หมอบ้านนอกไปนอก(36): บ้านน้อยคอยรัก


คำว่าคิดถึงบ้าน นี่หมายรวมไปถึงคิดถึงคนที่บ้าน ชีวิตความเป็นอยู่ที่บ้าน บรรยากาศ ความคุ้นเคยต่างๆและตัวบ้าน ที่เปรียบเสมือนรังรักของคนในครอบครัว Home จึงมีความผูกพันมากกว่า เป็นบ้านที่เป็นทั้งที่ซุกหัวนอนและที่ซุกหัวใจบ้าน (Home) จึงเปรียบเสมือนรากของคนในครอบครัว

                 คนเบลเยียมต้องปรับตัวเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศตลอดเวลา แต่เป็นชีวิตที่มีความปลอดภัยจากอาชญากรรมมาก ผู้หญิงคนเดียวสามารถเดินหรือขี่จักรยานไปตามท้องถนนยามค่ำคืนดึกดื่นได้อย่างปลอดภัย ตามถนนหรือซอยเล็กๆติดไฟสว่าง บ้านพักริมถนนปลูกติดต่อกัน ไม่มีช่องว่างหรือซอกที่เป็นแหล่งหลบซ่อนของมิจฉาชีพได้ ตำรวจขับรถตรวจตราไปตามท้องถนนเป็นระยะๆ ไม่มีข่าวเรื่องอาชญากรรมเลยตลอดสามเดือนที่มาอยู่ ตามถนนมีจุดพักสำหรับรอรถบัสหรือรถรางเป็นระยะๆ ไม่มีเด็กวัยรุ่นมาจับกลุ่มตั้งแก๊งค์กวนเมืองกัน ไม่มีสิงห์มอเตอร์ไซด์มาบิดคันเร่งเสียงดังลั่น แทบไม่มีกลุ่มวัยรุ่นเลย การคุมกำเนิดที่ดีทำให้อัตราเจริญพันธุ์ต่ำประชากรส่วนใหญ่มีอายุมาก และเป็นเหตุให้เบลเยียมต้องนำเข้าคนวัยทำงานจำนวนมากในแต่ละปี

                 สำหรับเรื่องคดีข่มขืนนั้น ไม่น่าจะมีได้ด้วยเหตุผลเรื่องระบบการรักษาความปลอดภัยของประชาชนที่ดี ผู้ชายส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน มีครอบครัว ไม่มีการดื่มเหล้าเมามายแบบอยากจะดื่มตรงไหนก็ได้ ถ้าจะดื่มก็ต้องอยู่ในร้านแล้วก็ดื่มแล้วห้ามขับรถ กฎหมายเขาเอาจริง กับไม่มีสิ่งกระตุ้นทางเพศให้เห็นตามท้องถนนเพราะอากาศหนาว ผู้หญิงทุกคนจะใส่เสื้อผ้ามิดชิดมาก ใส่ชุดหนาๆหลายตัวเลย ไม่มีวับๆแวมๆหรือใส่สายเดี่ยวให้เห็น ผู้ชายเองก็แต่งมิดชิดเช่นกัน หากใครจะคิดฉุดใครไปทำมิดีมิร้ายจะทำได้ยาก ทั้งสถานที่ โอกาส อากาศและเครื่องแต่งกายไม่อำนวยให้

                 สัปดาห์ที่ 11 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 พฤศจิกายน ช่วงเช้าไม่ได้ออกจากบ้านไปไหน ช่วงบ่ายคุยกับภรรยาและลูกๆ ตอนสี่โมงเย็นมีประชุมกลุ่มเตรียมนำเสนองาน บาชีร์กับริด้านัดมาประชุมกลุ่มกันที่บ้านพักผม กลุ่มพี่เกษมก็มาประชุมที่เดียวกันมีเฉิงฟ่งกับประชันธ์ ผมกับริด้านำเสนอพรุ่งนี้ มีริด้าเป็นผู้นำการอภิปราย (Moderator) ส่วนริด้ามีบาชีร์เป็นผู้นำการอภิปราย ของบาร์ชีผมเป็นผู้นำการอภิปราย เราสามคนในกลุ่มจึงต้องรู้ปัญหาและประเด็นที่เพื่อนนำเสนอ

                 วันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน ช่วงเช้ามีเรียนระบาดวิทยา ช่วงบ่ายมีการนำเสนอแบ่งออกเป็น 5 ห้อง ให้นำเสนอ 15 นาที อภิปราย 40 นาที อาจารย์วิพากษ์และสรุป 5 นาที ผมนำเสนอปัญหาเรื่องความไม่สมดุลของกำลังคนด้านสุขภาพในจังหวัดตาก ทำให้พื้นที่ฝั่งตะวันตกมีกำลังคนไม่เพียงพอและมีอัตราการโยกย้ายสูง ผมไม่ได้กังวล ทำตัวสบายๆ ไม่ได้เตรียมตัวมาก ทำให้เกิดความประมาท ตอนนำเสนอผมมีความมั่นใจสูงมาก แต่ไม่ได้ดูเวลาเอง ทำให้เลยเวลาไป 7-8 นาที ตอนถูกถามคำถามหรืออภิปรายก็ไม่ได้เตรียมปากกากระดาษไว้จด ทำเหมือนตอนฟังภาษาไทย ทำให้ลืมคำถาม ดีที่ริด้าช่วยได้มาก คอยสรุปคำถามให้ ก็ตอบคำถามไปได้

                 อาจารย์แวนเนต ได้วิพากษ์ผมเรื่องเกินเวลากับเนื้อหาบางส่วนควรเพิ่มข้อมูลบางตัว ส่วนวิธีการนำเสนอถือว่าดี ริด้าได้รับคำชมในการเป็นผู้นำการอภิปราย ผมรู้สึกว่าการพูดของผมดูห้วนๆไปหน่อย ขาดคำเชื่อมหรือขาดลูกเล่นเพราะไม่รู้จักใช้คำ ได้แค่พอสื่อกันรู้เรื่อง ต่างกับตอนนำเสนองานเป็นภาษาไทย ที่สามารถเลือกใช้คำได้อย่างคล่องตัวและกินใจ เข้าใจได้ง่าย หลังจากนั้นผมต้องย้ายไปฟังอีกห้องหนึ่งที่นำเสนอโดยแพทริซ ส่วนริด้านำเสนอต่อโดยมีบาร์ชีเป็นผู้นำการอภิปรายให้

                   วันอังคารที่ 20 พฤศจิกายน ช่วงเช้าเป็นการเรียนระบาดวิทยาสถิติต่อด้วยเรียนเรื่องทักษะการเขียนกับอาจารย์วาลาเรีย มีเว็บไซต์ที่แนะนำวิธีการเขียนโดยเข้าไปค้นในกูเกิ้ล ให้พิมพ์คำว่า Write for change เข้าไปที่ www.fahamu.org มีคำแนะนำการเขียนบทความที่ดีมาก ตอนบ่ายได้ฟังนำเสนอของนามีน แล้วต่อด้วยการเป็นผู้ดำเนินการอภิปรายให้บาร์ชี ผมพยายามฟังอย่างตั้งใจ จัดการบรรยากาศให้สบายๆและให้บาร์ชีมีบทบาทโดดเด่นในการตอบคำถาม ถือว่าราบรื่นดี คุมเกมส์ได้ แต่อาจารย์ทอมวิพากษ์ว่า บทบาทไม่โดดเด่น ไม่ค่อยเป็นผู้นำ และไม่ได้สรุปประเด็นปัญหาหรือประเด็นการอภิปราย ตอนเย็นไปเรียนภาษาอังกฤษแต่ไม่ได้เรียน ครูไม่มาสอน ทราบว่าสถาบันภาษามีปัญหาเรื่องค่าตอบแทนครูผู้สอน ครูจึงไม่มาสอน เพื่อนชาวเวียดนามชื่อที้ (Thy) ชวนไปเที่ยวที่บ้าน ได้คุยกันสักพักหนึ่งก็กลับบ้าน

                 วันพุธที่ 21 พฤศจิกายน ช่วงเช้าเรียนระบาดวิทยาสถิติ ตอนพักกลางวัน (พักทานอาหารกลางวันบ่ายโมงถึงบ่ายสองโมง) ผม พี่เกษมและเกลนด้าไปที่ที่ว่าการอำเภอ (Districtshis) เพื่อรับบัตรผู้อยู่อาศัยชั่วคราว (Resident card) หลังจากรอมาเกือบสามเดือนจนวีซ่าหมดอายุไปแล้ว (ทางสถานทูตเบลเยียมออกวีซ่าให้ 3 เดือน หลังจากนั้นก็ใช้บัตรชั่วคราวแทน) ตอนนี้ผมเป็นพลเมือง (ชั่วคราว) ของเบลเยียมแล้วเป็นผู้อพยพ (Migrant) บัตรที่ออกให้เป็นแบบปีต่อปี อำเภอเปิดทำการจันทร์ถึงศุกร์เวลา 9 โมงเช้าถึงบ่าย 3 โมงเย็น ยกเว้นวันพฤหัสเปิดบริการเพิ่มช่วง 5 โมงเย็นถึง 1 ทุ่ม หลังจากจับบัตรคิวแล้วก็รอประมาณ 1 ชั่วโมงกว่าจะได้บัตร เสร็จแล้วกลับมาเข้าร่วมสัมมนาอีกสองช่วงเป็นการนำเสนอของแดเมี่ยนกับเลมม่า ตอนเย็นขี่จักรยานไปซื้อสบู่ที่ไชน่าทาวน์ ร้านสวัสดี มีแต่สบู่นกแก้ว ราคาก้อนละ 1.2 ยูโร (ราว 70 บาท) แล้วก็ขี่จักรยานเที่ยว เป็นการออกกำลังกายไปด้วย

                  วันพฤหัสที่ 22 พฤศจิกายน ช่วงเช้าเรียนวิธีการค้นหาวารสารประกอบการทำงานวิจัยโดยอาจารย์วาลาเรียแนะนำให้ค้นโดยใช้ Pubmed, Scirus, และ google scholar ที่ช่วยให้เราได้บทความที่มีคุณภาพหรือมีความเป็นวิทยาศาสตร์สูง เสร็จแล้วเรียนระบาดวิทยาสถิติ ช่วงพักกลางวันผมรีบไปที่ไปรษณีย์ที่อยู่ใกล้ๆบ้านพักเพื่อส่งเอกสารประกอบการทำวีซ่าให้ภรรยาที่ต้องใช้ใบรับรองเงินทุนการศึกษา สำเนาบัตรผู้อยู่อาศัยชั่วคราว สำเนาหนังสือรับรองการขอใบรับรองบ้านพัก (Accuse de reception) ที่ใช้แทนใบรับรองบ้านพัก (Attestation of housing) และหนังสือทำประกันสุขภาพ ถ้าส่งแบบธรรมดาใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 22 วัน ถ้าส่งแบบด่วน (EMS) ใช้เวลา 5 วัน เสียค่าส่งไป 42.7 ยูโร (เกือบ 2 พันบาท) ตอนบ่ายเข้าฟังสัมมนานำเสนอโดยเฉิงฟ่งกับโนริ เสร็จแล้วก็เล่นปิงปองกับเพื่อนๆสามเซ็ทจึงกลับบ้าน

                 วันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน ช่วงเช้าเรียนระบาดวิทยาทางสถิติกับอาจารย์วีเริ่ล เท่าที่เรียนวิชานี้มาผมรู้สึกว่าอาจารย์มีวิธีการสอนและนำเสนอเนื้อหาที่ทำให้ดูไม่ยุ่งยาก (อาจารย์วีเริ่ลกับอาจารย์แพทริค) เน้นความเข้าใจความหมาย มากกว่าจำสูตร เป็นการสอนที่ผมคิดว่าฟังยาก (เพราะเป็นภาษาอังกฤษ) แต่เข้าใจง่าย อาจารย์หนึ่งคนสอนทฤษฎี ส่วนอีกคนสอนภาคปฏิบัติตามกันไป ทำให้เป็นการประเมินอาจารย์ด้วยว่าสอนแล้วผู้เรียนเข้าใจหรือไม่

                 ช่วงบ่ายเป็นชั่วโมงแนะแนว วันนี้เน้นเรื่องการประเมินกิจกรรมสัมมนาที่ทำมาทั้ง 4 วัน ผมคาดเดาปัญหาข้อขัดข้องจากเพื่อนๆได้เลยว่าจะมีประเด็นอะไรบ้าง แล้วก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ผมก็เลยไมได้เสนออะไร นั่งฟังอย่างเดียว เช่นปัญหาเรื่องเวลาในการนำเสนอน้อย (15 นาที) อาจารย์ที่ปรึกษากับอาจารย์ที่มาฟังการนำเสนอให้ข้อคิดเห็นที่แตกต่างกัน การชี้แจงบทบาทของผู้นำอภิปรายไม่ชัดเจน เป็นต้น ผมเองทำใจไว้อยู่แล้วตั้งแต่ก่อนสัมมนาว่าอาจถูกวิพากษ์ในเรื่องที่เราคาดเดาไม่ได้ ไม่รู้ว่าใครจะมาฟัง ไม่รู้สมาชิกกลุ่มจะมีปฏิกิริยาอย่างไร ซึ่งผมคิดว่ามีความไม่แน่นอนและความไม่ลงรอยหรือเห็นพ้องต้องกันสูง (เนื่องจากภูมิหลัง บริบทแตกต่างกันมาก) นั่นคือมี Uncertainty & Disagreement เพราะ “คนเราไม่เคยเหมือนกัน แตกต่างกันเสมอ” (Never the same, always difference) เหมือนผู้บริหารที่ต้องทำงานหรือตัดสินใจในสภาพที่ไม่แน่นอนและความแตกต่างกันสูง คาบสุดท้ายมีการอภิปรายในเรื่อง ความครอบคลุมสิทธิทางด้านสุขภาพ เป็นไปได้ไหม (Universal health coverage: is it possible?) เป็นชั่วโมงเสริมตามความสมัครใจ ผมไมได้เข้าร่วม อยากกลับบ้านมาคุยกับครอบครัวมากกว่า พวกเราคนไทยก็คงตอบได้ว่ามันเป็นไปได้แล้ว แต่จะดีหรือไม่ในระยะยาวคงต้องดูกันต่อไป กลับมาบ้านได้คุยกับแม่ แคน ขิม ขลุ่ย ได้สักพัก ลูกๆเพิ่งกลับมาจากร่วมงานแห่กระทงของเทศบาลบ้านตาก น้องขิมนั่งกระทงของโรงพยาบาล ส่วนภรรยาไม่อยู่บ้านไปร่วมงานเนื่องจากโรงพยาบาลส่งกิจกรรมเข้าร่วมด้วย

                 "วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำก็นองเต็มตลิ่ง พวกเราทั้งหลายชายหญิง สนุกกันจริง วันลอยกระทง..." เสียงเพลงลอยกระทงที่น้องขลุ่ยร้องให้ฟังเมื่อสักครู่ยังก้องอยู่ในใจ (ทุกปีได้ลอยกระทงกับครอบครัว ปีนี้ไม่ได้ลอย ไม่มีงานลอยกระทงที่แอนท์เวิป)  ทำให้ยิ่งคิดถึงบ้านมากขึ้น คำว่าคิดถึงบ้าน นี่หมายรวมไปถึงคิดถึงคนที่บ้าน ชีวิตความเป็นอยู่ที่บ้าน บรรยากาศ ความคุ้นเคยต่างๆและตัวบ้าน ที่เปรียบเสมือนรังรักของคนในครอบครัว คนไทยใช้คำว่าบ้านอย่างเดียว ของฝรั่งมีHome กับHouse ให้ใช้ จะบ้านเป็นหลัง, คฤหาสน์, Flat, ApartmentหรือCondominium ก็แล้วแต่ Homeคือบ้านเกิด (เมืองนอน) ส่วนHouseคือบ้านที่มาอยู่อาศัยทีหลัง Home จึงมีความผูกพันมากกว่า เป็นบ้านที่เป็นทั้งที่ซุกหัวนอนและที่ซุกหัวใจ

              ในชีวิตผมมีบ้านที่อยู่อาศัยมาตั้งแต่เกิดคือบ้านของตายายที่ผมอยู่อาศัยมาจนโต มีห้างไร่ที่โป่งกว้าวที่ปัจจุบันไม่เหลือสภาพให้เห็นแล้ว เสียดายที่ตอนนั้นไม่มีกล้องถ่ายรูป จึงไม่ได้ถ่ายภาพไว้ พออยู่ชั้นมอปลายก็ไปอยู่บ้านญาติที่ป่ามะม่วงก็รู้สึกเหมือนเป็นบ้านหลังที่สองที่ให้ความรักความอบอุ่นเช่นกัน ตอนเรียนอยู่หอพักที่มช. พอจบทำงานก็มีบ้านพักที่งาวอยู่ไม่นานแค่ปีเดียว อยู่บ้านพักที่แม่พริกก็ผูกพันเช่นกันเพราะเป็นเสมือนเรือนหอและบ้านเกิดของน้องแคนและผูกพันมากกับบ้านพักผู้อำนวยการที่โรงพยาบาลบ้านตากที่อยู่มาสิบปีแล้วเป็นเสมือนHome ของลูกๆที่เติบโตมากับบ้านหลังนี้ แต่วันหนึ่งก็ต้องย้ายเพราะไม่ได้มีตำแหน่งที่บ้านตากแล้ว ผมรับความรู้สึกของลูกๆได้ว่าเขามีความผูกพันกับบ้านหลังนี้มาก รวมทั้งตัวผมเองด้วย ถ้าย้ายออกคงใจหายเหมือนกัน

                   ผมจำได้ว่ามีครั้งหนึ่งตอนอยู่ปี 2 ที่เชียงใหม่ ผมไม่สบายเป็นไข้หวัดใหญ่ นอนพักในห้องพัก ไข้ขึ้น หนาวกาย ใจสะท้าน หงอยเหงา เซื่องซึมมาก เทียบกับตอนที่ไม่สบายช่วงที่อยู่บ้านตาก นอนพักอยู่ในห้องเหมือนกันแต่ความรู้สึกต่างกันลิบลับ หนาวกาย แต่ใจอุ่น คนเราไม่ได้ต้องการแค่นอนพักกาย เมื่อไม่สบายเราต้องการนอนพักใจด้วย พอกายป่วย ใจก็เหนื่อยล้า ความรักความผูกพัน ห่วงหาอาทรที่อบอวลอยู่ในบ้านช่วยทำให้หายเร็วขึ้นมาก พอมาอยู่ที่เบลเยียมผมเลยต้องดูแลตัวเองเต็มที่ เพื่อไม่ให้ป่วย  มีบ้านอีกหลังที่ผมผูกพันก็คือบ้านของพ่อแม่ของภรรยาที่ให้ความรู้สึกอบอุ่นเช่นกัน ในบรรดาเพื่อนสนิทในกลุ่มสมัยเรียนมัธยมปลายทั้งพิษณุ ศักดา สมชาย มานพก็มีบ้านของตัวเองหมดแล้วคงเหลือแต่ผมยังไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง ต้องอาศัยบ้านหลวงอยู่ บ้าน (Home) จึงเปรียบเสมือนรากของคนในครอบครัว

                  สามวันแรกในเบลเยียมผมอยู่ห้องเช่าเล็กๆที่ดูเวิ้งว้างมากเมื่ออยู่คนเดียวที่เรียมสแตรต 8 เป็นบ้านของJos & Stan มีห้องเช่าหลายห้อง เพื่อนๆในชั้นเรียนอยู่กันยี่สิบกว่าคน มีระบบอินเตอร์เน็ตไร้สาย แต่มีปัญหาเรื่องต่ออินเตอร์เน็ตยากเพราะมีคนใช้กันเยอะ จอสกับสแตนน่ารักมาก เป็นคนมีน้ำใจ แต่ไม่อนุญาตให้ครอบครัวเช่าอยู่ด้วยเพราะเกรงจะรบกวนผู้เช่าคนอื่นๆ ผมจึงต้องหาบ้านเช่าใหม่ ผมเดินอยู่สามวันเพื่อหาบ้านเช่าโดยที่ทางแพทริเชียก็ช่วยดำเนินการให้ด้วย พอวันที่ 7 กันยายน ผมจึงได้บ้านพักหลังใหม่ที่ครอบครัวสามารถอาศัยอยู่ด้วยได้ ในราคาที่ไม่แพงมากเกินไปแต่ก็แพงกว่าคนอื่นๆเกือบสองเท่า ทำให้ต้องประหยัดในเรื่องอื่นๆแทน

                 บ้านพักหลังนี้ตั้งอยู่ที่Verbondstraat 52 เป็นบ้านของจอร์จ ลีเน่น (George Laenen) มีอายุมากแล้ว เป็นวิศวกร ภรรยาชื่อ Vanhees เป็นพยาบาล ตอนนี้เกษียณแล้วทั้งคู่ มีลูกชาย 1 คน ลูกสาว 1 คน เคยอยู่บ้านหลังนี้พอลูกๆโตทำงานแล้วได้ย้ายอยู่ห่างไปนอกเมืองที่เมืองแฮสเซลท์ ประมาณ 100 กิโลเมตรจากแอนท์เวิปเพราะต้องตามไปช่วยดูแลหลานๆ จอร์จและภรรยามีความรักความผูกพันกับบ้านหลังนี้มาก เกือบทุกสัปดาห์ทั้งสองคนจะมาที่บ้านเช่า แบ่งหน้าที่กันทำงาน ภรรยาทำความสะอาดในบ้านทั้งหมดยกเว้นในห้องแต่ละห้องและจ้างแม่บ้านมาช่วยทำอีกสัปดาห์ละครั้ง ส่วนจอร์จดูแลเรื่องการซ่อมแซมบำรุงรักษาระบบต่างๆภายในบ้าน ทั้งสองคนโรแมนติกมาก ชอบไปดูคอนเสิร์ตเพลงคลาสสิก จอร์จเป็นคนขับรถมาเองจากบ้านนอกเมือง สองสามีภรรยาน่ารักมาก อัธยาศัยใจคอดีมาก มีน้ำใจ

                   บ้านนี้มี 6 ชั้น มีห้องให้เช่า 8 ห้องเป็นห้องเดี่ยว 5 ห้อง เป็นอพาร์ทเมนต์ 3 ห้อง ชั้นแรกเป็นห้องพักของคริสติน ชั้นหนึ่งและสองอพาร์ทเมนต์ที่ผมเช่าอยู่ ชั้นสามเป็นห้องพี่เกษม ชั้นสี่มีสองห้อง ชั้นห้ามีสองห้อง ชั้นบนสุดเป็นอพาร์ทเมนต์สำหรับครอบครัวที่มีลูก 1-2 คน เป็นห้องที่น่ารักมาก มีห้องน้ำ ห้องครัวในตัว ห้องนอนยกสูงต้องขึ้นบันไดเล็กๆขึ้นไปนอน อพาร์ทเมนต์ที่ผมอยู่มีสองห้องนอน ห้องเล็กมีห้องอาบน้ำ ห้องใหญ่ติดกับครัวและห้องนั่งเล่น มีตู้ โต๊ะ เตียง โซฟา ชุดรับแขก ห้องน้ำแยกจากห้องอาบน้ำอยู่นอกห้องนอน มีทีวีให้ มีอินเตอร์เน็ตแบบใช้สาย อุปกรณ์ทำครัวครบครัน สามารถจัดงานเลี้ยงได้สบายๆ มีฮีตเตอร์ เตาแก๊ส เตาไมโครเวฟและเตาอบ ก๊อกน้ำมีทั้งน้ำร้อนและน้ำเย็น สามารถดื่มน้ำจากก๊อกได้เลย เป็นระบบประปาดื่มได้ มีจักรยานให้ใช้ 2 คัน ค่าเช่าก็เกินครึ่งของเงินทุนที่ผมได้รับ แต่ก็ถูกกว่าห้องเช่าที่ผมได้เดินสำรวจเมื่อตอนแรกมา แต่บ้านจะให้เช่าเฉพาะนักศึกษาITM โดยมีแพริเชียเป็นคนจัดการ 

                  มีการทำสัญญาเช่าอย่างเป็นทางการ สัญญาเช่านี้เป็นเอกสารสำคัญในการขอบัตรอยู่อาศัยชั่วคราวด้วย ไม่ต้องวางมัดจำและทำหนังสือให้ธนาคารหักจ่ายทางบัญชีทุกต้นเดือน นักศึกษาทุกคนเปิดบัญชีกับธนาคารฟอร์ติส (ฝากเงินต้องฝากกับเจ้าหน้าที่ ส่วนถอนเงินถอนจากตู้เอทีเอ็ม มีเลขบัญชีให้ แต่ไม่มีสมุดบัญชี ต้องเช็คและพิมพ์ออกจากตู้เอทีเอ็ม แต่ปัญหาคือไม่เรียลไทม์ ฝากหรือถอนถ้าจะเช็คยอดคงเหลือต้องอีกสองวันผ่านไป ยอดจึงจะเปลี่ยนแปลง สู้บ้านเราไม่ได้ ฝากถอนอัตโนมัติปุ๊บเช็คยอดเปลี่ยนแปลงปั๊บเลย) บ้านนี้มีชั้นใต้ดินเป็นที่เก็บของ อุปกรณ์ที่ใช้ในบ้านและมีห้องเก็บสะสมไวน์ของจอร์จด้วย เขาให้ไวน์ผมกับพี่เกษมมาหนึ่งขวด ยังไม่ได้เปิดชิมกันเลย

                   บ้านนี้น่าอยู่มาก เพื่อนๆที่มาที่บ้านจะชอบกันมาก หน้าต่างมองเห็นถนน คนเดินไปมา แต่รถยนต์ไม่ค่อยมากนัก ไม่มีเสียงดัง ห่างจากบ้านสักห้าเมตรมีร้านสะดวกซื้อกับร้านเสริมสวย ร้านซักผ้า ร้านขนมหวาน ร้านขายพิซซ่า ร้านโทรศัพท์อยู่ไม่ไกล ห่างจากสถาบันที่เรียนไม่มากเดินสัก 10 นาที ใกล้ธนาคาร ใกล้ที่ทำการไปรษณีย์ ใกล้จุดจอดรถบัสกับรถราง ใกล้ร้านอัลดี้ที่เป็นห้างสรรสินค้าราคาถูก ใกล้ตลาดนัดวันเสาร์ มีโรงเรียนนานาชาติห่างไปสักสิบห้าเมตร ห่างจากโกรตมาร์เก็ตประมาณ 20 นาที ห่างจากไชน่าทาวน์กับสถานีรถไฟประมาณ 30 นาทีด้วยการเดิน ห่างจากสนามเด็กเล่นสัก 10 นาทีและจากริมฝั่งแม่น้ำสเกลด์ 15 นาทีด้วยการเดิน ก็ถือว่าสะดวกมากสำหรับการอยู่อาศัย ผมรู้สึกว่าเริ่มผูกพันกับบ้านหลังนี้แล้ว

                  คืนนี้มองออกไปนอกหน้าต่างบ้านพัก เห็นดวงจันทร์กลมโตสวย เกือบเต็มดวงแล้ว วันเพ็ญเดือนสิบสอง เทศกาลลอยกระทง บ้านเราคงสนุกสนาน รื่นเริง ประดับประดาไปด้วยความสวยงาม เข้ากับบทเพลงที่ว่า “มองดูดวงดาวก็เป็นดาวดวงเดียวกัน มองดูดวงจันทร์ก็เหมือนจันทร์ที่บ้านเรา คืนนี้ฉันเหงา คิดถึงบ้าน” ผมเข้าใจได้เลยว่า ทำไมสุนทรภู่จึงแต่งกลอนได้ซึ้งกินใจเมื่อเดินทางไปไกลๆ สามารถแต่งนิราศได้เป็นเรื่องๆ ก็เพราะเจ้าความเหงา ความคิดถึงนี่เอง ที่ไปกระตุ้นศักยภาพของสมองซีกขวาให้ทำงานมากขึ้น ผมขอจบบันทึกนี้ด้วยบทกลอนในชื่อ “รักเอย รักเอ้” ครับ

"ค่ำคืนเหงา เดียวดาย ในห้องน้อย        เฝ้ารอคอย กลอยใจ ใฝ่ฝันหา

ห่างไกลกัน วันผ่าน เนิ่นนานมา           รอเวลา เจ้ามาอยู่ เคียงคู่กัน

พี่อดทน จนใจ ให้คิดถึง                    พี่รำพึง ถึงเจ้า เฝ้าแต่ฝัน

พี่พร่ำบอก ตัวเอง อยู่ทุกวัน               พี่นอนฝัน กอดเจ้า เฝ้าเคล้าคลอ

อยากเร่งวัน เวลา พาเจ้าใกล้              อยากจะให้ เจ้ามาคู่ อยู่ร่วมหอ

บ้านเช่านี้ พี่เตรียมไว้ ให้ได้พอ            อดใจรอ อีกไม่นาน ฝันเป็นจริง"

พิเชฐ  บัญญัติ

Verbondstraat 522000 Antwerp, Belgium

23 พฤศจิกายน 2550 เวลา 20.00 น. ( 02.00 น.เมืองไทย )

หมายเลขบันทึก: 148782เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2007 02:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

Happy Loy Krathong Day 2007,

"ต้นกำเนิดกระทงสาย แข่งเรือพายโบราณ"

ร่วมแสดงความยินดีกับชาวโรงพยาบาลบ้านตากที่ได้เข้าร่วมประเพณีลอยกระทงบ้านตาก กับรางวัลอันดับ 3 กระทงประดิษฐ์

และกับรางวัลขวัญใจประชาชน ของน้องหนู นักกายภาพบำบัดโรงพยาบาลบ้านตาก หัวหน้าพี่เลี้ยงนางงามอย่างป้อมกับทีมกองเชียร์จากกายภาพ แล็บ เอ๊กซ์เรย์ คงหายเหนื่อยกันแล้วนะครับ

ความสำเร็จที่สำคัญของชาวโรงพยาบาลบ้านตากที่เราเข้าร่วมกิจกรรมประเพณีลอยกระทงอำเภอบ้านตากมาทุกปีคือการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของชุมชน เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน

เสียดายปีนี้ไม่ได้ไปร่วมขบวนตีกลองยาว นำขบวนแห่กระทงด้วย

แล้วผลการแข่งเรือพายโบราณ เป็นยังไงบ้างครับ มีฝีพายครบพอลงแข่งหรือเปล่า 

สวัสดีค่ะ...คิดว่าเนื้อเพลง ๆ นี้จะเข้ากับเนื้อหาที่เขียนในตอนนี้...ถ้าอยากฟังเสียงร้องลองเปิดในmailนะคะ

                           " Home "

    ดอกไม้ ประตู แจกัน ดินทรายต้นไม้ใหญ่..
แก้วน้ำ จานชาม บันได โคมไฟที่สวย..งาม
ขอบรั้วและริมทางเดิน ต้นหญ้าอยู่ในสนาม
บ้านนี้จะมีความงามได้ถ้ามีเธอ...  
เพราะเธอคือที่พักพิง..คือทุกสิ่งที่มีความหมาย
เมื่อเธออยู่..เคียงชิดใกล้ เรื่องร้ายใดๆ ไม่เกรง
แม้ข้างนอกจะต้องเจอะกับเรื่องราวที่ใครข่มเหง..
แต่ฉันเอง..ไม่คิด..กลัว..
จากพื้นดินชนเพดานนั้นมีความหวานอยู่..
เพราะรู้ว่าฉันมีเธอคอยเป็นที่พักใจ..
จะรอคอยฉันจริง ๆ เป็นหลักพึ่งพิงสุดท้าย
จะล้มตัวลงเอนกายที่บ้านของฉัน
ไม่ว่าวันเวลาจะเปลี่ยนหมุนเวียนไปเท่าไร
ฉันยังคงมีแต่เธอเป็นความหวังและความเข้าใจ
พร้อมจะเก็บทุกสิ่ง..ทิ้งความสุข..ทุกอย่าง...
และจะทำทุกทาง...เพื่อบ้าน...หลังนี้....
ดอกไม้ ประตู แจกัน ดินทราย ต้นไม้..ใหญ่
แก้วน้ำ จานชาม บันได โคมไฟที่สวย...งาม
ขอบรั้วและริมทางเดิน..ก็ล้วนแต่มีคำถาม..
บ้านนี้จะงามอย่างไร..ถ้าไม่มีเธอ...
ก็เพราะว่าใจของเธอคือ "บ้าน...ของฉัน"

เพลงนี้ให้ความหมายและความรุ้สึกที่ดีมาก ลองฟังได้ที่นี่ครับ http://www.icygang.com/jukebox/listen.php?id=2776 และก็เพลงฮิตในเทศกาลนี้ครับ เพลงลอยกระทง ฟังได้ที่ http://www.loikrathong.net/en/download.php ครับ

Loikrathong's lyrics
November full moon shines,
Loi Krathong, Loi Krathong,
and the water's high
in the river and local klong,

Loi Loi Krathong,
Loi Loi Krathong,
Loi Krathong is here and everybody's full of cheer,

We're together at the klong,
We're together at the klong,

Each one with this krathong,
As we push away we pray,
We can see a better day.

สวัสดีครับพี่พิเชษฐ์ แวะมานครับผม

คุณหมอช่วยพวกเราชาวโรงพยาบาลโพนนาแก้วด้วย เรากำลังถูกคุกคาม  เหตุการณ์มีดังนี้คะ

เหตุเกิดวันอังคารที่ 20 พ.ย.50 ณ บริเวณหน้าร้านค้าสหกรณ์ รพ.โพนนาแก้ว  เวลาประมาณ 12.45 น.  ขณะที่พยาบาลวิชาชีพ 7 กำลังปฏิบัติหน้าที่พิเศษเข้าเวรจำหน่ายสินค้าในร้านค้าสวัสดิการ  สหกรณ์ รพ.โพนนาแก้ว มีลูกค้ากำลังใช้บริการและพูดคุย สนุกสนาน เสียงดังพอสมควร   ภรรยา ผอ.รพ.โพนนาแก้ว  ขึ้นมาต่อว่า  และมีการต่อเถียงกัน  กลายเป็นการวิวาท   ภรรยา ผอ.บรรลุโทษะ ใช้มือตบหน้าพยาบาลวิชาชีพ 7    1  ครั้ง และมีการใช้กำลังโต้ตอบกัน    ทันตแพทย์ที่อยู่ใกล้เหตุการณ์ได้เข้ามาแยก  และห้ามปราม  และให้แยกย้ายกันไป  หลังจากนั้นภรรยา ผอ.รพ.กลับไปเอาปืนที่รถยนต์ที่จอดบริเวณใกล้เคียง  มาจ่อขู่จะยิงพยาบาลวิชาชีพ 7 คู่กรณีจากด้านหลัง    พยาบาลหัวหน้างานผู้ป่วยนอกและพยาบาลหัวหน้างานจิตเวชเห็นเหตุการณ์  จึงเข้ามาห้ามปรามและแยกตัวภรรยา ผอ.รพ. ออกไป  จากเหตุการณ์ครั้งนี้  นับเป็นเหตุการณ์ที่ชาวโพนนาแก้วยอมรับให้เกิดขึ้นไม่ได้จึงได้รวบรวมตัวกัน 64 คน เข้าร้องทุกข์ต่อ นพ.สสจ.สน. เพื่ขอให้ ผอ.รพ.โพนนาแก้วพร้อมภรรยา นอกนอกพื้นที่อำเภอโพนนาแก้ว  จังหวัดสกลนครภายใน 24 ชั่วโมง  และขอให้มีตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย        ดิฉันขอวิงวอนให้แพทยสภาและสภาการพยาบาลรวมถึงองค์กรสิทธิมนุษยชนได้ให้ความช่วยเหลือ  และให้ความเป็นธรรมแก่ผู้เกี่ยวข้องด้วย  รายละเอียดข่าวอ่านได้ใน หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 25 พ.ย.50  หน้า 15

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท