GotoKnow

เพิ่มพลังสมองในยุคสื่อสารท่วมท้น

Prof. Vicharn Panich
เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2549 10:27 น. ()
แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2555 11:50 น. ()

• สมองมนุษย์เรียนรู้ ปรับตัว พัฒนา ได้ ตั้งแต่เกิด จนตาย     คนแก่ก็มีสมองที่คุณภาพดีได้
• เทคโนโลยีสื่อสารและสารสนเทศทำให้มนุษย์สมัยใหม่มีชีวิตแบบ “ถูกขัดจังหวะเป็นช่วงๆ”   ผมไม่ชอบชีวิตแบบนี้     จึงหาทางไม่ให้ถูกโทรศัพท์มากวนระหว่างประชุม    และพยายามบอกใครต่อใครว่าผมไม่นิยมคุยเรื่องงานระหว่างอยู่ที่บ้าน     ผมต้องการความสงบ เพื่อให้มีสมาธิในการพิจารณาไตร่ตรองเรื่องสำคัญๆ    
• ลีลาชีวิต (lifestyle) แบบถูกขัดจังหวะเป็นช่วงๆ และทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน (multitasking) ทำให้เกิดอาการ “ขาดสมาธิ” (attention deficit disorder - ADD)    ซึ่งเป็นโรคที่ระบาดมากในสังคมสมัยใหม่     ผมมองว่าคล้ายเป็นโรคประสาท หรือโรคจิตอ่อนๆ     คือเป็นคนเร่งรีบ  ลุกลี้ลุกลน  ไม่มีสมาธิ     บทความในนิตยสารไทม์ ฉบับวันที่ ๒๓ มค. ๔๙  บอกว่าคนในยุคปัจจุบันอยู่ในสภาพถูกขัดจังหวะเป็นช่วงๆ    กว่าจะฟื้นสมาธิกับชิ้นงานเดิมได้ก็ใช้เวลาอีกนาน หรือไม่ได้เลยในวันนั้น    การขัดจังหวะอาจโดยคนหรือเพื่อนร่วมงานที่เดินมาคุยเรื่องงานบ้าง เรื่องส่วนตัวบ้าง     อาจขัดจังหวะโดยโทรศัพท์ โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ    หรือบางคนตั้งคอมพิวเตอร์บนโต๊ะให้กริ่งเตือนเมื่อมี อี-เมล์ ใหม่เข้ามา     เมื่อได้ยินเสียงเตือนก็อดไม่ได้ที่จะต้องเปิดดู     จึงถูกขัดจังหวะเป็นช่วงๆ     ผลการวิจัยในสหรัฐอเมริกาบอกว่าโดยเฉลี่ยคนอเมริกันในกลุ่มที่ศึกษาเสียเวลาทำงานไปจาการถูกขัดจังหวะกว่าวันละ ๒ ชั่วโมง
• เขายกตัวอย่าง อัจฉริยะด้านการทำงานหลายคน และเอาบทสัมภาษณ์สั้นๆ มาลง      พบว่าคนเหล่านี้เป็นผู้ชำนาญด้านการทำงานหลายอย่าง (multitasking) ทั้งสิ้น    แต่ทำงานทีละอย่าง     มีสมาธิกับงานทีละอย่าง     ไม่ใช่ทำงานหลายๆ อย่างไปพร้อมๆ กัน    มีบางคนจัดระบบชีวิตไม่ให้มีคนมารบกวนในเวลาที่ตนต้องการสมาธิ    เช่นปิดโทรศัพท์มือถือเป็นส่วนใหญ่ คือเอาไว้ใช้โทรออก    ไม่ใช่เอาไว้ใช้รับโทรศัพท์เข้า    ผมเองก็นิยมทำเช่นนี้     เพราะผมชอบความสงบ ชอบการทำงานแบบมีแผน ไม่ชอบความเร่งรีบลุกลี้ลุกลน    ชอบความประณีต ลึกซึ้ง ไตร่ตรอง รอบคอบ     คือผมถือว่าการทำงานต้องเป็นการเรียนรู้     การทำงานที่ประณีต รอบคอบ ไตร่ตรอง เน้นคุณภาพ จึงจะเป็นการเรียนรู้ที่แท้จริง     การทำงานต้องให้อารมณ์ด้านบวก    ให้ความสนุก ตื่นเต้น ให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์    ให้ความเคารพนับถือซึ่งกันและกัน     ให้มิตรภาพที่ลึกซึ้ง ไม่ใช่มิตรภาพแบบผิวเผิน ลับหลังทิ่มแทง      ผมนิยมใช้การติดต่อแบบให้เวลาไตร่ตรอง คือทาง อี-เมล์   แฟกซ์   หรือจดหมาย     ไม่ชอบการติดต่อเรื่องที่ต้องคิดไตร่ตรองทางโทรศัพท์   
• การเลือกเวลาที่สมองมีพลังในการทำงานสร้างสรรค์    เป็นประเด็นที่ผมสนใจมาก    บทความเรื่อง Making the Most of Your Day ในนิตยสารดังกล่าว บอกว่าในช่วง ๒๔ ชั่วโมงของแต่ละวัน มีช่วงเวลา ที่สมองงัวเงีย   สมองแจ่มใสสำหรับกิจกรรมสร้างสรรค์  และช่วงสมองแจ่มใสสำหรับกิจกรรมแก้ปัญหา     โดยที่ขึ้นอยู่กันนิสัยด้านเวลานอนของแต่ละคน     คนเราแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ได้ ๒ กลุ่ม คือกลุ่มนกฮูก นอนดึก ตื่นสาย     กับกลุ่มไก่ นอนหัวค่ำ ตื่นเช้า    ทุกคนมีช่วงสมองงัวเงีย ๓ ช่วงในแต่ละวัน คือช่วงเพิ่งตื่นนอน  ช่วงบ่าย และช่วงก่อนนอน รวมเวลาประมาณ ๔ ๑/๒ ชม.     จึงไม่ควรทำงานสำคัญในช่วงเวลาดังกล่าว      แต่ความยาวของช่วงเวลางัวเงียของคนที่มีนิสัยนอนหัวค่ำ ตื่นเช้าแบบผม    ไม่เหมือนของคนที่มีนิสัยนกฮูก    คือพวกไก่พอตื่นนอนก็ขันเลย มีเวลางัวเงียหลังตื่นไม่ถึงชั่วโมง      แต่พอค่ำไก่ก็เริ่มงัวเงียแล้ว เป็นเวลาเกือบ ๒ ชม. ก่อนเข้านอน     และช่วงงัวเงียตอนบ่ายก็มาเร็ว ที่เวลาประมาณเที่ยงครึ่ง และงัวเงียอยู่เกือบ ๒ ชม.     ส่วนคนที่มีนิสัยแบบนกฮูกพอตื่นขึ้นมาก็ต้องมีเวลา “เผาหัว” อยู่ ๒ ชม. จึงจะเข้าสู่ช่วงสมองแจ่มใส ช่วงกลางวัน ยาวเพียงประมาณ ๓ ชม.  สลับด้วยช่วงงัวเงีย ๒ ชม. และช่วงสะสมพลัง ๓ ชม.   พอค่ำก็กลายเป็นผู้ทรงพลังไป ๕ ชม. รวด     ตามด้วยช่วงงัวเงียสั้นๆ ไม่ถึงชั่วโมง ก่อนจะหลับไป     รวมแล้วไม่ว่าจะเป็นคนประเภทนกฮูกหรือไก่ ต่างก็มีเวลาที่สมองแจ่มใส ๒ ช่วง รวมเป็นเวลาเพียงประมาณ ๘ ชม. ต่อวัน     ช่วงนอนหลับ ๘ ชม. ต่อวัน    และช่วงสมองงัวเงีย กับช่วงสะสมพลัง อีก ๘ ชม. เท่าๆ กัน    แต่การที่แต่ละคนรู้จัก (สมอง) ตนเอง และรู้จักใช้สมองให้เหมาะต่อลักษณะของงาน ตามช่วงเวลาที่สมองตื่นตัว หรืองัวเงีย    ก็จะทำให้สามารถใช้สมองทำงานให้เกิดคุณค่าและมูลค่าเพิ่มขึ้นได้มากมาย    นี่เป็นเรื่องวัฏจักรการใช้สมองใน ๒๔ ชม.    ยังมีวัฏจักรเป็นรายสัปดาห์อีก    แต่จะไม่เล่า
• กาแฟน่าจะมีผลต่อพลังสมอง   นอกจากทำให้ประสาทตื่นตัวแล้ว ยังมีหลักฐานว่าทำให้สมองดีขึ้น (ฉลาดขึ้น) ด้วย     อ่านเรื่องนี้แล้วคิดถึงสมัยอยู่ รร. เตรียมฯ (ปี พศ. ๒๕๐๑) อาจารย์สอนภาษาเยอรมัน ชื่ออาจารย์สมพงษ์ (พวกเราเรียกว่าอาจารย์เดวิด นิเวน เพราะผูกโบว์หูกระต่าย, ไว้หนวดแบบเดียวกันและชอบทำหน้าเลิกคิ้วแบบเดียวกัน) บอกนักเรียนว่าการกินเห็ดทำให้ฉลาด  

         ใครอยากฉลาดต้องกินเห็ดหูหนู    ทำให้พวกเราสั่งข้าวราดผัดเห็ดหูหนูกินกันใหญ่    ข่าวแบบนี้อาจทำให้กาแฟและกระทิงแดงขายดี    ผมเองไม่เชื่อเรื่องแบบนี้จนถือปฏิบัติ    เพราะว่าทุกอย่างมีคุณและโทษอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น    นั่นคือมีหลักฐานว่ากาแฟทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น    กาแฟจึงเป็นของแสลงสำหรับผม
• You (and your brain) are what you eat. Dr Andrew Weil แนะนำให้กินผัก กินปลา (เพื่อให้ได้ omega – 3)  และปรุงอาหารด้วยขมิ้นให้มาก    เรื่องขมิ้นนี้ผมกินยาลูกกลอนที่ผลิตจำหน่ายโดยสันติอโศก วันละ ๕ เม็ด    ตอนนี้มีเพื่อนทำขมิ้นแคปซูลเอง เอามาให้
• การปฏิบัติสมาธิภาวนา นอกจากช่วยลดความเครียด ยังช่วยทำให้สมองแจ่มใส    มีผลการวิจัยพบว่าการทำสมาธิทุกวัน วันละ ๔๐ นาที สมองส่วน cerebral cortex (ที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการตัดสินใจ  สมาธิ  และความจำ) จะหนาขึ้น     นักวิจัยด้านนี้หลายท่านเห็นพ้องกันว่าการปฏิบัติสมาธิภาวนาช่วยเพิ่มความสามารถในการพุ่งความสนใจไปที่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง (attention)     เวลานี้ในสหรัฐอเมริกา มีมากบริษัทขึ้นเรื่อยๆ ที่จัดบริการทำสมาธิให้แก่บุคลากรของตน  
• สมองของคนหนุ่มสาวยังมีข้อมูล/สารสนเทศบันทึกไว้น้อย    ช่วงวัยกลางคน (midlife – 35 - 65) เป็นช่วงที่สมองบันทึกข้อมูล/สารสนเทศไว้มากและมีความยืดหยุ่น และมีความสามารถในการเชื่อมโยงสารสนเทศได้ดีขึ้น    คือสามารถใช้สมองได้ทั่วทั้งสมอง    และใช้ข้อมูล/สารสนเทศเก่งขึ้น     มีหลักฐานจากงานวิจัย ว่าผู้สูงอายุที่สมองยังดี มีความสามารถในการใช้สมองทั้ง ๒ ซีกพร้อมๆ กันได้ดีกว่าคนหนุ่มสาว  
• มีความเข้าใจผิดกันมานาน ว่าสมองคนมีความสามารถสูงสุดเมื่ออายุ ๔๐    หลังจากนั้นสมองก็เสื่อมลงทีละน้อย    จนอายุ ๗๐ ความสามารถในการรับข่าวสารใหม่ก็เกือบจะหมดไป    ความเชื่อเช่นนี้ ทั้งจริง และไม่จริง     ที่ว่าจริง ก็คือเป็นสภาพที่เราเห็นกันอยู่    ที่ว่าไม่จริงก็คือสมองผู้สูงอายุยังคงมีความสามารถในการรับข้อมูลข่าวสารใหม่ได้    ไม่ได้เสื่อมไปจริงๆ     ผมตีความว่าการเรียนรู้ยาก หรือขี้หลงลืมของผู้สูงอายุเกิดจากขาดการ “ตกแต่ง” สมอง ในลักษณะเดียวกันกับการตกแต่ง (pruning) กิ่งไม้    การตีความนี้ นิตยสารไทม์ไม่ได้เขียนนะครับ    ผมปะติดปะต่อเอาเอง    จากหลักฐานว่าในขั้นตอนของพัฒนาการของสมองตอนอยู่ในท้องแม่และตอนเป็นทารก    เซลล์สมองไม่ใช่แค่เพิ่มจำนวน เพิ่มความซับซ้อน และเพิ่มเครือข่ายใยประสาท (neuronal network & synapse) เท่านั้น    สมองจะต้องผ่านกระบวนการ “ตัดต่อ/ตกแต่ง” เซลล์และเครือข่ายใยประสาท ด้วย     คือคล้ายๆ สมองต้องกำจัดขยะ ด้วย     ผู้สูงอายุที่ต้องการดำรงความสามารถของสมองเอาไว้    ต้องมีวิธีกำจัดขยะในสมองของคน    ทีนี้ความยากก็คือเราไม่สามารถถือเอาไม้กวาดกับที่โกยขยะไปดำเนินการโดยตรงได้     เราต้องใช้วิธีการทางอ้อม ที่จะทำให้สมองกำจัดขยะของตนเอง     ขอย้ำว่าเรื่องกำจัดขยะสมองนี้ผมตีความปะติดปะต่อเอง     ไม่รับประกันความถูกต้อง    แต่ผมเชื่อเช่นนี้ และยึดถือเป็นหลักปฏิบัติสำหรับตนเอง  
• การศึกษาติดตามพัฒนาการของคนแบบ longitudinal study โดยนักจิตวิทยาแห่ง UC Berkeley ชื่อ Ravenna Helson เริ่มจากปี คศ. 1958 ศึกษานักศึกษาหญิงอายุ ๒๑ ปีจำนวน ๑๔๒ คน ที่ศึกษาอยู่ใน Mills College, Oakland, California     โดยการสัมภาษณ์ และวัดบุคลิก   แรงจูงใจ (drive),  ทักษะด้านความสัมพันธ์  เป็นต้น   แล้วติดตามเมื่ออายุ ๒๗,  ๔๓,  ๕๒,  และ ๖๑    เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลง    พบว่าความสามารถด้านเหตุผล (inductive reasoning) ขึ้นสูงสุดในช่วงอายุ ๔๐ ถึง ๖๐ ต้นๆ     ความสามารถในการใช้จุดเด่น หลีกเลี่ยงข้อด้อย ของตน และความสามารถในการคิดอย่างซับซ้อน มองหลายมุม ขึ้นสูงสุดในช่วงอายุ ๕๐ – ๖๐    แสดงให้เห็นว่าสมองคนมีความสามารถในการเรียนรู้บางอย่างดีขึ้นในช่วงสูงอายุ     สะท้อนคุณสมบัติ plasticity ของสมองของผู้สูงอายุ 
• ความสามารถในการสร้างสรรค์ (creativity) มีส่วนที่เป็นพรสวรรค์น้อยมาก (มีคนบอกว่าเปอร์เซ็นต์เดียว)     เกือบทั้งหมดเป็นผลจากความเพียรพยายาม    อดทนไม่ย่อท้อ    หรือกล่าวให้ชัดเจน คุณสมบัติความเป็นคนสร้างสรรค์เป็นเรื่องที่ฝึกได้ เรียนรู้ได้

   คนที่สร้างสรรค์สูงอย่างมหัศจรรย์ มาจากการฝึกฝน ไม่ใช่เป็นมาโดยกำเนิด    นี่คือผลของการวิจัยจำนวนมากมายนะครับ    เป็นผลจากการวิจัยทำความเข้าใจสมองของมนุษย์ในเชิง neuroscience     ข้อสรุปนี้บอกเราว่าเราจะต้องช่วยกันพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศแบบกลับหลังหันโดยเร่งด่วน     ปล่อยไว้อย่างนี้ไม่ได้

วิจารณ์ พานิช
๓ กพ. ๔๙

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized 

ความเห็น

วันเพ็ญ
เขียนเมื่อ

คุณยายเป็นอัลไซเมอร์แล้วคนรอบข้างเจ็บปวด เพราะคุณยายจำใครไม่ได้เลย เหมือนเป็นอีกคนที่มาเกิดใหม่ในครอบครัวเราที่ต้องทำความรู้จักกันใหม่ทั้งหมด และท่านก็เสียไปโดยที่จำเรื่องราวที่ผ่านมาไม่ได้เลย เห็นบทความนี้เลยรีบเข้ามาอ่านเพิ่มข้อมูลค่ะ

พยายามที่จะทานอะไรต่อมิอะไรให้เป็นสายกลางเข้าไว้ ทานปลามากไปกลัวมีสารตะกั่ว ทานผักมากไปก็กลัวมีสารเคมีตกค้างจากยาฆ่าแมลงมาก ทานหมูก็กลัวสารเร่งเนื้อแดง ลูกชิ้นก็กลัวบอแร็กซ์ เกิดเป็นคนสมัยนี้ การบำรุงสมองด้วยสารสนเทศกลายเป็นเพิ่มความกลัวให้มากขึ้น แต่อย่างน้อยก็พอจะรู้วิธีตั้งรับนะคะ

ต่อไปนี้คงต้องทำสมองให้หนาขึ้นด้วยการนั่งสมาธิให้มากขึ้นด้วยแล้วค่ะ

MooTaro
เขียนเมื่อ

ธรรมชาติบำบัด เค้าว่าน่อ แต่ก็ไม่รู้ว่ามันจริงไหมอครับ เคยคุยกับอาจารย์ท่านหนึ่งเค้าบอกว่า วิถีทางของเราชาวตะวันออกสามารถที่จะบำรุงและสร้างภูมิคุ้มกันให้เราได้อะครับ อันนี้ผมก็อยากได้ความรู้เหมือนกัน


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท
ภาษาปิยะธอน (Piyathon)
เขียนโค้ดไพทอนได้ด้วยภาษาไทย