การจัดการความรู้กับการสร้างเสริมสุขภาพ


การจัดการความรู้กับการสร้างเสริมสุขภาพ


          เสร็จจากการประชุม UKM เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.48   ผอ. และรอง ผอ. สถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ  มน.   คือ อ. นพ. องอาจ  เลิศขจรสิน   กับ ผศ. นพ. สุรชาติ   พจนสุภาวรรณ์   นัดเลี้ยงอาหารเที่ยงที่ เรน  ฟอเรสต์   ริมลำน้ำเข็ก   บรรยากาศสดชื่น   น้ำเต็มฝั่ง   เสียงน้ำไหลให้ความรู้สึกมีชีวิตชีวา   และอาหารอร่อย


          อ. หมอสุรชาติเอาโครงการจัดการความรู้ของสโมสรนิสิต  มน.  มาให้ดูเชิงปรึกษา   ชื่อ “โครงการสร้างเครือข่ายภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยเพื่อการเสริมสุขภาพ   โดยการจัดการความรู้” 


วัตถุประสงค์ของโครงการ   ได้แก่
1.      เพื่อขยายเครือข่ายและแกนนำในการสร้างเสริมสุขภาพ
2.      เพื่อให้นิสิตและประชาชนทั่วไปตระหนักและเข้าใจถึงความสำคัญในการสร้างเสริมสุขภาพ
3.      เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการจัดโครงการด้านการส่งเสริมสุขภาพ   เพื่อให้เกิดโครงการที่เหมาะสมกับชุมชนนั้น ๆ
4.      เพื่อให้เกิดโครงการสร้างเสริมสุขภาพที่จะทำให้เกิดสุขภาวะที่ดีของประชาชนในพื้นที่นั้น ๆ


         นิสิตคิดทำเรื่องที่ยิ่งใหญ่เป็นประโยชน์แก่สังคมเช่นนี้   เป็นเรื่องน่าชื่นชม   ผมจึงร่วมแจมด้วย   โดยเสนอวิธีการดำเนินการทำนองนี้   แค่เสนอเพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นนะครับ   อาจเป็นข้อคิดเห็นที่เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมก็ได้


          วิธีคิดที่สำคัญของ KM คือ “ความรู้มีอยู่แล้ว”   ไม่ว่าจะคิดพัฒนาเรื่องอะไร   ให้ตระหนักว่าความรู้เพื่อการพัฒนาเรื่องนั้นมีอยู่แล้ว   หรือมีอยู่บ้างแล้วในกลุ่มพวกเราหรือกลุ่มเป้าหมาย   ดังนั้นในกลุ่มเป้าหมายเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพภายในมหาวิทยาลัย (เช่นนิสิต   ข้าราชการ  อาจารย์) ก็จะมีคนที่สุขภาพดี   แสดงว่าเป็นคนที่มีพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพเหมาะสม   คณะผู้ดำเนินการโครงการตั้งเกณฑ์วัดสุขภาพ   และเกณฑ์พฤติกรรมสุขภาพ   แล้ววัดคนในกลุ่มเป้าหมาย   แยกคนเป็นกลุ่ม 10% บน   กับกลุ่ม 10% ล่าง   ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนที่มีสุขภาพดี   และ/หรือมีพฤติกรรมสุขภาพดี   กับกลุ่มคนทีมีปัญหาสุขภาพหรือมีพฤติกรรมสุขภาพไม่เหมาะสมอย่างชัดเจน   เอาคน 2 กลุ่มนี้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันแบบ storytelling และสกัด “ขุมความรู้” ในการสร้างเสริมสุขภาพของตนเองออกมาบันทึกไว้   และเผยแพร่


          การเผยแพร่   ต้องเผยแพร่ทั้ง “ขุมความรู้” และ “แก่นความรู้” เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ   และต้องไม่ลืมเผยแพร่เรื่องเล่าดี ๆ และผู้เป็นเจ้าของเรื่องเล่านั้นด้วย
         


          หลังการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคน 2 กลุ่ม   ก็ให้คนทั้ง 2 กลุ่มกลับไปดำเนินการปรับปรุงชีวิตของตน   ให้มีการสร้างเสริมสุขภาพมากขึ้น   อาจมีการจัดกิจกรรมเสริมเพื่อช่วยให้การเปลี่ยนพฤติกรรมเกิดง่ายขึ้น   และทุก ๆ 6 เดือนมีการตรวจวัดสุขภาพตามเกณฑ์   หาคนที่สุขภาพดีขึ้นอย่างน่าแปลกใจ   กับกลุ่มที่สุขภาพไม่ดีขึ้นเลยหรือเลวลง  เอาคน 2 กลุ่มนี้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันโดยการเล่าเรื่องและสกัด “ขุมความรู้” ซ้ำอีก   ทำเช่นนี้หมุนเวียนเรื่อยไปเป็นระยะยาว   ควรเป็นเวลา 2 – 3 ปี   จะได้ผลหลายต่อ   จากความรู้ที่ได้อาจเชิญนักวิทยาศาสตร์ด้านการสร้างเสริมสุขภาพมาศึกษาทำความชัดเจนในเชิงวิจัย   ก็จะยิ่งยกระดับความรู้เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพขึ้นไปอีก


                                                                                      วิจารณ์  พานิช
                                                                                        26 มิ.ย.48
                                                                                          พิจิตร


         

หมายเลขบันทึก: 1618เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2005 08:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 12:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท