ประชุมปฎิบัติการเรื่อง KM(การจัดการความรู้) ของ สพท.นนทบุรี เขต 1


Knowledge Management : KM เป็นกระบวนการจัดการความรู้เพื่อพัฒนางาน พัฒนาคนและพัฒนาองค์กร

สพท.นนทบุรี เขต 1 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรีจัดอบรมเชิงปฎิบัติการเรื่องการจัดการความรู้(KM) แก่ ผู้บริหาร ครู และ บุคลากรทางการศึกษา 2 รุ่น รุ่นแรกระหว่าง 30 ม.ค -2 ก.พ. 49  ณ โรงแรมริชมอนด์  รุ่น 2 วันที่ 20-23 มีค. 49 ที่โรงเรียนเบญจมราชานุสรณ์ ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์ทีมวิทยากรจาก สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม(สคส.) ซึ่งนำโดย ศจ.นพ.วิจารณ์ พานิช และ ดร.ประพนธ์  ผาสุุขยืด โดยวันแรกเป็นวันให้ความรู้เรื่อง KM. กับกลุ่มใหญ่ ส่วนอีก 3 วัน เป็นการปฎิบัติการกับกลุ่มเล็กที่มุ่งไปเป็นวิทยากรแกนนำและไปปฏิบัติจริง  รูปแบบการอบรมเที่ยวนี้จะไม่เน้นภาคทฤษฎี แต่เป็นการลงมือปฏิบัติจริงให้เห็นกระบวนการจัดการความรู้ที่ดึงความรู้จากตัวคนแต่ละคนมาเป็นขุมความรู้ได้อย่างมากมาย ด้วยวิธีการที่เป็นกัลยาณมิตร เคารพในศักยภาพของความเป็นมนุษย์ เป็นบรรยากาศที่เอื้อต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ทุกคนมีความสุข เป็นการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานที่สร้างเสริมบรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างแท้จริงโดยกระบวนการจัดการความรู้จะมีการกำหนดบทบาทของบุคคลต่างๆ เช่น คุณเอื้อ  คุณอำนวย  คุณกิจ คุณลิขิต ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการไปศึกษาดูงานที่โรงเรียนทำ KM.จริงๆ รุ่นแรกไปที่โรงเรียนจิระศาสตร์  รุ่น 2 จะไปที่ โรงเรียนรุ่งอรุณ  และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยการเปิดบล็อกของตัวเองผ่านระบบ ICT ด้วย ซึ่งผมก็ได้เปิดบล็อกของตัวเองนี้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับท่านแล้ว ก็อยากเชิญชวนทุกหน่วยงานมาสนใจเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง ผมเห็นว่าหากโรงเรียนหรือหน่วยงานต่างๆนำกระบวนการนี้ไปใช้อย่างต่อเนื่องจะทำให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ได้อย่างแท้จริง

หมายเลขบันทึก: 15541เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2006 18:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2012 14:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
วันนี้ได้ไปรายงานการทำ KM ของ สพท.นบ.ข1.ให้ท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี(ท่านวิเชียร)รับทราบ ถึงเป้าหมายและวิธีการทำงานของเรา ทั้งการอบรม การสร้างเครือข่ายพัฒนา CoPต่างๆ ที่มีเจ้าภาพชัดเจน ภายใต้เป้าหมายคือ "สพท.นบ.ข.1 เข้มแข็ง โรงเรียนเข้มแข็ง" เพื่อสร้างวัฒนธรรมการทำงานและร่วมกันพัฒนาให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้(LO) ร่วมกัน อย่างเป็นระบบเครือข่ายทุกเรื่อง  ท่านรองฯวิเชียรชื่นชอบวิธีการ KM ของเรามาก และวันที่ 27 ก.พ ท่าน ผอ.ประไพ และผมจะไปรายงานเรื่องนี้ให้ท่านผู้ว่าฯพระนายทราบต่อไป เพราะท่านเอาจริงกับเรื่องนี้มาก  ท่านเชิญทีม KMจังหวัดหารือทุกอาทิตย์ ผมก็เป็นหนึ่งในทีมนี้ด้วย
วันศุกร์ที่ 24 ก.พ. เวลา 16.00-18.30 น. ท่านผู้ว่าฯพระนาย ได้เชิญทีม KM ของ สพท.นบ.เขต 1 และ เขต 2 มาเล่าการทำ KM ของตนเองให้ฟัง ซึ่งมีทั้งท่านรองผู้ว่าฯวิเชียร  วิทยากร KM จากสถาบันเพิ่มผลผลิต และทีม KM ของจังหวัดนนทบุรี  ด้วยบรรยากาศที่ชื่นมื่น ถือเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน  ของเขต 1 เราเพิ่งเริ่มอบรมกัน โดยเรามุ่งปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมทำงานของแต่ละหน่วยงานไปพร้อมกันจึงไม่ค่อยจะเร่งรัดและมีแผนที่ชัดเจนเหมือนเขต 2 ที่เขาทำไปก่อนแล้ว  เราคงไม่แข่งกันแต่เราจะทำไปพร้อมๆกันและแลกเปลี่ยนกันไป ...ท่านผู้ว่าฯขออย่างเดียวว่า "อย่าเป็นไฟไหม้ฟางเหมือนหลายๆเทคนิคที่เข้ามาแล้วก็ค่อยๆหายไปก็แล้วกัน" 
วันที่ 27 ก.พ.หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ลงข่าวการอบรมและการพัฒนางานตามกระบวนการ KM ของ สพท.นนทบุรีเขต 1-2 และหนังสือพิมพ์ไทยรัฐก็ลงภาพการอบรม KM ของเขต 1 ด้วย  วันที่ 27 อีกเช่นกัน ท่านผู้ว่าฯพระนาย ให้ สพท.ไปนำเสนอการดำเนินงานเรื่อง KM ของเขตตนเองในที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการจังหวัด  ผมได้เป็นผู้แทนไปนำเสนอด้วย Powerpoint ประมาณ 10 นาที มีผู้สนใจและซักถามกันพอสมควร ท่านผู้ว่าฯให้ความสำคัญเรื่องนี้เป็นพิเศษ และเชิญชวนให้ทุกหน่วยงานนำกระบวนการนี้ไปใช้  ท่านบอกว่าจังหวัดนนทบุรี เป็นจังหวัดเดียวที่นำร่องทำ KM ของ กพร.และผ่านการประเมินในเบื้องต้นตามเกณฑ์ กพร.แล้ว ท่านจึงขอให้ทีม KM ของจังหวัด(ผมก็อยู่ในทีมด้วย) เป็นคุณอำนวยดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ  พร้อมทั้งขอร้องให้หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดที่ทีม KM สังกัดอำนวยความสะดวกให้บุคลากรมาร่วมประชุมปฎิบัติการซึ่งมีเกือบทุกสัปดาห์ด้วย
ผมได้ลองนำกระบวนการ KM ไปใช้ในการประเมินครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อให้มีวิทยฐานะ ที่กำลังดำเนินการอยู่ โดยนอกจากการประเมินตนเอง  การดูหลักฐานเอกสาร  การสัมภาษณ์ผู้บริหาร เพื่อนครู นักเรียน และผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว  ยังใช้วิธีการให้ผู้รับการประเมินเล่าเรื่องความสำเร็จที่เป็น Best Practices ของตัวเองตามภารกิจ อย่างอิสระไม่เร่งรัด แล้วเราก็ตั้งใจฟังด้วยความสนใจ แล้วชวนคุยโยงถามไปถึงประเด็นข้อสงสัยให้ครอบคลุมตามตัวชี้วัดการประเมินอย่างไม่ต้องเป็นไปตามลำดับ โดยพยายามทำให้ผู้รับการประเมินไม่เกิดความรู้สึกว่ากำลังถูกประเมิน แต่เป็นการพูดคุยกัน ด้วยบรรยากาศที่เป็นกัลยาณมิตร และมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันด้วย  จากวิธีการดังกล่าวทำให้มีความรู้สึกว่าผู้ประเมินก็สบายใจ(ได้ขุมความรู้ด้วย) และผู้ถูกประเมินก็สบายใจไม่เหมือนการถูกเรียกไปสัมภาษณ์ทั่วๆไป  ที่สำคัญคือได้ข้อมูลอย่างครบถ้วนเป็นธรรมชาติดีด้วย  ใครจะลองไปปรับใช้ก็ไม่สงวนลิขสิทธิ์นะ

 

เรียน ท่านธเนศ

ยินดีด้วยนะคะกับความสำเร็จ

โคราชเพิ่งจะเริ่ม

สวัสดีค่ะ

 

เรียน ท่านธเนศ

ยินดีด้วยนะคะกับความสำเร็จ

โคราชเพิ่งจะเริ่ม

สวัสดีค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท