พุกามในความนึกคิของพม่าต่อแง่คิดทางการเมืองและข้อคิดแห่งธรรมะ


นั่น…เมียนมาของเรา นั่น…พุกามของเรา เป็นคำกล่าวที่สะท้อนความภาคภูมิใจของชาวพม่า
พุกามในความนึกคิดของชาวพม่าต่อแง่คิดทางการเมืองและข้อคิดแห่งธรรมะ
“นั่น…เมียนมาของเรา   นั่น…พุกามของเรา
(mj…96bhe,oN,k mj…96bhx68")
“อันว่าพุกาม..ก็เมียนมาไง…เฮ่ ! ”
(x68"C6b9k e,oN,kxcgsH)
เป็นคำกล่าวที่สะท้อนความภาคภูมิใจของชาวพม่า โดยโยงเอาความยิ่งใหญ่ของเมืองพุกามหรือปะกัง(x68")ในอดีตมายืนยันความเป็นเมียนมา(e,oN,k)ในปัจจุบัน พุกามจึงถือเป็นหน่อกำเนิดของเมียนมา อันหมายถึงประเทศและประชากรหลายเผ่าพันธุ์ ซึ่งมีพม่า(r,k)เป็นชนส่วนใหญ่และอยู่ร่วมดินกินร่วมน้ำกับชนส่วนน้อยอื่นๆ อันได้แก่ ฉาน ฉิ่น กะฉิ่น มอญ ยะไข่ กะเหรี่ยง และคะยา เป็นอาทิ 
นอกจากนี้ พุกามยังถูกกำหนดให้เป็นศักดิ์ศรีของชาวเมียนมา เพราะพุกามเป็นเมืองราชธานีโบราณที่ยืนยันการมีอารยธรรมของชาวเมียนมาเมื่อร่วมพันปีก่อน อีกทั้งเชื่อว่าวรรณคดีพม่าและวัฒนธรรมพุทธของชาวเมียนมาต่างเจริญงอกงามมาแต่พุกาม พุกามจึงอยู่ในฐานะมรดกของชาติที่บ่งบอกความรุ่งเรืองทั้งในทางอาณาจักรและศาสนจักรเมื่อครั้งอดีต ดังในแบบเรียนอ่านภาษาเมียนมา ของชั้นประถมศึกษา เกรด ๓ หน้า ๗๙ (๑๙๙๔) ได้กล่าวถึงพุกามไว้ว่า..
“มหานครพุกามในสมัยก่อนนั้นเจริญรุ่งเรืองมาก เหล่ากษัตราธิราช อาทิ อโนรธา จันสิตตา และอลองซีตูได้สร้างราชวังในมหานครพุกามและสร้างอาณาจักรจนรุ่งเรือง ดังมีคำกล่าวที่สะท้อนถึงความเจริญรุ่งเรืองของมหานครเมียนมาในยุคโบราณ อาทิ “เก้าเก้าร่วม รวมเรือนพุกาม” หมายถึง ในนครพุกามมีจำนวนบ้านเรือนถึง ๙๙๙,๙๙๙,๙๙๙ หลังคาเรือน คำกล่าว่า “โญโญญังญัง เส็งฆ้องก้อง” หมายถึงว่านครพุกามมีฆ้องทั้งหมด ๓,๓๓๓ ใบ และคำกล่าวที่ว่า “เสียงเพลาล้อ ตะหญั่งหญั่ง ผองพุกามเจดีย์” มีนัยว่าเจดีย์ทั้งหมดในพุกามมีจำนวน ๔,๔๔๖,๗๓๓ องค์”
แบบเรียนพม่าได้ให้ภาพพุกามด้วยกลอักษรเผยจำนวนประชากรและพุทธเจดีย์ไว้อย่างสุดคณานับ เป็นการสร้างจินตภาพให้พุกามเป็นแผ่นดินอันอัศจรรย์ ซึ่งช่วยปลุกศรัทธาให้ชาวพุทธพม่ามีความผูกพันต่อพุทธศาสนาอย่างมิรู้คลาย อย่างไรก็ตาม คาดกันว่าจำนวนเจดีย์ทั้งหมดในพุกามคงมีประมาณ ๕,๐๐๐ องค์ และจากการสำรวจพบว่ามี ๒,๒๑๗ องค์ที่ยังคงสภาพหรือมีร่องรอยให้เห็นในอาณาบริเวณราว ๔๒ ตารางกิโลเมตรของเขตเมืองพุกามนั้น พระเจดีย์สำคัญของพุกาม ได้แก่ อนันดา สัพพัญญู ชเวกูจี คอเด๊าะปะลีง ธัมมะยังจี มหาโพธิ จุฬามณี และทีโลมีงโล เป็นอาทิ
ย้อนไปในสมัยที่พม่าได้เอกราชใหม่ๆ พุกามเคยถูกใช้เป็นพลังรากฐานในการจรรโลงวัฒนธรรมของชาวเมียนมา ดังคำกล่าวของนักเขียนพม่านาม มีงตุวัณ (,'Ntl6;IN ,x68"exPN,ak90Ngoh9k,๑๙๕๔) ที่ว่า ….
“อาณาจักรพุกามเป็นรากฐานอันแข็งแกร่งของวัฒนธรรมเมียนมา ปราสาทราชวัง วัดวาอาราม และช่อฟ้าแห่งสมัยปีงยะ อังวะ ตองอู หงสาวดี และคองบองต่างมีพุกามเป็นฐานราก แต่ในเพลานี้ สิ่งเหล่านั้นกลับเลือนหาย เหตุเพราะฉัตรหัก กลองแตก และบ้านเมืองระส่ำระสาย กระนั้นจนบัดนี้รากฐานทางวัฒนธรรมพุกามกลับยืนหยัดกว่าพันปี เหตุนี้ จึงควรที่จะอาศัยพุกามเป็นรากฐานเพื่อสร้างพลังทางวัฒนธรรมเมียนมาของเราให้หวนคืน”
พุกามยังถูกอ้างให้เป็นแบบอย่างความรุ่งเรือง ตลอดจนเป็นแม่แบบของสังคมอุดมคติ และอุดมการณ์ทางการเมือง อาทิ งานเขียนชิ้นหนึ่งในสมัยสังคมนิยม(x68",๑๙๖๕) ได้กล่าวยกย่องพุกามไว้ว่า….
“พุกามเป็นยุคสมัยดุจคบเพลิงส่องเกียรติยศของชาวเมียนมา ในสมัยนั้น เมียนมารุ่งเรืองในวรรณคดี และโดดเด่นในศิลปะ อาทิ จิตรกรรม คีตศิลป์ งานสลัก งานปูนปั้น เป็นต้น ในสมัยพุกามวัฒนธรรมมีความไพบูลย์ ชนชั้นชาวนาและกรรมกรเกิดขึ้นอย่างมั่นคงและเป็นระบบ นอกจากนี้ ในสมัยนั้นยังสื่อแบบอย่างของความสามัคคี สมานฉันท์ และการพัฒนาในด้านต่างๆ … อาจกล่าวสรรเสริญแบบอย่างเหล่านั้นด้วยหลักฐาน แล้วยกย่องให้จดจำไว้ว่า พุกามให้พลังแก่ชาวเมียนมา พุกามให้จิตใจแก่ชาวเมียนมา พุกามให้มานะแก่ชาวเมียนมา และพุกามให้ศักดิ์ศรีแก่ชาวเมียนมา”
นอกจากนี้ พุกามยังถูกนำมาเป็นแบบอย่างของการตีความให้เข้ากับหลักธรรมทางพุทธศาสนา งานเขียนเกี่ยวกับพุกามที่มุ่งให้สาระดังกล่าวมีอยู่ไม่น้อย ในที่นี้จะขอยกมาเป็นตัวอย่างเพียง ๑ เรื่อง คือ “พุกามแห่งเมียนมา” (e,oN,kx68",๒๐๐๒) งานชิ้นนี้เป็นหนังสือสารคดีนำเที่ยวพุกาม เขียนโดย อูกองตั้ง ผู้เขียนสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยการศึกษา และได้เคยเรียนวิชาการสอนประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เมื่อเขาเริ่มอาชีพครู เขาได้มีโอกาสสอนประวัติศาสตร์พม่าอยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาได้เป็นนักเขียน อูกองตั้งได้ใช้ประสบการณ์จากการเป็นครูสอนประวัติศาสตร์มาเขียนสารคดีนำเที่ยวพุกาม โดยสอดแทรกแนวคิดเรื่องความรักชาติและเสนอวิธีคิดแบบชาวพุทธต่อประวัติศาสตร์ของตน ทำให้พุกามมิใช่เพียงสถานที่ท่องเที่ยวหรือที่แสวงบุญอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจ หากแต่พุกามยังเป็นร่องรอยอดีตที่มีพลังต่อการถ่ายทอดให้ชาวเมียนมาซึมซับในหลักธรรมอันจะนำมาสู่ความรักชาติเป็นที่สุด ดังจะขอกล่าวในบางประเด็นดังนี้
อูกองตั้งกล่าวว่าพุกามสอนเรื่องมนุษยสมบัติ ชาวพม่าจึงมีลักษณะนิสัยรักการปรนนิบัติ เป็นมิตร เกื้อกูล รู้คุณ รักเผ่าพันธุ์ และยึดมั่นในศาสนา  นอกจากนี้พุกามยังให้แบบอย่างของการสนองคุณผู้มีพระคุณ การยอมถวายชีวิตเพื่อผู้เป็นนาย การเสียสละหยาดเหงื่อและชีวิตเพื่อสร้างอาณาจักร และการรักษาพงศ์พันธุ์เพื่อส่วนรวม(มองความรักเป็นปัจเจก แต่ไม่ควรต้องร่วมชีวิตหากกระทบต่อศาสนา) เป็นต้น เขายืนยันว่าคุณสมบัติเช่นว่านี้พบได้ในเรื่องราวของเมืองพุกาม
ในแง่ของสภาวธรรม ผู้เขียนให้ทัศนะว่า โลภะ โทสะ โมหะ และมานะ คือภาวะที่กำหนดความเป็นไปของประวัติศาสตร์ พุกามจึงมิเพียงสะท้อนภาพอันรุ่งโรจน์เพียงด้านเดียว แต่ก็ปนเปื้อนด้วยความเสื่อมทรามในบางขณะ หากมองในด้านที่งดงาม จะดูจากคุณความดีของวีรบุรุษ อาทิ ปยูซอทีคือผู้กล้าหาญและรู้คุณครูอาจารย์ อโนรธาคือนักปฏิรูปที่มีวิสัยทัศน์ จันสิตตาคือผู้สร้างความสามัคคี เจ้าชายราชกุมารคือผู้มีมุทิตาต่อผู้อื่นและมีกตัญญุตาต่อพระราชบิดา  และในสมัยทีโลมีงโลบ้านเมืองปกครองโดยธรรม พุกามจึงร่มเย็น ฝนตกต้องตามฤดูกาล มีความรุ่งเรือง อีกทั้งพระองค์มิได้ผูกขาดอำนาจเบ็ดเสร็จ จึงเป็นที่รักของประชาชน แต่ในด้านเสื่อมนั้น ผู้เขียนกล่าวว่ากษัตริย์พม่าบางองค์ได้ทำลายความงดงามของประวัติศาสตร์เมียนมา เช่น การกระทำปิตุฆาตเพื่อช่วงชิงราชบัลลังก์โดยนรสู การก่อความเดือนร้อนต่อราษฎรอย่างนรปตีซีตูที่สั่งให้เกณฑ์คนมากมายมาสร้างเจดีย์จุฬามณี  อูกองตั้งเห็นว่าแม้กษัตริย์บางองค์จะก่อกรรมไว้มาก แต่เมื่อได้สร้างเจดีย์อันยิ่งใหญ่ให้คนรุ่นหลังกราบไหว้ ก็ยังนับว่าน่ายกย่อง  อย่างน้อยก็ถือว่าเป็นเจดียทายก(46iktmjpdk) เจดีย์จึงนับว่าช่วยให้ประวัติศาสตร์พม่ามีคำอธิบายแบบประโลมใจ
พุกามยังสอนเรื่องไตรลักษณ์ เช่น สอนอนิจจังต่อความรุ่งโรจน์ของพุกามที่มีวันต้องสิ้นสูญ ดังในสมัยนรสีหปเต๊ะ มีผู้ทำนายว่าหาก “เจดีย์เสร็จ แผ่นดินสูญ” (46ikt]PNt wxutexPNWdut]PNtxydN) ได้สร้างความรวนเรจนเมื่อเห็นธรรม หรือในคำประพันธ์ของอนันตสูริยะผู้ต้องราชภัยที่ว่า การเสวยสุขในราชสมบัติเปรียบกับฟองสมุทรที่ลอยพ้นน้ำได้เพียงชั่วขณะ; สอนให้มองชีวิตเป็นอนัตตา อาทิ แม้การต้องโทษประหาร ก็ถือเป็นธรรมดาของมนุษย์ที่จะต้องละสังขารในสักวัน พร้อมกับแนะให้ละการจองเวร; ผู้เขียนเห็นว่าพุกามเมื่อยามพลบค่ำนั้นช่วยสอนทุกขสัจจะ เขากล่าวว่ายามตะวันลับฟ้านั้นเปรียบได้กับความไม่คงทนของสรรพชีวิตที่มีวันต้องลับโลก
พุกามยังให้คุณค่าต่ออิสรภาพของชาติและมิตรภาพระหว่างรัฐ ดังกรณีพระเจ้ามนูหากษัตริย์มอญแห่งเมืองสะเทิม ผู้เขียนกล่าวว่าพระองค์มีมานะจึงได้สร้างเจดีย์มนูหาที่ให้ความอึดอัดด้านใน เสมือนจะแสดงภาวะที่ต้องตกอยู่ใต้อำนาจของผู้อื่น ผู้เขียนจึงชี้ให้เห็นคุณค่าของอิสรภาพ และยังกล่าวอีกว่าการที่พุกามเจริญรุ่งเรืองมาได้ก็ด้วยการยกทัพไปตีเมืองสะเทิม สำหรับชาวพุกามแล้วควรถือเป็นการทำสงครามที่สมเหตุสมผล และยังมองว่าหากพระเจ้ามนูหาปรารถนาจะให้พระศาสนาเผยแผ่แท้จริงแล้ว ก็มิควรต้องให้เกิดศึกสงคราม มิซ้ำสองฝ่ายอาจเป็นมิตรประเทศที่ช่วยเหลือกันในศึกภายหน้า
อูกองตั้งยังได้ให้ทัศนะต่อชาวพม่าทั่วไปไว้ว่า สำหรับบางคนนั้น การได้ไหว้เจดีย์อาจช่วยละโลภ โกรธ หลง คลายความโศกเศร้า ยิ่งหากรู้ถึงตำนานเจดีย์และเฝ้าดูธรรมชาติอันงดงามและสัมผัสสายลมยามเย็นก็จะยิ่งคุ้มค่า แต่สำหรับบางคนนั้น การไหว้เจดีย์คือการขอพรในระดับโลกียะซึ่งมีแบบอย่างมาแต่อดีต ดังเช่น คำอธิษฐานของจันสิตตาที่ไม่ปรารถนาจะเห็นสงคราม แต่ก็หวังจะขึ้นครองบัลลังก์อย่างไร้อุปสรรคและคลาดแคล้วจากภยันตราย เมื่อพรสัมฤทธิ์ผล พระองค์จึงได้สร้างเจดีย์อโลด่อปยิ(เจดีย์สมปรารถนา)เป็นอนุสรณ์แห่งความสำเร็จ จากเรื่องในตำนานคู่พระเจดีย์องค์นี้กลับชี้ชวนให้ชาวบ้านนิยมมาขอลาภขอหวย ณ เจดีย์แห่งนี้ดังจะพบเห็นได้ในปัจจุบัน
อันที่จริง ตำนานเกี่ยวกับพุกามบางเรื่องออกจะเป็นปรัมปรา และมักเกี่ยวข้องกับราชวงศ์ที่สัมพันธ์กับการสร้างพุทธเจดีย์ แต่ชาวพม่าก็นิยมเล่าขานสืบต่อให้คล้ายกับเป็นความจริงอันเร้นลับ ส่วนฝ่ายที่ยึดหลักเหตุผลก็มักจะพยายามตีความเพื่อหาคำอธิบายให้สอดคล้องกับจารีตประเพณี หลักธรรม หรือแนวคิดทางการเมืองอันเป็นกระแสหลักของพม่า แต่หากมีทัศนะที่แย้งต่อประวัติศาสตร์กระแสหลัก ก็มักจะมองว่าเป็นความคิดของคนต่างชาติต่างศาสนาที่มักตีความประวัติศาสตร์พม่าผิดๆด้วยขาดความลึกซึ้งต่อพุทธศาสนา ตำนานอันหลากหลายที่มีพุกามเป็นฉากหลังจึงได้รับการตีความจนเป็นคตินิยมของชาวพม่าดังที่ยกมาเป็นตัวอย่าง
โดยสรุป อูกองตั้ง เขียน “พุกามแห่งเมียนมา” โดยมองประวัติศาสตร์บนฐานคิดของพุทธศาสนาที่ตนศรัทธาและให้ค่าไว้สูงยิ่ง จึงได้เสนอข้อคิดให้ชาวพม่ารู้สึกเทิดทูนมรดกทางวัฒนธรรมของชาวเมียนมา เพื่อให้มีสำนึกที่จะรักษาศาสนา ภาษา เผ่าพันธุ์ และประเพณีของชาติตน และด้วยพุทธศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของชาติ จึงให้ความสำคัญต่อสำนึกในหน้าที่ตอบแทนและปกป้องประเทศชาติเพื่อพิทักษ์แผ่นดินพุทธศาสนา ท้ายสุดคือให้บังเกิดความปิติยินดีที่เกิดเป็นชาวเมียนมาและเป็นชาวพุทธ พุกามของอูกองตั้งจึงมีกลิ่นไอของธรรมะอันงดงามตรึงใจ แต่ก็แฝงแนวคิดทางการเมืองแบบชาตินิยมตามแนวทางของรัฐบาลพม่าไว้อย่างลงตัว
วิรัช  นิยมธรรม
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15532เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2006 18:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 21:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท