ครูชบกับการจัดการความรู้


สัจจะและวินัยเป็นฐานในการทำกิจอื่นให้สำเร็จ

วันที่ 15 ก.ค. ผมแวะไปบ้านครูชบ ได้ฟังแกนนำ 3 -4 คนเล่าให้ฟังเกี่ยกับแนวทางการดำเนินงานของกลุ่มสัจจะวันละ 1บาทของตำบลน้ำขาว เริ่มจากทุกวันที่ 1ของเดือนเป็นวันรวมเงินออมสัจจะวันละ 1 บาทของกลุ่มซึ่งมีสมาชิกประมาณ1,500 คน วันที่ 2 กรรมการซึ่งรับผิดชอบสมาชิก1:50ประมาณ 30 คนประชุมสรุปงานกัน วันที่ 7 ประชุมกรรมการและสมาชิกเพื่อประเมินตนเองว่าได้ออมเงินสัจจะวันละ 1 บาทอย่างสม่ำเสมอเพียงไร โดยใช้แบบฟอร์มลงสัจจะรายวันกับสมาชิกทุกคน ให้ตัวแทนครอบครัวที่1(ทดลองกับ 10 ครอบครัวก่อน)ร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความเห็นกับกรรมการรวมประมาณ 60 คน
กิจกรรมวันที่1,2และ7นอกจากจะใช้แบบทะเบียนและบัญชีเพื่อจัดการเงินออมของกลุ่ม แบบลงสัจจะในการประเมินตนเองแล้ว ยังมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องวิธีการเผยแพร่ วิธีการออมเงิน ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ เล่าสู่กันฟังด้วย เช่น เมื่อมีงานศพ เวลาสมาชิกไปร่วมทำบุญก็จะเตรียมเงิน 1 บาทคืนให้ เพื่อให้สมาชิกมาลงสัจจะ เป็นต้น ซึ่งน่าสนใจมาก
แบบบันทึกประเมินตนเองของตำบลน้ำขาวและกระบวนการเรียนรู้เพื่อขยายผลทั้งแนวกว้างในการเพิ่มสมาชิกและลงลึกเพื่อให้สมาชิกมีสัจจะ มีวินัยในตนเอง ลดรายจ่าย ฯลฯ เป็นตัวอย่างในการจัดการความรู้เพื่อนำไปขยายผลกับเครือข่าย 40 ตำบลต่อไป

วันที่ 16 มีการประชุมเครือข่ายสัจจะวันละ 1 บาทที่มูลนิธิดร.ครูชบ-ปราณี ยอดแก้ว มีผู้เข้าร่วมประชุมจาก 15 อำเภอ 40 ตำบล ประมาณ 65 คน การจัดการทุนเวลาเริ่มจาก 10 โมงเช้าถึง 15.00 น.ตรง ช่วงเช้าครูชบจะเป็นผู้ดำเนินการ สรุปความคืบหน้าและชี้แจงการเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นครั้งนี้ มีเอกสารแนวทางการดำเนินงานของกองทุนสวัสดิการชุมชนสมทบตำบลละ 1 แสนบาท และหลักเกณฑ์การใช้ขอการสนับสนุนเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจกให้ผู้เข้าร่วม ซึ่งเป็นการขยายพรมแดนความรู้ให้แกนนำเพื่อคิดค้นวิธีการในการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ของตนเองต่อไป ช่วงบ่ายจะมอบให้อ.ดร.ประเสริฐและอ.สุกัญญาจัดกระบวนการเรียนรู้ อ.ประเสริฐได้ให้ทีมคุณเอื้ออำเภอละ 1 คนจำนวน 15 คนผลัดกันออกมาเล่าประสบการณ์และความคิดเห็นในการดำเนินการกลุ่มสัจจะออมทรัพย์วันละบาท ซึ่งน่าสนใจมาก เช่น มีการเสนอให้ทีมลงพื้นที่สัญจร จัดทีมประชุมขยายผล และเกิดปิ้งแว๊บเรื่องสติ๊กเกอร์สัจจะออมทรัพย์วันละ 1 บาท ทำสวัสดิการภาคประชาชน หลากหลายมาก

 ครูชบสรุปแนวทางการเรียนรู้ของเครือข่ายให้ฟังว่า 1)เอาเรื่องที่ทำ ที่ประสบผลสำเร็จ ที่ภูมิใจมาเล่าให้ฟัง 2)เสนอแนวคิดใหม่ ๆว่าจะขับเคลื่อนขบวนต่อไปอย่างไร 3)กลับไปทำในพื้นที่ของตนเอง 4)กลับมาเล่าให้ฟัง โดยมีเป้าหมายเชิงปริมาณต้องการขยายสมาชิกให้ครบทุกอำเภอ ทุกตำบลและเขตเทศบาลจำนวน 50 %ของคนสงขลาประมาณ 6.5 แสนคน และในเชิงคุณภาพคือสมาชิกมีสัจจะ มีวินัย สามารถลดรายจ่ายและนำไปสู่เรื่องอื่น ๆต่อไป เพราะครูชบเชื่อว่า หากคนเรามีสัจจะ มีวินัยแล้ว การคิดจะทำสิ่งใด ไม่ใช่เรื่องยากแล้ว ซึ่งจะเป็นผลให้สังคมดี คนมีความสุข

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 1316เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2005 12:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 14:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท