บันทึกฉบับนี้เกิดแรงดลใจเมื่อได้อ่านบันทึกฉบับหนึ่งของคุณชายขอบ
เป็นเรื่องที่เมื่อก่อนผมก็มองไม่ออกว่าบันทึกส่วนตัว หรือที่เรียกกันติดปากว่า "ไดอารี่" จะเอามาเป็นเครื่องมือ แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้อย่างไร?
แต่เมื่อมาทำงานที่ สคส. สิ่งหนึ่งที่กลับมาจากการทำงาน หรือการประชุมใดๆ หรือทำกิจกรรมอะไรมา ก็แล้วแต่ ต้องมาลงบันทึกย่อๆ ที่สร้างขึ้นในตาราง Excel ที่แสนจะธรรมดานี่เอง ทุกคนเข้าใจกติกาทำต่อๆกันเรื่อยมา ประโยชน์ของมันอย่างหนึ่งที่เห็นคือ ทุกคนในที่ทำงานเข้าไปดูได้ว่ามีอะไรที่ไหนเมื่อไร แต่ประเด็นว่าทำอย่างไรนั้นในรายละเอียดต้องไปคุยนอกรอบกับผู้บันทึกอีกที อีกอันหนึ่งที่ถูกหยิบไปใช้คือ ทุกครั้งของการประชุมคณะกรรมการนโยบาย สคส. ไดอารี่ประจำรอบช่วงเวลาระหว่างนั้น ก็จะถูกพิมพ์ออกมาประกอบในรายงานการประชุมด้วยทุกครั้ง คณะกรรมการก็เห็นว่าเราเคลื่อนไหวอะไรอย่างไร
ต่อมาเข้าสู่ช่วงพัฒนาที่สูงขึ้น รู้จัก Weblog ไดอารี่ไซเบอร์ เราก็เริ่มบันทึกเรื่องราวการทำงาน เรื่องราวส่วนตัว เรื่องราวบ้านเมือง เรื่องจิปาถะแล้วแต่ใครจะหยิบอะไรมาบันทึก ประมาณว่าใครจะนิราศอะไรก็ตามที่ผ่านมาแล้ว สิ่งที่ค่อยๆห่างออกไปกลายเป็นอดีต ทำให้เราเห็นลีลา ท่วงวาทีการเขียนที่แตกต่างกันไปของแต่ละคน สำหรับผมแล้วทำผมรู้จักอีกอย่างหนึ่ง คือ ความเป็นอิสระในการบันทึก
เมื่อใดที่ผมอยากมี อิสระที่จะคิด ที่จะเขียน ที่จะพูด ที่จะแสดง ผมก็จะต้องหาพื้นที่เล็กๆให้กับตัวเองเสมอเพื่อได้ถ่ายทอดรวบรวมเก็บไว้เป็นตัวหนังสือ เป็นรูปภาพ ไม่รู้เหมือนกันว่าเก็บเอาไว้จะเอาไปทำอะไรได้บ้าง อาจจะมีประโยชน์กับคนอื่นบ้างก็อาจเป็นได้ แต่นั่นต้องหมายความว่า คนอื่นต้องได้อ่านบันทึกของเรา หากย้อนดูประวัติศาสตร์เรื่องราวโดยละเอียดของโลกตะวันตกมักจะถูกเก็บเอาไว้ในไดอารี่ หรือบันทึกส่วนตัว การสืบค้นเรื่องราวได้จากตรงนี้เยอะพอสมควรเหมือนกัน บ้านเราก็มีแต่ไม่มากเท่าที่เขามี รายละเอียดมันจึงขาดหายไปเยอะ
พูดถึงอิสรภาพ ผมเชื่อว่า โดยสัญชาติญาณทุกคนมีสิ่งนี้ เช่น ผมรู้สึกอยากมีอิสระเมื่อตอนที่เริ่มเข้าโรงเรียน ป.1 แต่ตอนนั้นคงไม่รู้จักว่าอิสระคืออะไร ผมเริ่มรู้จักสมุดที่มีเส้นบรรทัด กับสมุดวาดเขียนที่ไม่มีเส้นบรรทัด ผมอยากมีสมุดที่ไม่มีเส้นแต่คงไม่ได้ เพราะ หนึ่ง ครูไม่อนุญาต สอง หาซื้อสมุดแบบนั้นไม่ได้ในสมัยนั้น ตอนนั้นถึงตอนนี้ผมก็ยังชอบสมุดที่ไม่มีเส้นบรรทัด ถึงแม้ว่าจะเขียนเอียงไปบ้างบางครั้ง เพราะบางที่ได้วาดรูปและเขียนปนไปด้วยกันมันไม่มีเส้นขวางให้บดบังบางอย่างที่เราต้องการเขียนได้ จนมีโอกาสได้เรียนต่อมหาวิทยาลัยเป็นยุคที่กระดาษ A4 สำหรับถ่ายเอกสารหาได้ง่ายขึ้น ผมเลือกที่จะใช้กระดาษ A4 บันทึกในชั่วโมงเรียนแล้วเอาไปรวบรวมเป็นเล่มอีกที ความชอบโดยส่วนตัวของคนเราจึงอาจจะไม่เหมือนกัน แต่พฤติกรรมบางอย่างของตัวเองทำให้เรารู้จักตัวเองในภายหลังว่า "ตัวตน" ของเรานั้นเป็นอย่างไร?
พูดถึง "เกณฑ์การให้รางวัล" กับ "เกณฑ์การเขียน" ดูเหมือนเป็นเครื่องมือที่จะเข้ามาจัดการอะไรบางอย่าง คำถามต่อไปก็คือ "ผมยังต้องการคงความเป็นอิสระของผมไว้ต่อไปหรือไม่?" หรือ "ผมยังต้องการคงความเป็นตัวตนของผมไว้ต่อไปหรือไม่?" ถ้าคำตอบว่า "ยังคงไว้ 100%" ผมก็จะทำต่ออย่างที่ผมชอบ แต่ถ้าคำตอบว่า "ยังคงไว้ส่วนใหญ่" ผมก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามเกณฑ์บ้างบางส่วน หรือ "เปลี่ยนไปตามเกณฑ์เลย" ก็เปลี่ยนยกเครื่องกันไปเลย แต่ในโลกความเป็นจริงบางครั้ง กฎเกณฑ์มันมาทิศทางเดียวกับที่เราเป็นอยู่ อย่างนี้ก็เข้าล็อก เข้าทางเราเลย แต่หลายครั้งมันไม่เป็นอย่างนั้น ก็ต้องย้อนคำถามกับตัวเองอย่างเดิม
แต่ที่ผมชอบประเด็นของคุณชายขอบ คือ (ผมตีความเอาเองนะครับ ถ้าไม่ตรงตามที่คุณชายขอบพยายามสื่อก็บอกด้วยนะครับ) "คนนำความรู้/ภูมิปัญญาที่ฝังลึกออกมาให้มากที่สุด" ตรงนี้ โดนใจ (หากมีปุ่มโหวต ผมก็จะกดแล้วครับ) เพราะผมเชื่อว่า ความรู้ฝังลึก ต้องอาศัย ความเป็นอิสระโดยธรรมชาติของมนุษย์ภายในจิตใจจริงๆ แล้วมันจะค่อยๆออกมา
อย่างน้อยที่สุด ผมรู้จักตัวเองจากการบันทึกเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่งว่า "ผมยังต้องการอิสระ มากกว่าสิ่งอื่นใด"