แผ่นดินพุกามในมุมมองของครูสอนประวัติศาสตร์ชาวพม่าคนหนึ่ง


อาจารย์มิ่งตันดาเตง สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโททางประวัติ-ศาสตร์จากมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง และเคยเป็นอาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์พม่า ณ มหาวิทยาลัยดะโกง เมืองย่างกุ้ง
แผ่นดินพุกามในมุมมองของครูสอนประวัติศาสตร์ชาวพม่าคนหนึ่ง
อาจารย์มิ่งตันดาเตง สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโททางประวัติ-ศาสตร์จากมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง และเคยเป็นอาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์พม่า ณ มหาวิทยาลัยดะโกง เมืองย่างกุ้ง เป็นเวลา ๔ ปี เธอได้รับการขอร้องให้ช่วยเล่ามุมมองของเธอต่อเมืองพุกาม ความเรียงต่อไปนี้จึงเป็นสิ่งที่เธอได้พรรณนาไว้ในฐานะครูสอนประวัติศาสตร์พม่าระดับมหา-วิทยาลัยคนหนึ่ง เธอชี้แจงว่าในการพูดถึงประวัติศาสตร์ของชาวพม่านั้นถูกสอนไว้ว่าจะต้องกล่าวอย่างยกย่องเทิดทูนในทางสร้างสรรค์ หากมีจุดที่จะต้องวิจารณ์ก็ต้องระมัดระวังมิให้ภาพของประวัติศาสตร์พม่าต้องเสียหาย ชาวพม่าจึงมีความทรงจำต่อภูมิหลังประเทศด้วยความชื่นชมและคติอันสะเทือนใจ ดังสะท้อนในความเรียงของอาจารย์มิ่งตันดาเตง ดังต่อไปนี้
คุณแม่ของดิฉันเป็นนักเล่านิทานที่เก่ง พวกเราได้รู้จักคุ้นเคยกับนิทานที่คุณแม่เล่าให้ฟังตั้งแต่พวกเรายังเล็ก  ส่วนคุณพ่อนั้นมีงานมากมาย ซ้ำยังต้องเดินทางอยู่บ่อยๆ  เวลาที่คุณพ่อห่างจากบ้านแต่ละครั้งนั้นมักกินเวลาไม่ต่ำกว่า ๖ เดือน และบางที่ก็ต้องไปนานเป็นแรมปี ส่วนใหญ่พวกเราจึงอยู่กับคุณแม่มาแต่เล็ก แล้วก็เติบใหญ่อย่างมีความสุขมาด้วยการอบรมสั่งสอนของคุณแม่ ในบรรดานิทานที่คุณแม่เล่าให้พวกเราฟังนั้น มักจะมีเรื่องราวของเมืองพุกาม กษัตริย์แห่งเมืองพุกาม พระสถูปเจดีย์ที่พระมหากษัตริย์พุกามสร้างขึ้นมา และเรื่องราวของวีรบุรุษของพุกามอยู่เป็นจำนวนมาก
เนื่องเพราะนิทานที่คุณแม่เล่าให้ฟังนี่เอง ดิฉันจึงคุ้นเคยกับแผ่นดินพุกามมาตั้งแต่เล็กๆ  ในยามที่เป็นเด็กนั้นก็ฟังนิทานด้วยความที่รู้สึกว่านิทานเป็นเรื่องสนุก แต่ว่าเมื่อโตขึ้นมานิทานเหล่านี้ได้ปรากฏเป็นภาพจริงขึ้นมา
เมื่อดิฉันเรียนจบชั้นสิบ(ชั้นมัธยมปลาย)แล้ว ได้เข้ามหาวิทยาลัย ดิฉันได้เรียนวิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาเอก ดิฉันพอใจมากที่ได้เรียนวิชาประวัติศาสตร์ บรรดาอาจารย์ของดิฉันได้สอนจนพวกเราเห็นภาพของประวัติศาสตร์และรู้สึกถึงความรักและเทิดทูนชาติของตัวเอง ยามนี้เมืองพุกามที่ดิฉันได้เพียงคิดฝันตามจิตนาการในวัยเยาว์กลับมีชีวิตชีวาขึ้นมาอย่างงดงาม
นับตั้งแต่เป็นเด็กจนเติบโตขึ้นมา ดิฉันได้เคยไปเยือนเมืองพุกามอยู่บ่อยครั้ง และทุกครั้งที่ได้ไปเยือนพุกาม ก็จะบังเกิดความสนุกเบิกบานอย่างไม่เคยเบื่อหน่ายสักครา
สิ่งที่ดิฉันไม่อาจลืมได้ในชีวิตของดิฉันนั้น คือ ในสมัยที่เรียนปริญญาโทนั้น ดิฉันได้ไปทัศนศึกษา ณ เมืองพุกามพร้อมกับเพื่อนวิชาเอก โดยการนำของหัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ชื่ออาจารย์อูจ่อวีง(futgdykN;'Nt) ตอนที่พวกเราไปทัศนศึกษาครั้งนั้นเป็นช่วงหน้าหนาว เมืองพุกามจึงต้อนรับพวกเราด้วยความฉ่ำเย็น แรกที่พวกเราไปถึงทางเข้าเมืองพุกาม เราได้เห็นประตูเมืองก่อนสิ่งอื่นใด
จากนั้นพวกเราได้ไปกราบไหว้และศึกษาพระเจดีย์ชเวซีโข่ง(gU;0PNt-6"46ikt)ที่พระเจ้าอโนรธา(vgokNi5k)เป็นผู้สร้างและพวกเราได้สักการะบูชา นี่เป็นเพราะพระคุณของพระเจ้าอโนรธา จึงทำให้พวกเราชาวพม่าได้มีโอกาสนับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทอันเที่ยงแท้  พระเจดีย์ที่คงความแข็งแกร่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นปึกแผ่นมั่นคงของพระศาสนาในยุคพุกาม
จากนั้นพวกเราได้ไปกราบไหว้พระเจดีย์อานันดา(vkoOmk]6bIN8^46ikt) ซึ่งเป็นพระเจดีย์ที่พระเจ้าจันสิตตา(dyoN00Nlkt)สร้างไว้สักการะ พระเจดีย์องค์นี้งดงามด้วยฝีมืองานช่าง มีภาพพุทธวงศ์แกะสลักหิน มีภาพสลักนูนต่างๆที่ลงสีกระเบื้องและงานปูนปั้น  ขณะนั้นในใจของดิฉันได้เกิดจิตนภาพของพระเจ้าจันสิตตาผู้เป็นวีรบุรุษแห่งพุกาม ในจิตนภาพนั้นยังปรากฏภาพพระนางอูเส้าก์ปัน (futgCkdNxoNt) หรือสัมพูละ (l,¾&]) มเหสีของพระเจ้าจันสิตตาและเจ้าชายราชกุมาร(ik=d6,kiN)ผู้เป็นราชบุตรรวมอยู่ด้วย  เจ้าราชกุมารแม้จะเป็นราชบุตรที่แท้จริง และแม้ไม่อาจได้สืบราชบัลลังก์ก็ตาม แต่ก็มิได้แค้นเคืองพระราชบิดา  เจ้าชายราชกุมารผู้รู้พระคุณของบิดามารดา ทรงเป็นผู้ที่น่าเคารพยิ่ง พวกเราเด็กๆทั้งหลายสมควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง
พระเจดีย์สัพพัญญู ซึ่งเป็นราชกุศลของพระเจ้าอลองซีตู(vg]k'Nt0PNl^,'NtWdut)นั้น ยิ่งใหญ่งดงาม ด้วยฐานรอบพระเจดีย์กว้างขวาง และเมื่อมาถึงพระเจดีย์ชเวคูจี(gU;8^Wdut46ikt) อันเป็นพระราชกุศลอีกแห่งหนึ่งของพระเจ้าอลองซีตู  ทำให้ระลึกได้ถึงเหตุการณ์ที่พระเจ้าอลองซีตูถูกปลงพระชนม์ด้วยน้ำมือของเจ้าชายนรสู(oil^)ผู้เป็นราชบุตร และเมื่อนึกถึงเรื่องนี้ ทำให้รู้สึกเศร้าใจนัก
จากนั้นได้ไปยังพระเจดีย์มนูหา(,O^sk46ikt) ซึ่งเป็นพระเจดีย์ที่สร้างโดยพระเจ้ามนูหา(,O^sk,'NtWdut)กษัตริย์เมืองสะเทิม ภาพของพระพุทธรูปองค์โตที่ประดิษฐานอยู่ในวิหารแคบๆนั้น ทำให้ดิฉันรู้สึกสงสารและอดรู้สึกไม่ได้ว่า พระองค์คงไม่มีความสุขที่ต้องมาพำนักอยู่ในดินแดนพุกามที่ไม่ใช่แผ่นดินของตน
จากนั้นพวกเราได้ไปที่พระเจดีย์จุฬามุนี(0^>k,6ob46ikt) ซึ่งสร้างโดยพระเจ้านรปติซีตู(oix9b0PNl^,'NtWdut) พระเจดีย์องค์นี้เป็นเจดีย์รูปแบบคูหาซ้อนสองชั้น(8^g9kNWdut) มีงานปูนปั้นที่งดงามมาก พระเจ้านรปติซีตูยังได้ทรงสร้างพระเจดีย์กะเต๊าะปะลีง(doNg9kHx]]'N46ikt) เมื่อมองพระเจดีย์นี้ในใจของดิฉันเห็นภาพของพระเจ้านรปติซีตูที่กำลังก้มกราบขอขมารูปปั้น ซึ่งเป็นรูปปั้นของบรรพบุรุษที่พระองค์เคยพลั้งล่วงเกินแล้วได้ทำขึ้นไว้เป็นที่สักการะ
พวกเรายังได้ไปที่พระเจดีย์โลกะนันดา(g]kdoO·k46ikt)ที่สร้างโดยพระเจ้าอโนรธา พระเจดีย์องค์นี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำอิรวดี ดิฉันได้เคยอ่านพบในหนังสือว่า ครั้งหนึ่ง ณ ริมฝั่งน้ำนี้เคยมีเรือจากแดนไกลมาจอดเทียบท่า แล้วยังเคยอ่านพบอีกว่าราชธิดาชเวเอ่งแต่ (gU;vb,NlPN)พระธิดาของพระเจ้าจันสิตตา มักมาอยู่ที่ท่าน้ำโลกะนันดา เพื่อเฝ้ารอเจ้าชายปฏิกกรา(xDbddikt,'Ntlkt) เจ้าชายแขกผู้เป็นคนรักของนาง แต่ว่าทั้งสองมิได้เกิดมาเป็นเนื้อคู่กัน พระเจ้าจันสิตตาผู้เล็งเห็นต่อเรื่องบ้านเมืองเป็นสำคัญ ได้ยกราชธิดาชเวเอ่งแต่ ให้กับเจ้าชายซอยูน(lktg9kNg0kp:oNt)ราชบุตรของพระเจ้าซอลู (g0k]^t,'Nt) เมื่อดิฉันคิดถึงเรื่องราชธิดาชเวเอ่งแต่ผู้ที่ต้องตรอมตรมเพราะต้องพรากจากคนรัก ทำให้บังเกิดความรู้สึกเวทนา
พวกเรายังได้ไปยังพระเจดีย์ธัมมะยังจี(T,,i"Wdut46ikt) ที่สร้างโดยพระเจ้านรสู(oil^,'Nt) พระเจดีย์ธัมมะยังจีนี้ใหญ่โต สมดังกับคำที่กล่าวว่า “ สูงเด่น สัพพัญญู ทึบแน่นธัมมะยัง ” พระเจดีย์องค์นี้มีชื่อว่าเป็นพระเจดีย์ที่ยิ่งใหญ่ แต่พระเจ้านรสูผู้สร้างพระเจดีย์เองกลับมีชื่อว่าเป็นผู้โหดร้าย  ในการสร้างพระเจดีย์องค์นี้ พระองค์ประสงค์ที่จะให้เป็นงานฝีมือชั้นเลิศ พระองค์ให้ทดสอบฝีมือช่างในการเรียงอิฐ หากพบว่าที่ใดเข็มสามารถลอดเข้าไปในช่องอิฐได้ จะสั่งประหารช่างนั้นทันที นอกจากนี้ยังพบคำสาปที่เขียนไว้บนจารึกที่พระเจดีย์ธัมมะยังจีด้วย คำสาปชิ้นนี้ช่างน่าตระหนกยิ่ง
พวกเราได้มาถึงพระเจดีย์บูพยา(r^t46ikt)หรือเจดีย์น้ำเต้าในยามอาทิตย์อัสดง พระเจดีย์บูพยานี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำอิรวดี สายลมหนาวพัดผ่านลำน้ำมาแผ่วเบา ความงามของพระเจดีย์และแม่น้ำอิรวดีช่างเหมะสมกันนัก ช่วยให้จิตใจของดิฉันพลอยเบิกบานไปด้วย
มีโวหารกล่าวไว้ว่า “เสียงเพลาเกวียน เอียดออด ผองพุกามเจดีย์”  พระสถูปเจดีย์  วัดวาอาราม ปราสาทราชวัง  งานศิลปะภาพวาดแกะสลัก  พระพิมพ์  กระเบื้องเคลือบ ศิลาจารึก และ หนังสือหมึกจารทั้งหลายที่ปรากฏบนแผ่นดินพุกาม ต่างได้บอกเล่าถึงประวัติของประเทศพม่าของเรา
อาจารย์จ่อวีง หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ของพวกเรา เคยสอนว่า หากเราศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับประเทศของเรา ประวัติศาสตร์ของเรา เราก็จะมีความรักในเผ่าพันธุ์  มีความปรารถนาที่จะให้ชนชาติตนเจริญก้าวหน้า มีความสามารถที่จะเห็นภัยอันตรายทั้งจากภายในและภายนอกที่จะมีมาถึงประเทศและชนชาติของเรา และที่สุดจะสามารถเป็นผู้แบกหน้าที่อันเป็นประโยชน์ เช่น การปกป้องประเทศ เป็นอาทิ
สำหรับตัวดิฉันเองนั้น การที่ได้มาศึกษาเรียนรู้เรื่องราวของพระเจดีย์เมืองพุกามและพระมหากษัตริย์ที่สร้างพระเจดีย์เหล่านั้นซึ่งอยู่ในนิทานก่อนนอนที่แม่เคยเล่าให้ฟังนั้น ถือได้ว่าความคิดฝันและจินตนาการของดิฉันนั้นได้กลายเป็นความจริง ดิฉันรู้สึกยินดีอย่างไม่คิดว่าจะมีสิ่งใดมาเปรียบได้
มิ่งตันดาเตง เขียน  อรนุช นิยมธรรม แปล
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15540เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2006 18:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 17:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท