โยดะยา นั้นหรือคือ “ผู้แพ้” : หากจะคิดแย้งพม่าด้วยมุมมองทางภาษา


นับแต่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๕ เป็นต้นมา หนังสือพิมพ์เดอะนิวส์ไลท์ออฟเมียนมา และอินเตอร์เน็ตของรัฐบาลพม่าได้ลงบทความโจมตีไทยอย่างต่อเนื่อง
โยดะยา นั้นหรือคือ ผู้แพ้ : หากจะคิดแย้งพม่าด้วยมุมมองทางภาษา
นับแต่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๕ เป็นต้นมา หนังสือพิมพ์เดอะนิวส์ไลท์ออฟเมียนมา และอินเตอร์เน็ตของรัฐบาลพม่าได้ลงบทความโจมตีไทยอย่างต่อเนื่อง โดยดึงเรื่องราวความสัมพันธ์ไทยกับพม่าและเพื่อนบ้านอื่นๆในอดีตมาอธิบายต้นเหตุของความขัดแย้งด้านชายแดนในปัจจุบัน โดยพม่าสรุปเองว่าไทยไม่ใช่ “เพื่อนบ้านที่ดี” ทั้งต่อพม่าและประเทศรอบบ้าน ที่สุดฝ่ายไทยก็โต้ตอบพม่าโดยใช้สื่อเช่นกัน แต่ก็ทิ้งคำถามค้างคาใจว่าเหตุใดพม่าจึงโพนทะนาว่าไทยถึงเพียงนี้ คำตอบที่รับจากสื่อมวลชนไทยมีหลากหลาย อาทิ อาจเป็นอารมณ์สะสมที่รู้สึกว่าสังคมไทยมองคนพม่าในด้านลบมาตลอด  หรืออาจเป็นการสร้างสถานการณ์เพื่อประโยชน์ทางการเมืองภายใน หรืออาจมีมือที่มองไม่เห็นเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือพม่าต้องการส่งสัญญาณบางอย่างให้ได้รับรู้ เป็นต้น ส่วนคำตอบจะเป็นเช่นไรนั้นก็คงต้องแล้วแต่ข้อมูลข่าวสารและมุมมองที่มีต่อกรณีดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่น่าขบคิดอยู่ว่า ทำไมสื่อรัฐบาลพม่าจึงกำหนดนิยามให้กับ “โยดะยา” อันหมายถึงไทยว่าเป็น “ผู้แพ้” แล้วก็มีเสียงสะท้อนตอบรับแสดงความไม่พอใจที่พม่าเรียกไทยว่าโยดะยา เพราะเข้าใจไปว่าโยดะยาเป็นคำที่ดูหมิ่นดูแคลนตามที่พม่าบอก พม่าอ้างว่า “โยดะยา” มาจาก “อยุธยา” ราชธานีที่เราเสียให้กับพม่าเมื่อหลาร้อยปีก่อน พม่าบอกว่าได้ตัดพยางค์แรกแล้วก็เรียกว่า “ยุธยา” ภายหลังก็เพี้ยนมาเป็น “โยดะยา” ในปัจจุบัน การตีความเช่นนี้เคยปรากฏอยู่ในแบบเรียนสังคมศึกษา เล่ม ๒ ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ปีการศึกษา ๒๐๐๑–๒๐๐๒ ความว่า
“ความหมายของอยุธยา(vp6m¸p)มีว่า เผด็จศึกมิได้ แต่ด้วยชาวเมียนมาได้เรียกอยุธยาว่า ยุทธยะ(p6m¸p) อันหมายความว่า ประเทศที่ถูกเผด็จศึก จึงได้กลายเป็นประเทศโยดะยา(p6btmpkt)ในภายหลัง”
อันที่จริง การตีได้เมืองแล้วเปลี่ยนชื่อก็เคยมีกล่าวในประวัติศาสตร์พม่า อาทิ เมื่อพระเจ้าอลองพญาตีได้เมืองดะโกงของมอญ ก็เปลี่ยนชื่อฉลองเมืองเป็น “ย่างกุ้ง” ในความหมายว่า “หมดภัย” หรือ “สิ้นศัตรู” แต่กรณี “โยดะยา” กลับตีความให้เป็น “ผู้แพ้” ที่ฟังไม่เป็นมงคลเอาเสียเลย ในขณะที่คำว่า “เมียนมา” นั้น พม่าตีความให้ดูดีไปหมดว่าหมายถึง “ปราดเปรียว” และ “เข้มแข็ง” เมียนมาจึงเป็นคำที่ถูกใจพม่ามากกว่า “บะมา” หรือ “เบอร์มา” ที่พม่าบอกว่าได้เผลอเรียกตามฝรั่งอยู่นาน แต่ความเป็นชาตินิยมเอามากๆทำให้พม่าเลือกที่จะตีความโยดะยาให้หมายถึงไทยในทางลบ และให้เมียนมามีความหมายในทางดี ทั้งที่การตีความชื่อทั้งสองก็เป็นเพียงการหาร่องรอยรากศัพท์อย่างที่นักปราชญ์สายวัดของพม่านิยมกัน จึงน่าสงสัยว่าฝ่ายพม่านั้นด่วนตีความหรือไม่
ที่ผ่านมา “โยดะยา” ในนิยาม “ผู้แพ้” นั้น เคยมีการกล่าวถึงบ้างในวงแคบๆมาก่อนนี้ แต่ไม่พบหลักฐานว่าใครเป็นผู้คิดค้นนิยามนี้ขึ้นมา จึงยังไม่อาจหาข้อสรุปต่อเหตุปัจจัยในอดีตได้ชัดเจน ส่วนการกระพือนิยามเชิงลบในปัจจุบันนั้น เป็นที่แน่ชัดว่ามีที่มาจากการที่พม่าไม่พอใจไทยในปัญหาชนกลุ่มน้อยบริเวณชายแดน และจากการที่สื่อมวลชนและสื่อบันเทิงของไทยมักให้ภาพพม่าที่ไม่งาม แล้วพม่ายังกล่าวโทษระบบการศึกษาของไทยที่สั่งสอนคนไทยให้เกลียดชังพม่า พม่าจึงเก็บความไม่พอใจนี้ไว้ พร้อมกับให้ความสนใจศึกษาความคิดของไทยต่อพม่า
ก่อนหน้านี้ “โยดะยา” ไม่ใช่คำที่ชาวพม่าเรียกไทยอย่างดูแคลน และชาวพม่าก็มักเรียกคนไทยหรือประเทศไทยว่า “โยดะยา”  และก็ใช้บ่อยเสียยิ่งกว่าที่จะเรียก “ไทย” ซึ่งพม่ากำหนดให้เป็นคำเรียกอย่างเป็นทางการ คำว่า “โยดะยา” จึงมิได้แฝงนัยดูถูกมาก่อน อย่างที่พม่าเรียกแขกหรือฝรั่งว่า “กะลา” (พม่าไม่ค่อยชอบกะลาจากความทรงจำที่สั่งสมมาแต่อดีตและความต่างทางวัฒนธรรม) ส่วนผู้ที่ทำให้ “โยดะยา” เป็นคำหยามเหยียดคือสื่อมวลชนในกำกับของรัฐบาลพม่า และกระทรวงศึกษาธิการของพม่าที่ผลิตแบบเรียนสังคมศึกษาว่าด้วยความสัมพันธ์ไทยกับพม่าเมื่อปีที่ผ่านมา
ในทัศนะพม่า พม่ากล่าวถึงคำ “โยดะยา” ว่าเกิดขึ้นในบริบทของพม่า คือพม่าเป็นฝ่ายแก้คำอยุธยาให้เป็นยุธยา แต่จะเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับหลักฐานและมุมมองที่อาจต่างกันได้  ในที่นี้จึงใคร่ขอเสนอแนวคิดทางภาษาศาสตร์เพื่อสืบที่มาของคำโยดะยาในบริบทไทยไว้ได้พิจารณา
ดังเป็นที่ทราบกันว่าคนท้องถิ่นอยุธยาหรือแม้แต่คนที่ไม่ใช่คนท้องถิ่นก็ตาม มักจะเรียกจังหวัดอยุธยาแบบกร่อนเสียงว่า “ยุด-ยา” ก็เรียกกันสั้นๆทำนองเดียวกับที่เราเรียกสุโขทัยว่า “โขทัย”, เรียกพิษณุโลกว่า “พิดสะโลก”, “พิดโลก” หรือ “พิโลก”, เรียกนครสวรรค์ว่า “คอนหวัน” และ เรียกราชบุรีว่า “ลาดลี” เป็นต้น เหตุที่ชื่อเมืองอาจถูกเรียกแบบกร่อนเสียงนั้น ก็เพื่อความสะดวกปาก โดยตัดพยางค์ที่ไม่เน้นเสียงออกไปจนเหลือเฉพาะพยางค์ที่เน้นเสียงเท่านั้น คำหลายพยางค์จึงถูกลดรูปเป็นคำที่มีจำนวนพยางค์น้อยลง นั่นคือคนไทยชอบพูดหดคำ โดยเฉพาะชื่อบ้านนามเมืองที่ตั้งกันยาวๆ
ในเอกสารประวัติศาสตร์ของพม่า เวลาเอ่ยถึงชื่อเมืองและพระนามกษัตริย์ของไทย พม่ามักบันทึกตามสำเนียงพูดมากกว่าถ่ายอักษรจากตัวเขียน เช่น เวลาพม่าเอ่ยถึงเมืองพิษณุโลก พม่าจะใช้ว่า “ปิ๊ดตะเล่า” (xbÊg]kdN) ซึ่งคงได้มาจากภาษาปากของคนไทยในท้องถิ่นยุคก่อนๆที่มักเรียกพิษณุโลกว่า “พิดสะโลก” ฉะนั้นจึงอาจเป็นไปได้ว่าในสมัยก่อนพม่าอาจจะรู้จักชื่อ ยุด-ยา จากปากชาวอยุธยาหรือคนไทยโดยไม่ผ่านตัวเขียน ก็ทำนองเดียวกับไทย ก็หาได้รู้จักชื่อ “เมียนมา” หรือ “มรันมา” ในรูปภาษาเขียน แต่รู้จักคำ “พม่า” ที่มาจากภาษาพูดของคนท้องถิ่นตอนล่างของพม่า คำว่า “พม่า” นั้นก็เป็นคำที่เพี้ยนมาจาก “มรันมา” ซึ่งสามารถอธิบายด้วยกฎการปฏิภาคของเสียง ดังนั้น “ยุด-ยา” จึงอาจจะเป็นที่มาของคำโยดะยา ก็เพราะคนพม่าฟังได้อย่างนั้น
ส่วนการที่พม่าออกเสียง “ยุด-ยา” ยืดเป็นคำ ๓ พยางค์ว่า “โยดะยา” นั้น ก็เนื่องเพราะข้อจำกัดในด้านเสียงของภาษาพม่า กล่าวคือพยางค์ในภาษาพม่าจะไม่มีเสียงพยัญชนะท้ายสะกดชัดเจนอย่างภาษาไทย อย่างคำที่สะกดด้วยแม่กก กด กบ เป็นต้น พอพม่าจะออกเสียงคำที่มีพยัญชนะสะกดอย่าง “ยุด” จึงต้องเพิ่มสระให้กับเสียงพยัญชนะท้าย เป็น “ยุดะ” แต่พอพม่าจะพยายามสะกดเสียงพยัญชนะ ด ให้ชัดอย่างคนไทย สระอุก็จะยิ่งเพี้ยนไปกลายเป็นสระโอ ดังนั้น “ยุดะ” จึงกลายเป็น “โยดะ” การเพี้ยนที่สระเช่นนี้ก็เป็นการเพี้ยนทั้งระบบ เช่น เวลาคนพม่าพูดคำว่า good พม่าไม่ออกเสียง กูด แต่จะออกเสียงเป็น โกด เพื่อจะออกเสียงท้าย d ให้ชัด ด้วยเหตุนี้ พม่าจึงอาจจะได้ชื่อเมืองอยุธยาในภาษาพูด คือ “ยุด-ยา” แล้วยืดคำด้วยการเพิ่มพยางค์และแปลงสระจนกลายเป็น“โยดะยา”อย่างที่เห็น
ตัวอย่างสนับสนุนการเพิ่มพยางค์หรือยืดคำในภาษาพม่าจากคำยืมภาษาต่างประเทศมีอาทิ ชื่อของนายจัตสัน หมอสอนศาสนาผู้เรียบเรียงพจนานุกรมพม่า-อังกฤษคนแรกๆ พม่าจะเรียกว่า “ยุดะสัน”, คำว่า เน็คไท ชาวบ้านพม่าจะออกเสียงเป็น เนะกะได, พม่าเรียกประเทศลาว ว่า “ลาโอ” โดยใช้ “โอ” แทนเสียง ว สะกด และคำว่า “เมีย” ในภาษาไทย เมื่อพม่ายืมมาใช้ในภาษาตนก็จะออกเสียงเป็น  ๒ พยางค์ กลายเป็น “มยา” ทั้งนี้เพราะพม่าไม่มีสระเอีย เป็นต้น พม่าจำเป็นต้องยืดเสียงคำให้มีพยางค์เพิ่มขึ้นชดเชยเสียงพยัญชนะสะกดหรือสระที่ไม่มีในพม่า ทั้งนี้เพื่อให้ง่ายต่อการออกเสียง ดังนั้นจึงอาจเป็นไปได้ว่า “อยุธยา” ที่คนพื้นบ้านเรียกว่า “ยุด-ยา” นั้น ได้กลายเป็น “โย-ดะ-ยา” ก็เพราะคนพม่าพูดไทยไม่ชัด
อันที่จริง แนวคิดทางภาษาศาสตร์ต่อที่มาของคำ “โยดะยา” ที่ลองเสนอมาให้พิจารณานั้น มิได้มีเจตนาจะแก้ต่างเพื่อปฏิเสธพม่าที่เสกคำ “โยดะยา” ให้มีนัยว่าเป็น “ผู้แพ้” หรืออยากให้เชื่อว่า “ยุด-ยา” คือ “อยุธยา” เพื่อคงความเดิมให้เป็น “ผู้ไม่เคยแพ้” แต่อย่างใด เพราะการประกาศตนเป็นผู้ชนะ การประณามผู้อื่นว่าเป็นผู้แพ้ หรือการไม่ยอมเป็นผู้แพ้เสียเลยนั้นต่างมิมีอะไรที่ควรจะยกย่อง และท้ายที่สุดเชื่อว่าคำ “โยดะยา“ ก็ยังต้องเป็นคำพม่าที่ใช้เรียกไทยสืบไป ทั้งนี้ก็ด้วยชาวพม่าทั่วไปได้ใช้คำนี้กันมาอย่างคุ้นเคยโดยมิตั้งใจจะลบหลู่หรือดูแคลนไทย ส่วนที่พม่าออกอาการเพี้ยนไปในขณะนี้ก็เพราะกลุ่มชาตินิยมพม่าคงอยากฟื้นอดีตย้อนรอยไทยบ้างเท่านั้น
วิรัช นิยมธรรม
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15539เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2006 18:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 16:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท