การเดินทางไปยังเกาหลีใต้ทั้งไปและกลับ บริษัทนำเที่ยวที่พาพวกเราไปยังแดนกิมจินั้น คือ สายการบินแห่งชาติเกาหลีนั่นเองครับ นั่นคือ “Korean Air” ผมเรียกชื่อเล่นว่าสายการบินสีฟ้า เพราะทาสีตัวเครื่องเป็นสีฟ้าทั้งลำ อันนี้ผมไม่ทราบหรอกครับว่าสีฟ้ามีนัยยะสำคัญอย่างไรต่อชาวเกาหลีใต้ แต่ผมสันนิษฐานว่าคงเป็นเพราะแทนสีท้องฟ้ามั่งครับ (อันนี้ไม่ยืนยันนะครับ ใครมีข้อมูลบอกด้วยล่ะกันครับ จะได้เข้าใจชาวเกาหลีมากขึ้น)
หลังจากเราผ่านพิธีการตรวจคนออกนอกเมือง หรือ ตม. ที่สนามบินสุวรรณภูมิกันเสร็จแล้ว ก็เข้าสู่การเดินทางเข้าไปยังประตูทางออก หรือ Gate ที่จะเดินเข้าไปยังเครื่องบิน เที่ยวบินนี้ค่อนข้างออกเดินทางดึกสักหน่อยครับ นั่นคือ 01.30 น.ของบ้านเรา คาดว่าจะไปถึงเกาหลีก็ใช้เวลาราว 5 ชั่วโมง เรียกว่าไปสว่างที่เกาหลีเวลาประมาณ 08.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งที่เกาหลีเร็วกว่าเมืองไทยเรา 2 ชั่วโมง
(ภาพจาก www.koreanair.com)
ระหว่างที่นั่งรอเพื่อขึ้นเครื่อง ก็มีเที่ยวบินจากเกาหลีลงมาให้เราชมกันก่อนเป็นออร์เดิร์บ ว่าชาวเกาหลีแท้ๆ เป็นอย่างไร เนื่องจากเที่ยวบินนี้ ผู้โดยสารค่อนข้างเยอะ ผมสังเกตเห็นผู้โดยสารขาเข้าที่เป็นชาวเกาหลีใต้ ส่วนใหญ่เดินเกี่ยวแขนกันมาเป็นคู่ๆ หนุ่มสาว และมักใส่เสื้อผ้าสีเหมือนกัน ก็เลยไม่แน่ใจว่าเกาหลีใต้นิยมเดินทางมาฮันนี่มูนที่ประเทศไทยกันหรือไม่
“สงสัยมาฮันนี่มูน” เพื่อนร่วมทางกระซิบ
ผมก็พยักหน้าเห็นด้วย เพราะดูแล้วคงตีความหมายไปอย่างอื่นไม่ได้ ชวนให้ผมนึกเล่นๆ ว่า ความรักของชาวเกาหลีนี่มันช่างโรแมนติกเสียนี่กระไร เพราะผมเองก็ยังไม่เคยเห็นพี่น้องชาวไทยเราใส่ชุดอะไรๆ ที่เหมือนกันกับคนรักที่เพิ่งแต่งงานกันใหม่ๆ สักเท่าไหร่ และแอบคิดต่อว่าออกจะเหมือนกับละครเกาหลีที่ได้ชมทางช่อง 7 เลย
เมื่อถึงเวลาขึ้นเครื่องก็หายง่วงเลยครับ เพราะพนักงานต้อนรับ หรือ แอร์โฮสเตส บน Korean Air นี่ นอกจากจะเป็นชาวเกาหลีใต้แล้ว ยังมีพนักงานต้อนรับชาวไทยด้วยครับ ก็เลยถือโอกาสว่าระหว่างแอร์โฮสเตสชาวไทยกับชาวเกาหลีใต้ ประเทศไทยสวยกว่ากัน
“คนไทยสวยกว่า” ผมกระซิบบอกคนข้างๆ เพื่อนก็ดูจะพยักหน้าเห็นด้วยกับความคิดผม
ผมสังเกตว่าสัญลักษณ์ของสายการบิน Korean Air ตัวอักษรภาษาอังกฤษ ตัวโอ นี่ทำเป็นสัญลักษณ์ “หยิน-หยาง” ชวนให้นึกย้อนไปถึงตอนปี 1 สมัยเรียนวิชาปรัชญาเบื้องต้นในมหาวิทยาลัย อาจารย์เคยบอกว่าปรัชญาในการดำเนินของชาวเกาหลีดูได้จากสัญลักษณ์หยิน-หยางด้วย ที่หมายถึง ความสมดุล และการเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง ซึ่งได้รับอิทธิพลจากจีน ที่ลัทธิขงจื้อได้แพร่เข้ามา ทำให้มีความเชื่อเดียวกัน รวมถึงการได้รับอิทธิพลในช่วงที่การที่เกาหลีเคยถูกปกครองโดยจีนนับร้อยปีด้วย
จึงไม่แปลกที่สัญลักษณ์ในอุปกรณ์ต่างๆ ที่แจกให้ผู้โดยสารจะมีรูปหยิน-หยาง ติดอยู่ด้วย ที่สำคัญสโลแกนการท่องเที่ยวของเกาหลีใต้ก็ใช้คำว่า “Dynamic Korea” ด้วย จึงไม่แน่ใจว่าได้รับอิทธิพลจากสัญลักษณ์หยิน-หยางด้วยหรือไม่ ที่สำคัญสัญลักษณ์หยิน-หยางนี้ ปรากฏเด่นอยู่ในผืนธงชาติเกาหลีใต้ด้วยครับ ซึ่งจะพิจารณาในธงชาติเกาหลีใต้ เราคงเข้าใจมากขึ้นครับ
สัญลักษณ์หยิน-หยางที่อยู่บนธงชาติเกาหลีใต้ จะแบ่งเป็น 2 สี คือ เป็นสัญลักษณ์โบราณที่ใช้แทนจักรวาล หรือ เป็นตัวแทนพลังของจักรวาลที่ยิ่งใหญ่ตรงกันข้าม แสดงถึงความสมดุลและกลมกลืนประสานสอดคล้องอย่างสมบูรณ์ เช่น นำกับไฟ กลางวันกับกลางคืน มืดกับสว่าง สร้างสรรค์กับทำลาย ชายกับหญิง รุกกับรับ ร้อนกับเย็น บวกกับลบ เป็นต้นเมื่อรวมกันทั้ง 2 จะหมายถึง การเคลื่อนไหว (Movement) ความสมดุล (Balance) และการสอดประสานปรองดอง (Harmony) ส่วนสัญลักษณ์บนธงชาติ อีก 4 อันจะอยู่รอบสัญลักษณ์หยินหยาง เป็นภาพสี่เหลี่ยมผืนผ้า 3 แท่งเรียงกัน และมีลักษณะที่ต่างกัน คือ มุมบนซ้ายมือแทนสวรรค์ (Heaven) มุมบนขวามือ แทนน้ำ (Water) มุมล่างซ้านมือ แทน ผืนโลก (Earth) และมุมล่างหขวามือ แทนไฟ (Fire) ซึ่งลายเส้นสามขีดที่มุมธงเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความแตกต่างของภาวะตรงข้ามกับความสมดุลของธาตุทั้ง 4 นั่นเอง *
ผมเพิ่งทราบว่าคำว่าธงชาติในภาษาเกาหลีเขาเรียก แทกึกกี (Taegeukgi) (เหมือนบ้านเราที่เรียกธงชาติว่าธงไตรรงค์นั่นเอง) คุ้นๆ ว่าเคยได้ยินว่าคำๆ นี้เป็นชื่อภาพยนตร์เกาหลีใต้เรื่องหนึ่ง ที่พระเอกวอนบินแสดงด้วย เป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับสงคราม และความสัมพันธ์ระหว่างสองพี่น้อง (พอกล่าวถึง 2 พี่น้อง ชาวเกาหลีเขามักจะมีนัยยะว่า เกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ ที่เปรียบเสมือนพี่น้องกัน ซึ่งต้องแยกขาดจากกันเป็น 2 ประเทศ แม้ว่าจะร่วมสายเลือดเดียวกัน ถือเป็นความเจ็บปวดของพี่น้องสายเลือดเดียวกัน คือ เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้)
ย้อนกลับมาบนเครื่องบินนิดหนึ่งครับ ว่าก่อนร่อนลงสู่สนามบิน เขาก็มีอาหารให้รับประทานกันด้วยครับ บนเครื่องนี่แหละที่เราจะได้ลิ้มรสอาหารเกาหลีก่อน โดยเฉพาะกิมจิ ที่เขามีแจกให้รับประทานด้วย เป็นกิมจิหัวผักกาด ที่รสชาติอร่อย เหมือนกับเป็นหนังยาขาย ก่อนที่จะได้ลิ้มรสอาหารเกาหลีแท้ๆ ในแผ่นดินเกาหลี
ทานแล้วก็คิดถึงหัวไชเท้าเค็มที่เมืองไทยครับ (แม้รสชาดและรูปลักษณ์จะต่างกันสักหน่อยก็ตาม)
---------------------------------------------------------------------------
เชิงอรรถ
* http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%98%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B9%83%E0%B8%95%E0%B9%89
เพิ่มเติม
ธงชาติต้นแบบของเกาหลี กล่าวกันว่า ออกแบบโดยช่างหลวงตามพระราชดำริของกษัตริย์โกจง ธงชาติที่กล่าวมานี้ปัจจุบันไม่มีต้นแบบ รู้แต่เพียงว่าธงชาตินี้มีวงกลมแทกึก2สีคือสีแดงและสีนำเงินอยู่ตรงกลางผืนธง ล้อมรอบด้วยสัญลักษณ์3ขีด4รูป มีใช้ขึ้นในวันที่8 มีนาคม พ.ศ. 2326(ค.ศ.1883)สมัยกษัตริย์โกจง(1863-1907) ปีหลังของราชวงศ์โชซอนได้มีพระบรมราชโองการว่าธงชาติผืนนี้มีลักษณะตามที่กล่าวมานั้น จะอย่างไรก็ตาม แบบของธงชาติผืนนี้ก็ยังไม่แน่นอนตราบกระทั่งเมืองเกาหลีเป็นสาธารณรัฐ รูปแบบของธงชาติจึงมีมาตรฐานที่แน่นอน
ไม่มีความเห็น