นพลักษณ์ขั้นกลาง


ที่มาข้อมูลจากคุณสมสิทธิ์ http://board.dserver.org/n/noppaluk/00000438.html

สรุปการอบรมนพลักษณ์ขั้นกลาง
โดย สมาคมนพลักษณ์ไทย วันที่ 22-24 กันยายน 2550
ณ ห้องประชุม สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน ราชเทวี กรุงเทพฯ

เสาร์ที่ 22 กันยายน

       เริ่มจากกิจกรรมสำรวจผัสสะและการบันทึกแห่งสติ เพื่อรู้จักรากแห่งอารมณ์และความคิด โดยแต่ละคนใช้เวลา 25 นาทีอยู่กับตัวเอง ณ สถานที่ที่เลือกเอง สังเกตดูว่าผัสสะแต่ละผัสสะไม่ว่าจะเป็น ตา หู จมูก ช่องปาก ผิวหนัง และภายในนั้น รับรู้สิ่งต่าง ๆ อะไรบ้าง เกิดความรู้สึกอย่างไรบ้าง ปรุงเป็นความคิดต่ออย่างไร และรู้สึกอย่างไรต่อความคิดเหล่านั้น รวมไปถึงปฏิกิริยาต่าง ๆ จากกระบวนการของจิตขณะนั้น (กิจกรรมนี้ จะปฏิบัติซ้ำอีกทุกเช้าก่อนเริ่มการอบรมในแต่ละวัน)

       ถัดมา ผู้เข้าอบรมทำการแบ่งกลุ่มตามลักษณ์ แล้วระดมความคิดเพื่อเขียนสรุปตามหัวข้อ ได้แก่ จุดแข็ง-จุดอ่อนของลักษณ์ตน ภาพในใจต่อลักษณ์ตนเอง ภาพที่รับรู้ว่าคนลักษณ์อื่นมองเราอย่างไร ทุกข์จากการปรุงแต่งทางใจ และทุกข์จากการปรุงแต่งทางความคิด จากนั้น นำไปแลกเปลี่ยนกับคนลักษณ์อื่น ๆ เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการค้นหาปีกของตนเอง ทุกคนได้มีโอกาสศึกษาข้อสรุปของลักษณ์ต่าง ๆ อย่างละเอียด ได้คุยแลก เปลี่ยนกับผู้ที่มีเลขลักษณ์ข้างเคียงกับของตน แล้วพิจารณาอย่างอิสระว่า โดยทั่วไปแม้เราจะมีลักษณ์หลักของเราเองอยู่ แต่ก็อาจมีบางสภาวะที่เราได้รับอิทธิพล แนวคิด และพฤติกรรมของลักษณ์ข้างเคียง และนำมันมาใช้อยู่ไม่น้อย วิทยากรจะให้เราค้นหาอิทธิพลจากปีกด้วยตัวเราเองโดยไม่ชี้นำ ให้เราพยายามหาข้อสรุปว่า ในสภาวะใดบ้างที่เรามักได้รับอิทธิพลจากปีกใดมากกว่าปีกใด หรืออาจมากพอ ๆ กันทั้งสองปีก หรือแม้กระทั่งบางคนก็แทบจะไม่มีอิทธิพลจากปีกใด ๆ เลยก็ได้

     ในช่วงบ่าย เป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับภาวะของลูกศร ในแผนภาพแสดงลักษณ์ทั้งเก้านั้น จะมีเส้นลากเชื่อมกันอยู่ระหว่างลักษณะต่าง ๆ ซึ่งทำให้แผนภาพนั้นดูเหมือนรูปดาวในวงกลม ซึ่งหากสังเกตให้ดี จะพบว่าเส้นตรงที่เชื่อมนั้น ที่ปลายหนึ่งจะมีหัวลูกศร ทำให้แต่ละลักษณ์ จะมีเส้นหนึ่งที่วิ่งออกและอีกเส้นหนึ่งที่วิ่งเข้าสู่ลักษณ์นั้น ๆ ตรงนี้ ตามศาสตร์ของนพลักษณ์ได้ให้คำอธิบายไว้ว่า ภาวะของลูกศรนี้ใช้อธิบายพฤติกรรมของคนแต่ละลักษณ์ในสภาวะที่ไม่ปกติ นั่นก็คือ อาจเป็นสภาวะที่เครียดมากกว่าปกติ หรือสภาวะที่สุขสบายใจมากกว่าปกติก็ได้ กล่าวคือ หากเราเผชิญสภาวะที่เครียดมากกว่าปกติ เรามักมีแนวโน้มที่จะวิ่งไปตามลูกศรเข้าหาอีกลักษณ์หนึ่ง (เช่น คนลักษณ์5 เมื่อเครียด อาจวิ่งไปสู่ลักษณ์ 7) เพื่อรับเอาความคิด พฤติกรรมและลักษณะของคนลักษณ์นั้นมาใช้ชั่วคราว เช่นเดียวกัน เมื่อเราอยู่สภาวะที่มั่นคง หรือมีความสุขสบายใจกว่าปกติ เราก็มักมีแนวโน้มที่จะวิ่งย้อนลูกศรเข้าหาอีกลักษณ์หนึ่ง (เช่น คนลักษณ์ 5 เมื่อมั่นคงก็จะวิ่งเข้าสู่ลักษณ์ 8) เพื่อรับเอาลักษณะของคนลักษณ์นั้นมาใช้ สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะ ในความเป็นลักษณ์ของเราเองนั้น อาจใช้รับมือกับวิกฤติการณ์ได้อยู่ระดับหนึ่ง แต่หากเราต้องไปเผชิญวิกฤติการณ์ที่มาก กว่าธรรมดาแล้ว ความเป็นลักษณ์เรา ก็ไม่อาจปกป้องเราได้อีกต่อไป จำเป็นต้องอาศัยคุณลักษณะของลักษณ์อื่น ๆ (ที่เราเองอาจไม่คุ้นเคย หรือแม้กระทั่งไม่ทันสังเกตว่าเรานำมันมาใช้) เพื่อช่วยให้เราผ่านวิกฤติการณ์นั้นไปได้ นี่เองจึงเป็นที่มาของพฤติกรรมของเราผ่านภาวะลูกศร

       ถัดมา เป็นช่วงของการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับภาวะลูกศร โดย คนแต่ละลักษณ์ได้เล่าถึงว่า เมื่อประสบกับความเครียดมาก ๆ หรือรู้สึกมั่นคงมาก ๆ จะมีความคิดและพฤติกรรมเปลี่ยนไปอย่างไร วิ่งไปใช้ความเป็นลักษณ์อื่น ๆ อย่างไรบ้าง

      หัวข้อสุดท้ายสำหรับวันนี้ เป็นเรื่องของลักษณ์ย่อย โดยวิทยากรได้ให้แต่ละคนตอบแบบสอบถามโดยการพิจารณา Key Word หรือคำสำคัญต่าง ๆ ใน 3 หมู่ หมู่ละ 9 คำ รวมทั้งหมด 27 คำ และให้คะแนนแต่ละคำตามความสอดคล้องกับลักษณะและแนวคิดของตนเอง จากนั้นรวมคะแนนแล้วดูว่า คำในหมู่ไหนได้รับคะแนนมากที่สุด ก็แสดงว่าเรามีลักษณ์ย่อยแบบหมู่นั้น ๆ หมู่ทั้ง 3 หมู่ที่ว่านี้ ได้แก่ หมู่ของการผดุงตนให้อยู่รอด หมู่ของการสัมพันธ์ใกล้ชิดแบบหนึ่งต่อหนึ่ง และหมู่ของการปฏิสัมพันธ์กับสังคม เมื่อแต่ละคนให้คะแนนแบบสอบถามเสร็จและแยกกลุ่มตามลักษณ์ย่อยแล้ว ก็เป็นการคุยแลกเปลี่ยนกันถึงเหตุที่ว่า ทำไมแต่ละคนถึงให้คะแนนคำสำคัญต่าง ๆ มากน้อยต่างกัน มีแนวความคิดหรือวิธีการให้คุณค่าในสิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวถึงในแบบสอบถามนั้นอย่างไรบ้าง มีบางท่านเมื่อคุยไปลึก ๆ แล้วกลับเปลี่ยนใจให้คะแนนในบางด้านมากขึ้นหรือน้อยลง จนทำให้ผลสรุปของการเป็นลักษณ์ย่อยนั้นเปลี่ยนแปลงไป และก็มีบางท่านที่รู้สึกแปลกใจมากว่า ทำไมความเป็นลักษณ์หลักกับลักษณ์ย่อยช่างไม่สอดคล้องกันเลย ยกตัวอย่างเช่น คนลักษณ์ 5 ที่ชอบเก็บตัว แต่กลับมีลักษณ์ย่อยเป็นแบบสังคมได้ 

      โดยรวม การอบรมในวันนี้ค่อนข้างเข้มข้น มีเนื้อหามาก เป็นเนื้อหาเชิงลึกที่ต่อเนื่องมาจากการอบรมในขั้นต้น ทำให้เราตระหนักว่า ความเป็นลักษณ์นั้น มีความซับซ้อน มีอิทธิพลจากลักษณ์อื่น ๆ ที่ทำให้เราปรุงแต่งและแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ออกมา ไม่ว่าจะเป็นอิทธิพลจากปีก หรือภาวะลูกศร นอกจากนี้ การมองโลกและการให้คุณค่าต่อสรรพสิ่งก็มีผลต่อความเป็นลักษณ์ย่อยของเราเอง ฉะนั้น การที่จะตีตราว่าใครคนใดคนหนึ่งเป็นลักษณ์หนึ่ง ๆ นั้น แล้วจะมีความแตกต่างจากคนลักษณ์อื่น ๆ โดยสิ้นเชิงนั้นย่อมไม่ถูกต้อง หรือปัญหาเฉพาะของคนลักษณ์หนึ่ง ๆ ไม่เกี่ยวข้องกับคนลักษณ์อื่น ๆ ก็ไม่จริงเสียแล้ว แท้ที่จริงแล้ว เราทุกคนต่างมีความเกี่ยวพันเชื่อมโยงถึงกันอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยเนื้อหาที่มาก และเวลาที่ใช้ในการวิเคราะห์พูดคุยกันในแต่ละเรื่องนั้น ค่อนข้างจำกัด จึงทำให้หลายคนรู้สึกว่ายังมีบางประเด็นที่ยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องของอิทธิพลของปีกและภาวะลูกศรนั้นมิได้มีการชี้ชัดลงไปเหมือนกับการรู้ลักษณ์ในการอบรมขั้นต้น หลายคนจึงอยากให้มีการพูดคุยสัมภาษณ์ร่วมกันให้มากกว่านี้

       การบ้านสำหรับวันนี้ : การทบทวนอคติของเราที่มีต่อลักษณ์ต่าง ๆ ทั้งแง่ดีและแง่ลบ และการทำแผนภาพการวิเคราะห์โครงสร้างการทำงานของลักษณ์ของแต่ละคน โดยแจกแจงให้เห็นถึงความคิดยึดติด กิเลส โลกทัศน์ การใส่ใจจดจ่อ กลไกการป้องกันตนเอง รวมไปถึงอิทธิพลของปีก ภาวะลูกศร และลักษณ์ย่อย ตลอดจนแนวทางการเติบโต

อาทิตย์ที่ 23 กันยายน

        เริ่มจากการสำรวจผัสสะและการบันทึกแห่งสติ เหมือนเมื่อวาน จากนั้นเป็นกิจกรรมการวาดภาพสีน้ำ วิทยากรแจกอุปกรณ์วาดภาพสีน้ำ ซึ่งมีกระดาษ พู่กัน แม่สีสามสี น้ำล้างพู่กัน และผ้าเช็ดพู่กันให้แต่ละคน ภาพแรกที่วาดเป็นภาพท้องฟ้ากับผืนดิน โดยระบายสีเหลือง 1/3 ของภาพให้เป็นส่วนของท้องฟ้า และระบายสีน้ำเงินอีก 2/3 ของภาพให้เป็นผืนดิน ขณะระบายสีแต่ละส่วน ให้เรามีสติจดจ่ออยู่กับการลงสีปาดพู่กัน ขณะเดียวกันก็สังเกตความรู้สึก อารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นด้วย หลังจากวาดเสร็จ วิทยากรได้สัมภาษณ์ผู้เข้าอบรมทุกคน หลายคนพูดถึงความพยายามที่จะเกลี่ยสีให้เรียบ บางคนรู้สึกอบอุ่นกับสีเหลือง และสบายใจกับสีน้ำเงิน และบางคนก็ขัดใจกับการที่ถูกจำกัดในเรื่องชนิดของสีและพื้นที่ที่ระบาย

       ต่อมา วิทยากรให้ระบายสีน้ำอีกครั้ง คราวนี้ไม่กำหนดสีและรูปแบบของภาพ ให้แต่ละคนลงสีตามใจชอบ เพียงแต่ให้มีสติ และระลึกรู้ถึงกิริยาอาการและอารมณ์ความรู้สึก เมื่อวาดเสร็จ คราวนี้วิทยากรสัมภาษณ์แต่ละคนอีกครั้ง หลายคนครั้งนี้ลองผสมผสานสีอย่างอิสระ เกิดเป็นสีอื่น ๆ นอกเหนือไปจากแม่สีสามสี บางคนวาดเป็นรูปร่างแบบเรขาคณิต บางคนวาดเป็นรูปแบบนามธรรม ส่วนใหญ่จะรู้สึกสบายใจที่ได้หลุดจากกรอบ แต่มีบางคนที่อึดอัดเพราะคิดว่าตนเองไม่มีความสามารถทางศิลปะเอาเสียเลย

       กิจกรรมต่อมาเป็นการปั้นดิน โดยแต่ละคนได้รับดินคนละหนึ่งก้อนขนาดเท่าอุ้งมือ จากนั้นทำการสัมผัสดินด้วยมือ รับรู้ถึงความเย็นร้อนอ่อนแข็งแห้งเปียกของดินอย่างลึกซึ้ง ทำการคลึงให้เป็นก้อนกลม เสร็จแล้ววิทยากรได้แนะนำให้แต่ละคนค่อย ๆ กดก้อนดินด้วยนิ้วมือไปทีละน้อย ๆ จนกระทั้งก้อนดินเริ่มมีรูปร่างที่เปลี่ยนแปรไป หลังจากนั้นให้แต่ละคนลองกด บีบ หรือปั้นก้อนดินนั้นต่อ สุดแต่จินตนาการจะพาไปจนกระทั้งกลายเป็นรูปทรงที่สมบูรณ์ ถึงตอนนี้ แต่ละคนเริ่มสนุก บางคนปั้นเป็นสัตว์น่ารักต่าง ๆ หรือเป็นรูปถ้วย บางคนปั้นเป็นรูปร่างที่สามารถมองเห็นเป็นสิ่งต่าง ๆ ได้หลากหลายขึ้นอยู่กับมุมที่มอง หรือเป็นรูปกึ่งนามธรรม เมื่อทุกคนปั้นเสร็จ ได้นำมาวางรวมกันแล้วให้แต่ละคนออกความเห็นว่า ผลงานแต่ละชิ้นเหล่านั้น คืออะไร ก่อนที่จะให้เจ้าของผลงานเฉลย และบอกเล่าเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกและความมุ่งหวังในขณะที่ปั้น

       กิจกรรมในช่วงบ่ายเริ่มจากการนอนสมาธิ ตามด้วยการจับคู่กันเล่าถึงอดีตตอนที่อายุประมาณ 3-4 ขวบ เมื่อเล่าเสร็จ คราวนี้วิทยากรให้แต่ละคนรำลึกถึงเรื่องที่เล่านั้นด้วยการแสดง โดยทำอะไรก็ได้เสมือนหนึ่งว่าทุกคนอยู่ในวัยสามขวบ สาว ๆ ส่วนใหญ่จะพากันวิ่งเล่นบ้าง รีรีข้าวสารบ้าง หรือเล่น***ูเอ๋ย จากนั้นก็ล้มตัวลงนอนทำท่าทางเหนื่อยอ่อน ส่วนหนุ่ม ๆ มักจะเขิน เดินวนไปรอบ ๆ หรือไม่ก็นั่งลงดูคนอื่นแทน การแสดงยังไม่หมด ต่อมาวิทยากรเปิดเพลงแล้วให้เราทุกคนบอกกับตัวเองว่าเรานั้นบินได้ ทำอะไรก็ได้ตามความคิดที่ว่าเราสามารถบิน เป็นเรื่องยากที่เดียวที่จะทำให้มนุษย์อย่างเราหลุดออกจากกรอบความคิดที่ว่ามนุษย์นั้นไม่บิน หลายคนกระพือแขนอย่างนก บางคนทำท่าซุปเปอร์แมน บางคนใช้ผ้าปูที่นอนมาประดับกายอย่างปีก สุดท้ายเลยช่วยกันอุ้มคนตัวเล็กที่สุดแล้วพาร่อนไปร่อนมา (อย่างน้อยก็มีคนหนึ่งแล้วที่ทำได้ตามโจทย์)

        ยังมีการวาดภาพสีน้ำอีกรอบหนึ่ง คราวนี้วิทยากรให้โจทย์คือต้นไม้ แต่ละคนวาดภาพต้นไม้ตามจินตนาการของตนเองด้วยสีน้ำ คนที่เคยเรียนรู้การใช้สีน้ำมาก็สามารถวาดออกมาได้เป็นภาพที่ค่อนข้างเหมือนจริง บางคนก็เติมแต่งภาพให้มีองค์ประกอบอื่น ๆ เช่นดวงอาทิตย์ ภูเขา นก ทะเล หรือให้ต้นไม้อยู่ขอบ ๆ ในขณะที่หลายคนวาดต้นไม้ต้นใหญ่เด่นอยู่กลางภาพ จากนั้นทุกคนนำภาพที่วาดเสร็จแล้วมาวางรวมกันที่กลางห้อง แล้วทุกคนเดินวนรอบ ๆ เพื่อดูให้ได้ครบทุกภาพทุกมุม ขณะนั้นก็ให้ซึมซับรับรู้กับสิ่งที่เห็นอยู่ตรงหน้า ก่อนที่จะแสดงความรู้สึกต่อภาพเหล่านั้นออกมา รวมไปถึงการให้เจ้าของภาพที่วาดได้เฉลยความรู้สึกและอารมณ์ในใจด้วย ถึงตอนนี้ เราได้เห็นลักษณะบางอย่างร่วมกันของคนแต่ละลักษณ์ที่นำเสนอศิลปะผ่านทางภาพวาดต้นไม้ของตน หลายคนได้เล่าว่าทำไมถึงวาดเช่นนั้น วางองค์ประกอบแบบนั้น หรือใช้สีสีนั้น แต่ก็ยังมีอีกบางคนที่รู้สึกอึดอัดกับการวาดภาพสีน้ำเพราะไม่คุ้นเคยอีกทั้งบังคับให้เป็นไปอย่างใจได้ยาก

         กล่าวโดยรวม กิจกรรมในวันนี้ค่อนข้างผ่อนคลาย เป็นการสังเกตปฏิกิริยาของความคิดและจิตใจผ่านทางการสร้างงานศิลปะ การปั้นดินเป็นงานที่ควบคุมง่ายกว่า ทำให้เป็นไปอย่างใจหวังได้ดีกว่า ส่วนการวาดภาพสีน้ำนั้น ค่อนข้างคุมยาก มีการเปลี่ยนแปลงไหลเรื่อยในทุก ๆ ขณะ อารมณ์ขึ้นลงหลากหลาย แต่ก็เผยให้เห็นความเป็นตัวเองได้ชัดเจนกว่า หลายคนมีความเห็นว่า ตนเองทำงานศิลปะไม่ได้ ตนเองกับศิลปะเป็นสองสิ่งที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง อย่างไรก็ตาม กิจกรรมในวันนี้น่าจะมีส่วนในการให้แนวคิดที่ว่า ศิลปะก็คือการเปิดเผยและแสดงออกมาของความคิดและอารมณ์อย่างบริสุทธิ์สดใสตรงไปตรงมา มนุษย์เราทุกคนมีศักยภาพที่จะสื่อความคิดและอารมณ์ได้อย่างเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว นับตั้งแต่วันแรกที่เราถือกำเนิด เราได้แสดงออกถึงสิ่งเหล่านี้อย่างแตกต่างหลากหลายผ่านทางเสียงร้องของเรา เสียงร้องไห้ของเด็กนั้น แฝงไว้ด้วยความหมาย อารมณ์ และความรู้สึกที่มากมายเกินบรรยาย เสียงบางเสียงแผดดังด้วยความเจ็บปวดและขาดแคลน บางเสียงชวนให้เอ็นดูอ่อนไหว บางเสียงก็ก้าวร้าวทำลาย ส่วนบางเสียงก็หวนไห้ดูเศร้ากินใจ เด็ก ๆ สามารถสื่อผ่านภาษาธรรมชาติได้แม้ก่อนที่เขาจะเรียนรู้ภาษาพูดของสังคมเสียอีก เช่นเดียวกับความหมายที่สื่อผ่านรอยปัดของแปรงพู่กัน น้ำหนัก ความเข้มจางอ่อนแก่ของสี เส้นสายและที่ว่างบนภาพ เหล่านี้ล้วนสื่อได้ถึงสิ่งที่ผู้วาดต้องการจะบอกอยู่แล้ว ส่วนเทคนิคต่าง ๆ ในเชิงจิตรกรรมนั้นเป็นเพียงตัวช่วยให้สารที่ต้องการสื่อมีความชัดเจนและสุนทรีย์มากขึ้น อย่างไรก็ตาม คนหลายคนในปัจจุบันกลับไปตัดสินที่เทคนิคหรือเครื่องมือมากกว่าเนื้อแท้ของสาร เรามักชื่นชมการใช้ภาษามากกว่าสาระที่เขาบอก เรามักชมว่าภาพนี้งามเพราะการใช้เทคนิคที่ดูสวยพิสดารมากกว่าสิ่งที่ภาพนั้นสื่อ หรือเราชอบสถานศึกษาแห่งนี้จริงตรงที่มีป้ายใหญ่ ตึกโต มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกทันสมัยครบครัน มากกว่าประโยชน์ที่จะได้จากการสร้างองค์ความรู้ หวังว่ากิจกรรมในวันนี้อาจช่วยให้เราสามารถมองผ่านเทคนิค เครื่องมือ หรือ How-to ให้ทะลุลงไปสู้เนื้อหาที่ต้องการสื่อและศักยภาพของเราเองที่จะสื่อ อันเป็นสาระแท้ได้


จันทร์ที่ 24 กันยายน

       เริ่มด้วยกิจกรรมเดิมคือการสำรวจผัสสะและการบันทึกแห่งสติ จากนั้นเมื่อแต่ละคนกลับมายังห้องอบรม ก็ได้คุยแลกเปลี่ยนระหว่างกันเกี่ยวกับผัสสะและความคิดความรู้สึกที่เกิดขึ้นตลอดทั้งสามวัน เวลาที่ผ่านไปทำให้บางคนสัมผัสสิ่งต่าง ๆ ได้ละเอียดลออขึ้น ตรงกันข้าม บางคนสัมผัสได้น้อยลงเพราะความเบื่อเข้ามาแทนที่ ความอาทรในผัสสะที่ได้รับบังเกิดแม้เวลาปกติอาจเป็นสิ่งที่ไม่น่าชื่นใจ เช่น เสียงรถ เสียงก่อสร้าง เสียงคนตะโกน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการแบ่งกลุ่มตามศูนย์เพื่อคุยหาข้อสรุปว่า ความเป็นลักษณ์มีผลต่อการคิดและอารมณ์ในการรับรู้ผัสสะอย่างไรบ้าง เช่นลักษณ์ 5 อาจเลือกสถานที่พิจารณาผัสสะที่ห่างไกลคน ไม่อยากให้มีใครมารบกวน และก็แน่วแน่อยู่กับคำสั่งที่ได้รับทั้งสามวัน ลักษณ์ 6 อาจมีความกังวลเกี่ยวกับการเลือกสถานที่ว่าจะไปกระทบกระเทือนใครไหม ลักษณ์ 7 อาจมีความเบื่อมารบกวน พยายามหาวิธีการรับผัสสะแบบอื่น ๆ นอกเหนือจากคำสั่ง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้คุยเกี่ยวกับแนวทางการรับมือกับกิเลสและอุปสรรคประจำแต่ละลักษณ์และการสังเกตความรู้สึกที่เกิดขึ้นในร่างกายเมื่อเราเผชิญอุปสรรค

     หลังเบรค ได้มีการแบ่งกลุ่มใหม่ คราวนี้แบ่งตามความสนใจในการศึกษาเกี่ยวกับการแสดงออกของพลังในกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ เช่น การกิน การนอน การขับถ่าย การสื่อสาร การเป็นผู้นำ ในเรื่องของการสื่อสารนั้น ได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับพลังของแต่ละลักษณ์ที่ส่งผลต่อรูปแบบในการสื่อสาร ยกตัวอย่างเช่น คนลักษณ์ 2 มักใช้พลังใจสื่อสารโดยดูความต้องการของผู้ฟังก่อน ลักษณ์ 5 ใช้พลังหัวโดยสื่อตรงประเด็นตามหลักการและเหตุผล หลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์ และกลัวการสบตาคน ส่วนลักษณ์ 8 ใช้พลังท้องโดยมักแสดงออกทั้งทางคำพูดและสีหน้าท่าทางอย่างฉับพลันและรุนแรง ต่อจากนั้นได้พูดคุยเกี่ยวกับอุปสรรคของคนแต่ละศูนย์ในการสื่อสาร เช่น คนศูนย์หัวแบบลักษณ์ 7 มักมีความคิดแตกซ่าน คิดหลาย ๆ เรื่องในเวลาเดียวกันทั้งตอนที่พูดและตอนที่ฟัง ทำให้การสื่อสารติดขัด ส่วนคนศูนย์ท้องไม่ว่าจะลักษณ์ 8 หรือ 9 มักมัวยึดความเห็นของตนที่โพล่งขึ้นมาจนบางครั้งทำให้พลาดประเด็นที่สำคัญในการสื่อสารไป

             ช่วงบ่าย มีการผึกสติผ่านการสร้างพลังชี่ จากนั้นทุกคนได้มานั่งล้อมวงกันเรียงลำดับตามเบอร์ลักษณ์ วิทยากรนำคุยและสัมภาษณ์ถึงกิเลสที่เด่น ๆ ของคนแต่ละลักษณ์ เริ่มจากคนศูนย์ท้องได้พูดเกี่ยวกับการเกิดขึ้นของความโกรธในตัว และกระบวนการของจิตที่เกี่ยวเนื่องกับความโกรธ ลักษณ์ 8 มักระบายความโกรธออกมาทันทีทันใด ในขณะที่ลักษณ์ 9 มักมองไม่เห็นความโกรธของตัว ซึ่งเก็บกดไว้รอเวลาระเบิด ส่วนลักษณ์ 1 มองความโกรธเป็นเรื่องที่ผิดไม่ควรแสดงออก ต่อมาคนศูนย์หัวได้แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับความกลัว โดยลักษณ์ 5 กลัวการถูกลุกล้ำ กลัวการสื่อสารที่มากระทบตัวใจ ลักษณ์ 6 กังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยและสวัสดิภาพ ส่วนลักษณ์ 7 แค่กลัวไม่มีทางเลือก แต่มักนึกไม่ออกว่าตัวเองมีความกลัวในเรื่องอะไรบ้าง สุดท้ายเป็นการสัมภาษณ์คนศูนย์ใจเกี่ยวกับความหลงตัวและการหลอกลวง ลักษณ์ 2 มักคาดหวังการยอมรับในตัวและอภิสิทธิ์ของตัว ลักษณ์ 3 สร้างบทบาท (โดยไม่ได้คิดว่านั่นคือการสร้างภาพลักษณ์หลอกลวงแต่อย่างใด) สู่เป้าหมายของตัวเองที่ตั้งไว้ ส่วนลักษณ์ 4 หลงในความพิเศษและแตกต่างของตัวเอง แต่ก็อดอิจฉาในตัวคนอื่นที่ดูจะสมบูรณ์กว่าตัวเองในบ้างด้านอยู่เสมอไม่ได้

    หลังจากที่วิทยากรได้พยายามกระตุ้นให้เราได้ตระหนักรู้ภาวะยึดติดและโครงสร้างการทำงานของความคิดในคนแต่ลักษณ์แล้ว ต่อมาเป็นการอธิบายถึงความมีอยู่ของจิตเดิมหรือจิตประภัสสรของทุกคน จิตประภัสสรนั้นคือจิตเดิมที่สามารถรับรู้อย่างบริสุทธิ์ เด็กทุกคนเกิดมากับจิตประภัสสรนี้พร้อมด้วยเมล็ดพันธุ์แห่งกิเลสและอวิชชา ต่อมา ด้วยการที่ชีวิตต้องเอาตัวให้รอด แต่ละคนจึงจำเป็นต้องรดน้ำเมล็ดพันธุ์แห่งกิเลสนี้ให้งอกงามขึ้นเพื่อเป็นอุปกรณ์สร้างพฤติกรรมต่าง ๆ มาปกป้องตนเอง นานวันเข้า จิตประภัสสรจึงถูกพอกด้วยกิเลสชั้นแล้วชั้นเล่า และรูปแบบของกิเลสที่เฉพาะตัวของแต่ละคนนี้ก็คือแบบฉบับของลักษณ์ที่ก่อตัวขึ้นในตัวเรานั่นเอง มาถึงวันนี้ เมื่อเรามีวิชชาแล้ว เรามิควรต้องพึ่งพิงกิเลสหรือลักษณ์ของเราเองอีกต่อไป หากแต่ควรพยายามลอกชั้นของกิเลสเหล่านั่นออกเพื่อให้จิตประภัสสรของเราเผยตัวออกมา ทั้งนี้เราอาจกระทำได้โดยเริ่มจากการตระหนักรู้อย่างเท่าทันในการมาปรากฏตัวและการมีอยู่ของกิเลสเหล่านั้น และนี่เองน่าจะเป็นเส้นทางสายหลักที่คนรู้จักนพลักษณ์แล้วเช่นพวกเราควรเดินต่อจนกว่าชีวิตจะถึงซึ่งสันติสุขโดยแท้ 

         ต่อมา มีการแบ่งกลุ่มตามศูนย์เพื่อคุยแลกเปลี่ยนกันเกี่ยวกับประสบการณ์ด้านจิตประภัสสร แต่ละคนสามารถสังเกตการปรากฏขึ้นของจิตประภัสสรได้เป็นระยะเวลาสั้น ๆ มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป บางคนอาจเห็นได้ตอนที่สงบนิ่งอยู่กับตัวเองและรับรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวอย่างบริสุทธิ์ บางคนอาจให้การทำงาน การเคลื่อนไหวของมือเพื่อเขียนหนังสือเป็นสื่อในการเข้าถึงจิตประภัสสร หรือบางคนอาจรับรู้การผ่อนคลายจิตใจออกจากความคิดปรุงแต่งกลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะได้เมื่อสวดมนต์ หรือร้องเพลง หรือแม้กระทั่งตอนขับถ่าย เป็นต้น

        การอบรมมาถึงบทสรุปตรงที่เราจะเติบโตต่ออย่างไรเมื่อเรียนรู้นพลักษณ์ไปแล้ว หลายคนคิดว่านี่คือการทิ้งท้ายที่ท้าทายอย่างยิ่งเพื่อให้ต้องเดินต่อ การรู้แต่เพียงเบอร์ลักษณ์และการทำงานของลักษณ์ต่าง ๆ นั้นหาใช่เป้าหมายแท้ของการศึกษาไม่ สิ่งเหล่านี้เปรียบได้กับ เครื่องมือหรือเทคนิคที่ทำให้เราเข้าถึงความรู้ความเข้าใจในชีวิตตนด้านในได้ดีขึ้นเท่านั้น แต่ไม่ได้เป็นที่สุดของสาระ การใช้ความรู้ด้านนพลักษณ์ที่เรามีแล้วเพื่อการสลัดตัวเองออกจากลักษณ์ เปิดเผยจิตประภัสสรเพื่อความสิ้นไปแห่งทุกข์ต่างหากน่าจะเป็นเป้าหมายที่แท้จริง ถึงตอนนี้ มีบางคนพอใจที่ได้พบเส้นทางที่จะต้องเดินต่อ เป็นเส้นทางที่สว่างและดูมีความหวัง แต่บางคนอาจขัดใจที่คำตอบสุดท้ายไม่ใช่การฟันธงแบบ How-to แต่เป็นการหาคำตอบแบบ Open ended ที่แต่ละคนต้องดั้นด้นค้นหาด้วยตัวเองต่อไป แถมท้ายอีกนิดว่า ในวันที่ 7-11 พฤศจิกายนนี้ จะมีการอบรมเพื่อพัฒนาตนด้านจิตวิญญาณสำหรับผู้ศึกษานพลักษณ์ การอบรมนี้มีหัวข้อว่า “การอยู่กับปัจจุบันขณะและการลืมตัว” ฟังชื่อดูแล้วน่าสนใจไม่น้อยเพราะนี่อาจเป็นเส้นทางการศึกษาแบบภาคปฏิบัติที่ผู้ที่ได้เรียนรู้นพลักษณ์มาแล้วควรจะไปต่อ

คำสำคัญ (Tags): #นพลักษณ์
หมายเลขบันทึก: 142266เขียนเมื่อ 27 ตุลาคม 2007 11:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 เมษายน 2012 17:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท