Creativity บันทึกนี้มีรางวัล


. . . นี่คือส่วนหนึ่งของคำนำในหนังสือ “Tao: The Pathless Path” ที่กำลังจะเปิดตัวในงานมหกรรมหนังสือในอีกสองสัปดาห์ที่จะถึงนี้ครับ สำหรับคำถามชิงรางวัลที่พูดไว้ตั้งแต่ตอนแรกก็คือ . . .
 

            บอกก่อนครับว่าบันทึกนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ “Creativity Workshop” ที่ คุณกิล เอรอน เพิ่งทำให้กับบุคลากรของ สคส. และภาคีเครือข่ายแต่อย่างใด เพียงแต่ทำให้ผมคิดไปถึงหนังสือแปลเล่มแรกของ osho ที่ชื่อว่า “Creativity” ที่ผู้แปลใช้ชื่อเป็นภาษาไทยว่า คิดนอกรีต หลังจากที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ผมก็ได้อ่านฉบับภาษาอังกฤษเรื่อง Intuition และนับตั้งแต่นั้นก็เริ่มแปลงานของ osho มาอย่างต่อเนื่อง และที่เพิ่งส่งเข้าโรงพิมพ์ก็เป็นเล่มที่ห้าที่ตั้งชื่อว่า เต๋า: มรรควิถีที่ไร้เส้นทาง  ตกลงเล่มนี้ไม่มีรายการชิงรางวัลการตั้งชื่อหนังสือเหมือนเล่มที่แล้ว (เชาวน์ปัญญา)  แต่มีการให้รางวัลด้านอื่นแทนครับ แต่ก่อนที่จะพูดเรื่องนั้น ลองทำความรู้จักกับบางส่วนของเนื้อหาผ่านคำนำของหนังสือเล่มนี้กันก่อนนะครับ . . .

        . . . งานแปลหนังสือ osho เล่มนี้เป็นเล่มที่ห้าแล้ว . . . ผมรู้สึกเหมือนกับว่าได้รู้จัก osho มานานแสนนาน ทั้งๆ ที่เวลาเพิ่งผ่านมาได้เพียงสามปี . . . เป็นสามปีที่ได้มีโอกาสซึมซับกับวิถีคิดของ osho ผ่านหนังสือที่ถอดความจากการบรรยายของท่าน . . . ทว่าเล่มที่ห้านี้เป็นเล่มที่ค่อนข้างพิเศษสำหรับผม เพราะเป็นเรื่องเต๋าที่ผมสนใจมาไม่ต่ำกว่า 20 ปี . . . ก่อนที่จะได้มารู้จักกับงานของ osho
       เต๋าพูดถึงชีวิตที่ เลื่อนไหล เต๋าพูดถึงการปล่อยให้ เป็นไป ตามวิถีธรรมชาติ ปราศจากซึ่งการ เร่งรัด และ  ดัดแปลง ครั้งแรกที่ผมได้อ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษจบ ผมก็ตัดสินใจในทันทีว่า  เล่มนี้คือเล่มต่อไปที่จะแปล แล้วก็ลงมือแปลทันทีโดยไม่มีพิธีรีตองใดๆ เพียงแค่บอกทางสำนักพิมพ์ไปว่าให้ช่วยดำเนินการในเรื่องลิขสิทธิ์ให้ด้วย ครั้นเมื่อแปลไปได้ประมาณหนึ่งในสาม ก็ได้รับแจ้งว่าเล่มนี้มีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ โดยไม่ทราบรายละเอียดใดๆ ไปมากกว่านั้น รู้แต่เพียงว่ายังไม่รับลิขสิทธิ์ในการแปล  
        ในที่สุดผมต้องหยุดการแปลไว้ก่อน หันไปแปลเล่มที่ชื่อว่า Intelligence (เชาวน์ปัญญา)  แทน พอแปลเรื่อง Intelligence จบก็ได้รับแจ้งว่าได้รับลิขสิทธิ์เรื่องเต๋าแล้ว จึงกลับมาแปลเรื่องเต๋าต่อไป ทั้งๆ ที่ ถอดใจ แล้วว่าคงไม่ได้รับลิขสิทธิ์ในการแปลเล่มนี้ โดยที่ต้องใช้เวลามากทีเดียวกว่าจะ ต่อติด . . . ซึ่งปรากฏว่าการแปลเล่มนี้ใช้เวลามากกว่าที่คาดไว้หลายเท่า อาจเป็นเพราะผมพยายามทำ แบบเต๋า คือปล่อยให้ทุกอย่างไหลเลื่อนไป โดยไม่ผูกมัด ไม่เร่งรัด ไม่รีบร้อน ค่อยๆ แปล ค่อยๆ ซึมซับไปกับเรื่องเล่าของชาวเต๋าและการตีความของ osho ซึมซับและซาบซึ้งไปในความสวยงามของภาษา โดยไม่ได้มองว่าการแปลเสร็จเป็นความสำเร็จ หากแต่ความสำเร็จนั้นได้แฝงตัวอยู่แล้วในเรื่องเล่า ในถ้อยคำ และความรู้สึกที่ดื่มด่ำไปกับวิถีแห่งเต๋า
        . . . เป็นการแปลโดยไม่แปล . . . เป็นการทำโดยไม่ทำ . . . เป็นไปตามหลักของเต๋าที่กล่าวว่า ชีวิตเราไม่ต่างอะไรจากสายน้ำ ปล่อยให้มันไหลไป ถึงอย่างไรมันก็ไปถึงมหาสมุทรอยู่ดี ไม่ต้องมุ่งทำอะไรโดยไม่จำเป็น ไม่ต้องทำอะไรที่ไปฝืนกฎธรรมชาติ ผู้ที่ฉลาดย่อมรู้ดีว่าเป้าหมายสุดท้ายนั้นไม่มีจริง เพราะมันเป็นสิ่งที่อยู่ในอนาคต อนาคตนั้นไม่มีอยู่จริง สิ่งที่มีอยู่จริงคือปัจจุบันเท่านั้น ดังนั้นเป้าหมายที่แฝงอยู่ในทุกๆ ขณะเท่านั้นที่มีอยู่จริง เต๋ามองเห็นทั้งความเป็นของสองสิ่ง และความเป็นสิ่งเดียวกัน เต๋ากล่าวว่า ชีวิตและความตาย หาใช่ของสองสิ่ง แท้จริงแล้วมันเป็นสิ่งที่เป็นเนื้อเดียวกัน เป็นเหรียญอันเดียวกัน เพียงแต่ว่าเรากำลังมองมาที่ด้านไหนเท่านั้น หากไร้ซึ่งด้านหนึ่งด้านใด อีกด้านหนึ่งก็ย่อมจะไร้ซึ่งความหมาย หากปราศจากสิ่งที่เรียกว่าความตาย การมีชีวิตอยู่จะมีความหมายได้อย่างไร?  
        . . . ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงบางส่วนของข้อความที่ผมประทับใจในหนังสือเล่มนี้ บางทีอาจจะเป็นเรื่องที่เข้าใจยากสักหน่อย แต่ถ้าท่านปล่อยให้ถ้อยคำเหล่านี้ไหลเข้าไปในตัวท่าน แล้วท่านก็จะเป็นเหมือนผู้อ่านหลายๆ คนที่ส่งอีเมล์มาถึงผม เล่าให้ผมฟังว่าเรื่องเล่าและถ้อยคำของ osho ได้เปลี่ยนชีวิตพวกเขาไปอย่างไรบ้าง ผมขอถือโอกาสนี้ขอบคุณท่านผู้อ่านเหล่านั้นที่ได้กรุณาแบ่งปันประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงในชีวิตของท่านให้กับผม สิ่งเหล่านี้เป็นมากกว่า กำลังใจ เพราะมันเป็น แรงบันดาลใจ ที่ทำให้ผมแปลงาน osho มาได้อย่างต่อเนื่อง

       

        . . . นี่คือส่วนหนึ่งของคำนำในหนังสือ “Tao: The Pathless Path” ที่กำลังจะเปิดตัวในงานมหกรรมหนังสือในอีกสองสัปดาห์ที่จะถึงนี้ครับ สำหรับคำถามชิงรางวัลที่พูดไว้ตั้งแต่ตอนแรกก็คือ ใครคือผู้ที่เขียนคำนิยมให้หนังสือเล่มนี้ครับ? ท่านจะบอกเป็นชื่อเลยก็ได้ แต่โอกาสถูกน่าจะน้อยกว่าการบรรยายว่า . . . ท่านผู้นี้เป็นใคร? เป็นผู้ชายหรือผู้หญิง? อายุประมาณ . . . ทำงานเกี่ยวกับ? . . . อะไรก็ได้ แล้วแต่จินตนาการของท่าน ใครทายได้ใกล้เคียงที่สุด รับไปเลยครับ หนังสือ เต๋า: มรรควิถีที่ไร้เส้นทาง เมื่อออกวางตลาด

หมายเลขบันทึก: 135073เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2007 08:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มีนาคม 2012 15:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)

ครูอ้อยขอทายว่า...ไม่ใช่ครูอ้อยค่ะ  อิอิ

ยากจังค่ะ  แต่อยากได้หนังสือมากค่ะ

รักและเคารพค่ะ

  • อจ  ถวัลย์  ดัชนี
  • เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
  • วิศิษย์ วังวิญญู

เดาๆ ไป สามท่าน

อ.วรภัทร์ ท่านแซงผมไปแล้ว!!!

 

ผมขอเดาหนึ่งท่านคือ

"วิศิษฐ์ วังวิญญู"   ครับ

เตือนแล้วนะครับว่า ....เดาชื่อ โอกาสถูกยาก ...บอกคุณลักษณะก็ได้ แต่อย่าบอกกว้างเกินไปก็แล้วกัน ....นี่แหละครับ ...การสร้างสรรค์ ....creativity ที่ผมเรียนมา....

เต๋าพูดถึงชีวิตที่ เลื่อนไหล แต่ไม่เลื่อนลอย

เต๋าพูดถึงการปล่อยให้ เป็นไป ตามวิถีธรรมชาติ

แต่ไม่เป็นไปตามยถากรรม

เต๋าพูดถึงการไม่เร่งรีบ  แต่ต้องรู้ตื่น

ไม่ทราบว่า ใช่วิ๔แห่งเต๋ามั๊ยค่ะ

...ขอเดาว่า...คนเขียนคำนินม...เป็นผู้ชายอายุ 40 กว่าเกือบ 50....ทำงานเกี่ยวกับการจัดการความรู้หรืองานเกี่ยวกับชุมชนค่ะ

ไม่ ทราบว่าใกล้เคียงรึเปล่าค่ะ...แล้วจะทายมาใหม่ค่ะ...ช่วยใบ้หน่อยซิค่ะ

 

ขอบคุณ คุณmayana ที่กรุณาเดามา ผมคงจะให้เวลาสักอาทิตย์หนึ่งก่อนที่จะเฉลย ผมจะเลือกผู้ที่เดาได้ใกล้เคียง ...ถ้าบอกชื่อมาแล้วบังเอิญตรง ก็คงจะให้ท่านที่บอกมาเป็นท่านแรกนะครับ ...สำหรับ "คำใบ้" ขอนึกดูก่อนครับ ว่าจะใบ้อะไร กลัวว่าบอกไปแล้วจะไม่ท้าทาย

ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาร่วมรายการ ถือว่าเป็นแบบฝึกหัดเรื่อง Creativity ก็แล้วกันครับ เรื่องรางวัลคงไม่ใช่ประเด็นใหญ่ แต่ถึงอย่างไรก็เชียร์ให้อ่านเล่มนี้ เพราะเป็นการ "ตีความ" เต๋าที่ไม่ค่อยเหมือนเล่มอี่นๆ ที่ผ่านมา...

คงไม่ใช่ท่านเล่าจื้ออย่างแน่นอน 555
ขอเดามั่งแล้วกันค่ะ เป็นนักเขียนด้วย เคยมีผลงานเขียนหรือแปลอย่างน้อย 5 เล่ม เป็นวิทยากรสอนหนังสือบ้างเป็นบางครั้งตามคำเชิญ เพศชาย อายุอยู่ในช่วง 50-60 อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ มีความสนใจในแนวคิดเกี่ยวกับลัทธิเต๋าและศาสนา
เดาแบบนี้ถือว่ากว้างไปมั้ยคะ

เดาอย่าง คุณ Little Jazz อย่างนี้แหละครับ ผมว่ามีโอกาสถูก ...ตอนนี้ขึ้นอยู่กับว่า ใครจะทายได้ "ใกล้เคียง" กว่ากัน เท่านั้นเอง ... ผมกำลังนึก "คำใบ้" อยู่ครับ นึกได้เมื่อไรจะบอกไปทันที

วีรศักดิ์ วรรณรัตน์

ขอร่วมเดาด้วยคนครับว่าน่าจะเป็นระดับ ศาสตราจารย์ ดร.ผู้สนใจใฝ่หาความรู้อย่างลึกซึ้งในเรื่องของธรรมชาติ ชีวิต จิตใจ วัตถุตลอดถึงสกลจักรวาล อายุระหว่าง 70 - 80 ปี ท่านสนใจเรื่องจักรวาลเป็นพิเศษ

ขอบคุณท่านอาจารย์วีรศักดิ์ที่ร่วมรายการ ...ผมถือโอกาสบอกเรื่องรายการทีวีของกระทรวงศึกษา วันนี้ (8 ต.ค.) เวลา 13.30-14.00 น. ช่อง 11 ผมจะไปพูดคุยเรื่อง KM ครับ
ขอทายว่า ท่าน ดร.วรภัทร์  ภู่เจริญ

ขอทายต่างจากคนอื่นครับ

ทายว่าเป็นหญิงครับ ทำงานเกี่ยวกับการเผยแพร่ศาสนา

ขอบคุณ คุณวรชัย และ คนเผาถ่าน สำหรับการร่วมสนุก

ยิ่งคำตอบ "แตกต่าง หลากหลาย" ก็จะง่ายกับการตัดสินครับ ...จะเฉลยปลายสัปดาห์นี้ครับ

ผมเข้ามาดูว่ามีผู้ตอบเพิ่มเติมไหม?....แปลกใจที่มีคนร่วมตอบน้อย!!

ใครทราบบ้างไหมว่าเป็นเพราะอะไร?

หรือเพราะคนที่คาดว่าจะใช่นั้น  มีท่านอื่นได้ทายไปแล้วกระมังคะ

ผมขอร่วมเดาด้วยคนครับ

แว๊บแรกที่เห็นคำถาม ผมนึกถึงใบหน้าของผู้ชายใจดีท่านหนึ่ง อายุประมาณ 70 ปีเศษ พูดอะไรเป็นตรรกะ น่าคิด ได้ชื่อว่าเป็นราษฎรอาวุโส...ศ.นพ.ประเวศ วะสี

ท่านที่สองที่นึกได้ติดๆกัน เป็นชายอาวุโส อายุราว 80 ปีเศษ ท่านนี้เป็นนักดาราศาสตร์แต่สนใจธรรมะด้วยครับ... ศ.ดร.ระวี ภาวิไล

 

 

ขอบคุณ ครูส้ม และ คุณข้ามสีทันดร ...ยังมีโอกาสได้ลุ้นครับ

ที่มีคนร่วมตอบน้อยอาจจะเป็นเพราะมันกว้างจนนึกไม่ออก และไม่ชอบเดา  ^ ^ แต่ที่ซูซานก็เดาแบบมีหลักเกณฑ์นะคะ คิดตัวเลือกไว้ก่อนแล้วค่อยบรรยายออกมา ถูกไม่ถูกเป็นอีกเรื่อง ชอบร่วมด้วยช่วยกันคิดค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท