เมื่อคนที่ใช้แต่ "หัว" เริ่มฝึกสัมพันธ์กับคนอื่นด้วย "ใจ"


"ที่ผ่านมาไม่ว่าลูกหรือเมียโทรมา คำแรกที่ผมจะพูดออกไป คือ "มีอะไร?" ซึ่งผมเพิ่งพบไม่นานนี้เองว่า ท่าทีของผมเช่นนี้ทำให้ทุกคนเกร็งที่จะโทรถึงผม รู้แล้วก็รู้สึกเจ็บปวดเหมือนกัน อะไรทำให้เราเป็นคนแบบนี้?"

วันเสาร์ที่ ๑ และอาทิตย์ ที่ ๒ ธ.ค. ผมมีภารกิจสอนนักศึกษา มรภ.สุรินทร์ ที่ผ่านมาผมจะเดินทางกลับ กทม.ในเย็นวันที่สอนเสร็จนั้นเลย แต่วันนั้นไม่ได้กลับเพราะผู้จัดรายการวิทยุ อสมท.FM 100.5 Mhz คุณช่อผกา วิริยานนท์ เข้ามาอ่านบันทึกเรื่อง ความในใจของพ่อคนหนึ่งที่เพิ่งรู้ว่าความสุขของตนคืออะไร (http://gotoknow.org/blog/inspiring/145982?page=2) แล้ว ขอสัมภาษณ์(คุย)สดออกอากาศในรายการของเธอระหว่าง 22.00 - 24.00 น.คืนวันอาทิตย์ที่ ๒ ธ.ค. ผมจึงพักที่โรงแรมในจังหวัดสุรินทร์ต่ออีกคืนเพื่อคุณภาพของสัญญาณโทรศัพท์ในการให้สัมภาษณ์ เพราะหากอยู่ในรถไฟคืนนั้น สัญญาณโทรศัพท์จะขาดเป็นช่วงๆ จึงตัดสินใจเดินทางกลับในวันรุ่งขึ้นโดยรถดีเซลรางปรับอากาศ ออกจากสุรินทร์ประมาณ ๘ โมงเช้า ถึง กทม.บ่าย ๓

ผมไม่ได้เดินทางโดยรถไฟเที่ยวกลางวันแบบนี้มาหลายปีแล้ว ทุกครั้งก็เดินทางกลางคืนและเป็นตู้นอน ที่ขึ้นไปสักพักก็หลับแล้วตื่นเช้าขึ้นมาก็ถึงพอดี

การเดินทางคนเดียวเป็นเวลานานๆ อ่านหนังสือบ้าง งีบหลับไปบ้าง สลับกับการได้ทอดสายตาผ่านหน้าต่างออกไป ดูทุ่งนา ต้นไม้ ภูเขา ผู้คนข้างทาง ได้มองออกไปไกลๆ ทำให้อดคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ไม่ได้ และเมื่อคิดแล้ว บางทีก็จมอยู่กับเรื่องนั้นนานๆ ทำให้มีอะไร "ปิ๊งแว๊บ" เกิดขึ้นในสมองเป็นระยะๆ

ทุกครั้งที่อยู่กับตัวเองคนเดียวๆ นานๆ ก็มักเป็นแบบนี้ และการได้อยู่กับตัวเองนานๆ แบบนี้ก็มักเป็นตอนเดินทางไกลคนเดียว

ปิ๊งแว็บที่ว่าก็คือ เกิดความคิดใหม่ๆ เกี่ยวกับงานที่ทำบ้าง เกี่ยวกับชีวิตบ้าง

เช่นในรถไฟวันนั้น พอหยิบส้มขึ้นมาปอกกินก็นึกขึ้นมาได้ว่า เป็นส้มที่อาจารย์ มรภ.สุรินทร์ คนหนึ่งซื้อให้ หลังจากรับประทานอาหารเย็นด้วยกันแล้ว วันนั้นอาจารย์สิงหาพาลูกสาวที่น่ารัก อายุ ๑๑ ขวบมาด้วย

ระหว่างพักอยู่ที่โรงแรมผมก็กินไปลูกสองลูก ที่เหลือก็เอาติดตัวขึ้นมาบนรถไฟด้วย ขณะกำลังกินในรถไฟวันนั้นเกิดปิ๊งแว็บขึ้นมาว่า เราควรโทรศัพท์ไปขอบคุณ อ.สิงหา แม้จะเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เพราะเรากำลังฝึกตัวเองให้สามารถสัมพันธ์กับคนอื่นด้วย "ใจ" อยู่

ผมเป็นคนประเภทที่ใช้ "หัว" หรือความคิดในการสัมพันธ์กับผู้อื่นและโลกภายนอกมาก คราวก่อน อาจารย์สิงหาและทีมงานมาส่งขึ้นรถไฟตอนเย็น พอถึงกรุงเทพฯ เช้า ได้รับโทรศัพท์จาก อ.สิงหา คำแรกที่ผมพูดออกไปคือ "มีอะไรครับอาจารย์" อาจารย์สิงหาก็ว่าไม่มีอะไร โทรมาถามว่าการเดินทางเรียบร้อยดีไหม ซึ่งคนที่ใช้แต่ "หัว" ไม่ได้ใช้ "ใจ" อย่างผม ไม่เคยคิดถึงเรื่องแบบนี้ จึงไม่ต้องพูดถึงการลงมือทำด้วยตัวเอง ไม่เคยทำเลยจริงๆ เพราะมัวหมกมุ่นแต่เรื่องของตนเอง ไม่ค่อยคิดถึงคนอื่น

ที่ผ่านมาไม่ว่าลูกหรือเมียโทรมา คำแรกที่ผมจะพูดออกไป คือ "มีอะไร?" ซึ่งผมเพิ่งพบไม่นานนี้เองว่า ท่าทีของผมเช่นนี้ทำให้ทุกคนเกร็งที่จะโทรถึงผมหากไม่มี "ธุระ" อะไรจำเป็นจริงๆ เมื่อรู้แล้วก็รู้สึกเจ็บปวดเหมือนกัน อะไรทำให้เราเป็นแบบนี้?

ขณะที่เขียนนี้ นึกย้อนกลับไป มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นเป็นประจำ เช่นตอนไปสอนที่ศูนย์ปากช่อง โคราช วันนั้นกลับรถทัวร์ พอถึงบ้านได้รับโทรศัพท์จากอาจารย์ประจำศูนย์ปากช่อง พอทราบว่าเป็นใครโทรมา ผมก็ถามเขาไปว่า มีอะไรเหรอครับ อาจารย์ท่านนั้นก็บอกว่า โทรมาถามว่าการเดินทางเรียบร้อยดีไหม ถึงบ้านแล้วหรือยัง เมื่อคิดถึงเหตุการณ์นี้แล้วก็ยิ่งทำให้เห็นภาพตัวเราชัดเจนขึ้น เป็นพวกใช้แต่ "หัว" ไม่ค่อยได้ใช้ "ใจ" เลย

หลังกินส้มบนรถไฟวันนั้น ผมจึงโทรถึง อ.สิงหา ก่อนโทรยังต้องทำการบ้าน เรียบเรียงคำพูดไว้ในหัวก่อนว่าจะพูดอย่างไร เพราะยังไม่เชื่อมั่นในตนเองพอว่าจะสามารถทำออกไปอย่างอัตโนมัติได้ดีเพียงไร "เนียน" พอหรือไม่ เมื่ออาจารย์สิงหารับสายแล้ว ก็เริ่มพูดว่า "ขอบคุณมากครับสำหรับส้มที่อาจารย์ซื้อฝาก ผมได้กินทั้งที่โรงแรมและในรถไฟระหว่างเดินทางกลับด้วย... อาจารย์ครับ ลูกสาวอาจารย์น่ารักแล้วก็ดูฉลาดมากเลยนะครับ... อาจารย์เป็นอย่างไรบ้างครับ ..." แล้วก็คุยต่อกันอีกเล็กน้อย โดยไม่มีเรื่องงานเลย อาจารย์สิงหายังจบด้วยการอวยพรให้ผมว่า "เดินทางปลอดภัยนะอาจารย์"

เมื่อโทรเสร็จแล้วก็นั่งดีใจอยู่เงียบๆ คนเดียว

ดีใจที่เราผ่านแบบฝึกหัดสัมพันธ์กับคนอื่นด้วยใจได้เพิ่มขึ้นอีกแบบฝึกหัดหนึ่ง แม้จะยังเคอะๆ เขินๆ อยู่บ้าง ด้วยความที่ยังเป็นมือใหม่หัดขับ

ทำสำเร็จไปแต่ละครั้งก็ได้กำลังใจจากตัวเองให้ฝึกทำต่อไปเรื่อยๆ ให้เป็นอัตโนมัติมากขึ้นเรื่อยๆ ให้เนียนเป็นนิสัยใหม่ของเรามากขึ้นเรื่อยๆ

สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์
๖ ธันวาคม ๒๕๕๐

 

หมายเลขบันทึก: 151535เขียนเมื่อ 5 ธันวาคม 2007 13:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 13:28 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (22)

เพื่อนคนหนึ่งอ่านแล้วเขียนแนะนำมาทางอีเมล์ ซึ่งผมเห็นว่าเป็นคำแนะนำที่ดีมาก จึง C&P มาลงต่อ ดังนี้ครับ

  • คราวหน้าอย่าเตรียมคำพูดไว้ล่วงหน้านะครับ
  • สร้างความรู้สึกว่ารู้สึกอย่างไรกับคนที่ฝากส้มให้
  • แล้วก็บรรยายความรู้สึกไปเลยครับ ถ้าได้ลองแล้วอย่างลืมเล่าให้ฟังบ้าง
  • ว่าต่างกับครั้งแรกอย่างไร

ตามมาให้กำลังใจอาจารย์เชษฐค่ะ

ยินดีสำหรับก้าวแรกของ "การข้ามพ้นลักษณ์" ในแบบฝึกหัดที่อาจารย์กำลังทำอยู่ค่ะ

จากศูนย์หัวอีกคนหนึ่ง

ลืมบอกไปว่า ตอนนี้ที่กระดานสนทนาของสมาคมนพลักษณ์ไทย ก็กำลังสนุกกันอยู่เรื่อง "คิด" กับ "รู้สึก" หรือจะพูดอีกอย่างหนึ่งว่า ระหว่าง "หัว" กับ "ใจ" ค่ะ

แวะไปอ่านได้ที่ http://board.dserver.org/n/noppaluk/

จากคนห้าค่ะ

ยินดีด้วยกับพี่เชษฐ์ค่ะ

 

 

ขอแสดงความยินดีด้วยครับ ตัวผมเองก็เคยทำแบบนี้บ้าง มันก็มีอาการเขินตัวเองเหมือนกันเมื่อจะทำดีในสิ่งที่ไม่เคยทำให้กับคนอื่น ซึ่งมันสร้างพลังใจให้ตูมตามและอิ่มเอมดีไม่ใช่หรือครับ ฉะนั้นก็ต้องฝึกหัดทำไปเรื่อยๆ ครับ 

อ่านแล้วชวนให้กลับไปทบทวนทักษะที่ลืมเลือนไป คนท้องต้องขอเอาเป็นแบบอย่างไปหัดทำบ้าง ความโกรธและความไม่ชัดเจนมักขวางกั้นความสัมพันธ์เช่นนี้

เมื่อเช้าพอมาทำงาน เปิดเมลอาจารย์เชษฐเรื่อง link นี้อ่านก่อนทั้งรอยยิ้ม - แล้วจากนั้นก็เปิดเมลเพื่อนคนหนึ่งที่ทำงาน ฉันถึงกับอึ้งไป...  เพื่อนส่ง link เพลง careless whisper - ของ George Michael พร้อมพิมพ์บางท่อนให้มาด้วย.......

Tonight the music seems so loud

I wish that I could leave the cloudMay be, it’s better this way,We hurt each other with the things we want to sayWe could have been so good togetherWe could have lived this dance foreverBut no… one’s gonna dance with me….

Please… stay

ฉันถึงกับอึ้งไป (จริงๆน้ำตาคลอ-พยายามอั้นไว้) เพราะ...ยอมรับว่าตัวเองมักจะคิดว่า ถูกกวนใจ จากการพยายามมาคุย เอาใจ ฉันตีความว่าโดนรุกรานโดนยุ่งวุ่นวาย ...จากเพื่อนค่อนข้างสนิท(น่าจะลักษณ์2ท่านนี้ และเพื่อนคนอื่นๆอีกแม่อีก) เวลาที่ง่วนอยู่กับงานที่กำลังทำอย่างกดดันตรงหน้าให้เสร็จ .....ใช่บางทีฉันรำคาญเพื่อน...แถมความเป็นแบบเรา โดยมองข้ามความรู้สึกพวกเขาจริงๆ แถมความเป็นแบบเรา (แบบ6) ยังใส่จินตนาการต่อใส่คนอื่นอีกว่ามารบกวนรุกรานเราอย่างไร .ปกป้องตัวเองไว้..เห้อ projection!?

ยอมรับว่า บางทีไม่อยากรับโทรศัพท์หรือคุยกับเพื่อน เพียงเพราะไม่อยากถูกรุกราน) พอเพื่อนๆ เลิกยุ่งวุ่นวายกับฉันโดยถอยห่างออกไปบ้าง (เพราะคงสัมผัสได้กับอาการทางกายภาพที่แสดงออกไปว่ายุ่งอยู่) ยอมรับว่าบางทีรู้สึกสบายกับขอบเขตความเป็นส่วนที่ตัวเองกลับมาจากการที่เพื่อนเลิกวุ่นกับเรา (รวมทั้งเพื่อนท่านนี้ด้วย)

อ่านเพลงแล้วรู้สึกเลยทีนี้(ไม่ต้องคิดแล้ว) ว่าเพื่อนจะรู้สึกเจ็บอย่างไรเวลาที่ประมาณว่า "ฉันดูเหมือนไม่ค่อยใส่ใจ สนใจเพื่อนเท่าไหร่" แล้วตัวเองก็รูสึกเสียใจขึ้นมามั่ง

ยอมรับว่าตัวเองยังค้างปัญหานี้กับเพื่อนกับใครๆ ยังไม่รู้จะทำไง

อ่านเมลท่านเชษฐ และเพื่อนจบ

 ฉันตอบเมลเพื่อนไปแค่ว่าซาบซึ้งกับเนื้อเพลง ขอบคุณมาก......

เพื่อนเดินมาหาทันที....แย่จังฉันต้องเงยหน้า(ที่พยายามหลบ) มองเพื่อนแล้วทีนี้อั้นไม่อยู่ก็ร้องไห้ออกมาทั้งยิ้ม กับเพื่อนเลย(อะ ...อายอะ) เค้าไม่ว่าไรยืนอยู่สักพักเดินจากไปแยกกันทำงานต่อ เรา(ฉันกับเพื่อน)คงมีเรื่องคุยกันอีกทีหลัง หรืออาจไม่ต้อง(ถ้าไม่อยาก)  

แต่ คงเหมือนกับท่านเชษฐ -คงถึงเวลาแล้วที่คนที่ใช้แต่ "หัว" อย่างฉันจะเริ่มฝึกสัมพันธ์กับคนอื่นด้วย "ใจ" บ้าง

-ขอบคุณสองท่านสำหรับอีเมลที่ประจวบเหมาะกันพอดี๊...

ผึ้ง - ลักษณ์ 6   / 09.45 วันที่ 7 ธค 2550

  • บางครั้งเราอาจรู้สึกว่า "เรารู้จักตัวเราเองดี" แต่...ไม่ใช่
  • บางครั้งเราอาจรู้สึกว่า "เราทำไมไม่รู้จักตนเองเสียบ้างเลย" นั่นแหละ...ใช่
  • เราคงต้องเรียนรู้ "ตัวเอง" อีกนาน

สำหรับคนลักษณ์ 7 การก้าวออกจากโลกของความคิด มาสู่โลกของการกระทำก็นับว่ายากแล้ว  แต่การที่อาจารย์เชษฐ์สามารถก้าวได้ไกลจนสัมผัสถึงเรื่องความรู้สึกได้ด้วย  จึงเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมค่ะ

ในฐานะที่เป็นคนลักษณ์ 7 ด้วยกัน  จึงขอเปิดใจว่า  ตอนแรกดิฉันตั้งใจที่จะเข้ามาอ่านอย่างเดียว ไม่คิดว่าจะสื่อสารอะไรถึงผู้เขียน  แม้ว่าจะมีความรู้สึกปลาบปลื้มและตื้นตันกับประสบการณ์ของอาจารย์เชษฐ์อย่างมาก  แต่มันก็ยากที่จะเขียนออกมาเป็นถ้อยคำ  อ่านเสร็จก็ทำท่าจะคลิกออก...  แต่พลันก็นึกถึงสิ่งที่อาจารย์เขียนในบทความ  ดิฉันจึงต้องหัดก้าวออกจากโลกของความคิดและความกลัว  มาสู่โลกของความรู้สึกและการลงมือกระทำเช่นกัน

เราทุกคนล้วนเป็นผู้เดินทาง  หนทางแห่งการก้าวพ้นจากความเป็นลักษณ์ของเรานั้นยากลำบาก  ต้องใช้ความตั้งใจและพลังใจอย่างสูง   ดังนั้นกำลังใจจากกัลยาณมิตรจึงเป็นสิ่งสำคัญ  ดิฉันขอส่งกำลังใจมาให้อาจารย์เชษฐ์ค่ะ

 

ป่าป๊านี่

นพลักษณ์ได้ผลเนอะ

ดีจัง ^___^

 

หงเป็นพวกใช้ "ใจ" ซะด้วยสิ

อ่านแล้วเลยแอบซึ้ง

555

  • สวัสดีค่ะ  อาจารย์..

ต้อมเป็นคนที่โลกส่วนตัวสูงลิบลิ่ว   แต่ในขณะเดียวกันนี้ต้อมก็มักจะ "ใจ" ในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นเสมอ    ก็ให้รู้สึกดีค่ะ 

บางที "ความคิด" กับ "การกระทำ"  ของเราก็มักจะสวนทางกัน

วันก่อนได้รับ พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ และได้ Forward ไปหาเพื่อนๆ หลายคนอาทิเช่น อ.ชนสิทธิ์ อ.แป๊ะ มาวันนี้ก็ได้รับสิ่งดีๆ กลับมาแถมยังได้เพื่อนใหม่อีกเยอะแยะเลยครับ‏ รวมทั้ง อ.สุรเชษฐ ครับ
สุรศักดิ์ แจ่มเจริญ
อ่านแล้ว ดีใจกับ อ.สุรเชษฐ์ด้วยครับ

สวัสดีค่ะ อ.สุรเชษฐ

เบิร์ดอ่านบันทึกนี้แบบช้ามากพร้อมอมยิ้มเมื่อได้สัมผัสกับความละเอียดของจิตอาจารย์ที่เริ่มปราณีตจนสัมผัสได้ว่าที่ผ่านมานั้นได้หลงลืมละเลย ความสุขเล็กๆน้อยๆที่หาได้ง่ายๆในจิตใจไป..

ห้วงเวลาที่อาจารย์ได้เดินทางแบบ ซึมซับกับบรรยากาศรอบๆตัว..ไม่มีความเร่งร้อน  รีบรุดไปข้างหน้า..เป็นช่วงเวลาที่ได้นั่งดูโน่นดูนี่ ( เพราะไม่ทราบว่าจะทำอะไรที่ดีกว่านั้น ^ ^ ) และไ้ด้ทบทวนเรื่องราวต่างๆที่เข้ามา..เป็นช่วงของการเห็น รายละเอียดที่อาจมองข้ามไปด้วยความเคยชินของตัวเอง อุปมาคงเหมือนกับเวลาเราทานข้าวนะคะอาจารย์รีบๆทานจนหมด กับค่อยๆทานแล้วสังเกตเห็นว่าลายผ้าปูโต๊ะสวยดี  จานกับข้าวก็มีขอบลายดอกไม้ซะด้วย  เห็นความเอาใจใส่ของคนที่เค้าเตรียมไว้ให้เราที่มิใช่การทำตามหน้า้ที่เท่านั้นแต่มีความรักอยู่ในนั้นตลอดมา..น่า่รักออกค่ะอาจารย์ การทบทวนตัวเองในทุกๆวันจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราำได้มองเห็นจุดที่เรามองข้ามไปและทำให้จิตของเราปราณีตขึ้นเรื่อยๆค่ะ..ส่วนความเคยชินนั้นสามารถปรับเปลี่ยนได้เสมอค่ะอาจารย์ถ้าเรา " รู้ตัว ".. ^ ^์

ฝึกบ่อยๆแล้วจะทำทุกอย่างได้แบบอัตโนมัติโดยไม่ต้องเตรียมคำพูดไว้ล่วงหน้าเลยล่ะค่ะอาจารย์ ..( แอบแซวเล็กๆ อิ อิ ) ์..คงเหมือนการพยายามใช้มือซ้ายแปรงฟันน่ะค่ะ แรก ๆ มือขวาก็ยกขึ้นมาโดยอัตโนมัติเพราะอยากช่วยมือซ้าย แต่ถ้าพยายามแปรงด้วยมือซ้ายไปเรื่อยๆ มือซ้ายก็จะทำได้ไม่แพ้มือขวาเหมือนกันค่ะ แถมยังทำให้เราถนัดทั้ง 2 มือซะด้วยสิคะทำอะไรต่อมิอะไรได้อีกเยอะเลยล่ะค่ะและมีประสิทธิภาพซะด้วย ^ ^

การเอาใจเขามาใส่ใจเรา ความเื้อื้ออาทร  ความแบ่งปันเป็นความงดงามของจิตวิญญาณเนาะคะ..เพราะ เวลาที่เราทะยานไปข้างหน้ามือของเรามักจะกำแน่นค่ะอาจารย์ แต่เวลาที่เรา" ให้ " ้มือของเราจะคลายแล้วยื่นออกไป..เบิร์ด เอาใจช่วยให้อาจารย์เจริญในธรรมมีจิตที่ละเอียดปราณีตขึ้นเรื่อยๆตลอดไปนะคะ

พอดี ได้รับ forward จากอาจารย์ชนสิทธิ์ค่ะ  เข้ามาเยี่ยมด้วยความสงสัยว่าทำไม mail ที่มี subject ชื่อ พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ จึงเป็น blog 

 แต่อ่านแล้วได้ข้อคิดอะไรๆ หลายอย่างเหมือนกัน  ขอบคุณอาจารย์มากค่ะ

ในความรู้สึกแล้ว  ให้ใจ..คืนใจ....ให้ใจเราตอบเทนใจเขา   เป็นความรู้สึกที่ดีมาก  

อ่านแล้วมีความรู้สึกได้ว่าอิ่มเอม เบิกบาน..ยังไงไม่รู้บอกไม่ถูกค่ะ แต่รับรู้ได้ ถึงความละเอียดอ่อนที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์

สู้ๆ ป่าป๊า เริ่ม"เนียน" แล้วล่ะค่ะ

ผิงก้อเคยเป็นแบบนี้นะ คิดแต่ไม่ได้แสดงออกมา เลยดูเหมือนว่าไม่ได้สนใจคนอื่น ทั้งๆที่จิงๆแล้วแอบคิดจะทำอยู่ แล้วก้อดันลืมไปซะอย่างงั้น (มัวแต่คิดนานเกิน)

แต่พอได้ลองทำดูจิงๆก้อเขินเหมือนกันเนอะ 555+

อยากบอกว่าดีใจด้วยนะคะ

เป็นเรื่องยากที่จะก้าวพ้นจากความคิด

ดิฉันก็คนลักษณ์7 เข้าใจในความยากของการหลุดออกจากความคิดของตัวเองดีค่ะ เพราะตอนนี้ดิฉันเองก็ยังไม่สามารถจัดการกับความคิดของตัวเองได้ดีนัก

ขอบคุณนะคะที่อาจารย์เขียนเล่าประสบการณ์ของตัวเอง เพราะประสบการณืของอาจารย์ทำให้ดิฉันมีกำลังใจมากขึ้นในการจะพยายามปรับปรุงตัวเองค่ะ

มาเก็บประเด็นดีดี และเรียนรู้ครับเพื่อน

ขอบคุณอาจารย์สุรเชษฐ์มากคร้บที่แวะมาเยี่ยมและไห้กำลังใจนักศึกษา ม.ชีวิตที่ศูนย์เรียนรู้สำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์อยู่เรื่อยๆ เทอมนี้ได้เรียนวิชาสปช.ของอาจารย์อีกแล้วและหวังว่าจะได้รับคำชี้แนะที่ดีๆจากอาจารย์อีกนะครับ สวัสดีครับ

<h2><strong><span style="color: #ff0000;">ความสุข</span> <span style="color: #0000ff;">"ความทุกข์ ทุกอย่างเป็นแค่ภาพลวงตา ให้ใช้ความรู้สึกตัดสิน อย่าตัดสินด้วยการมองเห็น แล้วท่านจะมีความสุขทุกที่ ทุกเวลา"</span></strong></h2>

<h2><strong><span style="color: #0000ff;"><img src="http://gotoknow.org/file/pat_zzzz/chok-999.gif" alt="" width="162" height="129" /><br /></span></strong></h2>

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท