ชาตินิยม : นวกรรมที่ไม่เสื่อมไปจากแผ่นดินพม่า


จากการที่สหภาพพม่ายังมีปัญหาด้านเอกภาพและความมั่นคงภายใน อันเนื่องมาจากความแปลกแยกของคนต่างเผ่าพันธุ์ที่สืบต่อมากว่ากึ่งศตวรรษ
ชาตินิยม : นวกรรมที่ไม่เสื่อมไปจากแผ่นดินพม่า

 

จากการที่สหภาพพม่ายังมีปัญหาด้านเอกภาพและความมั่นคงภายใน อันเนื่องมาจากความแปลกแยกของคนต่างเผ่าพันธุ์ที่สืบต่อมากว่ากึ่งศตวรรษ และจากกระแสการเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงตลอดทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลทหารของพม่าจึงคงย้ำเน้นถึงความรักชาติให้เป็นหน้าที่สำคัญของพลเมืองพม่า และยกย่องพุทธศาสนาให้เป็นศาสนาประจำชาติ โดยถือเสมอว่า "จิตใจรักชาติ" เป็นสำนึกอย่างหนึ่งที่จะต้องเว้นจากการวิพากษ์วิจารณ์ดุจเดียวกับพุทธศาสนาและกองทัพแห่งชาติ เหตุเพราะรัฐบาลพม่าถือว่าความรักชาติเป็นจิตสำนึกและ จิตวิญญาณของชาวพม่าที่ได้สั่งสมมาพร้อมกับการต่อสู้เพื่อเรียกร้องอิสรภาพของประชาชนและเอกราชของสหภาพพม่าจากการครอบงำของลัทธิจักรวรรดินิยมที่คุกคามพม่าในอดีต

 

การที่พม่าถูกอังกฤษเข้ายึดครองเป็นอาณานิคมโดยเบ็ดเสร็จเมื่อปี ค.ศ. ๑๘๘๕ นั้น เป็นผลให้ระบอบกษัตริย์ของพม่ามีอันต้องสิ้นลง แม้ในครั้งนั้นอังกฤษจะสามารถโค่นราชวงศ์พม่าได้อย่างง่ายดายก็ตาม กระนั้นกองทัพอังกฤษก็ต้องใช้ความพยายามอยู่นานกว่าที่จะปราบ ผู้ต่อต้านให้ราบคาบ จนต่อมาในต้นคริสตศตวรรษที่ ๒๐ คือเมื่อมีการก่อตั้งยุวพุทธิกะสมาคม(วายเอ็มบีเอ) เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๐๖ สำนึกร่วมของความเป็นพม่าได้เริ่มก่อตัวขึ้นจากการตระหนักถึงวัฒนธรรมชาวพุทธของพม่าที่ต่างไปจากฝ่ายตะวันตกอย่างเด่นชัด ในช่วงทศวรรษ ๑๙๑๐ พม่าได้ปลุกสำนึกการรักษาเผ่าพันธุ์ มีทั้งการติติงการแต่งงานของผู้หญิงพม่ากับชนต่างชาติต่างศาสนา และยังมีการต่อต้านชาวต่างชาติที่มักสวมรองเท้าเข้าในเขตพุทธเจดีย์ ต่อมาในช่วงทศวรรษ ๑๙๒๐ ได้มีการเรียกร้องอิสระทางการปกครองและความเสมอภาคทางการศึกษา และผลักดันให้มีการยอมรับภาษาพม่าพร้อมกับการจัดตั้งโรงเรียนประชาชนสำหรับชาวพม่าขึ้น พอถึงต้นทศวรรษ ๑๙๓๐ ได้เกิดกบฎซะยาซัน หรือ หรือกบฏชาวนาผู้รักชาติ จากนั้นจึงมีขบวนการแนวชาตินิยมขึ้นจากการก่อตั้งสมาคม "เราชาวพม่า" ที่ต่อมาได้พัฒนาเป็นกองทัพประชาชนที่สามารถขับไล่กองทัพญี่ปุ่นและเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษจนสำเร็จ พม่าจึงถือว่าเอกราชของพม่ามีขึ้นได้ก็ด้วยสำนึกชาตินิยมของชาวพม่าทั้งประเทศ

 

ในช่วงทศวรรษที่ ๑๙๕๐ เป็นช่วงแรกของการได้รับเอกราช และเป็นยุคทดลองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ในช่วงเวลานี้พม่าต้องพบกับปัญหาสงครามกลางเมืองและปัญหาชนกลุ่มน้อยที่ต้องการแยกตัวจากสหภาพพม่า พอถึงในยุครัฐบาลปฏิวัติและตามด้วยยุคสังคมนิยมของนายพลเนวิน พม่าได้ยึดแนวนโยบายปฏิเสธความหลากหลายด้วยการสร้างสำนึก "รวมสายเลือด"ของชนหลายเผ่าพันธุ์ให้มีเพียงชนชั้นกรรมกรและชาวนาภายใต้แนวทางสู่สังคมนิยมแบบพม่า พร้อมกับกีดกันคนต่างด้าวและขจัดอิทธิพลจากต่างชาติ ลัทธิชาตินิยมได้ถูกนำมาใช้อีกครั้ง มีการปลูกฝังแนวคิดสังคมนิยมควบคู่ไปกับความรักชาติอย่างจริงจัง จนแม้ปัจจุบันพม่าจะได้ละทิ้งแนวทางสังคมนิยมแล้วก็ตาม แต่ความเป็นชาตินิยมก็ยังคงเห็นได้ชัดมาก ดังมีการสร้างสื่อย้ำจิตสำนึกในความรักชาติอยู่เสมอ โดยเฉพาะในวันรัฐนิยมที่เกี่ยวข้องกับการเรียกร้องเอกราช รวมถึงการต่อต้านระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตก ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ ๑๙๘๐ เป็นต้นมา อาทิ การเปลี่ยนชื่อประเทศและชื่อเมืองต่างๆ ก็เป็นเจตจำนงค์หนึ่งของการกระตุ้นความรักชาติและต่อต้านชาติตะวันตก ลัทธิชาตินิยมจึงถูกนำมาใช้เพื่อสร้างชาติอยู่เสมอ

 

ชุดความรู้ที่เกิดมาจากการแสวงหาเพื่อการสร้างสำนึกรักชาติของพม่านั้นมีมากมาย แต่ที่สำคัญเห็นจะได้แก่ เรื่องกำเนิดเผ่าพันธุ์พม่า ความยิ่งใหญ่ของพม่าในยุคราชวงศ์ และการต่อต้านอังกฤษและญี่ปุ่นในยุคอาณานิยม ชุดความรู้ทั้งสามนั้นเกี่ยวข้องกับชนชาติพม่าเป็นหลัก ส่วนบทบาทของชนเชื้อชาติอื่นนั้นมีการกล่าวเสริมเพียงครั้งคราว

 

ประเด็นแรกเป็นเรื่องกำเนิดราชธานีและเผ่าพันธุ์พม่านั้น ประวัติศาสตร์พม่ากล่าวถึงราชธานีแห่งแรกของชนชาติพม่าว่าอยู่ ณ เมืองตะกอง ดังมีโวหารที่พม่าผูกขึ้นกล่าวอยู่เสมอ ว่า "จุดเริ่มของพม่า คือ ตะกอง" ซ้ำยังกล่าวอีกว่ากษัตริย์พม่าสืบเชื้อสายมาแต่ศากยวงศ์ เรื่องกำเนิดราชธานีและที่มาของเผ่าพันธุ์พม่านั้น มีความสอดคล้องกับตำนานผีหลวง(เทพนัต)ของพม่าที่อ้างว่ามีกำเนิดมาจากเมืองตะกองซึ่งตั้งอยู่ทางตอนบนก่อนล่องลงมาสู่พุกามทางตอนกลางของประเทศ และด้วยการที่พม่ารับอิทธิพลทางพุทธศาสนาไว้ด้วยศรัทธาอันมั่นคงนั้น พม่าจึงโยงเผ่าพันธุ์ตนและราชวงศ์พม่าว่าสืบสายมาแต่วงศ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การยึดเอาคติผีหลวงและตำนานพุทธศาสนาจึงเป็นหลักกำหนดความเป็นชาติพันธุ์อันเก่าแก่และสูงส่งของพม่า จนดูเหนือกว่าเผ่าพันธุ์อื่นที่อาศัยร่วมแผ่นดินสหภาพพม่าทั้งประเทศ

 

ประเด็นที่สองเป็นเรื่องของวีรกรรมของกษัตริย์พม่าในยุคราชวงศ์ ประวัติศาสตร์พม่าในยุคราชวงศ์กล่าวว่า พม่าได้รับพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทมาจากมอญโดยพระเจ้าอโนรธาแห่งพุกามในศตวรรษที่ ๑๑ พม่าจึงยกย่องพระเจ้าอโนรธาว่าเป็นผู้หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งพุทธศาสนาในแผ่นดินพุกาม ต่อมาในสมัยราชวงศ์ตองอู พระเจ้าบุเรงนองเป็นผู้สร้างอาณาจักรพม่าขึ้นด้วยกำลังรบที่เกรียงไกร บุเรงนองนั้นเป็นยอดขุนพลของพระเจ้าตะเบงชเวตี้ และสามารถสยบมอญและยึดเมืองหงสาวดีไว้เป็นราชธานีของพม่าสำเร็จ พม่าจึงถือว่าพระเจ้าบุเรงนองเป็นผู้สร้างอาณาจักรพม่าเป็นยุคที่สอง ในยุคต่อมา พระเจ้าอลองพญา ซึ่งเป็นวีรกษัตริย์อีกผู้หนึ่ง ได้ช่วยให้พม่าฟื้นตัวพ้นจากอำนาจมอญ และสามารถตีได้เมืองหงสาวดีและย่างกุ้งซึ่งเป็นของมอญให้มาอยู่ใต้อำนาจของพม่า ซึ่งถือเป็นการเผด็จศึกมอญเป็นครั้งสุดท้าย ศัตรูทางประวัติศาสตร์ของพม่าในยุคราชวงศ์จึงมีมอญเป็นศัตรูสำคัญ อย่างไรก็ตามมอญก็หาได้ด้อยในประวัติศาสตร์พม่าไปเสียหมด เพราะพม่ายกย่องมอญที่ถ่ายทอดอารยธรรมให้กับพม่า และยังยกวีรกรรมของฝ่ายมอญมากล่าวไว้หลายเรื่องอีกด้วย อาทิ เรื่องของสมีงพระราม อูบากอง มะกะโท และพระนางฉี่งซอบุ เป็นต้น

 

ประเด็นที่สามเกี่ยวกับวีรชนที่ร่วมต่อต้านอังกฤษในยุคล่าเมืองขึ้น รวมถึงการเรียกร้องอิสรภาพและเอกราชจากอังกฤษ และการขับกองทัพญี่ปุ่นจากแผ่นดินพม่า บุคคลสำคัญที่ถูกกล่าวถึงเสมอ ได้แก่ มหาพันธุละ มยะวดีมีงจีอูซะ กะนองมีงตา กีงวงมีงจี อูอุตตะมะ อูวิสาระ ซยาซัน นายพลอองซาน และนายพลเนวิน นอกนั้นยังมีนักปราชญ์คนสำคัญของพม่า เช่น อูโกด่อมาย อูโพจา ดีโด๊ะอูบะโฉ่ เป็นต้น บุคคลเหล่านี้พม่าถือเป็น ตูแยกอง หรือ "ผู้กล้าหาญ" ของแผ่นดินพม่า และวีรชนส่วนใหญ่ที่เอ่ยถึงบ่อยๆมักเป็นชนเชื้อสายพม่า พม่าจึงให้ความสำคัญต่อวีรกรรมเพื่อเอกราชเป็นพิเศษ

 

ในหน้าประวัติศาสตร์ชาติของพม่านั้น พม่าจะเน้นภาพของอังกฤษและญี่ปุ่นเป็นศัตรูสำคัญ เหตุนี้วีรชนแห่งเอกราชจึงได้รับการชี้ย้ำเพื่อฉายให้เห็นภัยของลัทธิล่าเมืองขึ้นและการครอบงำของชนต่างชาติ พร้อมด้วยการสร้างภาพลักษณ์ของพม่าให้เด่นชัดว่าพม่าคือชนชาติที่เก่าแก่ สูงส่ง และยิ่งใหญ่มาแต่อดีต โดยมีเป้าหมายสูงสุดก็เพื่อเทิดทูนเอกราชและเอกภาพเป็นสำคัญ ด้วยเหตุนี้ ที่ผ่านมาอนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อแสดงหลักชัยของชาตินั้น จึงได้เน้นวีรชนผู้กล้าท้าทายอำนาจของอังกฤษ อาทิ อนุสาวรีย์ของนายพลอองซาน ผู้เป็นบิดาแห่งเอกราชพม่า และอนุสาวรีย์ของมหาพันธุละ แม่ทัพพม่าผู้นำทัพต่อสู้กับกองทัพอังกฤษจนตัวตาย และซยาซัน ผู้นำชาวนาผู้รักชาติ เป็นต้น ส่วนที่เป็นวีรกษัติรย์นั้นพม่าจะเน้นการสะท้อนภาพของความยิ่งใหญ่ของพม่าในอดีตผ่านวรรณกรรมและสื่อต่างๆของรัฐ โดยมิได้ให้การยกย่องวีรกษัตริย์จนถึงขนาดสร้างอนุสาวรีย์อย่างจริงจัง การสร้างอนุสาวรีย์สำหรับวีรกษัตริย์ในปัจจุบันในสมัยรัฐบาลสล็อรก์จึงถือเป็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ อนุสาวรีย์สำคัญที่สร้างขึ้นต่างมีความงดงามและเน้นด้านบุญบารมีที่ดูน่าเกรงขาม อนุสาวรีย์ดังกล่าว ได้แก่ อนุสาวรีย์พระเจ้าอโนรธาและอนุสาวรีย์บุเรงนอง พม่าถือว่าวีรกษัตริย์ทั้งสองของพม่าเป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพและเอกภาพ โดยเฉพาะทั้งสองพระองค์นั้น ต่างได้ใช้การศึกและการศาสนาเพื่อสมานไมตรีให้ชาวพม่าและชาวมอญสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ

 

แม้อนุสาวรีย์ของวีรกษัตริย์ทั้งสองนั้นจะมีเค้าว่าเกี่ยวข้องกับการสร้างสำนึกชาตินิยมที่สร้างภาพให้พม่ามีพลานุภาพเหนือชนชาติอื่นก็ตาม แต่คงยังไม่ถือว่ามีพลังสังคมมากเท่าอนุสาวรีย์ที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู่เพื่อเอกราช ซึ่งชาวพม่าพบเห็นมาตลอดครึ่งศตวรรษ อย่างไรก็ตามความกังขาอันเนื่องจากการสร้างอนุสาวรีย์วีรกษัตริย์ทั้งสองอาจมีความเกี่ยวเนื่องกับการที่วีรชนเพื่อเอกราชนั้นมิอาจเสริมภาพให้กับกองทัพพม่าได้ดีอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต และความเป็นชาตินิยมโดยอาศัยวีรชนแห่งเอกราชอาจจวนพ้นสมัย เพราะปัจจุบันกระแสภายนอกมีพลังกดดันพม่ามากกว่าในยุคที่พม่าปิดประเทศ เหตุนี้พม่าจึงจำเป็นต้องหันมาประยุกต์วีรกษัตริย์ในยุคราชวงศ์เพื่อสร้างพลังใจขึ้นใหม่ในหมู่ผู้รักชาติ อย่างไรก็ตามพม่ากลับยังคงเน้นย้ำความเป็นผู้นำประเทศของชนชาติพม่าให้เด่นชัดไม่ต่างไปจากยุคที่ผ่านมามากนัก ชาตินิยมพม่าจึงนับเป็นนวกรรมเพื่อการสร้างชาติและดูจะไม่มีทีท่าว่าจะเสื่อมถอยไปจากแผ่นดินพม่าได้โดยง่าย

 

วิรัช นิยมธรรม

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15536เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2006 18:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 23:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท