การยึดติดในลัทธิและเผ่าพันธุ์ : ต้นเหตุของความรุนแรงในสหภาพพม่า


ประวัติศาสตร์พม่ากล่าวไว้ว่าประเทศพม่านั้นเคยปกครองด้วยระบอบกษัตริย์มานับแต่ยุคโบราณเป็นพันๆปี แต่
การยึดติดในลัทธิและเผ่าพันธุ์ : ต้นเหตุของความรุนแรงในสหภาพพม่า
ประวัติศาสตร์พม่ากล่าวไว้ว่าประเทศพม่านั้นเคยปกครองด้วยระบอบกษัตริย์มานับแต่ยุคโบราณเป็นพันๆปี แต่ในยุคประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นยุคแห่งการสร้างอาณาจักรนั้น พม่าถือว่าพระเจ้าอโนรธาเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรเมียนมา โดยชนชาติพม่าได้เริ่มสร้างความเป็นปึกแผ่นให้ปรากฏชัดในคราแรกเมื่อปี ค.ศ. ๑๐๔๔ จากนั้นราชอาณาจักรเมียนมาได้ผ่านกาลเวลาที่ต้องประสบทั้งความรุ่งเรืองและความเสื่อมถอยเป็นระยะ สิ่งบ่งชี้ถึงความรุ่งเรืองของอาณาจักรเมียนมาในยุคนั้นคือความมีสันติภาพ ความมีเอกภาพ และความมีแสนยานุภาพ ส่วนสิ่งบ่งชี้ถึงความเสื่อมถอยก็คือการไร้ในข้อดังกล่าว พม่ามองว่าการที่ราชอาณาจักรพม่าดำรงอยู่ได้เป็นเวลายาวนานนั้น ก็เนื่องเพราะวีรบุรุษของชาวพม่าสามารถสยบภัยในแผ่นดินและสามารถป้องปราบภัยจากภายนอกไว้ได้ แต่กระนั้น ในที่สุดราชอาณาจักรเมียนมาก็ต้องถึงกาลต้องสิ้นสถาบันกษัตริย์และสิ้นอธิปไตยในปี ค.ศ. ๑๘๘๕ เจ้าอาณานิคมอังกฤษได้เข้ามาล้มเลิกระบบการปกครองเดิมของพม่าและครอบครองแผ่นดินเมียนมาอย่างเบ็ดเสร็จ พม่าถือว่าแม้จะสิ้นอาณาจักรของตนที่เคยสร้างไว้ในยุคราชวงศ์ไปแล้วก็ตาม แต่ก็ถือว่ายุคราชวงศ์ซึ่งกินเวลากว่า ๘๐๐ ปี ภายใต้ความคุ้มครองแห่งเศวตฉัตรนั้น เป็นยุคแห่งการสร้างชาติและการสั่งสมอารยธรรมของชาวเมียนมา โดยแทบมิมีกลิ่นไอจากความแตกแยกในลัทธิและเผ่าพันธุ์
ในสายตาของพม่า เจ้าอาณานิคมอังกฤษมิได้จงใจนำความผาสุขมาสู่แผ่นดินเมียนมา หากแต่เจ้าอาณานิคมได้นำระบบทุนนิยมผูกขาดเข้ามาใช้ตักตวงผลประโยชน์ไปจากแผ่นดินของตน  อังกฤษได้ทำให้ชาวพม่าซึ่งเป็นเจ้าของแผ่นดินกลายเป็นคนที่ด้อยโอกาสในเกือบทุกด้าน ไม่ว่าจะในด้านการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคม โดยเฉพาะวัฒนธรรมพม่าถูกละเลย  ชาวพม่าถูกจำกัดโอกาสทางการศึกษาและอาชีพ อีกทั้งอังกฤษยังได้สร้างความแตกแยกทางชนชาติ จนเกิดเป็นปัญหาสงครามกลางเมืองระหว่างชนต่างเผ่า ซึ่งเป็นปัญหาตกค้างมาจนถึงปัจจุบัน  เคยมีคำกล่าวว่า “ก่อนที่พวกขยายดินแดนจะกลับคืนแผ่นดินตน ยังได้สาดทรายลงบนชิ้นเนื้อที่ตนไม่กินแล้ว” ชิ้นเนื้อเปื้อนทรายที่ว่านั้นก็คือเอกราชที่พม่าได้รับ ชาวพม่าทั้งประเทศจึงไม่อาจได้ลิ้มรสแห่งเอกราชที่กว่าจะได้มาแสนยากนั้นอย่างมีความสุข นอกจากนี้ระบบการเมืองแบบทุนนิยมที่เป็นมรดกสืบทอดจากเจ้าอาณานิคมได้เข้าแทรกปนอยู่ในระบบสังคมนิยมที่เป็นแนวทางหลักของกลุ่มการเมืองในการต่อต้านเจ้าอาณานิคมมาแต่แรก จนเกิดความแตกแยกทางลัทธิเป็นฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย และที่สุดได้เอนเอียงสู่วิถีการแก่งแย่งผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มนักการเมือง ทั้งที่เคยร่วมในลัทธิและต่างลัทธิ ด้วยเหตุนี้แนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยวิถีทางการเมืองจึงมิอาจเยียวยาปัญหาความไร้เอกภาพของชาติในขณะนั้นได้
รากเหง้าของปัญหาในแผ่นดินเมียนมาในช่วงแรกที่ได้เอกราชใหม่ๆนั้น (ค.ศ. ๑๙๔๘–๑๙๖๒) จึงถูกมองว่ามี ๒ เรื่องสำคัญ คือ การยึดติดในเผ่าพันธุ์ และ การยึดติดในลัทธิ สำหรับการยึดติดในเผ่าพันธุ์นั้น พม่าจะอ้างว่าเกิดจากวิธีการปกครองโดยเจ้าอาณานิคมอังกฤษ ที่เรียกว่าแบบ Divide and Rule ระบบนี้ถูกมองว่าเป็นการแบ่งแยกเอาใจชนกลุ่มน้อยและกดขี่ชนชาติพม่า โดยเฉพาะกลุ่มกะเหรี่ยงมักถูกประณามว่าเป็น สมุนรับใช้พวกขยายดินแดน และเป็น ไม้เท้าให้กับเจ้าอาณานิคม อังกฤษให้การสนับสนุนกะเหรี่ยงในด้านการศึกษา อาชีพ และยังสนับสนุนให้ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ยังพื้นที่ราบอันอุดมสมบูรณ์ทางตอนล่าง อีกทั้งมีการชักชวนชาวกะเหรี่ยงตลอดจนคนบนพื้นที่สูงให้หันไปนับถือศาสนาคริสต์ ทั้งนี้เพราะอังกฤษไม่สามารถเผยแผ่ศาสนาของตนในพื้นที่ราบได้ ด้วยชนส่วนใหญ่ในพื้นที่เหล่านี้เป็นชาวพม่าที่ส่วนมากดำเนินชีวิตตามวิถีทางพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด ดังนั้นอังกฤษจึงขึ้นไปเผยแผ่ศาสนาของตนกับคนในพื้นที่ดงดอย เช่น ในเขตของกะฉิ่น ฉิ่น และกะเหรี่ยง เป็นต้น นอกจากนี้อังกฤษยังได้ปลูกฝัง ความรู้สึกเกลียดชังพม่า ขึ้นมา ดังนั้นความชิงชังกันระหว่างเผ่าพันธุ์ที่อังกฤษก่อขึ้นจึงได้กลายเป็นชนวนก่อให้เกิดการต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนมานับแต่สหภาพพม่าได้เอกราช
ส่วนการยึดติดในลัทธินั้น ในยุคนั้นลัทธิการเมืองที่เข้ามามีบทบาท ได้แก่ ลัทธิสังคมนิยม ลัทธิคอมมิวนิสต์ และลัทธิทุนนิยมแบบอาณานิคม ฝ่ายพม่ากล่าวว่าในช่วงของการต่อสู้ขับไล่ฟาสซิสต์ญี่ปุ่นและการเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษนั้น ทุกฝ่ายลัทธิต่างพยายามประนีประนอมกันเพื่อต่อสู้กับกองกำลังฟาสซิสต์และเรียกร้องเอกราชจากเจ้าอาณานิคม แต่พอได้รับเอกราชแล้วต่างฝ่ายกลับหันมาแย่งชิงอำนาจทางการเมือง  กลุ่มคอมมิวนิสต์แยกตัวไปต่อสู้ในป่า กลุ่มสังคมนิยมกลับอ่อนด้อยในสภา ส่วนกลุ่มทุนนิยมได้อำนาจชี้นำในรัฐบาลขณะนั้น พรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลคือพรรคสันนิบาตอิสรภาพต่อต้านฟาสซิสต์ซึ่งมีอูนุเป็นผู้นำ อันที่จริงพรรคการเมืองพรรคนี้ก่อตั้งโดยนายพลอองซาน และเป็นพรรคที่มีแนวคิดทางสังคมนิยมมาก่อน แต่ด้วยมีความแตกแยกภายในพรรค จึงได้เกิดการเอนเอียงออกจากวิถีสังคมนิยม ผู้นำหันมาสนใจในอำนาจและเอื้อประโยชน์เฉพาะกับพวกพ้อง การต่อสู้ทางการเมืองในระบบพรรคจึงถูกวิจารณ์ว่าเป็นระบบที่มิได้มีเป้าหมายเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และพอเกิดความอ่อนแอในพรรคก็หันไปใช้อุบายทางการเมืองในการเรียกร้องคะแนนเสียง อาทิ การให้สัญญาว่าจะให้อิสระทางการปกครองต่อกลุ่มแบ่งแยกดินแดน และการให้สัญญาว่าจะกำหนดให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ดังนั้นการต่อสู้ในทางการเมืองจึงยิ่งซ้ำเติมปัญหาความไร้เอกภาพ นักการเมืองในยุคนั้นจึงถูกกล่าวหาว่าเล่นการเมืองเพียงเพื่อสนองตัณหาตน โดยมิได้คำนึงถึงความอยู่รอดของประเทศ
ในสมัยแรกที่พม่าปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบหลายพรรคนั้น (ค.ศ.๑๙๔๘–๑๙๖๒) สหภาพพม่ามีปัญหาทั้งเรื่องเอกภาพระหว่างชนเผ่าและระหว่างกลุ่มลัทธิทางการเมือง มีการต่อสู้ของผู้ก่อการร้ายที่เรียกร้องอิสระทางการเมืองและการปกครอง และยังมีการแตกแยกระหว่างกลุ่มนักการเมืองภายในพรรครัฐบาล รัฐบาลอูนุไม่สามารถให้ความเชื่อมั่นในการแก้ปัญหาของชาติได้ นายพลเนวินจึงได้รับเชิญให้มารับหน้าที่นายกรัฐมนตรีเป็นกาลชั่วคราวเพื่อแก้ไขเหตุการณ์ร้ายให้ผ่านพ้น เหตุนี้กองทัพพม่าซึ่งนำโดยนายพลเนวินจึงถูกมองว่าเป็นอัศวินที่เข้ามาช่วยพลิกฟื้นสถานการณ์อันเลวร้ายให้คืนสู่ความสงบสันติ ท้ายที่สุดประชาธิปไตยในระบบหลายพรรคที่ต่างฝ่ายต่างพยายามต่อสู้กันเพื่อแย่งอำนาจ ได้ทำให้ระบอบประชาธิปไตยในพม่าถูกผลักไปอยู่ในตำนานเป็นเวลากว่า ๒๐ ปี (ค.ศ. ๑๙๖๒ - ๑๙๘๘) เพราะในปี ค.ศ. ๑๙๖๒ กองทัพพม่าได้ทำการรัฐประหาร แล้วนำระบบการปกครองแบบพรรคเดียวมาใช้ โดยเรียกการเมืองระบบนี้ว่า การเมืองของประชาชน เพื่อให้ต่างจาก การเมืองของพรรค อย่างไรก็ตาม พรรคสันนิบาตอิสรภาพต่อต้านฟาสซิสต์ของนายกรัฐมนตรีอูนุในยุคทดสอบประชาธิปไตยสมัยเดียวของพม่า และพรรคแนวทางสังคมนิยมของรัฐบาลทหารโดยนายพลเนวินในยุคทดสอบวิถีสังคมนิยมต่างก็ประสบกับความล้มเหลวทางการเมือง กระนั้นพม่ากลับอ้างว่าเป็นเพราะบรรดาผู้นำกลุ่มต่างๆในอดีตต่างไม่ลงรอยกัน และมัวหลงยึดติดในลัทธิทางการเมืองและความแตกต่างในเผ่าพันธุ์ ด้วยเหตุผลดังกล่าวการปราบปรามด้วยวิธีรุนแรงจึงมิอาจจะเลี่ยงได้
วิรัช นิยมธรรม
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15534เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2006 18:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อยากทราบข้อมูลของลัทธิเสรีนิยมคะ อยากได้เยอะๆ เลย ว่าเป็นอย่างไร มีแนวความคิดแบบไหนบ้างใครเป็นเจ้าของแนวความคิด

 

สนใจเรื่อง ความขัดแย้ง และเผ่าพันธุ์ในพม่ามากค่ะ และเกลียดพวกตะวันตกมากเช่นกัน วันนี้ก็เป็นอีกวันที่ได้มาเปิดโลกกว้างมากขึ้น และได้มีข้อมูลยืนยันว่า ตะวันตกไม่เคยหวังดีกับใครจึง บรรพบุรุษเป็นยังไง ลูกหลานเขาก็ไม่ต่างกันหรอกค่ะ

หวังว่าเราคงจะไม่รอให้เขามาทำอะไรๆมากกว่านี้กับประเทศเรา แล้วค่อยให้ลูกหลานเราด่าทอ สาปแช่งพวกมันเหมือนที่ทำกับเพื่อนมนุษย์ของเรานะค่ะ

ฝากผู้ใหญ่ที่บรรลุเล่าซึ้งความโหดร้ายเหล่านี้ ได้โปรดงัดสิ่งที่ครอบลูกหลานเราให้ตื่นจากเงามืดด้วยเถอะค่ะ ไม่อยากมีความสุข บนความทุกข์ของบรรพบุรุษที่ร้องไห้อยู่ในสุสาน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท