โอเพนซอร์ส


โอเพนซอร์สซอฟต์แวร์เป็นทางเลือกที่เป็นไปได้ มิใช่เป็นเรื่องน่ากลัวเหมือนที่มีการกล่าวถึงกัน กระแสทางเลือกของโอเพนซอร์ส เป็นเส้นทางหนึ่งที่หลายองค์กรต้องเริ่มให้ความสนใจ โดยเฉพาะในบางประเทศได้เริ่มดำเนินการในระดับนโยบายของประเทศ
ปัจจุบันการใช้โอเพนซอร์สซอฟต์แวร์กันมากมายและใช้งานได้ผลดี มีความเสถียรสูงมาก สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า โอเพนซอร์สซอฟต์แวร์เป็นทางเลือกที่เป็นไปได้ มิใช่เป็นเรื่องน่ากลัวเหมือนที่มีการกล่าวถึงกัน กระแสทางเลือกของโอเพนซอร์ส เป็นเส้นทางหนึ่งที่หลายองค์กรต้องเริ่มให้ความสนใจ โดยเฉพาะในบางประเทศได้เริ่มดำเนินการในระดับนโยบายของประเทศ เช่น ประเทศจีนได้มีนโยบายและการประกาศจุดยืนของตนเองเด่นชัดที่จะพัฒนาและนำแนวทางโอเพนซอร์สมาใช้

 

ขณะเดียวกัน คณะที่ปรึกษาทำเนียบประธานาธิบดีอเมริกัน หรือที่รู้จักกันในนาม PITAC (President's Information Technology Advisory Committee) ได้ทำข้อเสนอเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้คำแนะนำประธานาธิบดี หนึ่งในรายงานที่น่าสนใจคือ Repert to the President : Developing Open Source Software to Advance High End Computing ซึ่งเอกสารนี้สามารถหาดาวน์โหลดได้ที่ www.itrd.gov

ทำความรู้จักกับ "โอเพนซอร์ส"

"โอเพนซอร์ส" ตามความหมาย Open Source หมายถึง การเปิดเผยซอร์สโค้ด รหัสโปรแกรมที่ใช้ในการพัฒนาหรือเขียนโปรแกรม ในความหมายที่ใช้กันโดยทั่วไป ทางซอฟต์แวร์หมายถึงซอฟต์แวร์ที่ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์มีความตั้งใจที่จะเผยแพร่หรือแจกจ่ายไปให้บุคคลอื่นที่ต้องการโดยมีเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อตกลงยินยอม (licensing agreement) จากการกระจายแพร่หลายซอฟต์แวร์ที่พัฒนามาพร้อมกับอินเทอร์เน็ต และลีนุกซ์ ทำให้คำว่า "โอเพนซอร์ส" เป็นที่สนใจและแพร่หลายจนเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป และรับรู้ ซึ่งอาจจะนิยามและเข้าใจในรูปแบบของที่แจกจ่ายให้กับผู้ใช้ที่ต้องการด้วยรหัสที่ทำงานได้ (exccutable code) พร้อมกับซอร์สโค้ด (source code) ภายใต้ข้อตกลงยินยอมตาม (licensing agreement)

คุณสมบัติที่สำคัญของซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สประกอบด้วย

- การเข้าถึงซอร์สโค้ด โดยที่แจกจ่ายหรือการกระจายซอฟต์แวร์กระทำโดยการแนบซอร์สโค้ดร่วมกับไบนารีโค้ด การที่ให้ผู้ใช้หรือบุคคลอื่นเข้าถึงซอร์สโค้ดได้ เพื่อที่จะทำการปรับปรุง ใช้ประโยชน์ซอร์สโค้ดเพื่อการศึกษา ทำความเข้าใจ เรียนรู้เทคนิค ตลอดจนการเพิ่มเติมปรับปรุงฟังก์ชัน หรือบางส่วนของซอฟต์แวร์ได้เอง
- การมีข้อตกลงเกี่ยวกับสิทธิ (licensing agreement) ในการอนุญาตให้แจกจ่ายเผยแพร่ซอฟต์แวร์ที่เริ่มพัฒนาขึ้น และกระจายต่อเมื่อมีการปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นหรือเพิ่มเติม

ทำความเข้าใจในเรื่องลิขสิทธิ์

แนวทางการพัฒนาซอฟต์แวร์แบบโอเพนซอร์สเป็นแนวทางที่มีการพัฒนาได้สองแนวทางคือ แบบมีพิธีการกับแบบงานวัด
การใช้คำเปรียบเทียบแบบมีพิธีการ หมายถึง การพัฒนาซอฟต์แวร์แบบกระจาย แต่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการโดยตรงกับส่วนกลางส่วนหนึ่ง หรือองค์กรหนึ่ง การดำเนินการพัฒนาซอฟต์แวร์มีการใช้หลักการควบคุมเวลาการกระจายการทำงานแต่สามารถรวบรวมซอร์สโค้ด และการจัดการทดสอบกระทำอย่างมีระบบ มีผู้ดูแลที่ชัดเจน มีเจ้าของโครงการ การดำเนินการในลักษณะนี้ส่วนหนึ่งทำในรูปแบบที่อยู่ภายใต้โครงการนักวิจัยในมหาวิทยาลัย หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง โดยเห็นรูปแบบการพัฒนาที่เป็นจุดเด่น และผลลัพธ์ต้องการเผยแพร่
อีกรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า แบบงานวัด หรือตลาดนัด เป็นแบบที่กระจายตัวซอฟต์แวร์ไปยังสังคมกลุ่มโอเพนซอฟต์แวร์ไปยังสังคมกลุ่มโอเพนซอร์สโค้ดที่ใครจะเข้ามาช้อปปิ้งเพื่อลองนำไปใช้และเข้าใจจุดมุ่งหมาย จากนั้นก็พัฒนาต่อให้ดีขึ้น โดยใช้ความรู้ความสามารถของแต่ละคนเข้ามาร่วมกันนำไปใช้และพัฒนาต่อ การดำเนินการจึงไม่สามารถควบคุมเรื่องเวลาและเป้าหมายที่ชัดเจนได้ การทำงานจึงเหมือนกับอาสาสมัครที่เข้ามาช่วยกันในงานวัด
เมื่อการพัฒนาโอเพนซอร์สซอฟต์แวร์เกิดขึ้นจากกลุ่มคนจำนวนมาก เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วลิขสิทธิ์จะเป็นอย่างไร 
ริชาร์ด สตอลแมน เป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทที่สำคัญมากในเรื่องของคำว่าโอเพนซอร์ส เขาได้ก่อตั้งองค์กรหนึ่งชื่อ FSF - Free Software Foundation ในปี ค.ศ. 1983 ด้วยเหตุผลที่ว่า ธุรกิจซอฟต์แวร์ทำขึ้นเพื่อการค้าจะเป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการพัฒนาซอฟต์แวร์ เพราะการพัฒนาที่ไม่เปิดเผยซอร์สโค้ด และการที่มีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ต่าง ๆ ทำให้การพัฒนาซอฟต์แวร์ต้องติดขัดและขาดความก้าวหน้า เขาจึงเสนอรูปแบบการพัฒนาและลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ที่เป็นแนวความคิดให้ และให้ชื่อว่า GPL - General Public License โดยมีองค์กรที่เขาเป็นผู้ก่อตั้งให้มาเป็นผู้พิจารณาและดูแลในเรื่องกฏหมาย
เขาได้เริ่มโครงการโดยที่เอาซอฟต์แวร์มาเผยแพร่โดยใช้ชื่อโครงการว่า กะนู GNU (www.gnu.org) ซึ่งเป็นที่มาของซอฟต์แวร์ที่เป็นเครื่องมือในการพัฒนาซอฟต์แวร์ต่อไปอีกหลายตัว และหนึ่งในที่รู้จักดีคือ GNU C ซึ่งเป็นคอมไพเลอร์ที่ใช้กันมาก

 

เริ่มแรกที่เขาใช้เรียกว่า ฟรีซอฟต์แวร์ (Free Software) แต่ทำให้คนเข้าใจไขว้เขวในเรื่องลิขสิทธิ์ ต่อมาเขาจึงเปลี่ยนเสียใหม่และใช้ชื่อว่า โอเพนซอร์ส (Open Source)
โดยที่คนส่วนใหญ่เข้าใจคำว่า ฟรี หมายถึง ไม่มีลิขสิทธิ์ซึ่งไม่ถูกต้อง และไม่ใช่แนวทางที่เขาต้องการ เพราะเขาให้ความหมายของคำว่า ฟรี คือ อิสระ เสรีภาพในการที่จะยินยอมให้ผู้อื่นใช้งาน ทำการคัดลอก แจกจ่าย และได้สิทธิ์อื่น ๆ เช่น การพัฒนาต่อเนื่อง
GPL จึงมีลิขสิทธิ์และเป็นลิขสิทธิ์แบบ GPL ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ที่ถูกต้องตามกฏหมาย และมีกฏหมายรองรับ แต่มีข้อแตกต่างกับลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ เพื่อการค้าอื่นคือ GPL ให้สิทธิแก่ผู้ใช้มากกว่า เพราะให้สิทธิ์ในการใช้ทำสำเนา ในการแจกจ่ายต่อ หรือได้ซอร์สโค้ดมาเพื่อพัฒนาแก้ไขดัดแปลง ไม่ว่าการกระทำพื้น ๆ มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษา หรือเพื่อธุรกิจเชิงพาณิชย์ แต่ได้เน้นข้อพิเศษไว้คือ ห้ามเปลี่ยนแปลงหลักการ เงื่อนไข หรือข้อตกลงใด ๆ ที่กำหนดไว้ในซอฟต์แวร์ที่ใช้ลิขสิทธิ์แบบ GPL กล่าวคือ ถ้าผู้ใช้นำลิขสิทธิ์แบบ GPL ไปใช้ และพัฒนาต่อต้องคงลิขสิทธิ์แบบ GPL ไปใช้ และพัฒนาต่อ ต้องคงลิขสิทธิ์แบบ GPL ไว้ต่อไป ทั้งนี้นั้นเป็นข้อดีที่เป็นแนวความคิดที่ป้องกันไว้ในกรณีที่บุคคลต่อไปจะไปสร้างสิทธิหรือจำกัดสิทธิ์แก่ผู้อื่นที่เปลี่ยนไปจากเดิม

โอเพนซอร์สซอฟต์แวร์มีบทบาทและความสำคัญอย่างไร

หากมองย้อนไปในอดีตถึงความสำเร็จของอินเทอร์เน็ตที่ทำให้มีผู้คนได้รับประโยชน์มากมายมหาศาล และลองตั้งคำถามดูว่า ทำไมอินเทอร์เน็ตจึงประสบความสำเร็จ
คำตอบที่เด่นชัด คงจะได้รับว่าเป็นเพราะโอเพนซอร์สโค้ดซอฟต์แวร์ ทั้งนี้เพราะเมื่อครั้งมีการพัฒนาอินเทอร์เน็ต TCP/IP มีเทคโนโลยีที่เป็นระบบปิดอีกหลายเทคโนโลยี เช่น SNA, DECNET รวมถึงเน็ตเวิร์กแบบอื่น ๆ อีกมาก แต่เนื่องจากอินเทอร์เน็ตได้รับแรงหนุนจากกลุ่มผู้พัฒนาในมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่ได้เน้นในเรื่องทางการค้าเป็นหลัก และได้รับการสนับสนุนโดยมูลนิธิการศึกษาวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐ (NSF) ขณะเดียวกันมียูนิกซ์หลายตัวในยุคแรก เช่น BSD Unix ที่ทำในรูปแบบโอเพนซอร์ส ทำให้บนเครือข่ายใช้ยูนิกซ์ BSD หลังจากนั้นก็มีโปรแกรมแบบโอเพนซอร์สที่มีบทบาทที่สำคัญตามมาอีกหลายโปรแกรม เช่น GNU C คอมไพเลอร์ที่ได้รับความนิยมสูงในหมู่ผู้พัฒนาโปรแกรม การพัฒนาระบบยูนิกซ์ทำให้เกิดการพัฒนาโปรแกรม BIND ซึ่งเชื่อมโยงระบบ DNS ของทั่วโลกเข้าด้วยกันทำให้อินเทอร์เน็ตที่ใช้ในปัจจุบัน ใช้ระบบฐานข้อมูล DNS แบบร่วมกัน ซึ่งก็เป็นส่วนของโอเพนซอร์ส ในยุคแรกมีความสำเร็จของโปรแกรมโอเพนซอร์สที่กระจายอยู่บนอินเทอร์เน็ตและใช้มาถึงปัจจุบันคือ ระบบอีเมล์ ที่มีโปรแกรม Sendmail มีโปรแกรมเอดิเตอร์ที่รู้จักกันดีคือ EMAC โปรแกรมการสร้างเอกสารที่มีประโยชน์มากในการสร้างเอกสารที่เป็นต้นแบบของยุคปัจจุบันในเรื่อง tag คือโปรแกรม Tex ยิ่งในระยะหลังเมื่อ www กระจายตัวมากขึ้น การสร้างเว็บเซิร์ฟเวอร์ก็มีโปรแกรมโอเพนซอร์ส ช่วยทำให้ฐานของเว็บกระจายเร็วยิ่งขึ้น

ลีนุกซ์ ตัวอย่างความสำเร็จของโอเพนซอร์สอีกตัวอย่าง

ไลนิส โทรวอลดิส์ (Linus Torvalds) ซึ่งเป็นที่รู้จักดีว่า เขาเป็นผู้เริ่มต้นความคิดในการพัฒนาระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ เขาเริ่มพัฒนาลีนุกซ์โดยใช้ชื่อว่า Minix ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการอยู่บนเครื่อง X86 โดยเริ่มกระจายออกในปี ค.ศ. 1991 โดยที่ไลนิสต้องการให้ระบบปฏิบัติการของเขาเป็นระบบปฏิบัติการที่ผู้คนอื่นมาดาวน์โหลดนำไปใช้งาน เข้าถึงซอร์สโค้ด แก้ไขหรือพัฒนาในส่วนที่ตนเองต้องการได้ โดยที่ต้องไม่ขึ้นกับบริษัทผู้ผลิตเชิงพาณิชย์ใด ๆ เมื่อเขาเผยแพร่ออกไปปรากฏว่าถูกใจกลุ่มบุคคลจำนวนมากจึงมีบุคคลจากทั่วโลกหันมาให้ความร่วมมือกับไลบิล ในการพัฒนาโอเอสใหม่นี้ และตั้งชื่อว่า Linux
ผลปรากฏว่าระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ได้แพร่หลายและใช้งานกว้างขวางอย่างรวดเร็วเกินคาด โดยมีการกระจายการพัฒนาไปยังแพล็ตฟอร์มอื่น ๆ นอกจากของอินเทล x86 เช่น Power PC Macintosh SunSParc ARM เป็นต้น ซึ่งนับว่าได้สร้างบทบาทที่สำคัญต้องการโอเพนซอร์สและชี้นำให้เห็นว่าแนวทางการพัฒนาแบบโอเพนซอร์สประสบความสำเร็จได้
ลีนุกซ์ เป็นซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์แบบโอเพนซอร์สตามแนวคิดแบบ GPL ซึ่งมีการแจกจ่ายกระจายได้เต็มที่ โดยที่ผู้รวบรวมและพัฒนาต่อสามารถเพิ่มเติมส่วนของตนเองลงไปได้ และให้ดาวน์โหลดได้ทางอินเทอร์เน็ตโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือถ้าจำหน่ายก็จะจำหน่ายเฉพาะส่วนก็ต้องทำขึ้นมา เช่น การผลิตซีดีรอม การให้คำปรึกษาในการติดตั้ง หนังสือคู่มือ หรือการบริการอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ใช้ใช้งานได้รวดเร็วขึ้น
เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมีผู้ทำหน้าที่เป็นตัวกระจายลีนุกซ์หรือพัฒนาเพิ่มเติมหลัก ๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะสามารถดำเนินกิจกรรมการให้บริการประกอบ การสร้างลีนุกซ์จึงมีหลายค่าย เช่น Red Hat, Slackwase, Mandrake, Corel, Turbo แม้แต่ในประเทศไทยก็มี เช่น ของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ที่เป็นแกนในการพัฒนาลีนุกซ์ไทย
จากข้อดีเด่นในเรื่อง ซอฟต์แวร์แบบโอเพนซอร์ส เช่น ลีนุกซ์นี้จึงทำให้ได้ซอฟต์แวร์ราคาถูก มีผู้พัฒนาต่อเนื่องและส่งผลดีให้ได้ของดีราคาถูก ผู้ใช้สามารถหาผู้ให้บริการต่าง ๆ ที่มาสนับสนุนการใช้งานได้ โดยเฉพาะมีผู้สร้างกิจกรรมการให้บริการ โดยคิดเฉพาะค่าบริการโดยไม่ต้องเสียค่าซอฟต์แวร์มันเป็นแนวทางที่ช่วยกัน ทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์อีกทางหนึ่ง

อนาคตของโอเพนซอร์ส

ทุกวันนี้เกือบทุกองค์กรเริ่มตระหนักและเห็นจริงแล้วว่า ค่าใช้จ่ายทางด้านซอฟต์แวร์แนวโน้มที่จะสูงขึ้น อีกทั้งวงจรชีวิตของซอฟต์แวร์ที่ใช้งานอยู่นี้มีวงจรชีวิตที่สั้นมาก ซอฟต์แวร์ที่จัดซื้อหามาด้วยราคาแพง มีวงจรชีวิตเพียงแค่ไม่เกินสองปีต้องอัพเกรดหรือปรับเปลี่ยนรุ่นใหม่ หรือต้องซื้อหาสิทธิ์มาใช้ใหม่ การดำเนินการในเรื่องการใช้ซอฟต์แวร์จึงเป็นต้นทุนที่เป็นปัญหาใหญ่ตามมา
องค์กรหลายองค์กรจึงต้องหันมาทบทวนและดูว่ามีการลดค่าใช้จ่ายในเรื่องเหล่านี้ได้อย่างไร หากพิจารณาที่เซิร์ฟเวอร์ที่ใช้กันบนอินเทอร์เน็ต ทั้งเมล์เซิร์ฟเวอร์ เว็บเซิร์ฟเวอร์ หรือเซิร์ฟเวอร์บริการอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งพบว่ามีการใช้โอเพนซอร์สซอฟต์แวร์กันมากมาย และใช้งานได้ผลดี มีความเสถียรสูงมาก สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า โอเพนซอร์สซอฟต์แวร์เป็นทางเลือกที่เป็นไปได้ มิใช่เป็นเรื่องน่ากลัวเหมือนที่มีการกล่าวถึงกัน
ครับก็อยากให้องค์กรทางธุรกิจในประเทศไทยลองหันมาทบทวนและสร้างบทบาทหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนแนวทางของโอเพนซอร์สให้อยู่คู่กับการใช้คอมพิวเตอร์ต่อไป อย่างน้อยก็เพื่อพวกเราที่เป็นผู้ใช้ที่มีกำลังทรัพย์ต่ำ และยังมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาเพื่อให้แข่งขันกับต่างประเทศได้
คำสำคัญ (Tags): #โอเพนซอร์ส
หมายเลขบันทึก: 162720เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2008 15:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท