การเรียนรู้ตลอดชีวิตกับชาวนา (๑๑)


การเรียนรู้ตลอดชีวิตกับชาวนา (๑๑)


           ขอนำรายงานของมูลนิธิข้าวขวัญ ตอนที่ ๑๑ มาลงต่อนะครับ     จุดมุ่งหมายสำคัญอย่างหนึ่งของโรงเรียนชาวนาคือการลดความเจ็บป่วยที่เกิดจากการได้รับสารเคมีทางการเกษตร     แต่ชาวนามักไม่ตระหนักว่าความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เกิดจากสารเคมี    ดังนั้นการตรวจหาระดับสารเคมีในเลือดจึงเป็นรูปธรรมอย่างหนึ่งสำหรับการเปลี่ยนวิธีคิด หรือความเชื่อของชาวนา     ให้ชาวนาเห็นพิษภัยของสารเคมี และตั้งหน้าทำนาแบบอินทรีย์เต็มรูปแบบ


ตอนที่  11  หมอจ๋า…อะไรอยู่ในเลือด  ? 
     ช่วงกลางปีในเดือนกรกฎาคม  2547  มูลนิธิข้าวขวัญได้จัดสัปดาห์ตรวจเลือดหาสารเคมีตกค้างสำหรับนักเรียนชาวนาและเจ้าหน้าที่  ครั้งที่  1  โดยได้เชิญเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำตำบลของแต่ละแห่งมาช่วยตรวจตามขั้นตอน  นอกจากนี้  ยังมีชาวบ้านทั่วไปที่ทราบข่าว  ก็ให้ความสนใจมาขอรับบริการกันอย่างมากมาย 
     ในระหว่างที่มีการเจาะการตรวจเลือด  ก็พากันใจหายใจคว่ำกันเป็นแถวๆ  พอดีว่ามีนักเรียนชาวนาบ้างคนมาเจอเครื่องไม้เครื่องมือการตรวจเลือดแล้ว  ก็ยิ่งนึกยิ่งคิดทึกทักว่าจะให้ตรวจหาเชื้อหาโรคอะไรกันหรือเปล่า  ?  ...  อ๋อ...  เปล่า  อย่าได้เข้าใจผิดคิดไปไกลขนาดนั้น  ขวัญเอ๋ย...  ขวัญมา...  เพียงแค่ตรวจหาสารเคมีในเลือดอย่างเดียว  อย่างอื่นไม่เกี่ยวนะ  เจาะเลือดนิดเดียว  พอๆกับมดกัด  “ไม่เจ็บหรอกคะๆ”  เจ้าหน้าที่สาธารณสุขขอเชื่อมสัมพันธ์กับนักเรียนชาวนา  “กลัวเข็มหรือคะ?” 
     พอผลตรวจเลือดออกมาแล้ว  ก็มีการจัดเป็นระดับต่างๆ  คือ  1  2  3  และ  4  ต่างคนต่างก็ลุ้น  ยิ่งกว่าหวยออกเสียอีก  เพราะเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะขานชื่อทีละคนพร้อมแจ้งระดับของสารเคมีที่ตกค้างในเลือด 
       ระดับสารเคมีที่ตกค้างในเลือด  แบ่งได้ออกเป็น  4  ระดับ  ดังนี้
         ระดับ  1        หมายถึง    ในเลือดมีสารเคมีตกค้างอยู่ในระดับที่ปกติ
         ระดับ  2        หมายถึง    ในเลือดมีสารเคมีตกค้างอยู่ในระดับที่ปลอดภัย
         ระดับ  3        หมายถึง    ในเลือดมีสารเคมีตกค้างอยู่ในระดับที่มีความเสี่ยง
         ระดับ  4        หมายถึง    ในเลือดมีสารเคมีตกค้างอยู่ในระดับที่ไม่ปลอดภัย

          

  ภาพที่  59  เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเจาะเลือดเบาๆจากปลายนิ้วนักเรียนชาวนา  เพื่อนำไปตรวจวัดระดับสารเคมีในเลือด
  ภาพที่  60  นักเรียนชาวนาร่วมเรียนรู้  การตรวจระดับสารเคมีในเลือด  (ระดับ  1  2  3  หรือ  4)
 
     และผลจากการตรวจหาสารเคมีที่ตกค้างในเลือด  เป็นดังต่อไปนี้   
     นักเรียนชาวนาที่ทำการตรวจเลือดทั้งหมดจำนวน  191  คน  พบว่า  ส่วนใหญ่ร้อยละ  43.46  อยู่ในระดับ  3  หรือระดับที่มีความเสี่ยง  รองลงมาอับดับที่  2  ร้อยละ  34.03  อยู่ในระดับ  2  หรือระดับที่ปลอดภัย  รองลงมาอันดับที่  3   ร้อยละ 15.18  อยู่ในระดับ  4  หรือระดับที่ไม่ปลอดภัย  และมีเพียงส่วนน้อย  ร้อยละ  7.33  อยู่ในระดับ  1  หรือระดับปกติ
     จะเห็นได้ว่านักเรียนชาวนาจาก  4  โรงเรียน  ส่วนใหญ่อยู่ในระดับ  3  (มีความเสี่ยง)  ยกเว้นนักเรียนชาวนาในโรงเรียนชาวนาบ้านดอน  ตำบลบ้านดอน  อำเภออู่ทอง  ส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับ  2  (ปลอดภัย) 
     จากข้อมูลยังพบอีกว่า  กรณีนักเรียนชาวนาในโรงเรียนชาวนาบ้านโพธิ์  อำเภอเมือง  ไม่พบว่ามีนักเรียนอยู่ในระดับ  1  (ปกติ)  เลย  และมีนักเรียนอยู่ในระดับ  2  (ปลอดภัย)  เพียงร้อยละ  2.44  เพราะส่วนใหญ่ถึงร้อยละ  70.07  อยู่ในระดับ  3  (มีความเสี่ยง)  และร้อยละ  26.83  อยู่ในระดับ  4  (ไม่ปลอดภัย)
     (ดูภาคผนวก  ข  ประกอบ)
     เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น  ?
     นักเรียนชาวนาบางคนคลุกคลีอยู่กับสารเคมีมานาน  นานเป็นสิบๆปีก็ว่าได้  จึงทำให้ผล   การตรวจเลือดอยู่ในระดับ  4  เพราะกลายเป็นผู้สัมผัสสารเคมีที่ใช้ฉีดพ่นในนาข้าวแปลงผักอยู่เป็นระยะๆ  หรือบางคนแม้จะทำนาทำไร่มาตลอด  แต่ผลการตรวจเลือดอยู่ในระดับ  2  อาจจะเป็นเพราะว่าไม่ได้สัมผัสเองโดยตรง  เนื่องจากจ้างคนอื่นเขาฉีดพ่นแทน  (คนอื่นก็รับสารเคมีไปแทน)
     การรับสารเคมีทางอ้อม  ได้แก่  การกินพืชผักผลไม้ที่ฉีดพ่นด้วยสารเคมีเป็นประจำ  ผล    การตรวจเลือดอาจจะอยู่ในระดับ  3 – 4  ก็ได้  ทั้งนี้ก็เพราะเป็นผู้บริโภคที่รับสารเคมีตกค้างในอาหาร  ซึ่งไม่จำเป็นต้องไปสัมผัสจากการฉีดพ่น 
     ระดับสารเคมีตกค้างในเลือดนี้  มีหลายปัจจัยประกอบเข้าด้วยกัน  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ     การสัมผัสสารเคมีโดยตรง  หรือทางอ้อมจากการกินอาหารที่มีสารเคมีตกค้าง  เรื่องของปริมาณสารเคมีที่ร่างกายรับเข้าไป  เรื่องของระยะเวลาที่รับสารเคมี  ดังนั้น  ทุกคนจึงมีโอกาสอยู่ในระดับที่ปกติ  ปลอดภัย  มีความเสี่ยง  และไม่ปลอดภัย  แตกต่างกันออกไป
     สำหรับผู้ที่มีผลการตรวจเลือดหาสารเคมีตกค้างอยู่ในระดับที่  4  จึงจำต้องป้องกันและระวังการสัมผัสสารเคมีโดยตรงและการกินอาหารที่มีสารเคมีตกค้าง  เพื่อให้สารเคมีเข้าสู่ร่างกายสู่     เส้นเลือดให้น้อยลงเท่าที่จะสามารถควบคุมดูแลได้  จึงจะปลอดภัย  แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่มีผลการตรวจเลือดหาสารเคมีตกค้างที่อยู่ในระดับที่  1  หรือ  2  จะชะล่าใจ  เพราะถ้าหากไม่ระมัดระวังการดำเนินชีวิตประจำวัน  นำพาตนเองเข้าไปสู่การสัมผัสสารเคมีหรือการกินอาหารที่มีสารเคมีตกค้างเพิ่มขึ้นอีก  โอกาสที่จะเลื่อนระดับสูงขึ้นก็มีสูง  ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่ายินดีเลย
     และจากการตรวจสุขภาพของนักเรียนชาวนา  พบอาการป่วยของนักเรียนชาวนารวมทุกพื้นที่  ในกลุ่มอาการทางร่างกาย  ทางสายตา  ส่วนใหญ่เป็นอาการตาลาย – พร่ามัว  ร้อยละ  31.67  รองลงมาอันดับที่  2  เป็นอาการน้ำตาไหล  ร้อยละ  28.33  และรองลงมาอันดับที่  3  เป็นอาการ     ตาแดง  ร้อยละ  15.00   
     ในกลุ่มอาการทางร่างกาย  ทางเดินหายใจ  ส่วนใหญ่ร้อยละ  45.79  เป็นอาการเหนื่อยและคอแห้ง  (ร้อยละ  23.36  และ  22.43  ตามลำดับ)  รองลงมาเป็นอาการใจสั่น  ร้อยละ  14.02 
     ในกลุ่มอาการทางร่างกาย  ระบบประสาทและกล้ามเนื้อ  ส่วนใหญ่เป็นอาการปวดศรีษะ  ร้อยละ  21.21  รองลงมาอันดับที่  2  เป็นอาการเวียนศรีษะ  ร้อยละ  18.18  และรองลงมาอันดับที่  3  เป็นอาการอ่อนเพลี้ย – ไม่มีแรง  ร้อยละ  15.15   
    ในกลุ่มอาการทางร่างกาย  ทางเดินอาหาร  ส่วนใหญ่เป็นอาการคลื่นไส้  ร้อยละ  54.29  รองลงมาอันดับที่  2  เป็นอาการท้องเสีย – ท้องร่วง  ร้อยละ  25.71  และรองลงมาอันดับที่  3  เป็นอาการอาเจียน  ร้อยละ  20.00   
     ในกลุ่มอาการทางร่างกาย  ทางผิวหนัง  ส่วนใหญ่เป็นอาการคันตามผิวหนัง  ร้อยละ  34.25  รองลงมาอันดับที่  2  เป็นอาการผิวหนังผื่นแดง  ร้อยละ  21.92  และรองลงมาอันดับที่  3  เป็นอาการปวดแสบ – ปวดร้อน  ร้อยละ  20.55   
     และกลุ่มอาการทางจิต  ส่วนใหญ่เป็นอารมณ์หงุดหงิด  ร้อยละ  27.50  รองลงมาอันดับที่  2  เป็นอาการนอนไม่หลับ  กระสับกระส่าย  ร้อยละ  26.25  และรองลงมาอันดับที่  3  เป็นความเครียด  ร้อยละ  22.50
     ผลการตรวจเลือดและสุขภาพในครั้งแรกนี้  บ่งบอกอะไรแก่เราๆท่านๆทั้งหลายได้บ้าง  ?     นี่คือสภาพร่างกายของนักเรียนชาวนา  ชาวนาไทยในยุคหลังปี  2000  และยุคโลกาภิวัฒน์  ระดับผลการตรวจเลือดนั้นชี้ให้เห็นว่า  ทุกคนมีโอกาสได้รับสารเคมีด้วยกันทั้งหมด  เพียงแต่ใครได้เสี่ยงมากเสี่ยงน้อยก็ว่ากันไป  แทบจะไม่มีใครบอกได้ว่าอยู่กันอย่างปกติ  จะขึ้นอยู่กับดวงหรือเปล่า  ?  อันนี้ก็ไม่แน่ใจ  แต่ก็คงเกี่ยวข้องกันด้วย  เพราะว่าอาจจะไปกินอะไรที่วางขายสวยๆงามๆแล้วเป็นอาหารที่มีสารเคมีตกค้างอยู่  ...  ก็ไม่รู้นี่จ้า  อาหารออกน่ารับประทานอย่างนี้  ?
     แต่ที่แน่ๆ  สำหรับนักเรียนชาวนา  ระดับของสารเคมีตกค้างในเลือดในครั้งนี้  เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับการตรวจครั้งต่อไปอีก  จะมีความเคลื่อนไหวอันใดเกิดขึ้นบ้าง  ?  เป็นประเด็นที่น่าติดตามอย่างควรเฝ้ามอง
     (ดูภาคผนวก  ข  ประกอบ)
ภาคผนวก  ข
ข้อมูลสถิติ
ลำดับที่
ระดับสารเคมีที่ตกค้างในเลือด
จำนวน  (คน)
ร้อยละ
1
ระดับ  1  ปกติ 
0
0.00
2
ระดับ  2  ปลอดภัย
1
2.44
3
ระดับ  3  มีความเสี่ยง
29
70.73
4
ระดับ  4  ไม่ปลอดภัย
11
26.83
รวม
41
100.00
ตารางที่  ข – 1  ผลการตรวจสารเคมีในเลือด  ครั้งที่  1 
เมื่อเดือนกรกฎาคม  2547  ของโรงเรียนชาวนาบ้านโพธิ์ 
ตำบลบ้านโพธิ์  และตำบลดอนโพธิ์ทอง  อำเภอเมือง  จังหวัดสุพรรณบุรี
ลำดับที่
ระดับสารเคมีที่ตกค้างในเลือด
จำนวน  (คน)
ร้อยละ
1
ระดับ  1  ปกติ 
1
1.82
2
ระดับ  2  ปลอดภัย
21
38.18
3
ระดับ  3  มีความเสี่ยง
27
49.09
4
ระดับ  4  ไม่ปลอดภัย
6
10.91
รวม
55
100.00
ตารางที่  ข – 2  ผลการตรวจสารเคมีในเลือด  ครั้งที่  1 
เมื่อเดือนกรกฎาคม  2547  ของโรงเรียนชาวนาบ้านสังโฆ 
ตำบลวัดดาว  อำเภอบางปลาม้า  จังหวัดสุพรรณบุรี
ลำดับที่
ระดับสารเคมีที่ตกค้างในเลือด
จำนวน  (คน)
ร้อยละ
1
ระดับ  1  ปกติ 
6
10.71
2
ระดับ  2  ปลอดภัย
33
58.93
3
ระดับ  3  มีความเสี่ยง
13
23.21
4
ระดับ  4  ไม่ปลอดภัย
4
7.14
รวม
56
100.00
ตารางที่  ข – 3  ผลการตรวจสารเคมีในเลือด  ครั้งที่  1 
เมื่อเดือนกรกฎาคม  2547  ของโรงเรียนชาวนาบ้านดอน 
ตำบลบ้านดอน  อำเภออู่ทอง  จังหวัดสุพรรณบุรี
    
ลำดับที่
ระดับสารเคมีที่ตกค้างในเลือด
จำนวน  (คน)
ร้อยละ
1
ระดับ  1  ปกติ 
7
17.95
2
ระดับ  2  ปลอดภัย
10
25.64
3
ระดับ  3  มีความเสี่ยง
14
35.90
4
ระดับ  4  ไม่ปลอดภัย
8
20.51
รวม
39
100.00

ตารางที่  ข – 4  ผลการตรวจสารเคมีในเลือด  ครั้งที่  1 
เมื่อเดือนกรกฎาคม  2547  ของโรงเรียนชาวนาบ้านหนองแจง 
ตำบลไร่รถ  อำเภอดอนเจดีย์  จังหวัดสุพรรณบุรี

(ติดตามต่อ)

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 1352เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2005 14:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 11:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท