สาระสำคัญในแบบเรียนระดับการศึกษาพื้นฐานของพม่า


พม่าได้รับเอกราชในปี ค.ศ. ๑๙๔๘ และปกครองในระบอบประชาธิปไตย(แบบพหุพรรค)อยู่ระยะหนึ่งราว ๑๔ ปี
สาระสำคัญในแบบเรียนระดับการศึกษาพื้นฐานของพม่า
. ภูมิหลังทางสังคมการเมือง
พม่าได้รับเอกราชในปี ค.ศ. ๑๙๔๘ และปกครองในระบอบประชาธิปไตย(แบบพหุพรรค)อยู่ระยะหนึ่งราว ๑๔ ปี ในระยะนั้นพม่าประสบกับปัญหาชนกลุ่มน้อย ภัยคอมมิวนิสต์ และความไม่ลงรอยกันของนักการเมือง จนเป็นเหตุให้กองทัพนำโดยนายพลเนวินเข้ายึดอำนาจในปี ค.ศ. ๑๙๖๒ แล้วหันมาใช้ระบอบการปกครองแบบแนวทางสังคมนิยม(แบบพรรคเดียว)มาจนถึงปี ค.ศ. ๑๙๘๘ เป็นเวลานานราว ๒๖ ปี จนในปี ค.ศ. ๑๙๘๘ พม่าเกิดวิกฤตทางการเมืองอันเนื่องจากความล้มเหลวของระบอบสังคมนิยมและการเรียกร้องประชาธิปไตย รัฐบาลทหารภายใต้สภา SLORC/SPDC ได้ทำการยึดอำนาจอีกครั้ง พร้อมกับประกาศยกเลิกระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมหันมาใช้ระบบเศรษฐกิจกลไกตลาด และยังได้ให้สัญญากับประชาชนว่าจะให้ประเทศพม่าปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบมีวินัย (Discipline Democracy) เมื่อถึงเวลาอันควร
รัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยแบบมีวินัยที่รัฐบาลทหารร่างยังไม่แล้วมาแต่ปี ค.ศ. ๑๙๙๓ นั้น คาดว่าจะเป็นประชาธิปไตยแบบพหุพรรค แต่ก็น่าจะต่างไปจากประชาธิปไตยในยุคแรกที่พม่าได้เอกราช เพราะเป็นไปได้ว่าผู้นำจากกองทัพจะเป็นประมุขในระบอบใหม่นี้ และเชื่อกันว่าภายใต้ระบอบนี้จะยังรักษาการแบ่งสรรอำนาจทางการเมืองและการปกครองให้กับทหาร นั่นคือกองทัพจะยังคงมีบทบาทในการนำพาประเทศต่อไป โดยอ้างความจำเป็นต่อภารกิจที่ประวัติศาสตร์มอบหมาย อาจจนกว่าชนในชาติจะมีความปรองดองโดยสมบูรณ์และเศรษฐกิจจะมีความมั่นคง และจากการที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังร่างไม่แล้วเสร็จ อีกทั้งปัจจุบันพม่ายังปกครองด้วยระบบทหาร ดังนั้นแนวคิดต่อระบบการศึกษาของพม่าย่อมต้องสนับสนุนแนวคิดทหารนิยมเป็นแนวทางหลัก พร้อมกับส่งเสริมแนวทางชาตินิยมเพื่อเชิดชูอัตลักษณ์เมียนมาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมให้คงดำรงสืบไป
ประเด็นสำคัญที่ใช้ในการปลูกฝังความรักชาติสู่เยาวชนของชาติก็คือ การที่พม่าเคยตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษในสมัยอาณานิคม ดังนั้นความรู้สึกต่อต้านเจ้าอาณานิคมจึงถูกนำมาตอกย้ำอยู่เสมอ และจวบจนปัจจุบัน แม้พม่าจะมีเอกราชมานานกว่าครึ่งศตวรรษแล้วก็ตาม แต่พม่าก็ยังคงย้ำความทรงจำต่อระบอบอาณานิคมในด้านลบ ขณะเดียวกันก็ยกย่องความเป็นเมียนมาให้เหนือชาติอื่นโดยเฉพาะโลกตะวันตก อาทิ พม่าจะมองว่าการศึกษาของพม่าที่เรียนจากวัด ซึ่งสอนให้อ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น และมีจริยธรรมนั้น สอดคล้องกับแนวคิด “การศึกษาคือชีวิต” ที่ประเทศตะวันตกเพิ่งหันมาให้ความสำคัญ และพม่ามองว่าการศึกษาแบบตะวันตกที่มีขึ้นในยุคอาณานิคมด้วยแนวคิด “การศึกษาคือการเตรียมชีวิต" นั้น เน้นการมองชีวิตในเชิงเศรษฐกิจที่ลดคุณค่าของชีวิตและบั่นทอนระบบครอบครัว ดังนั้นการที่พม่ายังสามารถรักษาการศึกษาระบบวัดควบคู่ไปกับระบบโรงเรียนไว้ได้นั้นจึงเป็นความภาคภูมิใจของพม่าที่มีความคิดก้าวหน้าทางการศึกษามาแต่อดีตก่อนชาติตะวันตก ด้วยเหตุนี้ แนวคิดต่อระบบการศึกษาของพม่าจึงมีความเป็นชาตินิยมที่สร้างสำนึกแห่งความเป็นตัวเองและดูแคลนความเป็นอื่นรวมอยู่ด้วย ดังจะศึกษาได้จากแบบเรียนในระดับการศึกษาพื้นฐานของพม่า ซึ่งพอจะสรุปเป็นสังเขปดังนี้
. ภาพรวมของแบบเรียน
ก) พม่าจัดการศึกษาระดับพื้นฐานเป็นแบบ ๕-๔-๒ คือ ชั้นมูล(ชั้นเด็กเล็กและเกรด ๑-๔) ชั้นกลาง(เกรด ๕-๘) และชั้นสูง(เกรด ๙–๑๐)แบบเรียนสำหรับการศึกษาระดับพื้นฐานทั้งหมด ผลิตโดยกองตำราและหลักสูตรการศึกษาพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ แบบเรียนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นส่วนมากยังคงเนื้อหาเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ยุคสังคมนิยม อาทิ ในเนื้อหาด้านประวัติศาสตร์แบบเรียนจะเน้นการต่อสู้เพื่อเอกราช วีรบุรุษ วีรกษัตริย์ วีรกรรม กองทัพ และจิตใจรักชาติ ส่วนแนวคิดแบบสังคมนิยมยังปรากฏในชั้นมูลและชั้นกลาง (เฉพาะเกรด ๑-๖) เนื้อหาที่เพิ่มจากเดิม ได้แก่ การมองสังคมนิยมในภาพของอดีตที่อ่อนกำลังลง มีกล่าวถึงรัฐบาลทหารชุด SLORC กับชุด SPDC อยู่ในแบบเรียนประวัติศาสตร์เมียนมาเกรด ๑๐ และยังได้กล่าวถึงองค์กรอาเซียนในแบบเรียนประวัติศาสตร์โลกเกรด ๑๐ และจากการที่พม่าได้เปลี่ยนระบบเศรษฐกิจจากสังคมนิยมมาเป็นเศรษฐกิจตามกลไกตลาดนั้นจึงมีแบบเรียนความรู้ทั่วไปด้านเศรษฐกิจสำหรับเกรด ๙–๑๐ ฉบับใหม่ ส่วนประเด็นทางการเมืองในวิถีประชาธิปไตยนั้น แม้พม่าจะกำลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยอยู่ก็ตาม แต่ยังไม่พบเนื้อหาเกี่ยวกับรูปแบบการเมืองในระบบดังกล่าวปรากฏในแบบเรียน ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะพม่ายังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของระบอบสังคมนิยมกับระบอบประชาธิปไตยแบบมีวินัยที่รัฐบาลทหารชุดปัจจุบันประกาศเจตนาไว้
ข) ในแบบเรียนระดับการศึกษาพื้นฐานของพม่า ส่วนที่ว่าด้วยสภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และการปลูกฝังลักษณะนิสัยนั้น มีปรากฏในแบบเรียนสังคมศึกษา   แบบเรียนภูมิศาสตร์ แบบเรียนประวัติศาสตร์ แบบเรียนเศรษฐศาสตร์ และแบบเรียนการอ่าน  ลักษณะของเนื้อหาของแบบเรียนแต่ละประเภทเป็นดังนี้
แบบเรียนสังคมศึกษา เรียนตั้งแต่เกรด ๓ ขึ้นไป เสนอความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ เนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับประเทศเมียนมา และมีกล่าวถึงประเทศเพื่อนบ้านเช่นกัน มีข้อควรสังเกตว่าในปีการศึกษา ๒๐๐๑–๒๐๐๒ พม่าได้ผลิตแบบเรียนสังคมศึกษา เล่ม ๒ สำหรับชั้นมูล(เกรด ๔) ๑ เล่ม และชั้นกลาง(เกรด ๕-๘) ๑ เล่ม เนื้อหาในแบบเรียนใหม่นี้ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างโยดะยากับเมียนมา โดยวิพากษ์โยดะยาในภาพของภัยคุกคามที่มีต่อเมียนมาและต่อประเทศเพื่อนบ้านของโยดะยานับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตลอดจนปัญหาด้านความสัมพันธ์ระหว่างโยดะยากับเมียนมาในปัจจุบัน แบบเรียนชุดนี้ได้ทำให้โยดะยากลายเป็นศัตรูแห่งชาติรายใหม่ของพม่า เช่นเดียวกับอังกฤษ และญี่ปุ่นที่เป็นมาแต่เดิม  นั่นคือ ให้ภาพอังกฤษคือตัวแทนของลัทธิล่าอาณานิคม ญี่ปุ่นคือตัวแทนของระบบเผด็จการฟาสซิสต์ และไทยคือตัวแทนของลัทธิจักรวรรดินิยม
แบบเรียนประวัติศาสตร์ เริ่มเรียนตั้งแต่เกรด ๓ ขึ้นไป เนื้อหาจำแนกเป็นประวัติศาสตร์เมียนมาและประวัติศาสตร์โลก ส่วนที่เป็นประวัติศาสตร์เมียนมานั้นเสนอไว้ ๒ ประเภท คือ ประเภทแรกเป็นประวัติศาสตร์สังเขป สำหรับเกรด ๓ - ๖ กล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญและบุคคลสำคัญ เหตุการณ์สำคัญจะเป็นเรื่องวีรกรรมด้านการสงครามในอดีต การต่อสู้เรียกร้องอิสรภาพและเอกราช เหตุการณ์ทางการปกครอง และวันรัฐนิยมต่างๆ ส่วนบุคคลสำคัญจะเป็นเรื่องวีรกษัตริย์ วีรบุรุษ นักต่อสู้ชาตินิยม ศิลปิน และนักประพันธ์ เป็นต้น อีกประเภทหนึ่งเป็นประวัติศาสตร์ยุคสมัยสำหรับเกรด ๗–๑๐ โดยแบ่งเป็นยุคราชวงศ์ ยุคอาณานิคม(รวมอังกฤษและญี่ปุ่น) ยุคเอกราช ยุคสังคมนิยม และยุคปัจจุบัน ในส่วนของประวัติศาสตร์โลกนั้นให้ความสำคัญกับพัฒนาการทางการเมืองในโลกสังคมนิยมและความเป็นมาของประเทศที่มีความสัมพันธ์กับเมียนมา โดยเฉพาะบรรดาประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง อันได้แก่ จีน อินเดีย และประเทศในกลุ่มอาเซียน
แบบเรียนภูมิศาสตร์ เรียนตั้งแต่เกรด ๓ ขึ้นไป กล่าวถึงสิ่งแวดล้อม ภูมิอากาศ ภูมิประเทศ ทรัพยากร อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม การคมนาคมขนส่ง ภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ ภูมิศาสตร์โลก และภูมิศาสตร์ภาคปฏิบัติ
แบบเรียนการอ่าน เริ่มเรียนตั้งแต่ชั้นเด็กเล็กจนถึงเกรด ๖ เนื้อหาเกี่ยวข้องกับการสร้างลักษณะนิสัย สุขอนามัย ประเพณี ค่านิยม วิถีชีวิตชาวพุทธ ศีลธรรมจรรยา หน้าที่พลเมือง นิทานคำสอน วีรบุรุษ ศิลปิน นักประพันธ์ ศาสนสถาน สถาพแวดล้อม เมืองสำคัญ  ศิลปะการแสดง กีฬา การละเล่น วันรัฐนิยม วันประเพณี และความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ
. การให้น้ำหนักต่อประเด็นต่างๆแก่ยุดสมัย
การปลูกฝังความรักชาติมีปรากฏในแบบเรียนหลายเล่ม โดยเฉพาะประวัติศาสตร์เมียนมา การอ่านประวัติศาสตร์เมียนมา การอ่านภาษาเมียนมา และสังคมศึกษา แบบเรียนให้น้ำหนักทั้งสมัยราชวงศ์ และสมัยอาณานิคมพอๆกัน เรื่องราวที่เน้นเป็นพิเศษ ได้แก่ เรื่องเกี่ยวกับวีรกษัตริย์ในสมัยราชวงศ์ และวีรบุรุษในสมัยอาณานิคม ในสมัยราชวงศ์แบบเรียนจะเน้นการสงครามและการเมืองเพื่อสร้างและรักษาอาณาจักรเมียนมา โดยเฉพาะการทำสงครามกับอังกฤษ ๓ ครั้งก่อนที่จะเสียเอกราช ส่วนในสมัยอาณานิคมจะเน้นการเรียกร้องอิสรภาพและเอกราชเป็นประเด็นสำคัญ และยังย้ำอยู่เสมอในเรื่องการมีจิตใจที่จักไม่ยอมตกเป็นทาสผู้อื่น และเจตจำนงแน่วแน่ที่จะต่อต้านอำนาจภายนอกโดยมีลัทธิล่าอาณานิคมเป็นกรณีตัวอย่าง ในสมัยเอกราชจะเน้นความแตกแยกของนักการเมืองที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ของประชาชนทั้งที่ประเทศยังมีปัญหาด้านเอกภาพอยู่ในเวลานั้น สำหรับในสมัยสังคมนิยมนั้น แบบเรียนจะให้นำหนักต่อการสืบทอดเจตนารมณ์ของนายพลอองซานที่ต้องการให้ประเทศพม่าปกครองด้วยระบอบสังคมนิยมเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนไว้ได้อย่างแท้จริง และกล่าวถึงการรื้อทำลายระบบทุนนิยมต่างชาติที่ยังฝังรากขูดรีดประชาชนมาแต่สมัยอาณานิคม ส่วนในสมัยปัจจุบันนั้น แบบเรียนจะเน้นภารกิจและผลงานของรัฐบาลทหารในด้านการสร้างความปรองดองและการพัฒนาประเทศให้ทันสมัย
ต่อระบบการปกครองรูปแบบต่างๆ แบบเรียนพม่าจะให้น้ำหนักเป็นพิเศษในความสำเร็จของรัฐบาลทหารในการเข้ามาดูแลประเทศ ทางการเมือง การปกครอง ความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม และจะกล่าวถึงความล้มเหลวในเกือบทุกด้านของระบบการปกครองแบบอื่นๆ คือ มองระบอบประชาธิปไตยในภาพของความวุ่นวาย มองระบอบฟาสซิสต์ในภาพของความโหดร้าย และมองระบอบอาณานิคมในภาพของการมุ่งกอบโกยผลประโยชน์ แบบเรียนจึงไม่มีการกล่าวถึงระบอบประชาธิปไตย ฟาสซิสต์ หรืออาณานิคมในด้านดี ส่วนกองทัพนั้นไม่พบว่ามีการกล่าวถึงในด้านลบ แต่กลับได้รับการยกย่องเป็นพิเศษ
ในแบบเรียนยังมีประเด็นความสัมพันธ์กับประเทศใกล้เคียงในแต่ละยุคสมัย ประเทศที่เป็นคู่สงครามกับพม่าที่สำคัญ ได้แก่ จีน โยดะยา และกะแต(จากมณีปุระ) ในภาพของผู้รุกล้ำเขตแดนหรือผู้เข้ามาก่อกวนความสงบในอาณาจักร ส่วนประเด็นเกี่ยวกับพัฒนาการทางการเมืองของสังคมโลกนั้น แบบเรียนพม่ายังคงให้ความสำคัญต่อโลกสังคมนิยมเป็นพิเศษ
. ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์
แบบเรียนประวัติศาสตร์ได้ให้ภาพภูมิหลังของประเทศโดยอาศัยข้อมูลทางตำนาน โบราณคดี และประวัติศาสตร์ ในทางตำนานจะกล่าวถึงเชื้อสายของกษัตริย์เมียนมาว่าสืบมาแต่ศากยวงศ์มาปกครองคนพื้นเมืองอันมีชาวปยูเป็นอาทิ ราชธานีแห่งแรกก่อนสมัยประวัติศาสตร์คือตะกอง วีรบุรุษคือคนเก่ง เสียสละ เข้มแข็ง กล้าหาญ และสามารถสร้างสันติสุขโดยปราบภัยในแผ่นดินและปกป้องภัยจากภายนอก มีกล่าวถึงการสืบราชบัลลังก์ด้วยสันติวิธี คือ แข่งกันสร้างพุทธเจดีย์ มีการยกย่องและปูนบำเหน็จแก่ผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับบ้านเมืองด้วยการมอบตำแหน่งทางการเมืองหรือทรัพย์สินเป็นรางวัล; ในทางโบราณคดีมีกล่าวว่าประเทศเมียนมาคือแผ่นดินที่พบซากมนุษย์โบราณที่เก่าแก่กว่าที่อื่นใดในโลก จนมีคำกล่าวว่า ถิ่นกำเนิดของมนุษย์ คือเมียนมา ซึ่งคล้องจองกับคำกล่าวเก่าๆที่ว่า จุดเริ่มของเมียนมา คือตะกอง ; ส่วนในทางประวัติศาสตร์นั้นแบ่งยุคสมัยเป็นสมัยราชวงศ์ สมัยอาณานิคม สมัยเอกราช สมัยสังคมนิยม และสมัยปัจจุบัน ในสมัยราชวงศ์อาจมองเป็น ๒ ช่วง คือ สมัยอาณาจักรอิสระและสมัยภัยอาณานิคม ในสมัยอาณาจักรอิสระจะเน้นภาพวีรกษัตริย์ที่สร้างความเป็นปึกแผ่น(เอกภาพ) และความยิ่งใหญ่ของอาณาจักร(แสนยานุภาพ) วีรกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ของเมียนมา ได้แก่ อโนรธาแห่งราชวงศ์พุกาม บุเรงนองแห่งราชวงศ์ตองอู และอลองพญาแห่งราชวงศ์คองบอง ในสมัยภัยอาณานิคมจะกล่าวถึงการทำสงครามกับอังกฤษ ๓ ครั้ง และการเสียดินแดนจนถึงการเสียเอกราช; ในสมัยอาณานิคมเป็นเรื่องราวการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลอาณานิคม การกอบโกยผลประโยชน์และการกดขี่โดยรัฐบาลอาณานิคม ความทุกข์ยากในสมัยฟาสซิสต์ญี่ปุ่น และการต่อสู้เพื่อเอกราช; ในสมัยเอกราชกล่าวถึงความล้มเหลวของระบอบประชาธิปไตยแบบพหุพรรค และปัญหาความแตกแยกภายในประเทศอันเนื่องจากขบวนการแบ่งแยกดินแดนและขบวนการคอมมิวนิสต์; ในสมัยสังคมนิยม กล่าวถึงบทบาทของกองทัพในการสร้างและดูแลระบอบสังคมนิยม ตลอดจนผลงานของรัฐบาลปฏิวัติและรัฐบาลสังคมนิยม; ในสมัยปัจจุบันกล่าวถึงความจำเป็นของรัฐบาลทหารในการนำพาประเทศ การพัฒนาประเทศ และผลงานของรัฐบาล ส่วนทัศนะต่อประเด็นสำคัญมีดังนี้
ก)       ในทัศนะต่อยุคราชวงศ์ แบบเรียนกล่าวยกย่องกษัตริย์ที่สามารถสร้างเอกภาพ สร้างสันติสุข และขยายอาณาจักร โดยเฉพาะความสำเร็จในการสงคราม ดังกล่าวว่า ในสมัยของตะเบงชเวตี้และบุเรงนองนั้นสามารถก่อตั้งราชอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ และกองทัพเมียนมานับเป็นกองทัพที่ไร้คู่เปรียบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กษัตริย์ที่ได้รับการยกย่อง เช่น อโนรธาเป็นผู้สร้างอาณาจักรให้กว้างใหญ่ พุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทแพร่หลาย และมีการฟื้นฟูพุทธศาสนาให้กับสิงหล, จันสิตตาคือผู้สร้างความสมัครสมานระหว่างมอญและเมียนมา พระองค์เล็งถึงประโยชน์ของประชาชน ราษฎรมีแต่ความผาสุข เศรษฐกิจดี มีความสัมพันธ์กับจีนและอินเดียอย่างราบรื่น และในสมัยนี้ได้ปรากฏศิลาจารึก ๔ ภาษา คือ มอญ พม่า ปยู บาลี, บุเรงนองคือผู้สร้างความสงบในภาวะยุ่งเหยิง ตั้งมหาอาณาจักรอันยิ่งใหญ่และกว้างขวาง และยังปรับปรุงขนบธรรมเนียมที่ไม่เหมาะควร, ญองยางคือผู้นำเอกภาพให้กลับคืนมายามเมื่อเมียนมากำลังแตกสลาย, อะเน่าก์แพะลูนมีงคือผู้สร้างความเป็นปึกแผ่นได้สำเร็จ พร้อมกับสร้างความสงบสุขในประเทศ, ในสมัยตาลูนมีง บ้านเมืองมีแต่ความสงบสุขเป็นยิ่งนัก, อลองพญาคือผู้นำดีที่สามารถสร้างเอกภาพให้กับอาณาจักร เป็นผู้มีบุญบารมี หยั่งรู้สถานการณ์ ในสมัยนี้เลิกทำศึกรับหันมาทำศึกรุก และในสมัยมะเยดูหรือมังระนั้นกองทัพมีกำลังยิ่งยวด เป็นต้น
แบบเรียนยังประณามกษัตริย์ในยุคที่เสื่อมถอยว่าด้อยความสามารถหรือเอาแต่ความสุขสบายในราชสำนัก เช่น ตะเบงชเวตี้ แม้จะเด่นในการศึกสงคราม แต่เมื่อหันไปคบหากับคนต่างชาติชาวโปรตุเกส กลับหลงใหลในเหล้ายาสาโทจนถูกปลงพระชนม์ในขณะดื่มสุราเมรัยอย่างขาดสติ, นันทบุเรงคือผู้ก่อความพินาศให้กับหงสาวดี, ปีงตะแลเป็นกษัตริย์ที่ขาดปรีชาญาณ, เจ้าปะกังไม่ใส่ใจในกิจบ้านงานเมืองและมักหมกมุ่นอยู่กับความสำราญ ส่วนเจ้าธีบอนั้นได้สร้างความเสื่อมถอยจนพม่าเสียเอกราชและตกเป็นทาสผู้อื่น เป็นต้น
ข)       ยุคอาณานิคมอังกฤษถือเป็นหัวใจของแบบเรียนประวัติศาสตร์ เรื่องราวการต่อสู้เรียกร้องอิสรภาพเริ่มเรียนกันตั้งแต่เกรด ๒ ในแบบเรียนการอ่านเมียนมา มีการวิพากษ์เศรษฐกิจทุนนิยมในสมัยอาณานิคมว่าเป็นเศรษฐกิจที่พวกขยายดินแดนสร้างขึ้นมาใช้เพื่อกอบโกยผลประโยชน์จากดินแดนในอาณานิคม อีกทั้งเอารัดเอาเปรียบและกีดกันชนพื้นเมือง และเจ้าอาณานิคมยังได้นำแขกและจีนเข้ามาแสวงประโยชน์จากคนพื้นเมืองจนคนพื้นเมืองไม่มีที่ทำกินและกลายเป็นคนรับจ้างทำนาและกรรมกรชั้นต่ำ ถนนหนทางที่ดีขึ้นในสมัยอาณานิคมนั้นเป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ระบบทุนนิยมของเจ้าอาณานิคมเป็นรูปธรรม การศึกษาแบบอาณานิคมคือการสร้างข้าราชการระดับล่าง และสอนให้ยกย่องและซื่อสัตย์ต่อเจ้าอาณานิคม คนพม่าถูกกีดกันทางการศึกษาและอาชีพ ไม่ได้รับการดูแลทางสาธารณสุขที่ดีพอ พุทธศาสนาและภูมิปัญญาท้องถิ่นถูกละเลย ทั้งยังเกิดมีคนหลายเชื้อชาติ และวัฒนธรรมต่างชาติเข้าครอบงำวิถีชีวิตชาวเมียนมา คนท้องถิ่นจึงทั้งถูกสูบเลือดและถูกครอบงำ จำเลยสำคัญที่สร้างความทุกข์ยากให้กับชาวเมียนมาจึงได้แก่นายทุนทั้งหลายที่หากินอยู่ภายใต้ระบบทุนนิยมอาณานิคม
ค)       ช่วงที่ฟาสซิสต์ญี่ปุ่นเข้าปกครองพม่าระยะหนึ่งนั้น แบบเรียนได้ให้ภาพของญี่ปุ่นว่าเป็นพวกฟาสซิสต์ที่ทำลายทั้งเศรษฐกิจและสังคมพม่า ชาวพม่าพบกับความยากลำบากทางเศรษฐกิจเพราะนายทุนญี่ปุ่นผูกขาดธุรกิจการค้า และยังโจมตีกองทัพญี่ปุ่นว่าลิดรอนเครื่องนุ่งห่ม ตลอดจนอาหารการกิน ที่อยู่อาศัย และเวชภัณฑ์ ในสมัยฟาสซิสต์นั้นการสาธารณสุขย่ำแย่และการศึกษาตกต่ำ
ง)       ในทัศนะต่อชนชาติต่างๆที่อาศัยอยู่ในประเทศนั้น เมียนมายอมรับเชื้อสายมอญและอารยธรรมมอญแต่ก็มีเรื่องให้ต้องปราบมอญอยู่เสมอ มองฉานเป็นภัยต่อเมียนมาและไม่พัฒนา และชี้ว่าอังวะเสื่อมลงด้วยภัยจากพวกฉาน อีกทั้งยังกล่าวว่าเจ้าฟ้าฉานเรียกร้องการปกครองแบบสหพันธรัฐจนสหภาพเกือบล่มสลาย  ในสมัยบุเรงนองเขตฉานยังมีการสังเวยชีวิตทาสให้ตายตกตามนายตน ในสมัยเอกราชเจ้าฟ้าฉานยังมีอำนาจอย่างระบบขุนนาง-ศักดินา มองกะเหรี่ยงว่าถูกเอาใจจนเป็นสมุนอังกฤษ (ไม่กล่าวชัดในแบบเรียน หากพบกล่าวในเอกสารอื่น) มองยะไข่เป็นเมืองที่ต้องยึดไว้ในอำนาจ(ยะไข่เป็นรัฐบริวารที่เป็นอิสระและตกเป็นของพม่าในสมัยเจ้าปะดุงก่อนตกเป็นของอังกฤษในสมัยเจ้าสักกาย) มองแขกในภาพของนายทุนเงินกู้ โดยเรียกว่าแขกเงินกู้ว่าชิตตีหรือชิตตีกะลา และถือว่าแขกเงินกู้เป็นจำเลยหนึ่งที่ทำลายชีวิตชาวนาพม่า
จ)       ในด้านภัยจากภายนอก จะกล่าวถึงจีนในภาพผู้รุกรานและผู้ร้ายที่ไม่อาจสยบเมียนมาด้วยกำลัง มองจีนขาวก๊กมินตั๋งในภาพของผู้รุกล้ำ มองโยดะยาในภาพของผู้รุกรานก่อกวนที่ชวนให้มอญถูกมองว่าเป็นภัยเมียนมาในสมัยตองอูและสมัยคองบอง มองอังกฤษในภาพของพวกขยายดินแดนหรือเจ้าอาณานิคม และเป็นพวกทุนนิยมถืออาวุธที่กอบโกยผลประโยชน์อย่างเป็นระบบ มองญี่ปุ่นในภาพของเผด็จการฟาสซิสต์ที่มอบเอกราชอันจอมปลอมให้กับเมียนมาด้วยขาดความจริงใจ ทั้งอังกฤษและญี่ปุ่นยังถูกพูดถึงในด้านการใช้ความรุนแรงและวิธีอันโหดเหี้ยมต่อประชาชน ส่วนดีบริตโต(งะซีงกา)ซึ่งเป็นชาวโปรตุเกสนั้นถูกกล่าวว่าเป็นพวกขยายดินแดนเช่นเดียวกับชาวอังกฤษ คือเป็นพ่อค้าล่าอาณานิคม และยังย้ำว่าโปรตุเกสคือพวกทำลายสถูปเจดีย์และเอาพุทธรูปมีค่าไป แล้วยังชักชวนชาวเมียนมาให้หันไปนับถือศาสนาคริสต์ อีกทั้งดีบริตโตยังคิดการณ์ใหญ่ที่จะครอบครองเมียนมาทั้งประเทศ
ฉ)      ขบวนการแบ่งแยกดินแดนโดยชนชาติส่วนน้อยมีกล่าวถึงเฉพาะในช่วงแรกของสมัยที่พม่าได้รับเอกราช(ก่อน ค.ศ.๑๙๖๒) โดยให้ภาพรวมว่าเป็นสมัยกบฏหลากสี และจะเรียกกลุ่มต่อต้านรัฐบาล อาทิ ชนกลุ่มน้อยที่ต้องการปกครองตนเอง พวกคอมมิวนิสต์ที่ต่อสู้ด้วยกำลังและการโฆษณาชวนเชื่อ และขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยโดยรวมว่า ผู้ก่อการร้าย หรือ ผู้ก่อความไม่สงบ และกล่าวถึงขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยว่าเป็นความพยายามในการแย่งชิงอำนาจรัฐ ทำนองเดียวกับขบวนการคอมมิวนิสต์ในอดีตที่เป็นภัยในความพยายามโค่นล้มอำนาจรัฐในสมัยเอกราชสืบมาจนปลายสมัยสังคมนิยม
ช)       แบบเรียนกล่าวถึงกองทัพและรัฐบาลทหารว่ามีความเห็นอันชอบและมีความปรารถนาดีต่อประเทศชาติ กองทัพต้องปฏิบัติภารกิจด้วยความร่วมมือจากประชาชน มีบทบาทรักษาความมั่นคง สร้างความเป็นปึกแผ่น และค้ำจุนไม่ให้ประเทศชาติเป็นอันตราย และฟื้นฟูประเทศให้เกิดความสงบสันติและพัฒนาประเทศให้มีความเจริญรุ่งเรือง อีกทั้งย้ำว่ากองทัพเป็นผู้แบกรับภารกิจที่ประวัติศาสตร์มอบหมาย แบบเรียนยังมองว่าการเมืองแบบพหุพรรคในระบอบประชาธิปไตยนั้นได้เคยก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีจนทำให้สหภาพเกือบต้องล่มสลาย ภัยจากผู้ก่อการร้ายทำให้พื้นที่ชนบทพัฒนาไปได้ไม่เท่าเทียมกับเมืองและล้าหลัง ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างเมืองกับชนบท ส่วนการจลาจลเรียกร้องประชาธิปไตยในปี ค.ศ. ๑๙๘๘ นั้น เกิดจากผู้ก่อการร้ายภายในและภายนอกฉวยประโยชน์จากฝูงชนที่ไร้ระเบียบ ทำให้ทรัพย์สินของประเทศต้องเสียหายเกิดโกลาหลราวกับบ้านเมืองไร้ผู้นำ ส่วนการปกครองด้วยรัฐบาลทหารชุดปัจจุบันนั้น แบบเรียนชี้แจงว่าแม้รูปลักษณ์ภายนอกจะเป็นทหารก็ตาม แต่โดยเนื้อแท้แล้วเป็นการปกครองแบบพลเรือนที่สร้างสรรค์อันนุ่มนวลและยืดหยุ่น ไม่ใช่การปกครองแบบกดขี่อย่างเจ้าอาณานิคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลทหารสามารถรักษาเอกราชและเอกภาพ สร้างความปรองดองของคนในชาติ ก่อให้เกิดความสามัคคี มีความสงบ และประเทศพัฒนา
ซ)       ประวัติศาสตร์โลกเริ่มเรียนในชั้นกลาง เนื้อหาจะเกี่ยวกับโลกสังคมนิยมเป็นแกนหลัก อาทิ การเกิดขึ้นและความเป็นไปของประเทศในโลกสังคมนิยม ความเลวร้ายของระบอบฟาสซิสต์ การครอบงำโลกด้วยระบอบทุนนิยมแบบอาณานิคมและจักรวรรดินิยม สงครามโลก สงครามเย็น และการเคลื่อนไหวของประชาชนเพื่อต่อสู้กับเจ้าที่ดิน(รัฐศักดินา) เจ้าทุน(รัฐทุนนิยมขยายดินแดน) และเจ้าอำนาจ(รัฐเผด็จการฟาสซิสต์)
. ประวัติบุคคลสำคัญ
แบบเรียนพม่าได้กล่าวถึงวีรบุรุษและวีรกษัตริย์ไว้เป็นรายบุคคลทั้งในแบบเรียนอ่านประวัติศาสตร์เมียนมาและแบบเรียนการอ่านภาษาเมียนมา ยกตัวอย่างเช่น
อโนรธา เป็นปฐมกษัตริย์ผู้สร้างความเป็นปึกแผ่น(เอกภาพ)และสร้างอาณาจักรเมียนมาให้แข็งแกร่งยิ่งใหญ่ด้วยการสงครามและวิธีทางการเมือง เมื่อประเทศเป็นปึกแผ่นก็ดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเองโดยกำหนดให้มีพื้นที่อู่ข้าวอู่น้ำด้วยระบบชลประทาน ดำเนินการกำจัดลัทธินอกรีต บำรุงพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทให้รุ่งเรือง สร้างเจดีย์และพระพิมพ์ซึ่งช่วยบอกเขตพระราชอำนาจ ยกย่องคนดีที่ทำประโยชน์เยี่ยงวีรบุรุษ และมีระบบการป้องกันภัยจากภายนอก พม่าถือว่าอโนรธาเป็นผู้สร้างอาณาจักรเมียนมาครั้งที่ ๑ ส่วนบุเรงนอง คือผู้สร้างอาณาจักรเมียนมาครั้งที่ ๒ และอลองพญา คือผู้สร้างอาณาจักรเมียนมาครั้งที่ ๓ กษัตริย์ทั้งสามถูกกล่าวถึงบ่อยๆในแบบเรียน
ฉิ่งซอบุ เป็นธิดาของพระเจ้าราชาธิราชแห่งหงสาวดี เป็นพระมเหสีของสีหตูกษัตริย์อังวะ และเป็นกษัตริย์แห่งหงสาวดี พระนางเป็นแบบอย่างของผู้ปกครองที่ดี เปี่ยมด้วยเมตตาและคุณธรรม มีศรัทธาต่อพุทธศาสนาอย่างแท้จริง เป็นที่รักของประชาชน อีกทั้งไม่ยึดติดในอำนาจ เมื่อสละอำนาจแล้วยังใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่กับการปฏิบัติธรรมและสร้างบุญกุศล พระนางรู้คุณคน ดังเช่นทรงมอบอำนาจให้กับผู้ที่เคยช่วยเหลือให้นางได้ครองบัลลังก์  และพระนางมีอายุยืนเนื่องเพราะทรงหมั่นทำบุญสร้างกุศล สตรีอีกนางหนึ่งที่ได้รับการเอ่ยถึงในแบบเรียน คือ มิพยาซอ นางเป็นพระมเหสีผู้เลิศด้วยปัญญาและรอบรู้ราชกิจในปลายราชวงศ์พุกาม
มหาพันธุละ วีรบุรุษนักรบ เป็นแม่ทัพพม่า มีความกล้าหาญจนกษัตริย์และศัตรูอย่างอังกฤษให้การยกย่องด้วยชำนาญการศึก
อูวิสาระ วีรชนฝ่ายสงฆ์ มีจิตใจรังเกียจระบอบอาณานิคม ใช้ชีวิตเพื่อต่อสู้เรียกร้องอย่างจริงจังด้วยวิธีอหิงสา เป็นนักต่อสู้ที่ยืนหยัดเพื่อประชาชนได้อย่างยาวนานที่สุด วีรกรรมของอูวิสาระช่วยกระตุ้นให้ประชาชนตื่นตัวทางการเมืองและมีความรักชาติ
ซยาซัน : วีรชนผู้ต่อต้านเจ้าอาณานิคมด้วยกำลังประชาชน เพราะเห็นใจชาวนาที่ถูกกดขี่โดยรัฐบาลอาณานิคมและการเอาเปรียบของพวกนายทุน แบบเรียนยังชี้ให้เห็นความโหดร้ายของรัฐบาลอาณานิคมในการปราบปรามประชาชน วีรกรรมของซยาซันได้สร้างจิตสำนึกที่จะต่อต้านเจ้าอาณานิคม
วีรบุรุษอองซาน : คือผู้สร้างชาติสร้างประเทศจนโลกยกย่อง มีความสามารถอย่างผู้นำที่ไม่มีใครเสมอเหมือน มีจิตใจนักต่อสู้เยี่ยงผู้เป็นปู่ที่เคยต่อสู้เจ้าอาณานิคมมาก่อน รักชาติมาแต่เล็ก อยากช่วยเหลือชาวนา ไม่ผลาญเวลาหรือเงิน พูดในสิ่งที่ถูกต้อง มีจรรยา เชื่อมั่นในตนเอง เด็ดขาด ตรงไปตรงมา มีสัจจะ มีคุณธรรม มีจิตใจรักเสรี ไม่ติดในลาภยศ ไม่ปรารถนาอำนาจ ดำเนินชีวิตเรียบง่าย อุทิศชีวิต และเป็นที่หวั่นเกรงของอังกฤษ
นายพลเนวิน : ช่วยให้สหภาพเมียนมาไม่ต้องล่มสลายอันเนื่องจากความเสื่อมทรามนานา เป็นภาพที่ต่างจากนักการเมืองที่มุ่งแย่งอำนาจกัน และนายทุนที่มุ่งแสวงประโยชน์จากคนยากจน ชาวไร่ชาวนา และกรรมกรผู้ยากไร้
. ลัทธิศาสนาและความเชื่อ
เนื้อหาในแบบเรียนเน้นการดำเนินชีวิตแบบชาวพุทธ โดยกล่าวว่าแผ่นดินเมียนมาเป็นแผ่นดินพุทธศาสนามาแต่สมัยพุทธกาล พระมหากษัตริย์ในอดีตทรงเป็นผู้อุปถัมภ์พุทธศาสนา เช่น ในสมัยพุกามมีการสร้างพระเจดีย์มากมายกว่า ๔ ล้านองค์ ฟื้นฟูพุทธศาสนาให้สิงหล บูรณะเจดีย์ที่อินเดีย ปฏิสังขรณ์เจดีย์ชเวดากอง ส่วนในสมัยบุเรงนองมีการห้ามสังเวยชีวิตสัตว์ในพิธีลงผีและยกเลิกประเพณีฆ่าทาสในดินแดนของพวกฉาน เป็นต้น จนถึงปัจจุบันชาวพุทธพม่ายังนิยมถือศีลและฟังธรรม บริจาคทรัพย์เพื่อบำรุงศาสนา ปฏิสังขรณ์วัดและเจดียสถาน ถวายฉัตรให้เจดีย์ และหมั่นทำบุญสร้างกุศล งานฝีมือและงานศิลปะชั้นสูงสามารถพบได้ที่พุทธเจดีย์ ในงานบูชาเจดีย์มีการแสดงพื้นบ้าน เช่น หุ่นชัก แบบเรียนยังกล่าวด้วยว่าผลจากการไหว้พระเจดีย์จะช่วยให้ได้รับความสงบทางใจ ศาสนสถานสำคัญมีหลายแห่ง อาทิ เจดีย์ชเวดากอง เจดีย์ไจ้ก์ทีโย(พระธาตุอินทร์แขวน) แดนเจดีย์ที่พุกาม วันสำคัญทางศาสนามีอาทิ วันออกพรรษา วันรดน้ำต้นโพธิ์  วันสงกรานต์ วันถวายประทีป และประเพณี ๑๒ เดือน เป็นต้น  แบบเรียนยังได้ยกคุณค่าให้ศาสนสถานเป็นมรดกของชาติ
นอกจากนี้ แบบเรียนยังสอนให้รักษาจารีตประเพณี เช่น การเคารพผู้ใหญ่และบิดามารดา การรู้คุณและทดแทนบุญคุณบุพการีและครูอาจารย์ รู้จักการเคารพนบนอบ และในช่วงออกพรรษาจะจัดให้มีพิธีไหว้ครูเป็นประจำ นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวถึงค่านิยมของการให้พรและขอพร โดยยกคำกล่าว “ขอให้เย็นดั่งน้ำ ขอให้หอมดั่งดอกไม้ ขอให้สมประสงค์ในทุกสิ่งที่ปรารถนา” มาเป็นตัวอย่าง แบบเรียนยังสอนให้รู้จักการรับพรหรือขอพรจากพระสงฆ์ บิดามารดา ผู้หลักผู้ใหญ่ และครูอาจารย์
. ประชากร ชาติพันธุ์ ภาษา
ชาวพม่ามีเชื้อสายทิเบต-เมียนมา ชนพื้นเมืองดั้งเดิมได้แก่ ปยู กังยัง แต๊ะ มอญ พม่า ยะไข่ ฉาน ปัจจุบันประเทศเมียนมามีประชากร ๑๓๕ ชนเผ่า ชนชาติสำคัญนิยมกล่าวเรียงลำดับอักษรพม่า ได้แก่ กะฉิ่น กะยา(คะยา) กะเหรี่ยง ฉิ่น พม่า (เขียนว่า พมา) มอญ (เขียนว่า มวน) ยะไข่ และฉาน(เขียนว่า หรม) บรรดาชนชาติต่างๆของสหภาพนั้นอาศัยและทำกินร่วมกันอย่างรักใคร่สนิทสนมและอยู่ด้วยกันแบบร่วมเย็นร่วมร้อน(ร่วมสุขร่วมทุกข์) และภาษาพม่าเป็นภาษาราชการ
ประชากรส่วนใหญ่อยู่หนาแน่นทางลุ่มแม่น้ำอิรวดีและแม่น้ำสะโตงถึงร้อยละ ๔๐ มีประชากรเบาบางบนพื้นที่เทือกเขา ประชากร ๓ ใน ๔ อาศัยในชนบท ส่วนอีก ๑ ใน ๔ อาศัยในเมือง ชนชาติส่วนน้อยมักทำไร่ดอย ทำสวน ทำนา ล่าสัตว์ งานทอผ้า บางพื้นที่มีอาชีพตัดไม้ ทำเหมืองแร่ และทำประมง
. หน้าที่พลเมือง
แบบเรียนยังคงยกตัวอย่างของคนดีคนเก่งอย่างในสมัยสังคมนิยม โดยกล่าวว่าพลเมืองดีต้องรู้จักหน้าที่ มีระเบียบวินัย ชื่อสัตย์สุจริต ถ่อมตน มีเจตนาดี ไม่เห็นแก่ตัว ไม่ลุแก่อัตตา เสียสละเพื่อส่วนรวม ดูแลสมบัติส่วนรวม เป็นที่พึ่งของประเทศ ตอบแทนบุญคุณประเทศชาติ หมั่นอบรมสั่งสอนบุตรธิดา คอยตักเตือนคนไม่ดี และให้ถือว่าผู้บ่อนทำลายคือศัตรูของประชาชน
. ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน
แบบเรียนกล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศเพื่อนบ้านที่ประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับพม่า คือ การตกเป็นอาณานิคม โดยกล่าวถึงการต่อต้านลัทธิอาณานิคมหรือนายทุนขยายดินแดน, สำนึกความรักชาติและพลังความเป็นชาติที่สั่งสมมาแต่สมัยอาณานิคม ซึ่งทวีพลังเมื่อลัทธิทุนนิยมแบบอาณานิคมอ่อนกำลังลงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒, การเรียกร้องเอกร
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15529เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2006 18:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 15:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท