ภารกิจหน่วยจัดการความรู้เพื่อพัฒนาชุมชน


บอกข่าวเล่าเรื่องประจำสัปดาห์ (11-16 กค.48)
  11/07/48

                ประชุมคณะทำงานโครงการ มหาวิทยาลัยชาวบ้าน” ณ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 20 คน จากหน่วยงาน  พช.  พอช.  เกษตรจังหวัด  สหกรณ์จังหวัด  ธกส.  ออมสิน  กศน.  ม.ราชภัฎนครศรีธรรมราช  ม.วลัยลักษณ์ กำนันและอบต.ท่าไร่  กำนันและจนท.พัฒนาอบต.บางจาก ตัวแทนจากต.มะม่วงสองต้น และนักศึกษา ป.เอกนิด้า ประเด็นการประชุม
                1. หารือในเรื่องการกำหนดโครงสร้างการจัดการโครงการ (กำหนดรายชื่อคณะทำงานให้ชัดเจนเพื่อลดปัญหาความไม่ต่อเนื่องของงาน)  

                2.  หารือแนวทางการขับเคลื่อน   

ข้อสรุปการประชุม หลังจากที่คุณภีม เริ่มเปิดประเด็นการพูดคุย (10.00 น.) ความไม่เข้าใจในรายละเอียดของโครงการ และแนวคิดของคณะทำงานใหม่ที่เข้ามาประชุมครั้งแรก ก็ต้องทำให้คุณภีมอธิบายเรื่องปลาตะเพียนว่ายน้ำอีกครั้ง (แซวกันในที่ประชุมว่าปลาตะเพียนเกร็ดแห้งหมดแล้ว เนื่องจากพูดหลายครั้งมาก) เป็นผลสืบเนื่องจากการส่งคณะทำงานของแต่ละหน่วยงานที่เข้าร่วมเป็นคณะทำงานยังไม่ชัดเจนสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาประชุมในแต่ละครั้ง คือคนไหนว่างคนนั้นก็มาประชุม ทำให้ขาดความต่อเนื่องในรายละเอียดของงาน

                ประเด็นแรกที่หารือกันก็ได้คณะทำงานที่ชัดเจน

                1.  ผู้รับผิดชอบโครงการนี้คือ หน่วยงาน 9 หน่วยงานที่กล่าวในข้างต้น(คุณเอื้ออำนวย) (การทำงานแบบบูรณาการ) และพื้นที่ (กำนัน/นายก อบต.)

                2.  ฝ่ายวิชาการ   คือ ม.วลัยลักษณ์

                3.  CKO  คือ พช.

                4.  รายชื่อคุณอำนวยที่จะลงพื้นที่จัดการความรู้ของ 3 ตำบล คือ

                ตำบลบางจาก  (พี่พัช จาก พช.  ครูมนัสชนก และครูเอกนรินทร์จาก กศน)

                ตำบลท่าไร่  (พี่จุรี จาก พช.  พี่ซาบีอา  ลุงชินวัตร  จากตัวแทนชุมชน)

                ตำบลมะม่วงสองต้น  (พี่เสาวคนธ์ จาก พช. พี่เสาวลักษณ์  และครูวรรณี จาก กศน.)

ประเด็นแนวทางในการขับเคลื่อนต่อไปก็จะพูดคุยกันในวันที่  25/07/48  และเป็นการเตรียมความพร้อม วางแผนร่วมกันว่ากิจกรรมวันที่ 26/07/48 ที่จะลงพื้นที่จัดการความรู้ที่ ณ วัดบางหลวง ม.3 ตำบลท่าไร่ ซึ่ง 3 ตำบลนำร่องที่เป็นเป้าหมายในโครงการคือ ต.บางจาก  ต.ท่าไร่  ต.มะม่วงสองต้น) ผลการทำกิจกรรมใน 2 วันนี้เป็นอย่างไรอย่าลืมเข้ามาติดตามกันนะคะใน gotoknow.org/kmm-p และ เว็บไซด์km4fc.wu.ac.th

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 1341เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2005 12:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 11:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
 13/07/48

                วันนี้ตื่นเช้า เพราะต้องรับอาจารย์สิรินาถ แพทยังกุล อาจารย์จาก ม.ราชภัฏสวนดุสิต ที่สนามบินนครศรีธรรมราช อาจารย์มีภาระกิจนัดสัมภาษณ์นายอำเภอท่าศาลา เวลา 10.00 น. ณ ที่ว่าการอำเภอท่าศาลา ท่านนายอำเภอพูดคุยอย่างเป็นกันเองมากทำให้การสัมภาษณ์ราบรื่น ได้ข้อมูลครบถ้วน ลืมบอกไปคะว่า ประเด็นการสัมภาษณ์ เรื่อง ระบบสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐที่เอื้อให้การดำเนินงานของชุมชนเกิดความเข้มแข็ง มี คุณภีม แป้น และแหม่ม ร่วมสัมภาษณ์(ทีมงาจากหน่วยจัดการความรู้ ฯ) ด้วย

                ท่านนายอำเภอมองเรื่องนี้ว่า ต้องฝึกให้ชาวบ้านบริหารจัดการกันเอง โดยมีหน่วยงานราชการเป็นผู้อำนวยการ คอยกำกับดูแล เป็นพี่เลี้ยง (แนวคิดเดียวกันกับการจัดการความรู้ของหน่วยจัดการความรู้ฯเลยคะ)

                12.00 น. พูดคุยกับกำนันตำบลบางจาก  เกษตรตำบลและผู้จัดการโรงงานปุ๋ยชีวภาพ ณ โรงปุ๋ยชีวภาพตำบลบางจาก ทำให้ได้ทราบมุมมองความคิดของประชาชนว่าพวกเขาเบื่อหน่ายกับการทำงานแบบซ้ำซ้อนของหน่วยงานราชการ เนื่องจากในแต่ละเดือนบางครั้งชาวบ้านต้องเข้าร่วมประชุมหลายรอบ (เรื่องเดียวกัน) แต่ต่างหน่วยงานที่เรียกประชุม ทำให้เสียเวลาในการทำมาหากิน หากแก้ไขตรงส่วนนี้ได้จะดีมาก ฉะนั้นฉันคิดว่าเราสมควรที่จะมาเอาจริงเอาจังกับการทำงานแบบบูรณาการ

                จากนั้นทีมงานก็แวะรับประทานอาหารเที่ยงที่ร้าน ครัวอันดามัน (ท่านใดมีโอกาสได้ไป ต.ปากนคร อ.เมือง จ.นครศรีฯ อย่าลืมแวะรับประทานอาหารที่นี่นะคะ บรรยากาศดี อาหารอร่อย )

                14.30 น.  นัดสัมภาษณ์ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีฯ ท่านว่า การดูแล บริหารจัดการประชาชนในแต่ละพื้นที่/จังหวัด วิธีการ กระบวนการจัดการที่นำมาใช้ต่างกันเนื่องจากวิถีชีวิต วัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่นั้นต่างกันฉะนั้นการจัดการที่ดีเราต้องศึกษาบริบท เข้าใจวิถีชิวิตและวัฒนธรรมของพื้นที่นั้น ๆ ด้วย

                หลังจากเสร็จภารกิจแล้วเราก็ได้แวะสักการะพระบรมธาตุ เมืองนคร ชมสินค้าพื้นเมือง (ชมนะคะไม่ได้ซื้อ) เดินทางกลับ ม.วลัยลักษณ์  เพื่อพักผ่อนจะได้มีแฮง เดินทางต่อไปในวันพรุ่งนี้
 

14/07/48

                ตื่นเช้าอีกแล้ว (ทีมงานชุดเดิม)เป้าหมายการเดินทางเช้านี้ จ.สตูล(ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง)

กองทัพต้องเดินด้วยท้อง แวะรับประทานอาหารเช้าที่ร้านหลานตาชู ร้านอาหารสไตล์คาวบอย มีเรี่ยวแรง หน่อยก้เดินทางมุ่งหน้าสู่ จ.สตูล นัดสัมภาษณ์ท่านนายอำเภอเมืองสตูลบ่าย 3

                ถึงเมืองสตูล โทรหาพี่นะ (เครือข่ายของเราเองคะ)พี่นะอาสาประสานแกนนำให้ทีมงานได้เสวนากัน (หลังจากที่เรารับประทานอาหารเที่ยงและสัมภาษณ์ท่านนายอำเภอเสร็จ)

                ได้เวลาแล้ว ณ ร้านน้ำชาในตัวเมืองสตูลพูดคุยกับแกนนำและลงพื้นที่บ้านหัวทาง ซึ่งแกนนำชาวบ้านจะจัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพราะเป็นแหล่งป่าชายเลนที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ มีประวัติความเป็นมา เรื่องเล่าที่น่าสนใจ 

                ได้เวลาแล้ว ลา พี่ ๆ แกนนำ เพื่อเดินทางไปยังตัวเมืองหาดใหญ่ หาที่พัก (พักเอาแฮง)
 15/07/48

                วันนี้ไปบ้านพ่อชบ  ยอดแก้ว ที่ ต.น้ำขาว อ.จะนะ จ.สงขลา ถึงที่หมายทักทายเจ้าบ้าน ไม่รีรอ เงาะ มังคุด เต็มต้นอยู่หน้าบ้านจัดการเก็บรับประทาน(จะพลาดได้ไง)พอประมาณ นั่งพูดคุยกับแกนนำกลุ่มสัจจะวันละ 1 บาท ต.น้ำขาว

-          วันที่ 1 ของเดือนรวมเงินออมสัจจะวันละ 1 บาท

-          วันที่ 2 ของเดือนกรรมการประชุมสรุปงาน

-          วันที่ 7 ของเดือนประชุมกรรมการและสมาชิกชี้แจงและประเมินตนเอง

ได้เวลานัดท่านนายอำเภอสัมภาษณ์ฉันกับอาจารย์สิรินาถต้องขอตัวไปก่อน แต่คุณภีมและแป้นก็นั่งพูดคุยกับแกนนำต่อไป

พูดคุยกับท่านนายอำเภอวันนี้ได้ความรู้เพิ่มเติมหลายเรื่อง ศาสนา เหตุบ้านการเมือง ระบบราชการ และทิ้งท้ายด้วยประเด็นเรื่องการทำงานแบบบูรณาการว่าเป็นไปได้ยากมาก(แต่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้/ต้องใช้เวลา)ต้องปรับตั้งแต่ระดับบนหรือระดับนโยบายก่อนถึงจะสามารถทำงานแบบบูรณาการได้

ประมาณบ่าย 3 ร่วมสัมภาษณ์ท่านผู้ว่าฯกับทีมงาน สั้น ๆ แต่ได้ใจความ ข้อมูลชัดเจน

เสร็จภารกิจสัมภาษณ์ ไปที่ มูลนิธิ ดร.ครูชบ-ปราณี ยอดแก้ว ฟังพ่อชบเล่าเรื่องราวชีวิต อย่างมีความสุข สนุกสนาน ฟังกันเพลินเลยคะ  คุยกันว่าเรื่องราวของพ่อชบน่าจะเอามาทำเป็นหนัง  พ่อชบมีกระบวนการจัดการชีวิตที่น่ายกย่องและเป็นแบบอย่างที่ดี ได้เวลารับประทานอาหารเย็น พ่อชบก็เล่าเรื่องราวชีวิตต่อในระหว่างทานอาหารเย็นที่หาดสมิหลา
 16/07/48

                ส่งอาจารย์สิรินาถ ที่สนามบินหาดใหญ่ ก็เดินทางเข้าร่วมการประชุมประจำเดือนที่ มูลนิธิ ดร.ครูชบ-ปราณี ยอดแก้ว ช่วงเช้าเป็นการสรุปภาพรวมของสัจจะออมทรัพย์วันละ 1 บาททำสวัสดิการภาคประชาชนจังหวัดสงขลา  ช่วงบ่ายปูพื้นการจัดการความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ของผู้เข้าร่วมประชุมจาก 15 อำเภอ โดย ดร.ประเสริฐ และ อ.สุกัญญา เป็นผู้จัดกระบวนการ

                เดินทางกลับ ม.วลัยลักษณ์ (พักผ่อนและบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ เล่าผ่าน BLOG)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท