เรื่องเล่า เร้าพลัง 1: Letters to a Young Doctor: Imelda


Letters to a Young Doctor: Imelda

เมื่อวันศุกร์ที่ 4 มกราคมนี้ ได้มีโอกาสไปร่วมประชุมเพื่อเตรียมงานแพทยศาสตรศึกษาแห่งชาติ ใน theme: จินตนาการสุขภาพใหม่ ที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ ณ สถานที่ประชุมคือ รพ.ศิริราช จึงถือเป็นการเดินทางกลับบ้านเก่า (เกือบจะเป็น literally เพราะบ้านผมอยู่ห่างจาก รพ.ศิริราชไปสามสี่ช่วงเสียงกู่ ตัวผมเองก็เกิดในตึกแถวๆนั้นแหละ จำไม่ได้แล้วว่าตึกไหน) ได้เจอะเจออาจารย์เก่า รุ่นพี่เก่า และกัลยาณมิตรแพทยศาสตรศึกษามากหน้าหลายตาหลาย generations มาพูดคุยกันในเรื่องที่ผมและหลายๆคนคิดเหมือนกันว่า อาจจะเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งของชีวิตเรา ที่จะได้มีโอกาสมานั่งพูดจา หารือ กันเลยทีเดียว สิ่งที่เราทำกันในวันนี้ อาจจะหลอมรวมและกลายเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ไม่เพียงแต่ต่อการจัดหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตเท่านั้น แต่อาจจะหมายถึงโฉมหน้าใหม่ของการบริการสุขภาพของประเทศไทยในอนาคตทีเดียว

และงานนี้ เราก็ได้ inaugural speech จากวิทยากรสองท่าน คือ อ.ประเวศ วะสี และพี่โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ ทั้งสองท่านกอปรเป็นผู้นำทางด้านความคิด ความรู้สึก และจิตวิญญาณของประเทศ มาประเดิมภาคเช้า ส่วนตอนบ่ายก็จะเป็น workshop ของการจัดหลักสูตร

และงานไหนก็งานนั้น พี่โกมาตรก็ได้นำเอาเรื่องเล่าอันทรงพลังมาเป็นของขวัญพวกเราอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้มาจากหนังสือเรื่อง Letters to a Young Doctor โดย Richard Selzer คนประพันธ์ Mortal Lessons นั่นเอง เป็นตอนหนึ่งชื่อเรื่อง Imelda

Imelda

ผู้เขียนเขียนเรื่องนี้ รำลึกถึงอาจารย์แพทย์ท่านหนึ่ง เป็นศัลยแพทย์ศัลยกรรมตกแต่ง (plastic surgeon) ตอนที่ผู้เขียนยังเป็นนักเรียนแพทย์อยู่ที่ Albany Medical College เพราะได้ข่าวว่าท่านเสียชีวิตลง ศัลยแพทย์ท่านนี้คือ Huge Franciscus

หมอฟรานซิสซัสเป็นต้นแบบของศัลยแพทย์ในความรู้สึกของเราๆ สูงใหญ่ ดุดัน แข็งแรง และคมกริบในการเคลื่อนไหว รวมทั้งความพิถีพิถันในการแต่งเนื้อแต่งตัวด้วย ทุกวันจะใส่เสื้อกาวน์ยาวสีขาว ลงแป้งแข็งโป๊ก หนังสือประเภทเดียวที่ดูเหมือนหมอฟรานซิสซัสจะอ่านก็คือ หนังสือกายวิภาคของมนุษย์นั้นเอง สายตาของหมอฟรานซิสซัสจะเหมือนใน motto ของศัลยแพทย์ (Eagle's eye, Lion's heart, and Lady's hand ตาแหลมคมประดุจนกอินทรี หัวใจเข็มแข็งเด็ดขาดประดุจราชสีห์  มือเคลื่อนไหวอ่อนโยนละเอียดอ่อนดั่งกุลสตรี) หมอฟรานซิสซัสดูแลพิจารณาแผลทุกแผลอย่างละเอียดถี่ถ้วนที่สุด สามารถแยกแยะจำแนกมองเห็นการเริ่มหายของแผลได้ก่อนใครเพื่อน รวมทั้งร่องรอยที่แสดงว่าแผลอาจจะเริ่มมีปัญหาได้ก่อนใครๆ หมอฟรานซิสซัสบางทีจึงเสมือนโหราพยากรณ์นั่นทีเดียว ผู้รู้ว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

ตอนนั้นผู้เขียนเป็นนักศึกษาแพทย์ปีสาม เดินตามหมอฟรานซิสซัสดูคนไข้หลังผ่าตัด ก็มาถึงผู้ป่วยรายหนึ่ง มีแผลขนาดใหญ่ที่ต้นขาข้างหนึ่ง ใหญ่มากจนไม่สามารถจะดึงขอบแผลมาเย็บเข้าหากันได้ หมอฟรานซิสซัสจึงต้องใช้เทคนิก cross-leg flap graft คือ ฝานชิ้นเนื้อจากต้นขาซ้าย โดยยังเหลือโคนที่จะมีเลือดมาเลี้ยงอยู่ เหวี่ยงส่วนของชิ้นเนื้อจากขาซ้ายนี้ไปแปะปิดแผลที่ขาขวา  และทำแผลไปเรื่อยๆจนกว่าแผลจะเล็กลงพอจะปิดได้ ระหว่างนี้ก็ต้องคอยดูไม่ให้ชิ้นเนื้อ flap ที่ยกมาปิดนี้เน่าเสียไปก่อน

หมอฟรานซิสซัสเดินมาเมียงมองดูแผล ลองใช้นิ้วกดๆที่บริเวณโคนชิ้นเนื้อจากขาซ้าย สีน้ำเงินซีดๆบนชิ้นเนื้อนี้ก็ซีดลง พอปล่อยนิ้ว ก็เห็นสีค่อยๆแผ่กระจายมาบนชิ้นเนื้ออีกครั้งหนึ่ง

"เลือดหล่อเลี้ยงดี" หมอฟรานซิสซัสประกาศ "แผลนี้จะดีขึ้นในไม่ช้า อีกไม่กี่อาทิตย์ก็จะสามารถตัดโคนชิ้นเนื้อนี้ออกจากต้นกำเนิดที่ขาซ้าย และลงมือตกแต่งแผลขาขวาให้เสร็จเรียบร้อยได้" พูดเสร็จหมอฟรานซิสซัสก็ขยับตัวจะเดินต่อไปยังเตียงอื่น ทันใดนั้นเองคนไข้คนนี้ก็ยื่นมือควับคว้าแขนหมอฟรานซิสซัสเอาไว้ แล้วก็เริ่มพูดภาษาเสปนออกมาเร็วจี๋ พลางชี้ไปที่ขาหนีบและสะโพกของตนเอง หมอฟรานซิสซัสถอยออกมาสองก้าวจนพ้นมือ เขาไม่ชอบถูกสัมผัสโดยมือคนไข้

"ใครรู้ภาษาเสปนบ้างนี่ ผมฟังไม่รู้เรื่องเลย" หมอฟรานซิสซัสถาม

ผู้เขียนซึ่งเป็นนักเรียนแพทย์ตอบ "เขาบอกว่าเฝือกที่ใส่ตรงสะโพกนั้น ขอบมันกดจนเจ็บมากบริเวณสะโพกทุกครั้งเวลาขยับตัวครับ"

โดยไม่พูดพล่ามทำเพลงอะไร ได้ยินแค่นั้นหมอฟรานซิสซัสก็หันไปคว้ากรรไกรตัดเฝือกออกมาจากรถทำแผล ลงมือเล็มขอบเฝือกออกทันที

"Gracias, gracias" (ขอบคุณครับ ขอบคุณ) คนไข้ยิ้ม ระล่ำระลักออกมาแก่หมอฟรานซิสซัส แต่ตอนนั้นหมอฟรานซิสซัสก็ได้เดินออกไปหาคนไข้รายต่อไปเสียแล้ว นี่เป็นลักษณะหนึ่ง ที่หมอฟรานซิสซัสดูเหมือนจะเป็นคนแห้งแล้ง ปราศจากน้ำจิตน้ำใจ ถึงแม้จะดูเป็นหมอมืออาชีพผู้ทรงคุณวุฒิอย่างยิ่งก็ตาม

หลังจากราวน์ ward เสร็จ ผู้เขียนกำลังเดินกลับหอพัก ก็ได้ยินเสียงหมอฟรานซิสซัสเรียกมาจากด้านหลัง

"เธอพูดเสปนได้หรือ"

"ผมเคยอยู่ที่เสปนมาสองปีครับ"

"ฉันกำลังนำทีมผ่าตัดไปฮอนดูรัสอาทิตย์หน้า เพื่อไปช่วยผ่าตัดคนพื้นเมืองที่นั้น ปกติฉันออกพื้นที่แบบนี้เป็นเวลา 3 อาทิตย์ทุกๆปีที่ต่างๆกัน มาปีนี้เราจะไปฮอนดูรัสกัน ถ้าเธอสนใจ ฉันจะจัดเวลาให้เธอว่างพอและมากับทีมฉันในฐานะล่าม ฉันจะสอนเธอใช้กล้องถ่ายรูปในงานคลินิกด้วย เธอจะเห็นว่าคุ้มค่าที่จะไปด้วย"

ท่ามกลางความอิจฉาของเพื่อนๆ ผู้เขียนก็ตกลงใจไปกับทีมหมอฟรานซิสซัสทันที

ฮอนดูรัสเป็นประเทศยากจน อากาศร้อนมาก พอทีมแพทย์ไปถึง ก็เห็นคิวของคนไข้จำนวนมากนั่งๆนอนๆยืนๆอยู่ในเพิงรอคอย ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวเสปนเลือดผสมชาวพื้นเมืองอินเดียน สำหรับผู้เขียนแล้วหน้าตาของคนไข้ดูเหมือนกันหมดเลย หน้าที่ของผู้เขียนคือถ่ายรูปคนไข้ก่อนและภายหลังการผ่าตัด ทุกวันผู้เขียนจะเป็นคนเรียกคนไข้ที่นั่งรอไปพบหมอฟรานซิสซัส หมอก็จะตรวจและพูดบันทึกผลการตรวจใส่เทป "แผลมะเร็ง basal cell carcinoma ของขอบตาขวา 6x8 เซนติเมตร ลุกลามเข้าตาขวา กินขอบล่างของเบ้าตา แผนการผ่าตัด: ตัดเนื้อมะเร็งออก ควักลูกตา ปิดแผลด้วย graft ผิวหนังและกระดูก" เสร็จแล้ววันรุ่งขึ้นก็จะเป็นวันผ่าตัดตามแผนการที่ได้วางไว้

วันหนึ่งมีเด็กผู้หญิงอินเดียน อายุประมาณ 14 ปี มากับแม่ของเธอ เด็กผู้หญิงสวมใส่ชุดของแม่ของเธอหลวมรุ่มร่ามจนดูเหมือนจะเลื่อนหลุดมาเมื่อไรก็ได้ ตลอดเวลาเด็กหญิงจะถือผ้าสีชมพูสกปรกดำปี๋กลิ่นเหม็นกดแน่นไว้ที่บริเวณปากของเธอราวกับกดความเจ็บปวดเอาไว้ ผู้เขียนทราบโดยทันทีว่าสิ่งที่พาเธอมาทีมแพทย์ ต้องอยู่ภายใต้ผ้าสกปรกผืนนี้นั่นเอง case นี้เดินเข้ามาหาหมอฟรานซิสซัสเป็นคนสุดท้ายของวันนี้

"อิเมลดา วัลเดซ (Imelda Valdez)" ผู้เขียนเรียกชื่อเธอ ทั้งแม่ลูกก็เดินเข้าไปในห้องตรวจ

"นั่งตรงโต๊ะตรวจนั่นจ้ะ" ผู้เขียนส่งภาษาบอกเด็กหญิงอิเมลดา "คุณแม่ยืนข้างๆนี่ครับ" แล้วก็เริ่มอ่านประวัติจาก chart: "เด็กหญิง 14 ปี มีปากแหว่ง เพดานโหว่ (cleft lip and cleft palate) ซีกซ้ายตลอดแถบ ไม่มีโรคอื่นๆ ผลแลปและ x-ray ปอดปกติครับ"

"บอกเธอเอาผ้านั่นออกไปซิ" หมอฟรานซิสซัสพูด พอผู้เขียนถ่ายทอด อิเมลดาก็หดตัวถอยไป มือกดผ้าแน่นกว่าเดิม

"เอาน่า มาถึงนี่แล้ว" หมอฟรานซิสซัสหงุดหงิด "บอกเธอว่าฉันต้องเห็นก่อน ถึงจะรู้ว่าจะทำยังไง ถ้าเธอไม่ยอมก็กลับไปไม่ต้องผ่าตัด"

ผู้เขียนส่งภาษากับอิเมลดา "ขอผ้าให้หมอเถอะจ้ะ" แต่อิเมลดาไม่ยอม เธอไม่สามารถทำใจเอาผ้าออกได้ ตอนนั้นเองหมอฟรานซิสซัสเอื้อมมือมาอย่างรวดเร็ว กระตุกผ้าอย่างแรงจนหลุดออกมา อิเมลดาเหมือนกับจะโผตามแรง และขยับตัวกลับเหมือนจะซ่อนหน้า แต่ในที่สุดก็ค่อยยอม และอยู่นิ่งจำนน

เป็นแผลปากแหว่งเพดานโผล่ที่น่าเกลียดอยู่กลางใบหน้าของเธอ มีหนอนติดอยู่ตามแผล ริมฝีปากบนขาดหายไปจนถึงจมูก เห็นฟันบนเกาะบนเหงือกโผล่จากรูปาก สายตาเต็มไปด้วยความละอาย และหวาดกลัว

"บอกเธอให้อ้าปากซิ"

"อืม.... เพดานบนด้วย หมดเลย" หมอฟรานซิสซัสอึ้งไปพักนึง และในที่สุดก็พูดออกมา

"หนูชื่ออะไรนะ?"

"อิเมลดาค่ะ" เสียงอู้อี้กระซิบแผ่วออกมาจากปาก ปนเสียงฟองน้ำลายและเสียงหวีดเบาๆ

"วันพรุ่งนี้ ฉันจะซ่อมปากหนูให้"

ดูราวกับว่าหมอฟรานซิสซัสผู้มีประสบการณ์นับสิบๆปี เห็นอะไรมามากมายสุดจะนับ ก็รู้สึกพิเศษกับอิเมลดา ผู้เขียนแอบสังเกตเห็นจากสีหน้าของหมอฟรานซิสซัส อาจจะเป็นเพราะการที่อิเมลดาพยายามเหลือเกินที่จะซ่อนแผลอันน่าเกลียดนี้ จนกระทั่งเขาต้องเป็นผู้ทำให้เธอต้องเปิดเผยมาในที่สุด ความกลัว การหลีกเลี่ยงไม่อยากเปิดเผยยิ่งทำให้ความน่าเกลียดนั้นปะทุเด่นชัดเป็นทวีคูณ นี่ถ้าเธอยินยอมให้เขาดูแผลง่ายๆ ก็อาจจะไม่เรียกร้องให้เกิดความรู้สึกพิเศษกับเธอแบบนี้เลย

หมอฟรานซิสซัสวัดรอย defect ศึกษามุมต่างๆอย่างละเอียด หมุนศีรษะอิเมลดาไปในทิศทางต่างๆอย่างครุ่นคิด พิจารณา

"ใหญ่ขนาดนี้ยังปิดได้อยู่อีกหรือครับ​?" ผู้เขียนถามหมอฟรานซิสซัส

"ถ่ายรูปเธอไว้ซิ"

"เดี๋ยวก่อน" หมอฟรานซิสพูด แล้วก็หยิบเอาเส้นผมเส้นหนึ่งที่ตกลงมาบังใบหน้าเธอ ยกขึ้นไปทัดที่ข้างหูของอิเมลดา "OK ถ่ายได้แล้ว" 

หมอฟรานซิสซัสบอกวิธีคำนวณระยะทางของ flap ที่จะนำมาหมุนปิดช่องโหว่ต่างๆให้ฟัง ผู้เขียนบอกว่ามันสับสนมาก

"มันเป็นเรขาคณิตธรรมดาๆ"

======================

วันรุ่งขึ้นเป็นวันผ่าตัด ตอนเรามาถึง กระบวนการดมยาสลบได้เริ่มไปบ้างแล้ว ท่อช่วยหายใจใส่ไว้ทางปาก และดึงพาดลงไปทางริมฝีปากล่างเพื่อเปิดพื้นที่ให้ผ่าตัดบริเวณด้านบน ผู้ช่วยพยาบาลฟอกน้ำยาปลอดเชื้อให้ทั่วบริเวณ ผ้าคลุมสีเขียวสำหรับปิดบริเวณรอบข้างยกเว้นพื้นที่ผ่าตัดถูกวางคลุมและตรึงติดด้วยคลิบ

"ไม้บรรทัด" หมอสั่ง กะระยะไปที่จุดกึ่งกลางของริมฝีปากบนที่บิดเบี้ยวไม่เป็นรูป

"ปากกา" หมอเริ่มแต้มจุดต่างๆเป็นตำแหน่งสำคัญ

"มีด" หมอรับมีดจากพยาบาลส่งเครื่องมือ หันไปถามหมอดมยาที่หัวเตียง "เอาละนะ?"

"OK" หมอดมยาตอบ

หมอฟรานซิสซัสกำลังจรดมีดลง เสียงหมอดมยาดังขึ้นอย่างตกใจและเคร่งเครียด "เดี๋ยว !!.... รอเดี๋ยวก่อน !!!"

มีดหยุดลอยอยู่กับที่ "เกิดอะไรขึ้น?"

"มีอะไรผิดปกติเกิดขึ้น ผมไม่แน่ใจ โอ... พระเจ้า ตัวเธอร้อนยังกับลูกปืน !!! ความดันพุ่งขึ้น ชีพจรร้อยแปดสิบ เอาปรอทก้นมาวัดดูซิ !!! " พยาบาลมุดลงไปใต้ผ้าคลุมระหว่างที่ทั้งทีมรออย่างกระวนกระวาย

"หนึ่งร้อยเจ็ด !! โอ ! ไม่ ! หนึ่งร้อยแปด !!" เสียงพยาบาลอ่านปรอทอย่างไม่เชื่อสายตา

"Malignant Hyperthermia!!" หมอดมยาอุทานออกมา "น้ำแข็ง เอาน้ำแข็งมา เอามาเยอะๆ !!! " ผู้เขียนวิ่งออกไปจากห้องผ่าตัด ตะโกนบอกพยาบาลคนแรกที่เจอ "น้ำแข็ง!! น้ำแข็ง !! ด่วนที่สุด Heilo!! " สีหน้าพยาบาลบ่งบอกความสับสน ไม่เข้าใจ ผู้เขียนวิ่งไปหาพยาบาลคนต่อไป ระล่ำระลัก "น้่ำแข็ง !! เราต้องการน้ำแข็งเดี๋ยวนี้ ได้โปรดเถอะ โอ.. พระเจ้า!!"

"น้ำแข็งเหรอ? ไม่มีหรอกที่นี่" พยาบาลบอกเขา

ผู้เขียนวิ่งกลับไปห้องผ่าตัด "ไม่มีครับ ที่นี่ไม่มีน้ำแข็งเลย !! " สายตาของหมอฟรานซิสซัสเหมือนของม้าในสงคราม

"EKG วิ่งเร็วจี๋เลย!!"

"ฉันคลำชีพจรไม่ได้ คลำไม่ได้ !!"

"อะไรนะ?!?!?" หมอล้วงมือลงไปใต้ผ้า คลำชีพจรที่ขาหนีบ  ไม่พบอะไรทั้งสิ่้น

"EKG ราบแล้ว พระช่วย!! เธอตายแล้ว !!"

"ไม่... เป็นไปไม่ได้"

"แต่เธอตายแล้ว หมอ....."

++++++++++++++++++++++++++++++++++

ตอนนั้นเป็นเวลาเที่ยง เป็นวันที่ร้อนและชื้นมาก แม่ของอิเมลดานั่งรออยู่ที่ม้านั่ง มือของเธอถือผ้าสีชมพูของอิเมลดา เห็นเธอพับผ้าผืนนี้ พับไป พับมา รีดมัน ปัดทำความสะอาด ราวกับว่าเป็นศีรษะของอิเมลดาที่อยู่ในมือเธอ และเธอกำลังลูบไล้ผมของอิเมลดาอยู่

"ฉันจะต้องไปพูดกับเธอเอง" หมอฟรานซิสซัสพูด เขา "ต้อง" พูดกับเธอเอง ด้วยภาษาเสปนหรืออะไรก็ตามที่เขาสามารถพูดได้ในขณะนี้ และบอกว่าต่อเมื่อเขาจำเป็น ผู้เขียนอาจจะช่วยแปลให้เขาหน่อย ผู้เขียนเห็นหมอฟรานซิสซัสสูดลมหายใจ ปรับท่าทาง ก่อนจะไปพบแม่อิเมลดา เขาจะพูดว่ายังไงนี่??? ผู้เขียนนึกอยู่ในใจ แต่ก็ทราบแก่ใจว่าหมอจำเป็นต้องอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้นทั้งหมดอย่างที่มันเกิด เพื่อแม่ของอิเมลดา และเพื่อตัวหมอเองด้วย แต่จะเกิดอะไรขึ้นล่ะ? ถ้าแม่กรีดร้อง ร้องห่มร้องไห้ตีอกชกหัว หรือเข้ามาทำร้ายหมอ?

ทั้งๆที่กำลังอยู่ในสถานการณ์นี้ ผู้เขียนตระหนักรู้ว่าหมอฟรานซิสซัสกำลังตั้งใจจะสอนอะไรบางอย่างที่สำคัญแก่เขา วิธีการทำอย่างมืออาชีพ

แม่ของอิเมลดามองขึ้นมาหาหมอฟรานซิสซัส หมอนิ่งเงียบไม่ได้พูดอะไร ดูเหมือนเธอจะสามารถมองเห็นข่าวสารที่อยู่ภายในปากของหมอ และเมื่อนั้นเธอก็เข้าใจ ลุกขึ้นยืน

"ซินยอรา" หมอฟรานซิสซัสเริ่ม "ผมเสียใจด้วย......."

ณ​ วินาทีนั้นเอง ผู้เขียนรู้สึกวาหมอฟรานซิสซัสตัวเตี้ยลง ลงมาเกือบเท่าแม่ของอิเมลดา สามารถมองเห็นผมบางบริเวณกระหม่อม ริมฝีปากเม้มตึงขยับได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เสียงแหบแห้ง

"ไม่มีใครจะรู้ได้ อิเมลดามีปฏิกิริยาต่อยาสลบ กลายเป็นพิษต่อเธอ ทำให้อุณหภูมิเธอสูงขึ้น และเธอไม่สามารถตื่นขึ้นมาได้......" คำสุดท้่ายเกือบจะเป็นเสียงกระซิบ

แม่อิเมลดามองตามริมฝีปากของหมอราวกับเธอเป็นคนหูหนวก ถึงแม้ว่าหมอจะพยายามแล้วก็ตาม ริมฝีปากของหมอก็ยังกระตุกอย่างห้ามไม่อยู่ และในที่สุดหมอก็ยกหัวแม่มือและนิ้วชี้มากดอะไรบางอย่างไปจากหัวตาของเขา

"ตายแล้วเหรอ....." แม่อิเมลดาพูดออกมา

"ครับ... เธอตายแล้ว" หมอยืนยันความเข้าใจของเธอ หลับตาลง นานจนกระทั้่งเขารู้สึกมือของแม่อิเมลดาได้เอื้อมมาจับแขนของเขา เขาลืมตาขึ้น ไม้ได้สลัดมือเธอออกอย่างทุกครั้งที่ถูกคนไข้แตะตัว หมอมองเห็นความทุกข์ทรมานอย่างเหลือเชื่อวาดเป็นรอยเส้นบิดเบี้ยวบนใบหน้า ดวงตา จมูก ปาก ของเธอเกือบจะเฉกเช่นของอิเมลดา ทั้งสองคนยืนอยู่นานในท่านั้น ในที่สุดหน้าของแม่อิเมลดาก็ค่อยๆดีขึ้นเธอพูดออกมาเบาๆ อย่างช้าๆ เพื่อให้แน่ใจว่าหมอเข้าใจที่เธอพูด เธอบอกว่าเธอจะกลับไปบ้านของเธอก่อน วันรุ่งขึ้นลูกชายของเธอจะมารับศพอิเมลดาเพื่อนำกลับไปทำพิธีฝัง หมอไม่ต้องเสียใจ นี่เป็นลิขิตของพระเจ้า และอิเมลดาก็คงจะมีความสุขแล้ว เพราะริมฝีปากเธอหายเป็นปกติแล้ว อิเมลดาก็จะสามารถขึ้นไปสวรรค์อย่างเป็นปกติ แล้วแม่อิเมลดาก็ค่อยๆเดินจากไป

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ 

 วันรุ่งขึ้นผู้เขียนยืนรออยู่ที่หน้าประตู รอรับลูกชายที่จะมารับอิเมลดา เห็นหนุ่มสองคนใช้เสื่อห่อร่างอิเมลดาแบกขึ้นไปบนเกวียนเทียมด้วยลา  แม่ของอิเมลดาก็มาด้วย เธอเงยหน้า มองเห็นผู้เขียน ก็ถอดหมวกของเธอออก ผู้เขียนส่งเงินจำนวนหนึ่งในมือของเธอ

"สำหรับค่าดอกไม้ และค่าสวดทำพิธีนะครับ"

"ขอบคุณ ขอบคุณมากค่ะ" เธอตอบ "หมอเป็นเสมือนดั่งทูตสวรรค์ หมอได้ทำงานของพระผู้เป็นเจ้าจนสำเร็จ อิเมลดาลูกสาวอิฉันตอนนี้เธอสวยงามแล้ว"

อา... เธอหมายความว่าอะไร? อิเมลดาตายตั้งแต่ก่อนจะเริ่มผ่าตัดนี่นา

"เหลือแต่รอยจางๆเท่านั้น ที่พระผู้เป็นเจ้าจะค่อยๆลบเลือนไป" เธอพูดต่อ

ผู้เขียนเดินไปหาที่เกวียน ยกมุมเสื่อขึ้น ก็ได้พบเห็น ริมฝีปากแหว่งนั้นถูกเย็บเข้าหากันอย่างแนบเนียนด้วยไหมเส้นละเอียด ริมฝีปากบนถูกจับหยักโค้งสวยงามเป็นรูปคันธนู มีรอยบุ๋มตรงกลาง รูจมูกที่เคยแบนถูกตกแต่งเป็นรูกลมๆเล็กๆสมมาตรกับอีกข่้างหนึ่ง และเห็นปอยผมของอิเมลดา ที่ถูกม้วนไปทัดที่หลังหูของเธอ

"ลาก่อน ลาก่อน" แม่อิเมลดาและครอบครัวค่อยๆเคลื่อนขบวนจากไป

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

บางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้คนเราได้ทบทวน และได้มองชีวิตในรูปแบบที่ไม่เคยมองมาก่อน สะท้อนถึงพฤติกรรมที่แล้วๆมาทั้งหมดในอดีต และบางทีก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง ความตายของอิเมลดาได้มาบรรจบชีวิตของหมอฟรานซิสซัส ณ ช่วงแห่งกาลเวลา เธอตายก่อนที่ริมฝีปากจะถูกซ่อมแทนที่จะเกิดขึ้นภายหลัง หมอฟรานซิสซัสน่าจะบอกความจริงว่าเขายังไม่ได้ทำผ่าตัดให้่อิเมลดา แต่ก็ไม่ได้บอก ความละเลยซึ่งดูเหมือนจะผิดที่ ไม่น่าจะเกิดในช่วงชีวิตของเขา ณ จุดหนึ่งของห้วงกาลเวลานี้เองที่ทำให้หมอฟรานซิสซัสตระหนักรู้ถึงพลังอำนาจของตนเองที่ยังสามารถทำอะไรได้ คำพูดของแม่อิเมลดาไม่ได้ทำหน้าที่ปลอบประโลมเขา แต่เป็นชี้ทางให้เขา ทางที่เขาจะได้เลือกและเดินทางไปเอง เป็นทางเดินเงียบ เพียงคนเดียวที่เขาเลือกเดินโดยไม่สนใจว่าจะมีคนรู้หรือไม่ นอกเหนือจากตัวเขาเอง

ณ เวลานั้นผู้เขียนจินตนาการเห็นภาพ สี่ทุ่มท่ามกลางความมืดในโรงพยาบาลโคมายากัว ตะเกียงถูกจุดสว่าง แสงไฟสั่นไหวในยามราตรี ลึกลงไป ณ ห้องเก็บศพของโรงพยาบาล ห้องนั้น เงาทุกเงา ดูเหมือนกำลังรอคอยใครบางคน ในที่สุด ก็มีเสียงเข็นรถพร้อมของอะไรบางอย่าง หมอได้เริ่มลงมือทำหัตถการ ทำพันธกิจของชีวิตของเขา ใบมีดกรีดลง ไม่มีเลือดให้ซับ รูปร่างของริมฝีปากที่เขาตั้งใจก่อนหน้านี้จะสรรสร้าง ค่อยๆเป็นรูปเป็นร่างทีละน้อย ผิวหนังถูกหมุนมาปิดช่องโหว่บนใบหน้า ตามเรขาคณิตที่ถูกคำนวณเป็นอย่างดี ละเอียดรอบคอบถึงที่สุด ไหมค่อยๆถูกเย็บลง ที่ละ stitch ทีละ stitch ริมฝีปากรูปกระจับถูกตกแต่งจนไม่เหลือร่องรอยแห่งความผิดปกติ ในที่สุดคราบเลือดทั้งหมดก็ถูกเช็ดออก ทำความสะอาด ที่นอนอยู่นั้นเป็นร่างของอิเมลดา และแล้วไฟก็ดับลง......

==============================================

ในช่วงชีวิตของแพทย์ทุกคน ถ้าหากมองดีๆ ใช้เวลาผ่านไปโดยไม่ปล่อยให้อะไรผ่านอย่างรวดเร็วเกินไปนัก เราจะสามารถพบ หรือค้นหาความหมายของชีวิตได้ตลอดเวลา และนับครั้งไม่ถ้วน บางครั้งโดยไม่รู้ตัว เราเผลอไผลใช้ชีวิตเหมือนนั่งอยู่ในรถไฟด่วน หรือขี่จรวด ไม่สามารถมองเห็นทิวทัศน์อะไรผ่านชีวิตเราไปบ้าง ภาพสองข้างเป็นเพียงเงาเบลอๆ ลางเลือน ไม่มีความหมายอะไร ณ สถานีปลายทาง คือ ความตายอันปราศจากความทรงจำ คือชีวิตอันแห้งแล้ง ไม่มีความเศร้า ไม่มีความดีใจ ไม่มีเสียใจ ไม่มีความหมายใดๆ

ผ่านไปอีกชีวิตหนึ่ง 

หมายเลขบันทึก: 157906เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2008 13:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 18:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะคุณหมอP

อ่านเรื่องนี้ อย่างช้าๆค่ะ

น่าเศร้าใจจริงๆ สำหรับ อิเมลด้า และครอบครัวของเธอ

ทำให้นึกถึงเรื่องของ  กรณี ของ นางสมควร แก้วคงจันทร์ ได้รับการผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบ ด้วยการฉีดยาชาเข้าช่องไขสันหลัง อันเป็นเหตุให้คนไข้หยุดหายใจ สมองขาดออกซิเจนและเสียชีวิต ลูกสาวผู้ตายชื่อ น.ส.ศิริมาศ แก้วคงจันทร์ เป็นโจทก์ฟ้อง

มันเป็นเรื่องที่บีบคั้นจิตใจ ทั้ง 2ฝ่ายค่ะ

ดิฉันอยากเห็น การแพทย์แผนปัจจุบันเน้นที่ทั้งเทคโนโลยี  พร้อมๆกับความเข้าใจในความเป็นมนุษย์ของผู้ป่วยและญาติ ให้มากกว่านี้ พูดโดยภาพรวมค่ะ ทั่วไป

ดิฉัน เคย มีประสบการณ์นี้ ด้วยตัวเอง กับแพทย์ที่มีชื่อเสียง ใครๆก็รู้จัก แต่ขาดความ เมตตาและความเห็นใจผู้ป่วยและญาติเท่าที่ควร

เคราะห์ดี ไม่มีปัญหาอะไร

ถ้ามี ไม่แน่ว่า ดิฉัน อาจกระทำการอะไรบ้างก็ได้ค่ะ

และมีอีกรายหนึ่ง แพทย์ปล่อยให้ผู้ช่วยพยาบาล เป็นคนจ่ายยาให้คนไข้ โดยไม่มีความรู้เรื่องยา อะไรเลย

เคราะห์ดีอีก ไม่มีอะไร เพราะดิฉันเอง เห็นยาแล้ว จำยาได้ก่อน

คิดว่า แพทย์เองก็ต้องมีความละเอียด ในการรักษามากขึ้นด้วยค่ะ

สวัสดีครับ คุณ sasinanda

เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เราจะหาทางตอบสนองต่อสิ่งเร้าในรูปแบบต่างๆ มีคนเคยกล่าวไว้ว่า "อารมณ์" มีไว้เพื่อที่เราจะได้สามารถตอบสนองต่อเหตุการณ์ได้อย่างรวดเร็ว ทันท่วงที ในแบบที่เป็นบุคลิกของเรา โดยอาศัยเครือข่ายประสาท (neuronet) ที่ได้กำหนดพฤติกรรมในอดีตเป็นฐาน 

นอกเหนือจาก "ทำอะไรสักอย่าง" เป็นการตอบสนองแล้ว เรายังสามารถ "ใคร่ครวญไตร่ตรอง" ก็ยังนับเป็นการตอบสนองได้ด้วย หรือบางครั้ง เมื่อถึงวาระที่จะต้องตัดสินใจ มักจะมี "สัญญาน" หรือ signs หรือ clues อะไรบางอย่างผุดบังเกิดขึ้น และขึ้นอยู่กับว่าเราตั้งใจจะมองหาหรือไม่ มองหาแล้วฉุกคิดว่าเป็นสัญญานหรือไม่ ฉุกคิดแล้วถึงขั้นตอนสุดท้ายที่เป็น free will ก็คือ เราต้องการจะเป็นคนอย่างไรในอนาคต แล้วเราก็ทำลงไป

หมอฟรานซิสซัสหลังจากได้ยินคำพูดของแม่อิเมลดา ถ้าเป็นแต่ก่อน เขาก็อาจจะเฉยชา หรืออาจจะ "inform" แม่อิเมลดาว่า เขายังไม่ได้ผ่าตัดหรอก ซึ่งก็เป็น fact เป็นการกระทำที่เป็นไปได้ เป็นทางออกอีกทาง ซึ่ง neuronet ดั้งเดิมของหมอฟรานซิสซัสคงจะอยากทำอย่างนั้น แต่ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น sequences แต่ละอย่าง ความประทับใจเล็กๆน้อยๆระหว่างการตรวจ การสนทนา การพูดจา รวมไปถึงเหตุการณ์ dramatic สิ่งเหล่านี้ได้ form และรบกวน neuronet เก่าของหมอฟรานซิสซัสไป และเกิดเป็นการตัดสินใจใหม่ เป็น new reaction of Dr Francissus เป็นแผงวงจรใหม่ ที่หมอได้เป็นผู้เลือกเดินเอง

ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่พวกเรา ใครก็ตาม ตัดสินใจ ทำ หรือ ไม่ทำอะไร ถ้าเรามองย้อนกลับไป เราจะเห็นร่องรอย เหตุผลและที่มา ว่าทำไมเราจึงเป็นเราอย่างทุกวันนี้ ก็เพราะการตัดสินใจของเราในแต่ละครั้งในอดีตนั่นเองครับ 

สวัสดีครับอาจารย์

วันนี้ผมได้กลับมาอ่านเรื่องนี้อย่างจริงจังออกรอบ และได้ทำกิจกรรมกลุ่มในการวิเคราห์เรื่องเหล้าเรื่องนี้ ซึ่งทุกคนนั้นอึ้งและประทับใจกับเรื่องนี้มากๆครับ

ทุกๆความเห็นของทุกกลุ่มนั้นได้เขียนว่าประทับใจและรู้สึกชื่นชมผู้แปลมาเป็นภาษาไทยมากๆครับ

ในส่วนตัวของผมได้เห็นคุณค่าของเรื่องเล่าเรื่องนี้ขึ้นมากกว่าเดิมหลายเท่าจากเดิมแต่ก่อนที่อ่านแล้วก็รู้สึกบางส่วนคือสงสารผู้ป่วยที่ไม่ได้เห็นตนเองหลังผ่าตัด

แต่ตอนนี้ดูเหมือนกลุ่มและกระบวนการเรียนรู้กับท่านอาจารย์หมอโกมาตร ผ่านเรื่องเล่าที่แปลโดยอาจารย์จะทำให้ผมได้เกิดปัญญาเเละเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้นครับ

ขออนุญาตอาจารย์เอาขึ้นแบ่งปันทาง facebook ผมได้หรือเปล่าครับ เพราะว่าเพื่อนหมอๆ พี่หมอๆ หรือพยาบาลจะได้อ่านๆกันครับ

ขอบพระคุณมากๆครับ

สุพัฒน์ครับ

ยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งครับผม

มาอ่านอีกรอบครับ คิดถึงเรื่องนี้

วันนี้ได้ฟังเรื่องเล่าของรพปาย ในมหกรรมเรื่องเ

ล่า ชาวสาสุขปาย คือทั้งรพและอนามัยครับ มีเรื่องเล่าที่มีแรงบันดาลใจที่

มาจากเรื่องนี้ครับ เป็นการผ่าคลอดแม่และเด็กที่อยูในท้องแม่ ที่er pai

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท