สายเลือดแห่งประชา รัตนะบุตรแห่งกองทัพ
สืบอดีตล้ำเลิศ ก่อกำเนิดกองทัพเรา
ประเทศมิแบ่งแยก ประชาสมานมิคลาย
อธิปไตยจะยั่งยืน คือภารกิจแห่งกองทัพ
เพลงรัฐบาล :
โฆษณาทางการเมืองของรัฐบาลพม่า
สายเลือดแห่งประชา
รัตนะบุตรแห่งกองทัพ
สืบอดีตล้ำเลิศ ก่อกำเนิดกองทัพเรา
ประเทศมิแบ่งแยก ประชาสมานมิคลาย
อธิปไตยจะยั่งยืน คือภารกิจแห่งกองทัพ
เพื่อล่วงลุในหน้าที่ ผองเราแบกรับแข็งขัน
ใครจะแยกเราไม่แตก กองทัพผนึกแน่นนิรันดร์
คำประพันธ์ข้างต้นเป็นบทเพลงเทิดเกียรติกองทัพพม่าที่ขับกล่อมประชาชนอยู่ทุกวัน
แม้เนื้อหาของบทเพลงจะแสดงเจตนารมณ์อันเด็ดเดี่ยวของกองทัพที่มีต่อประเทศชาติก็ตาม
แต่ท่วงทำนองเพลงกลับแว่วหวานและนุ่มนวลแบบเสนาะหู
ชาวพม่าจะได้ยินได้ฟังเพลงนี้ทางโทรทัศน์พม่าในช่วงเวลาก่อนข่าวภาคค่ำ
จนเป็นเพลงหนึ่งที่ชาวพม่าคุ้นเคยและจำกันได้ดี
อันที่จริงบทเพลงนี้มีความไพเราะไม่ด้อยไปกว่าเพลงสมัยนิยมในตลาดเพลงยุคใหม่ของพม่า
และยังมีทำนองที่ให้ความรู้สึกอ่อนโยนและอบอุ่น
ต่างจากเพลงสำหรับกองทัพอีกหลายเพลงที่ออกจะมีท่วงทำนองกระชับ
แข็งกร้าวและเร้าใจ ซึ่งชาวบ้านอาจฟังเพียงผ่านหูแล้วก็ลืมเลือน
ในการออกอากาศทางโทรทัศน์พม่านั้น
นอกเหนือจากเพลงสรรเสริญกองทัพอย่างที่ยกมาเป็นตัวอย่าง
พม่ายังมีเพลงเพื่อบ้านเมืองอื่นๆอีกมากมาย อาทิ
เพลงปลุกเร้าความปรองดองทางชนชาติ
เพลงปลูกฝังความรักชาติและสายเลือดพม่า
เพลงเตือนภัยคุกคามจากโลกภายนอก เพลงธรรมะสำหรับพุทธศาสนิกชน
เพลงส่งเสริมค่านิยมแบบพม่า เพลงสนับสนุนศิลปวัฒนธรรมพม่าและชนเผ่า
เพลงส่งเสริมการท่องเที่ยว
เพลงให้ความรู้ด้านสุขอนามัยหรือโรคภัย
และเพลงโฆษณาผลงานการพัฒนาประเทศของรัฐบาลทหาร เช่น การสร้างสะพาน
การสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อการเกษตร การพัฒนาอุตสาหกรรม
การเพาะปลูกพืชเกษตร หัตถกรรมท้องถิ่น การทำปศุสัตว์ การประมง
และอัญมณี เป็นต้น
บทเพลงเหล่านี้จะนำเสนอในรูปแบบของรายการบันเทิงต่างๆ ได้แก่
รายการเพลงขับร้องโดยดาราหรือนักร้องจากกรมวิทยุและโทรทัศน์พม่า
การขับร้องประสานเสียงโดยข้าราชการจากกองทัพ
การฟ้อนรำชนเผ่าต่างๆของกระทรวงวัฒนธรรม การประกวดร้องเพลง
และการเผยแพร่ข่าวสารในรูปของมิวสิควีดิโอ เป็นต้น
ชาวพม่ามักเรียกบทเพลงเพื่อบ้านเมืองดังกล่าวโดยรวมว่า
“เพลงรัฐบาล” (v06btilu-y'Nt) เพราะเป็นเพลงที่รัฐบาลผลิต
และมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการพัฒนาประเทศโดยภาครัฐ
โดยทั่วไปชาวพม่านิยมฟังเพลงกันเป็นชีวิตจิตใจ การคลอเพลงอยู่ผู้เดียว
การเปิดเพลงฟังที่บ้าน การตั้งวงร้องเพลงกันในหมู่เพื่อนฝูง
หรือการนั่งฟังเพลงในร้านน้ำชา ต่างถือเป็นชีวิตปกติของชาวพม่า
และหากดูรายการโทรทัศน์ของพม่า จะพบได้ว่ามีแต่รายการเพลงเป็นส่วนใหญ่
จนแม้แต่การโฆษณาสินค้าซึ่งเป็นสิ่งใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในสมัยกึ่งทุนนิยมของพม่าก็ยังต้องมีเนื้อเพลงประกอบโฆษณาเกือบทุกชิ้น
เพราะหากการโฆษณาขาดเพลง
สินค้านั้นก็จะไม่อยู่ในความสนใจของผู้ชมเท่าที่ควร
การสื่อด้วยเพลงจึงเป็นการนำสารสู่ผู้รับข่าวสารและผู้บริโภคชาวพม่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
และจากการที่เพลงเป็นที่นิยมของชาวพม่า
จึงไม่แปลกที่รัฐบาลจะอาศัยเพลงเป็นสื่อกระจายข่าวสารจากรัฐสู่ประชาชน
จากการที่ชาวพม่านิยมฟังเพลง
เพลงรัฐบาลจึงเกิดขึ้นแทรกตามกระแสนิยมของประชาชน
โดยมีรูปแบบเช่นเดียวกับการโฆษณาสินค้า คือมีการนำดารา นักร้อง นายแบบ
และนางแบบมาร่วมขับร้องหรือแสดงประกอบโดยนำเสนอเป็นมิวสิควีดิโอ
เพลงรัฐบาลจึงมีสีสรรที่ชวนให้ติดตาม
และเรียกร้องความสนใจจากผู้ชมได้ไม่น้อย อันที่จริง
หากพิจารณาคำร้อง
เพลงรัฐบาลนั้นก็คือชุดของข่าวสารอย่างหนึ่งที่รัฐบาลพม่าใช้เป็นเครื่องมือสื่อประชาสัมพันธ์ผลงาน
ความรู้
และอุดมการณ์ทางการเมืองให้ถึงประชาชนได้อย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง
ประชาชนจึงมีโอกาสรับรู้สาระเหล่านั้นโดยอ้อม
เพลงรัฐบาลนั้น จะมีคำเรียกอย่างเป็นทางการว่า
เพลงเพื่อชาติ(O6b'N'"g9kNvdy7bt1xlu-y'Nt)
ถือเป็นเพลงรัฐนิยมที่ถูกจัดประเภทขึ้นใหม่
เพิ่มจากเพลงสมัยนิยมอื่นๆที่เป็นเพลงแบบประชานิยม อันได้แก่
เพลงยุคเก่า (g-9Ngsk'Ntlu-y'Nt)
เพลงสมัยใหม่(g-9NgxKlu-y'Nt) เพลงธรรมะ
(T,Ág9tlu-y'Nt) และเพลงพื้นบ้าน(gdyt]dNlu-y'Nt)
เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การจัดประเภทให้กับเพลงรัฐบาลนั้น
กลับมิได้สะท้อนความนิยมปกติที่ประชาชนมีต่อเพลงประเภทนี้
หากเกิดจากการได้ยินได้ฟังอยู่เป็นประจำทางวิทยุหรือโทรทัศน์
อีกทั้งยังมีเพลงใหม่ๆเกิดขึ้นอยู่ตลอด
ตามแต่จำนวนข่าวสารที่รัฐบาลต้องการเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบ
การได้ชื่อว่าเป็นเพลงรัฐบาลนั้น
ก็คงจะจงใจจำแนกให้แตกต่างจากเพลงประเภทอื่นๆที่ไม่อยู่ในกำกับของรัฐ
ในอดีตเมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อนนั้น เพลงรัฐบาลจะฟังได้เฉพาะทางวิทยุรัฐบาล
และสถานีโทรทัศน์ MRTV
ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยสังคมนิยมและเน้นข่าวสารของรัฐบาลเท่านั้น
แต่ปัจจุบันได้มีโทรทัศน์เพิ่มขึ้นอีก ๒ ช่อง คือ มยะวดีทีวี
ซึ่งเพิ่งเกิดในสมัยสลอร์กโดยเสนอภาคความบันเทิงมากขึ้น และ MRTV3
ซึ่งเป็นรายการภาคภาษาอังกฤษที่เน้นโฆษณาการท่องเที่ยวและข่าวรัฐบาลซึ่งสามารถรับชมได้ทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม โทรทัศน์ทั้ง ๓ ช่องต่างอยู่ในการดูแลของรัฐบาลทหาร
ดังนั้นรายการเพลง มิวสิควีดิโอ
ตลอดจนภาพยนตร์หรือละครเพื่อชาติจึงยังเป็นรายการหลักเช่นเดียวกับรายการข่าวของทางการ
ในส่วนของการเสนอข่าวทางโทรทัศน์พม่านั้น
มักเป็นข่าวเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของผู้นำประเทศ เจ้ากระทรวง
แม่ทัพภาคซึ่งเป็นผู้ว่าการรัฐและมณฑลต่างๆ
ตลอดจนองค์กรที่รัฐให้การสนับสนุน
ข่าวที่พบอยู่เสมอคือการบริจาคทรัพย์ของภาคเอกชนเพื่อสนับสนุนกิจกรรมของรัฐ
การทำบุญและการบูรณะสร้างศาสนสถานโดยรัฐ และข่าวการปราบปรามยาเสพติด
อีกทั้งในบางโอกาสก็จะมีการถ่ายทอดการสวนสนามของกองทัพ
และการแสดงพลังมวลชนตามรัฐและมณฑลต่างๆเพื่อสนับสนุนผลงานของรัฐบาล
หรือเพื่อต่อต้านภัยคุกคามประเทศ อาทิ การกล่าวโจมตีฝ่ายประชาธิปไตย
การกล่าวโจมตีชนกลุ่มน้อยที่ต่อต้านรัฐบาล
หรือแม้แต่การกล่าวโจมตีไทยก็เคยมี
ที่สำคัญบทบาทของโทรทัศน์ทุกช่องจะเน้นด้านข่าวสารในรูปแบบที่เหมือนกัน
เพื่อเสนอภารกิจของผู้นำและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศและรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง
จากเจตนาที่ต้องการเน้นภาพลักษณ์ที่ดีของรัฐบาลและประเทศนั้น
ทำให้พม่าจำเป็นต้องเสนอข่าวเพียงด้านเดียว
และบดบังภาพลบที่มีขึ้นในสังคมพม่า
โทรทัศน์จึงไม่ใช่พื้นที่ที่ประชาชนหรือเอกชนจะร่วมกำหนดได้
และไม่อาจใช้แสดงความคิดเห็นที่ขัดแย้งกับรัฐบาลหรือค่านิยมทางสังคม
ดังนั้นโทรทัศน์พม่าจึงไม่มีข่าววิจารณ์การเมือง ข่าวอาชญากรรม
ข่าวอุบัติเหตุ ข่าวภัยสังคม ข่าวปัญหาในวงการศาสนา
ข่าวความเดือนร้อนของชาวบ้าน หรือข่าววงการบันเทิง
ส่วนการโฆษณาสินค้าก็มีข้อห้าม เช่น ห้ามโฆษณาบุหรี่ เหล้า เบียร์
ผ้าอนามัย และห้ามใช้กะเทยเป็นแบบ
หรือผู้หญิงต้องแต่งกายตามวัฒนธรรมพม่า เป็นต้น
โทรทัศน์พม่าจึงไม่ใช่ที่พึ่งของข่าวสารอย่างในประเทศเสรีนิยม
ในส่วนของความบันเทิงทั่วไปนั้นดูเหมือนจะเป็นเพียงรายการที่แทรกอยู่เท่านั้น
อาทิ ละครชาดก นาฏศิลป์ ประกวดร้องเพลง เกมส์สำหรับเด็ก และภาพยนตร์
เป็นต้น ในด้านภาพยนตร์ทางโทรทัศน์นั้น ส่วนมากจะเป็นภาพยนตร์พม่า
และมักจะเป็นภาพยนตร์เก่าๆ
หากเป็นภาพยนตร์ใหม่ก็มักมีเนื้อหาสนับสนุนงานพัฒนาของรัฐ
การสร้างความปรองดอง ความรักชาติ และการสอนคุณธรรม
ภาพยนตร์พม่าตามสมัยนิยมยังต้องหาดูจากโรงภาพยนตร์
หรือโรงหนังบ้านที่ชาวบ้านปิดวิกฉายวีดิโอ
จึงอาจสรุปได้ว่าโทรทัศน์พม่ามิได้ให้ความสำคัญต่อความบันเทิงทั่วไปมากนัก
การเสนอข่าวภาครัฐ เพลงรัฐบาลในรูปแบบต่างๆ
และละครภาพยนตร์เพื่อชาติจึงครองพื้นที่รายการโทรทัศน์พม่า
จนอาจกล่าวได้ว่าโทรทัศน์พม่ามิใช่แหล่งบันเทิงแบบชาวบ้าน
แต่เป็นความบันเทิงแบบรัฐเสียมากกว่า
ส่วนภาคเอกชนนั้นจะมีโอกาสใช้โทรทัศน์เป็นพื้นที่โฆษณาได้
ก็เฉพาะในรายการภาพยนตร์รอบดึกหรือในช่วงรายการบันเทิงบางรายการเท่านั้น
นับว่าโทรทัศน์พม่ามีเป้าหมายเพื่อเสนอข่าวสารของรัฐบาลเป็นหลัก
โดยจัดในรูปแบบของชุดข่าวสารและความบันเทิงอันหลากหลาย
ซึ่งเพลงรัฐบาลก็เป็นชุดข่าวสารในรูปแบบของความบันเทิงอย่างหนึ่ง
และเป็นการโฆษณาทางการเมืองที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้อีกทาง
วิรัช
นิยมธรรม