       กิตติพงษ์ วิโรจน์ธรรมากูร เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องราวประวัติศาสตร์และราชวงศ์ไทย ซึ่งมีผลงานด้านหนังสือออกมาเป็นจำนวนมาก และกิตติพงษ์ ได้เคยรวบรวมการสืบเชื้อสายราชสกุลวงศ์แห่งราชวงศ์จักกรี ออกมาเป็นหนังสือ 2 เล่มคือ “ย้อนรอยราชสกุลวงศ์-วังหลวง” และ “ย้อนรอยราชสกุลวงศ์-วังหน้า,วังหลัง” ซึ่งเขาได้สืบย้อนลำดับการสืบเชื้อสายราชสกุลวงศ์ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งนับได้ 131 ราชสกุล
      
       กิตติพงษ์ กล่าวว่าแต่เดิมนั้นคนไทยมีแต่ชื่อตัว ยังไม่มีนามสกุลใช้ หากเป็นชาวบ้านทั่วไปก็มักจะใช้ชื่อที่เป็นพยางค์เดียวสั้นๆ หรือใครที่เป็นขุนนางก็จะมีบรรดาศักดิ์ยืดยาว และต้องใส่ชื่อตัวไว้ในวงเล็บท้ายนามบรรดาศักดิ์นั้น เพื่อให้รู้ว่าเป็นใคร ส่วนบรรดาสร้อยพระนามพระราชวงศ์ ก็ล้วนแต่มีสร้อยพระนามสั้นยาวต่างกันไป ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่มีนามสกุลใช้เช่นกัน ซึ่งถ้าเป็นเจ้านายชั้นหม่อมเจ้าที่มีพระบิดาทรงพระยศเป็นถึงชั้นเจ้าฟ้า ชั้นพระองค์เจ้า หรือเป็นเจ้านายที่ทรงกรม ก็จะใช้การเอ่ยพระนามว่า หม่อมเจ้า....ในสมเด็จเจ้าฟ้า,หม่อมเจ้า...ในพระองค์เจ้า หรือ หม่อมเจ้า...ในกรม เพื่อให้รู้ว่าทรงเป็นธิดา หรือโอรสของเจ้านายพระองค์ใดเท่านั้น
      
       จนเมื่อ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว(ร.6) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตรา พ.ร.บ. ขนานนามสกุลขึ้นเป็นครั้งแรกของสยาม เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2461 นับจากนั้นคนไทยทุกคนจึงมีนามสกุลใช้กันทั่วไป เฉพาะล้นเกล้าฯ ร.๖ ทรงพระราชทานนามสกุลแก่ผู้มาร้องขอทั้งสิ้นประมาณ 6,500 นามสกุล
 
 

 

       ภายหลังทรงตรา พ.ร.บ. นามสกุลขึ้นแล้ว ไม่เพียงแต่ชาวบ้านเท่านั้น ที่เริ่มมีนามสกุลของตัวเอง สำหรับราชสกุลวงศ์ในพระราชวงศ์จักรีก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานคำว่า “ ณ กรุงเทพ” ให้ทุกราชสกุลใช้ต่อท้ายนามราชสกุลของเหล่าเชื้อพระวงศ์ที่เป็นชั้นลูกหลานหม่อมหลวงสืบต่อลงมา ถือเป็นการพระราชทานนามสกุลให้บรรดาสายราชสกุลต่างๆ ย้อนหลังจนถึงรัชกาลของพระองค์
      
       ต่อมาวันที่ 6 เม.ย.2468 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้คำว่า “ณ อยุธยา” แทน “ณ กรุงเทพ” ด้วยเหตุผลว่า องค์ปฐมพระบรมราชจักรีวงศ์นี้ คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงสืบเชื้อสายมาจากสกุลใหญ่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี จึงใช้ “ณ อยุธยา” สืบทอดกันมาตามพระราชบัญญัตินับแต่นั้นเรื่อยมา
      
       สิริรวมราชสกุลในพระบรมราชจักรีวงศ์ตั้งแต่ ร.1 - รัชกาลปัจจุบัน ทั้งสายวังหลวง วังหน้า และวังหลัง มีทั้งสิ้น 131 ราชสกุล โดยลำดับตามพระราชบัญญัติของ รัชกาลที่ 6
      
      
       * พระปฐมบรมราชจักรีวงศ์
      
       จากการศึกษาย้อนหลังราชวงศ์จักรี กิตติพงษ์ กล่าวว่า ต้นราชวงศ์รัชกาลที่ 1 นั้น ทรงสืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยามหาโกษาบดี(ปาน) อดีตเสนาบดีว่าการ ก. ต่างประเทศในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ผู้เป็นบุตรชายของเจ้าแม่วัดดุสิต (พระนมเอกผู้อภิบาลสมเด็จพระนารายณ์ เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ ที่ต่อมาเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเจ้าแม่วัดดุสิตขึ้นเป็นพระองค์เจ้า ด้วยทรงเคารพเสมือนหนึ่งพระราชมารดา)
      
       โดย สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกนาถ (ทองดี) ทรงมีพระโอรสธิดาทั้งสิ้น 7 พระองค์ (พระโอรส 4 พระธิดา 3) ซึ่งนับเป็นชั้นที่ 1 ในพระปฐมวงศ์ หลังจากที่ ร.1 ทรงปราบดาภิเษก ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรีแล้ว จึงได้โปรดเกล้าฯ สถาปนาพระชนก และทรงเฉลิมพระยศเป็น “สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกนาถ” พร้อมทั้งทรงสถาปนาพี่น้องทั้ง 7 พระองค์ขึ้นเป็นพระราชวงศ์ด้วย ดังรายนามต่อไปนี้
      
       1. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง กรมพระเทพสุดาวดี (สา)
      
       2. สมเด็จพระเจ้ารามณรงค์ (ไม่ปรากฏพระนามเดิม)
      
       3. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง กรมพระศรีสุดารักษ์ (แก้ว)
      
       4. พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
      
       5. สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (บุญมา)
 

 

 

       6. กรมหลวงนรินทรเทวี(พระองค์เจ้าหญิงกุ)
      
       7. สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา(ลา)
      
       กิตติพงษ์ ขยายความว่า สำหรับเจ้านาย 5 พระองค์แรก ประสูติจากอัครมเหสี (หยก ) ส่วนอีก2 พระองค์ประสูติจากพระน้องนางของพระอัครมเหสี (หยก) ซึ่งต่อมา พระปฐมวงศ์ในชั้นที่ 1 นี้ มีสายราชสกุลสืบต่อมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน ทั้งหมด 6 สายสกุล ดังนี้
      
       นรินทรกุล องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงนรินทรเทวี(พระองค์เจ้าหญิงกุ) พระเจ้าน้องนางเธอใน ร.1
      
       เจษฎางกูร องค์ต้นราชสกุล คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา
      
       นรินทรางกูร องค์ต้นราชสกุล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทรรณเรศ พระนามเดิม(ทองจีน) ทรงเป็นโอรสองค์ที่ 3 ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี(พระพี่นางองค์ใหญ่ ร.1)
      
       เทพหัสดิน องค์ต้นราชสกุล คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ มีพระนามเดิม “ตัน” ทรงเป็นพระโอรสองค์ที่ 1 ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์(พระพี่นางองค์น้อยในร.1) กับเจ้าขรัวเงิน
      
       มนตรีกุล องค์ต้นราชสกุล คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี มีพระนามเดิม “จุ้ย” ทรงเป็นพระโอรสองค์ที่ 5 ในสมเด็จฯ เจ้าฟ้าศรีสุดารักษ์กับเจ้าขรัวเงิน
      
       อิศรางกูร องค์ต้นราชสกุล คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ มีพระนามเดิม “เกศ” ทรงเป็นพระโอรสองค์ที่ 6 ในสมเด็จฯ เจ้าฟ้าศรีสุดารักษ์กับเจ้าขรัวเงิน
      
      
      
       * สายราชสกุลวงศ์ในรัชกาลที่ 1
      
       สำหรับรัชกาลที่ 1 ซึ่งมีพระนามเดิมว่า “ทองด้วง” หลังจากขึ้นครองราชย์เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2325 ทรงมีพระราชโอรส 17 พระองค์ พระราชธิดา 25 พระองค์ รวมทั้งสิ้น 42 พระองค์ และทรงมีพระราชทายาทสืบราชสกุลรวมทั้งสิ้น 8 ราชสกุล ดังนี้
      
       อินทรางกูร องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอินทรพิพิธมีพระนามเดิมว่า “ พระองค์เจ้าทับทิม” ทรงเป็นพระโอรสลำดับที่ 12 ในเจ้าจอมมารดาจันทา
      
       ทัพพะกุล องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นจิตรภักดี มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าทับ” ทรงเป็นพระโอรสลำดับที่ 18 ในเจ้าจอมมารดาน้อย
 
 

 

       สุริยกุล องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระรามอิศเรศ มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าสุริยา” ทรงเป็นพระโอรสลำดับที่ 22 และที่ 1ในเจ้าจอมมารดาเพ็งใหญ่
      
       ฉัตรกุล องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าฉัตร” ทรงเป็นพระโอรสลำดับที่ 29 และที่ 2 ในเจ้าจอมมารดาตานี
      
       พึ่งบุญ องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมรักษ์รณเรศ มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าไกรสร” ทรงเป็นพระโอรสลำดับที่ 33 ในเจ้าจอมมารดาน้อยแก้ว
      
       ดารากร องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นศรีสุเทพ มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าดารากร” ทรงเป็นพระโอรสลำดับที่ 34 และที่ 2 ในเจ้าจอมมารดาเพ็งใหญ่
      
       ดวงจักร องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นณรงค์หริรักษ์ มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าดวงจักร” ทรงเป็นพระโอรสลำดับที่ 35 ในเจ้าจอมมารดาปาน
      
       สุทัศน์ องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นไกรสรวิชิต มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าสุทัศน์” ทรงเป็นพระโอรสลำดับที่ 40 ในเจ้าจอมมารดากลิ่น
      
      
      
       * ราชสกุลวงศ์ สายวังหน้า-วังหลัง ในรัชกาลที่ 1
      
       ไม่เพียงแต่ราชสกุลผู้สืบเชื้อสายจากวังหลวงเท่านั้น เมื่อเข้าสู่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ทันทีที่รัชกาลที่ 1 ทรงปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ยังปรากฏว่าทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวังหลวงกับวังหน้าขึ้นพร้อมๆ กัน เสมือนเป็นวังพี่วังน้อง ตามราชประเพณีที่สืบต่อกันมา และโปรดฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช หรือ พระยาเสือ ซึ่งมีพระนามเดิมว่า “บุญมา” ขึ้นเป็นพระมหาอุปราช ทรงเฉลิมพระยศให้เป็น “สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ดำรงตำแหน่งพระประมุขแห่งวังหน้า เช่นเดียวกับที่เคยมีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
      
       กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงมีพระราชโอรส 18 พระราชธิดา 25 รวมทั้งสิ้น 43 พระองค์ และ ทรงมีพระราชทายาทสืบสายสกุลรวม 4 ราชสกุล โดยเรียงลำดับพระชันษา ดังนี้
 

 

 

       อสุนี องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นเสนีเทพ มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าชายอสุนี” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 8 และเป็นโอรสเพียงหนึ่งเดียวในเจ้าจอมมารดาขำ
      
       สังขทัต องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมขุนนรานุชิต มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าชายสังกะทัต” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 21 และที่ 3 ในเจ้าจอมมารดาฉิม
      
       ปัทมสิงห์ องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชายบัว (มิได้ทรงกรม) ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 26 ในเจ้าจอมมารดาศรี
      
       นีรสิงห์ องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชายเณร (มิได้ทรงกรม) ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 41 ในเจ้าจอมมารดาไผ่
      
       นอกจากนี้ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ กิตติพงษ์ กล่าวต่อว่า ในรัชกาลเดียวกัน ยังปรากฏว่ารัชกาลที่1 ทรงโปรดเกล้าฯ สถาปนา สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ พระโอรสองค์ใหญ่ในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี (พระเจ้าพี่นางเธอพระองค์ใหญ่กับพระอินทรรักษา(เสม) หรือ หม่อมเสม) ซึ่งมีพระนามเดิมว่า “ทองอิน” ให้ทรงดำรงตำแหน่ง “กรมพระราชวังบวรสถานภิมุข” หรือ “กรมพระราชวังหลัง” เสด็จดำรงพระเกียรติยศในตำแหน่งได้ 21 ปี และทรงเป็นกรมพระราชวังหลังพระองค์สุดท้ายแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องจากในภายหลังมิได้ทรงโปรดฯ แต่งตั้งเจ้านายพระองค์ใดขึ้นมาดำรงตำแหน่งอีกเลย จึงถือได้ว่าเป็นการยกเลิกวังหลังไปโดยปริยาย
      
       สำหรับ กรมพระราชวังบวรสถานภิมุขพระองค์นี้ ทรงมีพระราชโอรส-พระราชธิดา รวมทั้งสิ้น 35 พระองค์ และทรงมีพระราชทายาทสืบสายสกุล รวม 2 ราชสกุล ดังนี้
      
       ปาลกะวงศ์ องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราเทเวศร์ มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าชายทองปาน” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 1 ในกรมพระราชวังบวรสถานภิมุขกับพระอัครชายาเจ้าครอกทองอยู่
      
       เสนีวงศ์ องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหลวงเสนีบริรักษ์ มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าชายแตงโม” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 4 ในกรมพระราชวังบวรสถานภิมุขกับพระอัครชายาเจ้าครอกทองอยู่
 
 

 

       
       * สายราชสกุลในรัชกาลที่ 2
      
       รัชกาลที่ 2 ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 4 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี มีพระนามเดิมว่า “ฉิม” ครั้นเมื่อพระบรมราชชนกเสด็จขึ้นเสวยราชย์ในปี 2325 ทรงได้รับโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงอิศรสุนทร
      
       ในช่วงปลาย ร.1 ทรงได้รับโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ต่อมาเมื่อสมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จสวรรคต จึงได้เสด็จสืบราชสมบัติเป็นกษัตริย์พระองค์ที่ 2 แห่งราชจักรีวงศ์ ทรงสืบทอดราชบัลลังก์รวม 15 ปี พระองค์ทรงมีพระราชโอรส 28 พระองค์ พระราชธิดา 35 พระองค์ ทรงมีพระราชทายาทสืบสกุลรวมทั้งสิ้น 20 สายสกุล ดังรายพระนาม ดังนี้
      
       อาภรณ์กุล องค์ต้นราชสกุล คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ (มิได้ทรงกรม) ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 60 และที่ 1 ในสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี
      
       มาลากุล องค์ต้นราชสกุล คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ มีพระนามเดิมว่า “เจ้าฟ้าชายกลาง”ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 65 และที่ 2 ในสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี
      
       กล้วยไม้  องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสุนทรธิบดี มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้ากล้วยไม้” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 8 และที่ 3ในพระเจ้าจอมมารดาสวน
      
       กุสุมา องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นเสพสุนทร มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้ากุสุมา” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 13 ในพระเจ้าจอมมารดากรุด
      
       เดชาติวงศ์ องค์ต้นราชสกุล คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้ามั่ง” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 15 และที่ 2 ในพระเจ้าจอมมารดานิ่ม
      
       พนมวัน องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าพนมวัน” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 17 และที่ 2 ในเจ้าจอมมารดาศิลา
      
       กุญชร องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิทักษ์เทเวศร์ มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้ากุญชร” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 22 และที่ 3 ในเจ้าจอมมารดาศิลา
 

 

 

       เรณุนันท์ องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเรณู (มิได้ทรงกรม) ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 26 ในเจ้าจอมมารดาบุนนาค
      
       นิยมิศร องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเนียม (มิได้ทรงกรม) ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 30 ในเจ้าจอมมารดาเหมใหญ่
      
       ทินกร องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าทินกร” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 35 และที่ 4 ในเจ้าจอมมารดาศิลา
      
       ไพฑูรย์ องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสนิทนเรนทร มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าไพฑูรย์” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 38 และที่ 1 ในเจ้าจอมมารดาทิม
      
       มหากุล องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงมหิศวรินทรามเรศ ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 41 และที่ 1 ในเจ้าจอมมารดาเลี้ยง
      
       วัชรีวงศ์ องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระเทเวศร์วัชรินทร์ มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าชายกลาง” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 44 และที่ 2 ในเจ้าจอมมารดาน้อยระนาด
      
       ชุมแสง องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพศิลป์ปรีชา มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าชุมแสง” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 45 และที่ 2 ในเจ้าจอมมารดาน้อยทิม
      
       สนิทวงศ์ องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้านวม” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 49 และที่ 2 ในเจ้าจอมมารดาปรางใหญ่
      
       มรกฎ องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสถิตย์สถาพร มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้ามรกฎ” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 51 ในเจ้าจอมมารดาทองดี
      
       นิลรัตน์ องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอลงกฎกิจปรีชา มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้านิลรัตน์” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 57 ในเจ้าจอมมารดาพิม
      
       อรุณวงษ์ องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมวรศักดาพิศาล มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าอรุณวงษ์” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 58 ในเจ้าจอมมารดาเอม
      
       กปิตถา องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้ากปิตถา” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 59 และที่ 1 ในเจ้าจอมมารดาอัมพา
 
 

 

       ปราโมช องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 61 และที่ 2 ในเจ้าจอมมารดาอัมพา
      
       
       * ราชสกุลวงศ์ สายวังหน้าในรัชกาลที่ 2
      
       ส่วนสายราชสกุล ผู้สืบเชื้อสายจาก สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ (วังหน้า) พระนามเดิมว่า “จุ้ย” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 7 ในรัชกาลที่ 1 และสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ผู้ทรงเป็นพระอนุชาร่วมพระบรมราชชนนีเดียวกับรัชกาลที่ 2 ซึ่งได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานอุปราชาภิเษกเป็นสมเด็จพระมหาอุปราช (วังหน้า) เมื่อพระชนมายุ 36 พรรษา
      
       สมเด็จพระบรมราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ฯ เสด็จดำรงพระราชอิศริยยศเป็นพระมหาอุปราชรวม 8 ปี ทรงมีพระราชโอรส 23 พระองค์ พระราชธิดา 17 พระองค์ ทรงมีพระราชทายาทสืบสายสกุลรวม 10 ราชสกุล
      
       บรรยงกะเสนา องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมขุนธิเบศร์บวร มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าประยงค์” ทรงเป็นพระโอรสลำดับที่ 2 และที่ 1ในเจ้าจอมมารดาน่วม
      
       อิศรเสนา องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นกษัตริย์ศรีศักดิเดช มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าพงศ์อิศเรศ” ทรงเป็นพระโอรสลำดับที่ 8 และที่ 5ในเจ้าจอมมารดาสำลี
      
       ภุมรินทร องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภุมริน (มิได้ทรงกรม) ทรงเป็นพระโอรสลำดับที่ 11 และที่ 1 ในเจ้าจอมมารดาทรัพย์
      
       พยัคฆเสนา องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเสือ(มิได้ทรงกรม) ทรงเป็นพระโอรสลำดับที่ 16 และที่ 4 ในเจ้าจอมมารดาน่วม
      
       รังสิเสนา องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าใย (มิได้ทรงกรม) ทรงเป็นพระโอรสลำดับที่ 17 และที่ 1 ในเจ้าจอมมารดาศิลา
      
       สหาวุธ องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมแสง(มิได้ทรงกรม) ทรงเป็นพระโอรสลำดับที่ 27 ในเจ้าจอมมารดาเล็ก
      
       ยุคันธร องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนันตการฤทธิ์ มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าพงศ์ยุคันธร” ทรงเป็นพระโอรสลำดับที่ 32 และที่ 3 ในเจ้าจอมมารดาน้อยเล็ก
      
       สีสังข์ องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสีสังข์ (มิได้ทรงกรม) ทรงเป็นพระโอรสลำดับที่ 33 และที่ 2 ในเจ้าจอมมารดาเอี่ยม
 

 

 

       รัชนิกร องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารัชนิกร(มิได้ทรงกรม) ทรงเป็นพระโอรสลำดับที่ 35 ในเจ้าจอมมารดาน่วม
      
       รองทรง องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นสิทธิสุขุมการ มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้ารองทรง” ทรงเป็นพระโอรสลำดับที่ 38 ในเจ้าจอมมารดาภู่ (อิเหนา)
      
      
       * สายราชสกุลวงศ์ในรัชกาลที่ 3
      
       เมื่อสมเด็จพระบรมราชชนกสวรรคต บรรดาเจ้านายและขุนนางชั้นผู้ใหญ่จึงได้อัญเชิญ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนามเดิม “ทับ” ผู้ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กับเจ้าจอมมารดาเรียม (ภายหลังได้รับโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระศรีสุราลัย) เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติในปี พ.ศ. 2367 และทรงดำรงสิริราชสมบัติ27 ปี ก่อนเสด็จสวรรคต ทรงมีพระราชโอรส 22 พระองค์พระราชธิดา 29 พระองค์ รวมทั้งสิ้น 51 พระองค์
      
       สำหรับรัชกาลนี้ กิตติพงษ์ กล่าวว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าบรรดาพระราชโอรส-ธิดาทุกพระองค์ ล้วนมีพระอิสริยศักดิ์เป็น “พระองค์เจ้า” ทั้งสิ้น ส่วนสาเหตุเหตุที่มิได้มีพระอิสริยศักดิ์เป็น “เจ้าฟ้า” แม้แต่พระองค์เดียวและมิได้ทรงสถาปนาพระสนมขึ้นเป็นพระอัครมเหสีเช่นกัน เพราะมิได้ทรงปรารถนาที่จะให้พระราชโอรสขึ้นเป็นกษัตริย์ เนื่องจากทรงมีพระราชประสงค์จะมอบราชสมบัติให้แก่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ(ร.4) แต่เพียงพระองค์เดียว และ ทรงมีราชสกุลที่สืบต่อมาถึงรัชกาลปัจจุบัน ทั้งสิ้น 13 ราชสกุล ดังนี้
      
       ศิริวงศ์ องค์ต้นราชสกุล คือ สมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าศิริวงศ์” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ และที่ 1 ในเจ้าจอมมารดาทรัพย์
      
       โกเมน องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าพระบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นเชษฐาธิเบนทร์ มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าโกเมน” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 11 และที่ 2 ในเจ้าจอมมารดาเฟื่อง
      
       คเนจร องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าพระบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอมเรนทรบดินทร์ มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าคเนจร” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 12 และที่ 2 ในเจ้าจอมมารดาน้อยเมือง
 
 

 

       งอนรถ องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าพระบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้างอนรถ(มิได้ทรงกรม) ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 14 และที่ 2 ในเจ้าจอมมารดาจาด
      
       ลดาวัลย์ องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าพระบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูมินทรภักดี มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าลดาวัลย์” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 15 ในเจ้าจอมมารดาเอมน้อย
      
       ชุมสาย องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าพระบรมวงศ์เธอ กรมขุนราชสีหวิกรม มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าชุมสาย” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 21 ในเจ้าจอมมารดาเอมใหญ่
      
       ปิยากร องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าพระบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปียก (มิได้ทรงกรม) ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 27 ในเจ้าจอมมารดาเหม็น
      
       อุไรพงศ์ องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอดุลยลักษณสมบัติ มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าอุไร” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 29 และที่ 2 ในเจ้าจอมมารดาเขียว
      
       อรณพ องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าพระบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอุดมรัตนราษี มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าอรณพ” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 32 และที่ 2 ในเจ้าจอมมารดาพึ่ง
      
       ลำยอง องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าพระบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลำยอง (มิได้ทรงกรม) ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 39 ในเจ้าจอมมารดาวัน
      
       สุบรรณ องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าพระบรมวงศ์เธอ กรมขุนภูวนัยนฤเบนนราธิบาล มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าสุบรรณ” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 46ในเจ้าจอมมารดาขำ
      
       สิงหรา องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าพระบรมวงศ์เธอ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าสิงหรา” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 48 และที่ 2 ในเจ้าจอมมารดาคล้าย
      
       ชมพูนุท องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าพระบรมวงศ์เธอ กรมขุนเจริญผลพูลสวัสดิ์ มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าชมพูนุท” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 49 ในเจ้าจอมมารดาสัมฤทธิ์
      
      
      
       * ราชสกุลวงศ์ สายวังหน้าในรัชกาลที่ 3
      
       สำหรับกรมพระราชวังหน้าในสมัย รัชกาลที่ 3 คือ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิ์พลเสพกรมพระราชวังบวรสถานมงคล มีพระนามเดิม “พระองค์เจ้าอรุโณทัย” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 17 ในรักาลที่ 1 และเจ้าจอมมารดานุ้ยใหญ่ ทรงได้รับการโปรดเกล้าฯ จากรัชกาลที่ 2 ให้เป็นแม่ทัพยกกำลังไปสกัดข้าศึกที่เมืองเพชรบุรี พร้อมกับกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (รัชกาลที่ 3) ที่ขณะนั้นทรงตั้งทัพทางด่านเมืองราชบุรีและกาญจนบุรี
 

 

 

       เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงประทับที่วังหน้าตลอดพระชนม์ชีพ จนพระชนมายุ 48 พรรษา ทรงมีพระราชโอรส 14 พระองค์ พระราชธิดา 6 พระองค์ และ ทรงมีพระราชทายาทสืบสายสกุลรวม 5 ราชสกุล ดังนี้
      
       กำภู องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากำภู (มิได้ทรงกรม) ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 6 ในเจ้าจอมมารดาคำ
      
       เกสรา องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอานุภาพพิศาลศักดิ์ มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าเกสรา” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 9 ในเจ้าจอมมารดาคุ้มเล็ก
      
       อิศรศักดิ์ องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศราพงษ์ (มิได้ทรงกรม) ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 12 ในพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดาราวดี ซึ่งเป็นพระราชธิดาในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท
      
       อนุชะศักดิ์ องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านุช (มิได้ทรงกรม) ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 14 และที่ 3 ในเจ้าจอมมารดาเฟือง
      
       นันทิศักดิ์ องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเริงคนอง ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 18 ในเจ้าจอมมารดาเอม
 
 

อ้างอิง http://www.manager.co.th/MetroLife/ViewNews.aspx?NewsID=9510000017979  

หมายเลขบันทึก: 165537เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2008 06:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

หลอมรวมราชสกุลทุกมหาสาขา...ถวายกตัญญุตาองค์ปฐมกษัตริย์แห่งราชจักรีวงศ์ ณ พระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เมื่อวันจันทร์ที่ 7 ก.ย. 52 ที่ผ่านมา ถือเป็นอีกวาระหนึ่งที่เหล่าสมาชิกราชสกุลทุกมหาสาขาต่างพร้อมใจกันเข้าร่วม งาน “สวรรคต ครบ 200 ปี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช” พระปฐมบรมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงวางรากฐานการปกครองประเทศ และทรงสร้าง “กรุงเทพมหานคร” ขึ้นเป็นราชธานีไว้อย่างรอบคอบและมั่นคงจวบจนปัจจุบัน ในฐานะผู้สืบเชื้อสายโลหิตในรัชสมัยปัจจุบัน สมาชิกราชสกุลทุกท่าน ยังคงสืบสานโบราณราชประเพณีอันดีงามนี้ไว้ให้คงอยู่ ด้วยประจักษ์ถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อบ้านเมืองอย่างหาที่สุดมิได้ ตั้งแต่ช่วงเช้าราว 8 โมง แสงแดดอ่อนๆ เริ่มโรยตัวลอดกำแพงวัดมาทักทายผู้คน สมาชิกราชสกุลต่างทยอยเดินทางมาลงทะเบียนเพื่อรับป้ายชื่อประจำราชสกุล ซึ่งจัดแบ่งจุดลงทะเบียนไว้ตามสายต่างๆ เริ่มตั้งแต่ พระ ปฐมบรมราชวงศ์,ราชสกุลสายรัชกาลที่ 1 พระราชวรวงศ์เธอ ชั้น 1 (วังหน้าในรัชกาลที่ 1),กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (วังหลัง),ราชสกุลสายรัชกาลที่ 2,พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ ชั้น 2 (วังหน้าในรัชกาลที่ 2),ราชสกุลสายรัชกาลที่ 3,พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ ชั้น 3 (วังหน้าในรัชกาลที่ 3) ,ราชสกุลสายรัชกาลที่ 4 ,พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ ชั้น 4 (วังหน้าในรัชกาลที่ 4),ราชสกุลสายรัชกาลที่ 5,พระราชวรวงศ์เธอ ชั้น 5 (วังหน้าในรัชกาลที่ 5) และราชสกุลสายรัชกาลที่ 7 สิริรวมมีสมาชิกจากราชสกุลต่างๆ เข้าร่วมพิธีอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง 81 ราชสกุลจากทั้งหมด 131 ราชสกุล ซึ่งหลายท่านก็ห่างหายกันไปหลังจากเสร็จสิ้นงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระ ศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ครั้นเมื่อได้กลับมาพบปะกันอีกครั้งในวาระนี้ต่างก็สวมกอด ทักทายถามไถ่ถึงสารทุกข์สุขดิบกันอย่างคนคุ้นเคย อาทิ 2 คุณชาย ม.ร.ว.ศุภดิศ ดิศกุล และ ม.ร.ว.จตุมงคล โสณกุล ที่ไม่ได้มีโอกาสเจอกันบ่อยนัก เมื่อต้องมานั่งอยู่ในพิธีในเก้าอี้แถวเดียวกันตัวติดกัน ในฐานะทายาทราชสกุลในรัชกาลที่ 4 จึงสนทนากันอย่างออกรส บ่งบอกถึงความรู้สึกที่อบอุ่น ที่เครือญาติได้มารวมตัวกันอีกครั้ง คุณชายศุภดิศ กล่าวพร้อมรอยยิ้มว่า รู้สึกตื้นตันใจที่บรรดาสมาชิกราชสกุลทุกมหาสาขา ซึ่งไม่บ่อยครั้งนักที่จะได้มารวมตัวกันอย่างพร้อมหน้า ที่ผ่านมา หลายราชสกุลก็ค่อนข้างเหินห่าง แทบไม่ได้ส่งข่าวคราวถึงกันมากนัก ส่วนใหญ่ก็จะถือโอกาสในงานพระราชพิธีสำคัญๆ ที่พวกเราลูกหลานราชสกุลจะกลับมาพบเจอกันอีก และได้ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งของงานพระราชพิธีที่สำคัญยิ่งต่อสถาบันพระมหา กษัตริย์ ศูนย์รวมดวงใจของคนไทยทั้งชาติ ทั่วทั้งบริเวณงานจึงอบอวลไปด้วยบรรยากาศแห่งความอบอุ่น ทั้งสมาชิกราชสกุลที่อาวุโสมากๆ ซึ่งถือเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของแต่ละสายราชสกุล และ เหล่าราชสกุลรุ่นเยาว์ในชุดผ้าไทยสีสันต่างๆ ติดเข็มตราประจำราชสกุล ก็ติดสอยห้อยตามกันมาดูแล จูงมือคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย เดินขึ้นพระอุโบสถเพื่อร่วมพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายแด่องค์พระปฐมบรม กษัตริย์ เป็นภาพที่น่ารักน่าเอ็นดู บางท่านเดินทางไกลมาจากจ.อำนาจเจริญ ตั้งแต่ฟ้ายังไม่ทันสาง เพื่อมาให้ทันการเข้าร่วมพิธีสำคัญในครั้งนี้ สมาชิกราชสกุลเรณุนันทน์ นำโดย กุศล เรณุนันทน์ ณ อยุธยา ที่แม้จะมาไกล อ่อนเพลียอยู่บ้างแต่ก็อยู่ร่วมพิธีจนจบงาน ม.ร.ว. ทินศักดิ์ ศักดิเดชน์ ภาณุพันธุ์ เปแนตัวแทนจากราชสกุลในรัชกาลที่ 7 ราชสกุลมาลากุล มี ม.ล. ปกิต มาลากุล มาเป็นตัวแทน ราชสกุลสนิทวงศ์มี พล.อ.อ. อนุพันธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา มาเป็นตัวแทน เช่นเดียวกันกับ ม.ล. อนุพร เกษมสันต์ ก็เป็นตัวแทนเพียงหนึ่งเดียวจากราชสกุลเกษมสันต์ งานพิธีในช่วงเช้าแม้จะไม่ปรากฏ ผู้หลักผู้ใหญ่ซึ่งเป็นที่นับหน้าถือตาหลายท่านจากราชสกุลต่างๆ เพราะต้องเตรียมตัวเข้าร่วมในพระราชพิธี ณ พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง หากแต่ราชสกุลต่างๆ ก็ยังส่งตัวแทนมาร่วมในพิธีช่วงเช้าด้วยความจงรักภักดี โดยมีของที่ระลึกที่จัดเตรียมไว้สำหรับมอบให้สมาชิกราชสกุลทุกมหาสาขา เป็น เหรียญเงินลงยาสีเขียวรูปพระบรมฉายาลักษณ์ สลักพระนามพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ครบรอบ 200 ปี 7 กันยายน 2552 สำหรับการจัดพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายครั้งนี้ พล.ร.อ.ม.จ. ปุสาณ สวัสดิวัตน์ ทรงเป็นองค์ประธานจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย จุดเครื่องทองน้อยถวายสักการะพระบรมอัฐิ และหลังจากเสร็จสิ้นการแสดงพระธรรมเทศนากัณฑ์ 1 จากพระราชาคณะ และพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ 10 รูป สวดพระพุทธมนต์แล้ว องค์ประธานในพิธี พร้อมด้วย 4 ท่านชายแห่งราชสกุลยุคล ได้แก่ ม.จ.ภูริพันธ์ ยุคล,ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล,ม.จ.จุลเจิม ยุคล และ ม.จ.นวพรรษ์ ยุคล ทรงร่วมถวายภัตตาหารเพล ถวายจตุปัจจัยไทยธรรม โอกาสนี้ตัวแทนสมาชิกราชสกุลต่างๆ ยังได้ร่วมกันถวายตาลปัตร ซึ่งจัดทำขึ้นเป็นพิเศษ โดยมีการจารึกตราพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 1 (รูปอุณาโลม) ซึ่งผูกตรานี้ขึ้นในโอกาสฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 100 ปี จัดทำตาลปัตรขึ้นเป็นสีเขียว ตามสีประจำวันประสูติ ซึ่งตรงกับวันพุธที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2279 และเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2352 และทรงครองราชย์ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2325 รวมระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัตินาน 27 ปี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท