สิ่งที่เกิดเป็นข้อคิด ไว้เตือนตนเองแก่ดิฉันก็คือ เรื่อง "การยึดติด" เช่น การยึดติดกับวิธีการ การยึดติดอยู่กับดัชนีชี้วัด การยึดติดอยู่กับกฎ/กติกา การยึดติดอยู่กับความเชื่อ ก่อให้เกิดผลลัพธ์ทั้งที่ดี และไม่ดี ได้ ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยหลายๆอย่าง ณ เวลานั้นๆ ต้องใช้ความคิดวิจารณญาณไตร่ตรองให้รอบคอบ พิจารณาสิ่งที่เป็นนามธรรม ซึ่งวัดไม่ได้ ร่วมกับคุณธรรม ด้วยทุกครั้ง
หนึ่งในวันหยุดหลายวันที่ผ่านมา นิสิตของดิฉัน ต้องมาสอบภาคปฏิบัติในวิชาที่ตั้งวัตถุประสงค์ไว้ว่า เมื่อนิสิตเรียนจบในหัวข้อดังกล่าวแล้ว ต้องทำ....ได้ นิสิตทั้ง 50 คน สอบเรียงตัวทีละคน ทีละคน เพื่อแสดงให้เห็นว่าทำได้จริง ในการประเมินผล เนื่องจากอาจารย์ผู้ประเมิน มีหลายท่าน จึงต้องสร้าง ตัวชี้วัดผลการปฏิบัติ เป็นข้อๆ รวมทั้งหมด 6 ข้อ เพื่อถือเป็นเกณฑ์เดียวกัน หวังไว้ว่าอาจารย์จะได้เป็นไม้บรรทัดที่มีสเกลการวัดเท่าๆ กัน และก่อนสอบนิสิตทุกคนก็ทราบกติกานี้เป็นอย่างดี
เหตุการณ์ก็ผ่านไปด้วยดี จนกระทั่ง เมื่อดิฉันกลับมาที่พักแล้วเปิด mail เช็คข่าวตามปกติ ปรากฎว่าดิฉันได้รับ mail จากลูกศิษย์ที่เพิ่งจากกันมาหยกๆ ส่งมาระบายความในใจว่า รู้สึกไม่สบายใจเลยที่ทำผิดในหลายๆ จุด ซึ่งไม่น่าผิด แต่เป็นเพราะตื่นเต้นมาก (คงกังวลใจว่าจะได้คะแนนน้อย เพราะปกติเธอเป็นคนที่ตั้งใจเรียนดี)
ก็แน่ละ ถ้าดิฉันใช้เกณฑ์ทั้ง 6 ข้อ ดังกล่าวข้างต้น เช็คแยกเป็นข้อๆ เธอจะได้คะแนนน้อยมาก แต่ดิฉันก็ได้ตอบเธอไป ดังนี้
ดีใจมากจ๊ะ ที่หนูเขียนระบายความไม่สบายใจมาให้อาจารย์ฟัง เมื่อระบายแล้วก็ขอจงสบายใจได้ เพราะการสอบครั้งนี้ เป็นเสมือนการเรียนรู้อย่างหนึ่ง สอบแล้ว ก็ได้เรียนรู้ว่า การลงมือปฏิบัติจริงนั้นต่างจากการอ่านและเรียนรู้จากหนังสือมากมายนัก
หากให้อาจารย์ประเมินลูกศิษย์โดยภาพรวมในวันนี้ อาจารย์ขอแบ่งเป็น 4 ประเภท คือ
ประเภทที่ 1 เป็นคนมีความมั่นใจและมีความรู้
ประเภทที่ 2 เป็นคนมีความมั่นใจแต่มีความไม่รู้
ประเภทที่ 3 เป็นคนมีความไม่มั่นใจแต่มีความรู้
ประเภทที่ 4 เป็นคนมีความไม่มั่นใจและมีความไม่รู้
ซึ่งแบบที่ 2 และ 4 เป็นแบบที่ต้องสอบซ้ำ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีความไม่มั่นใจในกรณีของการสอบในวันนี้ เหมือนเด็กขี่จักรยานครั้งแรก กลัวล้มแล้วเจ็บ ซึ่งนับเป็นเรื่องธรรมดา ความกลัวทำให้เกิดความไม่มั่นใจ ต่อไป ถ้าได้ทำบ่อยๆ ความกลัวหาย ปัญญาก็จะเกิด และเกิดจากการปฏิบัติผสมกับความรู้ที่มี
สิ่งที่หนูทำผิดพลาดไปบ้างในวันนี้ อาจารย์ทราบดีค่ะว่า เกิดจากความตื่นเต้นมากกว่าความไม่รู้ ไม่เป็นไร ตั้งใจเรียนต่อไป เรียนเพื่อรู้ ไม่เพียงเรียนเพื่อคะแนน อาจารย์เป็นกำลังใจให้ตลอดเวลา....
นิสิต คนดังกล่าว เป็นผู้ที่ไม่ต้องสอบซ้ำในวันดังกล่าว อย่างน้อยเธอก็สบายใจได้ว่า เธอไม่ใช่คนที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ 4
เอาเข้าจริง ในสถานการณ์เฉพาะหน้า ดิฉันก็จำจะต้องปรับเปลี่ยนกฎกติกาบางอย่าง ตามที่ดิฉันเห็นควรว่าน่าจะดีกว่าที่เคยคิดไว้ นั่นคือ เกณฑ์การให้คะแนนของดิฉันไม่ได้ยึดตายตัวตามที่ระบุไว้ข้างต้น ว่าผิดข้อนึงหัก 10 คะแนน ซึ่งมีให้หัก 6 ข้อ ไปจนครบ 60 คะแนน ถ้าขืนเถรตรงอย่างนั้น การประเมินผลคราวนี้คงทำให้เด็กดีหลายคนหมดกำลังใจ และเด็กกล้าแก่น แต่ไม่ตั้งใจเรียนบางคนรอดตัวไปได้
สิ่งที่เกิดเป็นข้อคิด ไว้เตือนตนเองแก่ดิฉันก็คือ เรื่อง "การยึดติด" เช่น การยึดติดกับวิธีการ การยึดติดอยู่กับดัชนีชี้วัด การยึดติดอยู่กับกฎ/กติกา การยึดติดอยู่กับความเชื่อ ก่อให้เกิดผลลัพธ์ทั้งที่ดี และไม่ดี ได้ ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยหลายๆอย่าง ณ เวลานั้นๆ ต้องใช้ความคิดวิจารณญาณไตร่ตรองให้รอบคอบ พิจารณาสิ่งที่เป็นนามธรรม ซึ่งวัดไม่ได้ ร่วมกับคุณธรรม ด้วยทุกครั้ง
หลายต่อหลายครั้ง ในคราวที่ดิฉันมีโอกาสทำหน้าที่เป็นผู้ประเมินคุณภาพการศึกษาของหน่วยงานต่างๆ ภายใต้คะแนนที่ดิฉันตัดสินใจให้แต่ละครั้งจึงมีสิ่งที่วัดไม่ได้รวมอยู่ในผลการประเมินด้วยเสมอ