‘ตายอย่างสงบ’ เรื่องที่ฝึกได้ เตรียมได้


ตายอย่างสงบ’


      บอกกล่าวก่อน ผมได้มีโอกาสเข้าไปอ่านบทความในเวบ เสมสิกขา http://www.semsikkha.org พบบทความนี้รู้สึกว่ามีประโยชน์ สำหรับผู้ที่ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย หรือ ตัวผู้ป่วยที่มีความทุกขจาการเจ็บป่วย การเตรียมตัวรับกับสัจธรรมนี้เป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง ผมจึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ และขอประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่สนใจเข้าไปค้นหาความรู้ในเวบดังกล่าว 

supat   09/02/49

 ตายอย่างสงบ
เรื่องที่ฝึกได้ เตรียมได้
บิลกีส 

           “  เราตายได้ครั้งเดียว เราจะตายอย่างไร ร้านกาแฟบางร้านใช้เวลาถึงสามอาทิตย์เทรนพนักงานให้เชี่ยวชาญในการชงกาแฟ แต่เรื่องตายที่เป็นเรื่องสำคัญ กลับไม่เคยมีการเทรนการสอนกันในโรงเรียนไหนๆ ทั้งที่การตายให้เป็น บางทีก็แยกไม่ออกจากการอยู่ให้เป็น
คำกล่าวข้างต้นของ พระไพศาล วิสาโล อาจฟังดูเสียดสี หากเต็มไปด้วยน้ำเสียงเตือนสติให้เห็นว่าชีวิตเราช่างเต็มไปด้วยการให้คุณค่าอย่างผิดที่ผิดทาง มิใช่เพราะทุกชีวิตมีความตายเป็นปลายทางหรอกหรือ เราจึงพยายามใช้ทุกนาทีชีวิตอย่างมีคุณค่า มีศิลปะ แม้แต่การกินกาแฟให้ได้รสชาติ
แต่เรื่องความตายกลับไม่ค่อยมีใครใคร่ครวญถึงนัก ว่าจะเผชิญกับความตายอย่างไร ศิลปะการใช้ชีวิตแบบไหนจึงจะนำไปสู่นาทีของการตายที่งดงามไม่แพ้นาทีของการมีชีวิต หรือพบกับสิ่งที่ทุกคนปรารถนา นั่นคือการตายอย่างสงบ
การอบรม ‘เผชิญความตายอย่างสงบ’ ที่จัดขึ้นโดย เครือข่ายชาวพุทธเพื่อพุทธศาสนาและสังคมไทย และ เสมสิกขาลัย เป็นความพยายามอันหนึ่งที่จะนำเรื่องความตายที่ถูกละเลย มาสู่วงสนทนา และการใคร่ครวญ
พระไพศาลเล่าอย่างอารมณ์ดีในการเกริ่นนำการอบรมครั้งที่สอง ที่จัดขึ้นเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่า หลายคนบอกให้เราเปลี่ยนชื่อการอบรม เพราะฟังดูน่ากลัว หดหู่ แต่เราบอกเราจะเอาชื่อนี้ เพราะความตายถูกทำให้เป็นเรื่องอุจาด อัปมงคลมามากแล้ว เราเลยไม่พูดไม่จา ไม่สอน กลายเป็นเรื่องหลบๆ ซ่อนๆ ซึ่งจริงๆ แล้วถ้าเรารู้จักความตายดีพอ จะพบว่ามันไม่ได้มีด้านลบด้านเดียว ถ้าเราสามารถเป็นเพื่อนกับความตายได้ ชีวิตเราจะมีความสุขมาก และความตายของแต่ละคนก็เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่ละคนตายไม่เหมือนกัน ความตายจึงไม่มีคำตอบสำเร็จรูป
วิทยากรในการอบรมครั้งนี้ ได้แก่ พระไพศาล วิสาโล  นายแพทย์พรเลิศ ฉัตรแก้ว  อุมาภรณ์ ไพศาลสุทธิเดช  ดร.วิชิต เปานิล  และปรีดา เรืองวิชาธร  โดยมีผู้เข้าร่วมการอบรมกว่า 30 คน ราวหนึ่งในสามเป็นแพทย์และพยาบาลทั้งจากโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ที่เหลือเป็นผู้สนใจซึ่งต่างที่มาต่างอาชีพ อาทิ เจ้าของกิจการทำทองรูปพรรณ พนักงานบัญชี มัคคุเทศก์ นักเขียนอิสระ แม่บ้าน นักนิเวศวิทยา พนักงานขายประกัน ฯลฯ  บ้างสนใจสมัครเข้าร่วมเอง บ้างเพื่อนชักชวนมาพาคุณแม่มา ถูกลูกๆ ส่งมา มาเพราะคนใกล้ชิดกำลังป่วยอยู่ในระยะสุดท้าย และบางคนกำลังป่วยด้วยโรคร้ายแรง
ทำไม ความตาย จึงน่ากลัว
เหตุหนึ่งที่ทำให้ความตายดูน่ากลัว เพราะเรารู้เกี่ยวกับมันน้อยมาก ในแง่ที่เราไม่เห็นว่าความตายเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ มีการเกิดและตายทั้งที่เห็นได้และไม่ได้อยู่ตลอดเวลาในตัวเรา เช่น การเกิดและตายของเซลล์ราว 50 ล้านเซลล์ต่อวัน มีการเกิดดับของอารมณ์อยู่แทบทุกขณะ และที่สำคัญเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในนาทีที่ความตายมาถึง จะมีชีวิตหลังความตายหรือไม่ หากมี-มันเป็นเช่นไร  ขณะเดียวกันเราก็พยายามผลักไสความตายออกไป ทั้งให้ไกลตัวและไกลความคิด
ในอดีต คนมักสอนให้เห็นว่าความตายเป็นเรื่องธรรมชาติ ในคติของคนจีนโบราณ เมื่อใครฉลองแซยิดใหญ่แล้ว จะต้องตระเตรียมเสื้อผ้าไว้สำหรับใส่ในวันตาย เพื่อช่วยเตือนสติ มิให้ใช้ชีวิตโดยประมาท
หากมีชีวิตอยู่ในหมู่บ้านหรือชุมชนเล็กๆ เมื่อบ้านไหนมีใครป่วยหรือตาย จะรับรู้กันไปทั่ว เวลาจัดงานศพไม่ว่าตั้งศพที่บ้านหรือที่วัด เพื่อบ้านก็จะไปร่วมพิธีสวดศพ สามวันห้าวันเจ็ดวัน แต่ละครอบครัวก็จะผลัดกันไป ถือเป็นหน้าที่ เป็นการแสดงน้ำใจ ข่าวคราวการตายนั้นก็จะวนเวียนให้รับรู้อยู่จนวันเผาหรือจนสิ้นพิธีไว้ทุกข์ โดยเฉพาะวันเผาผู้คนจะมากันพร้อมหน้าพร้อมตา ร่วมพิธีบังสุกุล ปลงศพ จนถึงเชิญศพเข้าเตาเผา ขั้นตอนการเปิดโลงให้ลาศพเป็นครั้งสุดท้าย จนถึงการเก็บอัฐิและลอยอังคาร นอกจากเป็นการทำบุญแก่ผู้ล่วงลับ ก็เป็นมรณานุสติแก่คนเป็นให้เห็นว่า ท้ายที่สุดชีวิตก็มีเพียงเท่านี้
แต่ทุกวันนี้ ความตายถูกทำให้กลายเป็นเรื่องของหมอ พระ และสัปเหร่อ  พิธีศพมักถูกตกแต่งจนทุกขั้นตอนจนทุกขั้นตอนของพิธีกลายเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่ยากแก่คนสมัยใหม่จะเข้าใจนัยเดิม การไปงานศพหากไม่ใช่ญาติสนิทมิตรใกล้ชิดจริงๆ ก็กลายเป็นหน้าที่และพิธีกรรมทางสังคม ขณะเดียวกันข่าวความตายที่พรั่งพรูผ่านสื่อต่างๆ ให้ดูและเห็นก็มีจำนวนคนเจ็บตายทีละเป็นสิบเป็นร้อย ทำให้ผู้รับข่าวเองไม่ทันมีโอกาส ‘ย่อย’ สารของความตายมาพิจารณา
พระไพศาลขยายภาพให้เห็นถึงสิ่งซึ่งความตายกระทบต่อชีวิตเราว่า มันนำเราไปพบกับสิ่งที่ไม่ปรารถนาในทุกมิติ นับจากกาย สังคม และจิตวิญญาณ
บ่อยครั้งมันก็รุกมาพร้อมกันทุกแนวรบ และสิ่งที่ถูกกระทบอย่างสำคัญคืออัตตา - - ลึกๆ คนเรามีความรู้สึกว่าเรามีอำนาจ แต่พอป่วยหนัก แม้แต่ยกมือ เดินไปห้องน้ำ อาบน้ำ ถูฟัน ก็ทำเองไม่ได้ หายใจก็ไม่ออก นอกจากจะทรมานกายแล้วยังกระทบไปถึงอัตตา
ในแง่สังคม ความตายก็ทำให้เกิดการพลัดพราก ความไม่รู้ว่าตายแล้วไปไหนนี้ร้ายแรงมา อย่างคนที่เคยเป็น perfectionist จะทำการงานอะไรก็ well plan  ต้องรู้ให้ชัดทุกขั้นทุกตอน ทนไม่ได้ถ้าไม่รู้อะไรที่แน่นอน หรือต้องมารอ พอต้องเผชิญกับความตาย ซึ่งไม่มีใครรู้ จะรู้สึกอ้างว้างไปหมด
ตัวตนเป็นมายาภาพแล้ว มันยังสร้างมายาภาพให้เห็นว่าโลกนี้สวยสดงดงาม ชีวิตต้องควบคุมทุกอย่างได้ เวลาเราดูโฆษณา ดูโทรทัศน์ เห็นนายแบนางแบบดาราที่หน้าสะสวย หุ่นดี ดู healthy  ไปห้างสรรพสินค้า โรงแรม เห็นทุกอย่างดูเฟอร์เฟ็กต์ สวยงาม แต่ความตายมันไม่รับรู้อะไรลวงๆ ที่เราสร้างขึ้นในจิตใจ มันก็ทำหน้าที่ของมัน มาเตือนให้เราระลึกว่า ชีวิตนั้นมีสองด้าน มีสุขมีทุกข์มาเตือนว่าอะไรที่เป็นของเรา ไม่ว่าบ้าน รถ เงินทอง หรือตัวเราเอง ก็ไม่ใช่ของเรา
ภาวะใกล้ตาย
คำถามสำคัญประการหนึ่งของการเผชิญกับความตายคือ ‘อะไรคือสัญญาณของภาวะใกล้ตาย’
นายแพทย์พรเลิศ ฉัตรแก้ว คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ อธิบายจากมุมมองทางการแพทย์ว่า ไม่มีใครสามารถตอบได้แน่ชัดว่าเวลาของคนไข้แต่ละคนเหลือเท่าไร เพราะทุกอย่างเป็นการคาดคะเนจากค่าเฉลี่ย พร้อมเปรียบให้ฟังว่า ร่างกายคนเราก็เหมือนเครื่องจักร เมื่อเสื่อมสมรรถภาพ ก็จะหยุดทำงานเป็นส่วนๆ
การเดิน เคลื่อนไหวแขนขา การกิน ขับถ่าย - - ถ้าระบบเหล่านี้ไม่ทำงานก็อาจจะมีชีวิตอยู่ได้เป็นวันหรือเป็นเดือน แต่ถ้าส่วนอื่นหยุดอาจเป็นชั่วโมงหรือนาที ถ้ามองแบบแยกส่วน เรามักพูดว่าสมองตาย หัวใจตาย ไตวาย ที่ชัดที่สุดคือสมองกับหัวใจ แต่บางทีสมองตายแต่หัวใจยังทำงานอาจอยู่ได้เป็นวัน แต่ถ้าหัวใจตายสมองทำงานอาจอยู่ได้เป็นนาที ซึ่งการตายในปัจจุบัน ถ้าร่างกายส่วนใดหยุดทำงานแล้ว จะไปช้าเร็ว ก็ขึ้นกับว่าตายที่ไหนอีก บ้านหรือโรงพยาบาล โรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน
พระไพศาลอธิบายเสริมถึงภาวะใกล้ตายจากมุมมองที่ว่าตัวเราประกอบขึ้นด้วยมิติของกายและจิต การแตกสลายของรูปหรือร่างกายเริ่มจากการแปรปรวนหรือดับของธาตุทั้งสี่คือ ดิน น้ำ ไฟ และลม  เริ่มจากดินหรือส่วนที่เป็นกล้ามเนื้อ เช่น ไม่มีแรง เดินไม่ได้  น้ำคือคอแห้ง ริมฝีปากแห้ง จากนั้นตัวจะเย็นลง เป็นสัญญาณว่าธาตุไฟเริ่มดับ สุดท้ายคือลม หรือที่เรียกกันว่าสิ้นลม ขณะที่ธาตุสี่แปรปรวนนั้น จิตอาจเริ่มแสดงอาการ เช่น จำอะไรไม่ได้ หรือจำได้สั้นๆ การรับรู้เห็นภาพแปรปรวน แต่การสิ้นชีวิตเกิดขึ้นเมื่อใดยังเป็นสิ่งที่ตอบได้ยาก เดิมเราเชื่อว่าสิ้นสุดเมื่อสิ้นลม แต่ในความจริงอาจเป็นการค่อยๆ รางเลือนไปของจิตรับรู้
เมื่อใกล้ตาย การรับรู้ทางเวทนาอาจหมดไปคือไม่เจ็บปวด เพราะความเจ็บปวดทำงานให้เราหนีทุกข์เอาตัวรอด แต่บางทีเมื่อไม่มีทางรอดแล้ว กลไกความเจ็บปวดก็อาจหยุดทำงาน นั่นอาจอธิบายว่า ทำไมผู้ป่วยบางคนในชั่วโมงท้ายๆ เขาไม่แสดงอาการเจ็บปวดอีกแล้ว
เมื่อมีคำถามจากผู้ร่วมอบรมว่า อาการทุรนทุราย หรือการเห็นภาพต่างๆ ก่อนสิ้นใจ เช่น เห็นคนที่ตายไปแล้ว เห็นคนมารับ ฯลฯ เหล่านี้เป็นนิมิตบอกถึงกรรมเก่าหรือไม่
พระไพศาลอธิบายจากหลักพุทธศาสนาว่า นิมิตก่อนตายอาจเป็นได้สองลักษณะ ได้แก่ กรรมนิมิต และคตินิมิต กรรมนิมิตเป็นนิมิตที่เกิดจากกรรมที่เราได้ทำมาในชีวิต อันเป็นตัวกำหนดว่าเราจะไหนหลังตาย คตินิมิตเป็นภพภูมิที่เรากำลังจะไป - - สมองเราเก็บความจำไว้มากมาย พอใกล้ตายมันจะคายออกมา คนใกล้ตายอาจมีภาวะ life review เหมือนฉายหนังเก่า อะไรที่เคยกระทบใจหรือคั่งค้างอาจปรากฏขึ้นมา บางอย่างอาจทำให้เขาตื่นตกใจ ผวา ถ้าไปตอนนั้นเขาจะตกใจ คนที่ดูแลจะต้องช่วยโน้มน้าวให้ไปในทางที่ดี
พินัยกรรมชีวิต
ทุกวันหลังเลิกงาน เรามักทำบันทึกช่วยจำว่าพรุ่งนี้มีอะไรที่เราต้องสะสางต่อไป แต่ทำไม – กับชีวิตที่ไม่แน่นอน น้อยคนนักที่คิดทำบันทึกช่วยจำหรือพินัยกรรมชีวิต ลองคิดดูว่าหากคุณต้องจากไปโดยมิได้สะสางสิ่งที่คั่งค้าง ทั้งเรื่องที่คับข้องใจและงานการในหน้าที่ ในเวลาที่กำลังจะสิ้นลม จิตใจเราจะห่วงกังวล กระสับกระส่ายแค่ไหน แน่นอนว่า คนที่อยู่ข้างหลังย่อมช่วยเหลือสะสางเรื่องต่างๆ อย่างเต็มใจ เพราะอยากให้เราตายตาหลับ แต่ก็บ่อยครั้งมิใช่หรือ ที่เราได้รับรู้เรื่องราวความขัดแย้งนานาสถานการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับความตาย ไม่ว่าการตัดสินใจเรื่องการรักษาพยาบาล การจัดพิธีศพ หรือเรื่องทรัพย์สินกองมรดก
ในค่ำคืนแรกของการอบรม วิทยากรชักชวนผู้เข้าอบรมให้ตั้งสติทบทวนชีวิต และจรดปากกาลงบนหน้ากระดาษ นี่เป็นเพียงแบบฝึกหัดแรกของการเตรียมเผชิญกับความตาย หากนาทีนั้นมาถึง เราประสงค์ให้มีการจัดการกับสิ่งเหล่านี้อย่างไร
-  การจัดการกับร่างกายของเรา
-  การจัดการทรัพย์สินของเรา
-  คำสั่งเสียและล่ำลาต่อคนรัก คนใกล้ชิด เพื่อน หรือคำขออโหสิกรรมต่อผู้อื่นที่เคยมีเรื่องบาดหมางคับข้องใจ หรือได้กระทำผิดพลาดต่อกันในอดีต
-  ประโยชน์แก่สังคมที่อยากให้คนทำแทนเรา
-  งานที่คั่งค้างไว้
-  งานศพ
อาจมีเรื่องอื่นๆ อีกมากมายที่คุณอยากบันทึกไว้ เขียนทุกสิ่งทุกข้อให้ชัด ทั้งที่จะเป็นประโยชน์แก่จิตใจตนเอง และคนที่อาจอยู่ข้างหลัง
มรณสติ : ตายก่อนตาย
ในค่ำคืนแรกของการอบรม ก่อนที่เราจะแยกย้ายกลับสู่ห้องพักเพื่อพักผ่อน เมื่อแต่ละคนเขียนพินัยกรรมชีวิตของตนเองอย่างชัดกระจ่าง วิทยากรชวนให้เรานอนราบกับพื้นในท่าโยคะ ท่าศพ แล้วค่อยๆ หรี่ไฟลงจนมืดสนิท กล่าวโน้มนำให้เราผ่อนคลาย และภาวนาเสมือนว่านั่นคือช่วงลมหายใจเฮือกสุดท้าย
เรารับความรู้สึกที่ไล่ขึ้นมาจากปลายเท้าว่าบัดนี้มันอ่อนแรง ไม่มีกำลังแม้แต่จะขยับเขยื้อนอวัยวะทุกส่วนของร่างกายที่ได้รับใช้เรามาในการทำภารกิจต่างๆ และเราได้ดูแลทะนุถนอมมันมาอย่างดี บัดนี้ได้ถึงอายุขัยของมันแล้ว เราขอบคุณร่างกายนี้
เราทบทวนถึงทรัพย์สินต่างๆ ที่เราได้สั่งสมไว้เพื่อนำความสุขสบายมาสู่ชีวิตและครอบครัว เราได้สร้างมาด้วยสัมมาอาชีวะ มิได้เบียดเบียนใคร เราได้รับความสุขสบายจากมันมาเพียงพอแล้ว จากนี้ขอให้มันยังประโยชน์แก่ผู้อื่น เราไม่คิดหวงห่วงอะไร เพราะเรากำลังจะจากไป แม้แต่ร่างนี้เราก็ยังต้องละไป งานการอื่นๆ ทั้งที่เป็นหน้าที่ และที่ทำโดยสมัครใจ เราก็ได้ทำมาอย่างเต็มกำลังแล้ว ในวันที่ยังมีเรี่ยวแรง เราก็ได้ทำประโยชน์มาอย่างเต็มแรง เรื่องที่สมควรทำเราก็ได้ทำไปแล้ว เรากำลังจะจากไป ไม่มีอะไรต้องเสียดายอีก
เสียงของคนรัก พ่อแม่...ลูก เพื่อนฝูง แว่วเข้ามาในโสตประสาท เราขอบคุณพวกเขาที่ได้เคยร่วมทุกข์ร่วมสุข หัวเราะ ร้องไห้ และเกื้อกูลกันมา เมื่อยามอยู่เราก็อยู่กันด้วยดีแล้ว เราบอกรัก บอกลา และย้ำอย่างเชื่อมั่นว่าแม้เราจะจากไป เขาจะมีชีวิตที่เป็นสุขได้ ไม่มีอะไรต้องห่วงอีก
เราแผ่เมตตาแก่สรรพชีวิตผู้เป็นเพื่อนกันในโลกนี้ ภาวนาบทสวดมนต์ที่พอมีสติจำได้ จดจ่อสติอยู่กับการสวดมนต์นั้น และจากไป...
แสงไฟค่อยๆ สว่างขึ้น เราลืมตากลับมาสู่ลมหายใจและโลกที่ชีวิตยังต้องดำเนินต่อไปอีกครั้ง และตระหนักชัดเจนว่า เรายังมี ‘การบ้าน’ ต้องทำอีกมาก กว่าที่การตายที่จะมาถึงจะสงบได้เช่นการตายแบบฝึกหัดนั้น
พระไพศาลยังกล่าวสำทับอีกครั้งว่า มรณสติเป็นการฝึกทำโจทย์จนคุ้นเคยกับการละความเป็นตัวเรา ชีวิตเรา ควรทำสม่ำเสมอ จะเดินทางก็ทำมรณสติ ลองคิดว่าเครื่องบินอาจจะตก คิดบ่อยๆ นึกถึงอะไรไม่ว่าคนรัก ความผูกพัน สิ่งที่ยึดเหนี่ยว นึกถึงแล้วก็ปล่อย เพราะถ้าเราไม่ปล่อยภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งวินาที มันก็ท่วมทับเรา นี่อาจเป็นคำตอบของกรณีตายกะทันหัน ถ้าเราทำบ่อยๆ จะกลายเป็นวิสัย มีสติ มีความคล่องแคล่ว
เราสามารถฝึกได้กับการพลัดพรากในชีวิตประจำวัน เวลาดูข่าวลองคิดว่า ถ้าเราอยู่ในสถานการณ์แบบนั้นจะทำอย่างไร รู้สึกอย่างไร น้อมมาบ่อยๆ เราจะเห็นว่าเราไม่พร้อม หรืออย่างของหาย เจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ก็ให้รู้ว่าเขามาเตือน หรือคนนินทาก็เป็นเรื่องปกติ อันนี้เป็นการฝึกมุมมอง ดีกว่านั้นคือฝึกสติ กายเจ็บแต่ใจไม่เจ็บไม่ปวดไปด้วย คือการฝึกใช้สติพิจารณาสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา ดีกว่านั้นคือปัญญา เห็นความไม่เที่ยงแท้ ความเป็นอนัตตา
การฝึกสตินั้นทำได้ตลอดเวลา คือดึงสติให้จดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำ ไม่จำเป็นต้องนั่งหลับตา ถูฟันก็ให้รู้ว่าถูฟัน มือล้างจานใจก็ล้างจานอยู่ด้วย คือทำอะไรเป็นอย่างๆ ไม่ใช่ใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพ กินข้าว ดูโทรทัศน์ แล้วคุยโทรศัพท์มือถือไปพร้อมๆ กัน - - ทำอะไรก็อยู่กับสิ่งนั้น  นั่นคือการเจริญสติในชีวิตประจำวัน
การดูแลและช่วยเหลือผู้ใกล้ตาย
คำถามสำคัญที่เราต้องเผชิญในชีวิตเมื่อคนรักหรือคนใกล้ชิดป่วยอยู่ในระยะสุดท้าย หรือใกล้ตาย คือว่าเราควรจะบอกความจริงกับเขาหรือไม่ จะเลือกการรักษาพยาบาลวิธีใดและยุติเมื่อไร และเราจะช่วยให้เขาจากไปอย่างสงบและเป็นกุศลได้อย่างไร
อุมาภรณ์ ไพศาลสิทธิเดช พยาบาลประจำโรงพยาบาลรามาธิบดี เล่าจากประสบการณ์ว่า หลายกรณีญาติไม่ยอมให้บอกคนไข้ หรือไข้เองไม่อยากให้ญาติรู้ เพราะต่างฝ่ายต่างห่วงใยความรู้สึกซึ่งกันและกัน แต่ที่สุดแล้วทั้งสองฝ่ายควรร่วมรับรู้ความจริง และการบอกต้องอาศัยกุศโลบาย
มีคู่หนึ่ง สามีเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ภรรยาไม่ยอมให้บอก เพราะคิดว่าเขาเป็นทหาร เรื่องแบบนี้ทำใจรับได้ยาก ก็ถามเขาว่าคุณคิดหรือว่าคนไข้เขาไม่รู้ตัว บอกให้เขารู้เสีย จะได้เตรียมตัวเตรียมใจ เรื่องอะไรที่เขาคิดว่าต้องจัดการในเวลาที่เหลือจะได้ทำได้ พอไปคุยกับคนไข้ เขากลับบอกว่าผมรู้ตัวอยู่แล้ว แต่อย่าบอกภรรยาผมนะ เดี๋ยวเขาจะยิ่งเครียด เราก็จับสองคนมานั่งคุยกัน ปรากฏว่ากอดกันร้องไห้อยู่พักแล้วบอกว่าไม่เป็นไร เขาจะสู้ไปด้วยกัน
สิชล ทองยุทธ์ หรือ ‘อ้อย’ อดีตพนักงานบัญชี กำลังป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านม เริ่มเล่าด้วยน้ำเสียงมั่นคงว่า รู้ตัวมาเกือบปีแล้ว แต่ไม่เคยบอกให้แม่รู้ เพราะคิดว่าแม่จะทุกข์กว่าตนเป็นร้อยเท่า แต่มันอึดอัด อยู่กันแม่ลูกสองคน แล้วเราไม่ได้แชร์ความทุกข์เรา เพื่อนๆ ก็แนะนำให้บอกแม่ เพราะแม่เองก็จะต้องเตรียมตัวด้วย - - วันหนึ่งเราอาจจะไม่ได้อยู่กับเขาแล้ว
เมื่อวันก่อนที่จะมาอบรมก็บอกเขาว่า แม่ หนูเป็นเนื้องอกที่เป็นปัญหา ยังไม่ได้ใช้คำว่ามะเร็ง แม่นิ่ง (น้ำตาของเธอพรั่งพรู เมื่อทบทวนถึงความรู้สึกของแม่)  แม่ถามว่าทำไมไม่ไปผ่าตัด ก็บอกว่าไม่ใช่ทางเลือกของเรา เขาก็นิ่งไปเลย แต่ตอนนั้นรู้สึกว่าโล่งมาก เพราะเก็บเรื่องนี้มาเป็นปี - - ตอนเย็นรู้สึกว่ากับข้าวที่แม่ทำอร่อยมาก เขาคงใส่ความรักลงไป
นายแพทย์พรเลิศกล่าวว่า ในทางการแพทย์เองก็ถือว่าจิตใจของคนไข้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดูแลไม่น้อยไปกว่าการเยียวยาทางกาย ดังมีคำพูดว่า เราสามารถรักษาคนไข้ได้เป็นบางเวลาและบางคน แต่เราทำให้เขาเป็นสุขได้ทุกครั้ง โดยเฉพาะในรายที่รักษาไม่หายแล้ว นอกจากการพยายามช่วยบรรเทาความเจ็บปวดทางกาย จะต้องช่วยเหลือดูแลในเรื่องจิตใจ และบอกให้คนไข้และญาติรับรู้ถึงข้อมูลในการรักษาอย่างเต็มที่ รู้ถึงอาการที่จะเกิด ผลของยา บอกทางเลือกในกรณีที่มีวิธีรักษาบางอย่างที่ช่วยยืดอายุได้  ไม่ว่าจะเป็นชั่วโมง วัน หรือสัปดาห์ รวมถึงผลดีที่คาด และผลเสียที่อาจได้รับ  เพราะการยืดอายุอาจหมายถึงเวลาของการเตรียมตัวเตรียมใจ การสะสางสิ่งที่คั่งค้าง ตั้งสติ และเตรียมจิตอย่างสงบ - - หรือเป็นเพียงการยืดสัญญาณชีพ
กรณีที่เจอบ่อยก็คือจะช่วยชีวิตหรือไม่ ใส่ท่อหรือไม่ใส่ ขึ้นกับแต่ละราย เขาให้ความหมายกับอะไร กับการเต้นของหัวใจ หรือการมีสติรับรู้ ต้องคุยกับทีมแพทย์เอง กับคนไข้และญาติ กรณีที่คนไข้ไม่รู้สึกตัวแล้ว ต้องถามญาติว่าเขาได้เคยสั่งเสียอะไรไว้ไหม หรือคุยกับคนที่รู้จักคนไข้ดีที่สุด - - เพราะถ้าเราเริ่ม life support แล้วจะหยุดไม่ได้ เขาควรรู้ว่าจะต้องเจอกับอะไร ซึ่งอาจจะยืดเยื้อทนทุกข์ทรมาน
ควบคู่ไปกับการรักษาพยาบาลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีแล้ว สิ่งที่เราสามารถช่วยเหลือไปพร้อมกันในทางจิตใจ ได้แก่
การให้ความรักอย่างไม่มีเงื่อนไข : ในขณะที่ร่างกายกำลังเจ็บปวด และความตายกำลังจะมาถึง สิ่งที่คนเราหวาดกลัวมากที่สุด คือการถูกทอดทิ้งให้เผชิญกับความหวาดกลัวต่างๆ เพียงลำพัง ความรักจากคนรอบข้างรวมถึงแพทย์พยาบาล ย่อมช่วยให้จิตใจที่เปราะบางของเขาเข้มแข็งขึ้น และพึงระลึกว่าความเจ็บปวดที่รุมเร้าอาจทำให้จิตใจและอารมณ์แปรปรวน ควรอดทนด้วยความเข้าใจ
การช่วยให้เขายอมรับความตายที่จะมาถึง : ในหลายกรณีการยอมรับความตายอาจทำได้ยาก และต้องใช้เวลา เราอาจเริ่มต้นด้วยการยอมรับความกลัวตายของตนเอง อย่าเทศนาสั่งสอน หากรับฟังความรู้สึกของเขาอย่างจริงใจ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการผู้มากประสบการณ์หรือนักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญ เพียงแต่ต้องการใครสักคนที่แสดงทีท่าว่าพยายามจะเข้าใจเขา ในที่สุดแล้ว การับฟังและแบ่งปัน อาจช่วยให้จิตใจของเขาคลี่คลาย คิดได้ว่าความตายนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่จำเป็นต้องลงเอยอย่างเลวร้ายเช่นที่เขากลัว
การช่วยปลดเปลื้องสิ่งที่ค้างคาใจ : คนเราไม่อาจจากไปอย่างสงบได้หากมีภาระที่คั่งค้างหรือมีเรื่องราวจากอดีตที่ยังติดค้างอยู่ในใจ เราอาจช่วยเขาสะสางธุระต่างๆ และพูดคุยให้เขาค่อยๆ คายสิ่งที่อยู่ในใจ ชวนให้เขาแผ่เมตตา อโหสิกรรม ชวนให้เขายอมรับและกล่าวขอโทษทั้งต่อหน้าหรือการเขียนจดหมาย ให้เขาตระหนักว่า ยามใกล้ตายเป็นวาระสำคัญสำหรับการคืนดีและการยอมรับสิ่งที่ได้ทำมา
การช่วยให้จิตใจจดจ่อกับสิ่งที่ดีงาม : อาจทำได้หลายวิธี เช่น นำพระพุทธรูป สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือสิ่งที่บุคคลนั้นนับถือมาตั้งไว้ในห้อง เปิดเทปสวดมนต์ เทปธรรมะ หรือดนตรีที่เขาชอบฟัง ที่ฟังแล้วช่วยให้จิตใจเขาสงบ สวดมนต์หรือทำสมาธิภาวนาไปพร้อมกับเขา ชวนให้เขาระลึกถึงคุณความดีและกุศลที่ได้ทำมา เพราะไม่ว่าคนๆ นั้นจะมีหรือจน หรือทำตัวผิดพลาดมาอย่างไร ย่อมเคยทำความดีที่น่าระลึกถึงไม่มากก็น้อย  ซึ่งไม่ได้หมายความถึงการทำบุญกับพระหรือศาสนาเท่านั้น การเลี้ยงลูกให้เป็นคนดี ดูแลพ่อแม่ด้วยความรัก หรือเสียสละเพื่อคนอื่น ล้วนเป็นกุศลที่เขาสามารถมั่นใจได้ว่าจะพาตนไปสู่สุคติ
ชวนให้เขามองการป่วยไข้ในทางที่เป็นประโยชน์ เป็นอีกบทเรียนของการตระหนักรู้ มิใช่การชดใช้กรรม นอกจากนี้อาจชวนให้เขาทำบุญ เช่น บริจาคทรัพย์สิน ทำทานแกคนยากจนไร้โอกาส ซึ่งจะช่วยให้เขาละจากการยึดติดในทรัพย์สินและโลกนี้ได้ในทางอ้อม
การช่วยให้ปล่อยวางสิ่งต่างๆ : ในบรรดาสิ่งยึดติดทั้งหลาย ไม่มีอะไรที่ลึกซึ้งแน่นหนากว่าความติดยึดในตัวตน เราอาจใช้ประสบการณ์จากการทำมรณสติ ค่อยๆ ชักจูงให้เขาปล่อยวางสิ่งต่างๆ จากสิ่งที่หยาบอย่างทรัพย์สินไปสู่สิ่งที่ละเอียดอย่างตัวตน ในทางพุทธแล้วถือว่าการตายเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่แก่การค่อยๆ ลอกสิ่งที่จิตปรุงแต่งไว้ตลอดชีวิต ให้เหลือแต่จิตแท้ที่บริสุทธิ์ หรือพุทธภาวะที่จะไม่ยึดอยู่กับสิ่งใดอีกเลย
การสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการสงบใจ : พึงระลึกว่าการรับรู้และอารมณ์ของผู้ป่วยนั้นเปราะบางและละเอียดอ่อนมาก เราควรให้เขาได้อยู่ในที่ที่เขารู้สึกสงบและอบอุ่นใจ ญาติมิตรควรหลีกเลี่ยงการแสดงความเศร้าโศก สลดหดหู่ หรือการโต้เถียงวิวาท
ทุกวันนี้คนเรามักตายที่โรงพยาบาลมากกว่าที่บ้าน เราควรพูดทำความเข้าใจกับแพทย์พยาบาลให้งดการตรวจเจาะหรือการรักษาใดๆ ที่ไม่จำเป็น
พระไพศาลขยายความในประเด็นสุดท้ายว่า การโน้มน้าวให้จิตผู้ป่วยสงบนั้น ทำได้ทุกที่ทุกเวลา แม้เขาจะอยู่ในขั้นโคม่า หรือในห้องไอซียู การสัมผัสมือหรือร่างกายเขาเบาๆ  สวดมนต์ให้เขาฟัง ล้วนมีผลต่อจิตใจของเขา แม้ว่าร่างกายของเขาดูจะไม่ตอบสนองรับรู้
เช่น มีคนไข้รายหนึ่งนอนหมดสติอยู่ในห้องไอซียูเป็นอาทิตย์ ภายหลังเขาเล่าว่า หลายครั้งเขารู้สึกเคว้งคว้างเหมือนใจจะหลุดลอยไป แต่แล้วก็มีมือมาแตะที่ตัวเขาพร้อมกับพลังบางอย่าง ใจที่เคว้งเหมือนจะขาดก็กลับมาใหม่ และเป็นเช่นนี้อยู่หลายครั้ง ในที่สุดเมื่อเขาฟื้นขึ้นมาทั้งๆ ที่แพทย์บอกว่าโอกาสรอดน้อยมาก เขาจึงรู้ว่ามีพยาบาลคนหนึ่งที่ทุกเช้าเมื่อขึ้นเวร จะมาจับมือเขาแล้วแผ่เมตตาให้กำลังใจแก่เขา
พระไพศาลฝากไว้ในตอนท้ายของการอบรมว่า แม้สัญญาณชีพหมดแล้วก็ควรรักษาบรรยากาศที่สงบนั้นต่อไป อย่าเพิ่งเข้าไปมะรุมมะตุ้ม หรือร้องไห้กอดรัด จิตอาจกำลังอยู่ในช่วงละร่าง อาจตระหนกตกใจ เราอาจช่วยตีระฆัง หรือสวดมนต์ส่งจิต บอกเขาว่าไปแล้วนะ ขอให้ไปในที่ที่ดี
เราทุกคนย่อมปรารถนาการตายอย่างสงบ หากระลึกได้ว่าความตายติดตามเราอยู่ทุกนาที เราย่อมมีชีวิตโดยไม่ประมาท และรู้ตัวดีว่า ยังมีการบ้านอีกมากที่ต้องทำ และต้องลงมือทำอย่างไม่ผัดวันประกันพรุ่ง
เพื่อเตรียมเผชิญหน้ากับความตายทั้งของตนเองและคนใกล้ตัว
อ้างอิงจาก : เอกสารประกอบการอบรมเชิงปฏิบัติการ เผชิญความตายอย่างสงบ และ ประตูสู่สภาวะใหม่

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 14943เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2006 22:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท