จิตตปัญญาเวชศึกษา 47: ความคุ้นเคย นิสัย สันดาน


ความคุ้นเคย นิสัย สันดาน

มีพุทธภาษิตที่ว่า "สุสฺสูสํ ปรมํ ญาติ" หรือ "ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง" นั้นมีนัยที่น่าสนใจ

ในการทำงานของสมอง เซลล์ประสาทมีการเชื่อมโยง สร้างเครือข่ายใหม่ตลอดเวลา บางเครือข่ายสร้างใหม่แล้วก็มีการทำลาย หรือล้มเลิกเครือข่ายเก่า และหากมีการทำซ้ำๆ สมองก็จะมี "รอยบาก" ของเครือข่ายนี้ที่ลึกซึ้ง ถาวรขึ้น ทำซ้ำมากขึ้นอีกจนกระทั่งเมื่อเราทำครั้งต่อไป ก็จะง่ายขึ้นๆ จนกลายเป็นธรรมชาติ กลายเป็นจิตใจ้สำนึก หรือ subconscious ที่เราไม่ต้องตั้งใจ หรือใช้สมาธิกับมันอีก เช่น การแปรงฟัน ใส่เสื้อผ้า อาบน้ำ

If we do somthing over and over and over again, by the mere fact that we're repeating it, the process of learning whatever we'sre learning starts to become simple, and it starts to become familiar. It starts to become easy. It starts to become natural, and it starts to become subconscious.

 Joe Dispenza, from "What the bleep do we know?"

ในการศึกษานั้น เราหวังว่าเราจะพัฒนาความเชี่ยวชาญชำนาญหลายๆอย่างจนเก่งกาจสามารถ และในทางการแพทย์ก็จะมีหัตถการมากมายที่เราอยากจะให้เก่งจนเป็น "ธรรมชาติ" หนึ่งของตัวตนของเราเอง หลายๆคนก็หัดเย็บแผล หัดผูกปม อยากจะเป็นศัลยแพทย์ หลายๆคนหัดอ่าน EKG (electro-kardiogram ผลรายงานคลื่นไฟฟ้าหัวใจ) เพราะอยากจะเป็นหมอโรคหัวใจ หลายๆคนก็ฝึกแล้วฝึกอีกในการใช้กล้องส่องทางเดินอาหาร เพราะอยากจะเป็น Endoscopist หรือผู้เชี่ยวชาญส่องกล้องตรวจทางเดินอาหาร

ในบรรดาหัตถการที่เป็นของ "ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง" นั้น มีอะไรที่เป็นหัตถการของ "หมอทุกคน" ไหม?

น่าจะมี อาทิ การสัมภาษณ์ประวัติ การตรวจร่างกาย การให้การวินิฉัยและการรักษาโรคเบื้องต้นและปฏิบัติการกู้ชีวิต

รวมทั้ง "จริยธรรม" ที่ซึมซับเป็นบุคลิก เป็นธรรมชาติ ของแพทย์

การที่กิจกรรมสามารถกลายเป็น subconscious เพราะเกิดความชำนาญ เชี่ยวชาญ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีก็คือเราสามารถทำได้เร็ว อย่างถูกต้อง เราจะได้มีเวลาใช้พลังงานใช้สมองในเรื่องอื่นๆที่ต้องใช้สมาธิ ใช้ความใคร่ครวญมากๆไปในขณะเดียวกัน ส่วนข้อเสียก็คือ อะไรที่เป็นการทำโดย subconscious แปลตรงตัวก็คือ เราไม่ได้มี "สติ" สมบูรณ์อยู่ที่การกระทำนั้นๆ

การที่เราไม่ได้มี "สติ" รู้ตัวขณะที่กระทำเรื่องนั้นๆ ทำให้เราไม่ได้คิดมากนัก (หรือไม่คิดเลย) ว่าจะมีผลอะไรเกิดขึ้นบ้าง จนกว่าผลที่คาดไม่ถึงจะผุดโผล่ปรากฏ ยิ่งผลที่เป็นนามธรรม ยิ่งอาจะผุดโผล่ปรากฏยากกว่าปกติ เมือ่เทียบกับผลที่เป็นรูปธรรม

ในการพัฒนาการเรียนรู้ และส่งพฤติกรรม หรือ "ชุดพฤติกรรม ชุดความคิด" บางอย่างลง subconscious นั้น ปรากฏว่าชดพฤติกรรม ชุดความคิดที่ลงไปในระดับนี้ อาจจะมีได้ทั้งที่ "ดี และไม่ดี" หรือ "ดี และ เลว"

ในยุคนี้ มีคนพูดถึง The End justifies the Means ของ Machaville มากขึ้น มีคำถามประเภท "นักการเมืองที่ปลิ้นปล้อน โกงกิน แต่บริหารเก่ง หาเงินเก่ง ทำเศรษฐกิจเฟื่องฟู ย่อมจะดีกว่านักการเมืองซื่อสัตย์ มือสะอาด แต่ทำอะไรเชื่องช้า ไม่ทันเหตุการณ์ เพราะผูกมัดมือเท้าด้วยอะไรที่เป็นนามธรรม อย่างเช่น คุณธรรม จริยธรรมไปตลอดเวลา" น่าสนใจว่าเมื่อเรา "อนุญาต" ให้การโกงกิน การไร้จริยธรรม คุณธรรม เกิดขึ้นบ่อยๆ อะไรที่จะค่อยๆกลายเป็นเรื่องง่าย เรื่องธรรมชาติ และลงไปในระดับ "จิตใต้สำนึก" หรือ subconscious ในที่สุด?

เมื่อพฤติกรรมบางอย่างเกิดซ้ำๆ จำเจ พลังงานรูปแบบนี้ หรือ archetype แบบนี้ ถูก set value ว่า "ยอมรับได้" มากๆเข้าเราก็จะไม่ต้องไปใส่ใจ ทำเป็นอัตโนมัติ และไม่แม้แต่พิจารณาว่าควรไม่ควร ในครั้งต่อๆไป เพราะ "เคยชิน หรือ กลายเป็นสันดาน"

จะเห็นว่า "ความเคยชิน" นี้เองที่เป็นสาเหตุของอะไรที่ไม่ดีในสังคม ไม่ใชเพราะว่าคนไม่ทราบว่าไม่ดี แต่เป็นเพราะ "เคยชิน" จนตอนหลังๆไม่ได้นึกว่าดีหรือไม่ดี แต่ก็จะทำไปโดยอัตโนมัติ เหมือนการแปรงฟัน อาบน้ำ แต่งตัว เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน

อะไรที่เราอาจจะสังเกตเห็นกิจกรรมทุกๆวันบ้าง?

การนินทา การพูดลับหลังผู้อื่นในเรื่องไม่ดี ก็เป็นอย่างหนึ่ง ถามตรงๆกับใครๆว่าการนินทาดีไหม การพูดลับหลังให้ร้ายคนอื่นดีไหม ก็จะได้คำตอบเหมือนๆกันว่าไม่ดี (ไม่ได้พูดถึงชนกลุ่มน้อยที่ผมเชื่อว่ามี ที่จะตอบว่า ดีสิ มันส์ดี ไม่เห็นมีอะไรเสียหาย) แต่คนที่ตอบว่ามันไม่ดี อย่างโน้นอย่างนี้ ก็ยังมีการนินทา และพูดลับหลังเสมอๆ เพราะ norm ที่ใครๆก็ทำกัน

การติดเป็นนิสัยเป็นอะไรที่แปลกประหลาด คนบางคนจะไปทำงานด้วยเส้นทางเดิมเป็นสิบๆปี แม้ว่าอาจจะมีเส้นทางอื่นที่เร็วเท่ากัน หรือแม้แต่เร็วกว่า สะดวกกว่า แต่พลังที่ "สะกด" ให้เราทำซ้ำๆ จาก NETWORK ของสมองที่ได้ SET ไว้ว่าเส้นทางนี้แหละ คือเส้นทางของเรา มันทรงพลังมาก จนเราต้อง "ตั้งใจ" จริงๆ คือ เรียกเอา "สติ" คืนมา จึงจะสามารถสร้าง network ของเซลล์ประสาทชุดใหม่มารองรับเส้นทางใหม่ได้

กิจกรรมที่เราทำทุกวัน ซับซ้อนและหลากหลาย สมองจึงได้ถูกออกแบบให้มีแนวโน้มจะสร้าง automatic network ที่ว่านี้ ปัดให้หลายๆกิจกรรมมากที่สุดที่เป็นไปได้ (และเรายังรู้สึกปลอดภัย) ให้เป็น "ความเคยชิน" หรือ "subconscious actions" หน้าที่ของเราก็คือ ดูแลให้เรื่องคุณธรรม จริยธรรม อย่าให้หลุดลงไปในท่อแห่งความเคยชินมากเกินไป เพราะ "บริบท" ยังเป็นเรืองสำคัญมากในการที่จะตัดสินใจให้ได้ดี

แพทย์ หรือ ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย พึงตระหนัก และสืบค้นตนเองว่า อะไรที่ตนเองได้ "โยน" ลงไปในเครือข่ายสมองชั้นจิตใต้สำนึก และพยายามรักษาคุณค่าของจิตวิญญาณของตนเอง ให้อยู่ในระดับรู้สติ มีสัมมาสติ สัมมาสมาธิ และ สัมมาทิฎฐิ อยู่ตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้ค่อยๆสั่งสม และบางอย่างอาจจะจมลงไปเรียบร้อยแล้วก็มี แต่ยังไม่สายเกินไปที่เราจะฟื้นฟูสมรรถภาพในการเรียนรู้ และหยิบขึ้นมาหล่อเลี้ยงใหม่ เพื่อการเป็นแพทย์ และเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

หมายเลขบันทึก: 156504เขียนเมื่อ 29 ธันวาคม 2007 11:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะอาจารย์

ขออนุญาตมาสวัสดีปีใหม่อาจารย์และครอบครัวค่ะ

และขอนำบันทึกเรื่องนี้ ไปเป็นแนวทางของชีวิต  เพื่อจะฝึกให้ใจเราคุ้นเคยกับสิ่งดีๆ  ที่ทำอย่างเป็นประจำ นอกจากจะเป็นความชำนาญเฉพาะตัวแล้ว จิตใต้สำนึกยังบันทึกและจดจำไว้ ตลอดชีวิตอีกด้วยค่ะ

 

 

สวัสดีปีใหม่ครับ คุณ Sasinanda P

ขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากลโลกปกป้องดูแลผู้ถือธรรมะ ผู้ครองตนมีสติ ผู้ปฏิบัติมงคล ตลอดไปด้วยครับ

ขอบพระคุณที่เป็นเพื่อนร่วมสนทนาที่น่าสนใจที่สุดท่านหนึ่งมาตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท