ให้ความรู้แบบกลุ่มย่อย ที่ชุมพวง


แบบนี้ดีเนาะหมอ แต่ก่อนตอนหมอพูดข้างนอก ฟังหมอไม่ค่อยได้ยิน ได้ยินแต่เสียงเด็กร้อง ตอนนี้อยู่ในห้องกันไม่กี่คน รู้สึกว่าเข้าใจดี

การประชุมวิชาการ "วิวัฒน์ของระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ : สมดุลสร้างกับซ่อมสุขภาพ" ได้เสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อวานนี้ สิ่งดีๆ ที่ได้รู้จากการประชุมครั้งนี้ ก็คือได้เห็นศักยภาพของเจ้าหน้าที่ทุกระดับที่ให้บริการปฐมภูมิ ซึ่งพัฒนาการบริการสุขภาพสำหรับประชาชนกลุ่มต่างๆ ได้อย่างน่าชื่นชม แม้จะต้องทำงานท่ามกลางความขาดแคลนของทรัพยากรทั้งกำลังคน ข้าวของเครื่องใช้ งบประมาณ ฯลฯ ดิฉันคิดว่าสิ่งที่เจ้าหน้าที่เหล่านี้มีอยู่อย่างมากมายคือ "หัวใจ" และ "สมอง" ผลงานที่นำมาบอกเล่า เห็นได้ว่าเขาทำงานด้วยหัวใจ ใช้สมองคิดแก้ปัญหาและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ป่วย ไม่ใช่ความต้องการของตนเองหรือผู้มีอำนาจสั่งการ

กลับมาเรื่องของเบาหวาน คุณเพ็ญภักดิ์ ผดุงจิต นักกายภาพบำบัด โรงพยาบาลชุมพวง ได้ส่งเรื่องเล่ามาให้ทีมงานหลายวันแล้ว เป็นเรื่องของการปรับเปลี่ยนวิธีการให้ความรู้แก่ผู้ป่วยจากแบบ "กลุ่มใหญ่" เป็น "กลุ่มย่อย" เพราะประเมินแล้วพบว่าผู้ป่วยไม่ชอบวิธีการแบบเดิม ในภาพรวมแล้วผู้ป่วยยังควบคุมน้ำตาลในเลือดไม่ได้ดี 

หลังการปรับเปลี่ยน แม้จะยังไม่รู้ว่าผู้ป่วยจะควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้นหรือไม่ แต่ก็มีเสียงจากผู้ป่วยบอกว่าการให้ความรู้แบบกลุ่มย่อยนี้ดีกว่าแบบเดิม

คุณเพ็ญภักดิ์ยังได้บันทึกคำพูดคุยของกิจกรรมกลุ่มย่อยในวันหนึ่ง ที่ดำเนินการร่วมกับคุณผกามาศ คงวิชา พยาบาลประจำหน้าห้องตรวจ มาอย่างละเอียดยาว ๓ หน้ากระดาษ ดิฉันขอคัดลอกมาลงเพียงบางส่วนนะคะ

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๘

"ให้ความรู้แบบกลุ่มย่อย ที่ชุมพวง"

การให้สุขศึกษาที่โรงพยาบาลชุมพวง เดิมจัดให้สุขศึกษาเป็นกลุ่มใหญ่ สัปดาห์ละ ๒ วัน คือวันอังคารและพุธ ซึ่งเป็นวันบริการคลินิกเบาหวาน ผู้ป่วยเบาหวานเฉลี่ยวันละ ๙๐ ราย โดยกำหนดหัวข้อเรื่องแต่ละสัปดาห์ จัดตารางปฏิบัติงานสำหรับทีมผู้ให้ความรู้ เช่น ความรู้ทั่วไปโรคเบาหวาน การใช้ยา อาหารเบาหวาน การออกกำลังกายและการดูแลรักษาเท้า การดูแลรักษาปากและฟัน กำหนดให้ครั้งละ ๑/๒ - ๑ ชั่วโมง

หลังให้สุขศึกษาได้ระยะหนึ่ง ได้ดำเนินการสำรวจความพึงพอใจของบริการคลินิกเบาหวาน พบว่าในส่วนบริการช่วงการให้สุขศึกษา มีข้อเสนอแนะจากผู้ป่วยว่าการให้สุขศึกษาเป็นเรื่องเดิมๆ เคยฟังแล้ว ไม่อยากฟัง สถานที่บริการ เด็กเสียงดัง เนื่องจากในวันพุธตรงกับวันบริการคลินิกสุขภาพเด็กดี เด็กเล่นเสียงดัง ไม่ได้ยิน โอกาสพูดคุยซักถามไม่มี รวมทั้งการควบคุมระดับน้ำตาลโดยภาพรวมของผู้ป่วย ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ

ทีมคณะกรรมการจึงได้ปรึกษาหารือกัน และปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดกลุ่มให้ความรู้เป็นแบบกลุ่มย่อย เน้นคุณภาพ ไม่เน้นปริมาณ ครั้งแรกคัดเลือกผู้มีระดับน้ำตาลในเลือด (FBS) เกิน ๑๔๐ มก.เปอร์เซ็นต์ ขึ้นไป มาเข้ากลุ่มเจาะลึกถึงพฤติกรรมกิจวัตรประจำวัน ผู้ป่วยไม่คิดว่าตนเองต้องควบคุมลดน้ำตาลลงเท่าที่ควร

ต่อมาจึงได้จัดกลุ่ม ครั้งละ ๑๐ ราย มีผู้ที่มีสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ดี ทั้งผู้ที่กินยาอยู่ และผู้ที่คุมอาหารโดยไม่ต้องกินยา ครั้งละ ๑-๒ ราย เพื่อให้ช่วยเล่าประสบการณ์การดูแลตนเอง ให้กลุ่มเกิดแรงจูงใจ ในการอยากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองให้สามารถควบคุมระดับน้ำตาลที่ปกติ

การทำกลุ่มวันนี้ มีผู้ป่วยเบาหวาน ๑๐ ราย และญาติผู้ดูแลผู้ป่วยอีก ๒ ราย การเลือกกลุ่มครั้งนี้มีผู้ควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีปกติ ควบคุมอาหารโดยไม่ได้กินยา ๑ ราย และมีผู้ที่ควบคุมระดับน้ำตาลยังไม่ได้ดีตั้งแต่ ๑๖๓-๒๙๘ มก.เปอร์เซ็นต์ มาเข้ากลุ่มในห้องให้คำปรึกษาแนะนำ

ผกามาศ "วันนี้ทราบหรือไม่คะ ทำไมคุณป้า คุณตา คุณยายถึงต้องมาคุยกันในห้องนี้" 

 ".....วันนี้หมอบอกน้ำตาลขึ้นหลาย" ป้าเนาบอก
 "เบาหวานยายก็หลาย" ยายหวังบอก
 "ว่าแต่น้ำตาลฉันขึ้นหลายเท่าไหร่หมอ หมอบอกแล้วก็ลืม" ยายหวังถามต่อ
 ผกามาศ "ของคุณยายหวังนี่ วันนี้ ๒๖๗ นะคะ มีใครยังไม่ทราบไหมคะว่าวันนี้น้ำตาลตัวเองเท่าไหร่กันบ้าง เดี๋ยวจะบอกใหม่แล้วกันนะคะ ของป้าเหงี่ยม ๘๒ ยายมี ๑๔๘ ป้ามะลิ ๑๓๘ ป้าเนา ๑๖๓ ลุงสมาน ๙๘ คุณทองมี ๒๔๔ ยายสำลี ๒๑๘ ลุงสนั่น ๒๙๘ ป้าวัน ๑๐๒"
 ผกามาศ "คราวนี้เราจะมาคุยเป็นรายบุคคลเลยนะคะว่าใครไปทำอะไรมาบ้าง น้ำตาลถึงได้ขึ้นได้ลงอย่างนี้ เริ่มจากยายหวังก่อนละกัน ครั้งก่อนแค่ ๑๑๘ เองนะ คราวนี้ยายกินอะไรมาทำไมน้ำตาลถึงได้สูง"
 "ลูกหลานมาจากกรุงเทพ เขาซื้อผลไม้มาฝากเลยกินหลาย" ยายหวังตอบ
 ผกามาศ "ผลไม้กินได้นะคะยาย แต่ต้องจำกัดปริมาณ แล้วยายกินอะไรบ้างคะ"
 "ก็กินส้มทีละ ๒ ลูก กล้วยน้ำว้า ๒ ลูก" ยายหวังตอบ
 ................................
 ผกามาศ "แล้วป้าเหงี่ยมล่ะคะ วันนี้น้ำตาลดีนะ ๘๒ เอง ทำอย่างไรถึงคุมน้ำตาลได้"
 "ยายก็คุมอาหาร ออกกำลังอย่างที่หมอบอกนั่นแหละ หมอที่อนามัยเขาพาออกกำลังกาย รำกระบองทุกเช้า หมอบอกให้ปั่นจักรยานแทนขี่มอเตอร์ไซด์...."
 ...............................
 คุณเพ็ญภักดิ์ ทำหน้าที่ให้ความรู้เรื่องการดูแลเท้า สอนการบริหารเท้า ให้ผู้ป่วยทำไปพร้อมๆ กัน "ทุกคนทำได้ดีมากค่ะ พอจะจำท่าบริหารเท้าได้ไหมคะ ถ้าจำไม่ได้ก็ให้ดูในสมุดประจำตัวของตัวเองนะคะ ด้านหลังจะมีท่าออกกำลังกายต่างๆ อยู่และให้ทำตามนะคะ"
 "แบบนี้ดีเนาะหมอ แต่ก่อนตอนหมอพูดข้างนอก ฟังหมอไม่ค่อยได้ยิน ได้ยินแต่เสียงเด็กร้อง ตอนนี้อยู่ในห้องกันไม่กี่คน รู้สึกว่าเข้าใจดี" ลุงสนั่นกล่าว
เพ็ญภักดิ์ "ขอบคุณค่ะ มีใครจะเพิ่มเติมอีกไหมคะ ถ้าไม่มีจะได้พาไปตรวจกับหมอใหญ่ ก็ขอขอบคุณทุกคนนะคะที่มาร่วมเข้ากลุ่มในวันนี้ เจอกันครั้งหน้าให้น้ำตาลเหลือ ๑๒๐ นะคะ....ตามมาทางนี้เลยค่ะ เดี๋ยวจะพาไปตรวจกับหมอนะคะ"

ผู้เล่าเรื่อง คุณเพ็ญภักดิ์ ผดุงจิต นักกายภาพบำบัด โรงพยาบาลชุมพวง อ.ชุมพวง จ.นครราชสีมา ๓๐๒๗๐ โทร.๐๔๔-๔๗๗-๒๘๑

 

คำสำคัญ (Tags): #การให้ความรู้
หมายเลขบันทึก: 1449เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2005 15:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2012 20:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

น่ารักดีคะอยากได้ข้อมูลที่มากกว่านี้ค่ะ  อยากอ่านให้มากกว่านี้

น่าจะมีข้อมูลให้มากกว่านี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท