ทางหลวง 105 กับบ้านกะเหรี่ยงทีโนะโคะ (1)


บ้านไหนยังเลี้ยงหมู แปลว่าลูกสาวยังไม่แต่งงาน
   หากท่านเป็นคนต่างถิ่น ต้องการเดินทางไปอำเภอแม่สอด โดยทั่วไปมีทางเลือกเพียงสองทางเท่านั้น คือ หนึ่ง ลงมาจากแม่ฮ่องสอน และสอง เลี้ยวไปจากจังหวัดตาก (หรืออำเภอบ้านตาก) หรืออาจมีทางเลือกที่สาม หากท่านอยู่ที่อุ้มผาง ก็ขึ้นมาทางทิศเหนือ พบแม่สอดแน่ๆ นอกจากนี้แล้วอย่าพยายามเลย ไม่สำเร็จหรอกครับ

   ที่ทราบก็เพราะครั้งหนึ่ง ผมต้องเดินทางไปแม่สอด และในเที่ยวนั้นเป็นการเดินทางที่ทรหดเหลือเกิน เราเริ่มต้นที่ อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร ดูแผนที่แล้วน่าจะไปแม่สอดได้ไม่ยาก ผ่านทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1117 ก็เข้าอุ้มผางได้ แต่เมื่อสอบทางตำรวจทางหลวง ได้รับคำตอบว่าเส้นทางนั้นท่านทำไว้ไม่เสร็จครับ คือมีขาดอยู่ตรงกลาง รถผ่านไม่ได้ ใครอยู่คลองลาน จะไปอุ้มผาง ซึ่งห่างกันเพียงประมาณ 50 กิโลเมตร แต่ท่านต้องอ้อมขึ้นไปทางตาก อ.แม่สอด ผ่าน อ.พบพระ แล้วจึงลงมาที่อุ้มผาง รวมระยะทางราว 200 กิโลเมตร แต่เวลานั้นมากกว่าที่ท่านคิดแน่ๆ เพราะเส้นทางคดเคี้ยวมาก ด้วยความเร็วเฉลี่ยไม่เกิน 60-80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง!

   ตอนแรกเราตั้งใจว่าหลังจากไปทำธุระที่คลองลานแล้ว จะไป พบพระ หรืออุ้มผาง แต่เมื่อทราบเส้นทางแล้วก็เปลี่ยนแผนกะทันหัน ไปท่าสองยางแทน จะได้ไม่ต้องอ้อมไปอ้อมมา เพราะวันถัดมาเราจะไปแม่ฮ่องสอน

   สำหรับเส้นทางจากตากถึงแม่สอดนั้น เป็นหนึ่งในเส้นทางที่หลายคนไม่ปรารถนา เพราะเส้นทางคดเคี้ยว น่าหวาดเสียวพอสมควรสำหรับเราๆ ท่านๆ ที่คุ้นเคยกับทางเรียบ ระยะทางจากแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ไปทางตะวันตกเข้าเส้นทาง 105 นั้น กว่าจะถึง อ.แม่สอดก็ประมาณ 70 กิโลเมตร ตลอดทางไม่มีปั๊มน้ำมันใหญ่ มีแต่ปั๊มหลอดแถวด่านแม่ละเมาแห่งเดียว (เมื่อเลยครึ่งทางได้พอสมควร) ฉะนั้นใครจะมาทางนี้ ก็ตรวจตราน้ำมันเสียให้เรียบร้อย

   ครั้งแรกที่ผ่านจากตากไปแม่สอด ผมไปตอนกลางคืน จึงไม่เห็นทัศนียภาพรอบข้างเท่าไหร่ แต่ผู้โดยสาร (รถตู้) ต่างเวียนหัวเหลือเกิน แม้กระทั่งคนขับยังจอดเมื่อก่อนถึงแม่สอดเล็กน้อย บอกว่า "เมารถว่ะ" แล้วเดินไปล้วงคออาเจียนที่ข้างทาง พวกเราทั้งขำทั้งเห็นใจ ตั้งแต่เกิดมา นั่งรถมาก็เยอะ เพิ่งเคยเห็นคนขับเมารถก็คราวนี้

   เมื่อต้องผ่านเส้นนี้ทีไรเป็นต้องเสียววาบ ค่าที่เคยทราบข่าวอยู่เนื่องๆ ว่ามีอุบัติเหตุหลายราย ทั้งตีนผี และตีนแมว ลงไปแอ้งแม้งอยู่สองข้างทางนับตั้งแต่การก่อสร้าง ตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่ทราบ จนป่านนี้ก็ยังไม่วาย คิดแล้วก็เงียบ เพราะไม่อยากให้คนอื่นรู้สึกไม่ดีด้วย

   ครั้งหลังเราไปตอนกลางวัน จึงได้เห็นว่าเส้นทางคดเคี้ยว และมีแต่เขากับเหวเท่านั้นเอง แต่ถ้าเทียบกับเส้นทางอื่นๆ ในภาคเหนือแล้ว ถือว่าเส้นทางนี้ยังเบาะๆ พื้นถนนนั้นเรียบทีเดียว หากรู้จักจังหวะเลี้ยวจังหวะโค้ง ก็พาตัวเองสู่ปลายทางได้ไม่ยากนัก

   เวลาขับรถในเส้นทางแบบนี้ จะมีเรื่องน่ารำคาญสำหรับรถที่ช้ามาก เนื่องจากเส้นทางที่แคบ และมีโค้งอยู่ตลอด ทำให้แซงได้ยาก และไม่ควรจะแซงถ้าไม่จำเป็น กว่าจะแซงได้คนในรถลุ้นกับตัวโก่ง จะว่าไป แรกๆ ก็คอยลุ้นกันกว่าจะแซงผ่านทีละคันๆ บางครั้งต่อท้ายยาวสี่ห้าคัน พอถึงทางโค้ง ปรากฏว่าโฟร์วีลจากไหนก็ไม่ทราบแซงแผลวรวดเดียวห้าคัน

   เราใช้เวลาประมาณชั่วโมงกว่าๆ จากตากไปแม่สอด นับว่าทำเวลาได้ดี มีตำรวจตั้งด่านตรวจที่ด่านแม่ละเมาที่เดียว ไปถึงแม่สอด ไม่ได้เข้าไปในเมือง แวะเติมน้ำมันบริเวณสี่แยก แล้วเลี้ยวขวาเข้าเส้นทางหมายเลข 105 นี้ต่อ เพราะจุดหมายต่อไปก็คือที่ว่าการอำเภอท่าสองยาง

   ผมได้ติดต่อไปที่สำนักงานพัฒนาชุมชนของอำเภอท่าสองยาง ว่าจะไปดูการทอผ้าของชาวเขาที่นั่น มีบ้างหรืออย่างไร ท่านบอกว่ามีแน่ๆ เพราะอำเภอนี้มี 65 หมู่บ้าน เป็นชาวกะเหรี่ยงเสีย 64 หมู่บ้าน เป็นอันว่าได้เรื่อง แต่ไปถึงช้ากว่ากำหนดราว 3 ชั่วโมง คือก่อน 16.30 เล็กน้อย เจ้าหน้าที่ ข้าราชการกลับบ้านกันเกือบหมดแล้ว เหลือแต่นายอำเภอและใครอีกไม่กี่คน และพี่สันติภาพ พัฒนากรที่คอยพวกเราอยู่

   เข้าไปขอโทษขอโพยตามระเบียบ ท่านเข้าใจดี บอกว่าชาวบ้านเตรียมตัวแต่เช้า ตอนนี้กลับบ้านกันหมดแล้ว ก็ไม่เป็นไร พี่สันติภาพบอกว่าจะไปตามหัวหน้า รอสักสิบหรือสิบห้านาที ทั้งหัวหน้า ทั้งเจ้าหน้าที่รวม 5 คน พาเราไปหมู่บ้านกะเหรี่ยง ก่อนจะไปก็ไปหานายอำเภอตามธรรมเนียม ท่านถามว่ามาจากไหน อะไรทำนองนี้แหละ แล้วออกเดินทาง ตอนนั้นเกือบ 5 โมงเย็นเข้าไปแล้ว

   หมู่บ้านที่ไป ไม่ไกลจากที่ว่าการ ราว 12 กิโลเห็นจะได้ เส้นทางก็สะดวกดี เรียกว่าหมู่บ้านทีโนะโคะ หมู่บ้านชาวกะเหรี่ยง มีบ้านเรือนอยู่หนาแน่นพอสมควร ทำเลดี เพราะด้านหลังเป็นภูเขาเหยียดตลอดแนวเหนือใต้ ข้ามเขานี่ไปไม่ไกลก็ถึงชายแดนไทยพม่า (ข้ามแม่น้ำเมยก่อน) ข้างหน้าภูเขามีลำธารสายเล็กๆ เรียกว่าแม่อุสุ

   บ้านเรือนที่นี่ดูสะอาดสะอ้านพอสมควร ใต้ถุนมักจะมีครกกระเดื่อง และพ้อมใบใหญ่เบ้อเริ่ม สานด้วยไม้ไผ่สำหรับใส่ข้าวเปลือก เขาสร้างไว้ใหญ่โตมาก ขนาดโอ่งใหญ่สามสี่ใบ สูงจรดพื้นเรือน ด้านนอกฉาบด้วยดินหรือมูลสัตว์ ถามเขาว่าเรียกอะไร เขาบอกมาแต่จดไว้หรือจำไว้ก็นึกไม่ออกจนป่านนี้ ตกลงว่าเรียกพ้อมอย่างที่เาใจกันก็แล้วกัน

  เราถ่ายสาวกะเหรี่ยงตำข้าวด้วยครกกระเดื่อง (คือเหยียบคาน ให้ค้อนไปตกลงในครกนั่นเอง) บ้านนี้เขาซ้อมกันสองคน สวมชุดประจำเผ่าเรียบร้อย แต่ก็ไม่หรูมาก

   ชาวบ้านทีโนะโคะยังมีฝีมือการทอผ้า ตามแบบฉบับของชาวเขา คือใช้กี่เอว แคบๆ หลายด้านหนึ่งผูกกับขื่อเรือน อีกด้านมาคล้องเอว สะดวกดี พับเก็บได้ แต่ผ้าของเขาจะแคบ เวลาจะใช้ต้องต่อกันสองผืนถึงจะนุ่งได้ ถ้าผืนเดียวมันคงจะสั้นจู๋ เป็นผ้าถุงก็คงไม่เลยเข่า

   สอบถามได้ความว่าเดิมมีถิ่นฐานในเขตพม่า อพยพมาที่นี่ราวร้อยปีได้แล้ว ดูบุคลิกแล้วก็ต่างจากชาวกะเหรี่ยงที่อื่นพอสมควร ถ้าเป็นผู้ชายนิยมสะพายย่าม สงสัยแต่ไม่กล้าถาม ว่าในย่ามท่านใส่อะไรไว้ เห็นสะพายกันแทบทุกคนทีเดียว สวนเสื้อผ้าก็นุ่งโสร่ง หรือไม่ก็กางเกงขายาว ผู้หญิงก็นุ่งผ้าถุง นานๆ ถึงจะเห็นนุ่งผ้าถุงแบบทอเอง คงจะเอาไว้ใช้ในโอกาสสำคัญ

   บ้านที่ไปดูเขาทอผ้านั้น คนทอเป็นสาว หน้าตาแฉล้ม ทาแป้งขาว นุ่งชุดขาว เป็นเครื่องหมายว่ายังบริสุทธิ์ผุดผ่อง (ยังไม่มีสามี) ใต้ถุนเลี้ยงหมูตัวใหญ่ พี่สันติภาพบอกว่า เลี้ยงไว้จนกว่าจะแต่งงานลูกสาว จึงจะเอาหมูมาเลี้ยงคนในงานนั่นแหละ บ้านไหนยังเลี้ยงหมู แปลว่าลูกสาวยังไม่แต่งงาน (อ่านต่อ)

ป.ล.ภาพชาวกะเหรี่ยง (ที่แม่ฮ่องสอน) ยืมจากบล็อกคุณ coffee mania

หมายเลขบันทึก: 136402เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2007 23:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
ขนาดหัดเขียนซะยาวเลยครับ  ทำให้เหมือนเดินทางไปด้วย
สวัสดีครับ อาจารย์เอกมาแต่เช้าเลย ความจริงผมเขียนไว้ก่อนนี้แล้วล่ะครับ เอามาทยอยให้พี่ๆ น้องๆ อ่านกัน ขอบคุณมากนะครับ ที่เข้ามาอ่าน อาจารย์คงเคยเดินทางผ่านไปแถวนั้นเหมือนกัน ;)
  • เปลี่ยนรูปใหม่แล้วนะครับ
  • เยี่ยมมาก
  • เดินทางเก่งจัง
  • ข้าผู้น้อยขอคารวะหนึงจอก(กาแฟ)
  • ฮ่าๆๆ
  • สวัสดีคะ..รู้แล้วคะว่าทำไมคุ้นชื่อ นามสกุลของคุณจัง
  • แถมสำนวนการเขียนนี่ระดับอาจารย์
  • โอ้โหพึ่งได้รู้จักนักเขียนนักแปลที่มีผลงานนับไม่ถ้วน...ตัวเป็นๆ
  • อิอิ...เก่งมากเลยนะคะที่เขียนหนังสือทุกแนวเลย...ต้องกลับไปค้นตู้หนังสือที่บ้านเก่าบ้างแล้วว่ามีงานแปลของคุณหรือไม่
  • แล้วจะกลับมาขอลายเซ็นต์นะคะ
ขอบคุณอาจารย์ขจิตมากครับ กำลังศึกษาระบบอยู่ครับ สนุกดีเหมือนกัน กาแฟถ้วนเดียวไม่พอ ขอสองนะครับ อิๆๆ.... ขอบคุณคุณ naree suwan ด้วยครับที่เข้ามาแวะอ่าน ความจริง มีเรื่องจะสารภาพ ตอนแรกที่เข้ามา gotoknow เพราะจะหาข้อมูลไปเขียนบทความเกี่ยวกับบล็อก จึงต้องทดลองใช้ แต่ทดลองไปสักพัก ปรากฏว่าติดหนึบ เพราะถูกกะบุคลิก เหมาะกับคนทำงาน (บล็อกอื่นๆ อาจจะเหมาะกับวัยรุ่น และบันเทิง มีเมนู ไอคอนเต็มไปหมด ตาลาย) มีเรื่องหนุกๆ ตลกๆ ติงต๊อง แล้วก็บรรยากาศแสนอบอุ่น ;)

สวัสดีค่ะ ..คุณธวัชชัย..

ทางปางมะผ้ากะเหรี่ยง น้อยค่ะ ..แต่ก็พอทราบเรื่อง ชุดขาวของสาวกะเหรี่ยง..และเรื่องหมู ..

เมื่อหลายปีก่อน  เส้นทางที่คุณใช้เดินทางไม่ได้อันตรายแค่เส้นทางค่ะ...มีการดักปล้นกันบ่อยมาก..มีเจ้าหน้าที่ ที่รพ. ใช้นทางนั้นกลับไปเยี่ยมญาติ ถูกปล้น โดนยิง บาดเจ็บกันไป..ตอนนี้ยังแหยง ๆ เลยค่ะ ไม่กล้าเดินทางคนเดียว..

 

สวัสดีครับ คุณPทราบแล้วอุบอิบๆ อย่าบอกใครนะครับ อิๆ

 คุณ P ครับ ก็ตอนที่ผมออกจากแม่แจ่มไปขุนยวม พี่ๆ ที่ปลายทางก็ต่อว่า บอกทางนั้นอันตราย เขาขนยาบ้ากันรู้ไหม แต่สมัยนี้น่าจะสัญจรกันมากขึ้นแล้วนะครับ..

 ป.ล. ก้าวหน้าอีกขั้น ใส่ภาพสมาชิกเป็นแล้วด้วย

สวัสดีครับ

ผมชักหลงรักบันทึกเหล่านี้ขึ้นบ้างแล้ว  เพราะเต็มไปกลิ่นอายวัฒนธรรมของคนพื้นถิ่นที่ผมชื่นชอบ

วิถีผู้คน คือวิถีวัฒนธรรมที่ผมชอบอ่านมายาวนาน แต่ก็ไม่ได้ศึกษาอะไรเป็นจริงเป็นจัง

คราวนี้ก็ได้ความรู้มากมายจากวาทกรรมสั้น ๆ นี้...  

 บ้านที่ไปดูเขาทอผ้านั้น คนทอเป็นสาว หน้าตาแฉล้ม ทาแป้งขาว นุ่งชุดขาว เป็นเครื่องหมายว่ายังบริสุทธิ์ผุดผ่อง (ยังไม่มีสามี)

ขอบคุณครับ

คุณPครับ คงจะเขียนไปเรื่อยๆ ครับ จนกว่าจะหมดมุก บางเรื่องก็เขียนไว้แล้ว บางเรื่องก็ยังไม่ได้เขียน ต้องทบทวนนานหน่อยครับ คุณแผ่นดินอ่านละเอียดจังเลยครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท