หล่มประวัติศาสตร์ : มายาคติใต้กงล้อประวัติศาสตร์พม่า


หากมองลึกลงไปในตำราเรียนและสื่อทางการของพม่า ก็พอจะสังเกตได้ว่าพม่ามักจะเอ่ยถึงอดีตเพื่อย้อนรำลึกถึงประวัติศาสตร์อันรุ่งโรจน์ในยุคราชวงศ์
หล่มประวัติศาสตร์ : มายาคติใต้กงล้อประวัติศาสตร์พม่า
หากมองลึกลงไปในตำราเรียนและสื่อทางการของพม่า ก็พอจะสังเกตได้ว่าพม่ามักจะเอ่ยถึงอดีตเพื่อย้อนรำลึกถึงประวัติศาสตร์อันรุ่งโรจน์ในยุคราชวงศ์ ตลอดจนประสบการณ์อันเลวร้ายในยุคอาณา-นิคม และผลพวงที่ตามมาอยู่เสมอ โดยเฉพาะเมื่อต้องการจะอธิบายภาวะและวิกฤตของประเทศในปัจจุบัน ประเด็นทางประวัติศาสตร์ที่ยกมาอ้างอยู่บ่อยๆ เห็นจะได้แก่ แบบอย่างของการสร้างชาติเอกภาพ ภัยคุกคามจากต่างชาติ และความแตกแยกของชนในชาติ ดังจะพบได้เสมอในคำกล่าวสุนทรพจน์ของผู้นำประเทศในวาระต่างๆ ตลอดจนแถลงการณ์ของพลังมวลชนที่ถูกเกณฑ์มาสนับสนุนนโยบายหรือผลงานของรัฐบาล เพลงปลุกใจที่ขับกล่อมทางวิทยุ-โทรทัศน์ และบทความที่เสนอผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ของรัฐ บทเรียนจากประวัติศาสตร์ที่นำมาอ้างอยู่เสมอนั้น บ่งบอกว่ารัฐบาลพม่ายังปรารถนาให้ประชาชนมีความผูกพันกับมายาภาพความรุ่งเรืองในบางสมัยแห่งยุคราชวงศ์ (ค.ศ.๑๐๔๔-๑๘๘๕) ให้จดจำบทเรียนอันปวดร้าวในยุคอาณานิคม (ค.ศ.๑๘๘๖–๑๙๔๘) และให้ตระหนักในภัยการเมืองแบบพหุพรรคและสงครามกลางเมืองเมื่อต้นสมัยเอกราช(ค.ศ.๑๙๔๘–๑๙๖๒) ชาวพม่าส่วนใหญ่จึงเติบโตมาพร้อมกับการรับรู้บทเรียนดีร้ายจากอดีตดังกล่าว
ในประเด็นแบบอย่างการสร้างชาติเอกภาพนั้น พม่าจะย้อนไปถึงสมัยราชอาณาจักรอันรุ่งเรือง โดยให้ภาพว่าในยุคสมัยนั้นชนชาติพม่าสามารถสร้างอาณาจักรที่เข้มแข็งขึ้นได้จากการมีผู้นำที่เก่งกล้า และชนในชาติมีความสามัคคีกลมเกลียว พม่าจึงมีอาณาเขตกว้างใหญ่และเป็นปึกแผ่น อีกทั้งยังเกรียงไกรด้วยแสนยานุภาพ ยุคสมัยอันรุ่งเรืองมี ๓ ยุค ได้แก่ สมัยของพระเจ้าอโนรธาและพระเจ้าจันสิตตาแห่งพุกาม (ค.ศ.๑๐๔๔–๑๑๑๓) สมัยของพระเจ้าตะเบ็ง-ชเวตี้และพระเจ้าบุเรงนองแห่งตองอู-หงสาวดี (ค.ศ. ๑๕๓๑–๑๕๘๑) และสมัยพระเจ้าอลองพญาแห่งราชวงศ์คองบอง (ค.ศ.๑๗๕๒–๑๗๖๐) วาทกรรมสำคัญที่สะท้อนความยิ่งใหญ่ของยุคนั้น ได้แก่ พุกามอันไพบูลย์ (x68"gdk'Nt0kt) ยอดวีรบุรุษ (l^icgdk'Nt) และ สายเลือดพม่า (r,kgl:t) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการแต่งแต้มความทรงจำแห่งอดีตให้ปรากฏนัยทางการเมืองอยู่เสมอ ด้วยการรื้อฟื้นประเพณีโบราณและการปฏิสังขรณ์โบราณสถาน อาทิ การเฉลิมฉลองช้างเผือก การแสดงเรือพระราชพิธี การแสดงอัศวยุทธ การแสดงนาฏศิลป์โบราณ การบูรณะเจดีย์เก่า การสร้างเจดีย์ใหม่ การขุดค้นวังโบราณของพระเจ้าบุเรงนองที่พะโคและพระเจ้าอโนรธาที่พุกาม   ตลอดการสลักพระพุทธรูปหินอ่อนขนาดใหญ่เพื่อสะท้อนสันติสุขรุ่งโรจน์เยี่ยงโบราณสมัย ส่วนการปลูกฝังความรู้ทางประวัติศาสตร์และวรรณคดีผ่านระบบการศึกษาของพม่านั้น จะเน้นเรื่องการทำศึกสงครามและวีรกรรมของกษัตริย์ในยุคราชวงศ์ และแม้พม่าจะผ่านยุคสมัยสังคมนิยมมาก็ตาม แต่ภาพอดีตจากยุคราชวงศ์ที่เน้นภาพขุนศึกศักดินากลับไม่จางหาย เหตุเพราะยุคราชวงศ์นั้นถือเป็นตัวตนของพม่าในอดีต และเป็นพัฒนาการช่วงหนึ่งของสังคมพม่าที่เชื่อว่าปรากฏแบบอย่างที่ดีของการสร้างชาติเอกภาพ
ในเรื่องเกี่ยวกับภัยต่างชาตินั้น พม่าจะย้อนกลับไปสู่ยุคล่าอาณานิคมในกลางสมัยคองบองจนถึงสิ้นสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยมักเอ่ยถึงเล่ห์อุบายทางการเมืองของต่างชาติ สภาพเลวร้ายของการตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษและญี่ปุ่น และการต่อสู้เพื่อเอกราชด้วยพลังประชาชน วาทกรรมสำคัญที่สะท้อนยุคนี้ เช่น  ฉัตรหักกลองแตก (5utdy7bt 0PNgxjdN) จิตใจรักชาติ (,y7bt-y0N0b9NTk9N) และไม่ขอตกเป็นทาสผู้อื่น (l^hd°oN,-") เป็นต้น ในปัจจุบัน พม่ามักเตือนภัยจากต่างชาติด้วยการต่อต้านวัฒนธรรมและการเมืองแบบตะวันตก ผ่านทางภาพยนต์ นวนิยาย การ์ตูน และเพลง ผลงานของนักเขียนรุ่นเก่าๆตั้งแต่สมัยอาณานิคมเรื่อยมาที่เขียนต่อต้านเจ้าอาณานิคมจะได้รับการยกย่องและตีพิมพ์ซ้ำ อีกทั้งมีการถ่ายทอดสู่ตำราเรียน และจัดประกวดความเรียงกับปาฐกถาในวันสำคัญของชาติ ได้แก่ วันเอกราช วันกองทัพ วันวีรบุรุษ วันประชาชน วันกรรมกร วันชาวไร่ชาวนา และวันสหภาพ ในปัจจุบัน ภัยจากต่างชาติยังถือเป็นภัยต่อความมั่นคงที่สำคัญของพม่า และพม่ามักใช้เป็นปัจจัยกำหนดนโยบายความสัมพันธ์กับนานาประเทศตลอดมา มายาภาพต่อภัยต่างชาตินั้นจึงกลายเป็นวาทกรรมที่รัฐใช้กระตุ้นเตือนประชาชนและปลุกกระแสชาตินิยมเพื่อหวังความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของคนในชาติ
ในเรื่องความแตกแยกของชนในชาตินั้น พม่าถือเป็นภัยที่กระทบต่อการพัฒนาประเทศตลอดมา ภัยที่ว่านั้นคือการก่อการร้ายและการต่อสู้ทางการเมือง พร้อมกับเสนอบทบาทของกองทัพว่ามีพลังรักชาติที่ประเสริฐกว่าพรรคการเมืองอย่างโลกเสรีประชาธิปไตยและสามารถจัดการกับปัญหาชนกลุ่มน้อยได้ วาทกรรมสำคัญที่สะท้อนยุคนี้ เช่น กองทัพประชาชน (exPNl^h9xN,g9kN) กบฏหลากสี (gik'N06"l^x6oN) และจิตใจสหภาพ (exPNg5k'N060b9NTk9N) เป็นต้น จากประสบการณ์ความแตกแยกทางการเมืองในสมัยแรกของการได้รับเอกราชนั้น กองทัพพม่าจึงไม่ปรารถนาให้การเมืองในพม่ามีทางเลือกหลากหลาย และต่อต้านการแบ่งแยกดินแดนอย่างเด็ดขาด ที่ผ่านมา ศัตรูของพม่าจึงได้แก่ลัทธิคอมมิวนิสต์ ลัทธิเสรีประชาธิปไตย และอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน อย่างไรก็ตาม พม่ากลับยอมให้มีการกำหนดชื่อรัฐเป็นชื่อชนชาติ ได้แก่ รัฐกะฉิ่น รัฐฉาน รัฐคะยา รัฐกะเหรี่ยง รัฐมอญ รัฐยะไข่ และรัฐฉิ่น ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเงื่อนไขอันสืบเนื่องจากการที่พม่าได้รับเอกราช การเตือนภัยเรื่องกบฏหลากสีและความแตกแยกทางลัทธิการเมือง จึงเสมือนปราการป้องกันมิให้เกิดความแตกแยกซ้ำรอยอดีต ดังนั้นพม่าจึงหันมาเน้นนโยบายความปรองดองของชนในชาติ ก่อตั้งกลุ่มพลังมวลชนรักชาติ และสร้างความเข้มแข็งให้กับกองทัพ
ความทรงจำดังกล่าวสะท้อนได้ว่าพม่าเห็นความสำคัญของการรักษาเอกภาพ การเตือนภัยภายนอก และการปรามภัยภายใน นอกจากนี้ ยังวาดหวังอนาคตด้วยวาทกรรม เมียนมาแผ่นดินทอง (gU­e,oN,k)เป็นเป้าหมายอีกด้วย อย่างไรก็ตาม แม้พม่าจะถูกมองว่าอาศัยประวัติศาสตร์สร้างมายาภาพให้ชาวพม่าระแวงโลกภายนอกและยอมรับรัฐเผด็จการก็ตาม แต่ในอีกด้านหนึ่ง ประวัติศาสตร์ก็อาจเป็นดุจกงล้อที่นำสังคมพม่าให้ก้าวจากหล่มลึกไปอย่างช้าๆและมั่นคง
วิรัช นิยมธรรม
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15538เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2006 18:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 23:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท