การลงทุนเพื่อสุขภาพหลายมิติ


เรามักมองว่า สุขภาพ มีมิติเดียว คือไม่เจ็บป่วย

แต่เราอาจนิยามสุขภาพหลายมิติกว่านั้น

  • สุขภาพทางร่างกาย
  • สุขภาพทางจิตใจ
  • สุขภาพสิ่งแวดล้อม
  • สุขภาพสังคม
  • สุขภาพการเงิน
  • ฯลฯ

และแม้แต่เรื่องที่ดูเหมือนมิติเดียว จริง ๆ แล้ว ก็ยังมีอะไร ๆ ซ่อนอยู่ไม่น้อย

เช่น สุขภาพร่างกาย

ถ้าเราจะออกกำลังกาย เราอาจต้องถามว่า จะหวังผลกระทบให้ถึงอวัยวะส่วนไหน ?

  • หัวใจ ?
  • หลอดเลือด ?
  • กล้ามเนื้อ ?
  • ปอด ?
  • ฯลฯ

ซึ่งก็จะนำไปสู่การตัดสินใจออกกำลังกายที่ไม่เหมือนกันอีก

การตัดสินใจออกกำลังกาย เป็นการลงทุนที่เน้นลงแรง อาจไม่สนุกสำหรับคนที่ไม่เคยออกกำลังกาย

แต่การไม่ออกกำลังกาย เป็นการกิน "บุญเก่า" ที่หมดกันได้

วัยรุ่น มักไม่เข้าใจตรงนี้ เพราะ "บุญเก่า" เยอะจนรู้สึกว่า "รวย" และ "ใช้อย่างไรไม่มีวันหมด"

แต่หมดครับ

แถว ๆ อายุตรง 35-40 น่ะ

จะไปหมดแถว ๆ นั้นแหละ...

หลายคนเป็นเหมือนรถที่ใช้หนักมือจนเก่า ไม่ซ่อมบำรุง ไปจอดหมดสภาพกลางที่เปลี่ยว

แถมยังไม่รู้ตัวอีกแน่ะ ว่าถึงเวลายกเครื่อง !

นี่อาจเป็นเหตุผลว่า ทำไม คนไทยจึงมีอายุเฉลี่ยการ "หง่อมหมดสภาพ" ที่อายุเพียง 60 ปี ! (http://www.who.int/healthinfo/paper16.pdf)

...น้อยกว่าชาวญี่ปุ่น ที่อายุเฉลี่ยหง่อมหมดสภาพ เกิน 70 ปี...

คนแก่แบบแก่หง่อม ลุกนั่งไม่รอด ลองไปถามดูเถอะ เคยผ่านระยะ "ไม่ว่าง" สำหรับการออกกำลังกายกันมาก่อนทั้งนั้นเกือบทั้งนั้น

  • ....ก็งาน มันยุ่ง...
  • ...ไม่มีเวลา...
  • ...ต้องทำมาหากิน...
  • ...ต้อง เลี้ยงลูก...

บางครั้ง ก็ชวนให้คิด ว่าวัยหนุ่มสาวยามมีเรี่ยวแรง เราใช้ชีวิตไปแลกเงิน

แต่เมื่อยามสังขารหง่อมก่อนวัย เรากลับต้องใช้เงินไปแลกชีวิิตคืนมา

แต่ได้คืนมา ไม่ครบหรอกครับ

กฎธรรมชาติ ไม่เคยฟังคำแก้ตัวของใคร ไม่ว่าจะชวนเคลิ้มเพียงใด หรือเหตุผลหนักแน่นน่าฟังขนาดไหน

ต่อให้คนงานยุ่ง มีภาระ น่าสงสาร ขนาดไหนก็ตาม ไม่ได้รับยกเว้นเรื่องสุขภาพที่โทรมเพราะไม่เคยออกกำลังกาย 

แม้แต่เมื่อดูสุขภาพในมิติอื่น ข้อสรุปก็เป็นเช่นกัน 

เช่น สุขภาพดีทางสังคม ไปไหนก็มีเพื่อน มีคนยิ้มแย้มดีใจที่ได้พบปะพูดคุย ถ้าเป็นของจริง แสดงว่า ต้องผ่านการออกกำลังกายทางสังคมมาเยอะ คือต้องมีการเคยเอื้อเฟื้อสิ่งที่ดี เวลา ไมตรีจิต มิตรภาพ ให้คนอื่นมาก่อน

หรือกรณี สุขภาพการเงิน นี่ก็ต้องออกกำลังกายทางการเงินเหมือนกัน คือ รู้จักติดตาม (จดบันทึกค่าใช้จ่ายเพื่อเข้าใจเส้นทางการไหลของเงิน) รู้จักวินัยเหล็กการดำรงชีพ (การออม) และรู้จักผจญภัย ด้วยการเปิดออกสู่โลกกว้าง (การลงทุน)

หวังจะมีสุขภาพด้านไหนดี แล้วอยู่เฉย ๆ ให้มันมาเอง แบบนั้น เรียกว่า ฝันหวาน ก็คงน้อยไป

แต่ก็ยังไม่วายมีคนที่เป็นแบบนี้

แถมไม่เกี่ยวกับระดับการศึกษาซะด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพกาย/ใจ/สังคม/การเงิน/ฯลฯ

เป็นวุฒิภาวะของดำรงตนครับ ไม่ใช่วุฒิภาวะทางการศึกษา

 

 

หมายเลขบันทึก: 136403เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2007 23:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 14:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

คนไทยไม่ค่อยชอบออกกำลังกายค่ะ

แถวสวนลุมพินี มีแต่คนจีนที่หนาตามากค่ะ

การออกกำลังสม่ำเสมอ เป็นอะไรที่ เราไม่ค่อยชอบทำกัน

P
อ้อ ลืมบอกไป คุณวิบุล คิดอะไร ที่มีเหตุผลมากเลยค่ะ หลายๆเรื่องค่ะ

ขอบคุณครับ พี่ P  sasinanda

  • ชมมาก ผมเขิน เดี๋ยวจะเขียนไม่ออกนะครับ

เรื่องการออกกำลังกาย 

  • วัฒนธรรม คงเกี่ยวข้องมาก
  • ออกกำลังกาย เป็นการ สะสม
  • ..."สะสมสุขภาพ"...
  • คนจีน ชอบสะสมกว่าคนไทย (อย่างเช่น เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ หัวเซ็งลี้ฮ้อ คนจีนขึ้นชื่อกว่า ว่าสะสมเก่ง ทำให้มีทุนค้าขาย)
  • อีกอย่าง คนจีนมักถือว่า "รวยไปก็เท่านั้น ถ้าสุขภาพไม่ดี ก็ใช้เงินไม่ได้"
  • แต่แนวโน้มนี้ ผมเห็นเปลี่ยนไปมาก ในทางที่ดีขึ้น
  • แต่ก็อาจเป็นผลจากวัฒนธรรมอีก
  • เพียงแต่เป็นวัฒนธรรมที่ขับเคลื่อนด้วยความรู้ ความมุ่งมั่น ของสังคมเอง
  • และคนแวดล้อม ก็มีผลมากครับ
  • สถานที่เดียวกัน สามสิบปีก่อน ผมไปเดิน แทบจะไำม่เห็นคนออกกำลังกายเลย
  • สถานที่เดียวกัน ปัจจุบันนี้ ผมไปเดิน แทบจะไม่มีที่เดิน เพราะต้องคอยหลบคนวิ่งออกกำลังกาย
  • มีทุกเชื้อชาติที่อยู่ละแวกนั้นเลยครับ ที่มาเดิน มาวิ่ง

 

เจอเข้ากับตัวเองมาเกือบปีแล้วค่ะ สุขภาพหลังเสียจากการนั่งทำงานนานเกินไปต่อวัน สะสมมาเป็นสิบปี เคยทนได้ เมื่อยเดี๋ยวก็หาย ตอนนี้นั่งโดยไม่มีพนักพิงไม่ได้เลย 5 นาทีก็ปวดมากจนจะแย่ กล้ามเนื้อหลังไม่แข็งแรง ต้องหาหมอทุกเดือน ในที่สุดหมอก็บอกว่ายาขนานไหนก็ช่วยไม่ได้ถาวร เดี๋ยวก็เป็นอีก ต้องออกกำลังกายเท่านั้น เลยสำนึกได้หันมาออกกำลังกาย นี่พึ่งจะทำต่อเนื่องมาได้เกือบเดือน ดีขึ้นจนรู้สึกได้ แต่ก็ไม่หายปุ๊บปั๊บ เพราะเราใช้ร่างกายเกินขีดจำกัดมานาน หวังจะให้หายดีในเดือนเดียวหมอบอกว่าไม่มีทาง

คุณ P Little Jazz \(^o^)/

"ตอนนี้นั่งโดยไม่มีพนักพิงไม่ได้เลย 5 นาทีก็ปวดมากจนจะแย่"

  • แบบนี้แสดงว่า โครงหลังเสียศูนย์มาก
  • สัญญาณอันตรายสุด ๆ แล้วละครับ ถ้าจัดการไม่ดี มีสิทธิหง่อมหลังคู้ก่อนแก่ได้
  • เพราะสำหรับคนที่ไม่เคยมีปัญหา นั่งป้องกันปัญหา คือนั่งหลังตรง โดยไม่พิง โดยเก้าอี้นั่งไม่ควรนุ่มเหมือนฟูก เพราะจะทำให้นั่งหลังตรงไม่ได้
  • ตัวเร่งส่วนหนึ่งของคนใช้คอมพ์ อาจมาจากคอมพิวเตอร์วางไว้ไม่เหมาะ เช่น จอสูงเท่า หรือสูงกว่าระดับสายตา หรือเก้าอี้เตี้ยไปครับ ควรดูประเด็นนี้ด้วย ไม่งั้นทำยังไง ๆ ก็ไม่หายขาด

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท