เขียนบล๊อกอย่างไรให้สนุก (และได้ประโยชน์ด้วย)


จะ KM ต้องไม่ KM<br/>ถ้า KM ก็ไม่ KM<br/>สูดหายใจ ได้ KM

ผมเขียนบันทึกนี้เพื่อเสริมบันทึกของอาจารย์หมอวิจารณ์เรื่อง “เขียนบล็อกไม่เป็น ให้อ่านวานิช จรุงกิจอนันต์” และ “ยังหลงทางกันอยู่” หวังให้เกิดประโยชน์จุดประกายให้พวกเรากลุ่มคนที่สนใจการจัดการความรู้ได้เขียนบล๊อกกันเต็มที่มากขึ้น

ผมขอนำเสนอแนวคิดในการเขียนบล๊อกให้สนุกและได้ประโยชน์ด้วยดังต่อไปนี้

“เข้าใจธรรมชาติอันอิสระและแสนสนุกของบล๊อค”

ใช่แล้วครับ คำหลักของการเขียนบล๊อกคือ “อิสระ” และ “สนุก” ครับ ผมจะเริ่มจากการอธิบาย “สาเหตุ” ของคำว่าอิสระก่อนนะครับ แล้วเดี๋ยวค่อยพูดถึงสนุก

บล๊อกเริ่มต้นด้วยการเป็น “ปฎิวัติ” ของนักสื่อสารมวลชนครับ นักเขียนนักข่าวในประเทศอย่างอเมริกา (บ้านเกิดของบล๊อก) เขามีกฎเกณฑ์ในการเขียนข่าว (Code of Conducts/Ethics) ที่รัดกุมมาก หมายความว่าเขาจะเอาความคิดเห็นส่วนตัวมาใส่ในสิ่งที่เขาเขียนไม่ได้เป็นอันขาด ทุกสิ่งทุกอย่างที่อ้างในข่าว จะต้องพิสูจน์ได้จริงๆ (นั่งเทียนไม่ได้ว่างั้นเถอะ) ข้อเขียนทุกอย่างจะต้องเป็นกลาง จะโน้มเอียงไปหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ ถ้ายกคำพูดของฝ่ายใดมา จะต้องยกคำพูดของอีกฝ่ายซึ่งหักล้างโดยตรงกับคำพูดแรกมาใส่ไว้ด้วย นักข่าวในความหมายของอเมริกาคือ “ผู้รายงานข่าว” จริงๆ มีหน้าที่ “รายงาน” อย่างเป็นกลางเท่านั้น

คุณอาจจะถามว่า “แล้วถ้ารายงานอย่างไม่เป็นกลางหรืออ้างสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้จะเกิดอะไรขึ้น” คำตอบคือถูกฟ้องศาลครับ เพราะกฎหมายเขาเข้มแข็ง เผลอใส่อคตินิดเดียวอาจได้เข้าคุกหรือจ่ายเงินเป็นล้าน (หรือหลายๆ ล้าน) กิจกรรมนอกศาล (อาทิเช่นการประท้วง เดินขบวน) ไม่ส่งผลต่อการตัดสินของศาลในอเมริกาเสียด้วย ดังนั้นสื่อสารมวลชนในอเมริกาจึงยึดกับกฎเกณฑ์ในการเขียนข่าวอย่างจริงจังเป็นที่สุด

แต่อย่างไรก็ตาม นักข่าวก็คือคนธรรมดา นักข่าวก็มีใจที่จะชอบฝ่ายหนึ่งและไม่ชอบฝ่ายหนึ่งเหมือนกัน รักชอบโกรธหลงเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ และนักข่าวก็มีความคิดเห็นของตัวเองเหมือนกัน การทำหน้าที่เป็นคนกลางตลอดโดยไม่ใส่ความคิดตัวเองนี่นานๆ เข้ามันก็คงน่าเบื่อน่าดู

ด้วยสาเหตุนี้เองบล๊อกนี่ล่ะครับ ที่กลายเป็นที่ระบายการเขียนอย่างแหกกฎของนักข่าว (หรือผู้ที่มีทักษะในการเขียนที่ไม่ได้เป็นนักข่าว) อย่างมีอิสระภาพเต็มที่ รักใครชอบใครก็เชียร์กันให้ขาดใจ เกลียดใครก็ทับถมจนจมดินไปเลย ว่างั้นเถอะ แล้วการเขียนบล๊อกเป็นเรื่องส่วนตัวของนักข่าวที่ทำนอกเวลางาน กฎหมาย Freedom of Speech เลยเข้ามาคุ้มครองเต็มที่ ก็เลยได้เขียนกันอย่างมี “อิสระ” เต็มที่

คราวนี้มาด้านคนอ่านบ้าง สำหรับคนอ่านนั้นเวลาอ่านข่าวที่เป็นกลางในหนังสือพิมพ์หรือสื่อประเภทต่างๆ นานๆ เข้าก็ไม่สนุก เพราะไม่เชียร์คนที่ตัวเองชอบเต็มที่และไม่ด่าคนที่ตัวเองไม่ชอบให้สะใจ บล๊อกก็เลยกลายมาเป็นทางเลือกอีกเหมือนกัน เพราะอ่านแล้ว “สะใจ” กว่า กล่าวคือ “อิสระ” ของคนอ่านเพิ่มมากขึ้น เพราะมีทางเลือกในการอ่านที่ตรงใจมากขึ้นนั่นเอง (แต่เราอ่านข่าวหรือบทความในประเทศไทยแล้วอาจไม่รู้สึกว่ามันต่างกับบล๊อกอย่างไร เพราะนักเขียนของเราหลายท่าน (ไม่ใช่ทุกคน) เขียนได้สะใจใส่ความรู้สึกของตัวเองลงไปไม่แพ้เขียนบล๊อกเลย)

นี่ละครับที่มาที่ไปของบล๊อก จุดใหญ่ใจความก็อยู่ที่การมี “อิสระ” ในการเขียนนั่นเอง พอเขียนอย่างอิสระแล้ว ความ “สนุก” ไม่ว่าทั้งคนเขียนหรือคนอ่านก็เป็นที่รับประกันแน่นอน

ด้วยเหตุนี้เอง โปรดเขียนอย่างที่ใจอยากเขียน และโปรดอ่านอย่างที่ใจอยากอ่าน ไม่ต้องไปจดจ่อว่าอยากเขียนเรื่องโน้นหรือต้องเขียนเรื่องนี้ เขียนอย่าง “อิสระ” เขียนอย่าง “สนุก” ครับ แล้วเดี๋ยว “การจัดระเบียบโดยธรรมชาติ” (self-organized) มันจะเกิดขึ้นเอง

“เขียนให้ตัวเองอ่าน แต่ไม่ใช่เขียนบันทึกช่วยจำ”

คราวนี้คุณอาจจะถามต่อว่า จะเขียนให้อิสระและสนุกแล้ว แต่จะเขียนเรื่องอะไรดีล่ะ?

คำตอบสำหรับคำถามนี้ง่ายครับ ก็คือ “เขียนให้ตัวเองอ่าน” นั่นเอง เริ่มต้นจากคุณต้องเชื่อมั่นก่อนว่ามีคนในโลกที่คิดเหมือนเรา ชอบสิ่งเดียวกับเรา เกลียดสิ่งเดียวกับเรา มีความรู้และความไม่รู้เท่าๆ กับเรา มีประสบการณ์ชีวิตเหมือนๆ กับเราอยู่จำนวนหนึ่ง และกลุ่มคนจำนวนนั้นล่ะ ที่อยากอ่านสิ่งที่เราเขียน แล้วคุณก็เขียนให้กลุ่มคนนั้นอ่าน

เพียงเท่านี้เองคุณก็รู้จักกลุ่มคนอ่านของคุณ โดยที่คุณจะเป็นผู้รู้ดีที่สุดว่ากลุ่มคนอ่านของคุณอยากอ่านเรื่องอะไร และเขียนอย่างไรกลุ่มคนอ่านของคุณจะชอบใจที่สุด

เมื่อคุณรู้ว่าจะเขียนเรื่องอะไรอย่างไรให้ใครอ่าน ก็ลงมือเขียนได้เลยครับ แต่มีข้อแม้อยู่หนึ่งอย่าง คืออย่าเขียนให้เป็น “บันทึกช่วยจำ” หมายความว่าเขียนย่อเกินไปและใช้ศัพท์หรือโครงสร้างประโยคที่ “คุณคนเดียวเท่านั้นในโลกนี้” เข้าใจ เพราะการเขียนอย่างนั้นจะไม่มีประโยชน์ในการถ่ายทอดอะไรเลย บันทึกช่วยจำนี่เหมือนกับการเข้ารหัส เราเองบางครั้งยังอ่านบันทึกช่วยจำของเราเองไม่ออกเลยว่าเราบันทึกอะไรไป จริงไหมครับ

เอาล่ะ คุณรู้จักกลุ่มผู้อ่านของคุณและเขียนเรื่องที่คนกลุ่มนี้อยากอ่านให้อ่านไปแล้ว แต่คุณยังสงสัยว่าคุณจะมั่นใจได้อย่างไรว่ากลุ่มคนจำนวนนั้นมีจริงและจะมาอ่านสิ่งที่คุณเขียน คำตอบของผมคือ ไม่ต้องสนใจครับ ถ้ามีจริงเดี๋ยวเขาก็มาอ่านเอง ถ้าไม่มีก็ไม่เห็นเป็นไรเลย คุณเขียนแล้วอย่างน้อยคุณเองก็ได้อ่าน และที่สำคัญคุณได้ถ่ายทอดความรู้ฝังลึกของคุณลงมาแล้วด้วยการเขียน แค่นี้ก็ “สนุก” แล้วครับ

“เปิดใจ เปิดใจ และเปิดใจ”

เมื่อมีคนคิดเหมือนเรา ก็ต้องมีคนคิดต่างกับเรา การเขียนให้คนคิดเหมือนกับเราอ่านนั้นไม่ยากหรอก แต่ถ้ามีคนคิดต่างกับเรามาอ่านแล้ว จะทำอย่างไรดี คุณคงเริ่มสงสัยแล้วใช่ไหมครับ?

คำตอบสำหรับการที่จะมีคนคิดต่างกับเรามาอ่านแล้วเขาจะไม่พอใจนั้นง่ายครับ แก้ได้ด้วยคาถา “เปิดใจ เปิดใจ และเปิดใจ” สังเกตนะครับ ว่า คาถานี้จะมี “เปิดใจ” สามตัวด้วยกัน “เปิดใจ” ตัวแรกสำหรับคนเขียน “เปิดใจ” ตัวที่สองสำหรับคนอ่าน และ “เปิดใจ” ตัวที่สามสำหรับคนอื่นๆ

“เปิดใจ” สำหรับคนเขียนก็คือ ไม่ต้องไปกังวลครับ เป็นเรื่องธรรมชาติที่คนในโลกนี้จะคิดไม่เหมือนเรา ถ้าจะให้มีคนคิดเหมือนเราทั้งโลกนี้คงจะเหนื่อยแย่เลย ขอให้มั่นใจครับ ว่าบล๊อกของเราก็คือบล๊อกของเรา เราไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนใคร และที่สำคัญใครก็ไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนเรา จงภาคภูมิใจที่ “Be Unique, Be Different” เปิดใจที่จะยอมรับความแตกต่างนั่นเองครับ

เอาล่ะ ผมจะพูดถึง “เปิดใจ” สำหรับคนอ่านบ้าง คนอ่านก็เช่นกันครับ เวลาคุณอ่านบล๊อกคุณต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าบล๊อกที่คุณกำลังอ่านนั้นเป็นของคนเขียน เขามีสิทธิ์ที่จะเขียนอย่างไรก็ได้ และเขาไม่จำเป็นต้องเขียนในสิ่งที่คุณอยากอ่าน ถ้าคนทุกคนเขียนสิ่งที่คุณอยากอ่านก็แสดงว่ามีอะไรแปลกๆ เกิดขึ้นในโลกแล้ว ดังนั้นถ้าคุณอ่านแล้วไม่เห็นด้วยคุณก็อาจจะให้ความคิดเห็นต่อท้ายบันทึกนั้นก็เป็นอันจบเรื่องกัน สรุปก็คือสำหรับคนอ่านเราต้องเปิดใจว่า “คนเขียนอาจจะคิดผิด แต่คนเขียนไม่ผิดที่จะคิด” นั่นเอง

“เปิดใจ” ตัวสุดท้ายสำหรับคนอื่นๆ ครับ คนอื่นๆ นั้นก็ต้องเปิดใจเช่นกัน ได้แก่การเปิดใจเห็นความแตกต่างทางความคิดและประสบการณ์ชีวิตของคน ซึ่งจะมาประสานกันบ้างขัดแย้งกันบ้างเยอะแยะและดูเหมือนจะวุ่นวาย แต่การที่มีคนถกเถียงกันทางความคิดมากมายนั้น ไม่ได้หมายความว่ามีจราจลเกิดขึ้นนะครับ เป็นเรื่องที่ดีต่างหาก โลกจะดีขึ้นได้ถ้าคนทุกคนช่วยกันคิด ทั้งคิดเหมือนและคิดต่าง สังเกตว่าระบบการศึกษาที่สร้างคนได้ดีจะเน้นที่สร้างนักคิดที่มีอิสระทางความคิดมากกว่าสร้างนักเชื่อนักจำหรือนักคิดตาม

เมื่อมี “การจราจรทางความคิด” อย่างเยอะแยะมากมายแล้ว คนอื่นๆ ก็ต้องเปิดใจ “อย่าเอามาเป็นอารมณ์” (Don’t get too personal) ต้องคิดว่า “คิดถูกคิดผิด ดีกว่าไม่คิด” ครับ

“ตัวอย่าง”

อธิบายความมาถึงตรงนี้แล้ว ผมคงต้องยกตัวอย่างเสียหน่อย เอาตัวอย่างใกล้ตัวสดๆ ร้อนๆ ที่มี “การจราจรทางความคิด” พอประมาณทีเดียว ก็คงต้องเป็นบันทึก “คนโง่ขอวิเคราะห์ญาณวิทยา ศ. ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์” (ไม่ต้อง comment ว่าผมคิดผิดคิดถูกตรงนี้นะครับ เชิญ comment ที่บันทึกโดยตรงดีกว่าครับ)

บันทึกนั้น “อิสระ” ตรงที่ผมสื่อสารความคิดที่ผมไม่เห็นด้วยกับอาจารย์นิธิมาโดยตรง ทั้งๆ ที่อาจารย์หมอวิจารณ์เป็นคนแนะนำบทความนี้แท้ๆ นี่ผมอยากเห็นนักศึกษา MBA มาเขียนบันทึกไม่เห็นด้วยกับบันทึกผมในบล๊อกของเขา อิสระทางความคิดคือการที่ทุกคนมีสิทธิ์คิดได้อย่างเท่าเทียมกัน ส่วนการจะคิดถูกคิดผิดนั้นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าคิดว่าผิดก็เขียนบันทึกในบล๊อกของคุณแย้งมา ถ้าคิดว่าถูกก็บันทึกสนับสนุนกันไป เป็นการจราจรทางความคิดครับ

แล้วการคิดไม่ตรงกับผู้ใหญ่ก็ไม่ใช่หมายความว่าจะ “ล้างครู” เสียหน่อย ความคิดตรงนี้อาจจะแตกต่างกับสิ่งที่เราเคยสั่งสอนกันมานะครับ เรื่องนี้ต้องเปิดใจทั้งคนเป็นครูและคนเป็นศิษย์ ผมคิดว่าครูที่ดีคือคนที่ศิษย์เถียงได้ ส่วนศิษย์ที่ดีคือคนที่เถียงครูแล้วก็เคารพในบุญคุณครูที่พยายามให้ศิษย์เถียง (คือการฝึกศิษย์ให้เป็นนักคิดที่มีอิสระทางความคิดนั่นเอง) สมัยผมเรียนหนังสือนั้น ผมต้องปรับตัวกล้าๆ กลัวๆ อยู่พักใหญ่เหมือนกันกว่าจะเถียงอาจารย์ที่ปรึกษาได้อย่างที่อาจารย์ท่านอยากให้ผมเป็น (หมายเหตุ ว่าแล้วนักศึกษา MBA ช่วยเขียนบันทึกเถียงผมเป็นตัวอย่างหน่อยครับ)

บันทึกของผมนั้น “สนุก” เพราะผมได้เขียนสิ่งที่อยากเขียน และผมเขียนให้ “ตัวเอง” หรือกลุ่มคนที่มีความคิดเห็นเหมือนผมอ่าน โถ ทำไมผมจะไม่รู้ว่า popularity ของอาจารย์นิธิกับ พตท.ทักษิณ ตอนนี้นั้นเป็นอย่างไร แต่บันทึกนั้นอยู่ในบล๊อกของผมซึ่งมันก็แสดงถึงจุดยืนของผมซึ่งไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร

เมื่อผมเขียนเสร็จแล้วผมก็ “เปิดใจ” ว่าต้องมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับผมแน่นอนซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น ดังที่อ่านจาก comment นะครับ แล้วสังเกตว่าคนอ่านก็ “เปิดใจ” เช่นเดียวกัน ทุกคน comment เรื่องความคิดของผมหมดเลย ไม่มีใคร comment ว่าทรงผมของผมตลกสักคน

จากตัวอย่างนี้ เห็นไหมครับ “คิดแตกต่าง” ไม่เห็นจะเดือดร้อนตรงไหนเลย สนุกดีด้วยซ้ำ แค่ don’t get too personal ทั้งคนอ่านคนเขียนเท่านั้นเอง

“สรุป”

เขียนเถอะครับ เขียนอะไรก็ได้ เรื่องเล็กเรื่องน้อย เรื่องใหญ่เรื่องไม่ใหญ่ ก็เขียนได้เต็มที่ให้ “อิสระ” และ “สนุก” มาสร้างบล๊อกใน GotoKnow แล้ว ไม่ต้องเขียนเรื่อง KM ครับ เพราะการเขียนเรื่องความคิด การทำงาน หรือประสบการณ์ต่างๆ มันก็เป็นเรื่อง KM อยู่ในตัวอยู่แล้ว แล้วความคิด การทำงาน หรือประสบการณ์ต่างๆ ก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันอีก ถ้าเหมือนกันหมดมันก็ไม่ได้เรื่อง KM อีกนั่นล่ะ

ผมจะสรุปให้เป็นกลอนไฮกุสักหน่อยก็จะได้ว่า

“จะ KM ต้องไม่ KM
ถ้า KM ก็ไม่ KM
สูดหายใจ ได้ KM”

หมายเลขบันทึก: 1323เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2005 18:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 11:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
ไอศูรย์ ภาษยะวรรณ์

ขอบคุณมากครับ อ.ธวัชชัย ผมได้รับคำแนะนำ และข้อคิดเห็นที่ดีจากบันทึกฉบับนี้มากมาย จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ครับ

ด้วยความยินดีครับ
ถ้าอาจารย์ทุกคนใจกว้างอย่างอ.ธวัชชัยก็ดีซิคะ    แค่คนอื่นพูออะไรไม่ตรงตามที่เราอยากให้เป็นยังรับกันไม่ได้เลย   ยิ่งการเป็นอาจารย์ยิ่งเป็นเหมือนผู้กุมอำนาจเหนือลูกศิษย์จึงมีอาจารย์น้อยคนที่จะยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง    อ่านบทความของอาจารย์แล้วทำให้มีกำลังใจขึ้นอีกเยอะที่มีอยากจะเขียนบล๊อกถ้ามีโอกาส   เพราะเดิมไม่ค่อยกล้าที่จะเขียนกลัวว่าต้องเป็นอะไรที่เกี่ยวกับ KM ที่เรารู้หรือได้ยินมาเท่านั้นถ้าไม่ใช่เรื่องนี้ก็กลัวไร้สาระ    ขอบคุณค่ะ
pat
  • ตาม link อ.โอ๋-อโณ มาเรียนรู้ค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ สำหรับการสร้างความอิสระในการบันทึก

ขอบคุณมากๆ ค่ะ อ ธวัชชัย อยากขอบคุณทั้งส่วนตัว และ แทน อีกหลายๆ คนที่ใช้บล็อก gotoknow

ขอบคุณ สำหรับงานยอดเยี่ยมของอาจารย์ ทำให้ รู้จัก หลายๆ คน ทำให้มีเพื่อนใหม่ๆ ทำให้รักชุมชนนี้   ทำให้คลายเครียด หายเซ็ง  ทำให้ปลื้ม และทำให้มีความสุข

 

อ่านเข้าใจง่าย และให้กำลังใจอย่างดีเลยค่ะ ขอบคุณค่ะอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท