80 ปี ท่านประธาน Greenspan 2 ส่วน 500 หน้า


ผมว่าคงมีน้อยคนที่จะไม่รู้จัก อลัน กรีนสแปน (Alan Greenspan) อดีตผู้ว่าการแบงค์ชาติของสหรัฐอเมริกา ในเมื่อท่านประธานนั้นเคยเป็นบุคคลที่ถือว่าทรงอิทธิพลคนหนึ่งของแวดวงเศรษฐกิจโลก ดังนั้นคงไม่น่าแปลกใจใช่ไหมครับที่หนังสือที่ชื่อเรื่องว่า The age of turbulence ของคุณปู่เขาจะขายได้ดิบได้ดีตั้งแต่ออก

หนังสือเล่มนี้แบ่งได้เป็นสองส่วนหลักๆครับ

ส่วนแรกว่าด้วยเรื่องอัตชีวประวัติของคุณปู่กรีนสแปนล้วนๆ ซึ่งอ่านแล้วดูจะน่าเบื่อหน่อยๆ โดยเฉพาะสำหรับคนที่อาจจะไม่รู้เรื่องการเมืองอเมริกามากอย่างผม แต่ก็ใช่ว่าอ่านแล้วจะไร้อรรถรสเสียทีเดียว เพราะว่าเรื่องราวของคุณปู่กรีนสแปนเองก็น่าติดตามพอสมควร

 เมื่อคุณปู่กรีนสแปนตัวเอกของหนังสือนั้น ใช้ชีวิตในวัยเด็กด้วยการอยู่กับแม่คนเดียว แถมวัยรุ่นก็เป็นนักดนตรี big band ด้วยการเล่น saxophone กับ clarinet ที่ตระเวณโชว์ไปเรื่อยเลยนะครับ ซึ่งก็อาจจะหน้าแปลกใจว่าทำไมอยู่ๆถึงเกิดมาเป็นประธานเฟดได้

คำตอบก็คือคุณปู่กรีนสแปนเขาชอบเศรษฐกิจมาตั้งนานแล้วครับ การเล่นดนตรีนั้นก็แค่ทำให้ตัวเองนั้นใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ แล้วก็หนีออกจากนิวยอร์กซิตี้ ก่อนเรียนต่อมหาวิทยาลัยเท่านั้นเอง

แล้วทำไมอยู่ๆได้มาทำงานในเฟด กรีนสแปนเข้ามาทำงานในเฟดได้นั้น กรีนสแปนนั้นเคยทำงานเป็นพาร์ทเนอร์ของบริษัท Townsend and Greenspan มาก่อน ซึ่งหน้าที่หลักของกรีนสแปนก็คือการคาดการณ์ทางเศรษฐศาสตร์และวงจรเศรษฐกิจให้กับบริษัทต่างๆ จากข้อมูลการบริโภค inventory ซึ่งคุณกรีนสแปนก็บอกอย่างไม่อายว่า ที่เขาคาดการณ์เนี่ยมันถูกมากกว่าผิดซะส่วนมาก (ก็คงงั้นแหละครับ ไม่งั้นใครจะให้เข้ามาเป็นประธานเฟด)

แต่ก็ใช่ว่าคุณปู่กรีนสแปนนั้นจะไม่ได้มีสายสัมพันธ์กับทำเนียบขาวซะเลย เพราะก่อนที่คุณกรีนสแปนจะมาเป็นประธานเฟดในสมัยประธานาธิบดีเรแกนนั้น คุณกรีนสแปนนั้นเคยทำงานกับพรรครีพับลิกัน ในสมัยประธานาธิบดีฟอร์ดมาก่อน

สำหรับผมแล้ว ผมว่าถ้าใครต้องการอ่านหนังสือเล่มนี้เพื่อเรียนรู้ว่า กรีนสแปนนั้นจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจอย่างไร อาจจต้องผิดหวังซักเล็กน้อย เพราะว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ได้ให้รายละเอียดกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจถึงขนาดนั้น นอกจากจะเล่าถึงว่ากรีนสแปนและเฟดนั้นจัดการกับปัญหาต่างๆอย่างไร 

แต่ผมว่าหนังสือเล่มนี้นั้นน่าสนใจมากในส่วนที่สองของหนังสือครับ ซึ่งส่วนที่สองของหนังสือนั้นว่าด้วยความคิดของกรีนสแปนต่อตลาดเสรี และโลกาภิวัฒน์ล้วนๆ อีกอย่างความรื่นไหลของหนังสือ (flow) ในส่วนนี้ (จริงๆก็หนังสือทั้งเล่มแหละครับ) ทำได้ดีมากๆเลยด้วย เมื่อคุณปู่นั้นเริ่มจากการกล่างถึง economic concept ของนักปรัชญาด้านเศรษฐศาสตร์อย่าง Adam Smith, Karl Marx แถมมีการพูดถึงแนวคิดเศรษฐศาสตร์แบบ Fabian ซึ่งก็คือแนวคิดแบบสังคมนิยมด้วย

กรีนสแปนนั้นเชื่อในระบบตลาดเสรีอย่างมากครับ โดยเฉพาะนิยามของคำว่า "creative destruction" หรือการทำลายอย่างสร้างสรรค์ แต่ในขณะเดียวกัน คุณปู่เองก็ค่อนข้างตระหนักถึงปัญหาของตลาดเสรีเหมือนกันเมื่อคุณปู่ไปฮันนีมูนที่เวนิซ แล้วรู้สึกว่าในโลกนี้นั้นเสมือนจะไม่มีจุดกลางระหว่างตลาดเสรีกับเมืองที่หยุดหมุนอย่างเวนิซ จะว่าไปผมว่านี่ก็คงเป็นอะไรที่เราๆท่านๆนั้นสงสัยเหมือนกันว่ามันจะมีจุดกลางระหว่างการพัฒนาแบบ creative destruction กับการรักษารากเหง้าทางขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามหรือเปล่า แต่โดยส่วนตัวนะครับ ผมไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องของตลาดเสรีเท่าไร ผมคิดว่ามันเรื่องของการศึกษานะครับ มันเป็นเรื่องโลกเสรีทางความคิดครับ

ด้วยความที่อลัน กรีนสแปนนั้นเป็นสาวกตัวเอ้ของ Adam Smith ที่เชื่อว่าตลาดเสรีนั้นเป็นแนวทางหลักในการพัฒนา และยกระดับความเป็นอยู่ของคน (ซึ่งแนวทางนี้นั้นดูเหมือนจะเป็นแนวทางหลักสายหนึ่ง สำหรับการต่อสู้กับความยากจน) กรีนสแปนนั้นยกตัวอย่างให้ฟังถึงเมืองจีนในยุคก่อนเติ้งกับหลังเติ้งครับ ว่าเมื่อเติ้งนั้น พอยอมให้ตลาดมีผลในการกำหนดราคา ยอมให้คนนั้น สามารถขายผลผลิตที่ผลิตได้เกินกว่าที่รัฐบาลต้องการได้นั้น ทำให้คนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นอกจากนี้ก็พูดถึงประเทศหลายๆประเทศในเอเชียว่า จุดของความเจริญก็เริ่มจากการค้าเสรีเหมือนกัน

แต่กรีนสแปนนั้นเชื่อว่า ตลาดเสรีนั้นมาพร้อมกับเสรีทางความคิดของประชาชน ดังนั้นกรีนสแปนนั้นเชื่อว่าจีนนั้นอาจจะมีปัญหาด้านเศรษฐกิจก็ได้ เพราะเราไม่รู้ว่ารัฐบาลจีนนั้นจะยอมให้คนมีเสรีภาพทางความคิดได้ขนาดไหน และอีกอย่างที่คุณกรีนสแปนนั้นเห็นว่าสำคัญมากที่สุด ก็คือเรื่องของกฏหมายที่คุ้มครองทรัพย์สิน พื้นที่ ซึ่งคอมมิวนิสต์นั้นไม่มีตรงนี้ (และคุณกรีนสแปนเองนั้นเชื่อว่า กฏหมายคุ้มครองนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดของตลาดเสรี)

ผมไม่แน่ใจว่ากรีนสแปนนั้นเข้าใจถึงคนจีนได้ดีขนาดไหน ผมไม่กล้าตอบว่าเมืองจีนตอนนี้ อาจจะไม่ได้แตกต่างกับสิงคโปร์มาก ในแง่ของการแสดงออกทางการเมือง ถ้าคนจีนสนใจแต่เซ็งลี้ เรื่องที่คุณกรีนสแปนกังวลอาจจะไม่เกิดก็ได้

กรีนสแปนเองนั้นได้พูดถึงเรื่องประชานิยมไว้ด้วยว่าเป็นสาเหตุหลักของความล่มสลายทางเศรษฐกิจของประเทศทางแถบละตินอเมริกา และมองว่าเศรษฐกิจแนวสังคมนิยมจ๋านั้นอาจจะไม่ได้เป็นแนวทางที่สามารถพัฒนาประเทศไปได้ไกลมากนัก (ก็ไม่แปลกนะครับ เพราะว่าอังกฤษ และประเทศในยุโรป เองก็ปวดหัวกับการจัดสวัสดิการเหล่านี้เป็นอย่างมากเหมือนกัน ก็ในเมื่อสวัสดิการนั้นมีแต่แพงขึ้นๆๆๆๆ แต่เงินกับลดลงๆๆๆ)

แต่พอถึงตรงนี้แล้ว หลายคนอาจจะสงสัยเหมือนกับผมว่า คำว่าประชานิยมกับสังคมนิยมนั้นมันต่างกันยังไง (อ้าวก็ประชาชนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนิยมเหมือนกันนี่ครับ)

กรีนสแปนเองก็ไม่ได้ตอบตรงๆนะครับ แต่เท่าที่ผมอ่านแล้วจับใจความได้ ผมว่าความแตกต่างที่สำคัญที่สุดของสองคำนี้ ก็คือ ประชานิยม นั้น คือการสัญญากับประชาชน แต่ไม่มีหลักเกณฑ์และหลักการแน่ชัดในการหาเงินมาใช้ ซึ่งตรงนี้แหละที่ต่างจากสังคมนิยม

ผมค่อนข้างผิดหวังในหนังสือเล่มนี้ที่กรีนสแปนนั้นไม่ได้พูดถึงเรื่องวิกฤติ dot com ซักเท่าไร รวมไปถึงเรื่อง hedge fund ด้วย เหตุผลที่ผมผิดหวังเพราะว่า ในหนังสือเรื่อง When genius fails ของ Lowenstein นั้นบอกว่า ความล่มสลายของ hedge fund นั้นเป็นความผิดของกรีนสแปนที่ไม่ยอมออกกฏควบคุม จนมันสายเกินไป

ถ้ามีใครมีโอกาสอ่านหนังสือของ Lowenstein นั้น จะพบว่า hedge fund นั้นเป็นการหาช่องว่างทางกำไรของส่วนต่างของหลักทรัพย์ แล้วใช้หลัก leverage ทำให้ได้กำไรมากขึ้น Lowenstein พูดถึง LTCM ว่า โดยปกติแล้ว ช่องว่างของส่วนต่างนั้น มันต่ำมาก ไม่ถึง 1% ด้วยซ้ำ แต่ถ้าคุณ leverage ด้วย แล้วลงทุนในส่วนต่างด้วยเงินพันล้าน แค่ 1% ก็ทำให้คุณเปรมได้แล้วนะครับ ฟังดูมันก็ไม่ได้เหมือนเก่งใช่ไหมครับ ก็ในเมื่อมันเล่น leverage นี่หว่า แต่เครดิตของ LTCM ก็คือการเป็นผู้นำตลาดครับ  คือเป็นเจ้าแรกที่ทำแบบนี้ พอตอนหลังคนอื่นทำบ้าง LTCM (ซึ่งมีพาร์ทเนอร์ถึงสองคนเป็นนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล) กลับลงทุนแบบเสี่ยงๆ แล้วเพราะว่ารัสเซียชักดาบ ก็เลยเจ๊งกะบ๊ง อย่างที่เห็น

แต่ในหนังสือเล่มนี้นั้นกรีนสแปนกับบอกว่า derivatives ที่ hedge fund นั้นใช้หาประโยชน์และทำกำไรนั้นจำเป็นต้องมี และไม่จำเป็นที่จะต้องออกกฏควบคุมอะไร เพราะว่า มันจะทำให้ตลาดมันไม่มีประสิทธิภาพ (ผมไม่แน่ใจว่าคำว่า ประสิทธิภาพทางการตลาดกับทางเศรษฐศาสตร์เหมือนกันหรือเปล่านะครับ) ที่มันไม่มีประสิทธิภาพนั้นเพราะว่าเงินทุนนั้นจะลดลงครับ เพราะ derivatives นั้นถือเป็น insurance และส่วนที่สำคัญอันหนึ่งของ risk management

แต่กรีนสแปนนั้นไม่ได้มองถึง derivatives ที่เราๆท่านๆรู้จักแค่ future, forward, options, interest rate swaps นะครับ

กรีนสแปนนั้นบอกว่า derivatives ยุคใหม่ของตลาดคือ Credit Fault Swaps (CDS) หลักการของ CDS ก็เหมือนประกันแหละครับ คือจะจ่ายค่าเสียหาย ก็ต่อเมื่อลูกค้าของผู้ซื้อสัญญานั้นชักดาบซะดื้อๆ และการที่ CDS นั้นทำงานเหมือน insurance นี่แหละครับ ที่อาจจะทำให้ตลาดนั้นสามารถดูดซับความเสี่ยงได้ และทำให้การเจ๊งกะบ๊งของบริษัทบางบริษัทไม่ส่งผลเสียหายต่อตลาดโดยรวมได้

อ่านมาถึงตรงนี้ อาจจะมีคนตั้งคำถามว่า กรีนสแปนนั้นเก่งจริงหรือมั่วนิ่ม ผมคงตอบคำถามนี้ไม่ได้ครับ แต่ถ้ากรีนสแปนไม่เก่งจริง เขาจะโลดแล่นอยู่ในตำแหน่งประธานเฟดได้นานนับสิบปีเลยหรือครับ  

คำสำคัญ (Tags): #alan greenspan#หนังสือ
หมายเลขบันทึก: 147701เขียนเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2007 18:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 16:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ไปอ่านหนังสือ....

 เข้ามาเยี่ยม....

หายไปนาน....

น่าจะมีเรื่องเล่าชุดใหม่ๆ อีกครั้ง....

เจริญพร 

สวัสดีค่ะ

 ดีใจมาก ๆ ที่เห็นบันทึกนะค่ะ  หายไปนานมากๆๆเลยค่ะ ทำให้แฟนๆๆรออ่านอยู่นะค่ะ เห็นปุ๊บเข้าปั๊บเลยค่ะ

อย่างน้อยพี่ก็คงเป็นหนึ่งในคนที่ติดตามข่าวของนายอลัน กรีนสแปน เหมือนกันค่ะ

อ่านแล้วโดนต้องย่อหน้านี้ค่ะ

กรีนสแปนนั้นเชื่อในระบบตลาดเสรีอย่างมากครับ โดยเฉพาะนิยามของคำว่า "creative destruction" หรือการทำลายอย่างสร้างสรรค์ แต่ในขณะเดียวกัน คุณปู่เองก็ค่อนข้างตระหนักถึงปัญหาของตลาดเสรีเหมือนกันเมื่อคุณปู่ไปฮันนีมูนที่เวนิซ แล้วรู้สึกว่าในโลกนี้นั้นเสมือนจะไม่มีจุดกลางระหว่างตลาดเสรีกับเมืองที่หยุดหมุนอย่างเวนิซ จะว่าไปผมว่านี่ก็คงเป็นอะไรที่เราๆท่านๆนั้นสงสัยเหมือนกันว่ามันจะมีจุดกลางระหว่างการพัฒนาแบบ creative destruction กับการรักษารากเหง้าทางขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามหรือเปล่า แต่โดยส่วนตัวนะครับ ผมไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องของตลาดเสรีเท่าไร ผมคิดว่ามันเรื่องของการศึกษานะครับ มันเป็นเรื่องโลกเสรีทางความคิดครับ

ปัญหาทางเศรษฐกิจของจีนค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นค่ะ  แต่พี่ว่าเขาก็มองแนวทางแก้ปัญหาไว้หลายประเด็นเหมือนกันเพราะถ้าปัญหาจีนเกิดเมื่อไร กระทบหลายประเทศ โดยเฉพาะเอเซีย กระทบก่อนและสามารถลุกลามไปทั่วโลกได้ (จริง ๆ ตอนนี้ก็เริ่มมีบ้างแต่ควบคุมได้นะค่ะ)

 derivatives ที่เป็นตลาดยุคใหม่อนาคตอย่างนี้นี่เอง เพราะสามารถประกันความเสี่ยงได้  

ขอบคุณมาก ๆ ที่มาสรุปข้อมูลให้ฟัง

สวัสดีค่ะน้อง"ไปอ่านหนังสือ"

ไม่มีความเห็นเกี่ยวกับคุณปู่กรีนสแปนค่ะ

แต่เห็นบันทึกก็รีบเข้ามาเยี่ยมก่อนเลย เพราะเห็นหายไปนานค่ะ ^ ^

มีคนคิดถึงเยอะนะคะ ^ ^ 

  • ยินดีต้อนรับกลับมาครับ
  • ...หายไปซะน๊าน..นาน...
  • คิดถึงๆๆๆๆ
  • หายไปนานมากๆๆๆ
  • นึกว่าถูกสาวๆฉุดไปเสียแล้ว
  • ฮ่าๆๆ

กราบนมัสการพระคุณเจ้าและขอสวัสดีทุกๆคนครับ

ต้องขอโทษด้วยจริงๆครับที่หายหน้าหายตาไปนาน เนื่องจากช่วงที่ผ่านมานั้นวุ่นมากๆครับ ตอนนี้วุ่นน้อยลงครับ เพราะงานนั้นส่งให้อาจารย์ไปแล้ว เหลือแต่เตรียมตัว defense ครับ ช่วงที่ผ่านมาก็เลยไม่ค่อยได้มีเวลาอ่านหนังสือเท่าไรครับ (ก็เลยมุกแป้กไม่มีอะไรจะเขียนครับ)

จริงๆแล้วในหนังสือเล่มนี้นั้น ถ้าใครมีโอกาสได้อ่านจะพบว่า Greenspan นั้นได้พูดถึงความท้าทายทางเศรษฐกิจหลายเรื่องมากๆครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพลังงาน เรื่องของการศึกษา เรื่องของระบบ pension fund เรื่องของธรรมาภิบาล

ผมค่อนข้างชอบที่ Greenspan นั้นบอกว่า การค้าเสรีนั้นจะมั่นคงอยู่ได้ก็ต่อเมื่อคนส่วนมากนั้นสนับสนุนระบบนี้ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจอะไรใช่ไหมครับ ในเมื่อรัฐบาลผู้ซึ่งกำหนดนโยบาย (จะเสรีหรือไม่เสรี จะกีดกันหรือไม่กีดกัน) นั้นมาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชากรชาติ เพียงแต่ว่าการค้าเสรีนั้นจะสามารถชักจูงคนในชาติให้เห็นถึงความสำคัญขนาดไหน

ผมว่านี่แหละครับคือจุดที่ทำให้เราต้องหันมามองว่ารัฐบาลไทยนั้นเตรียมความพร้อมให้คนไทยหรือยัง

ผมไม่ได้มองว่าการค้าเสรีเป็นอันตรายหรอกนะครับ เพราะว่าการค้าเสรีนี่แหละที่ทำให้เราๆท่านๆยกระดับคุณภาพชีวิตมาได้ถึงตอนนี้ เพียงแต่ว่าเราต้องมีความสามารถที่จะปรับตัวของเราให้แข่งขันกับชาวบ้านให้ได้ตลอดเวลา

เพราะในทางธุรกิจ แค่หยุดก็ถอยหลังแล้วใช่ไหมครับ :D

กราบขอบพระคุณครับสำหรับความคิดถึง เห็นแล้วรู้สึกอบอุ่นมากเลยครับ

ต้น

 

 

 

เข้ามาเยี่ยมเยียนนะครับ หายไปนานเลย
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท