วันนี้เป็นการประชุมประจำเดือนของทีมงานนักวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหว้ดสมุทรสงคราม ที่ตำบลแพรกหนามแดง ประกอบด้วยนักวิจัยจากชุมชนแพรกหนามแดง
นักวิจัยจากชุมชนคลองโคนซึ่งศึกษาเรื่องชุมชนกับการจัดการป่าชายเลน
นักวิจัยจากชุมชนบางพรม ศึกษาเรื่องการฟื้นฟูความสัมพันธ์ของคนในชุมชน
ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดสมุทรสงคราม เยาวชนคนรักแม่กลอง และโครงการฟื้นฟูปูแสม
เริ่มเปิดการประชุมโดยคุณธเนศแนะนำโครงการใหม่ ที่อาจารย์พีระชัย จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังเป็นพี่เลี้ยงโครงการ ได้นำเสนอโครงการศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนบางปรงจังหวัดสมุทรปราการ ความเด่นของโครงการนี้คือเป็นโครงการในพื้นที่กึ่งเมืองมีความต้องการที่จะร่วมกันทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นทั้งผู้ใหญ่และเยาวชนในชุมชน
เวทีช่วยกันดูโครงการและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ซึ่งนักวิจัยใน Node ได้ช่สยกันเล่าถึงประสบการณ์ของตนเอง โดยบอกเป็นทางลัดไว้ให้โครงการน้องใหม่ได้เรียนรู้ และที่สำคัญนักวิจัยของทีมงานสมุทรสงครามเก่งๆ กันทุกโครงการ
ช่วงบ่าย ทาง Node ต้องการให้นักวิจัยแลกเปลี่ยนประเด็นปัญหาที่สำคัญคือ
1. เพราะเหตุใดช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ทำไมงานวิจัยของแต่ละโครงการจึงไม่มีการเคลื่อนไหว
2. ให้แต่ละโครงการช่วยสะท้อนภาพที่เกิดขึ้น และภารกิจในอีก 6 เดือนข้างหน้า
สิ่งที่น่าตกใจคือ หน่วยงานต่างๆ เข้าไปในพื้นที่มาก "ความเข้มแข็งของชุมชน"มีความสำคัญมากในการที่จะเลือกในการรับหรือปฏิเสธสิ่งต่างๆ เหล่านั้น แต่ส่วนมากมีเรื่องของความสัมพันธ์ในเชิงอำนาจ ความสัมพันธ์ของเครือญาติ ทำให้การปฏิเสธทำได้ไม่เต็มที่นัก
หน่วยงานต่างๆ มักจะให้ความสนใจกับชุมชนที่"ประสบความสำเร็จ" ในการจัดการชุมชน มีชาวบ้านที่เข้มแข็งในเวทีที่สามารถยืนยันสิทธิของตนเอง และเรียกร้องสิทธิของตนเองได้
แต่การเข้าไปของหน่วยงานที่เข้าไป"ให้เงิน" กลับสร้างปัญหาความแตกแยกให้กับชุมชน อาจจะเป็นเพราะภูมิคุ้มกันและการให้วัคซีนยังไม่มากพอ ประกอบกับนโยบายต่างๆ ที่รุมเร้าเข้าไปสู่ชุมชนโดยมีเงื่อนไขของหน่วยงานที่ต้องการ"ผลงาน"
นอกจากปัญหาชุมชนแล้วเรื่องของ"นักวิจัยเด่น" ก็เป็นปัญหาขึ้นมาได้อย่างไน่เชื่อ
"พี่ปัญญา โตกทอง" นักวิจัยโครงการการจัดการน้ำ นั้นเป็นความโดดเด่นของแพรกหนามแดงทั้งเรื่องของการคิด การวิเคราะห์ และการใช้งานวิจัยเป็นวิถีชีวิต ตั้งแต่โครงการโด่งดังพี่ปัญญาก็ "เดินสาย" เป็นวิทยากรบรรยายทั่วประเทศ แต่งานในพื้นที่ ประสบปัญหาการขาดการดำเนินงานต่อ ชุมชนเองก็ตั้งคำถาม เป็นเรื่องที่ใช้เวที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ดีมากเพราะเวทีมีความเป็น"กัลยาณมิตร" ช่วยกันมองและหาทางออกของ"ปัญหา"
เสน่ห์ของเวทีและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้คือวงสนทนา มีประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่สำคัญมาก ออกมาจาก"พี่ชาติ" ทีมเยาวชน ซึ่งพูดถึงเรื่อง"งานวิจัยคือชีวิตไว้ว่า" ถ้าไม่มี "สกว." ไม่มีเงื่อนไขการขอรับเงินทุนสนับสนุนจากสกว. (เพราะขณะนี้เงินไหลมาจากหลายทางมากแต่ขาดการจัดการที่ดี) ชุมชนสามารถดำเนินการต่อด้วยตนเองได้ไหม หรือถ้าทีมวิจัยมีปัญหามากในการที่เวลาเป็นตัวเร่งว่าต้องสรุปโครงการและรายงานส่งแต่คนส่วนใหญ่ในโครงการและในชุมชนยังไม่"ตกผลึก"ทางความคิด การทำงานแนวคิดยังไม่บรรลุผล "ชุมชน" ไม่ต้องการให้เงินมาเป็นตัวเร่ง แต่ขอสนับสนุน"กระบวนการ" และแนวทางหนุนเสริมวิธีคิด จะเป้นไปได้หรือไม่ในอนาคต
เท่านั้นเอง แสงสว่างของความเจริญรุ่งเรืองก็บรรเจิดขึ้นบนเวที เพราะถ้าชุมชนใดสามารถยืนหยัดด้วยตนเองได้จริง การรับมือกับปัญหาต่างๆ ก็ไม่ยากเลยในอนาคต
แสดงว่า"กระบวนการ KM " ต้องลงถึงชุมชนจริงๆ และเป็นเครื่องมือให้ชาวบ้านได้ใช้ด้วยตนเองได้ในอนาคต ประเทศไทยน่าจะได้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ได้ในอนาคตเป็นแน่
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย คนหลังเขา ใน เครือข่ายวิทยาลัยเกษตรภาคกลาง
คำสำคัญ (Tags)#uncategorized
หมายเลขบันทึก: 16021, เขียน: 18 Feb 2006 @ 21:28 (), แก้ไข: 30 Apr 2012 @ 11:47 (), สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการ, ความเห็น: 1, อ่าน: คลิก
ชุมชนที่เข้มแข็งต้องรู้จักเลือกรับเงิน หรือโครงการที่มีคนไปหยิบยื่น ต้องมีกลไกปรึกษาหารือ เตรียมตั้งรับกระแสเงิน กระแสผู้ดูงาน ฯลฯ อย่างมีสติ และสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ต้องไม่ยอมเป็นผู้ถูกกระทำ
วิจารณ์ พานิช