40 ปีบ้านหินแร่


ย้อนรอยบ้านหินแร่
ย้อนรอย บ้านหินแร่หมู่ที่ ๖ ต.บ้านยาง  อ.ลำทะเมนชัย   จ.นครราชสีมา                          ที่บริเวณนี้เป็นเนินหิน เนินดิน  มีแม่น้ำไหลอยู่รอบ ๆ  ลักษณะป่าไม้เป็นแบบป่าเบญจพรรณ  ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์  หาเห็ด หาสัตว์ไปประกอบอาหาร  สามารถขอกันได้ ไม่ต้องซื้อเนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของป่า  เมื่อไปหาของป่าก็สามารถหลงทางได้ (หลงป่า) ฉะนั้นใครที่คิดจะเข้ามาหาของป่าในเขตนี้ต้องรู้จักป่าเป็นอย่างดี  ไม่อย่างนั้น มีสิทธิได้นอนป่าแน่นอน  ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของป่านี่เอง  เป็นสิ่งบันดาลใจให้คนกลุ่มหนึ่งเริ่มเดินทางอพยพเข้ามาตั้งรกรากในพื้นที่นี้                        พ.ศ. ๒๔๓๐  เริ่มมีการนำสัตว์เข้ามาเลี้ยงในบริเวณนี้  เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของป่า เมื่อเวลากลับบ้านก็จะได้อาหารกลับไปด้วย  ไม่ว่าจะเป็น เห็ด  หน่อไม้  นก  ไข่นก  ผักต่าง ๆ  แต่อุปสรรคของการเดินทางมาเลี้ยงสัตว์คือ  ต้องข้ามลำน้ำซึ่งมีความกว้างพอประมาณ  ซึ่งแรก ๆ ก็อาจจะนั่งหลังวัว ควายข้ามมา  แต่เมื่อมีหลายคนก็ใช้ไม้ไผ่ทำสะพานเพื่อข้ามมา  แต่ก็ยังไม่ได้รับความสะดวกมากนัก เนื่องจากต้องใช้เวลาในการเดินทางมาก                        พ.ศ. ๒๔๓๖  พ่อมี  ตนพรมรัมย์  ได้นำครอบครัวอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้เป็นกลุ่มแรก  เนื่องจากเห็นว่าพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์  สามารถเลี้ยงสัตว์ได้ ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปกลับ  ซึ่งพ่อมี  ตนพรมรัมย์  เป็นคนจากจังหวัดร้อยเอ็ด (ปัจจุบันจังหวัดมหาสารคาม) ซึ่งการมาตั้งถิ่นฐานครั้งแรก  ที่มีมาพร้อมกันประมาณ    ครัวเรือน  เมื่อพ่อมี  ตนพรมรัมย์ได้กลับไปเยี่ยมบ้าน  ได้นำพืชผักจากป่าไปฝากญาติพี่น้อง  และได้เล่าถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าที่ตนได้มาตั้งบ้านอยู่ ก็ทำให้ญาติพี่น้องที่รู้ข่าว ก็เริ่มที่จะอพยพย้ายถิ่นฐานมาอยู่ด้วยกัน เกิดเป็นหมู่บ้านว่า  บ้านหินแร่  ผู้นำคนแรก (ผู้ใหญ่บ้าน) คือ พ่อมี  ตนพรมรัมย์ นั่นเอง                        บ้านหินแร่  เกิดจาก บริเวณที่ตั้งของหมู่บ้าน เป็นเนินดิน เนินหิน ซึ่งมีปริมาณมาก  แต่มีความอุดมสมบูรณ์ (ภาษาอีสานเรียก บ้านหินแฮ) ชาวบ้านนับถือผี และนับถือศาสนาพุทธ  เมื่อมีชุมชน ก็ต้องมีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ  สิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจก็คือวัด  ผู้ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการให้มีวัดประจำหมู่บ้านคือผู้นำคนที่ ๒ ของหมู่บ้านคือ  พ่อลี  ที่รักษ์                          วัด  เป็นทั้งสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ และเป็นโรงเรียนที่ให้ความรู้แก่ชาวบ้าน  พระรูปแรกที่จำวัดคือ  หลวงพ่อคำ   และครูที่เข้ามาสอนในโรงเรียนวัด คือ  นายที  ดีเดิม  เป็นทั้งครูใหญ่จนถึงภารโรง  สอนตั้งแต่ ป.๑ ป.๔                        พ.ศ. ๒๕๒๑  ช่วงผู้ใหญ่บ้านคนที่    คือ  พ่อเหรียญ  ที่รักษ์  เป็นช่วงปฏิรูปการศึกษา คือท่านได้มอบที่ดินส่วนตัวให้สร้างโรงเรียน  (ซึ่งในช่วงนั้นยังต้องเรียนอยู่ในวัด) ซึ่งโรงเรียนก็ตั้งมาอยู่จนถึงปัจจุบันี้  ช่วงนี้มีการลักขโมยวัว  ควายกันมาก  มีการนำวัว  ควายไปขาย หรือที่เรียกกันว่า นายฮ้อย  ซึ่งบางครั้งก็อาจจะมีการขโมยไปขาย  ถ้าจับได้ก็ดำเนินการประชาทัณฑ์ได้ทันที  (เนื่องจากห่างไกลตัวอำเภอและจังหวัด)  ระยะทางไปอำเภอ (เมื่อก่อนเป็นอำเภอพิมาย) ประมาณ  ๗๕ กิโลเมตร  ระยะห่างจากจังหวัดประมาณ  ๑๔๐ กิโลเมตร                        การคมนาคม  สมัยผู้ใหญ่บ้านคนที่  ๔ คือ พ่อที  หะสูง  การเดินทางสัญจร นอกจากจะใช้เกวียน  ม้า  และการเดินเท้าแล้ว  ไม่มีวิธีอื่นอีกเลย  แต่ก็เป็นช่วงที่ความเจริญเริ่มเข้ามา  ตั้งแต่  มีสภาตำบล  การตัดถนนหนทางในหมู่บ้าน  การตัดถนนเชื่อมหมู่บ้าน  การนำไฟฟ้าเข้ามาในหมู่บ้าน  การขุดแหล่งน้ำ  ลำคลอง  มีรถอีแต๋น  รถจักรยาน  และรถจักรยานยนต์ เข้ามาช่วยในการเดินทาง  แทนเกวียนและม้า สมัยนายกรัฐมนตรีคือ นายคึกฤทธิ์  ปราโมทย์  โคราชมีการพัฒนาครั้งยิ่งใหญ่  มีพืชผักสวนครัว  รั้วกินได้  ซึ่งขณะนี้บ้านหินแร่ได้ย้ายอำเภอใหม่  จาก อำเภอพิมาย แยกเป็นอำเภอชุมพวง  ทำให้ระทางระหว่างหมู่บ้านไปอำเภอเป็นระยะทาง  ๔๑  กิโลเมตร                        อาชีพ  ของประชาชนส่วนมากคือการเลี้ยงสัตว์และทำการเกษตร  สมัยผู้ใหญ่บ้านคนที่ ๕ และคนปัจจุบันคือ  พ่อใส  ลือนาม  ได้มีการรณรงค์ให้มีการประกอบอาชีพเสริม คือ  การปลูกผักปลอดสารพิษ  การปลูกผักเกษตรอินทรีย์  อำเภอชุมพวงแยกออกเป็นกิ่งอำเภอลำทะเมนชัย ห่างจากหมู่บ้านประมาณ  ๒๕ กิโลเมตร  สภาตำบลเปลี่ยนเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งให้การสนับสนุนโครงการต่าง ๆ  รวมทั้งส่วนราชการอื่น ๆ อีก เช่น เกษตรอำเภอ ช่วยในการส่งเสริมการประกอบอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชน  ให้ประชาชนสามารถช่วยเหลือตนเองได้  อยู่อย่างพอเพียงและเพียงพอ  มีการจัดตั้งกลุ่มต่าง ๆ เช่น                                ๑.  กลุ่มปุ๋ยเกษตรอินทรีย์ชีวภาพ                      มีสมาชิกจำนวน                   ๑๑๔  คน๒.  กลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษ                           มีสมาชิกจำนวน                     ๒๙  คน๓.  กองทุนกลุ่มเลี้ยงโค                                      มีสมาชิกจำนวน                      ๑๕  คน๔.  กลุ่มกองทุนเงินล้าน                                    มีสมาชิกจำนวน                   ๘๐  คน๕.  กลุ่มกองทุน กขคจ.                                       มีสมาชิกจำนวน                   ๙๑  คน การปกครองได้แบ่งออกเป็นคุ้ม จำนวน  ๑๐  คุ้ม  มีชื่อเรียกดังนี้                 ๑.  คุ้มน้ำปลาไทย               มีประชากร           ๔๘         คน          (  ๑๐  ครัวเรือน)                 ๒.  คุ้มไหมงาม                   ประชากร              ๕๓         คน          (  ๑๐  ครัวเรือน)                 ๓.  คุ้มมะขามหวาน           มีประชากร           ๔๘         คน          (    ครัวเรือน)                 ๔.  คุ้มพรานนกเขา            มีประชากร           ๕๓         คน          (  ๑๐  ครัวเรือน)                 ๕.  คุ้มเงาตะวัน                  มีประชากร           ๔๘         คน          (    ครัวเรือน)                 ๖.  คุ้มจันทร์กระจ่าง          มีประชากร           ๕๓         คน          (  ๑๐  ครัวเรือน)                 ๗.  คุ้มสว่างอารมย์             มีประชากร           ๕๓         คน          (  ๑๐  ครัวเรือน)                 ๘.  คุ้มพรมลิขิต                   มีประชากร           ๕๓         คน          (  ๑๐  ครัวเรือน)                 ๙.  คุ้มสมฤทัย                      มีประชากร           ๕๓         คน          (  ๑๐  ครัวเรือน)                ๑๐.  คุ้มนิมิตหมาย               มีประชากร           ๘๐          คน          (  ๑๖  ครัวเรือน)รวมประชากรทั้งสิ้น  ๕๔๒  คน (๑๐๔ ครัวเรือน)ที่ตั้งและอาณาเขต                ทิศเหนือ                จดบ้านโสกดู่  หมู่ที่ ๔  ต.บ้านยาง   อ.ลำทะเมนชัย  จ.นครราชสีมา                ทิศใต้                     จดบ้าหนองปลิง  ต.โคกสะอาด  อ.ลำปลายมาศ  จ.บุรีรัมย์                ทิศตะวันออก       จดบ้านเมืองแฝก  อ.ลำปลายมาศ  จ.บุรีรัมย์                ทิศตะวันตก          จดบ้านหนองนกเป็ด  หมู่ที่ ๙  ต.บ้านยาง   อ.ลำทะเมนชัย  จ.นครราชสีมา                                 สรุป  ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน  บ้านหินแร่มีการพัฒนา ตั้งแต่ยังเป็นป่า  ปัจจุบันมีถนนหนทางในการสัญจรไปมาสะดวกมากขึ้น  การติดต่อคมนาคม  ทางรถไฟ ก็เดินทางไปขึ้นรถไฟที่อำเภอลำปลายมาศ  จังหวัดบุรีรัมย์ เนื่องจากมีระยะทางใกล้กว่าคือประมาณ  ๒๐  กิโลเมตร  ด้านการศึกษา  เด็กในหมู่บ้านที่เรียนจบชั้น ป.๖ ก็จะไปศึกษาต่อที่อำเภอคูเมือง และอำเภอลำปลายมาศ  ซึ่งสามารถเดินทางไปกลับได้โดยมีรถโดยสารรับส่งภายในหมู่บ้าน  อาชีพ มีการส่งเสริมจากส่วนราชการต่าง ๆ นับว่า บ้านหินแร่ในอดีตจนมาถึงปัจจุบันมีการพัฒนามากและจะพัฒนายิ่ง ๆ ขึ้นไปอีกในอนาคต ขอขอบคุณผู้ให้ข้อมูล                นายเที่ยง  ที่รักษ์  อายุ  70  ปี  บ้านเลขที่  36  หมู่ที่ 6  ต.บ้านยาง  อ.ลำทะเมนชัย  จ.นครราชสีมา                นางปุ่น  โสตะพราหมณ์  อายุ 71  ปี บ้านเลขที่ 44 หมู่ที่ 6 ต.บ้านยาง  อ.ลำทะเมนชัย จ.นครราชสีมา                นายใส    ลือนาม  อายุ  65 ปี  บ้านเลขที่ 4  หมู่ที่ 6 ต.บ้านยาง  อ.ลำทะเมนชัย จ.นครราชสีมา                นางสุบัน   ประทุมศิริ  อายุ  60 ปี  บ้านเลขที่ 54  หมู่ที่ 6 ต.บ้านยาง  อ.ลำทะเมนชัย จ.นครราชสีมา 
หมายเลขบันทึก: 138195เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2007 17:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 14:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท