มวยคู่เอก : ธรรมชาติ กับ เทคโนโลยี


สวัสดีครับทุกท่าน

           สบายดีกันไหมครับ วันนี้ขอนำเสนอมวยคู่หนึ่งครับ ที่สู้รบกันมาตั้งแต่ที่คนเกิดขึ้นบนโลกนี้ครับ ผมเลยขอนำเสนอมวยทั้งสองฝ่ายนี้นะครับ โดยที่ฝ่ายแดงจะเป็นฝ่ายท้าชิง ฝ่ายน้ำเงิน

ฝ่ายน้ำเงิน ... เกิดมาก่อนจากไม่มีอะไรเลยและบังเกิดเป็น ดิน น้ำ ลม ไฟ ในเบื้องต้น พัฒนาวิวัฒนาการมาเรื่อยๆ จนเป็นระบบที่ซับซ้อนและเกี่ยวโยงกันขึ้น ฝ่ายน้ำเงินนี้ก็คือ ธรรมชาติ นั่นเอง

ฝ่ายแดง ... เิกิดที่หลัง มาพร้อมๆ กับพัฒนาการของมนุษย์ ที่มองตัวเองและเข้าใจว่า ตัวเป็นสัตว์ประเสริฐกว่าสัตว์เดรัจฉานตรงที่มีสมองที่คิดได้ ปฏิบัติได้ ฝึกได้ โดยไ่ม่แน่ใจว่านี่เป็นการคิดโดยเข้าข้างตัวเองหรือเปล่าครับ และก็สร้างอะไรขึ้นมากมาย เพื่อสนองและำอำนวยความอยาก การอยากเอาชนะต่างๆ หรือการเอาชนะฝ่ายน้ำเงินนั่นหล่ะ ฝ่ายนี้มีชื่อว่า เทคโนโลยี

การสู้รบก็คงเกิดขึ้นตั้งแต่ความต้องการพื้นฐานของคนนั่นเอง ได้แก่ การต้องการปัจจัยสี่ เพื่อให้ได้มาซึ่งความอำนวยความสะดวกสบายเรื่อยมา จากที่เป็นมนุษย์ยุคต่างๆ อยู่ในถ้ำ จนมาสร้างบ้านเองได้ มีเสื้อผ้าต่างๆ จนมาถึงทุกวันนี้ ฝืนและสู้รบกับฝ่ายน้ำเงินกันอย่างสนุกสนาน สามารถต้านแรงโน้มถ่วงของโลก ต้านกฏธรรมชาติ ไปไหนมาไหนตามที่อยากจะไป ด้วยผลงานต่างๆ ที่สร้างขึ้นมา

แต่ว่าก็ว่า สร้างอะไรใหม่ขึ้นมา ก็เป็นการกัดกินฝ่ายน้ำเงินเช่นกัน แดงเกิดเมื่อไหร่ น้ำเงินก็หายไปเช่นกัน เพราะทรัพยาการมีจำกัดและเปลี่ยนแปลง อย่าได้ไปมองอะไรไกลเลย มองแค่เมืองหลวงเราก็พอ จากที่เคยเป็นเมืองแห่งธรรมชาติ ก็กลายมาเป็นเมืองแห่งเทคโนโลยี ไม่ว่าจะสร้างเอง คิดเอง หรือสร้างเองแต่เพื่อนคิดให้ หรือไม่ว่าจะเพื่อนคิดให้และสร้างให้ หรือว่าจะรับเอามาวางหรือว่าจะรับมาปรับใช้ก็ตาม

การต่อยมวยของคู่นี้จึงน่าติดตามยิ่งนัก และเด็กรุ่นใหม่ต้องมองอย่างเข้าใจเช่นกัน ไม่งั้น อาจจะแย่แน่ เพราะในใจเรานั้นก็จะแบ่งแยกกันได้โดยจะเอาฝ่ายหนึ่งและอีกฝ่ายหนึ่งไม่สนใจ ก็ทำให้แย่ได้เช่นกัน

ป่าไม้ที่โดนบุกรุกด้วยเทคโนโลยีก็ถูกแทนที่ด้วยสิ่งใหม่ อาจจะเป็นอะไรได้ แต่ที่แน่ๆ ธรรมชาติเปลี่ยนไป

สังคมเมืองก็เป็นสังคมแห่งเทคโนโลยี ไม่ใช่สังคมแห่งธรรมชาติอย่างที่เคยเป็น สังเกตดูง่ายๆ จากใจคน หากเราทำการทดลอง หรือหากมีเมาคลีสองคน ตั้งแต่ตัวเล็กๆ เมาคลีคนแรกให้อยู่ในเมืองเทคโนโลยี และเมาคลีอีกคนให้อยู่กับธรรมชาติ กับป่า เมาคลีทั้งสองพอโตได้อายุสักสามสิบปี แล้วให้มาพบเจอกัน คงน่าสนใจไม่น้อยครับ

ในขณะที่เมาคลีในธรรมชาติพูดกับหมี ช้าง ม้า เสือ สิงห์ แต่เมาคลีในเมืองเทคโนโลยีอาจจะเล่นเกมส์กด คุยกับหุ่นยนต์ ควบคุมหุ่นยนต์ ส่งยานต์ไปดาวต่างๆ สร้างท่อไอเสีย ท่อไอดีมากมาย

จิตใจของเมาคลีคนไหนอ่อนกว่ากัน แต่เื่มื่อวันหนึ่งเทคโนโลยีก็แออัดในชุมชนเมือง จำเป็นต้องทอดสะพานเทคโนโลยีออกไปยังชนบท เมืองแห่งคนใจอ่อน (เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่) แล้ววัดค่าคนด้วยดัชนีตัวเลข จากคนใจอ่อนก็กลับให้คนใจแข็งมากขึ้น แต่ก็ใช่ว่าหัวใจคนเมืองจะอ่อนไม่ได้ หากได้ผ่านการฝึก หรือมองเห็นธรรมชาติ ในขณะที่ยังกำเทคโนโลยีอยู่ 

จนมาถึงทุกวันนี้ ผมสรุปเอาแบบไม่ดูตาม้าตาเรือว่า มีธรรมชาติเหลืออยู่ครึ่งหนึ่ง เทคโนโลยีพัฒนามาแล้วครึ่งหนึ่ง อย่างละห้าสิบเปอร์เซนต์ เราจะหันหน้าไปแนวทางไหนกันแน่ ตรงนี้คือจุดสมดุลหรือเปล่า หรือว่าจุดสมดุลของใคร ใครสมดุลใครไม่สมดุล

รู้แต่ว่าธรรมชาติมีวิธีการในการขัดเกลาตัวเอง ส่วนเทคโนโลยีนั้นจะมีวิธีการขัดเกลาตัวเองหรือเปล่าไม่แน่ใจ หรือว่ากากเทคโนโลยีคือกากแห่งการทำลายธรรมชาติกันต่อไป

  • กากเทคโนโลยี เก็บที่ใด

  • กากธรรมชาติมีไหม เก็บที่ใด

คนเราว่าไปแล้วเกิดมาแล้วอยู่กับสิ่งใด ก็มีโอกาสเป็นไปหรือเอนเอียงไปในทางกับสิ่งนั้นเป็นส่วนใหญ่ โอกาสที่จะเกิดการผ่าเหล่าก็คงมีได้ แต่คงน้อยมาก

        ใครอยู่ได้ทันวันหนึ่งก็คงจะรู้ว่ามวยคู่นี้ ใครจะอยู่ใครจะไป ถามว่าใครเป็นผู้สร้าง ผู้สร้างธรรมชาติคือใคร ผู้สร้างเทคโนโลยีคือใคร จะสร้างให้สองอย่างนี้ไม่ต้องขึ้นเวทีไปต่อยกันจะได้ไหม จะสร้างอย่างไรให้สองอย่างนี้ทำงานเกื้อกูลกันและพึ่งพากันได้

        คุณคิดอย่างไร คิดแบบไร้กรอบ เชิญท่านร่วมบรรเลงครับผม

กราบขอบพระคุณมากครับ

พระธรรมชาติคุ้มครองครับ 

เม้งครับ

หมายเลขบันทึก: 157651เขียนเมื่อ 5 มกราคม 2008 22:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

สวัสดีค่ะ

เคยดูหนัง "The Day After Tomorrow" ได้ หนังเรื่องนี้เล่าเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติอย่างรุนแรง หลังจากมนุษย์ทำร้ายธรรมชาติมานาน น่ากลัวค่ะ

ประเทศของเราก็มีเหตุการณ์ธรรมชาติให้น่าวิตกไม่น้อย เช่น...

 การกัดเซาะชายฝั่ง เป็นปัญหาที่ทำให้พื้นดินที่อยู่ริมทะเลหรือริมน้ำถูกเซาะทำลายลงอย่างช้าๆ ปัจจุบันปัญหานี้ได้รุนแรงขึ้น

การกัดเซาะชายฝั่งในบริเวณอ่าวไทยตอนบนตั้งแต่ จ.สมุทรสงคราม สมุทรสาคร กรุงเทพฯ จนถึงปากแม่น้ำ

แม้แต่ พื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีปัญหาการทรุดตัวเฉลี่ยมากกว่า 10 ซม.ต่อปี แม้ในปัจจุบันจะมีการควบคุมการใช้น้ำบาดาลซึ่งทำให้ปัญหาการทรุดตัวลดลงเหลือ 2-4 ซม.ต่อปี ปัญหาการกัดเซาะพื้นที่ก็ยังอยู่

ที่ปลายแหลมตะลุมพุก มีโอกาสที่จะถูกน้ำทะเลกัดเซาะจนหายไปในอีก 100 ปีข้างหน้า

แต่ในขณะเดียวกัน เรื่องของพลังงานไฟฟ้าก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถ้าเราสร้างไฟฟ้าพลังน้ำไม่ได้

เราก็ต้องหาพลังงานทดแทน เช่น พลังงานทดแทนจากชีวมวลหรือไบโอแมส ซึ่งเป็นพลังงานที่แปรรูปมาจากวัตถุอินทรีย์จากพืช สัตว์ น้ำเสีย และขยะมูลฝอย ซึ่งเป็นวัสดุที่หาง่ายและราคาถูก

ปัญหา มันมากค่ะ ระหว่างธรรมชาติและเทคโนโลยี่

แต่ทุกๆ ปัญหาย่อมมีทางออกเสมอ เพียงแต่เราต้องอดทน และมองปัญหาด้วยความเข้าใจ

ต้องช่วยกันแก้ปัญหาเพื่อให้รุ่นลูกรุ่นหลานของเราได้อยู่ในโลกนี้ ในประเทศไทยนี้อย่างมีความสุข ต่อไปค่ะ

  • สวัสดีครับคุณเม้ง
  • ตอนนี้เทคโนโลยีอาจจะมีแต้มเป็นต่อธรรมชาติอยู่บ้าง
  • แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ขาดความสมดุล โดยการใช้ทรัพยากรธรรมชาติโดยไม่คำนึงถึงสภาพแวดล้อม
  • วันหนึ่งเทคโนโลยีก็จะต้องล้มถูกนับ 10 อย่างไม่เป็นท่า หรือ นับ 100 ก็ไม่สามารถลุกขึ้นมาได้ครับ
  • อย่างไรก็ตามถ้าใช้ทั้งสองอย่างแบบเหมาะสมก็จะมีแต่ผู้ชนะครับ
  • ขอบคุณมากครับ

สวัสดีครับพี่ศศินันท์ sasinanda

  • ขอบพระคุณมากๆ นะครับที่ให้ข้อคิดเห็นดีๆต่อกันเสมอครับ
  • เรื่องการกัดเซาะชายฝั่ง ว่าไปแล้วก็คงมีมาตลอดแต่ไหนแต่ไรนะครับ แต่คนเราไม่ได้รับรู้ หรือว่ารู้สึกเดือดร้อนโดยตรงเท่านั้นเองครับ
  • เพราะในภาวะที่คนมีมากขึ้น การบุกรุกพื้นที่ที่ไม่สมควรก็สูงขึ้น การกระจายตัวของคนไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยก็สูงขึ้น และเทคโนโลยีในการรับรู้ก็สูงขึ้นแล้วนั้น
  • ทำให้คนได้ัรับรู้กันมากขึ้น เพราะว่าไปแล้วกระแสลมที่พัดเข้าสู่อ่าวไทยกระทบชายฝั่งอ่าวไทยของชายฝั่งไทย ก็พัดมายาวนานครับ เพียงแต่ว่าระบบอาจจะสั้นบ้างยาวบ้าน ต่อเนื่องบ้าง ขาดช่วงบ้างครับ ตามระบบองค์รวมของธรรมชาติครับ
  • ในเมืองหลวงนั้นเรื่องทรุดตัว น่าเป็นห่วงครับ เพราะกทม. รวมหลายๆ อย่างไว้ในแบบรวมศูนย์ ตั้งแต่เรารู้จักเทคโนโยโลยีมา การตระหนักรับรู้จึงสำคัญว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
  • ผมเองไม่อยากจะจินตนาการเรื่องทรุดตัวเท่าไหร่ครับ เพราะว่าหากเกิดต่อเนื่องแล้วนั้น ผลมันจะเป็นอย่างไรก็ไ่ม่ทราบ โดยเฉพาะอะไรที่อยู่ใต้ดิน เทคโนโลยีอย่างไรก็ูสู้แรงกระทำจากธรรมชาติไม่ได้ครับ ต้านได้ครับ แต่เพียงแค่ช่วงหนึ่งเท่านั้น
  • ทางออกหนึ่งที่สำคัญคือการเข้าใจธรรมชาติเพื่อการอยู่ร่วม และเราเท่านั้นที่ต้องปรับตัว ไม่ใช่ธรรมชาติต้องปรับตัวครับ
  • ขอบพระคุณพี่มากๆ นะครับ ต้องช่วยกันป้องกันปัญหาที่จะเิกิดร่วมกันนะครับ แล้วมีให้สมดุล สิ่งดีๆ จะเกิดและตกแก่รุ่นลูกหลานของเราเองครับ
  • ฝากไว้เล่นๆ หากแผ่นดินไหวหนักๆ แรงๆ เกิดขึ้น ในพื้นที่บ้านเรา จะทำอย่างไร เราพร้อมแล้วไหมในการที่จะให้ความรู้กับคน พร้อมแล้วไหมที่คนจะมีภูมิคุ้มกันเบื้องต้นในการช่วยเหลือตนเอง
  • แล้วจากสื่อที่เราได้รับอยู่ทุกวันมีสิ่งเหล่านี้อยู่บ้างไหม เราเตรียมพร้อมอย่างไร ในการตอบสนองสิ่งที่ยังมาไม่ถึง แต่มาแน่เหล่านั้น ซึ่งไม่รู้ว่าจะเกิดตรงไหนบ้างก่อนหลังอย่างไร
  • ขอบคุณครับ
  • ยังชอบธรรมชาติอยู่ดี
  • แต่ไม่ได้ปฎิเสธเทคโนโลยีครับ
  • ใช้มันให้พอเพียง
  • ไม่ควรเบียดเบียนธรรมชาติครับ
  • ขอบคุณน้องบ่าวครับ

สวัสดีครับคุณบัวชูฝัก

  • สวัสดีปีใหม่นะครับ สบายดีนะครับผม
  • ขอบคุณมากๆ นะครับ มาตอบช้าไปหน่อยครับ
  • ใช่ครับ ใช้สองแบบแบบเหมาะสมน่าจะมีแต่ผู้ชนะหากเราศึกษาให้ดี
  • เหมือนกับการปล่อยปลาในสระน้ำ ให้สระน้ำคือธรรมชาติ และ ปลาที่จะปล่อยคือเทคโนโลยี เราต้องศึกษาปรับสภาพน้ำ และให้เทคโนโลยีปรับตัวเพื่อให้ระบบอยู่ได้แล้วเทคโนโลยีจะไม่ตาย แต่หากเทคโนโลยีลงไปแล้วก็ตายเลย ทำให้ปลาตาย เกิดผลเสียต่อธรรมชาติอีกครับ
  • อย่างไรก็ตาม การสร้างเทคโนโลยี ก็เหมือนการฉีดสารเข้าร่างกาย หากเป็นสิ่งแปลกปลอมต้องมีการประท้วงจากระบบองค์รวมแน่นอน อยู่ที่ว่าช้าหรือเร็ว ธรรมชาติมีระบบในการจัดการได้เสมอ ทุกปัญหาธรรมชาติจะแ้ก้ไขได้ตามปัจจัยเสมอ
  • ขอบคุณมากๆ นะครับผม หากเราอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างเข้าใจได้ทันเวลาเราก็จะเป็นผู้ประสานและเป็นคนกลางในการเชื่อมสิ่งดีๆ เข้าหากันได้ครับ 

สวัสดีครับพี่บ่าวขจิต ฝอยทอง

  • สบายดีนะครับผม ขอให้สนุกในสิ่งที่ทำครับ
  • ธรรมชาติและเทคโนโลยีอยู่ร่วมกันได้ครับ
  • เพียงแต่ธรรมชาติกับเทคโนโลยี มีหัวใจกันคนละเบอร์กัน และทุกอย่างเป็นเหตุและผลเชื่อมโยงต่อกันเองครับ
  • ต่างฝ่ายแทนที่จะแข่งกัน หรือเอาชนะกัน ก็เปลี่ยนเป็น แบ่งปัน ก็คงจะดีไม่น้อยครับ
  • แข่งกัน --> แบ่งปัน
  • ขอบคุณพี่บ่าวมากครับ 

สวัสดีครับทุกท่าน

    ได้เข้าไปอ่านบทความของพี่  กมลวัลย์   ในบทความ คนคุณค่า : นักวิชาการเพื่อสังคม

    ทำให้เห็นภาพชัดของมวยคู่เอก นี้ชัดขึ้น โดยมี ท่าน

ดร. แสวง รวยสูงเนิน

เป็นผู้อธิบาย ผมได้ให้ความเห็นไว้ดังนี้ครับ

ท่านไปติดต่อตามคลิปที่มีคุณค่า อาหารสมองได้ที่ 

คนคุณค่า : นักวิชาการเพื่อสังคม

 

สวัสดีครับพี่ตุ๋ย

  • ดีใจมากๆ เลยครับ ที่ข่าวเหล่านี้จะแพร่สะพัดทั่วประเทศไทยครับ จะได้ซึมซับอะไรดีๆ กับสังคมไทยต่อไปครับ เป็นที่พึ่งให้กับเกษตรกรที่พร้อมจะเรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกับธรรมชาติ เอื้ออำนวยกับธรรมชาติครับ
  • จริงอย่างที่ อ.แสวงว่าครับ จากธรรมชาติ 100% ก็กลายเป็นธรรมชาติลดลง จนธรรมชาติอ่อนแอ ธรรมชาติจะขอพึ่งพาคน ก็พึ่งมาไม่ได้ คนก็ต้องไปพึ่งพาบริษัทปุ๋ย สารเคมี ท้ายที่สุดแล้วก็คือ การฆ่าตัดตอนนั่นเอง
  • นี่คือการฆ่าตัด ตอนทางระบบนิเวศน์ก็ว่าได้ครับ พอใช้สารเคมีฆ่าตัดตอนสิ่งมีชีวิตหนึ่งก็กระทบกันเป็นห่วงโซและท้ายที่สุด ก็วกวนเข้าสู่ตัวคนอยู่ดีครับ
  • จากที่ธรรมชาติให้คุณ เมื่อธรรมชาติอ่อนแอ ธรรมชาติก็สนองโทษแทนครับ คราวนี้หล่ะครับ จะหาสารเคมีมาใส่น้ำให้น้ำดี ก็หายากแล้วล่ะครับ จะหาน้ำมนต์มาฉีดพ่นป่าไม้ให้ป่าฟื้นลุกขึ้นมาใหม่ก็คงยากแล้ว เพราะว่าพระแม่ธรณีโดนทำลายไปแล้ว
  • จะขับเครื่องบินไล่เมฆในอากาศก็ไ่ม่ได้อีกแล้วเพราะว่าพระพายแปรเปลี่ยนไปในทางอื่นแล้ว
  • นี่ล่ะหนอ...ฆ่าตัดตอนทางนิเวศ ก็เป็นแบบนี้นี่เองครับ
  • คลิป คนคุณค่าทุกๆ ตอนผมว่าน่าจะเอามาเปิดวันละสามเวลาครับ หรือน่าจะมีการตามไปดูค้นๆๆ ขุดต่อยอดสิ่งดีๆ ออกมานำเสนออีกต่อเนื่องที่แท้จริงให้เกิดผลกับประชาชนจริงๆ ก็น่าจะดีครับ
  • น่า จะมีสื่อที่ยืนอยู่กับพี่น้องเกษตรกรสักช่องนะครับ ให้คนเกษตรคุยกับนักวิชาการที่ทำจริงผ่านจาก ชุมชนถึงประชาชนได้ก็คงดีครับ โดยมีสื่อเป็นตัวเชื่อม คงจะรอดวิกฤตที่จะมาถึงนี้ได้เยอะพอสมควร
  • อิๆๆๆ เข้ามาบ่นใหญ่เลยครับผม ขอบคุณมากๆ นะครับ
  • สวัสดีปีใหม่ครับ

 

เอ้า  พี่หนิงกำลังจะมาบอกน้องชายนะเนี่ย...

เจอ blogger ออกทีวีค่ะ   อิอิ ช้าไปนี่นา

สวัสดีปีใหม่ค่ะ (ยังไม่เก่านะ)

  • ธรรมชาติ กับ เทคโนโลยี เป็นมวยคู่เอกที่ไม่ค่อยเป็นธรรมค่ะ
  • เพราะเทคโนโลยีมีพี่เลี้ยง..ส่วนธรรมชาติชกเอง !!!
  • ชกไม่เข้าท่า...พี่เลี้ยงเอาเทคโนฯ ลงมาปรับจูน...ส่งขึ้นชกใหม่.....อิอิ.
  • .......
  • ทำไมถึงอยู่ด้วยกันไม่ได้คะ
  • พ่อเคยเล่าให้ฟังว่าเมื่อราว 50-60 ปีก่อน แถวบ้านเป็นดงทึบ....มีสัตว์ป่าสารพัด
  • หลังจากคนมากขึ้น...หมู่บ้านโตขึ้น....ถนนดำเข้ามา ก็ไม่เข้าใจว่าป่าหายไปไหนหมด
  • แถมเดี๋ยวนี้...มีไร่อ้อย (ส่งโรงงาน) เข้ามาอีก....ต้นไม้ที่เหลือ 2-3 ต้นในนา โดนโค่นไม่เหลือ
  • อยู่ด้วยกันไม่ได้หรืออย่างไร ต้นไม้สูงกับต้นอ้อย.....ไม่เข้าใจค่ะ !!!

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับพี่สาว DSS "work with disability" ( หนิง )

  • ขอบคุณมากๆ นะครับ ที่แจ้งข่าวทำให้ผมไปเจอเมนูเด็ดในบทความที่พี่กล่าวไว้ครับ เจอเมนูนี้เอาขาหมูเยอรมันมาแลกก็ไ่ม่ยอมครับ
  • ขอบคุณมากๆ นะครับ 

555  แต่เมนูนี้ น้องไม่ต้องเรียกพี่หนิงนะคะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับพี่Gutjang

  • ขอบคุณมากครับ สำหรับวันใหม่ทุกๆวัน วันดีทุกๆวันที่มีลมให้หายใจ มีอากาศดีๆให้ยังชีพครับ
  • นั่นนะซิครับ จะหาพี่เลี้ยงธรรมชาติ ได้อย่างไรครับ
  • ในหลวงท่านเคยบอกว่า อย่าไปยุ่งกับธรรมชาติ หรือผืนป่าแล้วจะเป็นป่าเอง ให้ธรรมชาติเลี้ยงธรรมชาติเองครับ ไม่เดินเข้าป่าบ่อยๆ จะเห็นพัฒนาการที่ชัดเจนครับ
  • สำหรับถนนดำ นั้น เค้าว่ากันว่า ปลายถนนมักจะชี้ไปที่ผืนป่าครับ หรือไม่มักจะวิ่งไปที่ต้นไม้ใหญ่ครับ จากนั้นก็แผ่รังสีจนต้นไม้อายุยาวก็ต้องมดม้วยแทนที่จะชี้ฟ้า ก็กลายเป็นนอนราบคาบหมอบกราบและอ่อนน้อมต่อเทคโนโลยีครับ
  • ไว้ให้ิวิกฤตก่อนครับ อีกอย่างคือ สายตาของคนส่วนหนึ่งเป็นอาฆาตกับต้นไม้ครับ มันคงรกลูกหูลูกหาเวลามองไปข้างหน้านะครับ
  • ถางโค่นแล้วมันเตียนโล่งครับ  คือว่าทำกันมาเป็นหลายสิบปีนะครับ ถนัดโค่นมากกว่าปลูกนะครับ ต้องคิดใหม่เท่่านั้นครับ หรือไม่ก็ต้องแช่แข็งทางความคิดสักสิบปีครับ อาจจะทำให้ต้นไม้พอจะงอกขึ้นมาได้บ้างครับ
  • ความรู้อยู่ในธรรมชาติ ทำลายธรรมชาติขาดความรู้
  • สงสัยผมต้องเปลี่ยนใหม่เป็น
  • หัวใจอยู่ในธรรมชาติ ทำลายธรรมชาติขาดใจ(ขาดใจ คือ สิ้นลม)
  • ขอบคุณพี่มากๆ นะครับ ที่มาช่วยกระตุกเรื่องถนนดำ นะครับ โชคดีและรักษาสุขภาพนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท