จิตสำนึกแห่งสหภาพ : ความปรองดองในชาติจากรัฐสู่เยาวชนพม่า


ในโรงเรียนระดับประถมศึกษาของพม่า แต่ละโรงเรียนจะต้องจัดให้มีการประชุมนักเรียนเพื่อประกอบพิธีปลูกฝังความรักชาติอยู่เป็นประจำ
จิตสำนึกแห่งสหภาพ : ความปรองดองในชาติจากรัฐสู่เยาวชนพม่า
ในโรงเรียนระดับประถมศึกษาของพม่า แต่ละโรงเรียนจะต้องจัดให้มีการประชุมนักเรียนเพื่อประกอบพิธีปลูกฝังความรักชาติอยู่เป็นประจำ ในพิธีจะมีการแสดงความเคารพธงชาติและคารวะวีรบุรุษโดยพร้อมเพรียง ที่เน้นเป็นพิเศษคือการบ่มเพาะให้นักเรียนมีจิตสำนึกที่จะดำรงรักษาชาติและเผ่าพันธุ์ของตน และร่วมใจในการสร้างความปรองดองของคนร่วมชาติ กิจกรรมดังกล่าวยังเป็นการสร้างลักษณะนิสัยให้นักเรียนได้คุ้นเคยกับการอยู่ร่วมกับคนหมู่มากอีกด้วย รายละเอียดของพิธีดังกล่าวว่าไว้ในตำราเรียนวิชา “จิตใจแห่งสหภาพ” สำหรับนักเรียนชั้นประถมปีที่ ๔ ผลิตโดยคณะกรรมการหลักสูตรและแบบเรียน (กองตำรา) ของรัฐบาลพม่า
ในตำรานั้นได้กล่าวถึงรายละเอียดของพิธีดังกล่าวไว้ว่า ก่อนวันทำพิธี ๑ วัน ต้องตระเตรียมสถานที่ตั้งเสาธง พร้อมแท่นสำหรับครูใหญ่ยืนเป็นประธานในพิธี และสนามหญ้าสำหรับนักเรียนตั้งแถว ครูใหญ่ต้องแจ้งให้ครูและนักเรียนมาถึงโรงเรียนก่อนเสียงระฆังดัง ๕ นาทีและพร้อมเข้าประจำที่ ครูใหญ่ต้องแจ้งวัตถุประสงค์ของพิธีให้นักเรียนทราบล่วงหน้า เพื่อให้นักเรียนตระหนักในจิตใจแห่งสหภาพและความสมัครสมานของชนทุกเผ่าพันธุ์
ในตอนเช้าของวันประกอบพิธี นักเรียนจะต้องแต่งเครื่องแบบและมาถึงห้องเรียนให้ทันเวลา พอได้ยินเสียงระฆัง ครูประจำชั้นจะพานักเรียนเดินเข้าแถวเรียง ๒ มารวมตัวกันที่สนามหญ้าหน้าเสาธง ในขณะเดียวกันครูต้องคอยกำชับให้นักเรียนมีวินัยและเชื่อฟังคำสั่ง
พอเริ่มพิธี ครูใหญ่จะยืนบนแท่นหน้าแถวนักเรียนที่ยืนเรียงโอบเป็นรูปพัด ส่วนครูน้อยจะยืนกำกับอยู่นอกแถว  ครูคนหนึ่งจะออกคำสั่งให้ทั้งหมด “ตรง” ทุกคนในพิธียืนตรงนิ่ง และสั่งให้ “แสดงความเคารพธงชาติสหภาพเมียนมา” จากนั้นจะสั่งให้ “แสดงความเคารพผู้นำวีรชนที่ล่วงลับ”  แล้วทุกคนร่วมร้องเพลงชาติ โดยพร้อมเพรียง พอจบเพลงก็จะสั่งให้ทั้งหมด “พัก” อยู่ในท่าสบาย โดยยืนสองขาแยก เพื่อเตรียมฟังครูใหญ่กล่าว
ครูใหญ่จะกล่าวถึง ธงชาติ เพลงชาติ และจิตสำนึกแห่งสหภาพ ว่า …
“ในการแสดงความเคารพต่อธงชาตินั้น ต้องเคารพด้วยกายและใจให้ถูกหลัก และในขณะยืนเคารพธงชาติ ต้องตั้งจิตปฏิญาณว่าจะปกป้องรักษาเอกภาพและเอกราชแห่งสหภาพ”
“ในขณะที่ร้องเพลงชาตินั้น ต้องน้อมนำความรู้สึกต่อไปนี้ให้ประทับมั่นอยู่ในใจ คือ จิตใจรักบ้านเมืองตน จิตใจที่จะปกป้องประเทศ และจิตใจที่จะร่วมกระทำประโยชน์เพื่อชาติ สิ่งเหล่านี้คือจิตสำนึกอันถูกต้อง”
“ในท้ายที่สุดที่จะขอกล่าว คือ จิตสำนึกแห่งสหภาพ ในสำนึกของพวกเราทั้งหลายนั้น ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนหรือส่วนไหนของประเทศก็ตาม ต่างต้องมีใจสามัคคีกลมเกลียว ทุกคนต้องรักใคร่ ยกย่องและเทิดทูนในผืนแผ่นดินอันประสานด้วยย่าน หมู่บ้าน และอำเภอของตน ทั้งต้องเผยให้เห็นจิตสำนึกเพื่อเผ่าพันธุ์อันหมายถึงการรักษาชาติพันธุ์ของตน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ จะต้องมีสำนึกแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างรักใคร่แบบอยู่ร่วมดินกินร่วมน้ำ ดุจพี่น้องร่วมไส้ มีจนเสมอกัน และอยู่ร่วมเย็นร่วมร้อน นั่นคือสิ่งสุดท้ายที่ขอสั่งไว้”
พอครูใหญ่กล่าวจบ จะสั่งให้ทุกคนยืนตรงแล้วให้ครูที่ดูแลประจำแถวนำนักเรียนทยอยเดินออกจากสนามกลับสู่ชั้นเรียน และย้ำให้โรงเรียนต้องตระหนักเสมอว่ากิจกรรมประจำวันของโรงเรียนจะต้องปลูกฝังนักเรียนให้เป็นพลเมืองดีของชาติ
ในตำราเรียน “จิตใจแห่งสหภาพ” ซึ่งเป็นตำราสอนหน้าที่พลเมืองเล่มหนึ่งนั้น ยังให้เนื้อหาอื่นอีก เช่น วัฒนธรรมสำคัญของชนชาติพันธุ์ต่างๆ ลักษณะเด่นของรัฐและภาคต่างๆและการทำมาหากิน จากนั้นจะกล่าวถึงประวัติศาสตร์แห่งความเป็นทาสและชี้ภัยจากความไร้เอกภาพ แล้วจึงกล่าวถึงสภาพปัจจุบันของสหภาพพม่าภายใต้การดูแลของรัฐบาลทหาร ในส่วนของประวัติศาสตร์นั้น ได้เน้นความสำคัญของกองทัพไว้ว่า …
“หลังจากที่สหภาพเมียนมาได้เอกราชเพียงไม่นาน เอกภาพของชาติก็พังลงอย่างง่ายดาย ฝ่ายคณะบุคคลที่เคยร่วมเรียกร้องเอกราชมาด้วยกันต่างมีความเห็นไม่ลงรอย และพี่น้องร่วมชาติต่างบาดหมางต่อกันจนมิอาจรอมชอมกันได้ ในที่สุดได้เกิดขบวนการผู้ก่อการร้ายขึ้นภายในประเทศ
พื้นที่แถบป่าเขาแดนกันดารและพื้นที่ห่างไกลกลายเป็นฐานที่มั่นของพวกผู้ก่อการร้าย ภัยจากผู้ก่อการร้ายได้ทำให้พื้นที่เหล่านั้นไม่อาจได้รับการดูแลด้านการคมนาคม อุตสาหกรรม การศึกษา และการสาธารณสุข ดังนั้นจึงเกิดช่องว่างของการพัฒนาระหว่างเมืองกับชนบท กลุ่มชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจึงถูกปล่อยให้มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างล้าหลัง สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ความไว้วางใจระหว่างชนชาติลดลง พร้อมกับทำลายความสามัคคี
แม้ว่าพรรคการเมืองที่เคยได้อำนาจในการปกครองประเทศจะมีหน้าที่ในการรักษาความสามัคคีของชนในชาติก็ตาม แต่ก็กลับเหินห่างต่อหน้าที่ดังกล่าว มิซ้ำยังเกิดความแตกแยกกันในพรรคการเมือง พอในปี ค.ศ. ๑๙๕๘ รัฐบาลโดยพรรคต่อต้านฟาสซิสต์เกิดแบ่งเป็นสองฝ่ายและหันมาเผชิญหน้ากันอย่างรุนแรง ดังนั้นสถานการณ์ในประเทศจึงยิ่งย่ำแย่ จนที่สุดรัฐบาลรักษาการ(กองทัพ)จึงต้องเข้ามาแบกรับหน้าที่
ในสมัยรัฐบาลรักษาการนั้น สถานการณ์ของประเทศได้พัฒนาไปในทางที่ดี แต่พอคืนอำนาจให้กับรัฐบาลพรรคการเมืองนามว่า “พรรคสหภาพ” สถานการณ์ในประเทศกลับตกต่ำลงอีก ซึ่งยิ่งกระทบต่อความปรองดองของชนในชาติ ดังในปี ค.ศ.๑๙๖๒ เจ้าฟ้าไทใหญ่บางส่วนได้เรียกร้องให้มีการปกครองแบบสหพันธรัฐ อันมีผลให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างชนชาติ จนเกือบเป็นเหตุให้สหภาพล่มสลาย ดังนั้นในวันที่ ๒ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๖๒ กองทัพจึงต้องเข้ามาค้ำจุนไม่ให้ประเทศเป็นอันตรายถึงแตกแยก และได้ตั้งคณะปฏิวัติเพื่อฟื้นฟูประเทศที่กำลังย่อยยับในทุกด้านอยู่ขณะนั้น
ในการฟื้นฟูประเทศนั้น คณะปฏิวัติได้พยายามเป็นพิเศษที่จะสร้างเอกภาพขึ้นในประเทศ โดยมีการเจรจากับกองกำลังติดอาวุธที่อาศัยอยู่ในป่า พร้อมทั้งตั้งคณะที่ปรึกษาเพื่อเอกภาพแห่งชาติขึ้น  อย่างไรก็ตาม ก็ไม่อาจดำเนินการด้านความสงบและเอกภาพให้สำเร็จเป็นรูปธรรมได้ ทั้งนี้ก็เนื่องเพราะขาดความเข้าใจในเจตนาอันดีและความเห็นอันชอบของคณะปฏิวัติ
ในปี ค.ศ. ๑๙๘๘ ได้เกิดการจลาจลขึ้นในเมียนมา การจลาจลครั้งนั้นมีสาเหตุเพียงเรื่องทะเลาะวิวาทเท่านั้น แต่ผู้ก่อการร้ายภายในและจากภายนอก ตลอดจนกองกำลังติดอาวุธกลับพยายามยุยงให้เกิดจลาจลโดยฉวยประโยชน์จากฝูงชนที่ไร้ระเบียบ ทั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อต้องการล้มล้างรัฐบาล ในช่วงการจลาจลนั้น ทรัพย์สินของประเทศต้องสูญเสียเป็นอันมาก และถึงขนาดมีการฆ่าฟันตัดหัวราวกับว่าบ้านเมืองไร้ผู้นำ ประเทศชาติจึงเข้าสู่สภาวะโกลาหล ดังนั้นกองทัพจึงต้องตั้งคณะดูแลความสงบเรียบร้อยแห่งชาติขึ้น (สลอร์ก) เพื่อเข้ารับหน้าที่กำกับดูแลประเทศในทุกด้าน

สลอร์กได้ประกาศเจตจำนง “ภารกิจของเรา ๓ ประการ” ได้แก่ ๑) มิให้สหภาพแตกแยก ๒) มิให้มีการแตกความสามัคคีระหว่างชนชาติ และ ๓) อธิปไตยต้องมั่นคง

ในการดำเนินภารกิจทั้ง ๓ ประการนั้น จำเป็นต้องมีพละกำลัง และกองทัพเองก็ไม่อาจแบกรับได้โดยลำพัง ดังนั้นรัฐบาลสลอร์กจึงต้องพยายามทำให้เอกภาพของชนในชาติกลับคืนมา โดยมีการเจรจากับกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มต่างๆเพื่อให้เกิดสันติภาพ ในการเจรจานั้น มิได้มุ่งที่การวางอาวุธ แต่ได้เจรจาให้มีการหยุดการสู้รบ เพื่อหันมาร่วมมือกันในการพัฒนาพื้นที่เป็นหลัก ด้วยความเข้าใจในความเห็นอันชอบของสลอร์ก กองกำลังติดอาวุธในป่าได้กลับมาอยู่ภายใต้กฎหมายถึง ๑๗ กลุ่ม
สลอร์กได้เข้าดูแลประเทศอย่างเป็นระบบเพื่อให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ชายแดนและการพัฒนาชนเผ่า ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสงบสุขอย่างถาวร ในการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว สลอร์กได้ตั้ง “คณะกรรมการกลางฝ่ายการพัฒนาชายแดนและชนเผ่า” และ “คณะกรรมการดำเนินงานการพัฒนาชายแดนและชนเผ่า” คณะกรรมการดังกล่าวได้ใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อการพัฒนาความเจริญในพื้นที่ชายแดน นอกจากนี้สลอร์กยังได้ดำเนินการก่อสร้างและปรับปรุงพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ ดังนั้นในพื้นที่ที่มีความสงบจึงมีถนน สะพาน ฝาย เขื่อน โรงงาน โรงพยาบาล และโรงเรียนเพิ่มจำนวนมากขึ้น นับว่าการพัฒนาได้ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว
ในปัจจุบัน รัฐบาลได้ตั้งคณะดูแลความสงบและการพัฒนาแห่งชาติ(SPDC)เพื่อสร้างประเทศใหม่ให้ทันสมัย โดยยังคงยึดมั่นในเจตจำนงที่เป็นภารกิจ ๓ ประการนั้น
โดยความเป็นจริง ความมีน้ำหนึ่งใจเดียวของชนเผ่าร่วมชาติถือเป็นกำลังสำคัญของประเทศ ด้วยพลังดังกล่าวการพัฒนาความเจริญจึงจะดำเนินต่อไปได้ และหากสามารถรักษาความปรองดองของชนชาติที่ได้มามิให้ต้องพังลงอีก ความพยายามที่จะให้เกิดความสามัคคีกลมเกลียวขึ้นในชาติก็จะเป็นผลได้มากขึ้น”
ในส่วนท้ายของตำราเล่มนี้ ยังได้กล่าวถึง “จิตใจแห่งสหภาพ” ซึ่งเป็นหัวใจของการสร้างความปรองดองในชาติไว้ว่า …
“เมียนมาเป็นสหภาพที่ประกอบด้วยรัฐ ๗ รัฐ และมีภาค ๗ ภาค และยังประกอบด้วยเชื้อชาติต่างๆถึง ๑๓๕ ชนเผ่า  เมียนมาเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ และยังเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมสูงส่งสืบมาเป็นเวลา ๒๐๐๐ ปี ถึงแม้เมียนมาจะตั้งอยู่ระหว่างประเทศที่มีมรดกทางวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ของโลกถึง ๒ ประเทศก็ตาม(อินเดียและจีน) แต่เมียนมาก็เป็นประเทศที่สามารถดำรงรักษามรดกทางวัฒนธรรมของตนไว้ได้
การที่จะให้ประเทศเจริญเติบโตและสงบร่มเย็นตามเจตนาได้นั้น ความปรองดองของชนเผ่าจำเป็นต้องมั่นคง และการที่จะเป็นประเทศใหม่ดังหวังนั้นชนเผ่าต่างต้องมีสำนึกแห่งสหภาพ สำนึกแห่งสหภาพคือจิตใจที่ยึดมั่นในความสมัครสมานสามัคคีของคนทั้งชาติที่อาศัยอยู่ในส่วนต่างๆของประเทศภายใต้ธงผืนเดียวกัน  โดยทุกคนต้องรักและเทิดทูนประเทศของตนอันประกอบด้วยหมู่บ้าน เมือง และท้องถิ่นต่างๆของตนรวมอยู่ด้วย ให้เป็นความรักดุจเดียวกับความรักที่ทุกคนมีต่อหมู่บ้านของตน เมืองของตน หรือท้องถิ่นของตน  ทุกคนจะต้องมีจิตใจที่ปรารถนาให้ประเทศของตนพัฒนา และบ่มเพาะจิตใจที่พร้อมจะปกป้องดูแลเอกราชของประเทศให้มั่นคงถาวร กล่าวคือจิตใจแห่งสหภาพนั้นเกิดจากความรักชาติรักเผ่าพันธุ์อันปรารถนาที่จะปกป้องประเทศตน
ชนชาติต่างๆในแผ่นดินเมียนมาอาศัยอยู่ร่วมกันแบบร่วมทุกข์ร่วมสุขมายาวนานและทั้งยังมีความสมัครสมานสามัคคี แต่จากการที่เจ้าอาณานิคมได้ใช้วิธีแบ่งแยกปกครอง แผ่นดินเมียนมาจึงถูกแบ่งเป็นพื้นที่หลักพื้นที่ย่อย และยังใช้วีธีการต่างๆเพื่อแบ่งแยกสายเลือดและปลุกปั่นให้ทะเลาะกัน เป็น พม่า-ชาน พม่า-กะเหรี่ยง พม่า-ชิน พม่า-ยะไข่  ดังนั้นพอชนต่างเผ่าเสียความสามัคคีเสียแล้วเลยเกิดความรู้สึกแปลกแยกและหวาดระแวงต่อกัน พอถึงเวลาที่ได้เอกราชจึงได้เกิดกลุ่มก่อการร้ายภายในประเทศ รัฐบาลแต่ละยุคสมัยพยายามปราบปรามแต่ก็ไม่สำเร็จ แต่หลังจากที่รัฐบาลทหารเข้าแบกรับภารกิจของชาติ จึงสามารถรักษาความสงบและทำให้เกิดความสามัคคีขึ้นได้ใหม่
ฉะนั้นหากขาดสำนึกแห่งสหภาพเสียแล้วก็จะเป็นอันตรายต่อประเทศ และความสามัคคีจะเกิดขึ้นก็เสมอด้วยสำนึกแห่งสหภาพ หากประเทศมีความสงบสุขประเทศก็จะพัฒนา ดังนั้นจงพยายามทำให้ประเทศมีความสามัคคีในชาติตามที่หวัง และจงให้ประเทศเจริญรุ่งเรืองและสงบสุขด้วยความร่วมไม้ร่วมมือจากชนทุกเผ่า”
ความรู้เกี่ยวกับพม่าต่อการปลูกฝังความรักชาติ ด้วยอุดมการณ์ “จิตใจแห่งสหภาพ” นั้น บอกถึงทิศทางทางการเมืองของสหภาพพม่าได้ดีว่ากองทัพจะยังเป็นหัวใจของประเทศในการสร้างความปรองดองในชาติเพื่อให้เกิดสันติภาพอย่างถาวร และชาตินิยมจะยังเป็นแนวทางทางการเมืองสำหรับต้านทานภาวะคุกคามและการแทรกแซงจากภายนอก ดังนั้นเอกภาพ(สหภาพ) ภราดรภาพ(ความปรองดอง) และอธิปไตย(การไม่ถูกแทรกแซงทางการเมือง)จึงเป็นเจตจำนงแห่งชาติที่รัฐบาลพม่าให้ความสำคัญและนำมาปลูกฝังเยาวชนพม่าให้เป็นพลังร่วมใจกับกองทัพ และให้ตระหนักว่ากองทัพได้เข้ามาทำหน้าที่ในการปกครองก็เพราะเป็นภารกิจที่ปน็นระวัติศาสตร์มอบหมาย
วิรัช นิยมธรรม
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15533เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2006 18:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 11:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท