ป้องกันถูกกว่าแก้ไข ตอน 2


การผลิตสินค้าให้ได้ดีมีคุณภาพ ข้อบกพร่องไม่มี ความสูญเสียไม่เกิดนั้น ไม่ใช่แค่ผลิตให้ได้แต่ต้องผลิตให้เป็น

คลิกที่นี่เพื่อย้อนกลับไปอ่านตอน 1 

กรณีตัวอย่างใกล้ตัวที่ผมและครอบครัวประสบจากการใช้บริการโรงแรมที่โอซากา ประเทศญี่ปุ่น ทั้งที่เราได้จองห้องพักผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยระบุไว้ชัดว่าต้องการห้องเตียงคู่ (2 เตียงแยกกัน) จำนวน 2 ห้อง แต่เมื่อไปถึงโรงแรมและเช็คอินเป็นที่เรียบร้อย เราก็นำกระเป๋าและสัมภาระต่างๆขึ้นลิฟท์เพื่อเข้าห้องด้วยตนเองตามธรรมเนียมของโรงแรมทั่วไปในญี่ปุ่น ที่ผู้เข้าพักต้องบริการตนเอง เพราะค่าแรงของชาวญี่ปุ่นแพงมาก เจ้าหน้าที่แต่ละคนต้องทำสารพัด แต่เมื่อเข้าไปในห้องกลับพบว่าทั้ง 2 ห้องเป็นเตียงเดี่ยว เมื่อผมลงมาแจ้งกับเจ้าหน้าที่บริการส่วนหน้าบริเวณเคาน์เตอร์ เธอก็ทำท่าตกใจเป็นการใหญ่รีบดูเอกสารการยืนยันห้องพัก และเมื่อพบว่าตนเองจัดห้องให้ไม่ตรงกับที่ร้องขอ สีหน้าเธอก็เริ่มเปลี่ยนอย่างเห็นได้ชัด จากเจ้าหน้าที่ส่วนหน้าจำต้องแปลงร่างเป็นเจ้าหน้าที่จัดห้องไปโดยปริยาย เธอรีบชวนเพื่อนพนักงานอีกคนไปช่วยกันแก้ไขสถานการณ์เปลี่ยนเตียงให้ทันทีอย่างรีบเร่ง นัยว่าไม่อยากให้ลูกค้าต้องรอนาน

 

หลังจากที่แก้ไขสถานการณ์เสร็จเป็นที่เรียบร้อย ก็ไม่ลืมที่จะขอโทษแล้วขอโทษอีกตามสไตล์ญี่ปุ่น ผมเชื่อว่าคืนนี้เธอคงนอนไม่ค่อยหลับเป็นแน่ เพราะดูจากสีหน้าท่าทางแล้วเป็นกังวลยิ่งนักเสมือนหนึ่งว่าทำความผิดใหญ่หลวง แต่ความจริงผมก็ไม่ได้ตำหนิหรือแสดงสีหน้าว่าโกรธเคืองอะไร แต่กลับยิ้มและให้กำลังใจที่เค้ารีบมาแก้ไขปัญหาอย่างรีบเร่งโดยไม่ชักช้า ผมยังนึกไม่ออกว่าถ้าเจอเหตุการณ์นี้กับโรงแรมของไทยที่ไม่กี่ดาวจะได้รับการแก้ไขปัญหาที่เร็วขนาดนี้หรือไม่ ยังไงมาตรฐานญี่ปุ่นก็ยังสูงอยู่เช่นเดิม

วันถัดมาหลังจากที่ผมกลับจากการเดินทางออกไปทำธุระภายนอก เมื่อมาถึงห้องก็พบว่ามีตะกร้าของชำร่วยที่บรรจุของว่าง และของใช้บางอย่างวางอยู่บนเตียง พร้อมกับมีกระดาษแผ่นเล็กๆที่เขียนขอโทษต่อความผิดพลาดจากโรงแรม แสดงว่าโรงแรมนี้ไม่มีการซุกปัญหาไว้ใต้พรม แต่มีการป้อนกลับข้อมูลดังกล่าวไปสู่ระดับบนอย่างรวดเร็ว แสดงให้เห็นว่ามีระบบการจัดการที่ดี ซึ่งสำหรับผมมันเป็นความผิดอันเล็กน้อยเท่านั้น เพราะสิ่งอำนวยความสะดวกและการบริการที่ดีของโรงแรมแห่งนี้ยังทำให้ผมพอใจและถ้ามีโอกาสก็ยังจะอยากกลับมาใช้บริการที่นี่อีก

คำสำคัญ (Tags): #coq#customer#marketing#productivity
หมายเลขบันทึก: 144659เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2007 22:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะP

ได้อ่านบันทึกคุณจำลักษณ์ฯมาบ่อยๆ ให้ความรู้ดีมากค่ะ

เนื่องจากดิฉันเคยทำงานในด้านอุตสาหกรรมการผลิตมาก่อน จึงเข้าใจเรื่องในบันทึกนี้เป็นอย่างดี

ส่วนใหญ่ดิฉันจะส่งออกประมาณ 90% จึงต้องระมัดระวังคุณภาพอย่างที่สุด เพราะลูกค้าก็จ้องจะจับผิดอยู่ตลอดเวลา

นอกจากจะเป็นเรื่องของคุณภาพจริงๆแล้ว ก็ยังมีเรื่องที่ลุกค้าต้องการจะสกัดความได้เปรียบ ในเรื่องค่าแรง เรื่องภาษี อะไรอีกหลายอย่าง ไม่ให้เราได้เปรียบมากเกินไป โดยเฉพาะ ในประเภทสินค้าที่เขาเองก็ผลิตได้ แต่ต้นทุนสูงกว่า ถ้าสินค้าไหนเขาผลิตไม่ได้ เขาก็จะปล่อยๆไม่เข้มงวดค่ะ

ในเรื่องของจีนนี่ น่าจะมีนัยของการสกัดความร้อนแรงของจีน เป็นประเด็นหลัก

เรื่องของจีนดูแล้ว นับวันจะมีอานุภาพมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้แรงงานมาก

ประเทศเกตรกรรมอย่างเรา สินค้าราคาไม่สูง คงจะไม่ค่อยสบายแน่

คงต้องดูที่รัฐบาล ว่าจะมีกลยุทธอย่างไรค่ะ

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท