วิธีง่ายๆเพื่อประเมินว่าเรามีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจขนาดไหน เพื่อจะได้ดูแลแก้ไขก่อนจะสายเกิน


เริ่มได้ตั้งแต่วันที่ยังสามารถควบคุมทุกอย่างได้ อย่ารอจนร่างกายร้องเรียน

ยิ่งดูผลแล็บที่ตรวจทุกๆวัน รวมกับประสบการณ์ที่เคยทำกับอาสาสมัครสมัยทำแล็บเพื่องาน PhD เกี่ยวกับวิธีการที่ร่างกายเผาผลาญไขมัน และจากความรู้มากมายที่ได้อ่าน ได้รู้ ได้เข้าใจตอนที่ต้องขุดค้นหาเพื่อเอามาเขียนวิทยานิพนธ์ ก็ยิ่งรู้สึกว่าอยากจะช่วยรณรงค์เรื่องการรักษาดูแลตัวเอง เพื่อไม่ให้เกิดโรคอันเนื่องมาจากการมีไขมันในเลือดสูง อย่างที่เขียนมาเมื่อวาน รู้สึกว่าพวกเราทั้งหลาย อาจจะไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้ ทั้งๆที่เป็นเรื่องสำคัญแต่ง่ายดายที่จะดูแลตัวเองให้รอดปลอดภัย

ปัจจัยที่เราเกิดมาและแก้ไม่ได้ที่ต้องพิจารณาก็คือ

  • พันธุกรรม ซึ่งก็พอจะดูได้จากญาติสายตรง โดยเฉพาะพ่อ แม่ว่ามีใครเป็นโรคหัวใจ มีอาการหัวใจวาย มีภาวะไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ความดันหรือเปล่า
  • เพศ ผู้ชายจะเสี่ยงต่อโรคหัวใจล้มเหลวมากกว่าและเร็วกว่า (ในช่วงอายุที่น้อยกว่า) ผู้หญิง แต่ผู้หญิงจะมีโอกาสรอดน้อยกว่า ถ้าหากเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
  • อายุ ยิ่งเยอะก็ยิ่งเสี่ยงมากขึ้น (โดยเฉพาะถ้าเราไม่ระวังวิธีการใช้ชีวิตประจำวันให้ดีสม่ำเสมอ)

ทีนี้ปัจจัยที่เราควบคุมดูแลได้และสามารถปรับเปลี่ยนให้โอกาสเสี่ยงลดลงได้

  • อาหารการกิน: หนักไปทางธัญพืช ผัก ผลไม้ดีกว่าหนักไปทางเนื้อ นม เนย ไข่ ของทอด ของมัน
  • บุหรี่: ทำลายผนังหลอดเลือดทั้งหลาย ทำให้ไขมันไปเกาะสะสมได้ง่ายยิ่งขึ้น
  • การออกกำลังกาย: ควรจะได้อย่างน้อยครึ่งชั่วโมงต่อวัน ถ้าได้แบบที่ทำให้เลือดสูบฉีดได้แรงๆยิ่งดี เหมือนล้างท่อน้ำที่อาจจะสกปรกทุกๆวัน
  • ความดันควรจะอยู่แถวๆ 120/80 อย่าให้สูงกว่านี้ แล้วถ้าถึงขนาดมากกว่า 140/90 ก็ควรจะต้องพบแพทย์เพื่อหาวิธีลด
  • ตรวจวัดไขมันในเลือด ค่าไขมันตัวดี HDL-c ควรจะมากกว่า 40 mg% ถ้าต่ำกว่านี้ต้องออกกำลังกายให้มากขึ้น ส่วนไขมันตัวร้าย LDL-c ไม่ควรเกิน 130 mg% ถ้าเกินไม่มากก็ต้องปรับอาหารการกิน ถ้าเกินยิ่งมากควรจะขอยากลุ่ม Statin จากแพทย์ทันที หาคนที่สนใจจะสั่งให้เราดีกว่าไปทนให้ไขมันมาลอยวนเวียนในเลือดอยู่มากๆ เพราะยาจะมีผลเร็วมาก ภายใน 1 อาทิตย์ไขมันก็จะลดลงทำให้โอกาสเสี่ยงเราลดลงเร็วๆ อย่ามัวรอให้ไขมันไปสะสมในเส้นเลือดเส้นไหนๆเลยค่ะ ไม่คุ้มกันเลย
  • ความเครียด ต้องหาวิธีลดๆลงจะได้ไม่กินเยอะ สูบบุหรี่จัด
  • น้ำหนักเกิน ความอ้วนทำให้หัวใจยิ่งทำงานหนัก ยิ่งคนที่อ้วนลงพุงจะยิ่งมีความเสี่ยงสูง
  • เบาหวาน ที่ไม่ได้ควบคุมให้ดีๆก็จะเป็นสาเหตุสำคัญให้เกิดโรคหัวใจล้มเหลวได้

มารักษาตัว รักษาหลอดเลือดหัวใจให้แข็งแรงกันเถิดนะคะ

หมายเลขบันทึก: 144454เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2007 23:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มีงานวิจัยล่าสุดโดย Dr Amy Weinstein และคณะ พบว่าการที่เรามีน้ำหนักเกินนั้นแม้จะออกกำลังกายอยู่เสมอก็ยังมีโอกาสเสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือดมากกว่าคนผอม (น้ำหนักปกติ) ที่ไม่ออกกำลังกาย เพราะฉะนั้น อย่างแรกที่ควรทำไว้ก่อนก็คือ ควบคุมน้ำหนักอย่าให้เกินมาตรฐานค่ะ

(Weinstein AR, Sesso HD, Lee IM, et al. The joint effects of physical activity and body mass index on coronary heart disease risk in women. Arch Intern Med. 2008;168:884-890.)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท